เผลอแป๊ปเดียวก็วนมาถึงช่วงปลายปีกันแล้ว ปีหนึ่งๆ นี่มันเร็วกว่าที่เราคาดไว้เสมอ ในช่วงเวลาแบบนี้เองที่พวกรางวัลต่างๆ ก็จะเริ่มรับรายชื่อขั้นต้น ก่อนที่พวกเขาจะนำไปพิจารณาว่าใครจะกลายเป็นผู้เข้าชิงสุดท้ายที่มีโอกาสคว้ารางวัลกลับบ้านไป
เช่นเดียวกับรางวัลของทางสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences) หรือ รางวัลออสการ์ ก็เริ่มรับชื่อเข้าชิงกันแล้ว อย่างช่วงก่อนหน้านี้ก็เป็นรอบของภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่ปีนี้ประเทศไทยได้เลือกหนังเรื่อง ‘ดาวคะนอง’ ให้เป็นตัวแทนเข้าชิง
ส่วนสัปดาห์ที่ผ่านมาทางสถาบันดังกล่าวก็ได้ประกาศรายชื่ออนิเมชั่นจำนวน 26 เรื่องที่่ส่งชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยม ซึ่งไม่ได้มีแค่อนิเมชั่นจากอเมริกาหรือญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมีงานจากชาติอื่นๆ ในยุโรปเข้ามาด้วย แต่น่าเสียดายเล็กน้อยที่ปีนี้งานจากฝั่งชาติอาหรับหดหายลงไปหากเทียบกับปีก่อน
อีกเรื่องที่น่าพูดถึงสักหน่อยก็เป็นเรื่องที่คนดูอาจจะคาดหวังว่า เป็นการตัดสินรางวัลทั้งทีก็น่าจะเป็นการตัดสินที่พินิจวิเคราะห์จากการทำงานหลายประการของหนัง แต่ในฝั่งสาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยมนั้นออกจะมีปัญหามาหลายปีดีดักว่า ผู้ที่มีคะแนนโหวตรางวัลออสการ์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยดูงานอนิเมชั่น และถ้าค่ายหนังไม่ชำนาญการล็อบบี้พอ ก็มีโอกาสต่ำมากที่เราจะได้เห็นอนิเมชั่นอินดี้หรืองานที่ได้ชื่อจากเวทีอื่นแล้วได้รับรางวัลบนเวทีนี้
ใช่ว่าสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์จะนั่งนิ่งไม่แก้ไขอะไร พวกเขาพยายามปรับกฎกติกาการให้รางวัลใหม่ เพื่อแก้ไขชื่อเสียที่เกิดขึ้น (อย่างดราม่า Oscars so white เมื่อสองสามปีก่อน) และหวังว่าในอนาคตจะตีกรอบการโหวตให้คะแนนรางวัลออสการ์มีน้ำหนักมาจากคนทำงานโดยตรงมากขึ้น
แต่ก่อนจะก้าวไปถึงจุดนั้น The MATTER ขอแนะนำอนิเมชั่น 26 เรื่องที่ส่งชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ และรายละเอียดคร่าวๆ ของแต่ละเรื่อง พร้อมกับการเดาหวยสนุกๆ ว่าเรื่องไหนจะมีโอกาสไปถึงห้าชื่อผู้เข้าชิงในการประกาศรางวัลปีหน้า
Le Grand Méchant Renard et autres contes… / The Big Bad Fox & Other Tales
อนิเมชั่นฝรั่งเศสจากฝีมือการกำกับของทีมอนิเมเตอร์ที่เข็นงานรางวัลมาหลายเรื่อง รวมถึงเคยติดห้าเรื่องสุดท้ายของรางวัลออสการ์จากเรื่อง Ernest & Celestine สำหรับผลงานเรื่องใหม่ เดิมทีเป็นอนิเมชั่นฉายทางทีวีสามเรื่องก่อนจะถูกจับมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียว เล่าเรื่องความวุ่นวายของสรรพสัตว์อย่าง หมาป่าที่คิดว่าตัวเองเป็นไก่ กระต่ายที่คิดว่าตัวเองเป็นนกกระสา และกระต่ายที่อยากจะเป็นซานตาคลอส …ถ้าไม่อยากปวดหัวก็อย่าแวะเวียนมาป่าแห่งนี้เด็ดขาด และก็เชื่อว่าออสการ์คงไม่แวะเวียนมาป่าแห่งนี้เช่นกัน
Psichonauts, the Forgotten Children / Birdboy: The Forgotten Children
อนิเมชั่นจากสเปนที่บรรยากาศสวนทางกับเรื่องแรกเพราะเรื่องนี้เป็นแนวดิสโทเปียดราม่าปนสยองขวัญ เกี่ยวกับเบิร์ดบอยที่อยู่บนเกาะแห่งหนึ่งซึ่งถูกทำลายล้างด้วยภัยนิวเคลียร์และพยายามสะกดปิศาจในตัวจนทำให้ตำรวจเข้าใจว่าเขาใช้ยาเสพติด อีกด้านหนึ่งเด็กสามตัว (เพราะเป็นสัตว์รูปร่างคนน่ะนะ) ก็เดินทางไปหาเบิร์ดบอยเพื่อหนีไปให้พ้นจากสถานการณ์ที่บีบคั้นจิตใจและร่างกายของพวกเขา อนิเมชั่นเรื่องนี้กวาดรางวัลมาแล้วจากหลายๆ ที่ และสไตล์ของหนังก็น่าจะไปถึงรอบห้ารายชื่อสุดท้ายได้อยู่
The Boss Baby
ผลงานประจำปีนี้ของทาง DreamWorks Animation ที่หยิบเอาหนังสือภาพชื่อเดียวกันมาขยายความให้เป็นเรื่องใหญ่โตมากขึ้น กับเนื้อหาที่ว่าอยู่ๆ ก็มีเด็กทารกนิสัยแบบผู้ใหญ่มาอาศัยอยู่ในบ้านครอบครัวธรรมดาเพื่อปฏิบัติภารกิจกอบกู้ความน่ารักของทารก ตัวงานฟาดรายได้ไปได้ดี …ถ้าเอาเฉพาะคุณภาพจริงๆ ไม่น่าไปถึงรางวัลเท่าไหร่ แต่ก็ต้องลุ้นกับคณะกรรมการนั่นล่ะ
The Breadwinner
อนิเมชั่นดัดแปลงจากนิยายของ Deborah Ellis เล่าเรื่องราวของเด็กหญิง Parvana ที่อาศัยอยู่ในอัฟกานิสถานในยุคสมัยที่กองโจรตาลีบันเรืองอำนาจ เธอต้องปลอมตัวเป็นเด็กชายเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ตัวนิยายสะท้อนภาพสังคมจริงได้ดี ส่วนตัวอนิเมชั่นได้ทีมงานสร้างอนิเมชั่นจากเรื่อง Song of the Sea ที่เคยได้เข้าชิงออสการ์มาดูแลให้ เลยกลายเป็นอนิเมชั่นที่เหมาะกับผู้ใหญ่เสียมากกว่า ด้วยตัวผลงานกับทีมงานจัดฉายในอเมริกาก็เป็นมือโปรในด้านเข็นหนังเข้าชิงรางวัล เรื่องนี้อาจจะไปไกลถึงตุ๊กตาทองตัวนั้นเลยก็เป็นได้
Captain Underpants: The First Epic Movie
หยิบเอานิยายสำหรับเด็กมาทำเป็นอนิเมชั่นเต็มรูปแบบ กับอนิเมชั่นเรื่องนี้ที่สองเด็กหัวดีและชอบวาดการ์ตูนได้สะกดจิตครูใหญ่สุดเฮี้ยบให้กลายเป็นฮีโร่ ‘กัปตันกางเกงใน’ ที่ดันมีวายร้ายปรากฎตัวขึ้นมาจริงๆ กลายเป็นความป่วนของฮีโร่ในจินตนาการกับตัวร้ายของแท้ซะอย่างนั้น หนังเหมือนจะไม่ได้เข้าฉายบ้านเรา และก็คงจะไม่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ด้วยเช่นกัน
Cars 3
ภาคที่สามของหนังอนิเมชั่นเกี่ยวกับโลกที่รถยนต์มีชีวิต หลังจากที่ภาคก่อนกลายเป็นหนังสายลัยไป ภาคนี้ Cars กลับมาคุยเรื่องการแข่งรถอีกครั้ง และกลายเป็นเรื่องของการพิสูจน์ตัวเองของรถที่อายุมากขึ้น กลายเป็นมู้ดที่ดูแก่ขึ้นตามวัยหนัง แต่ยังให้ครอบครัวดูกันได้ชิลๆ ส่วนเรื่องเข้าชิงรางวัลนั้นมีสิทธิ์อยู่บ้างก็จริง แต่เชื่อว่าพลังของหนังเรื่องนี้คงแซงหน้าหลายเรื่องที่เข้าเสนอชื่อไม่ได้
Gatta Cenerentola / Cinderella the Cat
อนิเมชั่นสัญชาติอิตาลี จากทีมงานที่ตั้งใจสร้างงานศิลปะบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะ พวกเขาหยิบเอาโครงเรื่องของซินเดอเรลล่า มาคนแล้วเขย่าเข้ากับรสชาติของหนังแนวมาเฟียอิตาลีในยุคอนาคตแล้วแต้มสีด้วยดนตรีร้อนรุ่ม กลายเป็นอนิเมชั่นที่โดดเด่นและเคยเสนอตัวเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมมาแล้ว (แต่แพ้ให้กับภาพยนตร์อีกเรื่อง) ดูทรงแล้วเชื่อว่าพอจะมีโอกาสทะลุเข้าชิงห้าชื่อสุดท้ายอยู่
Coco
บอกเลยพี่รีบ! หนังยังไม่เข้าฉายในวงกว้างแต่งานล่าสุดของ Pixar ที่หยิบเอาเทศกาลแห่งความตาย (Día de Muertos) ของประเทศเม็กซิโกมาตบแต่งด้วยความสดใสแบบ Disney และบทเรียนสอนใจอย่าง Pixar ส่งให้เด็กชายมิเกลเรียนรู้เรื่องราวของความตายพร้อมกับโครงกระดูกสีสันจัดจ้าน เฮ็กเตอร์ ส่วนชื่อ โคโค่ นั้นมาจากคุณทวดของมิเกลเขาล่ะ เราเชื่อว่าด้วยฟอร์มของหนังกับการเลือกของคณะกรรมการออสการ์น่าจะเลือกเรื่องนี้ติดห้าชื่อสุดท้ายของผู้เข้าสาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยมแน่นอน
Despicable Me 3
ถึงฟอร์มจะไม่แย่ และความเป็นมินเนี่ยนจะทำให้คนติดตามหนังเรื่องนี้กันเยอะ ภาคนี้ที่อยู่ๆ กรู ดันมีแฝดชื่อ ดรู ขึ้นมาก็ไม่ทำให้เนื้อเรื่องเดินทางไปที่ไหนเท่าไหร่นัก เอาบันเทิงถือว่าดี แต่เอารางวัลคงยากหน่อย
The Emoji Movie
ที่พอจะจำได้เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก็คือ คำด่าจำนวนมหาศาลจากนักวิจารณ์และคนดูทั่วโลก (แต่ก็ต้องนับถือความพยายามของ MattPatt เจ้าของแชนแนล Youtube – The Film Theorists ที่พยายามระบุว่าจริงๆ แล้วหนังเรื่องนี้ผิดกฏหมายในอเมริกา) อย่าว่าแต่รางวัลเลย หลายท่านยังบ่นว่าความบันเทิงยังหาไม่ค่อยได้เท่าไหร่
Ethel & Ernest
ภาพยนตร์อนิเมชั่นจากเกาะอังกฤษที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนนิยายภาพในชื่อเดียวกัน ตัวหนังค่อยๆ เล่าเรื่องของตัวละครหลัก Ethel กับ Ernest ใช้ชีวิตผ่านตั้งแต่ช่วงปี 1920 จนถึง 1971 ถ้าว่ากันตามตรงก็เป็นบันทึกของยุคสมัยที่ดีและภาพทำออกมาค่อนข้างละเมียด แต่คิดว่าไม่น่าจะไปถึงระดับเข้าชิง
Ferdinand
อีกเรื่องที่ส่งชื่อเข้าประกวดแบบที่ใครไม่ทันคาดคิด อาจจะเพราะ John Cena เป็นคนพากย์ตัวละครเอก เฟอร์ดินานด์ วัวกระทิงรักสงบชื่นชมสวนดอกไม้ จนกระทั่งโชคชะตาได้พากระทิงตัวนี้ให้เข้าสู่สังเวียนแทน ตัวหนังดัดแปลงจากหนังสือสำหรับเด็กและเหมือนจะปรับโครงเรื่องบางส่วนไปไม่ให้ซ้ำกับการสร้างเป็นการ์ตูนครั้งก่อนหน้า ความคลาสสิกนี้อาจจะทำให้คนดูชื่นชอบ และเราคงต้องลุ้นก่อนว่าหนังจะได้เข้าฉายในบ้านเราไหม
The Girl without Hands
อนิเมชั่นสุดติสต์จากฝรั่งเศสที่เป็นผลงานการกำกับ เขียนบท ตัดต่อ และวาดภาพอนิเมชั่นทั้งหมดเป็นฝีมือของ Sébastien Laudenbach เพียงผู้เดียว อนิเมชั่นเล่าเรื่องของสาวไร้มือที่ถูกปิศาจไล่ตื๊อเอาชีวิต ทำให้เธอต้องเจอกับเรื่องราวมากมาย จากสไตล์การทำงานแบบสุดโต่งและยังเล่าเรื่องราวง่ายๆ ให้อาร์ตก็มีโอกาสได้เข้าถึงห้าชื่อสุดท้าย คล้ายๆ กับที่ The Red Turtle ทำได้เมื่อปีก่อน
In This Corner of the World
หนังดัดแปลงจากการ์ตูน เล่าเรื่องเรื่อง ซูสุ หญิงสาวที่ย้ายมายังเมืองคุเระก่อนที่จะแต่งงานและต้องเผชิญหน้ากับผลข้างเคียงของไฟสงคราม แต่เธอก็ยังพยายามใช้ชีวิตอย่างแข็งขัน ตัวหนังถ่ายทอดความโหดร้ายของสงครามแบบแช่มช้าและซึมลึกจนคว้ารางวัล Hiroshima Peace Film Award และรางวัลอื่นๆ อีกมาก ถ้าอิงตามวิสัยเวทีออสการ์แล้วก็มีโอกาสสูงที่เรื่องนี้จะทะลุเข้าสู่ออสการ์ได้
The LEGO Batman Movie
หนังต่อยอดความสำเร็จของตัวละคร แบทแมน ใน The LEGO Movie เลยจับเอามาฉายเดี่ยวแล้วเล่นมุกแดกดันความเป็นมนุษย์ค้างคาวยาวๆ ตัวหนังได้รับความนิยมจากคนดู แต่ในแง่คำวิจารณ์ถือว่าด้อยกว่าตัวหนังภาคหลักอยู่พอสมควร คงจะยากสักนิดที่หนังจะได้เข้าชิงรางวัลออสการ์
The LEGO Ninjago Movie
ไม่ได้โผล่มาฉายดื้อๆ เพราะเป็นซีรีส์ทีวีมาก่อนพักใหญ่แล้วล่ะ แต่แต้มบุญจาก The LEGO Movie ทำให้เลโก้นินจาได้ออกฉบับหนังโรงกับเขาด้วย ติดตรงที่ดันมาออกปีเดียวกับภาคแบทแมน แม้คนที่ดูจะบอกว่าหนังสนุกไม่แย่ แต่รายได้กับคำวิจารณ์ก็อ่อนด้อยจนไม่ต้องลุ้นเข้าชิงออสการ์
Loving Vincent
ถ้าบอกว่านี่คือการพบรักกันระหว่างภาพสีน้ำมันกับอนิเมชั่นยุคใหม่ก็ไม่ผิดนัก หนังเป็นอัตชีวประวัติของ ฟินเซนต์ ฟาน ก๊อกฮ์ หรือ วินเซนต์ แวนโก๊ะ ที่ใช้ภาพวาดคลาสสิกหลายภาพในการดำเนินเรื่อง หนังไม่ทำรายได้เท่าใดนักในอเมริกา แต่ได้รับคำชมและกวาดรางวัลจากงานเทศกาลภาพยนตร์หลายแห่ง เชื่อว่าสไตล์นี้น่าจะโดนใจกรรมการออสการ์จนได้เข้าชิงห้ารายชื่อสุดท้าย
Mary and the Witch’s Flower
งานชิ้นแรกของ Studio Ponoc ที่ทีมงานหลายคนเป็นลูกหม้อเก่าของ Studio Ghibli หนังค่อนข้างบันเทิงแต่สาระในเรื่องยังไม่ค่อยลุ่มลึกเท่าไหร่นัก งานภาพก็ยังใช้คำว่าเป็นเอกลักษณ์ไม่ได้นัก (และตัวหนังก็ไม่อายที่จะแสดงความเป็นลูกศิษย์ของ Ghibli ด้วย) ก้าวแรกของสตูดิโอนี้คงไปไม่ถึงระดับที่เข้าชิงรางวัล แต่มากพอที่ทำให้คนจำได้ว่าพวกเขาเดินออกมาจากรังนอนเรือนเก่าเรียบร้อยแล้ว
Moomins and the Winter Wonderland
มูมินกลับมาอีกครั้งบนจอใหญ่ในรูปแบบ stop motion เหล่าโทรลผู้น่ารักกับเพื่อนๆ กลับมาพร้อมกับภารกิจตาม ‘ต้นไม้คริสต์มาส’ เพื่อเรียกดวงอาทิตย์ให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ตัวภาพนั้นน่ารักมากมายฝุดๆ แถมงานแนว stop motion ก็เป็นที่โดนใจเวทีรางวัลต่างๆ อยู่ เดาว่าหนังอาจจะหลุดเข้าชิงแต่ไม่ได้รางวัลกลับบ้านอะไรแบบนั้น
My Entire High School Sinking Into the Sea
การ์ตูนแนวเพี้ยนๆ กับภาพแหวกๆ ที่เล่าเรื่องตรงตามชื่อ เพราะอยู่ๆ โรงเรียนของตัวเอกก็จมลงทะเล ทำให้เด็กมัธยมและบุคลากรที่เหลือรอดต้องหาทางหนีออกมา พร้อมๆ กับที่พวกเขาก็พล่ามปัญหาชีวิตออกมาด้วย รีวิวของคนดูออกมาในแง่สนุกกับความเพี้ยนหลุดโลกของเรื่อง แต่ถ้าเทียบกับหลายเรื่องที่อยู่ในลิสต์นี้คงจะโดนมองข้ามจากเวทีออสการ์ไป
Napping Princess / Ancien and the Magic Tablet
หรือในชื่อไทยว่า สาวมหัศจรรย์กับแท็บเล็ตแยกโลก ผลงานแนวไซไฟแฟนตาซี ซึ่งชื่ออังกฤษจะแอบสอดคล้องกับเนื้อหาที่ว่านางเอกของเราจะนอนและฝันเห็นโลกต่างมิติ ที่สุดท้ายค่อยๆ กลายเป็นจริง ตัวเธอจึงต้องกอบกู้โลกทั้งสองฝั่งไปโดยปริยาย หนังเน้นบันเทิงมากกว่าเลยไม่คิดว่าจะได้เข้าชิงรางวัลออสการ์
A Silent Voice
รักไร้เสียง เป็นการดัดแปลงหนังสือการ์ตูนที่เล่าเรื่องยากลำบากแบบ การ bully คนพิการ (ในเรื่องนางเอกหูหนวก) และการ bully คนที่เคย bully แต่ด้วยความเป็นหนังเลยมีการทอนประเด็นบางอย่างลงไปและขับเน้นเรื่องความสัมพันธ์พระนางเยอะขึ้น แม้ว่าประเด็นจะเป็นอะไรที่ออสการ์นิยม แต่การไม่ได้ขยี้จุดนั้นแรงๆ ก็อาจจะทำให้หนังไปไม่ถึงห้าชื่อเข้าชิง
Smurfs: The Lost Village
คนจิ๋วสีฟ้ากลับมาอีกครั้งในแบบอนิเมชั่นเต็มตัวหลังจากที่กลายร่างเป็นหนังคนแสดงผสมกับอนิเมชั่นมาสองภาคและไม่ได้รับคำชมที่ดีเท่าไหร่ หนังทำรายได้ไม่แย่ แต่ก็ยังไม่น่าจดจำมากนัก ซึ่งจุดที่อนิเมชั่นชุดนี้ควรไปให้ถึงคงไม่ใช่การคว้ารางวัล แต่อาจจะเป็นการทำให้ชื่อเสียถูกลืมๆ ไปก่อนเสียดีกว่า
The Star
ไม่ใช่การ์ตูนที่เกี่ยวกับการแข่งร้องเพลงนะ (แต่ก็เห็นมีเพลงในเรื่องบ้าง) แต่นี่เป็นหนังอนิเมชั่นที่เล่าเรื่องวันประสูติพระเยซูจากมุมของเหล่าสัตว์ที่อยู่รอบตัวของ แมรี กับ โยเซฟ ที่พยายามเตือนว่าจะมีคนมาจับกุมและไล่ฆ่าพวกเขา เราคงไม่พยายามคาดหวังอะไรมากนักในด้านรางวัลกับหนังเรื่องนี้ แต่การตีความของเขาดูแล้วน่าสนใจดีไม่หยอก
Sword Art Online: The Movie – Ordinal Scale
ฉบับหนังโรงของอนิเมชั่นญี่ปุ่นที่ก่อกระแส ‘หลุดไปอยู่ในเกม’ อยู่ระยะใหญ่เรื่องนี้ หยิบจับเอาช่วงที่กลุ่มตัวเอกออกมาจากโลกของเกมแล้วมาอินกับระบบ AR แทน (สอดคล้องกับเทรนด์ตอนหนังเข้าฉาย) ด้วยเนื้อเรื่องที่เน้นแอคชั่นเอาใจแฟนการ์ตูน คงยากพอสมควรที่จะฝ่าด่านคู่แข่งเรื่องอื่นไปถึงห้าชื่อสุดท้าย แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่อนิเมชั่นสายแอคชั่นมากๆ จะส่งชื่อชิงออสการ์ เพราะอย่างปีที่แล้ว Kingsglaive: Final Fantasy XV ก็ยื่นชื่อมาเข้าชิงเช่นกัน
Window Horses The Poetic Persian Epiphany of Rosie Ming
ที่มาที่ไปของอนิเมชั่นเรื่องนี้มาจากการระดมทุนผ่านเว็บไซต์ Indiegogo เนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับหญิงสาวชื่อ Rosie Ming ที่เขียนหนังสือรวมบทกวีจนเธอถูกเชิญไปร่วมงานเทศกาลกวีอิหร่าน ‘ดินแดนแห่งบทกวี’ ที่นั่นนอกจากที่หญิงสาวจะได้ลอยละล่องไปกับความงามของบทกวีเปอร์เซีย เธอยังถือโอกาสนี้ตามหาพ่อชาวอิหร่านที่ทิ้งเธอไปตั้งแต่เด็ก แอบลุ้นให้เรื่องนี้ได้เข้าชิงออสการ์แม้ว่าอาจจะมีโอกาสน้อยไปหน่อย