หลังจากเงียบหายไปหลายปี มาปี 2018 นี้ Rock Man ก็กลับมาสู่มหาชนคนเล่นเกมอีกครั้ง ทั้งเกมภาคใหม่ Rock Man 11 ที่วางจำหน่ายไปช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อนิเมชั่นภาคใหม่เอาใจน้องๆ อย่าง Mega Man: Fully Charged ที่ฉายทางช่อง Cartoon Network และเพิ่งจะมีการประกาศยืนยันว่า จะมีการสร้างภาพยนตร์คนแสดงที่จะได้ผู้กำกับของภาพยนตร์เรื่อง Paranormal Activity 3 & 4 มาเป็นผู้เขียนบทกับผู้กำกับ
นี่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับแฟนเกมซีรีส์นี้ที่เคยต้องใจแป้วมาแล้วครั้งหนึ่งว่าตัวเกมอาจจะไม่ได้มีการพัฒนาใดๆ ต่อ เพราะก่อนหน้านี้แทบจะไม่มีการอัพเดทข่าวสารใดๆ จนกระทั่งช่วงปลายปี 2017 ทาง CAPCOM ก็ได้ประกาศงานชิ้นใหม่เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 30 ปี และการประกาศดังกล่าวก็คือ Rock Man 11 ที่เป็นเกมภาคล่าสุดนั่นเอง
ในจังหวะที่เกมเพิ่งออกภาคใหม่ แถมหลายต่อหลายคนก็น่าจะมีความสัมพันธ์กับเกมนี้แบบไม่มากก็น้อย The MATTER เลยขอย้อนถอยหลังว่าเกมนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง
1987 หุ่นยนต์สีน้ำเงินถือกำเนิด
ย้อนถอยหลังกลับไปเมื่อปี 1983 หลังจากที่เครื่องเล่นเกมยุคใหม่จากทาง Nintendo ที่ชื่อว่า Family Computer หรือ Famicom ได้เปิดตัวขึ้นมาระยะหนึ่ง และบริษัทผู้พัฒนาเกมหลายๆ เจ้าได้เอาเกมตู้มาแปลงให้ลงเครื่องเกมสำหรับเล่นที่บ้านนี้กันอย่างต่อเนื่อง ตัว CAPCOM ก็เป็นบริษัทพัฒนาเกมหนึ่งในนั้น จนกระทั่งพวกเขาเริ่มเห็นว่าได้เวลาแล้วที่จะเลิกกินบุญเก่าของเกมตู้แล้วมาพัฒนาเกมสำหรับเครื่อง Famicom ทีมพัฒนาเล็กๆ ที่มี Kitamura Akira เป็นผู้วางแผนการออกแบบ คอนเซ็ปต์ของเกมที่เขาต้องการสร้างคือเกมที่สามารถเล่นจบแต่ละด่านได้ในเวลาไม่เกิดหนึ่งชั่วโมง ตัวด่านจะยากก่อนจะไปเจอกับบอสที่มีแพตเทิร์นง่ายกว่า และผู้เล่นสามารถเลือกด่านที่ต้องการเล่นก่อนได้ด้วยตัวเอง
จากนั้นทีมพัฒนาเกมก็เริ่มสร้างตัวเอก ตอนแรกสุด Cut Man จะเป็นตัวเอก แต่เมื่อคิดคอนเซ็ปต์อาวุธหลากหลายชนิดขึ้นมา การพัฒนาตัวละครใหม่เพื่อให้ใช้อาวุธต่างๆ ของหุ่นแต่ละตัวก็ถือกำเนิดขึ้น และคอนเซ็ปต์ของ Rock Man ก็ถูกใช้งานเป็นตัวเอกแทน ส่วนดีไซน์ที่เป็นสีน้ำเงินซึ่งถูกใช้งานเป็นสีของตัวเอกนั้นก็มีเหตุผลปนกันอยู่สองสามเหตุผลคือ สีน้ำเงินเป็นเฉดสีที่เครื่อง Famicom มีเยอะที่สุด ตัวสีน้ำเงินก็เป็นโทนกลางๆ ไม่ได้ดูดุดันหรือขึงขังเกินไป และในยุคนั้นตัวเอกที่ใช้สีน้ำเงินเป็นพื้นยังไม่ค่อยมีเท่าใดนัก และก็เป็นหน้าที่ของ Inafune Keiji ที่มาจัดการออกแบบตัวละครจากที่เป็นเม็ดพิกเซลบนหน้าจอทีวีให้กลายเป็นลายเส้นที่เป็นตัวละครหุ่นยนต์สีเงินที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน
เมื่อเจ้าหุ่นสีน้ำเงินกลายเป็นพระเอก Cut Man ก็ถูกปรับให้เป็นหนึ่งในตัวละครบอสคู่กับหุ่นยนต์อีก 5 ตัว แต่ในแผนงานแรกสุดนั้นทีมงานตั้งใจสร้างหุ่นบอสทั้งหมด 8 ตัว แถมพวกเขายังได้ออกแบบ Bond Man เป็นบอสตัวที่ 7 เอาไว้แล้วด้วย แต่เมื่อค้นพบว่าเมมโมรี่ของเกมในสมัยนั้นเต็มขีดจำกัดแล้ว ทีมงานเลยตัดหุ่นยนต์ให้เหลือแค่ 6 ตัวไปก่อน ส่วนระบบอาวุธที่ให้ตัวละครแต่ละตัวแพ้ทางกันนั้นก็มาจากเกมเล่นง่ายๆ อย่างเป่ายิ้งฉุบ จึงทำให้หุ่นแต่ละตัวมีอาวุธที่แพ้ทางกันแบบชัดเจนขึ้นมา
ส่วนชื่อของหุ่นสีน้ำเงิน ตอนแรกทีมงานมีแผนใช้ชื่ออย่าง Knuckle Kid, Mighty Kid, Battle Kid และในช่วงเปิดตัวแบบเป็นทางการก็ตั้งชื่อเกมไว้ว่า The Battle Rainbow Rock Man เพื่อให้สอดคล้องกับการที่ Rock Man เปลี่ยนสีไปตามอาวุธที่ใช้งาน แต่สุดท้ายก็ตัดทอนชื่อเหลือแค่ Rock Man ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงจังหวะดนตรีแบบ ‘ร็อค’ และจะเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องที่ Rock Man มี Roll เป็นหุ่นยนต์น้องสาวที่คอยสนับสนุนการทำงานอยู่ และการตั้งชื่ออ้างอิงดนตรีประเภทต่างๆ ก็เริ่มต้นขึ้นจากจุดนี้
เมื่อตัวละครพร้อม ชื่อเรื่องพร้อม ก็ได้เวลาที่จะใส่พล็อตเรื่อง ซึ่งเนื้อเรื่องเป็นอะไรที่เข้าใจได้ง่าย โดยเกี่ยวกับยุคอนาคตในปี 20XX Dr. Albert W. Wily นักวิทยาศาสตร์ที่อยากครองโลกได้ขโมยหุ่นยนต์ของ Dr. Thomas Light มาเขียนโปรแกรมใหม่แล้วใช้งานเป็นกองทัพเข้าจู่โจมพื้นที่ต่างๆ จน Dr. Light ต้องดัดแปลง Rock หุ่นยนต์ผู้ช่วยให้กลายเป็น Rock Man เพื่อต่อสู้รักษาความสงบสุขของโลกใบนี้ พลพรรคชาวร็อคแมนในตอนนี้ก็ประกอบไปด้วยตัวละครหลักสี่ตัวคือ Rock Man, Roll, Dr.Light และ Dr.Wily นั่นเอง
เกม Rock Man ภาคแรกวางจำหน่ายในญี่ปุ่นในปี 1987 และได้รับความนิยมจากนักเล่นเกมในยุคนั้นพอสมควร ตัวเกมได้ถูกนำไปขายในอเมริกาด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ต้องใช้การแปลอะไรมาก แต่เกมก็ถูกปรับเปลี่ยนชื่อจาก Rock Man เป็น Mega Man เพราะทางอเมริกาเห็นว่าชื่อเดิมนั้น ‘ชื่อมันไม่ได้เรื่อง’ กับอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ชื่อ Rockman ถูกจดทะเบียนการค้าไปแล้วโดยบริษัทผลิตแอมป์สำหรับกีตาร์ไฟฟ้าด้วย …แล้วความแตกต่างทางด้านชื่อก็เกิดขึ้นระหว่างสองทวีป ณ จุดๆ นี้
ส่วนเรื่องของปกเกมที่เกิดความแตกต่างกัน ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเกิดจากการที่คนดีไซน์ปกในฝั่งอเมริกาไม่เห็นภาพอาร์ตต้นฉบับเลยตีความไปเองว่าเป็นคนใส่ชุดยางและถือปืน แม้ว่าภาคหลักๆ ปกของฉบับที่ขายในโลกตะวันตกจะพยายามปรับแก้ให้สอดคล้องกับเกมต้นฉบับมากขึ้น แต่ปกเห่ยสะบัดจนน่าขันนี้ก็กลายเป็นเอกลักษณ์ถึงขั้นที่ว่าเกม Rock Man 9 กับ 10 ตั้งใจทำรูปปกให้เหมือนกับปกภาคแรกที่ไม่ตรงกับเกมเอาเสียเลย
1988-1993 เติบโตบนเครื่องเกมของ Nintendo
หลังจากเกมภาคแรกวางจำหน่ายไปแล้วทั้งในฝั่งญี่ปุ่นและอเมริกา ตัวเกมมีกระแสตอบรับโอเคในระดับหนึ่ง แต่ยอดขายของเกมก็ยังไม่ดีพอจะสร้างภาคต่อได้ ทางทีมงานพัฒนาเกมกลุ่มแรกจึงยอมรับข้อเสนอในการทำงานควบกันระหว่างการพัฒนาเกมอื่นคู่กับ ภาคต่อของ Rock Man และเกมอื่นๆ แม้ว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ยากลำบาก แต่ทีมงานสร้างก็ยอมรับความท้าทายนี้ และใช้เวลาพัฒนาเกมนี้ในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น แต่ก็เป็นระยะเวลากระชั้นชิดที่ทุกคนต่างรีดฝีมือออกมาเพื่อทำเกมชั้นยอดจนแทบไม่น่าเชื่อว่าไอเดียของเกมภาคต่อหลายไอเดียนั้นเป็นการหยิบยกแผนงานเก่ามาปรับจับทำใหม่ และเพื่อย่นระยะเวลาการออกแบบเกมให้สั้นลงจึงมีการเปิดรับดีไซน์ของหุ่นยนต์ที่เป็นบอสจากแฟนเกมทั่วประเทศญี่ปุ่นและขยายสเกลเป็นระดับนานาชาติในภายหลัง ซึ่งการรับดีไซน์จากผู้เล่นนี้ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อมาจนถึงเกมภาคที่ 8 และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนเล่นเกมกับผู้สร้างเกมก่อนที่ยุคโซเชียลจะมาถึงได้อย่างดี
Rock Man 2 ถูกพัฒนาจนเสร็จสิ้น และวางจำหน่ายในญี่ปุ่นในช่วงปลายปี 1988 ในครั้งนี้ตัวเกมได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก มีทั้งคัทซีนสั้นๆ ในตอนเปิดเกมที่ Rock Man ยืนบนยอดตึกจนกลายเป็นภาพจำของเด็กยุค 90s แม้ว่าระบบการเล่นยังยึดพื้นเพแบบเดิม แต่ด่านที่เพิ่มขึ้น อาวุธหลากสไตล์ ตัวเกมที่ยากท้าทายแต่ก็ไม่หัวร้อนเท่าภาคแรก ทำให้ยอดขายเกมทะลวงไปกว่า หนึ่งล้านห้าแสนชุด รวมไปถึงยังทำให้แฟนเกมที่มาเล่นภาค 2 ต้องกลับไปตามหาภาคหนึ่งมาเล่น
เมื่อประสบความสำเร็จแบบสุดทางขนาดนี้แล้ว การทำภาคต่อจึงเป็นอะไรที่ไม่ต้องลุ้นกันอีกต่อไป ในภาค 3 มีการเพิ่มเติมระบบไปอีกเล็กน้อย อย่างการสไลด์ที่ทำให้ผู้เล่นเคลื่อนตัวผ่านช่องแคบหรือหลบหลีกการโจมตีได้ แล้วก็มีพลพรรคชาวร็อคที่กลายเป็นตัวละครประจำอย่าง Rush หุ่นยนต์หมาผู้ช่วยซึ่งแปลงร่างได้หลากหลาย กับ Blues (หรือ Proto Man ในฉบับ Mega Man) หุ่นยนต์ลึกลับที่มาพร้อมกับเสียงขลุ่ยประจำตัวซึ่งมีความสัมพันธ์กับ Dr. Light และ Rock Man
ชื่อของตัวละครใหม่ในฉบับญี่ปุ่นก็ยังมีความหมายแฝงเกี่ยวกับประเภทดนตรี อย่าง Blues นั้นถือว่าเป็นแนวดนตรีที่ถูกต่อยอดเป็นแนวร็อคในภายหลัง ส่วนชื่อของ Rush มีระบุไว้หลายความเชื่อ บ้างก็ว่าเป็นการพูดถึงทำนอง ‘Rock & Rush’ แต่บ้างก็กล่าวเป็นการตั้งชื่อให้สอดคล้องกับสุนัขชื่อดังตัวอื่นอย่างแลสซี่หรือพาทรัชจากวรรณกรรมระดับโลก A Dog of Flanders แต่ก็น่าแปลกใจเล็กน้อยที่ชื่อของหมาคู่ใจ Rock Man ไม่โดนเปลี่ยนชื่อตามตัวละครหลักตัวอื่นๆ
ภาค 3 ที่ออกมาในปี 1990 ก็ยังได้รับความนิยมจากแฟนเกมอย่างมาก แม้ว่า Kitamura Akira ที่เป็นคนวางแผนงานมาตั้งแต่ภาคแรกได้ลาออกจาก CAPCOM ไปก่อนการพัฒนาเกมภาคนี้จะเริ่มขึ้นก็ตามที และ Rock Man ภาค 3 กับ ภาค 2 ก็กลายเป็นที่ถกเถียงของแฟนๆ กันว่า ภาคไหนคือภาคที่สุดยอดมากกว่าแน่ๆ (แต่ภาค 3 มีสูตรโกงในการกระโดดสูงนะ!)
เกม Rock Man ภาคที่ 4 ออกมาในปี 1991 มีการเพิ่มทักษะให้เล็กน้อยให้ตัวเอกที่ตอนนี้สามารถยิงชาร์จช็อตได้แล้ว และกลายเป็นของที่อยู่ถาวรนับแต่นี้
พลพรรคชาวร็อคที่มาเพิ่มเติมในตอนนี้ก็คือ Dr. Cossack เพื่อนร่วมงานของ Dr. Light ที่สร้างหุ่นยนต์มาอาละวาด ก่อนที่เราจะรู้ว่าจริงๆ แล้วมีใครอยู่เบื้องหลัง กับ Kalinka ลูกสาวของ Dr. Cossack ที่ถูกคนที่คุณก็รู้ว่าใครจับตัวไป โดยตัวละครที่มาใหม่สองตัวนี้ ก็มีกิมมิกแฝงเกี่ยวกับท่วงทำนองดนตรีอยู่ เพราะชื่อของตัว Dr. Cossack และ Kalinka มาจากท่าเต้นชื่อเดียวกันของรัสเซีย และมีตัวละครสมทบตัวเล็กๆ แต่คนจำได้ดีอย่าง Eddie มาปรากฎตัวครั้งแรกในภาคนี้ด้วย
สภาพของเกม Rock Man ในช่วงนี้ค่อนข้างจะอยู่ตัวแล้ว การออกเกมภาคต่อจึงกลายเป็นอะไรปกติมากขึ้น แม้ว่าตัวเครื่องเกม Famicom จะเริ่มตกยุคแล้ว รวมถึงเครื่องเกมรุ่นใหม่อย่าง Super Famicom ก็ออกวางจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 1990 แล้วก็ตามที
ในปี 1992 ทาง CAPCOM ก็ได้วางจำหน่ายเกม Rock Man 5 ซึ่งเนื้อหาหลักยังใกล้เคียงของเดิม มีเพิ่มพลพรรคชาวร็อคมาหนึ่งตัว ก็คือ Beat หุ่นยนต์นกที่คอยช่วยเหลือ Rock Man ในการต่อสู้และการค้นหาไอเท็ม โดยหุ่นตัวนี้เป็นผลงานการสร้างของ Dr. Cossack แต่เป็นกึ่งๆ ตัวละครลับ เพราะผู้เล่นต้องเก็บป้ายชื่อ Rock Man V ให้ครบก่อน ซึ่งตัวชื่อของ Beat ก็หมายถึงจังหวะดนตรี สอดคล้องกับกิมมิกหุ่นฝั่งพระเอกตัวอื่นๆ อยู่
Rock Man 6 ออกวางจำหน่ายในปี 1993 ที่แม้ว่าจะเป็นภาคสุดท้ายบนเครื่อง Famicom แต่ทางทีมงานพัฒนาเกมก็เพิ่มลูกเล่นไปอีกเล็กน้อยด้วยการเพิ่มร่าง Super Rockman
ระหว่างทางที่เกม Rock Man พัฒนาบนเครื่อง Famicom นั้น ทาง CAPCOM ก็ได้นำเอาเกมไปลงบนเครื่องเล่นเกมพกพาอย่าง Game Boy ด้วย โดยตั้งชื่อภาคว่า Rockman World ที่ตัวเกมส่วนใหญ่เป็นการยำเอาหุ่นบอสของเกมสองภาคมารวมกันเป็นเกมเดียว จนกระทั่งเนื้อหาของ Rockman World ภาค 3 ขึ้นไปที่เริ่มมีตัวละครพิเศษ Rock Man Killer หุ่นที่ Dr. Wily ดีไซน์มาจัดการกับ Rock Manโดยเฉพาะ ประกอบไปด้วย Enker, Punk, Ballade ซึ่งชื่อเป็นการอ้างอิงถึงดนตรีแบบต่างๆ (Enker บางแหล่งข้อมูลระบุว่าเป็นเพลง เอ็นกะ บางแหล่งระบุว่าเป็นการเล่นคำกับ Encore, Punk จากดนตรีพังค์ และ Ballade จากเพลงบัลลาด) ตัวละครสามตัวนี้ได้รับความนิยมทั้งจากแฟนเกมและทีมพัฒนาเกมจึงมีโอกาสได้ปรากฏในเกมภาคอื่นๆ แต่ก็ไม่บ่อยครั้งนัก
ขอพูดถึงคนดีไซน์ของหุ่นยนต์ที่เป็นบอสเล็กน้อย ในเกมภาคหลักนี้มีเด็กชายคนหนึ่งที่ส่งผลงานเข้าตากรรมการจนมีหุ่นยนต์ของเขาได้ลงเกมสองภาคติดกัน ชื่อของเด็กคนดังกล่าวคือ Murata Yusuke หรือที่ในภายหลังคนส่วนใหญ่จดจำเขาได้จากการเป็นผู้วาดมังงะเรื่อง Eye Shield 21 และ One Punch Man นอกจากนี้ ถึงผู้ส่งหุ่นเข้าประกวดและผู้ชนะส่วนใหญ่จะเป็นชาวญี่ปุ่น แต่ก็เคยมีชาวต่างชาติสองคนดีไซน์หุ่นจนถูกเลือกเป็นบอสในภาค Rock Man 6 อีกด้วย
1993-1998 สู่ดินแดน Super Famicom กับภาคสปินออฟที่ทำให้ Rock Man กลายเป็นเฟรนไชส์ขนาดใหญ่
อย่างที่เกริ่นไว้นิดๆ ในช่วงก่อนหน้านี้ว่าเครื่อง Super Famicom ออกวางจำหน่ายตั้งแต่ช่วงปลายปี 1990 แต่กว่าเกมตระกูล Rock Man จะขยับตัวมาเครื่องเกมนี้ก็ใช้เวลาอยู่พักหนึ่ง แม้ว่าทางทีมงานสร้างจะได้รับคำสั่งให้ออกเกมบน Super Famicom และ Inafune Keiji ก็ขยับมาเป็นผู้วางแผนออกแบบเกมอย่างเต็มไม้เต็มมือมากขึ้น อาจจะเพราะเขาทราบดีว่าแฟนของ Rock Man หลายคนอายุมากขึ้นตามกาลเวลา หรืออาจจะต้องการแสดงพลังของเครื่องเกมใหม่ที่ดีขึ้น และความต้องการตามวิสัยของศิลปินที่อยากจะนำเสนออะไรใหม่ๆ ของตัวเอง เขาจึงออกแบบ Rock Man สำหรับเครื่อง Super Famicom ให้โฉบเฉี่ยว ดุดันขึ้น และเขาก็ได้ดีไซน์ Rock Man เวอร์ชั่นใหม่ที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ในใจ … แต่หุ่นที่ว่าคือ Zero นะ
เมื่อพบว่าหุ่นใหม่นั้นโดนใจคนออกแบบ แต่อาจทำให้แฟนคลับหมางใจ Inafune ที่เป็นผู้ร่วมเขียนบทของ Rock Man ภาคใหม่จึงปรับแก้ให้ตัวละครใหม่กลายเป็นตัวละครสมทบ และสร้างผู้สืบทอด Rock Man ขึ้นมาอีกตัวหนึ่งแทน และในระหว่างทางที่คิดว่าจะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่อะไรดี เขาก็หงุดหงิดเตะกำแพง แล้วไอเดียให้ Rock Man กระโดดไต่กำแพงได้ก็เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ จากนั้นทีมงานก็เอาไอเดียจากเกม RPG ที่เริ่มตีตลาดโลกได้รัวๆ ณ เวลานั้น มาผสมผสานแล้วกลายเป็นไอเดียที่ผู้เล่นจะต้องตามหาชิ้นส่วนอาวุธเสริมพลัง
เมื่อได้ไอเดีย ก็เกลาบทจนเข้าที่เข้าทาง เรื่องราวของ Rock Man ภาคนี้จึงดำเนินอยู่ในอนาคตอันไกลในปี 21XX ที่มนุษย์กับหุ่นยนต์ Reploids อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน แต่อาจจะไม่สันติมากนัก เพราะยังมีกลุ่มหุ่น Irregular (หรือ Maverick ในฉบับอเมริกา) Reploids กลุ่มหนึ่งจึงรวมตัวกันก่อตั้ง Irregular Hunters หน่วยรักษาความสงบที่คอยปราบปรามหุ่นที่ออกอาละวาด และตัวเอกของเราก็คือ X หุ่น Reploids ตัวใหม่ที่ประจำการในหน่วย Irregular Hunters ภายใต้การดูแลของ Zero รุ่นพี่ฝีมือดี และพวกเขาต้องรับมือกับ Sigma อดีตผู้บัญชาการของ Irregular Hunters ที่กลายเป็น Irregular เสียเอง และเขาได้นำทัพพรรคพวกเก่ามาทำลายล้างมนุษยชาติ X กับ Zero จึงต้องรีบเร่งกำจัดภัยนี้ให้ได้เร็วที่สุด
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ได้ถูกประกอบกันเป็นเกมชื่อว่า Rock Man X สปินออฟแบบที่แยกออกจากภาคหลัก ซึ่งออกวางจำหน่ายในช่วงปลายปี 1993 ที่ได้รับความนิยมจากแฟนเกมทั่วโลก Zero ที่มาปรากฏตัวในภาคนี้อาจจะไม่ได้เปิดให้ผู้เล่นได้ควบคุมแต่ก็มีบทที่น่าจดจำจนทำให้เขาได้ปรากฏตัวอีกภายหลังในหลายๆ ภาค ส่วนตัวร้ายอย่าง Sigma ก็ถือว่ามารับช่วงเป็นตัวร้ายขาประจำ โดยมี VAVA (หรือ Vile ในฉบับ Mega Man X) เป็นคู่ปรับอีกหนึ่งตัวที่มาท้าทายฝีมือของผู้เล่นอีกหลายครั้ง
แต่ตำแหน่งสปินออฟเกมแรกจริงๆ อาจจะต้องยกให้เกม Wily & Right No RockBoard: That’s Paradise บนเครื่อง Famicom ที่ออกมาในช่วงต้นปี 1993 เฉพาะในญี่ปุ่น ถ้าอธิบายเร็วๆ เกมนี้ก็คือเกมเศรษฐีที่เอาตัวละครของ Rock Man ภาคหลักมาใช้เป็นตัวละครในเกม
หลังจากนั้นก็มีเกมสปินออฟอีกภาคอย่าง Rock Man Soccer บนเครื่อง Super Famicom ที่จับเอาหุ่นเด่นๆ ของ Rock Manมาเตะบอลแข่งกันวางจำหน่ายในปี 1994
ช่วงปลายปี 1994 Rock Man X ก็ได้ออกภาค 2 ก่อนจะออกภาค 3 ในช่วงปลายปี 1995 ซึ่งหลายคนในประเทศไทยอาจจะไม่ได้มีโอกาสได้เล่นเกมภาค 2 กับ ภาค 3 บนเครื่อง Super Famicom มากนัก ด้วยเหตุที่ว่า ณ ยุคนั้นเกมลิขสิทธิ์ยังไม่ได้รับความนิยม และตัวเกมสองภาคดังกล่าวบนเครื่อง Super Famicom มีตัวป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้หลายๆ คนได้มาเล่นเกมนี้อีกทีในภายหลังตอนที่มีการรวม Rock Man X ภาคเก่าๆ มารวมขายเป็นแพ็คเซ็ต และ ในช่วง Rock Man X 3 นี่เองที่ผู้เล่นจะมีโอกาสได้เล่นเป็น Zero แต่ก็เป็นแค่การเล่นชั่วคราวเท่านั้น
ระหว่างที่ภาค X กำลังเติบโต Rock Man ภาคหลักก็ได้เดินทางมาสู่ Super Famicom กับเขาบ้าง ในเกม Rock Man 7 ที่แม้ว่ายังมีแกนหลักเหมือนเดิม (Dr. Wily สร้าง/ขโมย หุ่นครองโลก)
แต่ในภาคนี้มีการแนะนำหุ่นยนต์คู่ปรับของ Rock Man อย่าง Forte (หรือ Bass ในฉบับ Mega Man) หุ่นยนต์ที่ถูกดีไซน์ให้คล้ายกับ Rock Man แต่มาพร้อมกับเป้าหมายที่ต้องการพิสูจน์ว่าตัวเขาเป็นคนที่แข็งแกร่งที่สุด กับ Gospel หุ่นยนต์สุนัขที่คล้ายกลับ Rush (หรือ Treble ในฉบับ Mega Man) ด้วยความที่จะมาร่วมวงพลพรรคชาวร็อคในภาคหลัก ชื่อของหุ่นสองตัวใหม่นั้นก็เป็นการอ้างอิงถึงประเภทดนตรี อย่างตัว Forte มาจากศัพท์ทางดนตรีที่หมายถึงการส่งเสียงดัง Gospel หมายถึงเพลงร้องประสานเสียงที่มักจะเป็นการร้องเพลงเชิงศาสนา ส่วนชื่อ Bass กับ Treble มาจาก เสียงทุ้มต่ำกับเสียงแหลมสูงนั่นเอง
อ้อ ยังมีหุ่นยนต์สมทบอย่าง Rightot (หรือ Auto ในฝั่ง Mega Man) มาสนับสนุน Rock Man และทำหน้าที่เป็นคนขายไอเท็มในเกมภาคหลังจากนี้อีกด้วย น่าแปลกใจนิดหน่อยที่เหมือนชื่อของพ่อหุ่นตัวนี้จะไม่ได้อ้างอิงถึงดนตรีแต่อย่างใด
Rock Man อีกภาคหนึ่งบนเครื่อง Super Famicom คือภาค Rockman & Forte ซึ่งจับเอาตัวละครใหม่ในภาค 7 มาสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพระเอกอย่าง Rock Man และตัวเกมเปิดให้ผู้เล่นเป็น Forte ที่มีความสามารถต่างจาก Rock Man ตัวเกมถูกวางจำหน่ายในปี 1998 เป็นช่วงที่ Super Famicom หมดยุคแล้ว แต่ตัวเกมได้ถูกออกมาจำหน่ายอีกครั้งภายหลัง
1994-1995 กระโดดไปเหยียบถิ่น SEGA
ก่อนที่จะข้ามไปคุยถึง Rock Man ในยุคเครื่องเกม 32 บิท ขอแวะเวียนมาเครื่องเกม Sega Mega Drive กันเล็กน้อย เพราะหลายคนอาจจะคิดว่าในยุคเครื่องเกม 16 บิท ตัวเกม Rock Man แทบจะผูกขาดอยู่กับทาง Nintendo เกือบทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วเกมส่วนหนึ่งที่ไปลงกับเครื่องเกมของทาง SEGA เกมแรกก็คือเกม Rock Man Mega World ที่ออกวางขายในปี 1994 ซึ่งเป็นการนำเอา 3 ภาคแรกมารีเมคใหม่ เพิ่มเติมคือใส่ระบบเซฟ ปรับปรุงกราฟฟิกให้สวยงามมากขึ้นจากฉบับ Nintendo และมีโหมด Wily Tower ที่มีบอสใหม่อีกสามตัว ซึ่งเป็นบอสเฉพาะสำหรับเกมเวอร์ชั่นนี้
อีกเกมหนึ่งที่ทาง SEGA ได้ไปก็คือ Rock Man ฉบับ Game Gear ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับฉบับ Game Boy แต่จับเอาเกม Rock Man 4 กับ 5 มายำรวมกัน แถมยังมีความยากกว่าเดิมด้วยตัวหน้าจอและระบบเกมที่ไม่เปิดโอกาสให้คอนทินิว (ยากปั้ย!!!)
และหลังจากนี้ยุคของเกมก็เริ่มเดินหน้าเข้าสู่ยุคคอนโซล 32 บิท ที่เกมไม่ได้ลงแค่เครื่องใดเครื่องหนึ่งอีกต่อไป
1996-2001 ข้ามสู่โลกของคอนโซล 32 บิท
เมื่อเฟรนไชส์ Rock Man เริ่มขยายตัว ก็เป็นจังหวะที่เครื่องเกมคอนโซล 32 บิท ที่มีศักยภาพมากพอจะสร้างภาพ 3 มิติ เริ่มได้รับความนิยม จนคนเริ่มคิดว่าเกมที่เน้นฉากเล่น 2 มิติ อาจจะไม่มีที่ยืนมากนักในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งนั่นก็ไม่จริงเสียทีเดียว จากการที่เราได้เห็น Rock Man 8 ออกวางจำหน่ายในปี 1996 ทั้งบนเครื่อง PlayStation และ Sega Saturn ที่เกมมากับภาพที่สวยงามมากขึ้น ฉากคัทซีนที่เป็นอนิเมชั่นพากย์เสียงแบบเต็มพิกัด (ซึ่งเสียงพากย์ชวนขัดใจเบาๆ สำหรับเวอร์ชั่น Mega Man 8) ระบบอาวุธที่เหมือนจะมีลูกเล่นมากขึ้น
แต่เมื่อโดยรวมตัวเกมนั้นยังใกล้เคียงเกมภาคก่อน ทำให้เกมได้รับความนิยมแบบกลางๆ ไม่กระหึ่มเหมือนที่ผ่านมา และตัวละครใหม่อย่าง Duo ก็ได้รับความนิยมจากแฟนเกมพอสมควร (และคำว่า Duo ก็ยังอิงถึงการร้องเพลงคู่ ตามธรรมเนียมของพลพรรคชาวร็อคที่ดี)
อีกด้านหนึ่งในฝั่งของ Rock Man X ก็มีการจับเอาภาค X 3 มาออกใหม่ บน PlayStation กับ Sega Saturn อีกรอบในปี 1996
แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนจนสาแก่ใจคนเล่นเกมซีรีส์นี้อย่างเหนียวแน่นเกิดขึ้นในปี 1997 กับเกม Rock Man X 4 ที่นอกจากจะมีคัทซีนพร้อมเสียงพากย์เหมือนกับ Rock Man 8 (รวมถึงความชวนขัดใจในฉบับ Mega Man X4 ก็เหมือนกับของ Mega Man 8 อีก) แล้ว X4 ถือว่าเป็นเกมภาคแรกที่ให้ผู้เล่นมีโอกาสได้เล่นเป็น Zero แบบเต็มตัว พร้อมกับเนื้อเรื่องของตัวเอง ที่เขาจะต้องห้ำหั่นกับ Iris หุ่น Reploids หญิงสาวที่เขาผูกผัน โอ้โห ดราม่าจริง
แถม Zero ในเกมภาคนี้ยังเน้นการบู๊ประชิดตัวด้วยดาบลำแสงของเขา ทำให้ตัวเกมที่อยู่ในแพทเทิร์นปราบบอส 8 ฉากมีความแซ่บเร้าใจในการเล่นมากขึ้น เพราะตัว X นั้นจะเป็นการใช้อาวุธยิงเป็นหลักจนเหมือนเป็นการโจมตีจากระยะปลอดภัย แต่ตัว Zero ที่ต้องคลุกวงในนั้นเป็นการหักล้างแนวคิดในการเล่นเกมแบบเดิม และการที่เกมเลือกใช้การเล่น 2 มิติ แต่มีเอฟเฟกต์บางอย่างเท่านั้นที่เป็น 3 มิติ ก็เป็นการเลือกที่ชัดเจนว่า ถ้าตั้งใจทำให้ดี เกมซีรีส์เดิมๆ ที่เกิดจากการเล่นเกมแนว 2 มิติ ก็ไม่ต้องฝืนทำตัวให้เป็น 3 มิติไปเสียหมดก็ได้
แต่ก็ไม่ใช่ว่า Rock Man จะไม่ต้อนรับเทคโนโลยี 3 มิติ เอาเสียเลย พวกเขาเอาการสร้างเกมเป็นภาพ 3 มิติ ไปสร้างเป็นสปินออฟ Rock Man Dash (หรือ Mega Man Legends) เกมแนวแอคชั่นผสม RPG ที่ได้รับความนิยมจากแฟนๆ พอสมควรและไม่ทำร้ายใจแฟนเก่าที่ยังคุ้นเคยกับรูปแบบเกมเดิมๆ ตัวเกม Rock Man Dash ถูกสร้างภาคแยก Tron Ni Kobun ในปี 1999 และมีภาคต่อ Rock Man Dash 2 ในปี 2000 สปินออฟที่อาศัยพลังของโลก 3 มิติ ก็คือ Rockman Battle & Chase ที่ออกขายในปี 1997 เกมที่จับเอาตัวละคร Rock Man ปกติมาขับรถแข่งกัน ซึ่งก็ผิดที่ผิดทางไปสักหน่อย แต่ก็พอจะเล่นเอาเพลินๆ
กลับมาฝั่ง Rock Man X กันอีกสักนิด ผลพวงจากการที่ภาค X4 ประสบความสำเร็จด้วยดี จึงมีความพยายามเข็นภาคต่อออกมา ซึ่งตัว Inafune Keji พยายามวางแผนให้ Rock Man X5 เป็นภาคจบของซีรีส์ X เพื่อให้เชื่อมโยงกับเนื้อเรื่องกับทั้งภาค Rock Man ปกติและภาคใหม่ภาคอื่นที่เขาวางแผนไว้ แต่ทาง CAPCOM ได้สั่งให้ทีมสร้างเดินหน้าสร้าง Rock Man X5 กับ Rock Man X6 ที่เพิ่มออพชั่นไปอีกเล็กๆ น้อยๆ อย่างเกราะใหม่ให้กับ X หรือการโยนดาบของ Zero ให้ X ใช้ แม้ว่าตัวเกมที่ออกวางจำหน่ายในปี 2000 กับ 2001 จะยังไม่ย่ำแย่นักแต่ก็ไม่มีอะไรน่าจดจำเท่าไหร่ จะโชคดีก็ตรงที่เกมออกมาในจังหวะที่คนเริ่มสนใจเครื่องเกมรุ่นใหม่ หรือเรื่องราวรอบตัวแบบ Y2K อะไรแบบนั้นมากกว่า
2001-2008 โดดเด่นกว่าบนเครื่องเกมพกพา
หลังจากข้ามปี 2000 ไปแล้ว Rock Man ก็ยังมีพื้นที่บนคอนโซลเครื่องใหญ่อยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฝั่ง Rock Man X ที่ตอนนี้พยายามปรับตัวจากเกม 2 มิติ เป็น 3 มิติ นับตั้งแต่ Rock Man X 7 ที่วางจำหน่ายในปี 2003 ที่ใส่ตัวเอกเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งตัวคือ Axl (แอ็กเซล) ที่มีระบบน่าสนใจอย่างการใช้ DNA ของหุ่นตัวอื่นมาใช้งานได้ กับระบบใหม่ที่ทำให้ผู้เล่นสามารถสลับตัวละครสองตัวในระหว่างการเล่นได้อย่าลื่นไหล แต่ปัญหาของเกมมีมากมายจนรู้สึกชวนหงุดหงิดไม่เบา เพราะเกมดูช้าลง และระบบการเล่นก็ยังไม่ลงตัวเท่าไหร่
Rock Man X8 ออกมาในปี 2004 ซึ่งถือว่าดีขึ้นจากภาคก่อนหน้าอย่างมาก และปีเดียวกันนั้นก็มีการออกเกม Rockman X Command Mission เกม RPG ในจักรวาล Rock Man X ที่ไม่แย่มากนัก แต่ก็เหมือนจะไม่ช่วยเหลือให้ซีรีส์ได้รับความนิยมของเกมดีขึ้นเท่าไหร่ บวกกับกระแสเวลาที่ทำให้เกม Rock Man เริ่มหายหน้าหายตาไปจากคอนโซลเครื่องใหญ่ไประยะเวลาหนึ่ง
ตรงกันข้ามกับฝั่งเครื่องเกมพกพาที่กลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น นับตั้งแต่ Game Boy Advance เปิดตัวในปี 2001 และซีรีส์ Rock Man ก็ส่งเกมไปลงในเครื่องเกมดังกล่าวหลายเกม ทั้งตัวเกมที่แฟนเกม Rock Man บางคนมองว่าเป็นภาคต่อจริงๆ ของ Rock Man X อย่างเกม Rock Man Zero ที่ Zero ได้เป็นตัวเอกแบบเต็มตัว และบอสของภาคนี้ก็คือ X (ที่ภายหลังเฉลยว่าเป็นแค่ร่างก็อปปี้) เกมปรับจากการเลือกด่านเป็นสไตล์เดินเปิดเแผนที่แบบเกมแอคชั่น RPG มากขึ้น ตัวเกมวางจำหน่ายต่อเนื่องกัน 4 ภาค ตั้งแต่ปี 2002-2005 ก่อนที่จะมีภาคต่อขยายอย่าง Mega Man ZX ตามมาในภายหลัง ทั้งนี้ตัวเกมทั้งสองภาคนี้มีบริษัท Inti Creates ซึ่งเป็นบริษัทที่อดีตพนักงานของทาง CAPCOM เป็นผู้ก่อตั้ง และในภายหลังได้เป็นผู้พัฒนา Rock Man 9 กับ Rock Man 10 ด้วย
อีกซีรีส์หนึ่งบนเครื่องเกมพกพาที่ได้รับความนิยมจากแฟนเกมรุ่นใหม่ (ณ ตอนนั้น) ก็คือ Rock Man EXE หรือ Battle Network Rockman EXE หรือ Mega Man Battle Network ที่เป็นซีรีส์ที่ปนความเป็นเกม Pokemon คู่กับความเป็น Rock Man และตัวเกมเป็นแนว RPG ที่มีฉากต่อสู้เป็นแอ็กชั่นผสมการ์ดเกม โดยมีการตีความว่า ถ้า Dr. Light พัฒนาด้านอุปกรณ์เน็ตเวิร์กแทนที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ก็จะมีเนื้อเรืองในลักษณะที่เกิดขึ้นในเกมภาคนี้แทน ซึ่งตัวเกมได้รับความนิยมและออกจำหน่ายบนเครื่อง Game Boy Advance ถึง 6 ภาค ในช่วงปี 2001-2005 ก่อนจะมีเกม Ryusei No Rock Man (หรือ Mega Man Star Force) มารับช่วงเป็นภาคต่อบนเครื่อง 3DS ที่ถูกสร้างออกมา 3 ภาคในปี 2006-2008
การพยายามฟื้นฟูซีรีส์เก่าก็มีอยู่บนเครื่องเกมพกพาเช่นกัน อย่างในปี 2005 ก็มีการออกเกม Irregular Hunter X (หรือ Maverick Hunter X) ที่เป็นการเอาเกม Rock Man X ภาคแรกมาจัดทำใหม่ให้สอดคล้องกับภาคหลังๆ เพิ่มเติมเนื้อเรื่องให้เมกเซนส์มากขึ้น โดยใช้เอนจิ้น 3 มิติ แต่สร้างภาพจำลองแบบ 2 มิติ แทน
ก่อนที่ปี 2006 จะมีการออกเกม Rock Man Rock Man (หรือ Mega Man Powered Up) ซึ่งเป็นการเอา Rock Man ภาคแรกมาทำภาพใหม่น่ารักและเพิ่มบอสอีก 2 ตัว อย่าง Oil Man และ Time Man เพื่อให้บอสของภาคแรกมีครบ 8 ตัวเท่าภาคอื่นๆ แม้ตัวเกมจะทำออกมาดีและมีอะไรน่าสนใจอยุ่มาก แต่ยอดขายของทั้งสองเกมไม่ได้ถึงเป้าตามที่ทีมพัฒนาต้องการ
กระนั้น Rock Man ภาคหลักก็กำลังจะกลับมาอีกครั้ง ด้วยการเดินทางเข้าสู่เส้นทางที่เกินคาด
2008-2018 ทศวรรษที่กลับมา แต่ก็เงียบเหงา ก่อนจะฟื้นคืนอีกครั้ง
แม้ว่าเกม Rock Man กับ Rock Man X ภาครีเมคใหม่ให้ทันสมัยแต่คงวิธีการเล่นแบบเดิมจะได้รับความนิยมจากนักวิจารณ์เกม แต่ยอดขายที่หดหายทำให้ความตายน่าจะมาเคาะประตูซีรีส์เกมนี้อยู่ไม่น้อย และวงการเกมก็เข้าสู่ยุคดิจิทัลมากยิ่งกว่าที่เคย Rock Man 9 ก็ได้กลับมาสู่เบื้องหน้าของคอเกมอีกครั้ง การกลับมาครั้งนี้เป็นการร่วมมือของทาง CAPCOM กับทาง Inti Creates ที่พัฒนา Rock Man Zero ซึ่งตัวเกมนั้นตัดสินใจจะเรโทรให้ถึงขีดสุดด้วยการกลับไปทำเกมแบบ 8 บิท เหมือนสมัย Famicom (รวมถึงความยากระดับปาจอยทิ้ง) ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่แย่นักด้วยความที่ว่ากระแสเกมเรโทรเริ่มเป็นเรื่องปกติแล้วในปี 2008 และตัวเกมเลือกจะวางจำหน่ายแบบดิจิทัลเป็นหลัก จนตัวเกมทำยอดขายได้เป็นที่พอใจของบริษัท
ต่อมาก็มีการทำภาคต่อคือ Rock Man 10 ที่มาแนวเรโทรเหมือนเดิม ซึ่งก็ยังได้รับการตอบรับดีจากแฟน แม้ว่าจะเจอค่อนแคะบ้างว่าไม่มีอะไรใหม่เท่าไหร่นัก แล้วก็เป็นในช่วงปี 2010 นี้ที่ Inafune Keiji ลาออกจากทาง CAPCOM ทำให้ซีรีส์ Rock Man เสียบุคลากรที่ทำงานกับเกมนี่มานานที่สุดอีกคนหนึ่ง และหลังจาก Rock Man 10 แล้วตัวเกม Rock Man ก็เงียบเหงาจนน่าตกใจ จนแฟนๆ เกิดความคิดว่า สุดท้าย Rock Man จะตายลงอย่างแท้จริงแล้วอย่างนั้นหรือ
หลังจากนั้น Inafune Keiji ก็ได้ประกาศในปี 2013 ว่าเขาต้องการจะสร้างเกม Mighty No. 9 เกมที่เป็นภาคต่อทางจิตวิญญาณของ Rock Man ซึ่งแฟนๆ ก็สนับสนุนด้วยการร่วมลงทุนผ่านทาง Kickstarter อย่างล้นหลาม แต่เกมถูกเลื่อนการจำหน่ายหลายครั้ง และเมื่อเกมออกวางจำหน่ายจริงในปี 2016 คุณภาพของเกมก็ออกมาไม่สมศักดิ์ศรี (และเงินลงทุน) เท่าใดนัก แล้วก็เป็นในช่วงนี้นี่เองที่แฟน Rock Man ถอดใจไปแล้วว่าภาคต่อที่แท้จริงของเกมนี้น่าจะหายไปอย่างถาวร
ย้อนเวลาไปสักเล็กน้อย ความจริงแล้วในช่วงปี 2010 เคยมีความพยายามจะสร้างเกม Rock Man Online แต่ทว่าโครงการดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป และในปีเดียวกันก็เคยมีการประกาศว่าจะสร้าง Mega Man Universe ซึ่งเหมือนจะเป็นเกมแนวออนไลน์ที่จะเอาตัวละครของ CAPCOM มาร่วมศึกในเกมสไตล์ Rock Man ก่อนจะมีการประกาศยกเลิกการพัฒนาไปในปี 2011 ต่อมาก็มีการพัฒนาเกมสำหรับโทรศัพท์มือถือ Rockman Xover ที่จับให้ตัวละครผู้เล่นเป็น Reploid ตัวใหม่ที่เดินทางข้ามห้วงเวลา (ตามกิมมิกของชื่อเกม) ไปสู้กับบอสตัวอื่นๆ แต่เกมไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีในบ้านเกิด และสุดท้ายก็ยุติการให้บริการในปี 2015 อีกเกมหนึ่งที่ถูกยกเลิกการพัฒนาไปในช่วงปี 2010 ก็คือเกม Maverick Hunter ที่จะแปลงเอาให้เกม Rock Man กลายเป็นเกมแนวยิงบุคคลที่หนึ่ง
ทุกอย่างดูเงียบงันอยู่หลายปี และคนที่เหมือนจะมารับช่วงต่อก็ยังไม่ปรากฏตัวขึ้น จนกระทั่งช่วงปี 2015 ที่มีการประกาศวางจำหน่าย Rockman Classics Collection หรือ Mega Man Legacy Collection ซึ่งในตอนแรกหลายคนก็คิดว่าคงจะเป็นการจับแพ็คมัดรวมของเก่ามาขายใหม่อีกครั้ง จนกระทั่งมีการประกาศ Rockman Classics Collection 2 หรือ Mega Man Legacy Collection 2 ตามออกมาในปี 2017 และภายในเกมดังกล่าวมีภาพแปลกๆ ‘หลุดออกมา’ แต่หลายคนก็ไม่คิดอะไรมากนัก เพราะตีความไปว่าน่าจะเป็นแค่ดีไซน์ที่ไม่ได้ถูกใช้งาน จนกระทั่งช่วงปลายปี 2017 ที่ CAPCOM มาประกาศอย่างเป็นทางการว่า ภาพดังกล่าวนั้นคือภาพดีไซน์ของ Rock Man 11 ภาคใหม่ที่หลายคนรอมาเนิ่นนาน
และเกม Rock Man 11 ก็วางจำหน่ายไปเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมปี 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งกระแสตอบรับทั้งจากคนเล่นทั่วไปและนักวิจารณ์อยู่ในแง่บวกทั้งคู่ คราวนี้ก็คงเหลือแค่การลุ้นว่ายอดขายของเกมภาคที่ 11 จะมากพอไหมที่จะทำให้มีการพัฒนาเกมภาคต่อออกไปได้
ถึงจะมีอายุอานามเข้าวัย 31 ปี มีเกมหลายสิบเกม (ซึ่งหลายเกมก็สงวนตัวอยู่ในบ้านเกิด) ไปเป็นแขกรับเชิญในเกมคนอื่นก็ไม่น้อย Rock Man ก็ยังคงเป็นเป้าหมายของคนเล่นเกมหลายๆ คนติดตามเสมอ ไม่ว่าจะเพื่อไปเล่นเกม หรือการพัฒนาเกมตามรอยเกมนี้
แล้วคุณล่ะมีความสัมพันธ์อย่างไรกับหุ่นสีน้ำเงินตัวนี้บ้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก
- shmuplations.com/megaman
- shmuplations.com/megamanx
- Mega Man 30th Anniversary! The Complete History Of Rockman! Gaijillionaire’s Club – GTV www.youtube.com
- Mega Man Games on Sega – Gaming Historian www.youtube.com
- Mega Man – Did You Know Gaming? Feat. Egoraptor – www.youtube.com
- Mega Man Part 2 – Did You Know Gaming? Feat. Kirbopher – www.youtube.com