นาทีนี้ น้อยคนคงจะไม่เคยผ่านตาชื่อ GameStop ยักษ์ใหญ่ร้านค้าปลีกเกมส์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งราคาเพิ่มขึ้นถึงราว 17 เท่าตัวนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา กลายเป็นคำถามสะพัดในโลกอินเทอร์เน็ตว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทที่ดูไร้อนาคต ผลประกอบการย่ำแย่ และผู้เชี่ยวชาญมองว่าไม่สามารถแข่งขันได้ในโลกใบใหม่ที่เหล่าเกมเมอร์ผันตัวสู่การซื้อของบนโลกออนไลน์
พอได้ทราบคำตอบก็ยิ่งขมวดคิ้วสงสัย เพราะสาเหตุที่หุ้น GameStop ทำราคาวิ่งจนแทบทะลุเพดานคือการแก้แค้นของเหล่า ‘ชาวเน็ต’ จากกลุ่มผู้สนใจด้านการลงทุนที่มีจำนวนผู้ใช้กว่าสี่ล้านคนจากชุมชน wallstreetbets ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ Reddit หากเทียบง่ายๆ ก็คือห้องสินธรของเว็บไซต์พันทิปนั่นแหละครับ
หนึ่งในผู้ก่อการคือผู้ใช้ชื่อว่า Roaring Kitty นักลงทุนผู้เชื่อมั่นในศักยภาพของ GameStop ที่โพสต์เผยแพร่ว่ากองทุนเฮดจ์ฟันด์อย่าง Point72 และ Citron Capital ขายชอร์ต (short-selling) หุ้น GameStop ธุรกรรมนี้หมายถึงกองทุนจะได้กำไรก็ต่อเมื่อราคาหุ้นดังกล่าวปรับตัวลดลง ก่อนจะปลุกระดมให้เหล่าสาวกให้รวมพลังเอาคืนกองทุนใจดำที่มาทำร้ายหุ้นที่พวกเขารักโดยการเข้าซื้อหุ้น GameStop เพื่อผลักให้ราคาหุ้นดังกล่าวสูงขึ้น เปลี่ยนฝันหวานของกองทุนที่จะฟันกำไรเมื่อราคาหุ้นร่วงสู่ฝันร้ายเมื่อราคาหุ้นทะยานขึ้นไปจนสูงเสียดฟ้า
แน่นอนครับว่าหลายคน (รวมถึงตัวผมเอง) รู้สึกสะใจไม่น้อยกับชัยชนะดังกล่าว และรู้สึกความยินดีกับผู้ถือหุ้น GameStop มาอย่างยาวนานที่กลายเป็นเศรษฐีใหม่ในเวลาไม่กี่วัน แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับสร้างความระส่ำระสายให้กับเหล่านักลงทุนรายใหญ่ เพิ่มความผันผวนของราคาหุ้นในตลาด กลายเป็นความกังวลว่าสักวันกลยุทธ์การลงทุนที่วางแผนอย่างถ้วนถี่อาจพังทลายในชั่วพริบตาจากความบ้าระห่ำของชาวเน็ต
‘ปั่น’ อย่างไรให้นายทุนเจ็บ
ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ คงคุ้นเคยกับการซื้อหุ้น ที่หากหุ้นราคาขึ้นก็ได้กำไร หุ้นราคาร่วงก็ติดตัวแดง แต่น้อยคนที่จะรู้จักการขายชอร์ต ธุรกรรมที่ยุ่งยากกว่าแต่จะได้ผลกำไรและขาดทุนในทิศทางตรงกันข้ามกับการซื้อหุ้น คล้ายกับการวางเดิมพันว่าราคาหุ้นนั้นจะลดลง
การขายชอร์ตเหมือนกับการยืมของเพื่อนมาขายก่อน แล้วพอครบกำหนดระยะเวลาก็จะนำของดังกล่าวมาคืนให้ ตัวอย่างเช่น นาย ป. ยืมนาฬิกาหรูจากเพื่อนแล้วนำมาขายในท้องตลาดได้ราคา 100,000 บาท แล้วสัญญาว่าเมื่อครบ 1 ปี จะนำนาฬิกาดังกล่าวมาคืน หลังจากครบกำหนด นาย ป. ก็ต้องไปหาซื้อนาฬิกาแบบเดียวกันในท้องตลาด หากราคาของนาฬิกาปรับตัวลดลงเหลือ 60,000 บาท นาย ป. ก็จะได้กำไร 40,000 บาท แต่หากนาฬิกาดังกล่าวราคาพุ่งทะยานเป็น 160,00 บาท นาย ป. ก็ต้องกัดฟันทำตามสัญญา ควักเนื้อตัวเองเพิ่มอีก 60,000 บาทเพื่อซื้อนาฬิกาคืน
การขายชอร์ตในตลาดทุนก็คือการแทนที่นาฬิกาจากตัวอย่างข้างต้นเป็นหุ้นของบริษัทนั่นเอง
สำหรับกรณี GameStop เหล่าสาวกหุ้นดังกล่าวรวมพลังกัน ‘ทวงคืนความเป็นธรรม’ โดยการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวเพื่อดันให้ราคาพุ่งขึ้นสูง อีกทั้งยังสร้างแรงกดดันให้กองทุนที่ขายชอร์ตหุ้นดังกล่าวไว้ ปิดสถานะการขายชอร์ตของตนเองเพื่อจำกัดการขาดทุนโดยการเข้าซื้อหุ้นอีกหนึ่งแรง
กลายเป็นแรงผสานทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นสูงเสียดฟ้า
โดยนักลงทุนจะเรียกวงจรนี้ว่าการบีบชอร์ต (short squeeze)
ยิ่งอ่านหลายคนอาจจะยิ่งงง ผมขอย้อนกลับไปที่ตัวอย่างการการยืมนาฬิกาหรูเพื่อนมาขายก่อนของนาย ป. ที่มีกำหนดระยะเวลาว่าจะต้องคืนภายใน 1 ปี โดยกำหนดให้มีเหตุการณ์พลิกผันหลังเวลาผ่านไปไม่กี่เดือน นาฬิกาหรูดังกล่าวดันกลายเป็นรุ่นสุดฮิตที่ต้องมีทุกบ้าน ราคาซื้อขายก็พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะหยุด นาย ป. จึงตัดสินใจยอมขาดทุน เฉือนเนื้อซื้อนาฬิกาในราคา 170,000 บาทมาเก็บไว้แม้ว่าจะยังไม่ถึงกำหนดจะต้องคืนนาฬิกาดังกล่าว นี่คือการปิดสถานะขายชอร์ต เพราะหลังจาก นาย ป. ซื้อนาฬิกาหรูมาเก็บไว้แล้ว ราคานาฬิกาจะขยับขึ้นลงอย่างไรก็ไม่กระทบต่อธุรกรรมขายชอร์ตที่เคยทำไว้ เพราะถึงกำหนดสัญญา นาย ป. ก็แค่หยิบนาฬิกาที่ซื้อเก็บไว้แล้วมาคืนให้เพื่อน เป็นอันจบ
หากแทนที่นาฬิกาหรูด้วยหุ้น GameStop แล้วแทนนาย ป. ด้วยกองทุนยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกรรมขายชอร์ตมูลค่ามหาศาลไว้ เราจะพอเห็นภาพว่าราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นนั้น บีบให้เหล่ากองทุนต้องเข้าซื้อหุ้นเพื่อปิดสถานะและจำกัดการขาดทุนของตนเอง แต่ปิดสถานะดังกล่าวกลับยิ่งสร้างแรงซื้อหุ้นที่ตัวเองชอร์ตไว้ กลายเป็นการ ‘บีบ’ ราคาหุ้นให้สูงขึ้นไปอีก
แม้ว่าเหล่ากองทุนที่ขายชอร์ตหุ้น GameStop จะไม่เปิดเผยยอดว่าสูญเสียเงินไปเท่าไหร่ แต่มีการประมาณการว่ากองทุนเหล่านั้นขาดทุนรวมกันไม่ต่ำกว่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่หุ้น GameStop กระโดดจากราคาราว 20 ดอลลาร์สหรัฐเป็น 345 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนกระทาชายนาย Roaring Kitty เปลี่ยนเงินลงทุนห้าหมื่นเหรียญเป็น 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี
‘ขายชอร์ต’ เลวร้ายจริงหรือ?
เหล่านักลงทุนที่ทำกำไรจากการขายชอร์ตมักจะโดนมองแบบเหยียดหยามว่าไม่ต่างจากอีแร้งหรือไฮยีน่าที่หากินกับ ‘ซากศพ’ ของบริษัทที่อ่อนแอ ทั้งยังไม่ต่างจากการแสวงหาความร่ำรวยจากความวอดวายของผู้อื่น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะรู้สึกสาแก่ใจเมื่อเหล่ากองทุนที่หวังฟันกำไรจากการขายชอร์ต ต้องเก็บกระเป๋าเบาโหวงกลับบ้านด้วยความร่วมแรงร่วมใจของเหล่านักลงทุนรายย่อย
แต่การขายชอร์ตนั้น เลวร้ายอย่างที่หลายคนคิดจริงๆ หรือ?
หากสวมแว่นตานักการเงินการขายชอร์ตไม่ใช่ธุกรรมที่เลวร้าย แต่เป็นวิธีการแสวงหากำไรอย่างหนึ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดหลักทรัพย์ ไม่ต่างจากการมี ‘ผู้ตรวจสอบอิสระ’ คอยสอดส่องดูแลบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ว่าซุกซ่อนอะไรน่าสงสัยในงบการเงินหรือไม่ หรือกำลังเดินกลยุทธ์ที่ผิดพลาดอย่างรุนแรงหรือเปล่า
กำไรจากการขายชอร์ตคือแรงจูงใจให้
เหล่านักลงทุนพยายามจ้องจับผิดและ
วางเดิมพันว่าบริษัทไหนน่าจะ ‘ไร้อนาคต’
ผลงานของนักขายชอร์ตในอดีตก็เช่นการแงะงบการเงินของบริษัท Enron จนจับได้ว่ามีการปลอมแปลงตัวเลขซึ่งนำไปสู่การเปิดโปงครั้งใหญ่และกลายเป็นกรณีศึกษาคลาสสิคว่าด้วยการฉ้อโกงทางบัญชี หรือบริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาแต่ไม่ได้ดำเนินการจริงๆ ไปจนถึงตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (Mortgage Backed Securities) ซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อราวสิบปีก่อนก็มีนักขายชอร์ตชื่อดังอย่างไมเคิล เบอร์รี (Michael Burry) ส่งสัญญาณเตือนแต่ไม่มีใครรับฟัง
ความโกลาหลจะจบลงอย่างไร?
กรณีของ GameStop ทำให้นักลงทุนมืออาชีพต้องกุมขมับ เพราะถึงแม้ว่าราคาหุ้นดังกล่าวจะขึ้นทะลุเพดานจนกลายเป็นบริษัทที่มูลค่าสูงที่สุดเกาะกลุ่มแนวหน้าของตลาดหุ้น แต่ราคาที่เปลี่ยนไปนั้นก็ไม่ได้สะท้อนศักยภาพในการเติบโต หรือโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ แต่อย่างใด ภาวะเช่นนี้ นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเข้าข่าย ‘ความบ้าคลั่งของมวลชน’ ที่ไม่ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลเหตุผล จนราคาหลักทรัพย์สูงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริงอย่างมากหรือก็คือภาวะฟองสบู่นั่นเอง
แต่ที่น่าหวาดหวั่นคือเหล่านักลงทุนรายย่อยต่างใช้ความสำเร็จครั้งนี้เป็นกรณีศึกษา แล้วเริ่มเพ่งเล็งไปที่หุ้นตัวอื่นซึ่งอยู่ในสภาวะย่ำแย่และนักลงทุนสถาบันมักจะขายชอร์ตเอาไว้ เราจึงเห็นเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายกันเกิดกับหุ้นอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา เช่น AMC Entertainment ธุรกิจโรงภาพยนตร์ หรือ Koss ธุรกิจหูฟัง
ฝั่งเอเชียเองก็เริ่มมีกระแสเลียนแบบ เช่น การรวมตัวของชาวเน็ตในมาเลเซียเพื่อเข้าซื้อบริษัทผลิตถุงมือ Top Glove Corp จนราคาขึ้นไปร่วม 15 เปอร์เซ็นต์ในวันเดียว การรวมตัวของเหล่านักลงทุนไม่ได้หยุดแค่หุ้นนะครับ
เพราะตอนนี้นักลงทุนบางกลุ่มเริ่มวิ่งเข้าใส่
โลหะมีค่าอย่างเงิน ที่ล่าสุดราคาพุ่งขึ้นไปแตะระดับ
สูงที่สุดในรอบ 11 ปี
ภาวะดังกล่าวย่อมทำให้นักลงทุนสถาบันที่ทำงานหนักและวางกลยุทธ์อย่างแยบยลเพื่อเลือกเฟ้นหุ้นมาทำธุรกรรมขายชอร์ตต้องอกสั่นขวัญหาย เพราะไม่รู้ว่าหุ้นที่ตนเองขายชอร์ตไว้นั้นจะกลายเป็น ‘เหยื่อ’ รายต่อไปของนักลงทุนผู้โกรธเกรี้ยวเมื่อไหร่
ฝั่งผู้กำกับดูแลตลาดอย่าง กลต. แทบทุกประเทศต่างก็จับตามองเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะนี่คือความพยายามสร้างราคาหลักทรัพย์ให้บิดเบือนจากที่ควรจะเป็นหรือภาษาบ้านๆ เรียกว่าการปั่นหุ้น ซึ่งเป็นเทคนิคผิดกฎหมายของเหล่ามหาเศรษฐีในการผลัดกันซื้อขายเพื่อสร้างราคาลวงตา แต่ครั้งนี้ต่างออกไป เพราะถึงจะเห็นอยู่ซึ่งหน้าว่าใครคือนักลงทุนที่พยายามจะ ‘ปั่น’ ราคาหุ้น แต่กลับทำอะไรไม่ได้เพราะนักลงทุนดังกล่าวไม่ได้บังคับใคร แถมยังไม่ได้ปล่อยข่าวลวงใดๆ เพื่อหลอกล่อให้นักลงทุนรายอื่นหลงเชื่อ ผู้กำกับดูแลจึงได้แต่เฝ้ามองตาปริบๆ พร้อมกับประกาศว่าจะคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยอย่างเต็มที่
ขณะที่ฝ่ายนักการเงินมืออาชีพก็คงรู้สึกเซ็งไม่น้อย เพราะเหล่านักลงทุนรายย่อยที่รวมพลังกันสร้างราคากลับยิ่งทำให้ตลาดบิดเบือน ความผันผวนสูง และไร้ประสิทธิภาพ เพราะอย่าลืมว่าต่อให้ราคาหุ้นจะพุ่งทะลุจนถึงสวรรค์ แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจ GameStop เจริญรุ่งเรืองขึ้นแต่อย่างใด เพราะมูลค่าหุ้นของบริษัทก็เป็นเพียงตัวเลขในกระเป๋าของผู้ถือหุ้น ส่วนฝั่งการบริหารก็ต้องพยายามขบคิดกันต่อไปว่าจะฟื้นธุรกิจอย่างไรให้กลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง
สิ่งที่น่ากังวลที่สุดจากเหตุการณ์ GameStop คือปัญหาความเชื่อมั่นในตลาดทุน หากการรวมกลุ่มของนักลงทุนรายย่อยบนโลกออนไลน์สามารถปั่นราคาหุ้นใดหุ้นหนึ่งได้อย่างง่ายดาย ประชาชนคนทั่วไปก็อาจมองตลาดหุ้นไม่ต่างจากโต๊ะพนัน และหาช่องทางการลงทุนอื่นที่เสี่ยงน้อยกว่า และไม่ต้องโดนรบกวนโดยเหล่า ‘ชาวเน็ต’ ผู้เกรี้ยวกราด
สำหรับกลุ่มนักลงทุนที่กลายเป็นมหาเศรษฐีน้อยแบบชั่วข้ามคืนก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกราฉันใด ฟองสบู่ราคาหลักทรัพย์ก็มีวันระเบิดฉันนั้น หากเป็นไปได้ให้รีบขายก่อนที่ทุกคนจะ ‘ตาสว่าง’ แล้วฉุดราคาหุ้นร่วงฮวบสวนทางกับราคาที่ฟูขึ้นมาเมื่อไม่กี่วันก่อน
ส่วนใครที่กำเงินเตรียมหาช่องทางเพื่อเข้าซื้อ ผู้เขียนแนะนำสามคำว่า ‘อย่าหาทำ’ เพราะตอนนี้ตลาดมีความผันผวนสูงมาก ให้ท่องไว้เสมอว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ยิ่งเราเห็นผลตอบแทนสูงเท่าไหร่ความเสี่ยงก็สูงขึ้นเป็นของคู่กัน ถ้าไม่พร้อมจะมองเงินลงทุนสูญสลายไปในชั่วข้ามวัน ผมอยากจะชวนมานั่งดูด้วยกันว่าเหตุการณ์นี้จะจบลงแบบ ‘ฟองสบู่คลาสสิค’ อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้หรือไม่
รับรองว่าสนุกกว่า แถมยังไม่เสี่ยงจะเสียเงินด้วยนะเออ!
อ่านเพิ่มเติม
‘Dumb Money’ Is on GameStop, and It’s Beating Wall Street at Its Own Game
The GameStop chaos may be a ‘bubble,’ but what does that actually mean?
GameStop: What is it and why is it trending?
Ignore the Reddit-fueled spike, GameStop is actually still in trouble