ก็เหมือนกับชีวิตจริงของคนเราที่หลายๆ ฉากชีวิต เวลามีฝนมาเป็นองค์ประกอบก็รู้สึกได้ว่ามันได้บรรยากาศยิ่งขึ้น ฉากภาพยนตร์หลายๆ เรื่องจึงดูเข้มข้นด้วยฟีลดราม่ายิ่งขึ้นเมื่อมีสายฝนสาดเข้ามาประกอบร่วมในฉาก นอกจากนั้นภาพยนตร์บางเรื่องยังเป็นผลพลอยได้จากฤดูฝนอีกด้วย
ด้วยเหตุดังกล่าววันนี้เราเลยอยากจะพูดถึงภาพยนตร์ส่วนหนึ่งที่มีฝนเป็นส่วนช่วยให้เราจดจำภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น ในช่วงที่ฝนตกแบบนี้ หามุมสบายๆ สักมุม แล้วนั่งดูหนังพลางให้เสียงฝนข้างนอกช่วยสร้างบรรยากาศไปด้วยก็น่าจะดีเหมือนกัน
Singin’ In The Rain – ภาพยนตร์เพลงกลางสายฝนสุดคลาสสิก
เป็นการยากที่จะพูดถึงภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับฝนโดยไม่กล่าวอ้างอิงถึงเรื่องนี้ แค่ดูชื่อหนังเราก็รู้แล้วว่าตัวละครเอกจะต้องชุ่มฉ่ำไปด้วยลมฝนแน่นอน ภาพยนตร์เพลงสุดคลาสสิกเรื่องนี้เล่าเรื่องราวในฮอลลีวูดในช่วงปลายยุค 1920 ที่มีการเปลี่ยนผ่านจากการทำภาพยนตร์เงียบ ไปเป็นภาพยนตร์แบบมีเสียงพูด การแสวงหาที่ยืนใหม่ในวงการของกลุ่มอดีตนักแสดงภาพยนตร์เงียบ กับการเกิดใหม่ของนางเอกภาพยนตร์แบบมีเสียงพูดที่เจิดจรัส
Singin’ In The Rain เป็นภาพยนตร์ที่ส่งอิทธิพลต่อภาพยนตร์ยุคหลังนับตั้งแต่ที่มันออกฉาย ยกตัวอย่างเช่น La La Land หรือ The Artist ก็ได้รับแรงบันดาลใจโดยตรงจากภาพยนตร์เรื่องนี้ และเพลงหลายๆ เพลงจากตัวภาพยนตร์ก็กลายเป็นเพลงคลาสสิกที่รายการดังๆ และดาราคนดังต่างพยายามหยิบมาร้องหรือแสดงเพื่อเป็นการอุทิศให้กับภาพยนตร์เรื่องสำคัญเรื่องนี้
บุปผาราตรี ภาค 1 – มีเรื่องราวซ่อนอยู่ในสายฝน (และโจ๊กร้อนๆ)
ย้อนกลับไปปี 2003 หลังจากที่ผู้กำกับยุทธเลิศ สิปปภาคเสนอโครงการภาพยนตร์เรื่องหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว ทว่ายังต้องเวลาการถ่ายทำอันเนื่องจากว่าติดช่วงหน้าฝนพอดี ผู้กำกับยุทธเลิศจึงคิดว่าจะใช้เวลาในช่วงนี้ถ่ายทำภาพยนตร์ที่เน้นการถ่ายทำในอาคารเพื่อที่จะไม่ต้องกังวลกับปัญหาจากสายฝน
ภาพยนตร์ที่ว่าก็คือ บุปฝาราตรี เรื่องอันน่าโศกสลดของหญิงสาวที่มีชื่อเดียวกับหนังได้ถูกผู้ชายข่มเหงจนเธอต้องแท้งลูกตายไปในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของความน่ากลัวที่มีช่วงเวลากลางคืนกับสายฝนที่คอยหลอกหลอนผู้อาศัยในอพาร์ตเมนต์แห่งนี้
ถ้าไม่มีฤดูฝนแล้ว เราคงไม่ได้รับชมฉากการต่อสู้ระหว่างคนกับผีที่น่าจดจำ แล้วเราคงไม่ได้เห็นฉาก ‘ราดโจ๊ก’ ใส่พระเอกที่ทำให้ผู้ชมเพศชายต้องนั่งหุบขาในโรงหนังอย่างพร้อมเพรียง และลดความกล้าที่จะนอกใจแฟนแบบที่เห็นในเรื่องได้อย่างทันควัน
Blade Runner – ฝนกับคำถามว่าใครกันที่สมเป็นมนุษย์
ผลงานเลื่องชื่ออีกเรื่องหนึ่งของผู้กำกับอย่าง ริดลีย์ สก็อต (ที่เร็วๆ นี้ก็เพิ่งมีหนังเรื่อง Alien: Covenant เข้าฉายไป) ที่นำเอานิยายของนักเขียนสายไซไฟคนดังอย่าง ฟิลิป เค. ดิก มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ที่ค่อนข้างผิดขนบจากธรรมเนียมของหนังในยุค 1980 ที่ส่วนใหญ่อัดแน่นไปด้วยฉากบู๊สุดสะใจ แต่สำหรับเรื่องนี้กลับกลายเป็นภาพยนตร์ไซไฟที่ต้ังคำถามเรื่องความเป็นมนุษย์ในโลกอนาคตอันทันสมัยแทน
ตัวภาพยนตร์มีหลายฉบับเนื่องจากมีการตัดต่อสำหรับการฉายหลายๆ ครั้ง ทั้งเวอร์ชั่นที่ทดลองฉาย เวอร์ชั่นฉายในอเมริกา เวอร์ชั่นฉายทั่วโลก เวอร์ชั่นDirector’s Cut เวอร์ชั่นฉลองครบรอบ 25 ปี เป็นอาทิ โดยเนื้อหาหลักพูดถึงการกลับมาทำงานของ ริค เดดาร์ด อดีตเบลดรันเนอร์ หรือนักล่ามนุษย์เทียมที่กลายเป็นภัยต่อมนุษย์ ที่ต้องกลับมารับงานอีกครั้งเพราะมีมนุษย์เทียมหกเครื่องที่เดินทางมายังโลก ทั้งนี้มันมีความลับซุกซ่อนอยู่ในการกลับมาของพวกเขาซึ่งเดคาร์ดค่อยๆ พบกับความจริงที่ตรงข้ามกับความคิดที่เขาเคยเข้าใจ
ฝนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างมากด้วยเหตุที่ฉากหลังของเรื่องเป็นเมืองลอสแองเจลิสที่กำลังถูกพายุกระหน่ำ และฉากที่ฝนมีผลสร้างบรรยากาศให้คนดูจดจำได้มากที่สุดก็คงไม่พ้นฉากตัดสินระหว่างเดคาร์ด กับ รอย แบตตี้ หัวหน้ากลุ่มมนุษย์เทียม ที่สุดท้ายแล้วมาช่วยชีวิตเดคาร์ดก่อนจะทิ้งคำพูดลาตายของตนเองไว้ว่า “ทุกสิ่งที่พบพานจะหายไปในกาลเวลา เหมือนน้ำตาในสายฝน ได้เวลาตายแล้ว” (All those moments will be lost in time, like tears in rain. Time to die.) ก่อนจะทิ้งให้สายฝนซัดสาดร่าง ทิ้งคำถามใหญ่ให้กับเดคาร์ดผู้รอดตายไปว่าแท้จริงแล้วมนุษย์เทียมมีความเป็นมนุษย์มากกว่ามนุษย์แท้หรือไม่ และฉากนี้ก็กลายเป็นฉากที่น่าจดจำที่สุดฉากหนึ่งของภาพยนตร์ไซไฟไปโดยปริยาย
ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังจะมีภาคต่อที่ใช้ชื่อว่า Blade Runner 2049 จะออกฉายในเดือนตุลาคมนี้ด้วย
The Garden Of Words – ลมฝนที่พัดพาความรู้สึก
นอกจากภาพและแสงเงาที่งดงามจับตาเหมือนกับภาพถ่าย ผลงานอนิเมชั่นของ ชินไค มาโคโตะ ก็มักจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์เหงาอยู่บ่อยครั้ง โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องของเด็กนักเรียนกับคนทำงานที่ต่างฝ่ายต่างมีปัญหาซ่อนอยู่ในหัวใจและบังเอิญมาพบกันด้วยการชักนำของสายฝน จากตอนแรกที่เป็นเพียงการพบกันโดยบังเอิญก็เริ่มเปิดใจให้กันทีละน้อย จนกระทั่งถึงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับความจริงทำให้รักของทั้งสองคนยากจะเป็นไปได้ รักนี้จึงจางหายไปหลังฤดูฝนสิ้นสุดเหลือทิ้งไว้แค่ความทรงจำที่ดี
แม้ว่าอนิเมชั่นเรื่องนี้จะมีความยาวแค่ราว 40 นาที แต่คุณภาพของงานภาพกับบรรยากาศในเรื่องทำให้คนดูรู้สึกถึงความเหงาของคนเมืองได้อย่างดี และเมื่อชมภาพยนตร์จบลงก็ทำให้ชวนคิดว่าบางทีการได้เจอฝนพรำกลางเมืองก็อาจจะมีความโรแมนติกมากกว่าที่คิดก็ได้
Shawshank’s Redemption – สายฝนแห่งความหวัง
ภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 1994 เรื่องนี้เป็นที่จดจำจากผู้คนจำนวนมากก็จริง แต่ก็โชคร้ายอยู่เล็กน้อยที่มาฉายปีเดียวกันกับ Forest Gump ที่กวาดรางวัลในเวทีดังไปมากกว่า กระนั้นเรื่องราวของชายต่างวัยสองคนสองวัยที่มาพบกันในคุกก็เป็นภาพยนตร์ที่ประทับใจผู้ชมหลายๆ คน
ส่วนฉากเด่นที่ใช้ฝนเป็นตัวส่งเสริม (และเป็นโปสเตอร์ของตัวหนังด้วย) ก็เป็นฉากที่ แอนดี้ ชายหนุ่มที่ถูกปรักปรำในคดีฆาตกรรมได้วางแผนแหกคุกด้วยการสกัดกำแพงหินทีละน้อยๆ และอาศัยจังหวะในคืนที่มีพายุหนักเพื่อซ่อนเสียงขณะทุบทำลายท่อระบายสิ่งปฏิกูลของเรือนจำแห่งนี้ไปกับเสียงฝนและเสียงฟ้าร้อง เมื่อแอนดี้สามารถคลานออกมาจากถึงโลกภายนอก สิ่งที่เขาทำคือการคุกเข่าท่ามกลางสายฝน ราวกับว่าจะให้ฝนนั้นชำระล้างคราบสกปรกที่ติดตัว รวมถึงความสิ้นหวังขุ่นเคืองที่เคยมี ก่อนที่เขาจะสวมตัวตนเป็นชายคนใหม่และหนีไปตั้งตัวอีกครั้ง เรื่องราวต่อจากนั้นก็เหมือนภาวะหลังฝนตกเมื่อตัวร้ายโดนความผิดไล่บี้ และเพื่อนรักของแอนดี้ก็ออกมาจากคุมขังและได้พบกันอีกครั้งในฐานะอิสระชน
Lion King – วัสสะสร้างชีวิต
อนิเมชั่นจากดิสนีย์มีหลายๆ เรื่องที่เอาฉากฟ้าฝนมาช่วยเล่าเรื่องเสริมบรรยากาศ แต่สำหรับฉากฝนตกที่ส่งเสริมพลังให้ตัวฉากในภาพยนตร์มากที่สุดเรากลับคิดว่าต้องเป็นฉากในภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้เท่านั้น
ฉากสุดท้ายหลังจากที่ ซิมบ้า สามารถเอาชนะตัวร้ายอย่าง สการ์ ไปได้ ระหว่างที่สิงโตหนุ่มที่กลายเป็นจ่าฝูงตัวใหม่แห่งแดนทรนงเดินขึ้นบนไปบนยอดผา เขาก็พาลนึกถึง มูฟาซา สิงโตผู้เป็นพ่อ ก่อนที่จะคำรามเสียงออกมาอย่างกึกก้อง จนทำให้สายฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องค่อยๆ สลายไป แผ่นดินที่เคยแห้งแล้งกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
‘ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ’ อาจจะเป็นข้อความหนึ่งที่ถูกซ่อนเอาไว้ในฉากอันงดงามและทรงพลังฉากนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก