ปลายปีแบบนี้ หลายท่านที่ไม่มีแผนจะเดินทางไปไหน (หรือแผนล่มเพราะการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19) แล้วเลือกที่จะเกลือกกลิ้งอยู่บนเก้าอี้ตัวโปรด หรือไม่ก็ล้มตัวลงนอนบนฟูก บนเตียง หรือสักแห่ง เพื่อปลอบโยนให้กับตัวเองที่ผ่านพ้นปี ค.ศ.2020 อันสุดหินมาได้ และถ้ามีอะไรให้รับชมหย่อนใจ หรือให้คิดตามอีกนิด กับเซ็ตซีรีส์เหล่านี้ที่เราแนะนำให้รับชมในช่วงวันหยุดสั้นๆ นี้ครับ
เซ็ตต้อนรับ Evangelion: 3.0+1.0 Thrice Upon A Time
Evangelion + Evangelion: Death & Rebirth + The End Of Evangelion
ผลจากไวรัส COVID-19 ทำให้กิจกรรมหลายอย่างที่ควรจะเปิดตัวแบบจัดเต็มในปี ค.ศ.2020 ถูกเลื่อนออกไป เช่นเดียวกับภาพยนตร์ Evangelion: 3.0+1.0 ที่เดิมทีมีคิวจะฉายช่วงกลางปี ค.ศ.2020 ก็โดนขยับวันฉายในญี่ปุ่นไปเป็นช่วงเดือนมกราคม ปี ค.ศ.2021 และกว่าจะได้ฉายทั่วโลกก็คงย่างเข้าช่วงกลางปีแล้ว
ข้อดีข้อหนึ่งจากเหตุการณ์นี้ก็คงไม่พ้นการที่คนดูอย่างเรา จะเอาช่วงวันหยุดยาวตอนปีใหม่ มาทำการบ้านกับ Evangelion ฉบับซีรีส์ดั้งเดิมกันก่อน ว่าทำไมอนิเมะเพียงแค่ 26 ตอน ถึงกลายเป็นปรากฏการณ์พลิกให้การทำอนิเมะหลังจากนั้นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดกันใหม่
และถ้าคุณจะรอรับชมภาพยนตร์ Evangelion 3.0+1.0 ในปี ค.ศ.2021 ทั้งทีแล้ว เราก็ขอแนะนำให้ใช้เวลารับชมภาพยนตร์ขยายความ Evangelion: Death & Rebirth กับ ภาพยนตร์ The End Of Evangelion ที่ถือว่าเป็นตอนจบของฉบับดั้งเดิมให้ครบถ้วนบน Netflix ไปเลย
น่าเสียดายที่ภาพยนตร์ Rebuild Of Evangelion ยังไม่มีช่องทางรับชมแบบสตรีมมิ่งถูกกฎหมาย สำหรับท่านที่อยากจะรับชมครบถ้วนแบบถูกลิขสิทธิ์คงจะต้องออกแรงตามหาแผ่นกันสักหน่อย
เซ็ตทวนความรู้พิภพไททัน
Attack On Titan Season 1 + 2 + 3 part 1 + 3 part 2
ผ่าพิภพไททัน กำลังเดินทางไปสู่บทอวสาน จึงทำให้ตัวอนิเมะซีซั่นล่าสุดใช้ชื่อภาคว่า Attack On The Titan: The Final Season แถมยังเปิดฉายแบบ simulcast หลายประเทศทั่วโลกอีกต่าง แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ชัดเจนว่าจำนวนตอนของอนิเมะจะมีกี่ตอน แต่คาดว่าอนิเมะน่าจะจบไล่เลี่ยกับมังงะต้นฉบับที่อาจารย์อิซายามะ ฮาจิเมะ สัมภาษณ์มาหลายครั้งแล้วว่าใกล้ถึงตอนอวสานเต็มที
และเราเชื่อว่าหลายคน ที่ติดตามเนื้อเรื่องแบบคร่าวๆ ไม่ได้อ่านตลอด น่าจะเกิดอาการงงกันไปว่า จากการผจญภัยหาที่ตั้งรกรากในโลกกว้างแต่ดันมีไททันไล่กินคน กลายเป็นเรื่องราวการเมืองที่มีพลังของไททันเป็นตัวแปรได้อย่างไร ดังนั้นช่วงปีนี้ ก็เหมาะมากเลยที่จะรับชมอนิเมะ 3 ซีซั่นแรกย้อนหลัง เพื่อทำการบ้านว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง
มิหนำซ้ำ Attack On Titan ยังเปิดให้รับชมผ่านหลายๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Netflix, AIS Play หรือ iQIYI Thailand ก็มีให้ชมเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นการเตรียมใจและเตรียมตับให้พร้อมก่อนที่จะได้เห็นว่า เรื่องราวในผ่าพิภพไททันจะปิดม่านลงอย่างไร
เซ็ตอนิเมะการลุกขึ้นต่อต้านอำนาจ
Code Geass: Lelouch Of The Rebellion + Fullmetal Alchemist + Psycho-Pass
เราเคยแนะนำอนิเมะที่ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจมาก่อนแล้ว และโชคดีที่หลายเรื่องมีให้ติดตามกันผ่านบริการสตรีมมิ่งหลายเจ้าในไทย (อย่าง Attack On Titan ที่เรากล่าวถึงไปแล้วก่อนหน้านี้) ซึ่งเราขอหยิบเอาเรื่องที่ฉายจบแล้วมาแนะนำกัน ณ จุดๆ นี้
Code Geass: Lelouch Of The Rebellion ที่เล่าเรื่องแผนการล้มอำนาจชาติมหาอำนาจ ด้วยพลังพิเศษ หุ่นยนต์ และแผนการรบสุดล้ำ ที่เราอยากให้รับชมฉบับซีรีส์ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าการปฏิวัตินั้นไม่ง่าย และการสร้างเกมอำนาจที่รักษาความสงบสุขอาจจะยากกว่า ตัวซีรีส์ผ่านทาง Netflix และ Flixer
Fullmetal Alchemist และ Fullmetal Alchemist: Brotherhood อนิเมะสองเวอร์ชั่นที่มีรายละเอียดแตกต่างกันเล็กน้อย (Brotherhood จะเล่าเรื่องจบตามมังงะต้นฉบับ ส่วนอีกฉบับจะเป็นฉากจบเฉพาะฉบับอนิเมะ) แต่ยังคงจุดร่วมในการเล่าปัญหาของรัฐเดี่ยวที่ใช้การปกครองแบบทหาร สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับอนิเมะเรื่องนี้ ทางเราแนะนำให้ดูอนิเมะ Fullmetal Alchemist ฉบับแรก ราว 3-5 ตอน ก่อนจะกลับไปรับชม Brotherhood อีกครั้ง เพราะตัวอนิเมะฉบับหลังนั้นอาศัยความคุ้นเคยของคนดูพอสมควร หรือจะดูให้ครบทุกตอนผ่าน Netflix ก็ทำได้เช่นกัน
Psycho-Pass อนิเมะแนวไซไฟในโลกดิสโทเปียที่ชวนคนดูคิดกับตั้งคำถามตามว่าโลกที่มีระบบสมบูรณ์แบบควบคุมจะดีจริงหรือไม่ มีตัวอนิเมะ สองซีซั่นแรก และตัวฉบับภาพยนตร์ภาคแรกมีให้รับชมผ่านทาง Netflix ส่วนภาพยนตร์ภาคเสริม Psycho-Pass: Sinners Of The System สามารถรับชมได้ผ่านทาง Flixer และถ้าต้องการรับชม Psycho-Pass 3 กับ ภาพยนตร์ Psycho-Pass 3: First Inspector จะต้องไปรับชมทาง Amazon Prime แต่สองเรื่องหลังนี้ยังไม่มีคำบรรยายไทยให้รับชมแต่อย่างใด
เซ็ตซีรีส์ที่ดัดแปลงมาจากสื่ออื่นอีกที
Alice In Borderlands + The Queen’s Gambit + Detention: The Series
เซ็ตนี้เราหยิบเอาซีรีส์สามเรื่องที่อยู่ออกฉายใน Netflix ช่วงปี ค.ศ.2020 และมีจุดร่วมหนึ่งก็คือ ทั้งสามเรื่องเป็นงานที่ดัดแปลงมาจากสื่ออื่นมาเป็นซีรีส์คนแสดงนั่นเอง แถมแต่ละเรื่องก็ได้รับความนิยมจากผู้ที่รับชมกันแล้วด้วย เราเลยหยิบจับมาแนะนำ เผื่อใครที่ยังข้ามเรื่องเหล่านี้ไป
Alice In Borderlands ซีรีส์จากญี่ปุ่นเรื่องนี้ เล่าเรื่องของ อะริสุ ชายหนุ่มผู้ใช้ชีวิตแบบไม่เป็นไล้ไม่เป็นพาย หมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกม จนวันหนึ่งเขาไปเที่ยวชิบูยะกับเพื่อน แต่จู่ๆ ก็พบว่าทั้งเมืองกลายเป็นเมืองร้าง และได้รับมือถือที่ระบุ วีซ่า กับ วันที่อาศัยได้ รวมไปถึงว่าต้องไปเกี่ยวข้องกับการเล่นเกมที่เดิมพันเอาชีวิต
ตัวซีรีส์ดัดแปลงมาจากมังงะที่ใช้ชื่อไทยว่า อลิซในแดนมรณะ ของอาจารย์ฮาโระ อาโซะ (Haro Aso) แต่มีการปรับรายละเอียดบางอย่างไปบ้าง เช่น อายุของตัวละครที่เพิ่มขึ้นจากฉบับมังงะ รายละเอียดเกมที่เปลี่ยนไป ซึ่งการดัดแปลงบางส่วนนี้อาจจะกลายเป็นจุดที่ทำแล้วสมเหตุสมผลขึ้นเสียด้วย ตอนนี้ก็คงต้องลุ้นต่อว่าซีรีส์จะสร้างซีซั่นต่อเมื่อไหร่กันแน่
The Queen’s Gambit มินิซีรีส์จำนวน 7 ตอนจบ ที่เล่าเรื่องของ เบธ ฮาร์มอน เด็กสาวที่โดนชักชวนให้เล่นหมากรุกเพื่อให้ผ่อนคลายจากความเศร้า ก่อนจะพัฒนาเป็นความมุ่งมั่นที่เธอต่อสู้บนกระดานเพื่อคว้าทั้งรายได้และการยอมรับจากสังคม ในช่วงยุค ค.ศ.1960 ที่สตรีเพศยังไม่ถูกยอมรับมีสิทธิ์และเสียงไม่มากเท่าใดนัก แต่เมื่อเบธมีเป้าหมายจะเดินไปเป็นอันดับหนึ่งของวงการ เธอจึงต้องสู้ไม่เพียงแค่กับโลกทั้งใบ แต่ยังรุกความอ่อนแอในใจให้ขาดด้วย
ตัวซีรีส์ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ วอลเตอร์ เทวิส (Walter Tevis) ตัวซีรีส์ดัดแปลงเนื้อหาจากนิยายไปบ้าง ทั้งการสลับการเล่าเรื่องให้ไหลลื่นขึ้นจากฉบับนิยาย การปรับบทให้ตัวละครบางตัวให้มีบทเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มตัวละครใหม่อย่าง คลีโอ เข้าไป ฯลฯ และนิยายเล่มนี้ยังเคยเกือบจะได้สร้างมาแล้วสองครั้งในช่วงปี ค.ศ.1992 กับช่วงปี ค.ศ.2007 ซึ่งในครั้งหลังนั้น ฮีธ เลดเจอร์ (Heath Ledger) นักแสดงฝีมือ ได้ร่วมผลิตและเกือบจะได้รับหน้าที่เป็นผู้กำกับ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงอย่างกะทันหันในปี ค.ศ.2008
Detention: The Series เป็นซีรีส์จากไต้หวันที่เล่าเรื่องของ หยุนเชียงหลิว ที่เพิ่งเข้าเรียนในโรงเรียนกรีนวู้ด และได้พบกับผีของรุยซินฟาง เด็กนักเรียนที่เสียชีวิตไปในช่วง ‘ความน่าสะพรึงสีขาว’ ของไต้หวัน ก่อนจะพบว่าโรงเรียนแห่งนี้มีความลับและความน่าสะพรึงกลัวที่ถูกซุกซ่อนไว้
ซีรีส์ชุดนี้ดัดแปลงมาจากเกมชื่อ Detention ของทางบริษัท Red Candles Games ที่วางจำหน่ายในปี ค.ศ.2017 และเคยถูกสร้างภาพยนตร์คนแสดงมาก่อนในปี ค.ศ.2019 และมีการระบุว่า ตัวซีรีส์นั้นจะเป็นเนื้อเรื่องที่ต่อจากฉบับภาพยนตร์ อย่างไรก็ตาม ถ้าอิงจากตัวเกมต้นฉบับที่มีปมซุกซ่อนไว้ในเรื่องอยู่มาก จึงยังบอกไม่ได้เสียทีเดียวว่าตัวซีรีส์จะเชื่อมโยงกับหนังแบบไหน เนื่องจากตอนจบของซีรีส์จะฉายในช่วงวันที่ 26 ธันวาคม ปี ค.ศ.2020 จึงเหมาะสำหรับแฟนซีรีส์แนวลึกลับที่หาอะไรด้วยช่วงหยุดปีใหม่
เซ็ตทดลองดูซีรีส์ Y
ปรมาจารย์ลัทธิมาร + Ossan’s Love + แปลรักฉันด้วยใจเธอ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ซีรีส์ Y ที่เล่าเรื่องความรักของตัวละครเพศชาย กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในระดับนานาชาติไปแล้ว ซีรีส์ของประเทศไทยเองก็ได้รับความนิยมจนไปฉายในประเทศอื่นๆ รวมไปถึงมีการดัดแปลงเป็นสื่อผสมหลายอันไม่ได้จบแค่ซีรีส์คนแสดงเท่านั้น (แม้ว่าหลายเรื่องจะยังถูกติติงว่า ไม่ได้นำเสนอภาพสอดคล้องกับสังคม LGBTQ หรือบางครั้งไปลดค่าคนเป็น LGBTQ ก็ตามที)
แต่ถึงจะเป็นเทรนด์ฮิตแล้ว เราก็เชื่อว่ามีหลายคนที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นรับชมที่เรื่องไหนก่อนดี ซึ่งตอนแรกเราคิดว่า พฤติการณ์ที่ตาย (Manner Of Death) กับ ถ้า 30 ยังซิงจะมีพลังวิเศษ (30-Sai Made Dotei Da To Mahoutsukai Ni Nareu Rashii) ที่ฉายบน WeTV น่าจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ติดอยู่ตรงที่ว่า ณ วันที่เขียนบทความนี้ ทั้งสองเรื่องยังฉายไม่จบ จึงไม่สามารถแนะนำให้ไป Binge-Watching ได้
เราเลยขอหยิบซีรีส์ Y เรื่องอื่นมาพูดถึง ณ ที่นี้ ให้กับท่านที่ยังไม่คุ้นเคยมาให้ลิ้มลองกัน เรื่องแรกที่เราขอแนะนำ ก็คือ ซีรีส์จากประเทศจีนอย่าง ปรมาจารย์ลัทธิมาร ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกัน แต่มีการปรับเปลี่ยนเรื่องให้เล่าความสัมพันธ์สองตัวละครเอกแบบอ้อมค้อมมากขึ้น และปมในยุทธภพโดนปรับให้มีความชัดเจนขึ้น
สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับซีรีส์ Y สามารถตามติดเรื่องนี้ได้เหมือนกับหนังจีนกำลังภายในเรื่องหนึ่ง และเชื่อว่าหลายท่านจะหลงเสน่ห์ตัวละครในเรื่องนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น นอกจากนั้นปรมาจารย์ลัทธิมาร ยังออกฉายหลายช่องทาง ทั้งบน Netflix และบน WeTV ซึ่งมีเวอร์ชั่นพากย์ไทยให้ติดตามด้วย
เรื่องที่สองที่ขอแนะนำจะเป็น Ossan’s Love ซีรีส์ Y จากญี่ปุ่น ชื่อเรื่องนั้นแปลตรงๆ ได้ว่า ‘รักของคุณลุง’ ตัวเรื่องจะเล่าเกี่ยวกับ ฮารุตะ ซาลารี่แมนสายโสด ที่จู่ๆ ก็เนื้อหอมเพราะเจอทั้ง เรียวตะ รุ่นน้องที่แชร์ห้องมาบอกรัก และที่ออฟฟิศเขาก็ถูก มุซาชิ หัวหน้าวัยคุณลุงมาสารภาพรัก จนกลายเป็นความสัมพันธ์ป่วนกวนใจขึ้นมา
แม้ว่าซีรีส์จะเปิดประเด็นชัดเจนในความ Y แต่รายละเอียดระหว่างทางก็เป็นการเล่าเรื่องที่มีประเด็น LGBTQ วัยทำงานอยู่ไม่น้อย ทั้งการยอมรับเพศวิถีของตัวเอง, ภาวะการคบหากันของคนเพศกำเนิดเดียวกันในที่ทำงาน, ครอบครัวที่ไม่เข้าใจ LGBTQ ฯลฯ แม้ว่าจะมีความ ‘เล่นใหญ่’ ตามวิสัยซีรีส์ญี่ปุ่น แต่ประเด็นในเรื่องก็ชวนติดตามต่อให้ไม่ได้รับชมซีรีส์ Y มาก่อนก็ตาม ตัวซีรีส์สามารถหาชมได้ทั้งบน Viu และ Netflix (ทั้งนี้มีแฟนซีรีส์ Y ฝากบอกว่า ไม่จำเป็นต้องรับชมภาค 2 แต่อย่างใด)
เรื่องสุดท้ายที่จะแนะนำก็เป็นซีรีส์สาย Y จากไทยอย่าง แปลรักฉันด้วยใจเธอ นั่นเอง ผลงานจากทางนาดาวบางกอก ที่เล่าเรื่องของ เต๋ กับ โอ้เอ๋ว สองเพื่อนที่เคยสนิทสนมกัน ก่อนจะเกิดเหตุให้ผิดใจกัน แต่แล้วก็มาเจอหน้ากันในช่วงติวพิเศษก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ด้วยปมปัญหาหลายก็ทำให้ทั้งสองเข้าใจกันและกันมากขึ้น
ในช่วงแรกของการเปิดตัวซีรีส์ได้รับความสนใจจากสองตัวเอกที่เป็นคู่จิ้น แต่เมื่อเรื่องราวเดินหน้าไป ก็พบว่าตัวเรื่อง ไม่ได้สนใจแค่ความรักของสองตัวเอก แต่เลือกที่จะเล่าเรื่อง ‘ความอีดอัดในการทำความเข้าใจตัวเอง’ ในใจของวัยรุ่น ไม่ว่าจะ Staright หรือ LGBTQ ทุกคนต้องเจอสักครั้ง และไม่ว่าจะใครก็อยากได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัวกันก่อน และอีกประการที่ทำให้เรื่องนี้โดดเด่นก็คงเป็นการใช้จังหวัดภูเก็ตให้ออกมาอบอุ่น สวยงาม จนเชื่อว่าหลังคุณดูจบ คุณจะอยากไปเที่ยวที่นั่นพอๆ กับอยากติดตามซีซั่นต่อของเรื่องนี้ทาง Line TV
และเราหวังว่า ซีรีส์ Y เซ็ตนี้จะทำให้หลายท่านอยากจะลองรับชม ซีรีส์ Y และ ซีรีส์ LGBTQ เรื่องอื่นต่อไปในอนาคต
เซ็ตแนว Cyberpunk
Altered Carbon + Ergo Proxy + Ghost In The Shell SAC_2045
ช่วงปลายปี ค.ศ.2020 นี้ คงไม่มีกระแสของเกมไหนที่ร้อนแรงไปกว่า Cyberpunk 2077 แล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่หลายคนอาจจะยังไม่ได้เล่นเกมนี้ เพราะรอ patch หรืออาจจะรอสะสมเงินซื้อเครื่องเกมใหม่กันอยู่ รวมไปถึงว่าตัวอนิเมะซีรีส์ Cyberpunk Egdgerunners ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการสร้าง เราจึงขอแนะนำซีรีส์แนวไซเบอร์พังก์ไปรับกันก่อนในช่วงหยุดยาว
เรื่องแรกที่จะขอแนะนำเป็นซีรีส์คนแสดง Altered Carbon ที่เล่าเรื่องของโลกในยุคอนาคตที่มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีได้ไกลพอจนทำให้มนุษย์สามารถเป็นอมตะด้วยการอัพโหลดข้อมูลร่างกายไปเก็บใน สแตค (Stack) แล้วสามารถ เปลี่ยนร่าง หรือที่ถูกเรียกว่า ‘เปลือก’ ตัวเอกของเรื่อง ทาเคชิ โนแวช ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน และคืนชีพขึ้นมาในเปลือกใหม่หลังจากผ่านไป 250 ปี และถูกมหาเศรษฐีซื้อตัวไปเพื่อสืบสวนคดีฆาตกรรมเปลือกเก่าของมหาเศรษฐีคนดังกล่าว ที่เกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจหลายต่อหลายคน
เรื่องที่สองเป็นอนิเมะจากญี่ปุ่น Ergo Proxy เล่าเรื่องของโลกในอนาคตที่มนุษย์อยู่ร่วมกับ ออโต้เรฟ (AutoReiv) หุ่นยนต์ทันสมัยหลากรูปลักษณ์ จนกระทั่งไวรัสโคจิโต้ (Cogito Virus) ที่ทำให้เหล่าหุ่นยนต์เกิดมีความรู้สึกนึกคิดแพร่ระบาด รีแอล (Re-L) สมาชิกของกองบัญชาความมั่นคง ที่ได้เจอกับออโต้เรฟที่ติดเชื้อ จนพยายามทำการสืบสวนต่อ แต่กลายเป็นว่าเธออาจจะได้พบกับความลับของโลกทั้งใบเข้า
เรื่องที่สามก็ยังเป็นอนิเมะแถมยังมาจากแฟรนไชส์ไซเบอร์พังก์ใหญ่ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผลงานแนวไซเบอร์พังก์หลายเรื่องอย่าง Ghost In The Shell SAC_2045 ที่เล่าเรื่องราวในปี ค.ศ.2045 โดยยังเล่าเรื่องของ คุซานางิ โมโตโกะ กับ บาโต้ ที่ตอนนี้กลายเป็นทีมทหารรับจ้างชื่อโกสท์ (Ghost) โดยยังใช้อุปกรณ์จักรกลติดตัวในการหารายได้ ถ้าเทียบกับภาคอื่นๆ Ghost In The Shell ภาคนี้ดูค่อนข้างง่าย และเหมาะกับการรับชมก่อนจะย้อนชมภาคอื่นๆ ที่เสวนาด้านไซไฟกับปรัชญามากกว่าแต่ก่อน
ทั้งสามเรื่องนี้สามารถหาชมได้บน Netflix และด้วยความที่เรื่องราวแนวไซเบอร์พังก์มักจะมีประเด็นหลายอย่างซ้อนกันอยู่ เราเชื่อว่าแค่สามเรื่องนี้ก็สามารถทำให้หลายท่านได้ใช้หัวคิดตามต่อกันอีกยาวๆ แน่นอน