ถึงเดือนมิถุนายน หรือ Pride Month อันเป็นเดือนรณรงค์สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เราก็เพิ่งเห็นกำหนดกาลของเทศกาลภาพยนตร์ LGBT+ Film Festival 2018 เทศกาลภาพยนตร์หลากหลายทางเพศ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3-8 กรกฎาคม นี้ ที่โรงภาพยนตร์ Bangkok Screening Room
ภาพยนตร์ที่ถูกยกมาฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งหลายเรื่องหาโอกาสดูได้ยาก เพราะตัวหนังไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ไม่ก็มีเนื้อหาที่อาจจะไม่แมสพอ หรือการนำเสนอทางด้านภาพของหลายๆ เรื่องก็หวือหวาแต่ก็มีความจำเป็นต่อการเล่าเรื่อง และในงานยังมีช่วงเสวนาหลายช่วง พร้อมหัวข้อที่น่าสนใจ รวมถึงมีวิทยากรที่มีทั้งความรู้และความเผ็ดแซ่บออกรส
เราจึงถือโอกาสนี้แนะนำหนัง 7 เรื่อง ที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้มาบอกเล่าเผื่อว่าคุณจะเช็คตารางานแล้วแวะไปดูหนังในงานเทศกาล หรืออาจหาโอกาสเก็บสะสมแผ่น DVD ไม่ก็ Blu-Ray ของหนังเหล่านี้ต่อไปในอนาคต และเราไม่อยากให้คุณคิดนานหลังจากอ่านรายละเอียดหนังจบเพราะบางเรื่องนั้นทางงานได้แจ้งว่าเต็มไปแล้วสำหรับรอบแรกของการฉายด้วยล่ะ
The Adventures of Priscilla Queen of the Desert
นี่คือหนังที่เล่าเรื่องการผจญภัยของแดร็กควีนในกรุงซิดนีย์ ที่ได้รับโจทย์ให้ไปแสดงในโรงแรมแห่งหนึ่งใจกลางทวีปออสเตรเลีย แดร็กควีนคนนั้นเลยชักชวนเพื่อนชาวแดร็กอีกสองคนออกเดินทางไปด้วยรถบัส ที่พวกเธอขนานนามมั่นว่า Priscilla, Queen of the Desert ระหว่างทางพวกเธอต้องเจอกับความลำบากจากธรรมชาติของประเทศออสเตรเลียและปัญหาจากผู้คนที่ได้พบระหว่างการเดินทาง ในขณะเดียวกันพวกเธอก็ได้เจอความสัมพันธ์จากหลายๆ คนที่ผ่านเข้ามา และการเดินทางครั้งนี้เป็นการทวนคำถามหาคำตอบในชีวิตของแดร็กควีนทั้งสามคนที่เป็นตัวละครเอกอีกด้วย
หนังที่งาน LGBT+ Film Festival 2018 ภูมิใจนำเสนอจนนำมาใช้ในโปสเตอร์ของงานก็คือภาพยนตร์จากประเทศออสเตรเลียเรื่องนี้ หนังเล่าเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างจริงจัง อย่างตัวแดร็กควีนทั้งสามคนก็มีเพศสภาพเพศวิถีแตกต่างกันไป และเรื่องราวก็ไม่ไกลตัวเกินความเข้าใจของผู้ชมทุกเพศสภาพเท่าใดนัก และบทสรุปของเรื่องก็เป็นประเด็นที่ดีว่า การเข้าใจเรื่องราวของเพศสภาพเพศวิถีที่แตกต่างกันบางทีไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปนัก
The Wound
ภาพยนตร์จากแอฟริกาใต้ที่ นุชชี่ – อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา แนะนำให้ชมกันตั้งแต่ในงาน Cinema Diverse 2018 ที่ผ่านมา หนังเรื่องนี้ไม่ได้บอกเล่าแค่เรื่องความเป็นเกย์เท่านั้น แต่หนังได้พาเราไปรับชมมุมมองที่แปลกใหม่ของเผ่าโคซ่าด้วย จึงทำให้สิ่งที่หนังชวนขบคิดนั้นมีมากมาย ตั้งแต่การมีตัวตนของเกย์ในสังคมชนเผ่าที่การขลิบเป็นเรื่องใหญ่ ไปจนถึงเรื่องราวและภาพที่รุนแรงแต่ทรงพลัง ทั้งยังดึงผู้ชมเข้าสู่โลกที่หนังเรื่องนี้อยากบอกเล่าตั้งแต่ช่วงเวลาไม่กี่นาทีแรกของหนัง และทิ้งคำถามให้คนดูครุ่นคิดต่อเกี่ยวกับอำนาจมากมายที่ไม่มีใครมองเห็นซึ่งคอยผลักดันทุกตัวละครภายในหนังเรื่องนี้ จึงไม่แปลกที่หนังเรื่องนี้เป็นตัวแทนของแอฟริกาใต้ในการเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม
เรื่องราวของหนังบอกเล่าเกี่ยวกับชีวิต โคลานี ชาวเผ่าโคซ่าที่ใช้ช่วงวันหยุดพักกลับไปยังบ้านเกิดในเผ่าโคซ่าเพื่อรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลเด็กชายที่มาเข้าพิธีการขลิบของเผ่า แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงของเขาคือการกลับมาร่วมรักกับ วีจา เพื่อนร่วมเผ่า แต่ในพิธีครั้งนี้ โคลานี ต้องมาดูแลเด็กชายวัยรุ่นที่เป็นเกย์เช่นกัน และการมาถึงของเด็กชายคนนี้ทำให้ชายหนุ่มที่มาสานต่อวัฒนธรรมกับความรักลับๆ ต้องมารับมือกับเรื่องที่แม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
Tom of Finland
ผู้ชายกล้ามหนัาอกใหญ่ ไว้หนวดเข้ม สวมชุดหนังดำมันปลาบ ภาพการ์ตูนลักษณะนี้ได้กลายเป็นภาพการ์ตูนที่ใครหลายคนคุ้นเคยไปแล้ว แต่ถ้าถามว่าภาพสไตล์ดังกล่าวมีใครเป็นผู้เริ่มต้นเขียนจนทำให้มันกลายเป็นเทรนด์ทั่วโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเฉลยคำตอบนั้น ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของจิตรกรคนหนึ่งที่เดินทางมาจากฟินแลนด์ และเนื่องจากที่ภาพนั้นมีลายเซ็นกำกับสั้นๆ ไว้ว่า Tom ทำให้ผู้ที่ตัดสินใจตีพิมพ์ภาพนี้ในอเมริกาเรียกขานเขาว่า Tom of Finland
ภาพยนตร์บอกเล่าชีวิตของ Touko Valio Laaksone ทหารที่ผ่านสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีความลับอยู่ว่าเขานั้นเป็นชายหนุ่มที่หลงรักนายทหารอีกคนในกองทัพของตนเอง ทว่าเมื่อสงครามจบลง ความรักของคนเพศเดียวกันยังเป็นสิ่งที่ผิดแผกในประเทศแถบยุโรป สิ่งที่ชายคนนี้ทำได้เพื่อปลดปล่อยความอึดอัดในใจก็คือการวาดรูปของผู้ชายไซส์ล่ำในชุดหนัง ก่อนที่จะใช้ภาพเหล่านั้นส่งสัญญาณนัดพบ ‘พวกเดียวกัน’ แต่เขาไม่เคยคิดเลยว่าภาพของเขาจะมีใครสนใจไปมากกว่าการใช้ ‘นัดยิ้ม’ จนกระทั่งชาวอเมริกาได้นำภาพเหล่านี้ไปตีพิมพ์ และทำให้เขากลายเป็นตัวแทนของเกย์นิยมชุดหนัง และภาพยนตร์ได้ทำให้เราเห็นว่า ‘ดินสอ’ ของชายคนเดียวจากฟินแลนด์ ได้สร้างกระแสไปทั่วโลกได้อย่างไร
120 Battements Par Minute / 120 BPM
120 ครั้งต่อนาที ถ้าเป็นเรื่องดนตรีจะนับเป็น อัลเลโกร (Allegro) หรือจังหวะดนตรีความเร็วปานกลาง แต่สำหรับชีวิตคนเราแล้ว 120 ครั้งต่อนาที ถือเป็นจังหวะการเต้นของหัวใจที่บ่งบอกว่าใครสักคนมีชิวิตอยู่ และมีคนเคยกล่าวไว้ว่าการประท้วงเป็นชีวิตของชาวฝรั่งเศส ดังนั้นการที่ภาพยนตร์เล่าเรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ACT UP มาจากฝรั่งเศสนั้นก็ถือว่าเป็นอะไรที่เหมาะสมอย่างยิ่ง รวมทั้งตัวหนังเองก็คว้ารางวัลกรังด์ปรีซ์ ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา
หนังบอกเล่าการเคลื่อนไหวช่วงหนึ่งของกลุ่ม ACT UP กลุ่มนักเคลื่อนไหวผู้รณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกและความตระหนักรู้ในเรื่องการระบาดของเชื้อ HIV และโรคเอดส์ ในช่วงปี 1990 ที่รัฐบาลฝรั่งเศสดำเนินการอย่างล่าช้า ทางกลุ่มก็เริ่มเคลื่อนไหวในแบบที่จัดจ้านมากขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านั้นพวกเขาเคลื่อนไหวแบบสันติมาโดยตลอด เบื้องหลังของพวกเขามีอะไรผลักดันกันแน่ บางคนอาจคิดว่ามันเป็นเกมการเมือง แต่เนื้อแท้ของการเคลื่อนไหวนั้นอาจเป็นเพียงแต่การระเบิดอารมณ์ของผู้ป่วย HIV, ความรักของผู้ที่เสียชีวิตไปเพราะโรคเอดส์ หรือบางทีมันอาจจะเป็นแค่เป้าประสงค์เรียบง่ายอย่างการอยากจะมีชีวิตต่อไปก็เพียงเท่านั้น
The Queen of Ireland
นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของราชนิกุลของไอร์แลนด์แต่อย่างใด แต่หนังสารคดีเรื่องนี้เล่าชีวิตของ Panti แดร็กควีนชาวไอร์แลนด์ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ช่วงต้นของยุค 1990 แต่ในตอนนี้เธอเป็นมากกว่าผู้มอบความบันเทิงให้กับผู้คน
เธอเป็นทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อความเสมอภาคทางเพศ เป็นตัวแทนของผู้ติดเชื้อ HIV จากประเทศไอร์แลนด์ และกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้กฏหมายการแต่งงานของเพศเดียวกันในไอร์แลนด์ประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่เดิมทีแล้วครอบครัวของ Panti เป็นชาวคริสต์ที่เคร่งครัดจนน่าจะคัดค้านเรื่องราวต่างๆ ที่กล่าวไปอย่างรุนแรงแล้วเสียด้วยซ้ำ แต่ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Queen of Ireland ก็เลือกจะพูดคุยกับคนสำคัญในชีวิตของ Panti เพื่อให้เราได้เข้าใจว่าอะไรที่สร้างตัวตนของ Panti และอะไรที่ทำให้ทั้งคนในครอบครัวและคนในประเทศเปิดใจให้แดร็กควีนคนนี้
Tale of the Lost Boys
เมื่อชายชาวฟิลิปปินส์หนีความจริงไปอาศัยอยู่ที่บ้านญาติในไต้หวันเพื่อตั้งหลักให้กับชีวิตตัวเองที่เกิดอาการ ‘เคว้ง’ หลังจากที่ได้รู้ว่าแฟนสาวของเขานั้นตั้งท้องแบบกะทันหัน ระหว่างการเดินทาง เขาได้บังเอิญพบกับชายคนหนึ่งที่เดิมทีเป็นชาวเผ่าท้องถิ่นของไต้หวัน ทั้งสองพูดคุยถูกคอ และมิตรภาพก็ได้ก่อตัวขึ้น ด้วยความห่างไกลจากถิ่นกำเนิดทั้งสองจึงได้สนทนากันมากมาย และหนุ่มฟิลปปินส์ก็ได้ชักชวนให้หนุ่มไต้หวันเดินทางกลับไปยังบ้านเกิด โดยการเดินทางครั้งนี้ทำให้ผู้ชายทั้งสองคนที่มีเพศวิถีที่ต่างกันได้กลับมาทบทวนตัวตนของตัวเอง ว่าการที่พวกเขาตัดสินใจหลบเลี่ยงความจริงบางอย่างของชีวิตเป็นสิ่งที่ถูกหรือไม่
หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังรักของคนต่างชาติแต่อย่างใดออกจะเป็นหนังแนว road trip ที่บังเอิญว่าตัวเอกทั้งสองคนต่างมีภาวะอยู่ ‘ต่างถิ่น’ กันทั้งคู่ เพราะในมุมหนึ่ง การเป็น LGBT+ บางครั้งก็เป็นเหมือนคนต่างชาติในบ้านเกิดของตัวเอง ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงนำเอาคนต่างชาติและผู้มีความหลากหลายทางเพศมาพบเจอแล้วเดินเรื่อง และสุดท้ายหนังก็ทำให้เราเห็นว่า ถ้าใจสื่อกันความแตกต่างที่มีอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ กระนั้นบางอย่างอาจต้องใช้เวลาช่วยละลายความอคติที่มีอยู่ในใจของแต่ละฝ่ายนั่นล่ะ
i STORIES
ภาพยนตร์สั้นแบบชุดจากผู้กำกับสี่คนที่แยกชื่อเรื่องเป็น L, G, B, T ที่ได้ฉายผ่านช่องทางออนไลน์หลายๆ แห่งไปแล้ว และเคยถูกร้องเรียงเป็นหนังยาวออกฉายมาแล้วครั้งหนึ่ง ในงาน LGBT+ Film Festival ได้นำเอาหนังทั้งสี่มาฉายรวมกันอีกครั้ง และจะมีการเปิดช่วง Q&A กับผู้กำกับหลังหนังฉายจบด้วย
สำหรับใครที่เคยข้องใจว่าเหตุผลบางอย่างในเรื่องดูไม่เมกเซนส์ หรือมีคำถามว่าทำไมพวกเขาถึงเลือกจะทำหนังเช่นนี้ นี่ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ดูหนังทบทวนและได้ฟังคำตอบสดๆ ที่หน้างานเลยทีเดียว