จากที่ Studio Ghibli มีผลงานอนิเมชั่นชื่อดังระดับโลกอย่าง โทโทโร่ เพื่อนรัก (My Neighbour Totoro) หรือ มิติวิญญาณมหัศจรรย์ (Spirited Away) ซึ่งกำกับโดย มิยาซากิ ฮายาโอะ จึงทำให้หลายๆ ท่านคิดว่า งานเด่นอีกเรื่องหนึ่งของจากจิบลิอย่าง สุสานหิ่งห้อย (Grave of the Fireflies) เป็นผลงานการกำกับของมิยาซากิเช่นกัน
ซึ่งจริงๆ แล้ว สุสานหิ่งห้อย เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ ที่เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2018 จากอาการมะเร็งปอด นอกจากนั้น ทาคาฮาตะยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ ร่วมกับ มิยาซากิ ฮายาโอะ, ซุซุกิ โทชิโอะ และ โทคุมะ ยาสุชิโอะ
ถึงจะมีผลงานกำกับให้กับจิบลิไม่เยอะมาก แต่ในอีกแง่หนึ่งผลงานของทาคาฮาตะก็มักจะเป็นการเล่าเรื่องกับใช้เทคนิคที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับมิยาซากิ ฮายาโอะ รวมถึงว่าตัวของทาคาฮาตะก็สนุกกับการใช้สื่ออย่างอนิเมชั่นส่งข้อความไปได้มากกว่าการส่งความบันเทิง และทำให้งานของจิบลิมีสีสันและลักษณะงานศิลป์ที่หลากหลาย จึงขอถือเอาโอกาสนี้มาย้อนดูเส้นทางในการทำงานของผู้กำกับท่านนี้
เส้นทางของเด็กน้อยในยุคสงคราม สู่การทำงานในวงการอนิเมชั่น
อิซาโอะ ทาคาฮาตะ เกิดในปี 1935 หรือเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองหกปี และในปี 1945 ทาคาฮาตะวัย 9 ขวบ ก็ได้พบประสบการณ์ตรงกับสงครามโลกเมื่อเขาได้พบเจอกับการทิ้งระเบิดลงในเมืองโอคายาม่า ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจต่อผลงานชื่อดังของเขาในภายหลัง
กว่าที่ทาคาฮาตะจะประทับใจกับงานอนิเมชั่นก็เป็นในช่วงที่เขาเป็นนักศึกษาสาขาวรรณกรรมฝรั่งเศสของมหาวิทยาลัยโตเกียว เขาได้รับชมผลงานอนิเมชั่นเรื่อง ‘Le Roi et l’Oiseau‘ (กษัตริย์ กับ วิหค) งานอนิเมชั่นจากฝรั่งเศสของผู้กำกับ พอล กรีโมลท์ (Paul Grimault) และเขายังได้รับแรงบันดาลใจจากผู้กำกับหนังฝรั่งเศสอย่าง ฌอง-ลุค โกดาร์ด (Jean-Luc Godard)
หลังจากนั้น ทาคาฮาตะก็เริ่มสนใจในงานอนิเมชั่นขึ้นมาบ้างแล้ว แต่จุดที่ต่างจากผู้กำกับดังคนอื่นๆ ที่อาจจะหลงใหลโลกของการ์ตูนมาตั้งแต่เริ่ม ตัวของทาคาฮาตะกลับสนใจอนิเมชั่นในฐานะ ‘สื่อ’ รูปแบบหนึ่ง ว่าจะสามารถทำอะไรต่อได้ ประจวบกับที่ว่าในช่วงนั้นทาง โตเอะโดกะ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โตเอะอนิเมชั่น) กำลังเปิดรับสมัครพนักงาน เขาจึงไปสมัครสอบและได้รับเลือกในตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ
การทำงานในโตเอะอนิเมชั่นทำให้ทาคาฮาตะได้ฝึกฝนเก็บวิชากับบุคลากรในอุตสาหกรรมอนิเมชั่นหลายคน จนตัวเขามีโอกาสได้กำกับในบางตอนของอนิเมชั่นเรื่อง Okami Shonen Ken (เคน ลูกหมาป่า) ในช่วงที่ทำงานอยู่ในโตเอะอนิเมชั่นนั่นเอง เขาก็ได้พบกับอนิเมเตอร์มีฝีมือคนหนึ่งที่ชื่อว่า มิยาซากิ ฮายาโอะ ที่ทั้งสองได้ร่วมงานกันอีกหลายครั้ง บ้างก็ว่าพวกเขาเป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่งไปพร้อมๆ กัน
สุดท้ายแล้วทั้งสองคนก็ได้รับโอกาสใหญ่ในการทำภาพยนตร์อนิเมชั่น Horus: Prince of the Sun ซึ่งออกฉายในปี 1968 โดยทาคาฮาตะเป็นผู้กำกับ ส่วนฮายาโตะเป็นคีย์อนิเมเตอร์ แต่ภาพยนตร์ไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้เมื่อแรกออกฉาย ทางโตเอะอนิเมชั่นจึงลดตำแหน่งของทาคาฮาตะลง กลายเป็นจุดหักเหในชีวิตการทำงาน ที่ทาคาฮาตะกับมิยาซากิคิดว่าพวกเขาควรจะออกจากบริษัทที่มีวิสัยทัศน์การทำงานไม่ตรงกัน เพื่อไปสร้างอนิเมชั่นในทิศทางที่พวกเขาต้องการ
ก่อร่างสร้างรังนาม จิบลิ
หลังจากโบกมือลากับทางโตเอะ ทาคาฮาตะกับมิซายากิได้เข้าไปร่วมงานกับ ซุยโย เอย์โซ (Zuiyo Eizo) ที่ภายหลังได้แปรสภาพบริษัทเป็น นิปปอนอนิเมชั่น (Nippon Animation) ช่วงเวลาที่ทำงานกับสตูดิโอแห่งนี้ มิยาซากิเริ่มสร้างตัวละครกับลายเส้นที่ผู้คนเริ่มจดจำได้ ส่วนทาคาฮาตะก็ทำงานที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมชื่อดังระดับโลกอยู่หลายครั้ง อย่างการเป็นผู้กำกับให้เรื่อง ไฮดี้ สาวน้อยแห่งเทือกเขาแอลป์ (Heidi, Girl of the Alps) กับ โลกของแอนน์ (Anne of Green Gables) จนเหมือนเป็นลายเซ็นงานของตัวเองไปโดยปริยาย
เวลาผ่านไปจนถึงช่วงปี 1980 ทาคาฮาตะเริ่มกำกับหนังสั้นร่วมกับมิยาซากิ ก่อนจะโยกย้ายไปทำงานกับ เทเลคอมอนิเมชั่นฟิลม์ (Telecom Animation Film) บริษัทลูกของ โตเกียวมูวี่ชินฉะ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น TMS Entertainment) และเกือบได้กำกับผลงานอนิเมชั่นที่เป็นงานร่วมมือกันของเทเลคอมกับดิสนีย์ แต่ดันเกิดอาการปิดดีลไม่ลง จึงทำให้ทาคาฮาตะขยับตัวออกมาแล้วไปกำกับ Gauche the Cellist ต่ออีกหนึ่งเรื่อง ก่อนที่เขาจะกลับมาร่วมงานกับมิยาซากิอีกครั้งในฐานะโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่อง มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม (Nausicaa of the Valley of the Wind) ที่ออกฉายและกวาดทั้งรายได้และคำชื่นชมในปี 1984
หลังจากนั้น ทาคาฮาตะ, มิยาซากิ, ซุซุกิ โทชิโอะ – เพื่อนของมิยาซากิและเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร Animage ที่มิยาซากิเขียนมังงะเรื่อง มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม ให้อยู่ และ โทคุมะ ยาสุชิโอะ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์โทคุมะโชเท็น ก็ได้รวมตัวและรวมทุนก่อตั้งสตูดิโอจิบลิขึ้นในปี 1985 และมิยาซากิกับทาคาฮาตะก็สร้างผลงานภายใต้ชื่อจิบลลิอย่างเต็มใบครั้งแรกด้วยภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง ลาพิวต้า พลิกตำนานเหนือเวหา (Laputa Castle in the Sky) ที่กวาดความสำเร็จในญี่ปุ่นไปอีกหนึ่งเรื่อง
และทาคาฮาตะก็กลับมานั่งเก้าอี้ผู้กำกับอีกครั้ง กับผลงานเรื่องที่สองของสตูดิโอแบบจิบลิอย่างเต็มตัว ผลงานเรื่องนั้นก็คือ สุสานหิ่งห้อย (Grave of the Fireflies) ที่ออกฉายในปี 1988
สุสานหิ่งห้อย เป็นงานทาคาฮาตะที่ดัดแปลงเรื่องสั้นเชิงอัตชีวิตประวัติของ โนซากะ อาคิยูกิ ด้วยความที่ตัวของทาคาฮาตะเองก็เป็น ‘เด็กที่รอดชีวิตจากยุคสงคราม’ มาเหมือนกับโนซากะ ทำให้หลายๆ ฉากที่ภาพยนตร์เล่าถึงเรื่องของ เซย์ตะกับเซ็ตสึโกะ ที่เป็นเพียงตัวละครสมมติ (แม้จะมีต้นแบบจากคนจริง) ดูจับต้องได้ ดูน่าเห็นใจ แม้ว่าจะมีการกระทำที่ชวนให้คนรู้สึกหงุดหงิด และในฉากสุดท้ายของหนังที่ทำให้เห็นการจากไปของตัวละครสำคัญ ก็ส่งผลให้หนังเรื่องนี้เป็นอะไรที่มากกว่าการ์ตูนอนิเมชั่นเคยทำ ซีนส่งท้ายนี้ ทาคาฮาตะได้ทำให้อนิเมชั่นจากญี่ปุ่นกลายเป็นหนังต่อต้านสงคราม หรือถ้าบอกว่าเขาสามารถทำให้การ์ตูนกลายเป็น ‘สื่อ’ ที่มากกว่าสร้างความสนุกให้กับเด็กได้สำเร็จแล้วก็คงจะไม่ผิดนัก
อีกหนึ่งสีสันแห่ง ‘ลมร้อน’
สตูดิโอจิบลิสร้างผลงานออกมาให้คนดูได้ติดตามกันอีกหลายต่อหลายเรื่อง อย่างในปี 1988 ก็มีเรื่อง โทโทโร่เพื่อนรัก (My Neighbour Totoro) ออกฉายอีกหนึ่งเรื่องต่อจาก สุสานหิ่งห้อย ก่อนจะส่งเรื่อง แม่มดน้อยกิกิ (Kiki’s Delivery Service) ออกฉายในปี 1989 ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นงานเด่นของมิยาซากิ ฮายาโอะ
ก่อนที่ทาคาฮาตะจะกลับมากำกับภาพยนตร์อนิเมชั่นอีกครั้งกับเรื่อง ในความทรงจำที่ไม่มีวันจาง (Only Yesterday) ที่เปลี่ยนการเล่าเรื่องจากโลกแฟนตาซีหรือเรื่องราวเชิงย้อนยุค มาเป็นเรื่องเล่าในโลกปัจจุบันแถมยังเป็นเรื่องของหญิงสาววัยทำงานย้อนนึกถึงช่วงเวลาในวัยเด็กขณะที่เธอเดินทางไปยังบ้านเกิด ซึ่งจริงๆ แล้วงานแบบนี้อาจจะเหมาะกับการไปสร้างละครเสียมากกว่า แต่คงเป็นเพราะมุมมองของทาคาฮาตะที่เห็นว่า อนิเมชั่นเป็นสื่อที่ไปไกลได้มากกว่าที่เคยมีคนทำมา
ทาคาฮาตะเว้นวรรคการกำกับหนังกับจิบลิไปอีกสามปี แล้วกลับมาอีกครั้งในปี 1994 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง ปอมโปโกะ ทานูกิป่วนโลก (Pom Poko) ที่เหมือนจะหยิบเอาด้านหนึ่งของโทโทโร่ มาหมุนวนให้กลายเป็นเรื่องแนวตลกปนดราม่าของการใช้ชีวิตอยู่ในโลกยุคใหม่ของเหล่าทานุกิที่พยายามต่อสู้ทั้งกับเหล่าทานูกิกันเองรวมถึงกับการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงยุค 1980-1990 และบอกกล่าวกับผู้ชมแบบตรงๆ ให้มนุษย์ทั้งหลายใช้ชีวิตบนโลกนี้เห็นใจและคำนึงถึงสรรพสัตว์ที่อาศัยอยู่ร่วมโลก
ปี 1999 ทาคาฮาตะกลับมานั่งเก้าอี้ผู้กำกับอีกครั้งในปี 1999 กับ ยามาดะ ครอบครัวนี้ไม่ธรรมดา (My Neighbors the Yamadas) คราวนี้ทาคาฮาตะปรับลายเส้นและการลงสีให้ดูใกล้เคียงกับการวาดด้วยเส้นดินสอ ซึ่งมองอีกมุมหนึ่งก็พอบอกได้ว่า ทาคาฮาตะปรับลายเส้นให้ผู้ชมรุ่นใหม่เข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นการสร้างความแตกต่างให้กับสไตล์งานของจิบลิ ว่าพวกเขาสร้างงานที่หลากหลาย ไม่ได้ยึดติดแค่บรรยากาศอย่างใดอย่างหนึ่ง และนักวิจารณ์ก็ค่อนข้างจะชื่นชอบการเล่าเรื่องที่เกิดกับครอบครัวใดก็ได้ให้กลายเป็นแนวตลกที่พร้อมทำให้ฉุกคิด กระนั้นเหมือนคนดูจะไม่คิดแบบนักวิจารณ์ ทำให้หนังสร้างรายได้น้อยกว่าที่หลายคนคาดหวัง
แล้วเวลาก็ล่วงเลยผ่านไป งานอย่าง มิติวิญญาณมหัศจรรย์ (Spirited Away) ได้ออกฉายในปี 2001 ก่อนจะคว้ารางวัลออสการ์ในปี 2003 ทำให้สตูดิโอจิบลิกลายเป็นทีมสร้างอนิเมชั่นที่ทั่วโลกรู้จัก แต่ในช่วงเวลานี้ ทาคาฮาตะเหมือนจะยุ่งอยู่กับงานหลังฉากของสตูดิโอจิบลิ จนหลายคนอาจจะลืมชื่อของเขา ไม่ก็รู้สึกเสียดายที่เขาอาจจะไม่กลับมากำกับภาพยนตร์อนิเมชั่นอีก จนกระทั่งปี 2013 ที่เขากลับมาปล่อยของอย่างเต็มรูปแบบในเรื่อง เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่ (The Tale of Princess Kaguya)
งานชิ้นนี้ถือว่าเป็นการหยิบเอาแทบจะทุกกระบวนท่าเท่าที่ทาคาฮาตะเคยใช้กับภาพยนตร์ทุกเรื่องก่อนหน้า จากเรื่องเล่าที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคย ผสมผสานกับลายเส้นพริ้วไหวดุจคนวาดภาพพู่กันให้ดูแบบสดๆ แต่ก็ยังทรงพลังด้วยการขยับเขยื้อนที่ยากจะหาใครทำได้ และการตีความเพิ่มเติมที่ทำให้ความเป็นมนุษย์ปรากฏขึ้นในตัวละครที่มาจากเรื่องเล่าปรัมปรา
เป็นอีกครั้งที่นักวิจารณ์ต่างชื่นชอบ คนทำงานในสายงานอนิเมชั่นต่างตื่นตะลึง จนมีคนกล่าวว่า หนังเรื่องนี้คือผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดของจิบลิในช่วงเวลากว่า 35 ปีที่เปิดตัวมาก แต่ก็เหมือนมีคำสาปตามติดมาอยู่ เพราะรายได้ของหนังเรื่องนี้กลับได้มาราวๆ ครึ่งหนึ่งของทุนสร้าง และรายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากต่างประเทศ ไม่ใช่จากในบ้านเกิดอีกต่างหาก
จากนั้น ทาคาฮาตะก็กลับสู่งานเบื้องหลัง ก่อนที่จะมีชื่อขึ้นเป็นทีมงานของภาพยนตร์ The Red Turtle ในฐานะโปรดิวเซอร์ด้านงานศิลป์ของเรื่องดังกล่าว ก่อนที่ข่าวคราวจะหายไปจากหน้าสื่อ จนกระทั่งมีข่าวว่า ทาคาฮาตะเข้ารักษาอาการป่วยในช่วงปี 2017 ตามมาด้วยข่าวเศร้าจากการเสียชีวิตจากโรงมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 5 เมษายน ปี 2018 ด้วยวัย 82 ปี
เปล่งประกายเสมอแม้ไม่ใช่ฉากหน้า
ถ้ามองเผินๆ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ อาจจะถูกบดบังด้วยประกายแสงจากมิยาซากิ ฮายาโอะ ในช่วงที่ทำงานกับทางสตูดิโอจบิลิ แต่ในความจริงความสัมพันธ์ของทั้งสองคนนั้นออกจะเป็นคู่แข่งและเพื่อนที่ดีไปพร้อมๆ กัน ครั้งหนึ่งตัวมิยาซากิเคยออกมาพูดว่า ทาคาฮาตะเป็นเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้มากที่สุด และสร้างความหงุดหงิดมากที่สุด แต่มิยาซากิก็เคยออกมาพูดว่า ถ้าไม่มีความรู้หรือมุมมองบางอย่างจากตัวทาคาฮาตะ ตัวมิยาซากิอาจจะไม่ยอมไปลองการเขียนมังงะก่อนจะพัฒนาเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่น
หรือในมุมมองของนักวิจารณ์ก็เห็นว่า ในเรื่อง ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก (The Wind Rises) นั้นอาจจะบอกเล่าเรื่องการสร้างเครื่องบินตามความชื่นชอบของมิยาซากิ แต่ก็มีการปรับเล่าเรื่องดราม่าอย่างที่มนุษย์เป็นซึ่งเป็นสไตล์ที่ทาคาฮาตะถนัดเข้ามาใช้งานด้วย และเมื่อนักข่าวในญี่ปุ่นสัมภาษณ์ความรู้สึกของมิยาซากิ เขาก็ตอบกลับมาว่า “ผมยังไม่คุ้นเคยกับความรู้สึกนี้” ทั้งสองคนไม่เคยมีใครพยายามเด่นกว่าใคร ทั้งคู่เป็นสหายร่วมวงการที่พัฒนาฝีมือแข่งกันเพื่อสร้างงานที่ดีที่สุดออกมา
ในระหว่างที่ทาคาฮาตะยังมีชีวิตอยู่ ตัวของเขาก็เคยได้รับรางวัลมาหลากหลาย ซึ่งเป็นภาพสะท้อนได้ดีว่าคนในวงการต่างชื่นชมการสร้างงานของเขา ทาคาฮาตะได้รับรางวัลทรงเกียรติมาแล้วหลายประกาศ เช่น เหรียญเกียรติยศแถบสีม่วง (Medal With Purple Ribbon) จากทางรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อปี 1998, รางวัล Leopard of Honour จากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลคาร์โนครั้งที่ 62 เมื่อปี 2009, รางวัล Awards of Merit จากงาน Tokyo Anime Fair ในปี 2010, ปริญญากิตติมศักดิ์ จากทาง Rhode Island School Of Design ในปี 2012, รางวัล Anime d’or จากงาน Tokyo Anime Award ในปี 2014, รางวัลเกียรติยศจากงาน Annecy International Animation Film Festival ในปี 2014, ได้รับอิสริยาภรณ์สาขาศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ (Ordre des Arts et des Lettres) ชั้น Officier ในปี 2015 และได้รับรางวัล Winsor McCay รางวัลความสำเร็จสูงสุด จากเวทีประกาศรางวัล Annie Awards ครั้งที่ 43 ในปี 2016
และการจากไปของทาคาฮาตะในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ ก็ทำให้บุคลากรในวงการอนิเมชั่นทั้งของญี่ปุ่นและระดับนานาชาติต่างแสดงความเสียใจอย่างยิ่ง หลายๆ คนที่ออกมาแสดงความเห็นผ่านออกสื่อก็มีทั้ง นิชิมูระ โยชิอากิ ผู้ก่อตั้งสตูดิโอโพน็อค (Studio Ponoc) ที่ฝึกตนและสร้างงานอยู่ที่จิบลิมาหลายขวบปี, อิวาอิ ชุนจิ ผู้กำกับของภาพยนตร์อนิเมชั่น The Case of Hana & Alice และภาพยนตร์ All About Lily Chou-Chou ไปจนถึง Lee Unkrich ผู้กำกับ Coco และ Toy Story 3
แม้งานศพของทาคาฮาตะ อิซาโอะ จะถูกจัดอย่างเป็นการส่วนตัวและเปิดให้ญาติกับคนใกล้ชิดเข้าร่วมเท่านั้น ทางสตูดิโอจิบลิก็ได้ประกาศออกมาแล้วว่าพวกเขาจะจัดงานไว้อาลัยครั้งใหญ่ ในวันที่ 15 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ แม้ว่าจะยังไม่ระบุว่างานดังกล่าวจะจัดขึ้นที่ใด แต่เชื่อว่าทุกคนที่รักผลงานของเขาล้วนแล้วแต่อยากจะเดินทางไปเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเราที่โศกเศร้ากับการจากไป คือผู้ใหญ่ที่เข้าใจแล้วว่างานอนิเมชั่นสามารถส่งสาสน์ใดๆ ได้ไกลกว่าที่เคยบอกไว้ และเพื่อให้ทาคาฮาตะ อิซาโอะได้รับรู้ว่า ตอนนี้ เวลานี้ การ์ตูนเป็นได้มากกว่าสื่อสำหรับเด็กอย่างที่เขาเคยตั้งเป้าเอาไว้
อ้างอิงข้อมูลจาก