The MATTER ส่งข้อความหา จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ นักเขียนและนักนิตยสารที่มีถิ่นฐานอยู่เชียงใหม่ เพื่อชวนให้เขาไปพูดคุยกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ว่าด้วยนิทรรศการใหม่ของเขาดั่งหัวเรื่องด้านบน เขาตอบรับด้วยความยินดี เพราะได้ค่าต้นฉบับสัมภาษณ์ ไม่ใช่สิ เพราะเป็นเวลาที่เขารอมานาน ที่จะได้ใช้เวลาเพื่อพูดคุยจริงจังกับผู้กำกับที่อาจกล่าวได้ว่าตอนนี้เป็นผู้กำกับอันดับหนึ่งของเมืองไทย และนี่คือบทความที่เราและจิรัฏฐ์ดีใจที่ได้นำเสนอ
เริ่ม
…
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล บอกผมว่าที่เลือกรูปคนสวมหน้ากากผีเป็นรูปโปรโมทนิทรรศการ (รวมทั้งเป็นรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์) เพราะว่ามันสะท้อนความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเราอย่างน่าสนใจ
ปกติคนเรามักสวมหน้ากากเพื่อสร้างภาพ นำสิ่งที่ดูดีเอาไว้ข้างหน้า เพื่อปิดบังอะไรบางอย่างที่เราไม่อยากโชว์ไว้ข้างหลัง แต่นี่มันกลับกัน เราเอาผีซึ่งเป็นสิ่งที่คนไม่อยากเจอไว้ข้างหน้าแทน แถมผียังใส่แว่นกันแดดอีก เหมือนว่าแดดมันแรงเหลือเกินจนผีต้องสวมแว่น ซึ่งก็เป็นได้ว่าที่แดดมันแรงเพราะเรากำลังมองอนาคตอันโชติช่วง หรือที่จริงนั่นอาจไม่ใช่แสงแดด แต่เป็นแสงจ้าที่เกิดขึ้นเพราะบ้านเรากำลังถูกเผาไหม้หมดแล้ว
ผมยืนคุยกับอภิชาติพงศ์ในโถงนิทรรศการภายใน MAIIAM Contemporary Art Museum พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งใหม่ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ซึ่งนิทรรศการ Serenity of Madness (มีชื่อภาษาไทยว่า ‘คนกินแสง’) นิทรรศการรวบรวมผลงานเชิงทัศนศิลป์บางส่วนในชีวิตการทำงานที่ผ่านมาของอภิชาติพงศ์ได้รับเกียรติให้มาเป็นนิทรรศการเปิด ห้องที่เราคุยกันอยู่เป็นห้องโล่งๆ หากก็เป็นคล้ายห้องอื่นๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ที่มีโปรเจกเตอร์บนเพดานฉายภาพเคลื่อนไหวลงบนกำแพง ภาพเคลื่อนไหวที่เกิดจากผลงานทดลองของแสงและความรับรู้ส่วนตัวของศิลปิน เช่นในผนังของห้องที่เรายืน มันวูบไหวไปด้วยแสงที่ฉายอิริยาบถหลากหลายของคนรักของอภิชาติพงศ์ – นั่นคือหนึ่งในผลงานศิลปะของเขา
อภิชาติพงศ์เป็นคนทำภาพยนตร์ผู้ไม่เคยมานั่งอธิบายว่างานของเขาต้องการจะสื่อสารอะไร แต่ถึงจะไม่รู้ว่าเขาต้องการบอกอะไร ลึกๆ ผมก็รับรู้ได้ว่านักบริโภคแสงเป็นอาชีพเบื้องหน้า เป็นคนโรแมนติก
จิรัฏฐ์ : คุณพูดในงานเปิดนิทรรศการว่าไม่ได้มองผลงานในช่วงแรกๆ ของตัวเองเป็นงานศิลปะ จึงไม่คิดจะเอาไปจัดแสดงในแกลเลอรี่ อะไรที่ทำให้คุณแยกแยะว่านี่เป็นภาพยนตร์ หรือนี่เป็นงานศิลปะ
ช่วงยุค 90’s ที่ผมทำหนังใหม่ๆ ผมบอกตัวเองว่าผมเป็นคนทำภาพยนตร์มาตลอด ตอนที่พี่เจี๊ยบ (กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน และคิวเรเตอร์นิทรรศการนี้) มาชวนให้เอาหนังสั้นของเราไปโชว์ในนิทรรศการศิลปะ ผมก็ยืนกรานว่ามันจะไปจัดได้ยังไง กระทั่งช่วงต้นยุค 2000 ที่ผมทำหนังยาวเรื่องแรกอย่างดอกฟ้าในมือมาร (Mysterious Object at Noon, 2000) หลังจากนั้นผมก็เริ่มคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เป็นงานศิลปะ ผมไม่อาจบอกได้หรอกว่างานชิ้นไหนเป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะ การแบ่งแยกหรือจัดประเภทสิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับมุมมองหรือประสบการณ์ส่วนตัวของคนมอง ภาพยนตร์ของผมอาจมีชิ้นส่วนบางอย่างที่เชื่อมร้อยกับผู้ชมและเขามองว่านั่นเป็นงานศิลปะ หรือในทางกลับกันก็อาจเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อะไรกับใครอีกหลายคนเลยก็ได้ ซึ่งนั่นผมก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร
จิรัฏฐ์ : The Serenity of Madness ถือเป็นนิทรรศการศิลปะงานใหญ่งานแรกของคุณในเมืองไทย งานนี้เริ่มได้อย่างไร
ก่อนหน้านี้ผมเคยทำโครงการศิลปะชุดดึกดำบรรพ์ (ภาพถ่าย Ghost Teen ที่เราอ้างถึงในตอนต้นก็เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการชิ้นนี้ – ผู้เขียน) จัดแสดงที่หอศิลป์จิม ทอมป์สัน จากนั้นก็มีงานโชว์ที่ต่างประเทศอยู่หลายงานเหมือนกัน แต่ก็เป็นการคัดเลือกงานมาบางส่วนเพื่อให้เหมาะกับสถานที่จัดแสดงนั้นๆ ผมเคยมีความคิดที่อยากจัดนิทรรศการที่รวมงานของเราอยู่แล้ว แต่ติดปัญหาที่เราหาพื้นที่ไม่ได้และต้องใช้งบประมาณเยอะเพราะต้องใช้โปรเจกเตอร์หลายตัวมาก ก็พอดีที่ผมไปได้รางวัลจากองค์กรสนับสนุนทางศิลปะที่เกาหลีมา รางวัลนั้นอยู่ในรูปแบบของงบประมาณสนับสนุนให้เราจัดโชว์ที่ไหนก็ได้ในโลก และก็ประจวบเหมาะกับที่ Jean Michel Beurdeley และ Eric Bunnag Booth มีแผนจะเปิดพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงคอลเลกชั่นงานศิลปะร่วมสมัยของพวกเขาที่เชียงใหม่อยู่แล้ว แต่ตอนนั้นเรากำลังติดถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ‘รักที่ขอนแก่น’ อยู่ จนเราทำหนังและโปรโมทเสร็จ Jean Michel ก็สร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้พอดี
จิรัฏฐ์ : คุณมีความคิดมาก่อนไหมว่าถ้ารวมผลงานของคุณที่ส่วนใหญ่เป็นภาพเคลื่อนไหว หน้าตานิทรรศการจะออกมาเป็นอย่างไร
คอลเลกชั่นถาวรที่จัดแสดงในใหม่เอี่ยมมิวเซียมจะเป็นงานจิตรกรรม ภาพพิมพ์ และประติมากรรม ซึ่งผมว่าการที่เอางานที่เป็นวิดีโอและภาพถ่ายของเรามาจัดแสดงร่วมด้วยมันก็น่าจะไปด้วยกันได้ดี นิทรรศการนี้รวบรวมผลงานเกือบ 20 ชิ้นที่เราทำระหว่างปี 1994 – 2015 มีทั้งภาพยนตร์ 16 มม. วิดีโอจัดวาง วิดีโอไดอารี ภาพถ่าย งานวาดเส้น และภาพพิมพ์ นอกจากนี้พี่เจี๊ยบในฐานะคิวเรเตอร์ยังรวบรวมในส่วนที่เรียกว่า archive ซึ่งเป็นภาพถ่ายเบื้องหลัง บทบันทึก ภาพร่าง หนังสือ และเอกสารอ้างอิงในการทำภาพยนตร์ที่ผ่านมาของเราด้วย และก็ยังมีหนังสั้นทดลองของเราฉายที่นี่อีก 30 เรื่องด้วยนะ จะฉายแบ่งออกมา 4 โปรแกรม เดือนแรกฉาย 2 โปรแกรม อีกเดือนฉายอีก 2 โปรแกรม ฉายทุกวันตลอดระยะเวลาจัดแสดง อย่างที่บอก ความยากของการรวบรวมผลงานทั้งหมดของเราเอาไว้ด้วยกันคือการหาสถานที่จัดแสดง เพราะงานวิดีโอส่วนใหญ่มันต้องอาศัยสภาพแวดล้อมและสถาปัตยกรรมของพื้นที่ประกอบด้วย ซึ่งเราก็รู้สึกแฮปปี้มากๆ ที่ได้มาจัดแสดงที่นี่ สเปซที่นี่สะท้อนตัวเราได้ดีทีเดียว
จิรัฏฐ์ : เห็นว่ามีจัดฉายหนังสั้นด้วย ไม่คิดจะเอาภาพยนตร์ขนาดยาวของคุณมาฉายบ้างหรอครับ หลายคนรอดูแต่ไม่มีโอกาสได้ดู
มันไม่เหมือนกัน หนังยาวมันจำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมในการดูที่ซับซ้อนกว่านี้ ทั้งในแง่ของภาพและการมิกซ์เสียง ซึ่งในแกลเลอรี่มันให้ไม่ได้ อีกอย่างเราเคยบอกไปแล้วว่าจะไม่สร้างหรือฉายภาพยนตร์ขนาดยาวในเมืองไทยอีกเพราะเราไม่ชอบบรรยากาศที่มันเป็นอยู่ หมายถึงบรรยากาศที่เป็นเผด็จการน่ะ เรามองว่าหนังขนาดยาวมันควรจะเป็นสาธารณะมากกว่าหนังสั้นหรืองานศิลปะ มันจึงต้องการความรู้สึกของการมีส่วนร่วมหรือความบันเทิงในพื้นที่นั้นๆ แต่ถ้าพื้นที่นั้นๆ มันไม่มีบรรยากาศของความเป็นอิสระ เราก็ไม่อยากให้หนังมันสร้างบทสนทนาที่นั่น อันนี้ไม่ได้หมายความถึงในแกลเลอรี่นะ
จิรัฏฐ์ : ภาพยนตร์ของคุณส่วนใหญ่มีสัญลักษณ์บางอย่างที่เหมือนตั้งใจจะสื่อสารกับคนไทย รู้สึกเสียดายไหมที่กลับกลายเป็นว่าผู้ชมส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย
เสียดายสิ แต่เราทำอะไรไม่ได้ เรามีเงื่อนไขของเรา ซึ่งเราก็พอใจมากกว่าที่จะอยู่ในเงื่อนไขและความสบายใจที่เป็นอยู่ตอนนี้ จำได้ว่าเมื่อก่อนเรามีอุดมการณ์เยอะ โดยเฉพาะช่วงที่ฉายเรื่องแสงศตวรรษ (Syndrome and A Century, 2006) เราขมึงตึงมาก แต่ตอนนี้เปลี่ยนไป เราพบว่าเราเป็นแค่คนทำภาพยนตร์คนหนึ่งที่พยายามจะเล่าเรื่องของเราเอง เราไม่ได้มีอุดมการณ์ที่จะไปเปลี่ยนแปลงหรือถอนรากถอนโคลนโครงสร้างบางอย่างในบ้านเรา ไม่ใช่ว่าเรานิ่งเฉยนะ คือเราค่อนข้างชื่นชมเพื่อนหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของตัวเองเลย แต่เรารู้ว่าเราเป็นใครและทำอะไรได้ ก็เล่าเรื่องของเราต่อไป
จิรัฏฐ์ : ไปเจอมาจากสื่อหลายแหล่งเหมือนกันที่บอกว่าคุณมีความคิดจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ
หลายคนเข้าใจผิด ผมแค่เลิกทำภาพยนตร์ขนาดยาวในไทยเท่านั้น ก็อย่างที่บอกว่ามันมีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่หนังสั้นหรืองานศิลปะก็ทำที่นี่อยู่ ผมไม่มีความคิดจะย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน ยังไงก็ยังชอบเมืองไทยอยู่ ผมพบว่าบ้านเรายังมีคนรุ่นใหม่หลายคนที่เป็นความหวังอยู่ได้ อีกอย่างคือผมก็ไม่แน่ใจด้วยว่าการย้ายออกไปแล้วเราจะมีประโยชน์มากแค่ไหนในพื้นที่ใหม่
จิรัฏฐ์ : เมื่อกี้คุณบอกว่าคุณยังจะทำงานในฐานะคนทำภาพยนตร์ต่อไป สงสัยว่าในสภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่ตอนนี้ เราจะสามารถสื่อสารอะไรได้บ้าง
เรื่องนี้น่าสนใจมาก ผมเคยคุยกับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับวิชาชีพสื่อสารมวลชนอยู่คนหนึ่ง พอคุยกันเราก็ต่างพบปัญหาเดียวกัน อาจารย์ท่านนั้นบอกว่าปัญหาที่เป็นอยู่ตอนนี้คือนักสื่อสารมวลชนในประเทศนี้ไม่สามารถที่จะทำงานในลักษณะที่เป็น investigative ได้อย่างอิสระ ซึ่งเราก็คุยกันว่าถ้า journalist ทำงานไม่ได้ เช่นนั้นแล้วเราจะสอนอะไรนักศึกษา เช่นเดียวกับอาจารย์สาขานิติศาสตร์ เราพบว่าหลายปีมานี้ระบบศาลยุติธรรมในบ้านเราน่าผิดหวังอย่างมาก เราต่างเห็นถึงมาตรฐานที่ไม่เท่ากันในหลายๆ กรณี ในเมื่อสิ่งที่เราควรเชื่อถือมากที่สุดกลับเชื่อถือไม่ได้ แล้วคุณจะสอนอะไร
นั่นเป็นสิ่งที่ผมย้อนกลับมาถามตัวเองด้วย เราจะสื่อสารอย่างไรให้เด็กมีความหวัง จะมองให้มันสิ้นหวังมันก็น่าสิ้นหวังนะ แต่ก็คิดว่ามันก็เป็นความท้าทายในการทำงานด้วยเหมือนกัน คือเรามาย้อนคิด เออ มึงอย่าไปยุ่งกับคนอื่นมาก เอาตัวเองให้รอด เราจะทำหนังยังไงให้พูดได้ว่ามันมีการสื่อสารที่เป็นสากล เลยพยายามทำหนังให้มนุษย์มีความเป็นมนุษย์ ความส่วนตัวของเราต่างหากคือความสากล ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่เอาแต่มุ่งหมายจะถ่ายทอดความรักชาติบนเวทีโลกเพียงอย่างเดียว
จิรัฏฐ์ : การทำภาพยนตร์ให้คนรักชาติผิดตรงไหน
ไม่ได้บอกว่ามันผิด เพียงแต่มองว่ามันเป็นความล้นเกิด สังเกตดีๆ ตั้งแต่เกิดมาชีวิตเราก็ถูกผูกไว้กับอุดมการณ์รักชาติอย่างแรงกล้าผ่านเครื่องมือสื่อสารหลายอย่างมาก มันหล่อหลอมเรามาจนผมพบว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปทำซ้ำเครื่องมือนี้ ถ้าสังเกตดีๆ หนังของผมมันสะท้อนสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน รวมทั้งความเชื่ออื่นๆ ที่ฟอร์มวิธีคิดของเรามา เราโตมากับการดูละครจักรๆ วงศ์ๆ ตั้งแต่เด็ก มีสังคมที่มีพื้นฐานความเชื่อเรื่องผี มีความศรัทธาในศาสนา มีความรักในสถาบัน หนังของผมก็พยายามเล่าเรื่องราวเหล่านี้ แต่ไม่ใช่ทั้งในเชิงสนับสนุนหรือต่อต้าน ผมไม่มีความคิดจะวิพากษ์วิจารณ์ เพียงแต่พยายามจะสะท้อนให้เห็นว่าทั้งหมดนี้มันเป็นผลพวงจากความเชื่อเหนือจริงที่หล่อหลอมเรามาน่ะ
จิรัฏฐ์ : ดูเหมือนงานของคุณถูกสร้างขึ้นจากผลพวงของความขัดแย้งและย้อนแย้งอยู่มากพอสมควร
ใช่ พลังลบทำให้เราสร้างงานได้ เรามองมันและเล่ามันออกมา แต่นั่นก็ไม่จำเป็นที่เราต้องไปจมอยู่ในพลังลบนั้น นั่นทำให้ผมเลิกเล่นเฟซบุ๊ก ครั้งหนึ่งผมเคยเล่นเฟซบุ๊กและพบว่ามันทำให้ผมพบกับพลังลบมากเกินไป พอเล่นมันไปมากๆ ก็ยิ่งพบว่าเราหมกมุ่นและผลักเราไปจนสุดทาง ยิ่งเห็นความคิดที่แตกต่างกันจนสุดขั้วในนี้ด้วย เหมือนเราโกรธเกรี้ยวอยู่กับจุดนี้ไปเรื่อยๆ เพียงเพื่อจะพบว่า อ้าว! มันผ่านมาแล้ว 5 ปี เรายังอยู่ที่เดิมอยู่เลย ไม่ใช่ว่าเราเฉยชากับมันนะ เพียงแต่เราออกมาทำอย่างอื่นดีกว่า
จิรัฏฐ์ : คุณไม่นิยมถกเถียงการเมืองกับเพื่อน
ไม่นะ
จิรัฏฐ์ : ไม่เถียง
ไม่คบเลยต่างหาก (หัวเราะ) ไม่หรอกจริงๆ เรามีเพื่อนน้อยอยู่แล้ว อีกอย่างคือเรานิยมอยู่กับหมา อยู่กับแฟนมากกว่า ไม่ค่อยได้พูดคุยเรื่องการเมืองกับใครนัก
จิรัฏฐ์ : ก่อนพิธีเปิดงานของคุณไม่กี่วัน อังกฤษเพิ่งโหวตออกจากสหภาพยุโรป ที่อเมริกาโดนัลด์ ทรัมป์ก็กำลังอยู่ในกระแส พอยิ่งมาดูสถานการณ์ในบ้านเราที่คนชั้นกลางที่มีการศึกษาส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลทหารอย่างไม่คิดจะตรวจสอบ เคยคิดเล่นๆ บ้างไหมว่าสิ่งที่เรายึดมั่นอยู่อาจจะผิด หรือโลกอาจกำลังจะหมุนไปทางขวามากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่นะ มันเอามาเปรียบเทียบกับเมืองไทยไม่ได้ คือถ้าจะเอาตะวันตกเป็นจุดยึด ผมว่าถึงตอนนี้ในแง่ของการพัฒนาประชาธิปไตยหรือในเชิงเศรษฐกิจ และสวัสดิการสังคม เมืองไทยก็ยังคงอยู่ในยุคหินอยู่เลย โลกตะวันตกเขาวนลูปการเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่หลายรอบแล้ว แต่ของเรามันยังมีปัจจัยพิเศษบางอย่างที่ทำให้เราไม่เคลื่อนไปข้างหน้า ถึงตอนนี้เราอยู่ในโลกทุนนิยมแล้วก็เถอะ เราก็ยังอยู่อยู่ในโลกทุนนิยมที่มีความงมงาย อยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งเราก็พร้อมตกเป็นเครื่องมือหรือเหยื่อของโฆษณาชวนเชื่อนั้นด้วย
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือถึงแม้เราจะเข้าถึงข้อมูลกันส่วนใหญ่แล้ว แต่ด้วยการปลูกฝังแบบดั้งเดิมมันก็ทำให้เราพร้อมจะทิ้งเหตุผลพื้นฐานไปได้ เช่นความคิดในด้านการมองสถาบันทหาร แต่ไหนแต่ไร เราถูกปลูกฝังว่าทหารคือชาติ ทหารคือสถาบันที่ทำเพื่อชาติ ในทางกลับกันนักการเมืองคือพวกที่จะมาโกงกินเราอยู่ตลอดเวลา เราไม่เคยคิดกันเลยสักนิดว่าทหารก็เป็นรูปแบบหนึ่งของนักการเมืองเหมือนกัน แต่ในเมื่อเราหลอมตัวตนของใครก็ตามเข้ากับความเป็นชาติไปแล้วสิ่งนั้นคือความดีงาม อย่างที่ปีที่แล้วที่สื่อฯ พยายามจะยกให้นักแสดงที่เป็นพรีเซนเตอร์เครื่องสำอางแบรนด์หนึ่งที่ได้ไปโชว์ตัวที่เมืองคานส์กลายมาเป็นความภาคภูมิใจของคนในชาติ ยกให้เธอเป็นเหมือนตัวแทนทีมชาติ ทั้งๆ ที่จริงๆ เธอจะไปเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า ซึ่งข้อนี้เราก็รู้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่อย่างที่บอกไงว่าเราพร้อมจะเป็นเหยื่อการโฆษณา
จิรัฏฐ์ : เหมือนเรามองว่าชาติคือสิ่งดีงามที่เราต่างต้องเห็นคล้อย
ใช่ บางทีก็เหมือนเราหลงลืมในการเคารพตัวเองในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง เมื่อวานก็มีสื่อมาสัมภาษณ์ผมหลังจากได้รับเลือกให้เป็นกรรมการรางวัลออสการ์ว่ามีการเตรียมตัวอย่างไร กดดันไหมที่ได้เป็นคนไทยคนแรกที่ทำหน้าที่นี้ เราก็บอกเฮ้ย เราไม่ใช่ทีมชาติ เราไม่ได้ไปแข่งกีฬานะ
จิรัฏฐ์ : คุณไม่ภูมิใจกับรางวัลหรือลาภยศที่ได้รับมาหรือ
ภูมิใจสิ ได้รางวัลเราก็ภูมิใจในสิ่งที่เราทำได้ แต่ไม่ใช่ในฐานะที่เราทำเพื่อชาติไง หรืออย่างเรื่องออสการ์ เขาก็มีกรรมการตั้ง 600 กว่าคน และก็ต้องเข้าใจด้วยว่าออสการ์ก็เป็นการตลาดแบบหนึ่ง การที่เขาเลือกเราเป็นกรรมการก็เป็นวิธีการสร้างภาพลักษณ์ของเขา เพราะเขาอยากนำเสนอความหลากเชื้อชาติมากกว่าจะเป็นแค่กรรมการผู้ชายฝรั่งผิวขาวอย่างเดียว เราไม่ได้บอกว่าสิ่งนี้เป็นแง่ลบนะ แค่มองว่ามันเป็นการสร้างแบรนด์วิธีหนึ่ง
จิรัฏฐ์ : ว่าแต่เคยมีเอเจนซี่ติดต่อให้คุณเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าอะไรบ้างไหม เช่น สมาร์ทโฟนหรือมอเตอร์ไซค์
ผมไม่รับอยู่แล้วไง สังคมนี้มันก็โกหกกันมากพออยู่แล้ว เราเสพติดการโฆษณาชวนเชื่อหนักมากกว่าที่อื่นๆ เลยนะ พูดอย่างนี้เดี๋ยวคนก็หมั่นไส้อีก แต่พูดตรงๆ คือเรายังไม่พ้นลูปนี้จริงๆ ลูปดึกดำบรรพ์เนี่ย
จิรัฏฐ์ : ในฐานะที่คุณเป็นไอดอลของใครหลายคน ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม คุณมีวิธีชี้นำให้ผู้ชมทางบ้านหลุดพ้นจากลูปนี้ยังไง
ยังยืนยันคำตอบเดิมว่าเราไม่ใช่ฮีโร่ ไม่คิดจะชี้นำให้สังคมเปลี่ยนแปลงอะไรอยู่แล้ว อืม…(นิ่งคิด) ไอ้คำถามนี้มันยากพอๆ กับที่มีคนมาถามว่างานศิลปะที่เราทำต้องการจะบอกอะไร หรือที่หนักกว่านั้นอย่างหนังเรื่องลุงบุญมีฯ (ลุงบุญมีระลึกชาติ, Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives, 2010) ให้อะไรกับสังคมเลยนะ… เราตอบไม่ได้ว่ะ งานเรามันไม่ได้ให้อะไรกับสังคมหรอก มันเป็นงานศิลปะ เหมือนนักวิทยาศาสตร์บางคนก็แค่อยากทดลองนู่นนี่เพื่อตอบสมมติฐานของตัวเองแล้วก็จบ มันก็แค่นั้น
อีกอย่างไอ้คำถามที่ว่าทำงานนี้ตั้งใจจะบอกอะไรหรือตั้งใจจะให้อะไรกับสังคมเนี่ย ผมว่ามันเป็นตัวขัดขวางความก้าวหน้าของศิลปินเลยนะ อย่างถ้าใครมาถามให้ตอบจริงๆ ว่างานเราสื่ออะไร เราก็ตอบได้แค่ว่ามันเป็นประสบการณ์ส่วนตัว เป็นบันทึกในแบบของเรา บันทึกที่บางทีก็พยายามจะสะท้อนสิ่งที่เราเห็น สะท้อนสังคมที่มันดัดจริต…มันตอแหลอยู่…ทำนองนี้น่ะ
พูดไปอย่างนี้มีหวังโดนด่าแน่ๆ (ถอนหายใจ)
จิรัฏฐ์ : ใช้คำว่าตอแหลเลยเหรอครับ
อืม… ยังไงพยายามช่วยเขียนให้ดูเบาลงหน่อยนะ
จิรัฏฐ์ : ครับ
แต่มันเชื่อมโยงกันไปหมดเลยไง รวมทั้งเรื่องในวงการศิลปะหรือวงการภาพยนตร์ด้วย คือต้องยอมรับว่าเราถูกปลูกฝังให้รักสามัคคีและถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งมันก็ดีแหละ เพียงแต่สิ่งสำคัญคือพอเป็นอย่างนี้สังคมเราเลยไม่เคยมีวัฒนธรรมในด้านการวิพากษ์วิจารณ์กันเลย เวลามีการวิจารณ์หนังกัน มันเลยมีเพดานบางอย่าง นักวิจารณ์บางคนก็กลัวว่าเดี๋ยวคนทำหนังเขาจะโกรธเราไหม คนอ่านจะโกรธไหม สปอนเซอร์จะโกรธไหม ซึ่งอย่างหลังนี่สำคัญ ทุกอย่างกลายเป็นการค้าและการรักษาหน้ากันไปหมด
จิรัฏฐ์ : แล้วถ้าเกิดมีคนมาวิจารณ์คุณตรงๆ ว่าคุณทำหนังดูไม่รู้เรื่อง ดูแล้วชวนหลับ หรือห่วยชะมัดล่ะครับ
(หัวเราะ) ก็มีอยู่แล้วนะ มีมาตลอด เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ หนังของผมมันเปิดให้ตีความได้กว้างมากๆ การจะมองว่ามันห่วย นั่นก็เป็นความเห็นของเขา
จิรัฏฐ์ : กลับมาที่งานศิลปะดีกว่า ผมเห็นงานในห้องจัดแสดงที่เรายืนอยู่นี้มีแต่ภาพเคลื่อนไหวของแฟนคุณซ้ำๆ ส่วนอีกห้องก็มีวิดีโอที่เป็นฉากของกลุ่มเด็กเอาแต่เตะลูกไฟไปมา ลึกๆ แล้วคุณต้องการจะบอกอะไร
…
ชื่อภาษาไทยของนิทรรศการ ‘คนกินแสง’ คิดโดย ชัย ศิริ เขาเป็นคนเดียวกับที่ถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอในงานหลายชิ้นของอภิชาติพงศ์ รวมทั้งภาพถ่ายหน้ากากผีหรือ Ghost Teen ที่จัดแสดงอยู่บริเวณโถงกลางของพิพิธภัณฑ์ด้วย
คนกินแสง (The Serenity of Madness) จัดแสดงถึงวันที่ 10 กันยายน 2559 ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (MAIIAM Contemporary Art Museum) ภายในพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร ยังมีนิทรรศการถาวรของศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของเมืองไทยและต่างประเทศ อาทิ มณเฑียร บุญมา, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, กมล เผ่าสวัสดิ์, ปรีชา เถาทอง, พินรี สันพิทักษ์, ยุรี เกนสาคู ฯลฯ ภัณฑารักษ์โดย กฤติยา กาวีวงศ์
พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวัน ยกเว้นวันอังคาร 10.00 น. – 18.00 น. มีค่าเข้าชม 150 บาทสำหรับบุคคลทั่วไป 100 บาทสำหรับนักเรียน อายุต่ำกว่า 12 เข้าฟรี ดูรายละเอียดอื่นได้ที่ www.maiiam.com