ดุจดั่งพญาเหยี่ยว เราตื่นตัวทันทีเมื่อเห็นเครื่องหมาย % หรือคำว่า SALE แปะปะอยู่บนป้ายแบนเนอร์อะไรสักอย่าง ตัวเลข 40% 50% เร่งเร้าให้ตาลุกวาว หัวใจพองโตเสมอไม่ว่าสินค้านั้นจะเป็นอะไร บางทีสินค้าไม่จำเป็นเราก็ยังหาเหตุผลมาซื้อจนได้เมื่อเจอป้าย SALE
แล้วจะประสาอะไรกับหนังสือ
พวกเราเป็นพลเมืองในประเทศที่ยังมีผู้คนจำนวนนับล้านตื่นเต้นตื่นตัวกับหนังสืออยู่เสมอ หลักฐานอย่างดีก็คืองานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ, สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่จัดขึ้นรวมแล้วปีละ 2 ครั้งในช่วงต้นและปลายปี เป็นหมุดปักหลักใหญ่ที่เป็นเส้นชัยของทั้งผู้อ่านและผู้ผลิตอย่างสำนักพิมพ์ เราเป็นประเทศไม่กี่ประเทศในโลกที่มีมหกรรมหนังสือระดับชาติเป็นงาน SALE หนังสือ ลดกระหน่ำแบบที่ผู้อ่านจะต้องกำเงินมารอ ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ ‘รู้กัน’ ไปแล้ว
แต่ตลกไหม ทั้งที่ในแต่ละวัน มีคนเข้างานสัปดาห์หนังสือราว 3 แสนคน เงินสะพัดในตลาดสิ่งพิมพ์ก็คงจะไม่น้อย แต่ชาติเราก็ยังรณรงค์ให้คนไทยอ่านหนังสือกันอยู่ดี…นี่ขนาดหนังสือไทยนะ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับหนังสือต่างประเทศ… ที่มีกำแพงของภาษาเป็นอุปสรรคใหญ่อยู่แล้วในการเข้าถึง ก็ยังอุตส่าห์แพงจนต้องซี้ดปากวางคืนที่เดิมทุกครั้งเมื่อเข้าไปถึงร้าน
เป็นเหตุผลที่ทำไมเราถึงตื่นเต้นนักเมื่อเห็นแบนเนอร์ของงาน BIG BAD WOLF 2016 งานลดราคาหนังสือต่างประเทศ ที่ปรากฏขึ้นมาบนเฟซบุ๊ก ซึ่งมาพร้อมกับข้อความอะไรไม่รู้แต่มี 80% OFF ห้อยอยู่!
อะไรที่ทำให้ทีมผู้จัดหาส่วนลดขนาดนี้มาเสนอแก่ลูกค้าได้ ทั้งที่กิจการหนังสือนั้นก็เป็นธุรกิจที่กำไรไม่มากอยู่แล้ว ยิ่งกับหนังสือต่างประเทศซึ่งโปรดัคชั่นดีมากซึ่งนำพามาด้วยราคาที่สูง ลดราคาในเรตนี้จึงเหมือนกับยอมกรีดเลือดตัวเองชัดๆ แล้วมันเกิดขึ้นได้ยังไง?
ยิ่งกับเมืองไทย ที่มีหนังสือภาษาอังกฤษเป็น prob สำหรับถ่ายรูป เป็น coffee table book ที่ลงทุนสำหรับโพสต์ลง Instagram เท่านั้น (ก็เพราะมันแพงนี่แหละ!)
ด้วยส่วนลด เอ๊ย ด้วยความน่าสนใจ The MATTER จึงเคาะข้อความหาเพจ BIG BAD WOLF ชวนคุณสุรเชษฐ วรวงศ์วสุ แห่งบริษัท Ready2Read และกรรมการผู้จัดการ เครือโรงแรมเอทัสแอนด์เรสซิเดนซ์ ผู้อยู่เบื้องหลังงานครั้งนี้มาเล่าถึงมหกรรมหนังสือต่างประเทศ ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยจัด เพื่อหาคำตอบว่า เราจะได้อะไรจากเจ้าหมาป่ายักษ์นักอ่านตัวนี้บ้าง
ในมาเลเซียถือว่า BIG BAD WOLF เป็นกิจกรรมครอบครัวได้เลย พาลูกๆ มาเดินเล่นกัน 4-6 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย เด็กๆ ลากตะกร้าไปซื้อหนังสือของตัวเอง ทางผู้ปกครองก็ไปทางหนึ่งแล้วก็มาเจอกันที่แคชเชียร์ พ่อแม่ก็รู้ว่าหนังสือที่ลูกๆ หยิบมาเนี่ยเขาจ่ายไหว ไม่เหมือนกับการเจอเด็กๆ ผิดหวังที่อยากได้หนังสือแล้วพ่อแม่บอกว่าเล่มนี้เอาไปวางคืนได้ไหม ในงานนี้ไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น
The MATTER : สารภาพตามตรงว่าส่วนใหญ่ที่เราเห็นงานท่ีชูส่วนลดได้แบบนี้ มันมักเป็นหนังสือมือสอง
ไม่ใช่หนังสือมือสองนะ หนังสือในงานไม่มีตำหนิชำรุด หรือเป็นหนังสือที่ค้างอยู่บนเชลฟ์เลย เป็นหนังสือที่เราเชื่อว่าถ้าใครเห็นแล้วคงอยากซื้อ เพราะราคาถูกสุดก็ 100 ต้นๆ แพงที่สุดคือหลักพันหลักหมื่น เพราะมันเป็น limtied หนังสือใหญ่ๆ อย่าง Cars หรือหลายพัน หรือ Vivienne Westwood ที่มีแค่ 900 เล่มในโลก ก็มีมาถึงงานนี้เมืองไทย 10-20 เล่ม หนังสือ limited edition ก็มี นักสะสมก็จะเป็นเป้าหมายสำคัญเหมือนกัน
The MATTER : หนังสือต่างประเทศเล่มละ 100 กว่าบาท คุณเอาตัวเลขส่วนลดขนาดนี้มาได้ยังไง
จริงๆ ก็คงทราบดีอยู่แล้วว่าหนังสือทั่วไปเขาก็ซื้อขายกันบน return basis คือเมื่อมันขายไม่ได้บนเชลฟ์สักระยะหนึ่งก็ถูกส่งกลับไปที่ distributor แล้วก็ส่งกลับไปที่ publisher แต่หนังสือในงานนี้เราดีล remainder book คือเป็นหนังสือคงคลังที่นั่งรออยู่ในโกดังต่างๆ ทั่วโลก เราเข้าไปสัมผัส ไปต่อรอง แต่ดีหน่อยที่เรามีพันธมิตรเป็นเจ้าของโกดังในอังกฤษ มีหนังสือ 30-40 ล้านเล่มในโกดังนั้น เพราะฉะนั้นมันคือหนังสือใหม่มือหนึ่ง ซึ่งเราซื้อจากตรงนั้น รับความเสี่ยง 100% เพราะว่าซื้อขาดมาเลย และส่งต่อส่วนลดให้กับนักอ่านโดยตรงไม่ต่ำกว่า 60-80%
และเพราะด้วยงานนี้มันไม่ใช่เป็นงานรวมตัวของสำนักพิมพ์ แต่คือบริษัทเดียวกัน ฉะนั้นคุณจะไปหยิบ fiction จากกองนี้ แล้วไปซื้อหนังสือเด็กจากอีกมุมหนึ่งของงาน ก็จะได้ส่วนลดเดียวกันหมด
The MATTER : คัดเลือกหนังสือยังไง
เรามีทีมที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งงาน BIG BAD WOLF ซึ่งก่อนหน้านี้จัดที่ประเทศมาเลเซียมาก่อนตั้งแต่ปี 2009 ทุกปีเขาจะตระเวณไปเลือกหนังสือจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางยุโรป ออสเตรเลีย แฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งในงานเหล่านี้ก็จะมีสำนักพิมพ์จากหลายประเทศอีก อินเดียก็มี จินก็มี โดยเขาก็จะเลือกหนังสือที่ High Quality เข้ามาหน่อย ไปต่อรองซื้อมาทีละปก โดยใช้เวลาเกือบ 10 เดือนที่ทำแบบนี้ จนมั่นใจได้ว่าหนังสือที่สั่งซื้อมาจะเป็นหนังสือที่ไปกับตลาดในไทยได้
The MATTER : ไม่กลัวคนแห่ซื้อไปขายต่อเหรอ
ยินดีเลยครับ หนังสือพวกนี้จะได้ไปสู่มือคนได้กว้างเข้าไปอีก คือเราไม่ได้สนใจตรงนั้น เพราะไม่ยังงั้นเราคงแยกราคาขายส่งขายปลีกไปแล้วล่ะ แต่นี่ราคาเดียวกันหมด คุณจะซื้อเล่มเดียวหรือพันเล่ม ผมก็มอบให้คุณเท่านี้ เพราะเราไม่ได้กั๊กราคาเลย
The MATTER : งาน BIG BAD WOLF ในต่างประเทศน่าสนใจยังไง
เริ่มจากการที่มีธีมงานที่ต่างกันไปในทุกๆ ปี รันกันไปตลอด 11-12 วัน พิเศษกว่านั้นคือเขารันกันแบบ non-stop จริงๆ คือหมายความว่าจะเข้างานมาดูหนังสือตอนตีสามตีสี่แล้วไปทำงานก็ตามสะดวกเลย เพราะคนซื้อหนังสือจริงๆ เขาใช้เวลาเยอะ อยากใช้เวลาเงียบๆ สงบ ซึ่งช่วงตอนกลางคืนคนมันก็ไม่เยอะเท่าไหร่ อันนี้ก็เป็นจุดขายและก็เป็น event เดียวของประเทศเขาที่รันต่อเนื่อง 278 ชั่วโมงต่อเนื่องเลย แต่บ้านเราขอวอร์มที่วันศุกร์และเสาร์ก่อน เป็น 60 ชั่วโมงต่อเนื่อง
งานแต่ละปีมีคนมาต่อแถวรอตั้งแต่เช้ามืด เพราะเขารู้ว่าหนังสือบางเล่มก็มีแค่หลักร้อยเล่ม เพราะฉะนั้นเขาจะตามหาบัตรบัตรวีไอพีเพื่อเข้ามาก่อนเป็นพวกแรกๆ เพื่อซื้อหนังสือที่ลิมิเต็ดแถมยังราคาเอื้อมถึง ซึ่งบางครั้งจ่ายราคาเต็มก็ยังหาหนังสือพวกนี้ไม่ได้ นอกจากนั้นก็จะมีกิจกรรมอื่นๆ อีก ในมาเลเซียถือว่า BIG BAD WOLF เป็นกิจกรรมครอบครัวได้เลย พาลูกๆ มาเดินเล่นกัน 4-6 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย เด็กๆ ลากตะกร้าไปซื้อหนังสือของตัวเอง ทางผู้ปกครองก็ไปทางหนึ่งแล้วก็มาเจอกันที่แคชเชียร์ พ่อแม่ก็รู้ว่าหนังสือที่ลูกๆ หยิบมาเนี่ยเขาจ่ายไหว ไม่เหมือนกับการเจอเด็กๆ ผิดหวังที่อยากได้หนังสือแล้วพ่อแม่บอกว่าเล่มนี้เอาไปวางคืนได้ไหม ในงานนี้ไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น
The MATTER : คุณอยู่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์แท้ๆ แต่ทำไมถึงสนใจทำกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือ
ผมเจอผู้ก่อตั้ง BIG BAD WOLF ที่มาเลเซีย ได้เข้าไปสัมผัสงานแล้วอยากให้นักอ่านบ้านเรามีงานแบบนี้บ้าง ซึ่งก็พอดีกับที่พวกเขาเองยังไม่ได้มีกำลังส่งงานออกไปนอกประเทศสักเท่าไหร่ ก็เลยถือโอกาสนี้ เพราะคิดว่าถึงจะเป็นนักอ่านหรือไม่ก็ตาม มันก็เป็นโอกาสที่เปิดให้ก้าวเข้ามาได้ อย่างน้อยที่สุดมันน่าจะมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษ ปลูกฝังนิสัยการอ่านได้ พูดกันตามตรงก็คือผมเองก็ได้ทำ CSR ส่วนหนึ่ง แต่มันก็จะเข้ามาเสริมในส่วนของธุรกิจที่ผมทำไปด้วยได้ แถมยังพัฒนาองค์กรของผมเองอีกต่างหาก อย่างในโรงแรมก็จัดทำห้องสมุดได้ไม่ยาก ส่วนของขวัญพนักงานก็จะจัดแหล่งความรู้ให้เป็นของขวัญ อะไระพวกนี้เป็น vision ที่ผมแชร์กับผู้จัดงาน BIG BAD WOLF โดยตรง เขาถึงมองว่าเราเป็นพาร์ทเนอร์ที่เหมาะสม
The MATTER : เห็นปัญหาอะไรในแวดวงหนังสือภาษาอังกฤษ
เราแค่อยากมีส่วนให้คนเข้ามา break วงจรการศึกษาภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงหนังสือ เพราะคนที่อ่านไม่เข้าใจก็ไม่ยอมอ่าน แพงไปก็ไม่ซื้ออ่าน วนเวียนอยู่อย่างนั้น ซึ่งการที่ทำให้หนังสืออยู่ในจุดที่เอื้อมถึงได้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนซื้อ ไม่ว่าจะซื้อเป็น reference ได้อ่านคำบรรยายภาพนิดๆ หน่อยๆ ผมก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งเราก็มีหนังสือคุณภาพดีมากๆ อยู่ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักอ่าน แค่ชวนให้มางาน เริ่มเป็นนักอ่าน
The MATTER : ที่บอกว่าเป็น CSR ก็ไม่เห็นชื่อของโรงแรม AETAS ปรากฏเท่าไหร่
เราอยากเน้นให้ชื่อ BIG BAD WOLF ให้เป็นที่รู้จัก อยากให้ชื่อของพาร์ทเนอร์ของเราปรากฏมากกว่า เช่น IMPACT ARENA ที่เป็นเพื่อนของเราและให้การสนับสนุนด้านพื้นที่เพราะเขาก็เชื่อว่าภาษาอังกฤษนั้นสำคัญและจำเป็นมาก หรือพาร์ทเนอร์ที่เป็นสถาบันทางการเงิน บริษัทประชาสัมพันธ์ ก็ชวนกันมาร่วมมือกัน เพราะงานแบบนี้เราทำเองไม่ได้ ทำเองก็ไม่ไหว แม้ว่า AETAS จะมีคนเยอะ มีกำลังทุน แต่เราทำเองไม่ไหวหรอก ผมอยากให้คนที่มีบทบาทในสังคม มีกำลังช่วยประชาสัมพันธ์ เข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศ ยกระดับการศึกษา ปลูกฝังการอ่าน ยกระดับทักษะภาษาอังกฤษบ้านเรา มันทำด้วยใครคนใดคนหนึ่งไม่พอ
ถามว่าให้อะไรกับประเทศ ผมคิดว่าถ้ามันเวิร์ก มันจะทำให้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษมีมากขึ้น ขีดความสามารถของแรงงานก็จะมากขึ้น ผมเชื่อเลยว่า ไม่มีใครปฏิเสธหรอกว่าการศึกษาเป็นกระดูกสันหลังของความแข็งแกร่งและขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทย
The MATTER : ในความเป็น BIG BAD WOLF ต้นตำรับ เขาจัดกิจกรรมเพื่อธุรกิจมั้ย
ใช่ครับ แต่เน้นขายที่ volume คนเข้ามางานทุกปี ตลอดการจัด 10 กว่าวัน 4-5 แสนคน โดยที่ไม่เคยเก็บค่าเข้างาน ซึ่งผมก็นำมาใช้ด้วย งานแบบนี้ถ้าผมเก็บค่าเข้างาน ยังไงก็น่าจะมีรายได้มากพอจะจ่ายค่าเช่าที่แน่นอนถ้าคิดจะทำแบบธุรกิจ หรือถ้าผมเพิ่มราคาหนังสือเล่มละ 5-10 บาทแล้วขายได้ล้านเล่ม ก็มีรายได้เพิ่ม 5-10 ล้านเลยนะ แต่ผมไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้คือธุรกิจเป็นหลัก เราอยากให้ส่วนลดที่เรามาหามาได้ส่งต่อไปยังผู้อ่านที่สุด เราไม่ได้มาเพื่อหากำไรได้มากที่สุด และเรามาเพื่อขายหนังสือให้ได้มากที่สุดก็เพราะเราไม่ได้อยากขาดทุนหรอก
The MATTER : ในสายตาของคุณ ประเทศไทยเหมาะกับหนังสือแบบไหน
งานนี้เราเน้นหนักที่หนังสือเด็กและเยาวชน ส่วนหนังสืออื่นที่เอาเข้ามาก็เป็นหนังสือภาพ Coffee Table Book เสียเยอะ เพราะคนที่อยู่ในวัยกลางคน เปอร์เซ็นต์ของทักษะภาษาอังกฤษจะไม่เก่งเท่าเด็กๆ เยาวชนตอนนี้อยู่แล้ว เพราะการศึกษาของสมัยนู้นด้วยน่ะนะครับ ฉะนั้นเราก็จะลดสัดส่วนของนวนิยาย พวกที่เป็นตัวอักษรอย่างเดียว แล้วเน้นพวกหนังสือภาพ กราฟิก
The MATTER : Coffee Table Book จะช่วยภาษาอังกฤษของคนไทยยังไง เพราะคนเห็นว่าการถ่ายรูปหนังสือลง IG มันสำคัญกว่าการอ่านเสียอีก
ผมเชื่อว่ามีคนที่อยากอ่านแต่สู้ราคาไม่ไหว บางคนชอบการถ่ายรูป ศิลปะ การวาดภาพ เขายังต้องใช้หนังสือ reference พวกนี้ แม้แต่หนังสือที่เกี่ยวกับการแพทย์ก็ตาม ที่มีพวกภาพวาดสรีระคน ก็เป็นรากฐานของศิลปะ หรืออย่างผมที่สะสมรถคลาสสิค ผมก็ซื้อหนังสือมาเป็น reference เหมือนกัน ถึงจะดูภาพเป็นส่วนใหญ่ แต่เวลาเห็นข้อมูลที่จำเป็นบรรยายอยู่ใต้ภาพ ผมก็อ่าน ศึกษาจากตรงนั้น มันดึงความสนใจได้ ทุกสิ่งจะต้องเริ่มจากสิ่งที่สนใจก่อน ไม่ใช่ไปบังคับให้เขาอ่าน อย่างหนังสือเรียนถ้าไม่มีคะแนนมาค้ำคอ ผมก็คงไม่อ่านนะ
The MATTER : ในชาติที่ยังต้องรณรงค์ให้อ่านหนังสือไทยกันเอง เราจะมีความหวังในหนังสือภาษาอังกฤษได้ไง
ผมเชื่อในคุณภาพของสิ่งที่ผมนำเข้ามา ทุกวันนี้คนไทยไม่ใช่ไม่อ่าน เขาบอกเขาไม่ได้อ่านหนังสือ แต่จริงๆ เขาอ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ tablet คอมพิวเตอร์ ซึ่งสาระดีๆ ก็มี สาระน้อยๆ ก็มี ซึ่งถือว่าถ้าเรามีสื่อที่มีคุณภาพ ในราคาที่จับต้องได้ ผมว่ามันน่าซื้อ ผมไม่เคยมานั่งทำโฟกัสกรุ๊ปก่อนที่ตัดสินใจจัดงาน ผมไม่สนใจ เป็นธุรกิจมั้ย เราก็ไม่ได้อยากขาดทุน แต่กำไรมากน้อยไม่ได้สำคัญสำหรับผมในงานนี้ ผมมองว่ามันเป็นหน้าที่ ที่ผมไปเจอแล้วผมต้องเอาเข้ามาเมืองไทยไม่ได้ หน้าที่ของผมเป็นโอกาสดีของคนอ่าน มันก็ดี
The MATTER : ถ้ามีแต่คนที่รอซื้อหนังสือลดราคาที่ BIG BAD WOLF จะกระทบต่อวงจรหนังสือรึเปล่า
วงจรของสินค้าทุกอย่าง ปัจจุบันก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว การซื้อในราคาเต็มมันจะยังมีอยู่ในสิ่งที่จำเป็นหรือในโอกาสที่จะต้องใช้เดี๋ยวนั้น สมมติถ้าคุณจะสร้างห้องสมุดขึ้น คุณก็ต้องฉวยโอกาสแบบนี้ จริงๆ บ้านเราก็มีมหกรรมหนังสือใหญ่ๆ สองครั้ง คนเขาก็รอตรงนั้นอยู่แล้วนี่นา ผมไม่น่าจะสร้างปัญหาตรงนั้นได้อีก
หรืออย่างในมาเลเซีย ผู้จัด BIG BAD WOLF ก็มีโดนร้านหนังสือที่บ้านเขาโวยวายมาตั้งแต่ปี 2009 แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็ยิ่งสนับสนุนเขา แถมช่วงที่โดนโจมตีก็ทำให้เขากระโดดขึ้นจากหนังสือหลักแสนภายในงานกลายเป็นหลักล้านเล่ม เพราะเมื่อเข้าไปคุยกับสำนักพิมพ์ในต่างประเทศเอง ได้อธิบายให้เขาฟังว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นยังไง ที่สำคัญเขาต้องเข้าใจประเทศแถบเอเชียนะ พวกเราซื้อหนังสือแบบคนบ้านคุณไม่ไหวหรอก เพราะสำหรับบ้านเขามันไม่ได้แพงเมื่อเทียบกับรายได้ของเขา ซึ่งมันไม่ใช่เลยสำหรับคนเอเชีย ได้ยินยังงี้เขาก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ นี่คือสิ่งที่ BIG BAD WOLF กำลังจะทำ ทำให้ราคาหนังสือมันเหมาะสมกับรายได้ของผู้คน
The MATTER : จะยิ่งสปอยล์พฤติกรรมนักอ่านไทยที่กลายเป็นว่าทุกคนต้องรอ SALE ไหม
คงเป็นพฤติกรรมที่เราเลี่ยงไม่ได้ เป็นผมก็รอ ทุกวันนี้ผมไม่ค่อยซื้อราคาเต็มอยู่แล้วในทุกอย่าง อย่างเสื้อผ้าผมก็ซื้อเอาท์เล็ต จริงๆ แค่มีป้าย 50% OFF ของไม่จำเป็นก็ยังซื้อกันเลย อย่างร้านหนังสือปกติทั่วไป บางทีผมอยากได้ก็ยับยั้งใจไว้บ้าง ราคามันแพง
สิ่งที่ BIG BAD WOLF กำลังจะทำ ทำให้ราคาหนังสือมันเหมาะสมกับรายได้ของผู้คน
The MATTER : คุณซื้อหนังสือมากแค่ไหน
เมื่อก่อนผมอ่านหนังสือการ์ตูนนะ แต่พักหลังสายตาไม่ค่อยดี เวลาไม่ค่อยมีก็เริ่มลดลง แต่ที่ยังซื้อก็เพื่อเป็นของขวัญให้คนอื่น บางเล่มซื้อมาเองก็ไม่ได้อ่านทุกเล่มหรอก แต่ผมชอบเดินร้านหนังสือ แถวออฟฟิศมีร้านหนังสืออยู่ใกล้ๆ ผมก็ไปทุกอาทิตย์ แต่ไม่ได้ซื้อบ่อยมาก เพราะถ้าเป็นนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ผมก็รับผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่ถ้าเป็นหนังสือสวยๆ ผมจะชอบ อันไหนไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองสนใจก็ซื้อฝาก ฝากคุณแม่ประจำ เพราะท่านวาดรูปสีน้ำมัน ก็ซื้อหนังสือที่เกี่ยวกับพวกนกหรือดอกไม้ที่ท่านชอบวาดให้
The MATTER : อ่านหนังสือไทยบ้างมั้ย
เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้อ่านเลย เพราะถ้าเป็นหนังสือ fiction ผมก็อ่านต้นฉบับ ภาษาอังกฤษผมก็ระดับกลางๆ ไปเลือกอ่านตรงนั้นได้ เหมือนผมดูหนังผมก็อยากดู soundtrack น่ะ พากย์ไทยเสียงมันไม่ 100% เวลาเราอ่านที่แปลอังกฤษเป็นไทย เราก็คิดว่ามันคงสื่ออารมณ์ได้ไม่เต็ม แต่ถ้าเป็นงานต้นฉบับภาษาไทยเลยก็จะมีพวกนิยายเก่าๆ ที่ผมชอบบ้าง
The MATTER : คุณคิดว่าหนังสือคือความจำเป็นระดับไหนของชีวิต
ผมว่ามากๆ ทุกวันนี้ทุกคนเลิกรับสื่อบางชนิด จะเป็นการเล่าสู่กันฟัง ข่าวสารที่เป็นฟรีตามช่องทางต่างๆ แต่คุณจะเลือกรับสื่อที่มีคุณภาพแค่ไหน และคุณก็จับต้องมันได้แล้ว
The MATTER : คุณคิดว่าชาวต่างชาติเขาให้คุณค่ากับหนังสือต่างจากคนไทยไหม
ผมว่าขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละกลุ่มเนอะ บางคนเขามองที่รูปเล่ม ความสวยงาม คุณภาพกระดาษ เป็นของสะสมอย่างหนึ่งของเขาด้วย แต่ประเทศไหนมีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรงเพราะอะไร อันนี้ก็ตอบลำบาก ผมตอบได้ในมุมของผมที่เป็นคนชอบซื้อหนังสือคนหนึ่ง ผมมองคุณภาพของงาน และคุณภาพการผลิต คุณภาพแบบนี้อาจจะได้มาในราคาแบบนี้ไม่ง่าย ผมมองตรงนี้มากกว่า
The MATTER : คุณคิดว่าการเมือง หรือสถานการณ์ในประเทศเราจะมีผลต่องานไหม
ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจหรือความไม่มั่นคงทางการเมืองมันจะอยู่คู่คนไทยไปอีกนานครับ คิดว่าคนไทยน่าจะชินแล้ว ต่างชาติในประเทศเราก็ไม่ได้กลัวอะไร คนที่ไม่เคยเดินทางมาเมืองไทยเลยคงจะกลัวบ้าง แต่ฝรั่งที่อยู่เมืองไทย ถามเขาเลยว่ากลัวหรือเปล่า…ยิ่งคนไทยก็ยิ่งไม่รู้สึก
The MATTER : คิดจะจัดไปทุกปีหรือเปล่า
ผมอยากทำทุกปี หนังสือควรจะอัพเดททุกปี แต่จริงๆ มันก็ขึ้นอยู่กับปีนี้แหละ ว่าคนจะมาเยอะไหม จะ success หรือเปล่า
The MATTER : สำหรับงานนี้ เท่าไหร่ถึงเรียกว่าไม่ success
BIG BAD WOLF เป็นงานหนังสือระดับโลกอยู่แล้ว งานไม่เล็กอยู่แล้ว เราก็ทำให้ดีที่สุดอยู่แล้วล่ะ เรื่องราคาหนังสือก็สุดตัวแล้ว จะให้ผมเพิ่มราคากว่านี้ก็ไม่ทำ งานนี้ตั้งใจให้ผลประโยชน์ไปสู่ end user เต็มๆ ดังนั้น มันจะสำเร็จหรือก็คือเรื่องของการประชาสัมพันธ์มากกว่า เพราะผมมั่นใจในสิ่งที่ผมนำเข้ามา ในคุณภาพ ในเรื่องตัวเลือกและราคา คิดว่าไม่แพ้ที่ไหนในโลกแน่นอน ถ้าพูดเรื่องหนังสือ เราไม่ด้อยกว่าใคร เพราะฉะนั้นผมว่าไม่ง่ายเลยที่จะไปหาที่ที่ดีกว่านี้
The MATTER: งานที่มีคนมาแน่นอนแบบนี้น่าจะมีคนจัดไปตั้งนานแล้ว แต่อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้มันไม่เคยเกิดขึ้น
เงินทุนเป็นเรื่องสำคัญ การที่ผมจะสต็อกหนังสือสองล้านเล่มต้องใช้เงินเยอะพอสมควร แต่ถ้าคุณมีเงินทุนขนาดนั้น คุณจะเลือกทำเพื่ออะไร จะเลือกเปลี่ยนแปลงประเทศหรืออย่างอื่น มันก็เป็นทางเลือกของคุณ เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่อยู่ในจิตสำนึกมากกว่า ผมถึงบอกไงว่ามันไม่ใช่โอกาสทางธุรกิจ ผมมองว่ามันเป็นความรับผิดชอบ
The MATTER : ทำไมต้องชื่อ BIG BAD WOLF
มันเป็นตัวแทนของคาแรคเตอร์หนังสือเล่มแรกๆ ที่ใครๆ ก็รู้จักและเติบโตมา ในโลกของหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดๆ ในโลกก็ตาม ‘หนูน้อยหมวกแดง’ ถูกแปลมาทุกภาษาแล้วมั้ง แต่ที่ต้องเป็นตัวร้าย เป็น BIG BAD WOLF ก็เพราะคิดว่าเราจะไปตามล่าเฉพาะคนที่ไม่ยอมอ่านหนังสือนี่แหละ (หัวเราะ)
การที่ผมจะสต็อกหนังสือสองล้านเล่มต้องใช้เงินเยอะพอสมควร แต่ถ้าคุณมีเงินทุนขนาดนั้น คุณจะเลือกทำเพื่ออะไร จะเลือกเปลี่ยนแปลงประเทศหรืออย่างอื่น มันก็เป็นทางเลือกของคุณ
Cover Illustration by Namsai Supavong
งานมหกรรมหนังสือ BIG BAD WOLF Bangkok จัดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 12-24 สิงหาคมนี้ ที่ IMPACT Forum Hall 9 เมืองทองธานี เริ่มตั้งแต่ 10 โมงเช้ายิงยาวถึง 4 ทุ่ม และพิเศษในคืนวันศุกร์จนถึงวันอาทิตย์ที่เปิดขาย 24 ชั่วโมง ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดได้ที่ www.bigbadwolfbooks.com/th/