ส่วนตัวจึงเชื่อว่าหากหนังสารคดีเรื่องใดนำเสนอประเด็นดีๆ ที่เข้าถึงได้ง่าย มันจะสร้าง impact ที่เปลี่ยนแปลงตัวคนหรือสังคมได้ อย่างน้อยที่สุดคือกระตุ้นให้คนได้คิด ให้รู้ว่ามันยังมีประเด็นแบบนี้อยู่ในสังคม มันมีปัญหาแบบนี้อยู่ ทำไมยังไม่ถูกจัดการ คือทุกสังคมมันควรจะมีอะไรมากระตุ้นให้คนสงสัย ซึ่งหนังสารคดีมันถูกทำมาเพื่อให้ทำหน้าที่นี้
ในขณะที่ผู้ชมนับร้อยกำลังจับจ้องไปที่หน้าจอดูซุปเปอร์ฮีโร่โชว์ ‘พลังพิเศษ’ เพื่อปราบปรามเหล่าร้าย ในอีกห้องหนึ่งที่อยู่ติดกัน ผู้ชมอีกจำนวนหนึ่งก็กำลังเสพรับ ‘พลังวิเศษ’ ในอีกรูปแบบ ผ่านการเล่าอย่างง่ายๆ ใช้เพียงความจริงเป็นตัวเดินเรื่อง แต่ให้ผลกระทบเชิงอารมณ์ไม่แพ้การใช้ซีจีสุดอลังการ
Documentary Club ที่ ‘ธิดา ผลิตผลการพิมพ์’ หนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสารภาพยนตร์ Bioscope พยายามปลุกปั้นมาตั้งแต่ปี 2557 ได้เติบเต็มความแปลกใหม่ให้กับวงการหนังไทย ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘หนังสารคดี’ ใครจะไปเชื่อว่า ในยุคที่หนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์ครองเมือง จะยังมีหนังเล็กๆ เล่าถึงแม่บ้านผู้มีงานอดิเรกคือการถ่ายภาพแทรกตัวขึ้นมาได้ แล้วใครจะไปรู้ว่า ในขณะที่ตำนานสุดสยองขวัญถูกขับขาน เรื่องเล่าของอดีตนักร้องชื่อดังที่ชีวิตดับสูญไปก่อนวันอันควร กลับสร้างความสะพรึงในหัวใจมากกว่า
เบื้องหลังตลาดปลาชื่อดังบนเกาะญี่ปุ่นมีอะไรซ่อนอยู่ ทำไมผู้คนถึงอยากรู้นัก
แล้วนั่นเสียงดนตรีของอดีตวงบริตป๊อปชื่อดังแว่บมาแต่ไกลๆ เป็นท่วงทำนองคุ้นหู ที่หลายคนอาจฮัมเพลงตามได้
The MATTER ของเชิญชวนทุกคนมาร่วมเสพเสน่ห์ของสื่อที่เรียกว่า ‘หนังสารคดี’ ว่ามันมีพลังวิเศษอะไรถึงสามารถชนะภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างมากกว่าหลายร้อยหลายพันเท่าได้ แล้วอนาคตของหนังประเภทที่เป็นยาขมสำหรับคนไทยนี้จะเดินต่อไปอย่างไรต่อไป
เวลาคนมองเส้นทางการทำงานของคุณธิดา ตั้งแต่นิตยสาร Cinemag มาจนถึง Bioscope ก็จะคิดว่าโตมากับภาพยนตร์แนวบันเทิง แล้วเหตุใดถึงเพิ่งมาสนใจภาพยนตร์สารคดีเอาตอนนี้
จริงๆ สนใจหนังสารคดีมานานแล้ว มาเริ่มดูตอนรู้จักกับพี่หมู (สุภาพ หริมเทพาธิป ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร Bioscope) ที่ชวนกันไปดูหนังที่เกอเธ่ เอยูเอ ที่ฉายหนังให้ดูเป็นประจำ และบ่อยครั้งก็เป็นหนังสารคดี ส่วนตัวก็ชอบติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่แล้ว หนังสารคดีมันก็เลยตอบสนองความอยากรู้ส่วนตัว เพียงแต่การดูหนังสารคดีสมัยก่อนอาจจะเป็นเรื่องยาก ไม่ว่าจะบนดิน-ใต้ดิน เพราะไม่มีใครทำซับไตเติ้ลให้ กระทั่งภาษาอังกฤษก็ยังไม่มี แต่เราก็พยายามดูทั้งที่ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ดูเพราะรู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้น
ความชอบนี้ก็อยู่ในใจ กระทั่งตอนทำนิตยสาร Bioscope ช่วงปีที่สอง เริ่มมีความคิดกับพี่หมูว่าเราน่าจะทำอะไรเกี่ยวกับหนังสารคดี เพราะมันไม่ค่อยมีหนังสารคดีไทย แล้วตอนนั้นถ้าพูดถึงสารคดี คนก็จะนึกถึงรายการทีวี เช่น คนค้นคน กบนอกกะลา รายการของพาโนรามา ไปจนถึงช่อง Discovery Channel มันเกิดภาพซ้ำๆ แบบนี้ แต่ศาสตร์ในการทำให้สารคดีเป็นภาพยนตร์มันเป็นอีกแบบ เป็นที่มาของโปรเจ็กต์ ‘สารคดีข้างบ้าน’ เราก็ควักเงินของตัวเองมาโปรดิวซ์ ให้คนเสนอเรื่องเข้ามา เน้นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว ทำอยู่ได้ 3-4 ปี พอช่วงหลังงานยุ่งๆ ก็เลยหยุดไป
แต่ความคิดเกี่ยวกับหนังสารคดีมันก็มีมาเรื่อยๆ ยิ่งนิตยสาร Bioscope พยายามนำเสนอความหลากหลายของภาพยนตร์ในด้านต่างๆ ซึ่งหนังสารคดีเรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีพื้นที่ ไม่ค่อยมีทั้งคนทำและคนฉายให้ดู ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราก็เลยคิดที่จะปั้นพื้นที่ให้หนังสารคดีดีๆ จากต่างประเทศได้มาฉายในเมืองไทย เป็นที่มาของ Documentary Club หรือ Doc Club
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ชอบหนังสารคดีคือเรื่องไหน อะไรคือ ‘เสน่ห์’ ของสิ่งที่เรียกว่าหนังสารคดี
มันสะสมมาเรื่อยๆ มากกว่า ตอนเริ่มต้นเราก็มีภาพจำเกี่ยวกับหนังสารคดีเหมือนคนทั่วไป คือน่าเบื่อ เต็มไปด้วยข้อมูล มีแต่คนมาพูดๆๆ นึกถึงแต่การให้ข้อมูล ไม่ได้นึกถึงการให้ความความบันเทิง จนมาเจอหนังสารคดีเรื่องหนึ่งที่ทำให้รู้สึกทึ่ง คือ The War Room (ค.ศ.1993) ที่โดยเรื่องจริงๆ มันหนักมาก ไปติดตามทีมหาเสียงของบิล คลินตัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งตอนแรกเราก็สงสัยว่ามันจะสนุกตรงไหน มันต่างจากข่าวยังไง แต่พูดดูไปก็เห้ย มันมีวิธีเล่าแบบภาพยนตร์ แล้วก็มีฟุตเทจ มีวิธีการตามติดในแบบที่เราไม่มีวันได้เห็นในข่าวหรือสื่ออื่นๆ มันเป็นลักษณะเฉพาะบางอย่าง ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเสน่ห์ หลังจากนั้นก็ได้ดูหนังสารคดีแบบอื่นๆ เช่น หนังสารคดีของแวร์เนอร์ แฮร์โซก ที่บ้าคลั่งมากๆ พาไปเจอคนแปลกประหลาด ในสถานที่อันแปลกประหลาด ก็เป็นวิธีเล่าอีกแบบ ทำให้เราได้ซึมซับการใช้ภาษาภาพยนตร์มาผสมกับเรื่องจริงที่มันน่าทึ่งขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่เป็นจุดแข็งของหนังสารคดี ก็คือ ‘ความจริง’ จะไม่ได้ถูกนำเสนอตรงๆ ทื่อๆ เหมือนข่าว
ใช่ แล้วพอถูกเล่าผ่านความเป็นหนัง มันก็มีความซับซ้อนของประเด็นมากกว่าข่าวที่มักจะถูกกรองมาแล้ว แล้วบางทีหนังมันไม่จำเป็นต้องพูด แค่พาเราไปอยู่ตรงนั้น ทำให้เราได้ข้อเท็จจริงอีกมิติที่ไม่เจอในข่าว มันมีลักษณะเฉพาะที่สื่ออื่นแทนไม่ได้
หนังสารคดีมีความสำคัญต่อสังคมอย่างไร ทำไมถึงต้องมีพื้นที่ให้กับหนังประเภทนี้
อาจจะมองได้ 2 แง่ ถ้ามองภาพกว้าง มันก็คือหนังแบบหนึ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศิลปวัฒนธรรม ที่เราคิดว่าในทุกสังคม สิ่งเหล่านี้ควรจะมีความหลากหลาย เพราะยิ่งประเทศใดมีศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายก็จะยิ่งทำให้คนของประเทศนั้นมีคุณภาพ เพราะมันมีทางเลือกให้คนได้เสพ คิด และสัมผัสชีวิตที่อยู่นอกเหนือจากวิถีชีวิตของตัวเอง ซึ่งประเทศแบบนี้คนจะมีความสุข และมีความเจริญทางปัญญา สิ่งเหล่านี้ทุกสังคมจะต้องมี
ถ้ามองในแง่หนังสารคดีโดยเฉพาะ การที่มันถ่ายทอดความเป็นจริงบางอย่าง โดยใช้วิธีการที่คนเข้าถึงได้ง่าย และหลายๆ เรื่องก็จงใจที่จะเปลี่ยนความคิดหรือทัศนคติของคน ส่วนตัวจึงเชื่อว่าหากหนังสารคดีเรื่องใดนำเสนอประเด็นดีๆ ที่เข้าถึงได้ง่าย มันจะสร้าง impact ที่เปลี่ยนแปลงตัวคนหรือสังคมได้ อย่างน้อยที่สุดคือกระตุ้นให้คนได้คิด ให้รู้ว่ามันยังมีประเด็นแบบนี้อยู่ในสังคม มันมีปัญหาแบบนี้อยู่ ทำไมยังไม่ถูกจัดการ คือทุกสังคมมันควรจะมีอะไรมากระตุ้นให้คนสงสัย ซึ่งหนังสารคดีมันถูกทำมาเพื่อให้ทำหน้าที่นี้
แต่ที่ผ่านมา ในเมืองไทยก็มีสารคดีถูกนำเสนอผ่านรายการโทรทัศน์มากมาย ทำไมมันไม่สร้าง impact ได้เทียบเท่ากับสารคดีที่ฉายในโรงภาพยนตร์
มันก็มี impact ในที่ทางของมัน แต่สารคดีประเภทนั้น พื้นที่หลักของมันคือทีวี ซึ่งก็มีวิธีเล่าแบบทีวี ที่จะต้องเข้าถึงทุกครัวเรือน ดังนั้นความซับซ้อนจะต้องน้อยหน่อย ต้องย่อยให้คนเข้าถึงมากๆ มีพิธีกร มีเสียงบรรยาย มีการสรุปความ มันก็ทำงานในอีกแบบ แล้วจริงๆ ก็มี impact ค่อนข้างเยอะ อย่างรายการสารคดีในทีวีเมืองนอกจำนวนมากก็ทรงอิทธิผล เช่นสารคดีในช่อง PBS ของสหรัฐอเมริกา หรือช่อง BBC ของอังกฤษ เพียงแต่ถ้าเป็นสารคดีฉายในโรงหนัง มันก็จะทำงานอีกแบบ ด้วยลักษณะเฉพาะของมัน เรื่องพื้นที่ เรื่องเวลา ทำให้คนได้ขบคิดในเชิงลุ่มลึกกับประเด็นนั้นๆ
แต่สารคดีบางเรื่องก็ก้ำกึ่งระหว่าง 2 รูปแบบนี้ เช่น หนังสารคดีเรื่อง Where to Invade Next ของไมเคิล มัวร์ มันก็สามารถตัดทำให้เป็นสารคดีทีวี แล้วทำงานกับคนอีกกลุ่มที่ไม่ได้เข้าโรงหนังได้ เพียงแต่ถ้าถูกเล่าคนละสื่อ มันก็ให้ความซับซ้อนได้ไม่เท่ากัน สมมตินำ Where to Invade Next ไปในฉายทีวี ถ้าจะมุ่งไปที่ประเด็นการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ที่คนไทยค่อนข้างอิน ก็ต้องมีพิธีกรมาพูดเกริ่นนำเป็นข้อมูลก่อนว่า ทำไมต้องมาสนใจเรื่องนี้ การศึกษาฟินแลนด์มันดียังไง วิธีเล่าก็ต้องตรงเข้าสู่ประเด็น ทำให้ทุกอย่างมันง่าย แต่ถ้าเป็นหนังสารคดี มันจะมีวิธีการดูที่คนดูค่อยๆ ซึมซับ โดยใช้เวลาอีกว่า 1 ชั่วโมง ถึงจะเข้าใจสิ่งที่หนังต้องการจะพูด แต่ทีวีไม่ได้เอื้อให้เราจดจ่ออยู่กับมันนานขนาดนั้น คือถ้าเป็นสารคดีทีวี เราก็จะได้ข้อมูลว่า อ้อ การศึกษาฟินแลนด์มันดียังไง แต่ถ้าเป็นหนัง เราจะเห็นบรรยากาศการศึกษาการเรียนการสอน ที่เด็กๆ ฟินแลนด์จะมาเล่นกับคุณครู เล่นกับผู้กำกับ ทำให้เราได้เก็ตแมสเซจอีกแบบ
แล้วผิดไหมที่โทรทัศน์ไทยมีละครมากกว่าสารคดี
(หัวเราะ) เราว่าทุกประเทศก็เป็นแบบนี้ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย เป็นเรื่องธรรมดาที่พื้นที่ส่วนใหญ่จะถูกใช้เพื่อให้ความบันเทิงกับคนหมู่มาก ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่ขัดข้อง หรือต่อให้พื้นที่โรงหนังส่วนใหญ่เป็นของหนังจากฮอลลีวูด เราก็ไม่ขัดข้องนะ แต่เราจะขัดข้องถ้าพื้นที่ส่วนใหญ่นั้นหมายถึง 95% ของโรงหนังทั้งหมด แล้วมีอย่างอื่นให้น้อยที่สุด ถ้าหลุดเข้ามาก็รีบๆ เอาออกไปให้เร็วที่สุด
คือเราจะมีวิธีจัดการกับสิ่งที่ mass กับไม่ mass ให้อยู่พร้อมๆ กันได้ไหม แล้ววิธีจัดการมันก็ไม่ควรจะเหมือนกัน เช่น รายการทีวีที่เป็นความรู้ไปจนถึงหนังนอกกระแส มันก็ควรจะอยู่ในพื้นที่ๆ มันไม่ต้องเยอะ แต่ต้องการเวลา ต้องการความต่อเนื่อง เจ้าของพื้นที่ควรจะให้มันได้อยู่นานๆ เพื่อบ่มการรับรู้ของคน แล้วสร้างวัฒนธรรมการดูสิ่งนั้นขึ้นมา ไม่ใช่ปฏิบัติแบบเดียวกันคือถ้าไม่ทำเงินก็ต้องเอาออก ใช้เกณฑ์รายได้เพียงอย่างเดียวมาตัดสิน
มีโอกาสแค่ไหนที่หนังสารคดีจะขยับมาเป็น mass
ไม่น่าจะได้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า หนังมันทำหน้าที่เพื่อความบันเทิงชั่วครู่ชั่วยาม มันทำสิ่งนั้นก็ถูกแล้ว เราทำงานเหนื่อยมาทั้งวันก็อยากดูอะไรที่มันหลุดโลกสัก 2 ชั่วโมง ไม่ได้ว่าเข้าโรงแล้วไปเจอแต่ความซีเรียส หรือทุกอย่างถูกปฏิบัติแบบจริงจังไปหมด มันก็คงจะไม่ใช่
ที่บอกว่าจะขัดข้องถ้าหนังฮอลลีวูดมีพื้นที่ถึง 95% ถ้าเช่นนั้น หนังสารคดีควรจะมีพื้นที่สักกี่ % ถึงจะเหมาะสม
สถานการณ์ตอนนี้ มันกลายเป็นว่า หนังฮอลลีวูดกับหนังอื่นๆ ทุกประเภท มีสัดส่วนในโรง ไม่ 90 : 10 ก็ 95 : 5 กลายเป็นว่าทั้งหนังสารคดี หนังนอกกระแส หนังฮอลลีวูดฟอร์มเล็ก หรือหนังไทยที่ไม่น่าจะทำเงินต่างเบียดมาอยู่ในพื้นที่เล็กๆ นี้ เพราะถ้าเอาไปเทียบกับประเทศอื่นๆ ขอยกตัวอย่างแบบสุดขั้วเลย อย่างฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการรักษาวัฒนธรรมอันหลากหลายมาก สมมติมีโรงหนังหนึ่ง มีสัก 5 จอ 2 จอจะถูกกันไว้ให้กับหนังใหญ่ๆ แต่อีก 3 จอจะต้องเป็นหนังอื่นๆ และต้องเป็นหนังฝรั่งเศส นี่คือวิธีคิดที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า agenda คืออะไร ต่างกับโรงหนังของไทย ที่มี agenda เดียว คือลงทุนแล้วต้องคุ้ม ซึ่งมันก็ถูกในแง่ของธุรกิจ แต่มันไม่ควรถูกยึดเป็นแผนแม่บทอันเดียว
คือเราคิดว่าไม่ต้องถึง 50 : 50 หรอก แค่สัก 80 : 20 ก็พอ ไม่ต้องเยอะ แต่หาโมเดลที่เหมาะสม ไม่จำเป็นว่าพอหนังสารคดีเข้าแล้วจะต้องไปฉาย 500 จอทั่วประเทศ แต่ถ้ามันมีคนสนใจก็ควรจะมีโมเดลที่เหมาะกับมัน เช่น สัปดาห์แรกฉายใน กทม.และจังหวัดใหญ่ๆ ก่อน ถ้าพื้นที่อื่นๆ สนใจก็ค่อยขยายไปทางนั้น แล้วไม่จำเป็นว่าวันหนึ่งต้องฉายหลายรอบ เพียงแต่ให้อยู่ในรอบที่คนเข้ามาดูได้ ไม่ใช่เช้าเกินไปหรือดึกเกินไป
นับแต่เริ่มทำ Doc Club มาในปี 2557 ถือว่าประสบความสำเร็จในการเติมความหลากหลายเข้าไปในตลาดหนังไทยแค่ไหน
ก็อยากจะเคลมว่าได้เยอะขึ้น ซึ่งมันก็น่ายินดีพอสมควร แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องที่ Doc Club นำเข้ามาฉาย แล้วคนจะไปดู เพราะบางเรื่องก็ไม่มีคนดูเหมือนกัน เพียงแต่ถ้าเทียบกับช่วงเริ่มต้น มันไม่ได้ยากเหมือนตอนนั้น จึงพออนุมานได้ว่า คนดูจำนวนหนึ่งเก็ตว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ แล้วกิจกรรมการดูหนังสารคดีมันก็ค่อยๆ ขยายตัวออกไป เช่น ร้านเหล้า I Hate Pigeons ก็นำหนังสารคดีของเราไปฉาย ซึ่งคนก็ถามว่าจะเข้ากันได้เหรอ แต่ปรากฏว่าคนดูเต็มทุกรอบ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ฉายฟรี แต่ใช้การขายบัตร เรื่องแบบนี้ถ้าย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน เราคงจะนึกภาพไม่ออกแน่ๆ หรือบางแกลเลอรี่ก็นำหนังสารคดีไปฉายแล้วมีเบาะให้คนนอนดู สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราคิดว่ามันก็น่าสนใจ
เคยวิเคราะห์ไหมว่าเป็นเพราะเราไปสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา หรือเพราะตลาดต้องการจะดูภาพยนตร์แนวอื่นๆ นอกจากบันเทิงอยู่แล้ว
เชื่อว่าคนดูส่วนหนึ่งต้องการอยู่แล้ว คือคนดูหนังของ Doc Club จำนวนหนึ่งก็เป็นคนที่ดูหนังหลากหลาย มีใจเปิดรับอยู่แล้ว แต่ก็มีคนใหม่ๆ เข้ามาบอกเราอยู่เรื่อยๆ ว่าเขาไม่เคยดูหนังสารคดีมาก่อน หนังที่เราเอามาฉายมันเปลี่ยนวิธีการดูหนังของเขา เหมือนเราช่วยสร้างทางเลือกใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งมันอาจจะมาในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนพอดี มีคนทักว่าหนังของ Doc Club เหมาะกับฮิปสเตอร์ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าหมายถึงใคร แต่คนทุกรุ่นมันก็ต้องการอะไรที่แตกต่าง แล้วช่วงนี้เป็นช่วงที่คนกระหาย content ที่จริงจังมาระดับหนึ่ง แต่ยังเป็นมิตรอยู่ เหมือนที่คนมาอ่านข่าวจากเพจ The MATTER ที่อาจจะมีทั้งคนที่แชร์เฉยๆ หรืออ่านอย่างจริงจัง เพราะมันช่วยเปิดโลกทัศน์ของเขา
แปลว่าโมเดลที่เราทำอยู่ ถ้านำไปทำเมื่อสัก 10 ปีก่อน ความตื่นตัวในการดูหนังสารคดีอาจจะไม่เกิดขึ้น
ไม่แน่ใจ แต่อย่าลืมว่า 15 ปีก่อนก็มีนิตยสารอย่าง Bioscope หรือ a day เกิดขึ้นมา แม้จะเป็นนิตยสารที่ไม่ถึงขั้นซีเรียสมาก แต่ก็ไม่ได้พูดสิ่งที่หาอ่านได้จากนิตยสารทั่วๆ ไป คิดว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเป็นช่วงๆ สำหรับคนแต่ละรุ่น คนที่โตมากับ Bioscope กับคนที่โตมากับเพจ The MATTER จะเป็นคนละกลุ่มกันแล้ว แต่อาจจะมีลักษณะร่วมกันบางอย่าง คือเราเชื่อว่าเมื่อสังคมเดินไปถึงจุดหนึ่ง ก็จะมีกลุ่มคนที่ต้องการ content ที่มันแตกต่าง ไม่ mass มาก แต่ทำให้รู้อะไรมากขึ้น
อีกปัจจัยที่ทำให้คนตื่นตัวดูหนังสารคดีมากขึ้น คือตัวหนังสารคดีเองที่เริ่มปรับตัว คือก็ยังทำเรื่องจริงจังอยู่ แต่เริ่มหาวิธีสื่อสารกับคน ทำให้หลายๆ คนเริ่มรู้สึกว่าหนังสารคดีไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
การจะทำให้วัฒนธรรมการดูหนังสารคดีของคนไทยแข็งแรง มีแค่ Doc Club เพียงเจ้าเดียว เพียงพอหรือไม่
ถ้ามีเจ้าเดียวมันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะมันก็มีแค่แนวทางเดียวและนำเข้ามาได้เพียงปริมาณหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ได้ประโยชน์จริงๆ ถ้าจะมีคนอื่นมาทำก็ควรจะทำในรูปแบบอื่นๆ ด้วย เช่น มีทีวีช่องหนึ่งโปรดิวซ์สารคดีอย่างจริงจัง ที่สามารถออกทั้งทีวีและฉายโรงได้ คือสร้างโมเดลของตัวเองขึ้นมาในอีกแบบหนึ่ง มันต้องมีหลายๆ โมเดลแบบนี้ถึงจะแข็งแรง แต่การมีคู่แข่งมาเบียดกันในพื้นที่ที่มีจำกัดอยู่แล้ว อันนี้ไม่แน่ใจว่าจะเป็นผลดีหรือเปล่า คือมันอาจจะดีตรงมีทางเลือกมากขึ้น แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นคำตอบในทางธุรกิจหรือเปล่า
มองอนาคตการดูหนังสารคดีของประเทศไทยไว้อย่างไร
มันก็เป็นทิศทางบวก เอาแค่ Doc Club ก่อน ก็เข้ากับกับโรงหนังมากขึ้น เขาก็ให้โอกาสเรามากขึ้น แม้จะไม่เร็วเท่าที่เราอยากจะให้เป็น แต่ตอนนี้ก็เริ่มจะมองเห็นกลุ่มคนดูหนังสารคดีได้ชัดเจนขึ้น ทำให้เริ่มมีคนกลุ่มต่างๆ พยายามดึงเราเข้าไปช่วยจัดฉายหนังสารคดีในที่ต่างๆ ซึ่งภายในปี 2560 น่าจะเริ่มเห็นชัดว่าเราจะไปทำอะไรบ้าง แต่เบื้องต้นยังอยู่ระหว่างการพูดคุย
เท่าที่ติดตามดูหนังสารคดีทั้งของไทยและของโลกมายาวนาน เห็นพัฒนาการอะไรบ้าง
หนังสารคดีตอนนี้มันมาถึงจุดที่ทลายกรอบหลายอย่างตามยุคสมัยของมัน เช่น หนังสารคดีสมัยก่อนจะมีคนขั้วหนึ่งพยายามนิยามว่าจะต้องเป็นกลางที่สุด คือถ่ายโดย subject ไม่รู้ตัวเลย ต้องซ่อนกล้องให้เนียนที่สุด ทำตัวเป็น fly on the wall (แมลงวันบนกำแพง) ไม่ไปก่อกวนชีวิตเขา แต่ก็มีคนอีกขั้วหนึ่งก็มองว่าความจริงมันซ่อนอยู่ แล้วคนก็มองไม่เห็นมันหรอก กระทั่งตัว subject เอง เราต้องไปกระตุ้นหรือสร้างสถานการณ์ให้ความจริงนี้มันโผล่ออกมา
แต่กรอบที่ว่า คนทำหนังสารคดีต้องเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง พอถึงจุดหนึ่งมันก็ถูกทลาย เช่นหนังสารคดีของไมเคิล มัวร์ ก็มีคนทำหนังสารคดีด้วยกันด่ามาก เพราะชัดเจนว่าต้องการจะพูดอะไร แล้วมี agenda เยอะ แต่ก็มีคนดูจำนวนมหาศาล แล้วตัวไมเคิล มัวร์เองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาแทนตัวเองเป็นคนดู ถ้าเขาไม่ไปเข้าถึงคน ทำประเด็นให้มันเข้าใจง่ายๆ หนังสารคดีก็จะไม่มีคนดู ก็มีวิธีการที่ทำให้หนังสารคดีมันป๊อปขึ้นมา หรือหนังสารคดีอย่าง The Act of Killing ของโจชัว ออพเพ่นไฮเมอร์ ที่ไปหลอก subject แล้วก็ตลบหลังด่าเขาอีกที หนังเรื่องนี้ก็ถูกด่าเยอะเรื่องจริยธรรม แต่ก็มีคนบอกว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้แล้วจะได้ชุดความจริงเหรอ จะได้หนังที่เปิดเผยตัวตนอันน่ากลัวของฆาตกรเหรอ
ไม่รวมถึงว่ามีหนัง hybrid ที่จะไม่รู้จะนิยามตัวเองว่าเป็นสารคดีได้ไหม หรือบางเรื่องก็ไม่มีฟุตเทจอะไรที่มันจริงเลย มันจึงมาถึงจุดที่ท้าทายว่าที่สุดแล้วแม้แต่คำว่า ‘หนังสารคดี’ ก็อาจจะถูกลบทิ้ง เพราะเรากำลังทำสื่ออย่างหนึ่งที่กำลังบันทึกความจริงบางอย่าง ที่ไม่ใช่ fiction ที่แปลว่าเป็นเรื่องแต่งทั้งหมด
เคยเจอหนังสารคดีที่มีแต่เปลือก มีแต่เทคนิค แต่ content จริงๆ ไม่มีอะไรเลยไหม
(คิดนาน) ไม่แน่ใจ เพราะถ้าเราเปิดมาแล้วไม่ชอบก็จะไม่ดูต่อเลย
เทรนด์การทำหนังสารคดีของโลกเป็นอย่างไร ก้าวหน้าขึ้น หรือก็ยังเป็นแค่ ‘ลูกเมียน้อย’ เหมือนเดิมอยู่
ก็มีคนทำเยอะขึ้น แต่ก็ยังเป็นลูกเมียน้อยในทางธุรกิจ คือหนังสารคดีจำนวนมากไม่ได้อยู่ในวิถีธุรกิจปกติ มันจะมีผู้กำกับไม่กี่คนหรอกที่จะสามารถทำหนังเข้าโรงฉาย ได้เงิน กำไร รวย ส่วนใหญ่จะอยู่ในแวดวงที่ไม่ค่อยกว้าง คือได้ทุนจากทีวี ทำเสร็จเข้าโรงพอเป็นพิธี ได้รางวัลก็นำกลับไปฉายทีวี ส่วนใหญ่มันก็เดินอยู่ในสายเดียวกับหนังนอกกระแสทั่วๆ ไป เพราะการทำหนังสารคดีมันต้องการ passion ทั้งการขุดคุ้ยหรือเข้าไปขลุกในพื้นที่
ส่วนตัวมองว่าคนทำหนังสารคดีมีมากขึ้น เพราะ 1. เทคโนโลยีมันยืดหยุ่น มีกล้องตัวเดียวก็เข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นปีๆ ได้แล้ว ไม่ต้องใช้ทีมงานเยอะ 2. พอเทคโนโลยีมันเอื้อ วิธีการทำหนังมันง่ายขึ้น ก็กระตุ้นให้คนจำนวนหนึ่งที่สนใจความเป็นไปของโลกกระโดดเข้ามาหนังสารคดี เพราะเขาสามารถเสนอสิ่งที่เขาคิดว่ามันสำคัญในเวลารวดเร็ว เช่น สงครามซีเรีย ถ้าเป็นสมัยก่อนสงครามเวียดนาม กว่าจะได้ดูหนังสารคดีก็ต้องรอไปหลายปี แต่ถึงวันนี้ไม่ถึงปีก็ได้ดูแล้ว และ 3. พออินเทอร์เน็ตมันโตขึ้น คนก็หาหนังสารคดีดีๆ มาดูได้ง่ายขึ้น
ด้วยเหตุผลข้างต้น พอมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจ ก็มีคนไปทำหนังสารคดีมาตอบสนอง เช่นเรื่อง Cartel Land ที่อยู่ดีๆ ผู้กำกับก็ถือกล้องไปบ้าบออยู่ในประเทศเม็กซิโก ต้องวิ่งหนีลูกปืนอุตลุด เพื่อถ่ายทำการทำงานของขบวนการค้ายาเสพติด
สำหรับประเทศไทย สถานะของผู้กำกับสารคดีเป็นอย่างไร
ก็มีอยู่ แต่น้อยมากๆ ถ้าเป็นสารคดีในทีวีอาจจะมีอยู่บ้าง เช่น Doc Club ทำรายการ ‘กลางเมือง’ ให้กับช่องไทยพีบีเอส ก็มีผู้กำกับสารคดีนับสิบคนหมุนเวียนมาทำสารคดีเกี่ยวกับผลกระทบการเติบโตของเมืองให้รายการ แต่พอจะข้ามไปสู่สารคดีที่มีเส้นทางอีกแบบอย่าง feature คือได้เข้าฉายในโรง มันจะยากแล้ว เพราะแทบไม่มีปัจจัยอะไรจะเกื้อหนุนเลย ใครจะมาลงทุน ทำเสร็จจะฉายยังไง ฉายแล้วจะมีคนดูไหม มันไม่มีอะไรที่เป็นแรงผลักดันให้คนกระโดดมาเริ่มอาชีพคนทำหนังสารคดีเลย สุดท้ายมันก็เหลือคนที่ยังพอมี passion และทำผลงานได้ดีอยู่แค่ไม่กี่คน
ผู้กำกับหนังสารคดีไทยมีน้อย เพราะไม่มีเส้นทางที่จะทำเป็นอาชีพอย่างจริงจังได้
มันไม่มีโมเดลธุรกิจรองรับ ไม่สามารถทำเป็นอาชีพได้ คนก็เลยไม่ดิ้นรนที่จะเข้ามาสู่วงการนี้ เพราะมองไม่เห็นโอกาส คนที่มีอยู่ก็ขาดแรงกระตุ้นในการพัฒนาฝีมือ เอาจริงๆ Doc Club ก็เคยคิดที่จะเอาหนังสารคดีไทยที่เราเห็นว่ามีศักยภาพมาฉาย ซึ่งเราก็เชื่อว่ามีคนดูแน่นอน… เพียงแต่ว่าหนังอยู่ไหนล่ะ
คือจริงๆ โมเดลธุรกิจการทำหนังสารคดีจะเริ่มจากทีวีก่อน อย่างตลาดขายหนังสารคดีทั่วโลก 70-80% จะมาจากทีวี เอารายการมาขาย แล้วก็มีคนซื้อ แล้วในทีวีช่องใหญ่ๆ ของโลกก็มีสารคดีที่เล่าแบบภาพยนตร์ เพราะเขาต้องการความหลากหลายของ content ไม่ว่าจะช่อง BBC ช่อง HBO ไปจนถึง Netflix ที่โปรดิวซ์สารคดีมาเยอะแยะ แล้วช่วงนี้ก็เป็นช่วงบูมของหนังสารคดีด้วย จนเขาคาดหมายกันว่า ในการชิงรางวัลออสการ์ของปีหน้า จะมีหนังสารคดีที่มาจากทีวีช่องต่างๆ หรือ Netflix เกินครึ่ง เพราะแพลตฟอร์มพวกนี้กำลังมาแรง แต่บ้านเรามันไม่มี จะทำสารคดีไปฉายทีวี ต้องไปหาใครล่ะ แค่จะเอาสารคดีจากต่างประเทศไปขายสิทธิ์กับทีวีบางช่อง เขายังนึกไม่ออกเลยว่าทำไมต้องซื้อหนังสารคดีในราคาเท่านี้
ถ้าจะผลิตคนทำหนังสารคดีไทยให้มากขึ้นควรจะเริ่มตรงจุดไหน
ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เคยมีแหล่งทุนให้กับหนังสารคดีอยู่บ้าน แต่มันไม่ใช่แหล่งทุนที่จะให้เป็นประจำ จะให้เป็นรายประเด็นมากกว่า ต่างกับเมืองนอกที่องค์กรต่างๆ หากเห็นประโยชน์ของหนังสารคดีก็จะมาช่วยกันให้ทุน ลองไปดูหนังสารคดีของโจชัว ออพเพ่นไฮเมอร์ ช่วง end credit จะเห็นว่ามีองค์กรต่างๆ สนับสนุนเป็นสิบ
แต่สำหรับบ้านเรา ภาพแบบนี้มันยังไม่เกิด ซึ่งถ้าไม่มีองค์กรไหนสนใจ สุดท้ายเราก็คงต้องลงทุนเอง ซึ่งส่วนตัวก็คิดว่าถ้ามันไม่มีใครทำ ก็น่าทำ แต่เราต้องเป็นคนตบตีให้หนังมันเกิด เพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่าง ว่ามันควรจะมีหนังสารคดีไทยที่พอเข้าโรงแล้วคนอยากจะเข้าไปดู
แปลว่า Doc Club กำลังจะโปรดิวซ์หนังสารคดีเอง
มันเป็นเรื่องที่อยู่ในใจอยู่แล้ว ตั้งแต่ทำโครงการ ‘สารคดีข้างบ้าน’ สมัยอยู่นิตยสาร Bioscope ตอนนั้นเราก็เริ่มตั้งแต่คัดเลือกเรื่องที่มีคนส่งเข้ามา จัดเวิร์กช็อปเล็กๆ แล้วก็มีระบบพี่เลี้ยง ซึ่งท้ายสุดก็ทำให้ได้หนังสารคดีดีๆ หลายเรื่อง พอส่งประกวดก็ได้รางวัลจากมูลนิธิหนังไทยหลายปีติดๆ กัน พอมาทำ Doc Club ก็อยากจะโปรดิวซ์หนังสารคดีสัก 1-2 เรื่อง แล้วถ้ามีโอกาสได้ทำต่อเนื่องก็ยิ่งดี
เรื่องแรกก็อาจจะใช้วิธีการเดิน คือคัดเลือกเรื่องจากที่คนส่งเข้ามา แล้วเราก็คอยเป็นพี่เลี้ยง แต่อีกเรื่องจะทำจากประเด็นที่เราอยากให้เกิดขึ้น คือหนังสารคดีที่พูดเรื่องการศึกษาของไทย ที่เป็นปัญหาของทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศนี้ แต่ยังไม่ได้คิดกระบวนการชัดๆ แค่คิดไว้ว่าอยากจะเล่าเรื่องนี้ ในวิธีการที่น่าจะทำให้มีคนจำนวนหนึ่งอยากดู
หลายคนอาจไม่รู้ว่าคุณธิดาถอนตัวจากการเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร Bioscope มาได้พักใหญ่แล้ว อะไรคือสาเหตุ
เราค่อยๆ ถอยออกมาตั้งแต่เริ่มทำ Doc Club เมื่อปี 2557 เพราะมันเป็นปีที่นิตยสาร Bioscope ไปอยู่ภายใต้เครือโมโนด้วย ในแง่หนึ่งก็รู้สึกสบายใจ เพราะถ้าเรายังเป็นเจ้าของก็อาจตัดสินใจเลิกไปแล้วก็ได้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่พอไปอยู่กับเครือโมโนก็ผ่อนคลายขึ้น ความรู้สึกว่าต้องทำให้รอดก็หายไป ไม่ต้องแบกรับความกังวล
อีกปัจจัยก็เป็นเรื่องของจังหวะ คือเราทำสิ่งนี้มายาวนาน อยู่กับนิตยสาร Cinemag มา 6 ปี ไปทำกับแกรมมี่ช่วงสั้นๆ ปีหนึ่ง แล้วมาทำนิตยสาร Bioscope อีก 15 ปี รวมเวลาในการทำนิตยสารทั้งหมด 22 ปี พอมันอยู่ในภาวะนิ่งๆ เราก็มีสติไปคิดอย่างอื่น จากที่สมัยก่อนคิดแต่ content ของนิตยสารอย่างเดียว ประกอบกับมีกองบรรณาธิการที่ทำงานได้ดี ทำให้รู้สึกว่าควรจะไปทำอย่างอื่นได้แล้ว ก็เลยค่อยๆ ถอยมา ตอนนี้ก็เลยเป็นแค่ที่ปรึกษา
แล้วอนาคตของนิตยสาร Bioscope จะเป็นอย่างไรต่อไป
จริงๆ ต้องไปถามเค้า แต่เอาเท่าที่เคยคุยกันภายในกองบรรณาธิการ คือเราไม่ควรจะคิดว่าเราเป็นคนทำสื่อแบบไหน เพราะอาชีพของทุกคนจริงๆ คือเป็นคนทำ content ที่ควรจะไปอยู่กับสื่อไหนก็ได้ แต่เนื่องจาก Bioscope มีนิตยสารเป็น core business ทำให้เกิดความเคยชินว่าเป็นนิตยสาร ก็จะพยายามจะบอกกับคนในกองอยู่เรื่อยๆ ว่า เราไม่ใช่แค่นิตยสารนะ ต่อให้วันหนึ่งนิตยสารล้มหายตายจาก แต่วิธีคิดในการทำ content แบบ Bioscope ต้องยังอยู่ ไปอยู่ในอีเวนต์ไหม ไปอยู่ในออนไลน์หรือเปล่า ตอนนี้เขาก็พยายามจะเป็นอย่างนั้น แต่ไม่แน่ใจว่าจังหวะก้าวจะเป็นยังไง
ระยะใกล้ก็คงมีการปรับตัว จากวางแผงรายเดือนมาเป็นราย 2 เดือน ด้วยเหตุผลเรื่องตลาดแม็กกาซีน กับด้วยเหตุผลเรื่องการกลับมาทบทวนจุดแข็งของตัวเอง ถ้ายังอยากทำสิ่งพิมพ์อยู่ก็ลดความถี่ลง แล้วทำสิ่งพิมพ์ที่คนเห็นว่าน่าเก็บ ไม่ใช่มาเปิดพลิกๆ ดูแล้วบอกว่าเล่มนี้ไม่เห็นมีอะไร รวมทั้งต้องปรับตัวให้ไปอยู่ตรงอื่นให้ได้ ให้พยายามนึกภาพว่าตัวเองเป็น content provider ไม่ใช่แค่คนทำนิตยสาร
เหมือนไม่ได้พูดถึงแค่ชะตากรรมของนิตยสาร Bioscope เพียงอย่างเดียว แต่พูดถึงวงการนิตยสารไทยทั้งวงการ
เราคิดว่าควรจะเป็นอย่างนั้นนะ อย่างเครือบันลือกรุ๊ป (เจ้าของสำนักพิมพ์ Salmonbooks รวมถึง The MATTER) ก็เข้าใจประเด็นนี้ คือไม่คิดแค่ว่าฉันเป็นคนอะไร แต่เป็นคนทำ content ที่สามารถพลิกแพลงได้ ซึ่งมันสำคัญ
เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่ยังอยู่ในวงการสื่อทุกชนิดก็คือคนทำ content เพราะรูปแบบของสื่อมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ สมัยเริ่มทำแม็กกาซีนใหม่ๆ ใครจะจินตนาการออกว่าทุกวันนี้ ทุกคนจะมาอ่านเฟซบุ๊ก
หรือกระทั่งตอนมีเฟซบุ๊กใหม่ๆ ใครจะนึกว่าเพจอย่าง The MATTER จะเกิดขึ้นมาได้ หรือใครจะอ่านข่าวที่ยาวเกิน 10 บรรทัดบนเฟซบุ๊ก ซึ่งสมัยก่อนอาจไม่มีคนอ่าน แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว
บทสัมภาษณ์ โดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์