หลังรู้ว่างานหนังสือย้ายไปจัดที่ใหม่ก็สองจิตสองใจ จะไปดีไหม แต่พอเห็นหนังสือเล่มใหม่เท่านั้นแหละเป็นต้องใจสั่น อยากได้มาไว้ในครอบครอง แม้ที่ดองอยู่ที่บ้านแทบจะสูงกว่าเทือกเขาเอเวอเรสต์ไปแล้ว
มันห้ามใจยากจริงๆ เวลางานหนังสือเวียนมาแต่ละที เอาไง? ไป ไม่ไป ยิ่งย้ายไปจัดที่อิมแพ็ค เมืองทองธานีแล้วด้วย… สำหรับใครที่ยังตัดสินใจไม่ได้ The MATTER ไปให้สำนักพิมพ์ต่างๆ แนะนำว่างานหนังสือปีนี้มีเล่มไหนน่าโดนบ้าง บอกเลยว่าหนังสือใหม่เพียบ ปกสวยๆ ก็เยอะ
งานจัดตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2562 บริหารเงินดีๆ ล่ะ เพราะนี่เพิ่งต้นเดือน
Library House
บอด (Ensaio sobre a cegueira)
เขียนโดย ฌูเซ่ ซารามากู / แปลโดย กอบชลี
ถ้าคุณชอบอ่านนิยายที่เปิดพื้นที่ให้สร้างจินตนาการได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เราแนะนำเรื่องนี้ เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าสถานที่ ผู้คน ในสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าคือที่ไหน ใครเป็นใคร คุณจะรู้แต่ว่าทุกคนที่นี่ตาบอด และเป็นอาการตาบอดที่ติดต่อต่อกันอย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ แล้วชะตากรรมอัปยศและวินาศสันตะโรของเหล่าคนตาบอดก็จะพาให้คุณไปพบกับความตื่นเต้น ความหวาดกลัว (จะว่าไปก็นับรวมความสนุกด้วย) ซึ่งมีอยู่แทบทุกหน้า โดยที่รูปแบบของตัวนวนิยายซึ่งเขียนด้วยประโยคยืดยาวติดต่อกันก็ไม่ใคร่อนุญาตให้คุณได้หายใจหายคอ เว้นวรรคจากความลุ้นระทึกในหลายฉากที่ดูเกินเหตุไปมาก (หากชีวิตจริงคุณอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์)
เบื้องแรก บอด คือนวนิยายอ่านสนุก เหมือนดูหนังทริลเลอร์ คุณอาจคิดว่าตัวเองเป็นคนดูที่กำลังชมมหรสพชีวิตมนุษย์ แต่สุดท้าย เรื่องเล่ามีเล่ห์เล่มนี้จะทำให้คุณกลายเป็นตัวละครตัวหนึ่งในตอนจบ และชวนตั้งคำถามต่อไปว่า เมืองไหนและใครที่บอดแต่ไม่ใบ้ ซึ่งกำลังรายรอบตัวคุณอยู่บ้าง
ในโลกอันแปรปรวน: บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์ (Die Welt im Rücken)
เขียนโดย โทมัส เม็ลเล / แปลโดย อัญชลี โตพึ่งพงศ์
หนังสือเล่มนี้กระเดียดไปทางหมวดบันเทิงคดีมากกว่าที่จะตัดสินว่าคือนวนิยาย มันแต่งขึ้นมาจากเรื่องจริงของคนที่กำลังเผชิญกับโรคไบโพลาร์ ความเจ็บไข้ได้ป่วยชนิดหนึ่งที่ไม่มีแผลให้คนภายนอกมองเห็น คนป่วยไม่สามารถชี้พิกัด ชั่ง ตวง วัดได้ว่า จุดบอดหรือปมปัญหาของตนมีขนาดใหญ่น้อยแค่ไหน ดังนั้น การไล่เรียงสภาวะอาการที่เป็นอยู่ออกมาในรูปแบบวรรณกรรมจึงเหมือนการสร้างเครื่องมือเพื่อสื่อสารให้คนอื่นได้เข้าใจ หรืออย่างน้อยก็เป็นพื้นที่เยียวยาตัวเองให้ห้วงเวลาเจ็บปวดภายในมีโอกาสทุเลาเบาบางในโลกอันแปรปรวน ไม่ต่างจากคู่มือทำความเข้าใจผู้ป่วย หรือคู่มือปลอบประโลมให้ผู้ป่วยประคับประคองตัวได้ในกระแสธารที่เชี่ยวกราก ด้วยสำนวนภาษาตรงไปตรงมา บอกเล่าความจริง ซื่อตรงกับความรู้สึกของคนที่อยู่ในวังวนนี้ หนังสือเล่มนี้จึงน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับคนที่ต้องการสื่อสารกับผู้คนที่อยู่ในโลกอันแปรปรวนเหมือนกัน
เริงโลกีย์ที่ปราก (The Prague Orgy)
เขียนโดย ฟิลิป ร็อท / แปลโดย บัญชา สุวรรณานนท์
นวนิยายขนาดสั้นเล่มนี้ไม่ใช่หนังสืออีโรติกวาบหวาม แม้ว่าชื่อเรื่องกับถ้อยคำที่ใช้ในบางฉากบางตอนจะชวนเสียวท้องและหายใจติดขัด แต่มันคือหนังสือวิพากษ์การเมืองการปกครองแบบเผด็จการ ที่นักเขียนเลือกใช้ความเปรียบเชิงสังวาสเพื่อสื่อสารกับคุณ คุณอาจอ่านแล้วเห็นภาพนักเขียนชาวอเมริกันเดินทางมากรุงปราก เพื่อตามหาต้นฉบับที่น่าจะทำเงินได้มหาศาล คุณอาจอ่านแล้วเห็นภาพหญิงชายเฟิล์ตกันโดยมีฉากหลังเป็นบรรยากาศแบบวินเทจๆ แต่นั่นคือภาพที่นักเขียนตีลายเส้นไว้ให้บนระดับพื้นผิว ใครอ่านได้ภาพนี้ ชวนลองอ่านพินิจอีกสักหน่อย และคุยกับบทความท้ายเล่มโดยอุทิศ เหมะมูล อีกสักน้อย คุณอาจจะเห็นภาพขนาดใหญ่ที่ลึกซึ้งขึ้น และตระหนักได้ว่าหนังสือเล่มบางแค่ราวหนึ่งร้อยหน้าเล่มนี้ คือหนังสือที่ควรวางอยู่คู่ 1984 และ Animal Farm ในบ้านคุณ
Salmon Books
สถานการณ์ยังเป็นปกติ
เขียนโดย สมุด ทีทรรศน์
ผลงานของคุณสมุด ทีทรรศน์ นักเขียนวรรณกรรมที่มีลีลาการเล่าเรื่องแบบเด็ดขาด ผสมผสานบรรยากาศของอนาคต กับฉากและเหตุการณ์ของปัจจุบันเข้าไว้ได้อย่างเรียบเนียน หากใครชื่นชอบงานแนวดิสโทเปีย งานแนวเหนือจริงหน่อยๆ หรือชื่นชอบพวกซีรีส์ Black Mirror ไม่อยากให้พลาดเล่มนี้
YOU SADLY SMILE IN THE PROFILE PICTURE
เขียนโดย ธนชาติ ศิริภัทราชัย
ผลงานเล่มใหม่ของธนชาติ ศิริภัทราชัย ที่หากดูจากชื่อหนังสืออาจคิดว่าเป็นงานเศร้าๆ โรแมนติกหรือเปล่า ขอบอกเลยครับว่าความเศร้านั้นมีบ้าง แต่ความยียวนกวนบาทาในแบบที่ธนชาติเคยฝากเอาไว้ใน NEW YORK 1ST TIME นิวยอร์กตอนแรกๆ ยังมีอยู่ครบถ้วน เอาง่ายๆ ว่าพอเป็นเรื่องแต่งแล้ว ธนชาติใส่ความทีเล่นทีจริง ตลกหน้าตาย หรือปั่นประสาทพวกเราให้กรามค้างได้ง่ายมากกว่าเดิม ใครที่อยากอ่านอะไรบันเทิง อยากขำให้เสียงดังๆ น่าจะมีหนังสือเล่มนี้ไว้ติดมือ
Bookscape
วาระสุดท้าย: คู่มือสบตาความตายอย่างอบอุ่นและซื่อตรง (Advice for Future Corpses (and Those Who Love Them))
เขียนโดย แซลลี ทิสเดล / แปลโดย ดลพร รุจิรวงศ์
ขอตั้งชื่อเล่นให้เล่มนี้ว่า ‘คู่มือการตายสามัญประจำบ้าน’ หนังสือที่ชวนเราหันมา ‘สบตา’ ความตายที่ใครหลายคนมักเบือนหน้าหนี พร้อมด้วยข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีเตรียมกาย-เตรียมใจรับความตายของตัวเองและคนที่เรารัก สอดแทรกเกร็ดความรู้สนุกๆ อย่างเช่นสารพัดวิธีจัดการศพ (ใครจะไปคิดว่าเรานำอัฐิคนรักไปทำเป็นดินสอได้ด้วย!) ทั้งยังสะท้อนแง่งามและชวนให้เราหันกลับมาทบทวนความหมายของชีวิต
เศรษฐศาสตร์: ประวัติศาสตร์มีชีวิตของพัฒนาการความคิดเศรษฐศาสตร์ (A Little History of Economics)
เขียนโดย ไนล์ คิชเทนี / แปลโดย ฐณฐ จินดานนท์
เล่มใหม่ในชุด Little Histories ที่ชวนเราทำความเข้าใจพัฒนาการความคิดทางเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกไปกับเหล่านักคิดรอบโลก ผู้ตั้งคำถามและหาทางรับมือกับปัญหาและอุปสรรคต่อความอยู่ดีมีสุขของสังคมในแต่ละยุคสมัย การเล่าเรื่องทำได้อย่างสนุกสนาน เข้าใจง่าย และสอดแทรกเกร็ดที่อ่านแล้วต้องอมยิ้มตาม หากใครเคยคิดว่าไม่มีวันที่ตำราเศรษฐศาสตร์จะอ่านสนุก เราขอท้าลองด้วยหนังสือเล่มนี้!
โบราณคดี: ประวัติศาสตร์การขุดค้นอดีตกาลแห่งมวลมนุษย์ (A Little History of Archaeology)
เขียนโดย ไบรอัน ฟาแกน / แปลโดย พจนก กาญจนจันทร
เมื่อเอ่ยถึง ‘โบราณคดี’ คนมักนึกภาพซากปรักหักพังและสารพัดวัตถุโบราณทั้งหลาย แต่หนังสือเล่มนี้จะรื้อภาพจำเหล่านั้น แล้วพาเราดำดิ่งเข้าสู่โลกโบราณคดีที่แท้จริงอันเปี่ยมชีวิตชีวา เราจะได้สัมผัสวินาทีที่แอบมองเข้าไปในสุสานฟาโรห์ตุตันคามุนเป็นครั้งแรก ได้รู้จักวิวัฒนาการล้ำหน้าอย่างเทคโนโลยีเรดาร์ที่ใช้เผยความลับของปราสาทนครวัด อ่านเล่มนี้แล้วจะรู้ว่า แท้จริงแล้วโบราณคดีไม่ใช่แค่การวิเคราะห์วัตถุสิ่งของ แต่เป็นการทำความเข้าใจเรื่องราวของ ‘ผู้คน’
จีน-เมริกา: จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี ถึงสงครามเย็น 2.0
เขียนโดย อาร์ม ตั้งนิรันดร
ผลงานเล่มใหม่ของ อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เคยฝากผลงานน่าจดจำอย่าง China 5.0: สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI ครั้งนี้ว่าด้วยศึกใหญ่บนสังเวียนโลกของมวยถูกคู่อย่างจีนและอเมริกา ที่ผู้ชมอย่างเราต้องรู้จักอ่านเกมและปรับตัวให้ทัน เพื่อยืนหยัดให้รอดกลางฝุ่นควันของสมรภูมินี้
P.S. Publishing
Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ
เขียนโดย กวีวัธน์
13 เรื่องรักใคร่ที่มีใครเป็นส่วนเกินอยู่เสมอ
เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ หนังสือที่มีชื่อย่นย่อจาก ว่างเปล่า เปลืองใจ เชื่องเชื่อ ชอกช้ำ วรรณกรรมชายรักชายที่ร้าวรานที่สุดในปี ค.ศ.2019 ชวนจิ้นวาบหวามจนต้องจิกหมอนกับเรื่องรักใคร่ หัวใจสลายไปกับการเผชิญหน้ากับเศษเสี้ยวความทรงจำ การอ่านในแต่ละหน้าดุจการขุดหลุมดำที่ซ่อนอยู่บางแห่งในใจ ที่ที่คุณเสียศูนย์ลอยเคว้งเพราะพ่ายแพ้ เศร้าโศกกับการจากไป เสียใจกับการจากมา ภาคภูมิกับความกล้าหาญที่จะไม่เกิดขึ้นอีก และหัวเราะให้ความเชื่องเชื่อไร้เดียงสาของตัวละคร เล่าด้วยลีลาแบบบันทึกลับชาวสีม่วงบวกกับสำนวนศาลาคนเศร้า ผจญไปในสถานที่ซึ่งไม่รู้ว่ามีอยู่จริงไหม ความทรงจำที่ไม่แน่ใจว่าประกอบสร้างขึ้นมาเองหรือเปล่า ลำธารไม่มีชื่อ รากไม้ ถนนลูกรัง บ้านพักครู กลิ่นฝน รสชาคาโมไมล์ ผลส้มเหี่ยวๆ เสียงแมลงกลางคืน กระทั่งแสงสีจำเพาะของช่วงเวลาก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เรื่องราวที่เข็มนาฬิกาและปฏิทินซึ่งเป็นเพียงหน้าดินกลบมันไว้ชุ่ยๆ จะถูกเปิดออก
WALTZ เต้นรำในวอดวาย
เขียนโดย บริษฎ์ พงศ์วัชร์
รวมเรื่องสั้นที่ตอบคำถามถึงความขาดพร่อง ไม่สมประกอบของความสัมพันธ์อันวอดวายของผู้คน ตัวละครซึ่งล้วนมีความหลังกัดกินใจซุกซ่อนภายใน ทั้งนักรักระยะสั้นถนัดในการหว่านโปรยเสน่ห์ ชายหนุ่มผู้ใช้ครึ่งชีวิตดับดิ้นในแวววาวของความไม่พอใจ หญิงสาวผู้เกลียดการตกหลุมรัก เด็กหนุ่มกับสาวสะพรั่งรุ่นราวคราวแม่ หญิงสาวที่หลงใหลชายหนุ่มซึ่งหลับใหลตลอดเวลา ฯลฯ ฉายภาพจักรวาลของสิ่งที่ถูกลบเลือนในโลกกายภาพซึ่งหมุนวนเกรี้ยวกราด สะเปะสะปะ ทั้งแดดบ่ายของปลายวัน บทเพลงที่เคยร้อง กลิ่นไคลเหงื่อระหว่างร่วมรัก การพ่นลมหายใจด้วยยอมจำนน แววตาของการตีอกชกตัว การจุดไฟเพื่อมอดไหม้ในลุ่มหลง โมงยามที่นอนคุดคู้น้ำตานองเพราะต้องเดียวดาย รวมทั้งวิธีที่คุณรักและเกลียด ให้ภาพของลานเฟื่องฟ้าที่โรยลงมาเกลื่อนกลาด คู่รักจูงมือกันมาหยุดที่กลางลาน แล้วอยู่ดีๆ ใครคนหนึ่งก็จุดไฟ และใครอีกคนสาดน้ำมัน จากนั้นทั้งคู่ก็คล้องแขน ก้าวย่างไปตามจังหวะกลางเปลวไฟที่ลุกโชน เป็นเรื่องบ้าคลั่งและรักรสขมขื่น หากเล่าด้วยท่วงท่าซินโคเพทเชสเซ่และแบควิสค์ของการเต้นรำในจังหวะวอลทซ์
SALT
เราทำงานไปทำไม (Why We Work)
เขียนโดย แบร์รี ชวาร์ตซ / แปลโดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
เล่มนี้ชวนเราไปหาเหตุผลว่า ทำไมคนเราต้องทำงานกันด้วย เงินคือเหตุผลเดียวกระนั้นหรือที่ทำให้คนเราลุกขึ้นมาทำงาน แต่ถ้าเป็นแบบนั้น เราจะอธิบายคนที่ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเพื่อทำงานบางอย่างที่ไม่ได้มีผลอะไรต่อรายได้ที่ตัวเองจะได้รับเลย หรือบางงานที่ไม่เงินมากมาย ก็ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขกับมันเท่าไหร่นัก
หนังสือเล่มนี้จะชวนเราไปพิจารณา ‘งาน’ ซึ่งในที่สุดอาจทำให้เราได้ค้นพบคุณค่าความหมายในการทำงานของเราขึ้นมาก็ได้
เราทำงานแล้วได้อะไร (Payoff)
เขียนโดย แดน อารีลีย์ / แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล
เล่มนี้ต่อเนื่องจากเล่มที่แล้ว โดยเป็นการพิจารณาผลตอบแทนหรือสิ่งที่ได้รับจากการทำงานอย่างละเอียด ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ว่าทำไมการให้แรงจูงใจในรูปของตัวเงิน บางครั้งกลับทำลายประสิทธิภาพของงานไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ นี่คือการค้นลึกลงไปใน ‘ความหมาย’ ของแรงจูงใจในการทำงาน เพื่อให้เราสามารถสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องได้ แล้วจะได้ทำให้งานของเราเปี่ยมไปด้วยความหมายและได้ประสิทธิภาพ
เราทำงาน อย่าปล่อยให้งานทำเรา (In Praise of Wasting Time)
เขียนโดย อลัน ไลต์แมน / แปลโดย โตมร ศุขปรีชา
โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยคนที่พยายามจะมีประสิทธิภาพสูงสุด คตินิยมเรื่อง “ทุกนาทีมีความหมาย” กำลังผลักดันให้เราทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นงานและไม่เป็นงาน เราจึงไม่อาจนั่งนิ่งๆ ปล่อยตัวเองให้ล่องลอยจมดิ่งลงไปภายใน เพื่อสำรวจและสร้างการหยั่งรู้ใหม่ๆ มีคนที่ประสบความสำเร็จหลายคนในประวัติศาสตร์ ที่ค้นพบสิ่งสำคัญๆ ในช่วงเวลาที่ปล่อยตัวเองไว้กับโลกภายในโดยไม่ต่อติดตัวเองเข้ากับกิจกรรมใดๆ ในโลกภายนอก ดังนั้น การ ‘เสียเวลา’ จึงอาจทำให้ได้งานอย่างไม่คาดคิด
Bunbooks
PRESENTS FROM THE PRESENT
เขียนโดย คัจกุล แก้วเกต
เล่มนี้เป็นผลงานเล่มที่สี่ของคุณเต็นท์—คัจกุล แก้วเกต น่าสนใจตรงที่ตอนนี้หนังสือเล่มแรกของคุณเต็นท์หาซื้อไม่ได้แล้ว ส่วนอีกสองเล่มล่าสุด ก่อนจะมาถึงเล่มนี้ ก็เป็นหนังสือที่ได้รางวัลจากเซเว่นบุ๊คอวอร์ดติดต่อกันภายในเวลาสองปี เราค่อนข้างเชื่อมั่นในฝีมือของคุณเต็นท์ เล่มนี้อาจจะไม่ใช่หนังสือภาพที่หวือหวา แต่ด้วยแนวคิดหรือข้อความที่เล่าผ่านภาพวาดในสไตล์ของเขา เราคิดว่ายิ่งอ่านช้าๆ ดูรูปให้นานๆ มันยิ่งมีเสน่ห์
AFRICA IS NOT AFRICA
เขียนโดย พริม โกมลกิติ
นักเขียนสาวหน้าใหม่ในวงการหนังสือบันทึกการเดินทาง แต่ถ้าดูจากประวัติของพริม ในอายุ 28 ของเธอ กับการเดินทางมาแล้วกว่าสี่สิบประเทศ การที่พริมเลือกแอฟริกามาเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตของตัวเอง ก็พอจะทำให้เรารู้สึกว่าแอฟริกาต้องมีอะไรน่าสนใจกว่าที่เราคิดแน่ๆ นอกจากวิธีการเขียนที่มีสำเนียงและภาษาของตัวเองแล้ว ฝีมือการถ่ายภาพของพริม ก็ไม่ธรรมดา
สำนักพิมพ์ มติชน
โลกสามศูนย์ (A World of Three Zeros)
เขียนโดย มูฮัมหมัด ยูนูส / แปลโดย ไพรัตน์ พงศ์พานิช
มูฮัมหมัด ยูนูส นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี ค.ศ.2006 (ผู้เขียนหนังสือ นายธนาคารเพื่อคนจน และสร้างโลกไร้จน) เสนอทางแนวทาง ‘สามศูนย์’ คือ ความยากจนเป็นศูนย์ ภาวะว่างงานเป็นศูนย์ และมลภาวะเป็นศูนย์ ในการดำเนิน ‘ธุรกิจเชิงสังคม’ ธุรกิจที่ไม่เน้นความร่ำรวยล้นพ้นเพื่อสร้างโลกที่พร้อมด้วยสามศูนย์ ท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม ความเหลื่อมล้ำ และมลภาวะเป็นโจทย์ท้าทายที่สุดของมนุษยชาติในศตวรรษที่ 21
ลงเรือแป๊ะ
เขียนโดย วิษณุ เครืองาม
“ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ” เป็นอีกคำหนึ่งที่กระชับ ใช้เรียกเหตุการณ์ที่ผู้คนพลอยติดร่างแห หรืออาศัยอยู่กับเขา ร่วมหอลงโรง ตกล่องปล่องชิ้น เข้าหมู่เข้าพวกเหมือนลงเรือลำเดียวกัน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย นำสำนวนนี้มาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ตั้งแต่ยุค คสช. เป็นรัฐบาลห้าปี นับแต่ก้าวแรกของ ‘รัฐบาลประยุทธ์ 1’ ที่ย่างเหยียบเข้ามาในสนามการเมืองหลังการรัฐประหารยึดอำนาจปี พ.ศ.2557 จนกระทั่งมีการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562 และการมาถึงของ ‘รัฐบาลประยุทธ์ 2’ ที่ตนได้เข้าไปมีส่วนร่วม และถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้
บ้านโกลเดน (The Golden House)
เขียนโดย ซัลมาน รัชดี / แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล
ผลงานของซัลมาน รัชดี นิยายขยาย ‘ความเป็นอเมริกัน’ ด้วยเรื่องราวของ “บ้านโกลเดน” อันเฉิดฉายสวยงาม แต่แฝงความลับในอดีตที่คาดไม่ถึง ผ่านสายตาของเรอเน อุนเทอร์ลีนเดน ชายหนุ่มนัก(อยาก)สร้างหนัง ผู้เป็นเพื่อนบ้าน ตีแผ่สภาพสังคมดินแดนเสรีที่ชื่อว่า อเมริกา ด้วยมุมมองของซัลมาน รัชดี
สำนักพิมพ์ สมมติ
บาย-ไลน์ (By-Line)
เขียนโดย เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ / แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
วรรณกรรมแปลเล่มใหม่ล่าสุดของชุดวรรณกรรมในวงเล็บ บาย-ไลน์ เสมือนการไปทำความรู้จักอีกด้านหนึ่งของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) ในแง่ของชั้นเชิงและการบ่มเพาะวัตถุดิบทางการเขียน ดังที่จั่วหัวไว้ว่านี่คือ ‘สารคดียี่สิบเก้าชิ้นแรก แบบฝึกหัดทางวรรณกรรมของนักเขียนหนุ่ม’
กล่าวได้ว่า บาย-ไลน์ คือวัตถุดิบชั้นดี ที่ไม่มากและไม่น้อยแต่ละส่วนในนั้นได้กลายสภาพมาเป็นงานวรรณกรรมชั้นเลิศของเฮมิงเวย์อีกต่อหนึ่ง และเหมือนเป็นโบนัสให้ผู้อ่าน เพราะเล่มนี้แปลและเรียบเรียงโดยอัศวินทางวรรณกรรม แดนอรัญ แสงทอง ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของทั้งผู้เขียน-ผู้แปล บาย-ไลน์ จึงนับเป็นเล่มที่มีเสน่ห์คล้ายชายชาตรีมากประสบการณ์ที่สุดแสนจะแพรวพราว คอวรรณกรรมไม่ควรพลาด
ON MONOTHEISM ว่าด้วยเอกเทวนิยม: เส้นทางของพระผู้เป็นเจ้าของจริง
เขียนโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา
งานเขียนล่าสุดของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ว่าด้วยเส้นทางแห่งศรัทธา ที่มี ‘พระผู้เป็นเจ้า’ เป็นแกนกลาง และการนับถือพระเจ้าองค์เดียวที่สะท้อนถึงการผูกขาดและสถาปนาอำนาจทางการเมือง
ในเล่มนี้ ธเนศ วงศ์ยานนาวาเล่าเรื่องและอธิบายประวัติศาสตร์ความคิดว่าด้วยเส้นทางแห่งศรัทธา ที่มี ‘พระผู้เป็นเจ้า’ เป็นแกนกลาง แม้ชื่อเล่มจะระบุไว้ว่าเป็นเรื่อง ‘เอกเทวนิยม’ ที่หมายถึงกรอบคิดที่ยึดถือพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว แต่ลักษณะการเขียนของธเนศ กลับทำให้ประเด็นย่อยในเรื่องนี้ กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาโดยทันที
ธเนศ วงศ์ยานนาวา ทำให้เราเห็นว่า หลายต่อหลายเรื่อง ก็เป็น ‘คนละเรื่องเดียวกัน’ เป็นชุลมุนทางความคิด และที่สุดแล้ว คำตอบที่ชัดเจนและตายตัวในการอ่านธเนศก็น่าจะพูดได้ว่า ความเชื่อความศรัทธาเป็นเรื่องยุ่งยากและทำให้เกิดการโต้เถียงมาตลอดระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์
ผู้คนในโลกภาพฝัน
เขียนโดย อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์
รวม 13 เรื่องสั้น soft sci-fi และ satire สังคม ผลงานเล่มล่าสุดของ อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์ เป็นเรื่องที่นำพาผู้คนท่อง ‘โลกภาพฝัน’ ให้บรรยากาศและกลิ่นอายดิสโทเปีย ไซไฟ และเทคโนโลยี ดำเนินเรื่องสนุก ภาษากระชับ เป็นงานเขียนที่ชำแหละชั้นของนัยในภาพฝันที่ซ้อนทับกับหลากหลายประเด็นของมิติทางสังคมได้อย่างน่าสนใจ
13 เรื่องสั้นใน ‘ผู้คนในโลกภาพฝัน’ มีความพิเศษในแง่ของกลไกการเล่าเรื่องและโครงสร้างทั้งหมด กล่าวคือ หากอ่านเพียงจบไปแต่ละเรื่อง ก็จะได้รับอรรถรสและประเด็นแบบเรื่องสั้น ทว่าหากได้อ่านจนครบถ้วนทั้งเล่ม กลับอิ่มเอมคล้ายได้อ่านนิยายขนาดสั้นที่พาเราไปแตะตรงจุดนั้น จุดนี้ โดยมี ‘กล่องภาพฝัน’ เป็นตัวต่อเชื่อมเรื่องราวทั้งหมด
สำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม
หมาป่าผู้โดดเดี่ยว
เขียนโดย แฮร์มานน์ เฮสเซอ / แปลโดย ปิยภาณี เฮ็นท์ช
แฮร์รี่ชายประหลาดที่ไม่เหมือนใคร ความคิดของเขาเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เหมือนภายในของเขามีตัวตนอีกคนหนึ่งนั่นก็คือ Steppenwolf การต่อสู้ของเขาจึงเต็มไปด้วยความโกรธต่อโลก สังคม การเมือง เป็นการขับเคี่ยวของวิญญาณสองดวงที่อยู่ในร่างเดียวกัน
ความตายของหญิงสาว
เขียนโดย ศวา เวฬุวัฒนา
นวนิยายจากนักเขียนรุ่นใหม่ที่น่าจับตาเรื่องนี้เล่าเรื่องย้อนความหลังจากความทรงจำ สลับกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ตัวเรื่องจะค่อยๆ เผยออกมาทีละนิด ตั้งแต่เหตุการณ์ในอดีต และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เงื่อนปมของทั้งเรื่องถูกขมวดลงในตอนจบที่ผู้เขียนทิ้งท้ายเอาไว้
ในเงาคือเราผู้ซ่อนเร้น
เขียนโดย อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์
เรื่องสั้นเล่มนี้เป็นเหมือนภาพฉายตัวแทนของมนุษย์ที่กำลังค้นหาอย่างไม่สิ้นสุด การเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว โรคของยุคสมัย AI กับคำถามที่ไม่มีคำตอบว่าพวกเขามาจากไหน จะไปที่ใด สู่แห่งหนที่เต็มไปด้วยการเผชิญหน้ากับโลกอนาคตที่ไร้อนาคต
ผู้คนบนโลกนี้ต่างหวาดกลัวกันและกัน
เขียนโดย ภูมณี ศิริพรไพบูลย์
รวมเรื่องสั้นที่เข้าถึงผู้คนของยุคสมัยด้วยภาษาที่เรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยพลัง การวางโครงเรื่องที่ไม่ซับซ้อน ทำให้ผู้อ่านสามารถรับรสของเรื่องเล่าได้อย่างถึงรส ผู้เขียนหยิบจับเรื่องราวของผู้คนในสังคมมาเล่าถึงได้อย่างยอดเยี่ยม
Broccoli Book
Happy City
เขียนโดย ชาร์ลส์ มอนต์โกเมอรี / แปลโดย พินดา พิสิฐบุตร
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในวันหนึ่งๆ เราใช้เวลามากมายหลายชั่วโมงในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘เมือง’ ทั้งเพื่อทำงาน เล่าเรียน ติดต่อธุระ พบปะเพื่อนฝูง จับจ่ายซื้อของ เดินเล่น ฯลฯ เมืองจึงเป็นมากกว่าแค่สถานที่ แต่เป็นพื้นที่ที่คนหลายชีวิตหลายพื้นเพใช้สอยร่วมกัน ทว่าเมืองทุกวันนี้มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน เราจะสร้างเมืองและชีวิตที่ต่างจากเดิมได้อย่างไร เติมแรงบันดาลใจจากบทเรียนตัวอย่างหลากหลายเมืองทั่วโลก เพื่อแก้โจทย์ที่ว่าเมืองควรให้อะไรแก่เรา และ เรา-หรือรัฐของเรา-ควรให้อะไรแก่เมืองบ้าง
Japonisme
เขียนโดย เอริน นิอิมิ ลองเฮิร์สต์ / แปลโดย ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล
“Japonisme” เป็นนิยามภาษาฝรั่งเศส เกิดขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ใช้อธิบายความนิยม ความหลงใหล ความคลั่งไคล้ที่มีต่อศิลปะ ปรัชญา และวัฒนธรรมญี่ปุ่น เอริน นิอิมิ ลองเฮิร์สต์ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมผสมผสานอังกฤษและญี่ปุ่น หยิบความประทับใจจากการได้ไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นในวัยเด็ก และความผูกพันต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ก่อตัวขึ้น มาบอกเล่าลงรายละเอียด เผยเคล็ดลับและแนวทางการประยุกต์ใช้ปรัชญาอันเรียบง่ายแต่รุ่มรวยแบบญี่ปุ่น ให้คุณสัมผัสประสบการณ์ละเมียดละไมเช่นนั้นได้ในชีวิตประจำวัน แม้จะไม่ได้อยู่ในประเทศญี่ปุ่น และไม่ว่าความชื่นชอบญี่ปุ่นของคุณจะอยู่ในแง่ใดก็ตาม