ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคนไทยตื่นตัวเรื่อง ‘ข้าวลูกชาวนา’ กันมากๆ แต่นอกจากข้าวแล้วเกษตรกรไทยก็ยังมีผลผลิตแบบอื่นๆ ให้เลือกอีกมาก เราจึงมีแหล่งซื้อขายสินค้าเกษตรและประมงแบบยุติธรรมแหล่งอื่นๆ มาแนะนำ ถ้าอยากสนับสนุนเกษตรกรไทยก็ขอ #ฝากร้านด้วยนะคะ
ตะกร้าปันผัก
คนที่ชอบกินผักมากๆ น่าจะถูกใจ ‘ตะกร้าปันผัก’ เครือข่ายสมาชิกรับตะกร้าผักปลอดสารพิษ ซึ่งบริหารงานโดย ครูหน่อย-พรทิพย์ เพชรโปรี และ ครูเล็ก-เพ็ญศรี บำรุงสิทธิวงศ์ ผู้รับหน้าที่ตัวกลางรับผักจากเกษตรกรหลายแหล่งในประเทศไทยมากระจายต่อให้เหล่าสมาชิกตามแนวทาง CSA (Community Supported Agriculture) ซึ่งมีชื่อไทยว่า ‘การเกษตรเกื้อกูล’ หรือ ‘การเกษตรแบ่งปัน’
‘ตะกร้าปันผัก’ มีให้เลือก 2 ไซส์ คือเล็กและใหญ่ ซึ่งแตกต่างกันที่น้ำหนักกิโลกรัม สมาชิกต้องเลือกไซส์ให้เหมาะสมกับนิสัยการกินผักของตัวเองและคนในครอบครัว จากนั้นจ่ายเงินล่วงหน้า 6 เดือน แล้วผักออร์แกนิกสดๆ ก็จะถูกส่งมาถึงบ้านเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยผักในตะกร้านั้นเป็นผักพื้นบ้านตามฤดูกาล เช่น สายบัว มะระ มะเขือ ฟักทอง ฯลฯ ต้องเตือนไว้ก่อนว่าสมาชิกไม่สามารถเลือกผักด้วยตัวเอง ทางทีมงานจะจัดสรรผักให้ตามแต่ที่เกษตรกรปลูกได้ แต่นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เปิดโลกการกินผักชนิดใหม่ๆ ที่กว้างไกลกว่าผักพาณิชย์ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป
ความดีงามของ ‘ตะกร้าปันผัก’ และระบบ CSA คือสมาชิกสามารถรู้ได้ว่าผักที่ตนเองกินมาจากที่ไหน ใครเป็นคนปลูก ได้สนับสนุนการเกษตรปลอดสาร และที่สำคัญคือได้สนับสนุนเกษตรกรไทย เพราะการจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นการคอนเฟิร์มให้เกษตรกรมั่นใจว่าจะมีคนรับผักไปดูแลต่อ (ในท้อง) อย่างแน่นอน
สนใจติดต่อ CSA Thai / 084-650-7035, 086-332-8266 / Line ID lekpen8474
Fisherfolk คนจับปลา
ปลาเนื้อแน่นๆ หมึกตัวโตๆ อื้อหือ แค่คิดก็น้ำลายไหลแล้ว! ถ้าคุณกำลังมองหาอาหารทะเลสดๆ ปลอดสารเคมี ร้านคนจับปลา Fisherfolk คือคำตอบ เพราะกิจการเพื่อสังคมเจ้านี้รับซื้ออาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้านในหลายจังหวัดทางภาคใต้ เช่น สงขลา นครศรีธรรมราช สตูล ฯลฯ ในราคาที่ยุติธรรม แล้วจัดแจงส่งมาขายที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น ปลาเก๋า ปลาอินทรี ปลากะพงขาว กุ้งแชบ๊วย ฯลฯ
อันที่จริง Fisherfolk เริ่มต้นจาก NGO สมาคมรักษ์ทะเลไทย ซึ่งลงพื้นที่ไปให้ความรู้ชาวประมงพื้นบ้านเรื่องการใช้เครื่องมือที่ถูกกฎหมาย และการจับปลาอย่างอนุรักษ์และยั่งยืน คือจับตามฤดูกาล ไม่ใช้อวนลุน อวนล้อม หรือเรือปั่นไฟ ผู้บริโภคไม่ต้องกลัวว่าหรือจริงๆ ร้านนี้จะเป็นพ่อค้าคนกลางผู้กดขี่ เพราะกลุ่มชาวประมงก็ลงขันกันเพื่อร่วมถือหุ้นอยู่ในองค์กรด้วย ฉะนั้นการซื้ออาหารทะเลจากร้านคนจับปลานั้นเป็นการสนับสนุนชาวประมงไทยแน่นอน แถมช่วงนี้มีโปรโมชั่นซื้อครบ 1,000 บาทรับข้าวสารฟรี 1 กิโลกรัม ได้สนับสนุนชาวนาไทยไปพร้อมกัน
สนใจติดต่อ Fisherfolk / 086-566-5532 / Line ID @FisherFolkBKK
เพื่อนปลูกเพื่อนกิน
โครงการ ‘เพื่อนปลูกเพื่อนกิน’ เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายเกษตรเกื้อกูลซึ่งดำเนินการโดยสหกรณ์ผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ อันประกอบด้วยตัวตั้งตัวตีอย่างมูลนิธิสายใยแผ่นดิน และ ‘เพื่อนปลูก’ อย่างชาวนาและโรงสีชุมชนในจังหวัดยโสธร
สมาชิกสามารถเลือกข้าวปลอดสารพิษ (ใช้ปุ๋ยเคมีได้บางตัว) หรือข้าวอินทรีย์ (ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในทุกขั้นตอน) ซึ่งจะแบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ หรือข้าวกล้องหอมมะลิ และเลือกปริมาณข้าวต่อปีที่ต้องการ (30, 60, 120 กิโลกรัม) ชำระเงินล่วงหน้า แล้วก็นั่งสบายๆ รอข้าวมาส่งที่บ้านทุก 2 หรือ 4 เดือนได้เลย
คลิกดูได้ที่ farmerandfriend.org
GetKaset เก็ทเกษตร
เว็บไซต์ GetKaset คือแพล็ตฟอร์มออนไลน์สำหรับซื้อขายสินค้าเกษตรทุกชนิด เกษตรกรสามารถโพสต์ขายของได้ฟรีโดยแบ่งเป็นหมวดต่างๆ คือพืชผัก ผลไม้ สินค้าแปรรูป ปุ๋ย/ยาบำรุง และอื่นๆ ด้านลูกค้าก็สามารถไปเลือกซื้อของที่ต้องการได้อย่างสะดวกสบายบนเว็บที่หน้าตาเหมือนเว็บช้อปปิ้งออนไลน์ทั่วไป
คลิกดูได้ที่ getkaset.com
Happy Farmers
อีกเว็บที่แนวคิดเดียวกันกับด้านบนคือ Happy Farmers เว็บไซต์ที่รับบทบาทเป็นผู้ประสานงานระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค แต่สินค้าจะเน้นไปที่ผลผลิตทางการเกษตรที่แปรรูปแล้วมากกว่า เช่น ผลไม้อบกรอบ ยาสมุนไพร สบู่ถั่วเขียว ฯลฯ ช่วงนี้เริ่มมีสินค้าในแพ็คเกจพิเศษรับปีใหม่แล้วด้วย เช่น ข้าวสาร ถ้ากำลังวางแผนซื้อของขวัญปีใหม่อยู่ ลองไปส่องดูในเว็บได้เลย
คลิกดูได้ที่ happy-farmers.bentoweb.com/th / Happy Farmers
FarmKaiKhai ฟาร์มไก่ไข่
เว็บไซต์ FarmKaiKhai เป็นตัวกลางเชื่อมต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่เข้ากับผู้บริโภค เกษตรกรจากทั่วประเทศสามารถฝากคอนแทคได้ฟรีๆ ผู้บริโภคก็สามารถเลือกฟาร์มที่ถูกใจได้เอง โดยบนเว็บมีราคากลางของไข่ไก่ให้พร้อมสำหรับอ้างอิงราคาซื้อขายในแต่ละวัน
คลิกดูได้ที่ farmkaikhai.com / ฟาร์มไก่ไข่
ชอบแบบไหนก็เลือกสนับสนุนแบบนั้น ใครใคร่ซื้ออะไรก็ซื้อ ผู้บริโภคอย่างเราก็ได้ของที่มีคุณภาพดี ส่วนเกษตรกรก็ได้รับผลประโยชน์ที่ยุติธรรม เป็นช่องทางการซื้อขายใหม่ๆ ที่มีแต่วินกับวิน