หลายคนคงจะเคยเห็นผลงานชุดนี้ที่ผ่านการเป็นไวรัลมาก่อนบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก 2 ปีก่อน และภาพเหล่านั้นได้เคยถูกนำมาจัดแสดงอีกครั้งในนิทรรศการภาพถ่าย ‘FOR THOSE WHO DIED TRYING’
FOR THOSE WHO DIED TRYING คือนิทรรศการภาพถ่ายในโครงการของ Protection International (PI) นำเสนอภาพถ่ายและรายละเอียดเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย 37 คนที่ถูกสังหารหรือลักพาตัว เพื่อสนับสนุนให้มีการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตเหล่านั้น โดยนำภาพถ่ายของพวกเขาไปไว้ในจุดที่เกิดเหตุ โดยเคยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ณ ห้องโถงหน้าห้องสมุด ชั้น L หอศิลป์กรุงเทพฯ
The MATTER ไปสัมภาษณ์คุณ ปรานม สมวงศ์ หนึ่งในทีมผู้จัดงาน ตัวแทนองค์กร Protection International ถึงความเป็นมาและความคาดหวังของการจัดงานในครั้งนี้
The MATTER : ความท้าทายและอุปสรรค ในการสื่อสารเรื่องการต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนและการอนุรักษ์ในไทยเป็นยังไงบ้าง
ก่อนที่จะมีนิทรรศการภาพถ่ายนี้ก็มีความท้าทายมาก เราเห็นว่าในสื่อปัจจุบันคนจะไม่เสพคอนเทนต์หนักๆ ยิ่งเป็นเรื่องนักปกป้องสิทธิฯ ที่ต่อสู้เรื่องความซับซ้อน เรื่องทรัพยากร แล้วถูกบังคับให้สูญหายด้วยแล้ว เราก็ต้องพยายามหาว่าจะทำอะไรที่จะสามารถที่จะสื่อสารกับ mass หรือสังคมทั่วไปให้เขาจะเล็งเห็นได้
เราอยากจะจัดนิทรรศการภาพถ่าย แต่จะจัดยังไงในประเด็นที่มีความอ่อนไหวและสำคัญขนาดนี้ก็ต้องใช้เวลาคิดกัน พอดีเรามีข้อมูลอยู่แล้วว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีนักปกป้องสิทธิฯ ที่ถูกสังหารหรือบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 59 ท่าน แล้วก็มีไม่กี่กรณีที่ได้รับความยุติธรรม โชคดีที่เรามาเจอกับคุณ ‘Luke Duggleby’ เป็นช่างภาพชาวอังกฤษ เขาใช้ศิลปะทางเลนส์ในการสื่อสารเรื่องราวทางเรื่องสังคม คุณลุคได้มีโอกาสไปเจอพี่ ‘จินตนา แก้วขาว’ และเรียนรู้การต่อสู้ของกลุ่มบ่อนอก-หินกรูด ดูการต่อสู้ของคุณ ‘เจริญ วัดอักษร’ ซึ่งถูกสังหารที่ประจวบฯ คราวนี้คุณลุคก็มีแรงบรรดาลใจว่า ขนาดคนที่ยังอยู่ยังมีความยากลำบากในการต่อสู้เลย แล้วก็ไม่ใช่แค่กรณีเดียว อาจจะมีหลายๆ กรณีของนักต่อสู้ที่ถูกสังหาร ลุคก็เลยเริ่มเรียนรู้วัฒนธรรมไทย สังคมไทย
The MATTER : ที่มาที่ไปของคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการนี้คืออะไร
ก็มาจากเวลาที่เราจัดงานศพ เราจะเก็บรูปถ่ายของญาติที่เสียชีวิตไว้ที่บ้าน ไม่ก็เก็บไว้บนหิ้ง ก็เลยเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ ‘แด่นักสู้ผู้จากไป’ คือเป็นรูปถ่ายของนักปกป้องสิทธิฯ คนนั้น ที่ไปถ่ายในสถานที่จริง ที่ที่เขาถูกสังหาร ที่ที่เขาถูกอุ้ม
ตอนแรกลุคเขาถ่ายมาก่อนแล้ว 17 รูป แล้วก็มาติดต่อสัมภาษณ์พี่ในเรื่องนี้ มันเลยกลายเป็นคนทำศิลปะที่มาเจอกับคนทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน พอเราสนใจในประเด็นเดียวกันก็เลยกลายเป็นการร่วมงานกัน แล้วก็เป็นโครงการนี้ขึ้นมา
เขาต้องเดินทางประมาณหมื่นโลทั่วประเทศ เพื่อที่จะทำนิทรรศการภาพถ่ายอันนี้ แล้วหลังจากที่ลุคมีโครงการนี้กับ PI ก็มีหนังสือพิมพ์ New York Times มาสัมภาษณ์ พอข่าวถูกตีพิมพ์ออกไปก็มีนักประพันธ์เพลงชาวแคนาดา คือ Frank Horvat มาเจอ ก็เลยแต่งเพลงที่เรียกว่า Musical DNA คือเอาชื่อภาษาอังกฤษของนักปกป้องสิทธิฯ มาแกะเป็นตัวโน้ตและอุทิศให้กับบุคคลเหล่านั้น ก็จะมี 4 เพลงคือ ‘คุณ สมชาย นีละไพจิตร’ ‘คุณเจริญ วัดอักษร’ ‘คุณมณฑา ชูแก้ว และคุณปราณี บุญรัตน์’ และเพลงของ ‘คุณทองนาค เศวตจินดา’
The MATTER : สภาพสังคมแบบไหนที่เราอยากเห็นในอนาคตในเรื่องนี้ และการออกมาแสดงนิทรรศการครั้งนี้เป็นส่วนประกอบที่จะทำให้เราก้าวไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร
เราหวังว่าคอนเทนต์หนักๆ อย่างประเด็นการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนกับประชาธิปไตย กับเรื่องความเป็นธรรมในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ จะกลายมาเป็นอะไรที่คนสามารถเห็นได้ รู้สึกได้ จะนำไปสู่ความสนใจมากกว่านี้ว่าเกิดอะไรขึ้น สำหรับงานวันนี้ Protection International จัดร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โครงการคนรุ่นใหม่ของ มอส. และได้รับการสนับสนุนจากสถานทูต ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก มีทั้งสื่อประเทศไทย สื่อต่างประเทศ และสถานทูตให้ความสนใจ มีคนรุ่นใหม่มาเล่นเพลงให้
The MATTER : อะไรคือความสำคัญของการ ‘เห็นหน้าคนต่อสู้’
คอนเซ็ปต์ที่นำรูปของนักต่อสู้ไปวางตรงที่เขาถูกสังหารหรือถูกอุ้ม ความรู้สึกของแต่ละท่านจะไม่เหมือนกัน แต่สำหรับเราคนทำงานเองอยากจะสื่อให้เห็นว่า อันตรายหรือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้มันมีอยู่ทุกที่ บางท่านอยู่ที่บ้านก็ถูกอุ้ม บางท่านนั่งอยู่ที่สำนักงานก็ถูกอุ้ม หรือบางท่านอยู่ระหว่างเดินทางไปทำงานก็ถูกสังหาร หวังว่าเวลาคนเห็นภาพแล้วจะรู้สึกว่าได้เห็นตัวตน เห็นความเป็นชุมชน เห็นพื้นที่ที่เขาพยายามจะรักษาปกป้อง
อย่างน้อยเขาจะได้เข้าใจสภาวะ ว่าจริงๆ ไม่อยากมีใครอยากเป็นนักปกป้องสิทธิฯ หรอก แต่สำหรับคนทำงานอย่างเรา เขาเป็นคล้ายๆ กับกระบวนการหลักที่เสริมสร้างประชาธิปไตย เราเคยมีสิทธิมนุษยชนในประเทศเรา แต่เราไม่มีแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะฉะนั้นองค์กรประชาชนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมซึ่งนำไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย เขาไม่ควรที่จะถูกอุ้มหรือสังหารโดยไม่ได้รับความยุติธรรม