หลายๆ คนมองชายคนหนึ่งด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน บางคนมองเขาว่าคนติดภาพยนตร์ บางคนมองว่าเขาเป็นคนงงๆ อธิบายอะไรไม่ค่อยถูก บางคนเห็นว่าเขาก็แค่หนุ่มแว่นที่ชอบถ่ายรูปคู่กับดาราชายดังๆ แล้วนำมาโพสต์อวดในโลกอินเตอร์เน็ต แต่ไม่ว่าเข้าจะโดนมองว่าเป็นอะไรมาก่อนก็ตาม เขาก็คือผู้กำกับเกมตระกูลดังที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนเล่นเกมมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
เรากำลังพูดถึงชายที่ชื่อว่า ฮิเดโอะ โคจิม่า (Hideo Kojima) ที่หลายคนอาจจะจำเขาได้จากการเป็นผู้กำกับซีรีส์เกมแนวลอบเร้นชื่อดังอย่าง ‘Metal Gear’ และในช่วงปี ค.ศ. 2017 – 2019 เขาก็ได้ปล่อยให้ผู้คนงงงวยกับ ‘Death Stranding’ ว่าตัวเกมอยากจะบอกเล่าอะไรกันแน่ และถ้าดูผลงานอื่นๆ ที่เขาไปมีส่วนร่วมด้วยนั้น มักจะมีกลิ่นอายที่แตกต่างจากเกมอื่น และมักจะมีฉากคัทซีน (Cut Scene) ที่ยาว จนบางคนอาจจะมองว่าเวิ่นเว้อ
ด้วยความไม่ธรรมดาของเขาทำให้เขาอยากย้อนไปดูว่าอะไรที่ทำให้ชายคนนี้มีตัวตนที่กลายเป็นคนที่คิดอะไรหลุดจากความคาดหมายของคนเล่นเกมได้อยู่บ่อยครั้ง และทำให้เขามีผลงานโดดเด่นในวงการมาตลอดช่วง 30 ปี ที่เขาทำงานอยู่
ที่มาของตัวตน 70% ที่เป็นภาพยนตร์
โคจิม่าเคยพูดเกี่ยวกับตัวเอง และยังใส่คำอธิบายตัวตนเอาไว้ในเกม Metal Gear Solid Peace Walker ว่า ‘70% ของตัวตนของผมถูกสร้างขึ้นจากภาพยนตร์ คุณจะเป็นคนตัดสินเองว่าอะไรคือส่วนที่เหลืออยู่อีก 30%’ (70% of my existence is made of movies. It is up to you to decide what to do with the remaining 30%)
คำพูดนี้ไม่ได้เกินจริงเท่าใดนัก เพราะชีวิตของชายหนุ่มคนนี้มีความคลุกคลีอยู่กับการรับชมภาพยนตร์มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ส่วนหนึ่งเพราะครอบครัวของเขาเองก็ชื่นชอบภาพยนตร์เช่นกัน ถึงขั้นที่บ้านมีธรรมเนียมว่า ‘ต้องดูหนังด้วยกันทุกคืนจนกว่าหนังจะจบ’ แถมภาพยนตร์ที่เขาดูนั้นก็ไม่ได้มีแค่หนังจากประเทศบ้านเกิดเท่านั้น บ้านของพวกเขาดูหนังฮอลลีวูด หนังยุโรป ซึ่งบางเรื่องที่เขาเคยกล่าวถึงก็ชวนให้คิดว่าไม่น่าจะเหมาะกับเด็กดูเท่าไหร่
และเมื่อเด็กชายโคจิม่าโตขึ้น พ่อแม่ของเขาก็อนุญาตให้เด็กชายไปดูหนังคนเดียวในโรงภาพยนตร์แต่มีข้อแม้ว่า เขาจะต้องซื้อแพมเฟลทของหนังกลับมา พร้อมกับมาถกว่าธีมภาพยนตร์ ทิศทางการกำกับ และตัวเขาเองคิดเห็นอะไรกับหนังเรื่องนั้น
นอกจากภาพยนตร์แล้ว เด็กชายโคจิม่าก็ยังชื่นชอบนิยายแนวรหัสคดี อย่าง นิยายชุดนักสืบโคลัมโบ นิยายไซไฟ และนิยายผจญภัย อีกด้วย
การสนับสนุนของที่บ้านรวมกับความชอบส่วนตัวของเขาที่มีจินตนาการในหัวพรั่งพรู เลยทำให้ความฝันของโคจิม่ามุ่งชัดไปยังการเป็นคนทำหนัง จนกระทั่งพ่อของเขาเสียชีวิตไปเมื่อตอนที่เขาอายุได้ 13 ปี ทำให้เขาจำเป็นต้องมองโลกแห่งความจริงมากขึ้น ส่งผลให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนระดับชั้นอุดมศึกษา ในสาขาเศรษฐศาสตร์ เพราะคนรอบตัวเห็นว่าสายงานนี้จะทำให้เขาและครอบครัวมีความมั่นคงทางการเงิน
ข้ามฝันจากจอเงิน วกสู่วงการเกม
ช่วงที่โคจิม่าเรียนอยู่ในระดับอุดมศึกษานั้น เป็นยุค 1980s ที่เครื่องเกม Family Computer หรือ Famicom กำลังทำตลาดอยู่ จึงไม่แปลกที่ โคจิม่าจะร่วมเล่นเกมตามสมัยนิยม เกมหนึ่งที่เขาชื่นชอบก็คือ Super Mario Brothers กับ Portopia Renzoku Satsujin Jiken (คดีฆาตกรรมต่อเนื่องพอร์โทเปีย) ซึ่งเกมหลังนั้นออกจะเป็นเกมลักษณะวิชชวลโนเวล (Visual Novel) ที่เน้นการเล่าเนื้อเรื่องมากกว่าเกมอื่นๆ ในยุคเดียวกัน
ผลิตภัณฑ์ทันสมัยตัวนี้นี่เองที่ทำให้โคจิม่าอยากจะกลับไปเดินทางตามฝันเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่อยู่ในหัวของเขาออกมาให้คนอื่นได้รับทราบ เพราะครั้งหนึ่งชายคนนี้เคยพยายามเขียนเรื่องสั้นส่งให้นิตยสารแต่ก็โดนปัดตกไป (บ้างก็ระบุว่าเรื่องยาวเกิน บ้างก็กล่าวว่าเพราะนิยายนั้นเข้าใจยากเกินไป)
แต่ ณ ช่วงเวลานั้นที่อุตสาหกรรมเกมยังไม่แข็งแรงมากนัก การกระโดดไปทำงานโดยไม่มีความรู้ในการเขียนโปรแกรมเลยของ โคจิม่า ถือว่าเป็นอะไรที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ เลยทำให้คนรอบข้างตัวเขาคัดค้านอย่างยิ่ง ถึงระดับที่ว่าอาจารย์กับเพื่อนร่วมคณะออกปากคัดค้าน ก่อนที่จะกลายเป็นการพูดแซะในภายหลัง
ทว่าสิ่งที่ทำให้โคจิม่าตัดสินใจเลือกสมัครงานในบริษัท Konami อย่างหนึ่งก็คือการสนับสนุนจากผู้เป็นแม่ และอีกประการหนึ่งก็คือ โคจิม่าเห็นว่าบริษัทแห่งนี้มีชื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการรับประกันความมั่นคงให้ตัวเอง อย่างน้อยก็เป็นการเลือกโดยอ้างอิงจากวิชาที่เขาร่ำเรียนมานั่นเอง
และแล้วชายหนุ่มคนนี้ก็ได้ก้าวเข้าสู่โลกที่เขาจะได้สร้างสรรค์ผลงานที่เขาอยากจะปลดปล่อย… จริงหรือ?
ก้าวแรกบนเส้นทางการพัฒนาเกม กับ Metal Gear ภาคแรกสุด
โคจิม่าเข้ามาทำงานใน Konami ตั้งแต่ปีค.ศ. 1986 ช่วงแรกเขาทำงานอยู่ในแผนกของเครื่อง MSX อุปกรณ์กลุ่ม Home Computers ที่มีคนนิยมพอสมควรในประเทศญี่ปุ่นยุคนั้น หลายรุ่นสามารถเล่นเกมได้ และมีหลายรุ่นที่สามารถข้ามไปเล่นเกมของเครื่องเกมอื่นทั้ง Famicom ของ Nintendo กับ Mega Drive ของ SEGA
เกมแรกที่โคจิม่าเข้าไปร่วมพัฒนาคือเกมที่ชื่อ Lost World / Lost Warld แต่เกมนี้สุดท้ายถูกยกเลิกในการสร้างโดยทางบริษัทเอง ก่อนที่เขาจะไปเป็นผู้ช่วยในการออกแบบเกม Penguin Adventure / Yume Tairiku Adventure
ช่วงที่เก็บประสบการณ์อยู่นี้ โคจิม่าก็เกิดภาวะหวั่นไหวทางการงานเล็กน้อย เพราะไอเดียของเขานั้นยากที่จะหาคนเข้าใจ แม้ว่าจะเป็นในบริษัทผลิตเกมก็ตาม รวมถึงความลำบากในการทำงานกับฮาร์ดแวร์ของ MSX2 และเมื่อเขาได้รับโจทย์ให้ทำการผลิตเกมเกี่ยวกับสงคราม เขาจึงพลิกมุมมองด้วยการทำเกมสงครามที่เน้นการลอบเร้นอย่าง Metal Gear
Metal Gear เป็นเกมที่ออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1987 ซึ่งโคจิม่าได้เอาความชอบภาพยนตร์มาบรรจุลงอย่างเต็มประดา เขาเคยสัมภาษณ์หลายครั้งว่าเกมดังกล่าวได้รับแรงบันดาลส่วนหนึ่งมาจากภาพยนต์ ‘The Great Escape’ แต่ก็มีการหยิบจับเอาเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมาผสมกับเรื่องเหนือจริงสไตล์ไซไฟเบาๆ จนกลายเป็นเรื่องราวของ Solid Snake สายลับมือใหม่ของหน่วย FOXHOUND ที่ต้องบุกเข้าไปในพื้นที่ Outer Heaven เพื่อทำลาย Metal Gear พาหนะสองขาที่สามารถยิงจรวดนิวเคลียร์จากพื้นที่การรบใดก็ได้บนโลก
Metal Gear ถือว่าเป็นเกมที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดเกมของเครื่อง MSX2 และมีข้อมูลระบุว่าตัวเกมนั้นติดอันดับท็อป 20 เกมขายดีของเครื่องเกมดังกล่าวอยู่นานถึงห้าเดือน แม้ว่าตัวเกมนั้นจะบังคับให้ผู้เล่นซ่อนตัวจากศัตรูแทนที่จะเดินหน้าเข้าต่อสู้แทนก็ตามที ความนิยมของเกมทำให้ทาง Konami ได้นำเอาเกมนี้ไปพอร์ทลงเครื่อง Family Computer แต่ด้วยฮาร์ดแวร์ของเครื่องเกมที่แตกต่างกันทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกมไปจากฉบับเดิมอยู่มาก
ตอนนี้โคจิม่าเริ่มกลายเป็นที่จดจำจากคนเล่นเกมและบริษัทบ้างแล้ว ทำให้เขาเริ่มก้าวเข้าสู่การทำงานในขั้นถัดไป
หลอมรวมความเป็นภาพยนตร์ลงไปในเกม และ Metal Gear ภาคต่อ
หลังจากความสำเร็จของ Metal Gear แล้ว โคจิม่าก็สลับไปสร้างเกมใหม่ คือ ‘Snatcher’ เกมแนวไซไฟที่วางจำหน่ายบนเครื่องคอมพิวเตอร์ รุ่น PC-8801 กับ MSX2 ในปี ค.ศ. 1988 ตัวเกมเล่าเรื่องของสมาชิกในหน่วยงาน JUNKER ที่คอยไล่ล่าหุ่นยนต์รูปร่างมนุษย์ Snatcher ที่คอยไล่ฆ่าคน ซึ่งเกมนี้นั้นมีแรงบันดาลใจที่ชัดเจนมาจากภาพยนตร์ Blade Runner กับ Akira
เกมนี้โคจิม่าไม่ได้นั่งเก้าอี้กำกับเองแต่ยังนั่งเก้าอี้เป็นผู้เขียนบทและผู้ออกแบบเกม ทั้งยังใส่ความเป็นภาพยนตร์เข้าไปมากขึ้น กับเรื่องราวและภาพในเกมที่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ เพราะมีทั้งเรื่องเพศกับความรุนแรงแฝงอยู่ ซึ่งภายหลังสไตล์การเล่าเรื่องเช่นนี้ก็กลายเป็นรากฐานของการเล่าเรื่องเกมดุจภาพยนตร์ที่ปรากฏในเกมยุคต่อมาของผู้กำกับคนนี้
ระหว่างนั้นเอง Metal Gear ฉบับ Famicom ก็ทำยอดขายไปได้ดี จนมีแผนการพัฒนาเกมภาคต่อเกิดขึ้น และใช้ชื่อเกมภาคดังกล่าวว่า Snake’s Revenge โดยที่โคจิม่าไม่ได้รับรู้เรื่องราวในการพัฒนาเกมนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาบังเอิญได้เจอกับอดีตเพื่อนร่วมทีมพัฒนาเกม MSX ที่ย้ายไปประจำแผนกพัฒนาเกม Famicom บนรถไฟมาบอกว่า ตัวเกมมีการพัฒนาภาคต่อแล้ว และออกความเห็นว่า โคจิม่าควรจะสร้างภาคต่อที่แท้จริง นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนา Metal Gear 2: Solid Snake ขึ้นมา
Metal Gear 2: Solid Snake พัฒนาเพิ่มเติมจากภาคแรกที่ศัตรูมีความฉลาดมากขึ้น ไล่ล่าข้ามห้องได้ ทั้งยังสังเกตสังกาเสียงที่ผิดปกติได้อีกด้วย และในขณะเดียวกัน Solid Snake ก็มีลูกเล่นใหม่เพิ่มเติมเช่นกัน เพราะคราวนี้เขาต้องบุกไปยัง Zanzibarland เพื่อจัดการ Metal Gear D พร้อมกับต้องปะทะกับหัวหน้ากลุ่มโจรก่อการร้ายที่ความจริงแล้วก็คือ Big Boss อดีตหัวหน้าของเขานั่นเอง
ถึงเกมภาคนี้จะวางจำหน่ายให้กับเครื่อง MSX2 เมื่อปี ค.ศ. 1990 ในฐานะเกมสุดท้ายของ Konami บทแพลทฟอร์ม MSX2 ตัวเกมยังได้รับความชื่นชมอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไม่ใช่แค่ระบบเกม แต่ยังมีเสียงชื่นชมไปถึงเรื่องราวของเกมที่เข้มข้นมากขึ้น
แต่ยุคสมัยของเครื่องเกม 8 บิท กับ 16 บิท ที่ใช้ตลับหรือแผ่นเล่นเป็นหลักก็มาถึงจุดสิ้นสุดลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า โคจิม่าจะหยุดพัฒนาเกมตามแนวคิดของเขา แต่ออกจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามเสียมากกว่า
เดินทางสู่ยุค CD-Rom กับยุคสมัยใหม่ของ Metal Gear Solid
เวลาผ่านไปหลายปี อุตสาหกรรมเกมมีความเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย ในช่วงกลางยุค 1990s เครื่องเกม 32 บิท ที่ใช้ CD-ROM ก็กลายเป็นเครื่องเกมที่ครองตลาดไปเสียแล้ว
และในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ โคจิม่าก็นำเอาเกม Snatcher ไปลงเครื่องเกมอื่นๆ ที่เริ่มใช้ CD-ROM เป็นสื่อ โดยปรับชื่อเกมฉบับปรับปรุงเป็น Snatcher CD-ROMantic
จากนั้น โคจิม่าเองก็ใช้จังหวะที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น มาใช้เสริมการเล่าเรื่องในเกมแบบภาพยนตร์ที่เขาอยากทำ เขากลับมากำกับ เขียนบท และออกแบบเกม Policenauts เกมวิชชวลโนเวลไซไฟแบบจริงจังที่เล่าเรื่องของกลุ่มตำรวจอวกาศ (ตามชื่อ Policenauts ที่มาจากการสมาสคำ Police กับ Cosmonauts) ที่มี Jonathan Ingram สมาชิกคนหนึ่งของหน่วยเกิดอุบัติเหตุจนทำให้เขาถูกแช่แข็งไป 24 ปี เมื่อเขาได้กลับมาบนโลก เขาก็ได้รับงานให้สืบสวนกับอดีตภรรยา ที่นำพาเขาไปเจอเรื่องราวที่วุ่นวายมากกว่านั้นอีกมาก
ในตอนแรกเกมนี้ถูกพัฒนามาวางจำหน่ายบนเครื่องคอมพิวเตอร์ รุ่น PC-98 ในปี ค.ศ. 1994 ก่อนที่จะมีการนำไปจำหน่ายในเครื่องเกมที่ใช้ CD-ROM อย่าง 3DO, Sony PlayStation และ Sega Saturn ซึ่งตัวเกมเวอร์ชั่นสำหรับเครื่องเกมนั้นมีการปรับเปลี่ยนไปหลายๆ จุด แต่ที่โดดเด่นที่สุดคงไม่พ้นการปรับภาพจากการใช้ภาพแนว Pixel Art (สำหรับ PC-98) มาเป็นภาพลักษณ์อนิเมชั่นแทน
จากผลงานที่โคจิม่าทำมาต่อเนื่อง เขาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทั่วไปของทีมพัฒนาเกมแผนกที่ 5 ในปี ค.ศ. 1995 และเขาเริ่มมีทีมงานที่ไว้ใจได้มาทำงานด้วย และเขาก็ได้เริ่มกลับมาพัฒนาเกมในซีรีส์ Metal Gear อีกครั้งด้วยเช่นกัน
Metal Gear Solid เป็นเกมแรกของซีรีส์ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์กราฟิกสามมิติในการสร้างเกม ทำให้ตัวเกมสามารถปรับเปลี่ยนมุมมองได้อย่างลื่นไหล ตัวเกมยังมีเนื้อเรื่องที่ซับซ้อน กับระบบการเล่นที่เพลิดเพลิน ทำให้เกมได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อวางจำหน่ายบนเครื่อง PlayStation ในปี ค.ศ. 1998 เนื่องจากเกมวางจำหน่ายบนเครื่องเกมที่อยู่ในกระแสหลักจึงทำให้ชื่อเสียงของโคจิม่าขจรไกลสู่ผู้เล่นเกมหมู่มาก
และในช่วงปลายยุค 1990s โคจิม่ายังเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับเกมดังของ Konami เกมอื่น อย่าง Tokimeki Memorial Drama Series และ Beat Mania
จากความกังวลที่ว่า เขาทำงานในอุตสาหกรรมเกมแล้วจะมีความมั่นคงหรือไม่ แต่ในตอนนี้คงบอกได้แล้วว่า โคจิม่าประสบความสำเร็จแล้ว และเวลาก็ผ่านช่วง Y2K ไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่เดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง
กระโจนข้ามไปคุมเกมแนวอื่น และ การแตกกิ่งก้านสาขาของซีรีส์ Metal Gear
อุตสาหกรรมเกมในช่วงปีค.ศ. 2000 เป็นต้นไป มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อ DVD-ROM กลายเป็นสื่อใหม่ คนเล่นเกมก็เติบโตขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณ และอายุ ทำให่เกมสามารถเล่าเรื่องราวที่หลากหลายกว่าเดิมเช่นกัน
ในช่วงนี้เองที่โคจิม่าได้ลองข้ามไปมีส่วนร่วมในเกมแนวอื่นๆ ที่ก่อนหน้านี้อาจจะขาดตกในด้านการเล่าเรื่องราว หรืออาจจะเป็นการเข้าไปเพิ่มอะไรให้สดใหม่มากขึ้นกับเครื่องเกมบางประเภท
ซีรีส์หนึ่งที่โคจิม่าเข้าไปมีส่วนร่วมก็คือการเป็นโปรดิวเซอร์ของเกม Zone Of The Enders ซีรีส์หุ่นยนต์ที่เล่าเรื่องราวแบบเคร่งเครียดมากกว่าเกมยิงในสไตล์คล้ายๆ กันในยุคก่อนหน้า ตัวเกมวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2001 บนเครื่อง PlayStation 2 และ ได้รับความชื่นชมในระบบการต่อสู้ที่รวดเร็ว แม้ว่าตัวเกมจะโดนติติงอยู่บ้างจากปัญหาบางประการ แต่เกมก็ได้การตอบรับอยู่ในระดับที่ดี จนกระทั่งมีโอกาสได้ออกภาคต่อ Zone Of The Enders: The 2nd Runner ในปี ค.ศ. 2003
อีกซีรีส์ที่โคจิม่าช่วยดูแลและช่วยออกแบบก็คือซีรีส์เกม Boktai: The Sun Is In Your Hand สำหรับเครื่องเกมพกพา Game Boy Advance ที่ออกวางจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 2003 โดยที่ตัวของโคจิม่าร่วมออกแบบเนื้อเรื่องที่เป็นการต่อสู้ของมนุษย์กับเหล่า undead และตัวตลับเกมมีเซ็นเซอร์วัดแสงอาทิตย์ที่จะทำให้ตัวเอกเก่งขึ้นได้หากนำเกมนี้ไปเล่นกลางแดด โดยคอนเซ็ปต์เกมแบบนี้ก็เพื่อให้เด็กๆ ที่เป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลักของเกมได้ออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านกันบ้างนั่นเอง
ส่วนฝั่ง Metal Gear ตอนนี้ก็กลายเป็นซีรีส์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงมากพอที่บริษัทแม่อย่าง Konami ยินดีจะลงทุนให้ ทำให้ยุคสมัยที่ PlayStation 2 ตีตลาดโลก มีเกม Metal Gear ออกมาให้เล่นกันถึงสองภาค นั่นก็คือ Metal Gear Solid 2: Sons of Liberty และ Metal Gear Solid 3: Snake Eater
Metal Gear Solid 2: Sons of Liberty ที่วางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2001 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจาก Metal Gear Solid เป็นเวลา 2 ปี ตัวเอกอย่าง Solid Snake ได้ลอบเข้าไปสืบหาข้อมูลของ Metal Gear รุ่นใหม่ ที่นาวิกโยธินของสหรัฐอเมริกานำมาใช้งาน ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายและทำให้เชื่อว่า Solid Snake ได้เสียชีวิตจากไปแล้ว เมื่อเกิดเหตุก่อการร้ายครั้งใหม่ในอเมริกา Raiden ที่เป็นสายลับหน้าใหม่จึงเข้ามารับช่วงทำงานต่อแทน โดยที่เหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงตัวตนของ Raiden นั้นกลับไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็นและเข้าใจอย่างที่มันเป็น และเรื่องราวทั้งหลายที่เกิดขึ้นในเกมซีรีส์นี้นั้นมีองค์กรลับ Patriots อยู่เบื้องหลัง
ส่วน Metal Gear Solid 3: Snake Eater ที่วางจำหน่ายในปีค.ศ. 2004 เป็นการเล่าย้อนไปยังอดีต ตอนที่ Big Boss หัวหน้าของ Solid Snake ยังเป็นหนุ่ม กับภารกิจที่ยับยั้งการก่อเหตุสงครามโลกครั้งที่สาม และเป็นการสร้างอำนาจขององค์กรลับ Patriot กับเหตุผลคร่าวๆ ว่าทำไม Big Boss ถึงได้ยอมทรยศมาตุภูมิในเกม Metal Gear 2 (ที่วางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1990)
นอกจากเกมภาคใหม่แล้ว ในช่วงปี ค.ศ. 2004-2006 ยังมีการพัฒนาเกมภาคแยกย่อยของ Metal Gear ออกมาด้วย อาทิ เกม Metal Gear Solid: The Twin Snakes สำหรับเครื่องเกม Nintendo GameCube ที่เป็นการนำเกมภาคแรกมาทำใหม่ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับมุมมองของ โคจิม่ามากขึ้น, Metal Gear Acid สำหรับเครื่องเกม PlayStation Portable ที่กลายเป็นเกมแนววางแผนการรบและเนื้อเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเกมหลัก และ Metal Gear Solid: Portable Ops สำหรับเครื่องเกม PlayStation Portable ที่พยายามจำลองสไตล์เกมดั้งเดิมให้มาอยู่ในเครื่องเกมพกพา แม้ว่าเนื้อเรื่องจะไม่เชื่อมโยงกับภาคหลักโดยตรง
และด้วยเกมจำนวนมากที่ออกมานี้ทำให้ชื่อของโคจิม่าเริ่มปรากฏผ่านสื่อต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่ฐานะผู้พัฒนาเกมที่ขายดีเท่านั้น แต่เขายังเริ่มได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆ ในฐานะผู้พัฒนาเกมที่สร้างผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ได้ด้วย
นับถอยหลังเข้าสู่การลาจาก Konami และ Metal Gear
เพราะว่างานที่เขาพัฒนา โดยเฉพาะ Metal Gear กลายเป็นสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ให้กับ Konami อย่างมาก โคจิม่าจึงได้รับอำนาจในบริษัทมากขึ้น ที่เห็นเด่นชัดก็คือในปี ค.ศ. 2005 เขาได้ทำการก่อตั้ง Kojima Productions ทีมพัฒนาเกมและซอฟท์แวร์ ที่ทำงานให้กับ Konami และรับตำแหน่งเป็นรองประธานบริษัท
และในช่วงเวลาดังกล่าว โคจิม่าก็พัฒนา Metal Gear Solid 4 ที่เป็นเกมภาคใหม่ของซีรีส์ ควบคู่กับการดูแลเกมหลายๆ เกม และสุดท้ายเกม Metal Gear Solid 4: Guns Of The Patriots ที่ถือว่าเป็นจุดอวสานเรื่องของตัว Solid Snake ก็ออกวางจำหน่ายบนเครื่อง PlayStation 3 ในปี ค.ศ. 2008
Metal Gear Solid 4: Guns Of The Patriots เป็นเนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ในเกม Metal Gear Solid 2: Sons of Liberty เป็นเวลา 5 ปี ณ ตอนนี้ Solid Snake ที่รู้ชัดแล้วว่าเป็นโคลนของ Big Boss ก็แก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เขาต้องรีบปิดบัญชีกับ Revolver Ocelot ชายที่เชื่อมโยงกับเขาและเหตุการณ์อันหลากหลาย จนกลายเป็นศึกพัวพันระดับนานาชาติ และในขณะเดียวกัน Solid Snake ก็ได้รับทราบว่าตัวต้นของ Patriots แท้จริงมีแผนการอย่างไรและใครเป็นผู้ก่อตั้ง โดยมีช่วงชีวิตสุดท้ายสั้นๆ เป็นตัวเร่งเร้าให้ทุกอย่างต้องรีบเดินหน้าปิดฉากทุกสิ่ง
แม้ว่า Metal Gear ภาคหลักแต่ละภาคมักจะใช้เวลานาน แต่ตัวเกมภาคนี้ก็ยังได้รับคำชื่นชมจากนักเล่นเกมจำนวนมาก จะมีที่ติติงกันก็ตรงที่ว่าในเกมภาคนี้ซึ่งต้องเล่าเรื่องราวปิดม่านตัวละคร Solid Snake มีส่วนของคัทซีนที่ยาวจนเหมือนจะดูหนังมากกว่าเล่นเกม แต่ถ้ามองอีกแง่ การทำหนังก็เป็นสิ่งที่โคจิม่าเคยฝันไว้ในวัยเด็ก
แม้ว่าเกม Metal Gear Solid 4 ควรจะเป็นการปิดฉากเกมซีรีส์นี้ แต่โคจิม่าก็มาสร้างเกมภาคใหม่ให้ติดตามกันในปีค.ศ. 2010 กับเกม Metal Gear Solid: Peace Walker สำหรับเครื่องเกมพกพา PlayStation Portable ที่เล่าเรื่องของ Big Boss หลังจากเกม Metal Gear Solid 3: Snake Eater ว่าเขาไปทำอะไรต่อ ก่อนที่จะมาเป็นผู้นำของกองกำลังทหาร Outer Heaven ในเวลาต่อมา
แม้ว่าเครื่องเกมจะมีขัดจำกัดแต่ตัวเกมก็มีการพัฒนาลูกเล่นใหม่ๆ เข้ามา อย่างการเลือกเล่นเป็นภารกิจ (ด่าน), เลือกอุปกรณ์ก่อนจะออกปฏิบัติการ, ต้องจับกุมทหารเพื่อให้มาเป็นลูกทีมคอยสนับสนุนการทำงานของ Big Boss ฯลฯ จึงทำให้เกมนี้ใช้ทีมพัฒนาจำนวนมาก จนเกือบจะตั้งชื่อเกมไปว่า Metal Gear Solid 5 เสียด้วยซ้ำ และด้วยความที่เกมมีความหลากหลาย ทำให้เกมนี้ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นเกมที่ยอดเยี่ยมในระดับต้นๆ ของเกมที่วางจำหน่ายบนเครื่องเกมพกพานี้
แม้ว่า Kojima Productions อาจจะกระโดดไปทำงานกับเกมซีรีส์อื่นอยู่เป็นระยะๆ แต่ตัวของ โคจิม่าก็ยังคงวนเวียนอยู่กับเกม Metal Gear เป็นหลัก อย่างเช่น เป็นโปรดิวเซอร์ที่ดูแลการพัฒนา Metal Gear Arcade ซึ่งเป็นการเอาระบบของเกม Metal Gear Online ที่เป็นส่วนแถมของ Metal Gear Solid 4 มาทำเป็นเกมตู้ แต่เปิดให้บริการเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น และยอมยกผลงานของตัวเองที่เขาหาจุดลงตัวในการสร้างไม่เจอไปให้ทีมพัฒนาเกมทีมอื่นสร้าง จนกลายเป็นเกม Metal Gear Rising: Revengeance เกมแอคชั่นฟันแหลก ที่เล่าเรื่องของ Raiden ตัวเอกของ Metal Gear Solid 2 ว่าชีวิตของเขาเป็นไปแบบใดบ้างหลังจากเหตุการณ์ใน Metal Gear Solid 4
และในที่สุด แม้ว่าเจ้าตัวจะออกปากว่าจะ “กำกับ Metal Gear ภาคนี้เป็นภาคสุดท้าย” หลายครั้ง สุดท้าย โคจิม่าก็เริ่มพัฒนา Metal Gear Solid ภาคใหม่ในช่วงปี ค.ศ. 2012 และคราวนี้มาพร้อมกับเอนจิ้นเกมที่สร้างภาพสุดสมจริงที่ชื่อว่า ‘Fox Engine’ แต่ตัวเกมก็เงียบหายไประยะหนึ่ง ก่อนจะมีความไวรัลออกมาเมื่อมีทีมพัฒนาเกมลึกลับชื่อ Moby Dick Game กลับเปิดตัวเกมที่สุดท้ายมีการระบุว่าใช้เอนจิ้นดังกล่าวในการพัฒนาเกม
แต่ภายหลังก็มีการเฉลยว่า ทีมพัฒนาเกมดังกล่าวเป็นการสร้างกระแสไวรัลโดยโคจิม่าร่วมคิดเรื่องดังกล่าวด้วย และสไตล์การโฆษณาตัวเองแบบไวรัลเบาๆ แบบนี้กลายเป็นสไตล์การทำงานในภายหลังของชายหนุ่มใส่แว่นคนนี้ไปด้วย
ถึงเกมจะได้รับกระแสดีก่อนวางจำหน่าย แต่เมื่อเกมเริ่มเปิดเผยรายละเอียดมากขึ้นก็มีอะไรชวนให้แปลกใจตามมาหลายประการ ทั้งการปรับเปลี่ยนผู้พากย์เสียง Solid Snake, การเกริ่นออกมาว่าจะมีการสร้างเกมที่เป็นเนื้อเรื่องเกริ่นนำชื่อ Ground Zeroes ออกมาก่อน แต่สุดท้าย เกม Metal Gear Solid V: Ground Zeroes ก็ออกมาจำหน่ายในปี ค.ศ. 2014 บนเครื่องเกมในยุคนั้น ทั้งฝั่งของ PlayStation 3 และ 4, Xbox 360 และ One รวมไปถึงบนคอมพิวเตอร์ด้วย
เกมภาค Ground Zeroes ได้รับกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดี ตัวละครที่เคยทำอะไรได้หลายอย่างแล้วก็ทำเพิ่มเติมขึ้นได้อีก และเกมเปิดเส้นทางให้กับผู้เล่นในการทำภารกิจมากขึ้น ที่โดนติงก็คือตัวเกมนั้นไม่ได้ใช้เวลามากนักจนไม่น่าจะคิดราคาค่าตัวของเกมให้แพง ในการเล่นให้จบกับเรื่องราวที่ค้างคาขั้นสุด แต่หลายคนก็ยังพร้อมจะเปิดใจว่าเกมฉบับเต็มที่จะตามออกมา
ก่อนที่เกม Metal Gear ภาคใหม่ฉบับต่อจะออกวางจำหน่าย ชื่อของโคจิม่าก็ปรากฏบนเกมอีกเกมหนึ่งที่หลายคนคาดไม่ถึง เมื่อจู่ๆ มีเดโมเกมชื่อว่า P.T. หรือ Playable Teaser ออกมาให้โหลดกันสำหรับเครื่อง PlayStation 4 ในช่วงเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 2014 แม้ว่าตัวเกมจะไม่มีอะไรบอกอย่างชัดเจน แต่สุดท้ายแล้วคนที่เล่นเกมนี้จนจบก็จะทราบว่าเกมดังกล่าวคือตัวอย่างเสี้ยวแรกของเกม Silent Hills ที่ใช้ Fox Engine และเกมจะเป็นการกำกับร่วมกันของ โคจิม่า กับ กิลเยร์โม่ เดล โตโร่ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังอีกด้วย
Metal Gear V: Phantom Pain ที่คอเกมเชื่อว่าเป็นเกมเต็มออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2015 แต่ก่อนที่เกมจะออกวางจำหน่ายราวครึ่งปี ก็มีข่าวชวนแปลกใจลอยตามมา เมื่อทาง Konami ได้ประกาศการปรับโครงสร้างบริษัทประจำปีและมีการระบุว่าจะเปลี่ยนแนวทางการทำตลาดด้านสื่อบันเทิงดิจิตัลให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น และมีการปลดชื่อ Kojima Productions รวมถึง ชื่อของโคจิม่าออกจากสื่อโฆษณา ก่อนจะมีข่าวลือระบุว่ามีการปิดตัว Kojima Productions แล้วเนื่องจากผู้บริหารของ Konami มีแนวทางในการทำงานที่แตกต่างจากมุมมองของโคจิม่า
แม้ว่าทาง Konami กับตัวของ โคจิม่า จะออกมาแก้ข่าวว่า พวกเขายังทำงานร่วมกันอย่าง 100% กับเกม Metal Gear V: Phantom Pain แต่ในภายหลังก็มีภาพหลุดที่ระบุว่า เป็นงานเลี้ยงอำลาของโคจิม่า
ถึงจะมีเหตุขลุกขลักเกิดขึ้น ตัวเกม Metal Gear Solid V: The Phantom Pain ก็ออกวางจำหน่าย สำหรับเครื่อง PlayStation 3, PlayStation 4, Xbox 360, Xbox One และคอมพิวเตอร์ ตัวเกมที่เล่าเรื่องของ Big Boss หลังจากเหตุการณ์ในภาค Peace Walker ที่เขาต้องเสียแขนไปหนึ่งข้างและการพยายามกลับมาสร้างโลกในอุดมคติ เขาได้พบเจอใคร สูญเสียอะไรไปบ้าง และทุกข์ทนกับเรื่องเหล่านั้น ดุจดั่งอาการเจ็บปวดลวงของผู้พิการ
ตัวเกมได้รับกระแสนิยมอย่างล้นหลาม และทำยอดขายที่ดีแต่ข่าวลือที่โคจิม่าจะลาออกก็มีแนวโน้มเป็นเรื่องจริงมากขั้น เพราะมีการปลดตัวเกม P.T. ไม่ให้โหลด มีการปลดชื่อของโคจิม่าออกจากตัวเกม Metal Gear Solid V: The Phantom Pain และสุดท้ายก็มีการยืนยันในช่วงเดือนธันวาคม ปีค.ศ. 2015 ว่า โคจิม่าได้ลาออกจากการทำงานในบริษัทที่เขาอยู่ร่วมงานมาเกือบ 30 ปีแล้ว
สำหรับสาเหตุการลาออกนั้น มีมุมมองออกมาหลายต่อหลายอย่าง นับตั้งแต่การปรับโครงสร้างที่ทำให้ โคจิม่าตัดสินใจถอนตัวจากบริษัท, การที่เกมของโคจิม่านั้นใช้เงินทุนและเวลาในการสร้างมากเกินไปจนผู้บริหารไม่ค่อยโอเค หรือแม้แต่ข่าวลือที่ว่ามีความหมั่นไส้จากผู้บริหารจนเกิดการไล่ออกฟ้าผ่าขึ้น ส่วนที่น่าเสียดายจริงๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่สินทรัพย์หลายๆ อย่างที่ Kojima Productions มีส่วนร่วม อย่างเช่น Fox Engine ก็ถูกยุติการพัฒนาต่อยอดไปด้วย
เหตุผลที่แท้จริงในการแยกทางกันของ ชายหนุ่ม กับ บริษัทใหญ่ นั้นคงไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ก็คงจะมีแค่ทฤษฎีว่ามีอะไรที่ทำให้เดินทางมาถึงจุดแตกหักนี้
เส้นทางของ โคจิม่า ฮิเดโอะ หลังออกจากร่มเงาที่ชื่อว่า Metal Gear
หลายคนคาดการณ์ได้ไม่ยากเย็นนักว่าโคจิม่าจะต้องกลับมาพัฒนาเกมอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะหลังจากมีข่าวยืนยันทางการว่า เขาได้สิ้นสภาพความเป็นพนักงานของทาง Konami ชายหนุ่มใส่แว่นคนนี้ก็แถลงข่าวว่าร่วมกับ Sony Computer Entertainment จะกลับมาทำงานอีกครั้งในฐานะทีมพัฒนาเกมอิสระ Kojima Productions ซึ่งมีทีมงานเก่าที่คุ้นเคยมาร่วมทางไปด้วยกัน และมีแผนจะพัฒนาเกมใหม่ให้เครื่อง PlayStation 4 แต่ในขณะเดียวกันก็มีการเกริ่นเอาไว้ว่าพวกเขามีโอกาสจะพัฒนาเกมลงแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่นกัน
หลังจากเปิดตัวบริษัทอีกครั้งในปลายปีค.ศ. 2015 ก็มีข่าวออกมาในปีค.ศ. 2016 ว่า โคจิม่ากำลังพัฒนาเกมใหม่ที่ชื่อว่า Death Stranding พร้อมกับปล่อยตัวอย่างที่หลายคนไม่เข้าใจว่าตัวเกมจะเป็นอะไรกันแน่ นอกจากการที่ นอร์แมน รีดัส นักแสดงที่หลายคนจำหน้าได้จากการแสดงในซีรีส์ Walking Dead จะมารับบทนำ เหมือนที่เขาเคยร่วมงานกันมาครั้งหนึ่งแล้วในเกม P.T.
จากนั้นหลายคนก็จะได้เห็นโคจิม่าอัพเดตสื่อสังคมออนไลน์ในแบบแปลกๆ อยู่เป็นระยะๆ ที่หลายคนมักจะคุ้นเคยจนเอาไปแซวคือการที่เขามักจะถ่ายรูปคู่กับดาราเซเลปฮอลลีวูดอยู่บ่อยครั้ง นานๆ ทีก็จะมีโพสต์ภาพของเล่น โพสต์แนะนำเพลง โพสท์รีวิวหนัง หรือภาพที่ตัวเองเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ
แม้จะดูแล้วชวนสงสัยว่าการโพสต์นั้นมีเป้าหมายอะไร แต่หากมองในแง่ว่า ตอนนี้ Kojima Productions คือทีมพัฒนาเกมหน้าใหม่ที่ยังไม่มีผลงาน การกระทำต่างๆ นั้นก็คงเป็นเหมือนการ PR งานของพวกเขาเองด้วยการใช้พลังดาราของคนที่พวกเขาไปพบปะ นอกจากนั้นภาพหลายภาพที่ดูไม่มีความหมายในการโพสต์ครั้งแรก มักจะเป็นเศษเสี้ยวของการทำงาน อย่างเช่น การโพสท์ภาพไปเยี่ยมชม Guerrilla Games ผู้พัฒนาเกม Horizon Zero Dawn ก็นำพาสู่การร่วมพัฒนา Decima ที่สุดท้ายนำมาใช้งานกับเกม Death Stranding ส่วนการโพสต์ภาพกับดารานั้นก็มักจะลงเอยด้วยการที่เซเลปดาราเหล่านั้นกลายเป็นตัวละครใหม่ในเกมของโคจิม่าเช่นกัน อย่างเช่น แมดส์ มิคเคลสัน, เลอา แซดู, กิลเยร์โม เดล โตโร่
อีกส่วนหนึ่งที่โคจิม่าดูออกสื่อมากขึ้น โชว์ภาพที่ชวนอิจฉาบ่อยขึ้น ก็คงเพราะนโยบายของ Konami ที่ไม่ค่อยให้พนักงานเปิดตัวต่อหน้าสื่อเท่าใดนัก เมื่อชายหนุ่มใส่แว่นที่พัฒนาเกมจนคนจดจำชื่อได้ออกมาจากกรอบนั้น ก็ทำให้เกิดภาวะที่เหมือนปลดปล่อยมากกว่าที่เคยเป็นมา
Death Stranding ใช้เวลาพัฒนาเกมที่ค่อนข้างรวดเร็วหากเทียบกับเกมอื่นๆ ก่อนหน้าของโคจิม่าส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาคิดแผนการพัฒนาเกมนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่หลายคนที่รับชมตัวอย่างก็ไม่เข้าใจว่าเกมอยากบอกอะไรกันแน่ เพราะแม้แต่ตัวอย่างการเล่นที่ออกมายาวๆ นั้น ก็ยังมีแต่อะไรชวนให้สงสัย ทั้งการที่เกมอนุญาตให้ผู้เล่นปัสสาวะได้, เกมเน้นการเดินทางขนสินค้าจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง, เกมต้องการให้ผู้เล่นรักษาบาลานซ์ในระหว่างการเดิน, มีฝนที่เรียกว่า Timefall ซึ่งเร่งเวลาสิ่งมีชีวิตที่เปียกปอนจากสิ่งนี้ ฯลฯ
ถึงแม้ว่าจะมีแต่อะไรชวนน่าสงสัย และตัวผู้กำกับอย่างโคจิม่าเองก็บอกว่ายังอธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าเกมแนวที่เขาเรียกว่าเป็นเกมแนว Strand ที่มีกำหนดออกวางจำหน่ายในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. 2019 จะเป็นเกมลักษณะอย่างไร
แม้ว่าจะมีอะไรหลายอย่างที่ชวนสับสนแบบสุดๆ แต่หากมองย้อนไปว่า ณ จุดที่โคจิม่าเริ่มต้นสร้างเกม คนส่วนมากก็ไม่เข้าใจว่าเขาอยากจะทำอะไรเช่นกัน เราเชื่อว่าตัวเกม Death Stranding จะมีอะไรที่มากกว่าภาพที่เราเห็น และหลังจากนี้ ชายที่บอกว่าตัวตนของตัวเองมาจากภาพยนตร์ ก็คงจะหาทางปล่อยของที่อยู่ในตัวของเขาออกมาให้ชาวโลกได้เห็นอยู่ดี
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก
ภาพปกจาก www.gameinformer.com