ช่วงต้นฤดูหนาวของปี 2007 โรงภาพยนตร์ของบ้านเราได้เปิดม่านต้อนรับหนังไทยเรื่องหนึ่งที่หลายต่อหลายคนเข้าไปรับชมเรื่องนี้ด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นเรื่องรักชวนลุ้นของวัยว้าวุ่นในดินแดนที่ถือว่าเป็นจุดศูนย์รวมความทันสมัยของชาวไทย ก่อนที่ผู้ชมแทบทุกคนจะต้องแปลกใจ ไม่ว่าจะแง่ดีหรือในแง่ร้ายก็ตาม เพราะกลายเป็นว่า หนังที่น่าจะจบแค่ความรักวัยรุ่น กลับกลายเป็นหนังไทยที่กล้าพูดถึงเรื่องความรักอย่างหลากหลายรูปแบบ และสุดท้ายหนังก็กลายเป็นที่จดจำจากสังคม ไม่ว่าจะในแง่หนังดี หรือในแง่หนังเกย์ก็ตาม
ณ ปี 2017 ที่อายุของหนัง รักแห่งสยาม ได้ครบรอบสิบปี พิช-วิชญ์วิสิฐ หรือ ที่หลายคนยังเรียกเขาอย่างติดปากว่า ‘มิว รักแห่งสยาม’ เพิ่งตัดสินใจแสดงละครเวทีเดี่ยวอย่าง Private Conversation : A Farewell To Love Of Siam เพื่อเป็นการทิ้งทวนบทบาทเดิมที่หลายคนมองมันว่าเป็นเนื้อเดียวกันกับเขา ส่วนมาริโอ้ เมาเร่อ ที่แม้หลายคนจะไม่ได้ติดภาพเขาจากหนังเรื่องนั้นในฐานะ ‘โต้ง’ แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าถ้าเขาไม่ได้แสดงหนังเรื่องดังกล่าว มาริโอ้ก็อาจจะไม่ได้ข้ามกำแพงเดิมแล้วกลายเป็นนักแสดงที่มีความสามารถ และหลายคนก็ยังถามว่า ‘จูน’ กับ ‘แตง’ ในเรื่องเป็นคนเดียวกันใช่ไหม?
กับอีกคำถามหนึ่งที่หลายคนอาจจะเพิ่งนึกขึ้นมาได้ในตอนนี้ก็คือ ‘รักแห่งสยาม’ เป็นหนังที่เปิดโอกาสให้ ภาพยนตร์ไทยกล้านำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศขึ้น หรือพูดแบบหยาบคายก็คือ เป็นหนังที่ทำให้ ‘พวกรักร่วมเพศ’ ได้ขึ้นจอมากขึ้นหรือเปล่า
เพื่อที่จะค้นหาคำตอบของคำถามนี้ เราอาจจะต้องย้อนไปดูภาพในอดีต ก่อนจะกลับมาบรรจบที่ภาพปัจจุบันของปี 2017 นี้
จุดเริ่มต้นของการมีอยู่ของตัวละครเพศทางเลือกในประเทศไทย
ถ้าเอาตามความเข้าใจของคนทั่วไปแล้ว เมื่อพูดถึงหนังที่มีตัวละครเพศทางเลือกแบบโดดเด่นแล้ว คนยุคนี้มักจะนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘เพลงสุดท้าย’ ที่ออกฉายในปี 1985 เป็นหนังที่เล่าเรื่องของ สมหญิง ดาวราย นางโชว์ที่โดดเด่นของทิฟฟานี่โชว์ ผู้ผิดหวังกับความรักและกลายเป็นโศกนาฏกรรมไปในที่สุด
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาพยนตร์ที่มีตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศรับบทเด่นเท่าที่มีหลักฐานสืบค้นได้ในปัจจุบัน คือหนังเรื่อง ‘กะเทยเป็นเหตุ’ ที่ออกฉายตั้งแต่ปี 1955 เรื่องราวในหนังสั้นเรื่องนี้เกี่ยวกับหญิงคนหนึ่งที่่พยายามไปตามตัวคู่หมั้น ผู้ติดบิลเลียดจนละเลยตัวเธอ ด้วยเหตุนี้สาวคนนี้จึงตัดสินใจไปเที่ยวกับชายอื่น เมื่อเห็นว่าหญิงสาวตัวเองกำลังจิ๊จ๊ะกับชายแปลกหน้า คู่หมั้นหนุ่มจึงพยายามเข้าไปทำร้ายชายแปลกหน้า ทว่าหมู่ทอนผู้เป็นทหารประจำอยู่แถวนั้นก็มาห้ามปราม ก่อนจะพยายามชิงตัวหญิงสาวคนนั้น แต่ขณะที่หมู่ทอนพยายามแนบชิดก็พบว่า แท้จริงแล้วหญิงสาวเป็นกะเทย
ถึงจะเป็นหนังสั้นขาวดำไร้เสียง และเป็นเพียงแค่ภาพยนตร์สมัครเล่นที่ถ่ายทำโดยพนักงานธนาคารมณฑล (ธนาคารกรุงไทยในปัจุบัน) แต่หนังก็สะท้อนภาพสังคมของสมัยนั้นว่าสังคมคุ้นเคยกับ ‘กะเทย’ ที่มีหน้าตาสวยงามแล้ว แม้แต่ทางหอภาพยนตร์ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ว่า “มองลึกๆ ลงไปว่า แฟนหนุ่มของกะเทยคนนี้ ที่เรียกหาเธอว่า ‘คู่หมั้น’ นั้น ก็ย่อมรู้ว่าเธอเป็นกะเทย นั่นก็แสดงว่า นอกจากหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นหนังไทยเรื่องแรกเท่าที่เราพอมีหลักฐานพิสูจน์ได้ที่นำเสนอตัวละครกะเทยแล้ว ยังนำเสนอความสัมพันธ์ของกะเทยกับชายหนุ่มที่เป็นถึงคู่หมั้นกันอีกด้วย”
แต่มองอีกแง่หนึ่งก็ชวนคิดเช่นกันว่า กลุ่มเพศทางเลือกหรือกะเทยในหนังเรื่องนี้่ก็ถูกนำเสนอในฐานะตัวละครโปกฮาไม่ต่างอะไรกับยุคปัจจุบัน
จากจุดเริ่มสู่ช่วง 1970 กับความโดดเด่นของตัวละครหลากหลายทางเพศที่เพิ่มขึ้น
นอกจากบทตลกโปกฮา อีกบทบาทหนึ่งที่หนังไทยสมัยก่อนมอบให้ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศก็คือการรับบทตัวร้าย ไม่ว่าจะเป็นตัวร้ายเด่นหรือตัวร้ายสมทบก็ตามที ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือเรื่อง ‘คนกินเมีย’ ในปี 1974 ที่เรื่องราวเหมือนจะมีความเชื่อที่ว่าหากพระเอกจะแต่งงานกับใคร สาวคนนั้นก็ตายเสียหมด แต่เมื่อเข้าช่วงท้ายของเรื่อง ก็มีการเฉลยว่าตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องที่น้าชายของตัวเองเป็นไบเซ็กชวลที่ต้องการจะครอบครองพระเอก
และอย่างที่เรากล่าวไปในย่อหน้าที่แล้วว่า ภาพยนตร์ที่มอบบทเด่นให้ตัวละครหลากหลายทางเพศและมีคนเข้าชมจำนวนมาก ก็คือเรื่อง ‘เพลงสุดท้าย’ ที่ออกฉายในปี 1985 ก่อนที่จะการดัดแปลงเป็นละครเวทีเรื่อง ‘ฉันผู้ชายนะยะ’ ที่บอกเล่าความซับซ้อนของกะเทยที่แอ๊บแมนในสังคมที่ยังไม่พร้อมรับพวกเขา มาสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายในปี 1987 อีกทีหนึ่ง
ถ้าสังเกตดูแล้วจะเห็นได้ว่าบทภาพยนตร์ในสมัยก่อนกลับมีความทันสมัยในการนำเสนอเพศสภาพกับเพศวิถีมากกว่าภาพยนตร์ใหม่ๆ บางเรื่องในยุคนี้ ซึ่งเชื่อว่ามันเป็นผลข้างเคียงจากเหตุการณ์ที่กำลังจะกล่าวถึงในช่วงเวลาต่อไป
ข้ามสู่ยุค 1990s เมื่อหนังไทย ความเงียบเหงาของวงการหนังไทย และตัวละครหลากหลายทางเพศ
ในช่วงยุค 1990s นี้เอง เคยมีผู้ติดตามประวัติศาสตร์หนังไทยกล่าวว่า เป็นช่วงที่ ‘หนังไทยตายแล้ว’ ด้วยเหตุผลที่ว่าจากเดิมที่หนังไทยเคยมีเนื้อหาหลากสไตล์ เริ่มวนเวียนเหลือแค่หนังตลก หนังบู๊ และหนังผี และหนังแนวชีวิตที่เล่าเรื่องคนหลายกลุ่มโดนลดบทบาทลง ประกอบด้วยการที่ภาษีนำเข้าภาพยนตร์ต่างชาติถูกลดลงจนทำให้มีการนำหนังยอดฮิตจากฝั่งฮอลลีวูดเข้ามาในบ้านเราจนเริ่มเป็นเรื่องปกติ
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็คือ หนังไทยในช่วงนั้นได้เริ่มสร้างหนังวัยรุ่นเพื่อเรียกให้คนดูเข้ามารับชมนักแสดงหน้าตาดี ส่วนหนังแนวอื่นๆ ก็มีการลดทุนสร้างลงจนวงการหนังไทยถดถอยลงไปอย่างชัดเจน และทำให้หนังในช่วงยุคนั้นแทบจะไม่เอาตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศมาเป็นตัวเอกเลย จะมีก็แต่ตัวละครสมทบที่ไม่ได้มีผลต่อเนื้อเรื่องมากนัก
แต่ไม่ได้หมายความว่ายุคสมัยนี้ของหนังไทยจะไม่มีความหมายต่อภาพยนตร์ไทยที่มีตัวละครผู้มีความหลากหลายทางเพศโดดเด่น เพราะว่าผู้กำกับหลายคนที่นิยมทำหนังเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เริ่มทำงานในยุคนี้ อย่างเช่น พจน์ อานนท์ หรือ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นอาทิ
หรือถ้าบอกว่า ณ จุดนี้ เหล่าคนทำหนังเกี่ยวกับผู้มีความหลากทางเพศกำลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ก็ไม่ผิดนัก
2000 ได้เวลา เพศทางเลือก โดดเด่นในหนังไทยอีกครั้ง
ถึงเมื่อครู่จะกล่าวไปว่า ‘หนังไทยตายแล้ว’ แต่หนังไทยก็ไม่เคยตาย แล้วก็เป็นช่วงที่เข้าสู่ยุค 2000 นี้นี่เองที่หนังไทยกลับมาพร้อมการสร้างผลงานที่มีแบบแผนมากขึ้น รวมถึงว่าเนื้อหาของหนังต่อให้ยังทำตามแนวหนังยอดนิยมอยู่ก็มีความลุ่มลึกมากขึ้นเช่นกัน และตัวละครในหนังที่เป็นคนมีความหลากหลายทางเพศก็กลับมาเพิ่มมากขึ้น ทั้งในฐานะตัวละครสมทบแต่มีปมสำคัญ อย่างเช่น โกซิกซ์ โกหกปลิ้นปล้อน กะล่อนตอแหล (ออกฉายในปี 2000) ของผู้กำกับพจน์ อานนท์
หรือที่กลายเป็นเทรนด์อยู่ช่วงหนึ่งก็คือการจับเอาคนดังที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศในช่วงนั้นมาแสดงหนัง อย่างเรื่อง สตรีเหล็ก ที่ดัดแปลงมาจากทีมวอลเลย์บอลชายจริงๆ หรือ บิ้วตี้ฟูล บ็อกเซอร์ ที่จับเอาประวัติชีวิตส่วนหนึ่งของ น้องตุ้ม-ปริญญา เจริญผล มาขึ้นจอเงิน
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้ทำหนังเกี่ยวข้องกับตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็สร้างงานหลายชิ้นที่ได้รับการจับตามองจากทั้งในและนอกประเทศอย่าง ดอกฟ้าในมือมาร (ออกฉายในปี 2000), สุดเสน่หา (ออกฉายในปี 2002) และ หัวใจทรนง (ออกฉายในปี 2003)
อีกจุดหนึ่งที่น่าสังเกตในยุคนี้ก็คือ ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศในยุคนี้มีมิติตัวละครที่ซับซ้อนมากขึ้นไม่ต่างกับตัวละครปกติในหนังทั่วไป รวมถึงว่าฉากจบของหนังสมัยนี้ก็เริ่มเปิดโอกาสให้ตัวละครเพศทางเลือกทั้งหลายได้จบลงอย่าง Happy Ending กับเขาบ้าง หลังจากที่ช่วงก่อนหน้า หากไม่จบแบบโศกนาฏกรรม ก็จะเป็นการจบที่เหมือนว่าพวกเขาจะไปเจอความวายป่วงในภายภาคหน้าอีก
2007 แล้ว ‘รักแห่งสยาม’ ก็มาถึง
ความจริงในปีนี้ยังมีภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีเข้าฉายอยู่อีกหลายเรื่องทั้ง Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ, ตั๊ดสู้ฟุด, คู่แรด, รักไม่จำกัดนิยาม และ เพื่อน…กูรักมึงว่ะ
การที่ ‘รักแห่งสยาม’ โดดเด่นกว่าหนังเรื่องอื่นนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการตลาดของหนังที่หลอกคนดูว่าเป็นหนังรักวัยรุ่นทั่วไป แต่อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังถูกจดจำมาอย่างยาวนาน คงเพราะตัวเนื้อหาของหนังที่ไม่ได้เป็นหนังตลก หรือพยายามป้อนคำตอบของการเลือกเพศสภาพกับเพศวิถี หนังแค่เล่าเรื่องความรักของคนในหลายๆ รูปแบบ ที่ส่วนหนึ่งนั้นสามารถลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์แต่ละบุคคลได้ กับฉากจบที่ทิ้งคำถามให้คนดูไปหาคำตอบกันเอง
เพราะแบบนี้เองกระมังที่ทำให้หลายคนเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเพื่อพิสูจน์ว่าหนังเป็นแนวไหนกันแน่ ไม่ก็หาคำตอบจากปมที่ทิ้งไว้ในหนัง หรืออาจจะแค่ไปกรี๊ดคู่โต้งกับมิว แต่ที่แน่ๆ หนังเรื่องนี้ทำรายได้ไปไม่แพ้กับคำชื่นชม และกลายเป็นแบบอย่างหนังที่ทำให้เห็นว่า การเล่าเรื่องเพศสภาพเพศวิถี ไม่จำเป็นต้องเล่าให้เป็นเรื่องของคู่รัก หรือการพยายามแสดงออกว่าเป็นเพศอะไร บางทีแค่ให้เพศสภาพและเพศวิถีเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเพียงปูมหลังของตัวละครก็พอ
พื้นที่ของตัวละครหลากหลายทางเพศหลังการจากไปของ ‘รักแห่งสยาม’
นอกจากตัวนักแสดงที่ได้รับผลพลอยได้ (และผลเสีย) จากหนังเรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ จากที่เราบอกไว้ในช่วงต้นของบทความ หนังเรื่องนี้ยังกลายเป็นสะพานให้กับหนังที่อยากจับประเด็นเพศสภาพเพศวิถีหรือเอาตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศอีกหลายเรื่อง ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ เราได้เห็นหนัง ‘Yes or No อยากรักก็รักเลย’ ที่เอาตัวละครหญิงรักหญิงแบบเต็มเรื่องมาจัดฉายในวงกว้างหลังจากที่ก่อนหน้านี้ หนังในกระแสหลักยังไม่เคยเปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง
และถ้าข้ามผ่านมาถึงฝั่งละครทีวีทั้งหลาย จากเดิมที่ตัวละครผู้มีความหลากหลายทางเพศจะถูกนำเสนออยู่ในรูปแบบเดียวคือการมีเพศวิถีที่สลับกับเพศกำเนิดของตัวเองเพียงอย่างเดียว ก็กลายมาเป็นตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศแบบแท้จริงมากขึ้น (จากเดิมที่มีแค่กะเทยหรือทอม ก็มีเกย์หรือเลสเบี้ยนที่แสดงออกทางด้านเพศวิถีเหมือนเพื่อนร่วมเพศกำเนิดของพวกเขา)
ด้านคนเสพสื่อเองจากเดิมที่จะมีอาการเหวอๆ ยี้ๆ หรือต้องทำทีปิดบังเวลาดูหนังที่บอกเล่าเรื่องความหลากหลายทางเพศ ก็กลายเป็นว่าพวกเขาสามารถไปดูหนังแนวนี้ได้อย่างสบายใจ หรือแม้แต่ตัวหนังเองอาจจะไม่มีปัจจัยบอกเล่าว่าเป็นเรื่องหลากหลายทางเพศก็เริ่มมีการใส่พลัง ‘จิ้น’ เข้าไป และตัวดารานักแสดงหลายคนก็ออกมายอมรับว่าการจิ้นนั้น ไม่ต่างกับดาราคู่ขวัญอย่างที่เคยมีมาเมื่อครั้งอดีต จนบางครั้งเป็นฝ่ายผู้สร้างหนังสร้างละครเสียเองด้วยซ้ำที่ตั้งใจอัดความ Y เข้ามาจนดูเกินเลยเนื้อหาหลักของเรื่อง
สรุปโดยง่ายก็คือ 10 ปีหลังจากที่ ‘รักแห่งสยาม’ ได้ทำให้ทั้งหนังหรือละคร เปิดพื้นที่ให้สำหรับตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ผู้ผลิตก็สามารถทำบทที่มีมิติหลากหลายยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีประเด็นหลายอย่างที่ยังรอการบอกเล่าได้อีก อย่างเรื่อง ‘ความลื่นไหลทางเพศ’ และเราคาดหวังว่าอาจจะมีหนังหรือละครอีกสักเรื่องที่สามารถทำให้ความรักในสยามประเทศได้เปิดกว้างอยางแท้จริง ไม่ได้จบลงเพียงแค่ความรักตามอัตวิสัยของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
หมายเหตุประเพทไทย – เพศทางเลือกในภาพยนตร์ไทย
ภาพยนตร์สั้น – กะเทยเป็นเหตุ โดย หอภาพยนตร์