เมื่อ ‘วิน’ แห่งซีรีส์ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ คือหนุ่มสุดละมุนที่สาวๆ ฝันหา ทางด้านช่างภาพหนุ่มผู้มองเห็นไม่ชัดในหนังสั้นไวรัลของฟิล์มกันรอย ก็เป็นหนุ่มติสท์ที่ทำให้ผู้ชมกว่า 4 ล้านวิวต้องหวั่นไหว ยังไม่นับผลงานอื่นๆ และโพสต์มากมายที่ถูกแชร์ทางโซเชียลมีเดีย เชื่อว่าวินาทีนี้คงไม่มีใครฮอตเกิน กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ผู้ถูกกล่าวขวัญถึงใบหน้าหล่อเหลาและนามสกุลดัง แต่สิ่งที่เขาอยากให้ผู้คนจดจำกลับไม่ใช่สองสิ่งนั้น
“มันอาจจะดูน่าหมั่นไส้มาก กับการจะบอกว่าเราไม่ได้หน้าตาดี แต่เราเชื่ออย่างนั้นเสมอ เวลามีคนมากรอกหูว่าเราหล่อ เราจะบอกว่า หยุดเถอะๆ มันอาจจะแค่ง่ายที่สุดที่จะนิยามใครสักคน แต่สำหรับกรรณ ถ้าชมว่าแสดงเก่งจะดีใจกว่า”
กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ออกตัวอย่างนั้น ท่ามกลางกระแสชื่นชมล้นหลาม นับตั้งแต่ผลงานเอ็มวีเพลง อย่าให้ฉันคิด ของวง Room 39 จนถึงผลงานล่าสุดอย่างหนังสั้นไวรัล ‘เบลอว่ารักแถบ’ โดย พงศ์—ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี และซีรีส์ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ โดย เติ้ล—ปิยะชาติ ทองอ่วม ที่ส่งความนิยมต่อเนื่องจนทำให้การกรี๊ดกรรณ กลายเป็นวาระแห่งชาติสำหรับคนรักหนุ่มติสท์ไปเสียแล้ว
เส้นทางด้านการแสดงของเขาเริ่มต้นตั้งแต่การลองแสดงให้งานของรุ่นพี่ที่คณะมัลติดีไซน์สาขานานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร งานแต่ละชิ้นค่อยๆ เพิ่มพูนประสบการณ์และนำมาซึ่งงานชิ้นต่อๆ ไป ทั้งงานเอ็มวี หนังสั้น โฆษณา ซีรีส์หรือกระทั่งละครโทรทัศน์อย่างเรื่องรัตนาวดี โดยหม่อมราชวงศ์ศรีคำรุ้ง ยุคล
และแม้กรรณจะไม่รู้สึกใกล้ชิดกับคำชื่นชมรูปกายภายนอกเท่าไหร่นัก แต่เมื่อได้พูดถึงเรื่องเนื้องานการแสดงแล้ว เราพบว่าตาของเขาเป็นประกายเสมอเวลาได้บอกเล่าวิธีสื่อสารกับผู้กำกับ การตีความตัวละคร จนถึงเวลาได้พูดถึงผลงานมาสเตอร์พีซของนักแสดงระดับตำนานที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เขา ทั้งหมดนี้ได้สะท้อนความมุ่งมั่นอันแรงกล้าในด้านการแสดง ที่เขาหลงใหลในฐานะศาสตร์ทางศิลปะแขนงหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยมิติที่น่าค้นหา
อีกหนึ่งสิ่งที่สังเกตได้คือ กรรณมักจะกล่าวถึงคำพูดของคนอื่นที่เขาจดจำและมักจะนำปรับไปใช้ในการทำงาน ซึ่งเหตุผลที่เขาเปิดรับเอาทัศนคติของคนอื่นเข้ามาเยอะมากๆ ก็คือความไม่สมบูรณ์แบบที่เขาเองรู้สึกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะถูกมองว่าดูดีมีชาติตระกูล หรือพกดีกรีนักเรียนนอกไว้ก็ตาม
“ไม่ใช่แค่ภายนอก แต่รวมถึงนามสกุลด้วย ที่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันช่วยอะไร นอกจากช่วยให้เราพยายามผลักดันตัวเองมากขึ้น เพื่อพิสูจน์ว่าเราไม่ได้มาอยู่ตรงนี้ด้วยสิ่งเหล่านั้น”
นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราได้เห็นตัวละครหลากคาแรคเตอร์ที่ถูกเล่นโดยกรรณ สวัสดิวัตน์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละบทมีเอกลักษณ์ในตัวเอง ที่ทำให้ใครหลายคนหลงรักได้ไม่ยาก และแม้จะเป็นอย่างนั้น เขาก็ยืนยันว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอาชีพนักแสดง ยังคงมีบทพิสูจน์อีกมากมายที่รออยู่ โดยไม่ได้หลีกเลี่ยงที่จะยอมรับว่ายังมีบางบทที่เขาเล่นไม่เป็นธรรมชาติ—นั่นคือความรู้สึกของเขา ส่วนสำหรับผู้ชมแต่ละคน คงต้องตัดสินกันเอาเองเมื่อได้ชมผลงานแสดงของเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การรับบทชายรักชายเป็นครั้งแรกในซีรีส์ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ มีความสนุกอย่างไรบ้าง
บทนี้ทำให้เรารู้จักปรับเปลี่ยนทัศนคติในการมองตัวละคร ตั้งแต่แรกเลย พี่เติ้ล ผู้กำกับจะบอกว่า ‘กัส’ ก็คือผู้หญิงคนหนึ่ง เพียงแต่กายหยาบเขาไม่ใช่ผู้หญิง เราเริ่มค้นหาตัวละครจากจุดนี้แหละ ดังนั้นพอเข้าฉาก เราก็จะแสดงออกมาเหมือนดูแลผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งถ้าบทถูกตีความให้เป็นชายที่รักชายอีกคนหนึ่ง เราก็อาจแสดงออกมาอีกแบบ ในที่นี้คืออาจจะเปลี่ยนแววตาหรือวิธีคุยกัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะถนัดกับการให้กัสเป็นผู้หญิงมากกว่านะ เพราะกรรณไม่เคยมีมุมมองที่เป็นบวกหรือลบสำหรับเพศที่สามอยู่แล้ว เขาก็มนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้แปลกแยกหรือจำเป็นต้องเขินอายอะไร
มีคำร่ำลือว่าผู้กำกับ ไตเติ้ล—ปิยะชาติ ค่อนข้างซีเรียสกับการเล่นจริงให้ถึงพริกถึงขิง กรรณเองเจอความสมจริงในระดับไหนบ้าง
กรรณอาจจะยังบอกรายละเอียดของตัวบทไม่ได้ แต่ถ้าถามในแง่การทำงานกับพี่เติ้ล เขาค่อนข้างซีเรียสกับการสื่ออารมณ์ ถ้าเขาไม่เชื่อก็คือไม่เชื่อ ดังนั้นซีนที่เหมือนจะง่าย เหมือนจะไม่มีอะไรมันจะยากในแง่รายละเอียด ในการสื่ออารมณ์ของคนที่รักกันแต่ต้องทะเลาะกัน มันต้องออกมาผ่านสายตาและมือไม้ทุกอย่าง ซึ่งก็ต้องขอบคุณพี่เพชร—เผ่าเพชร ที่รับบท กัส ด้วย เขาไม่มีหลุดเลย ส่งมาให้เราเต็มที่มากๆ
ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ แค่กรรณอ่านบทยังขำเลย ดังนั้นถ้าออกมาเป็นภาพแล้วมันต้องขำแน่นอน
พอผู้กำกับสั่งคัตแล้วมีความประดักประเดิดต่อกันไหม
แปลกดีที่ไม่มีเลย ด้วยความที่เรารู้จักกันมาก่อน แล้วพี่เพชรมีความมืออาชีพสูงมาก ตัวละครที่เขาเล่นจะกลมมาก เราเชื่อได้ตั้งแต่ก่อนแอคชั่นด้วยซ้ำว่า นี่กัสมาแล้ว ตรงนี้ไม่ใช่พี่เพชรแล้ว ดังนั้นสิ่งที่เราจะให้เกียรติเขาได้มากที่สุดก็คือเราต้องเป็นวิน ไม่ใช่กรรณ แล้วพอสั่งคัตปุ๊บ กรรณกับเพชรก็จะกลับมา เลยไม่มีการเขินกันเลย
ในการเลือกรับบทสักบทหนึ่ง คุณเลือกจากอะไร
ข้อแรกคือตัวละครน่าสนใจ อีกอย่างคือตัวบทมันสนุกครับ อย่าง ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ แค่กรรณอ่านบทยังขำเลย ดังนั้นถ้าออกมาเป็นภาพแล้วมันต้องขำแน่นอน หรืองานบางชิ้นตัวผู้กำกับก็เกี่ยว เช่น หนังสั้นฟิล์มกันรอยที่เพิ่งเล่นไป ผมก็เลือกเพราะอยากทำงานกับพี่พงษ์—ฐิติพงศ์ ค่าย Hello Filmmaker สำหรับเรามันสำคัญมากในการสื่อสารกับผู้กำกับ ว่าเขาอยากเห็นเราออกมาแบบไหน ถ้าเราทำออกมาในแบบที่เราคิดอย่างเดียว โดยที่จูนกับผู้กำกับไม่ได้ ก็จะหากันตรงกลางไม่เจอ
การเล่นออกมาจากสิ่งที่เราคิดฝ่ายเดียว มันส่งผลกับงานอย่างไร
การที่ “ผมเชื่อว่ามันเป็นแบบนี้พี่ ผมว่าแบบนี้ดี” มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับงานงานหนึ่ง หนังสักเรื่องมันไม่ได้มาจากแค่นักแสดง เราเป็นแค่หนึ่งในองค์ประกอบเท่านั้น และเราเองก็ไม่ได้เก่งถึงขนาดครีเอตคาแรคเตอร์ขึ้นมาแล้วคนจะบอกว่าเยี่ยมยอด ถ้าเราเล่นออกมาเองทั้งหมดโดยไม่ได้มีคนอื่นมาบอกว่าต้องปรับเปลี่ยนตรงไหน มันก็ไม่เกิดการพัฒนา
สำหรับบทบาทในหนังสั้นโฆษณาฟิล์มกันรอย สมมติว่าคุณมองเห็นไม่ชัดแบบในเรื่องจะทำอย่างไร
ทำใจครับ จริงๆ ก่อนแสดงเราก็คุยกันหนักมากว่าควรจะเรียลแค่ไหน มองไม่เห็นไปเลย หรือแค่เบลอๆ รางๆ ซึ่งคำตอบสุดท้ายคือมันไม่ได้สำคัญที่ว่ารางแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าพอมองไม่ชัดเท่าเดิมแล้วคุณรู้สึกอะไรบ้าง คุณจะทำอะไร จะดึงความรู้สึกแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนออกมาได้ไหม สำหรับกรรณ ถ้าเกิดขึ้นจริงก็คงจะเป็นอุบัติเหตุที่แย่ในชีวิต มันก็จะดาวน์อยู่สักพักแหละ แต่สุดท้ายเราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ ต้องกลับมา ต้องแข็งแรงขึ้น ให้ความหมายกับสิ่งที่ควรให้มากขึ้น มันทำให้นึกถึงตัวเองเหมือนกันนะ อย่างเวลาเราอยู่บ้านก็จะมีความเป็นเด็ก งี่เง่า ไร้สาระ เหวี่ยงใส่แม่กับน้อง เราจะทำแบบนี้กับคนที่รู้สึกว่าเขาจะอยู่กับเราตลอดไป ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ และเราไม่ควรทำแบบนั้น เวลาอยู่ข้างนอกมากๆ เราอาจจะหลงลืมคนที่อยู่ใกล้ตัว จึงต้องคอยเตือนตัวเองตลอดเวลา
เราพยายามให้คาแรคเตอร์แต่ละตัวไม่เป็น ‘กรรณ’ ไม่รู้ว่าพอมองจากหน้าจอสี่เหลี่ยมแล้วคนจะดูออกหรือเปล่า แต่เราจะพยายามให้ทุกตัวละครเป็นคนละคน
การเป็นนักแสดงทำให้แบ่งเวลาหรือจัดลำดับความสำคัญยากขึ้นไหม
เราพยายามจะแบ่งเวลาให้ได้ อย่างตอนนี้งานอาจจะมากหน่อย เราก็ลุยเต็มที่ แล้วพอผ่านไปมันจะถึงจุดที่เราต้องเว้นระยะก่อน อย่าเพิ่งรีบโกย ถ้าเจอบทที่ไม่ใช่หรือไม่ชอบอาจต้องวางก่อน เรามองระยะยาวดีกว่า ระหว่างนั้นก็รอโอกาส ฝึกฝนตัวเองไปจนกว่าจะเจอสิ่งที่เราชอบ จะได้คว้าไว้ทัน
ตั้งแต่รับงานแสดงมาบทที่ไกลตัวที่สุดคือบทบาทไหน
ต้องเล่าก่อนว่าเวลาแสดง เราพยายามให้คาแรคเตอร์แต่ละตัวไม่เป็น ‘กรรณ’ ไม่รู้ว่าพอมองจากหน้าจอสี่เหลี่ยมแล้วคนจะดูออกหรือเปล่า แต่เราจะพยายามให้ทุกตัวละครเป็นคนละคน ซึ่งที่รู้สึกไกลตัวที่สุดคือบทท่านชายดนัย ในละครเรื่องรัตนาวดี ต้องเป็นหนุ่มเชื้อเจ้า เล่าเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ คือต่อให้เราทำการบ้านแค่ไหน จริตมันก็ได้แค่ประมาณหนึ่ง บวกกับนั่นเป็นละครเรื่องแรกที่กรรณเล่นด้วย ดังนั้นมันจะมีความไม่ธรรมชาติอยู่พอสมควร มันยังจูนไม่ค่อยได้ เกร็งไปหมด ทำแขนขาไม่ถูก และด้วยไดอะล็อกที่ยาวมาก วิธีเดียวที่ทำได้คือการท่อง มันเหมือนเราต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าเป็นวิชาที่ไม่ถนัดจริงๆ มันก็ต้องท่องจำครับ
คุณนามสกุล สวัสดิวัตน์ แต่ทำไมบทพระเอกเชื้อเจ้าถึงไกลตัว
เราไม่เคยเชื่อเรื่องนามสกุลนะ คือนามสกุลเป็นผลพลอยได้ที่มาจากปู่จากลุงนั่นแหละ แต่บางทีมันก็เหมือนเสื้อผ้านะ ถ้าเป็นเสื้อผ้าแค่ชื่อ ‘กรรณ’ เราจะใส่สบายมาก แต่พอเป็นเสื้อที่เรายืมมาจากคนอื่น มันมีเจ้าของร่วม เราก็ต้องดูแลให้ดี เลยมีความรู้สึกว่าทำไมมันหลวมจัง เราจะรู้สึกเขินเวลาต้องแนะนำตัวด้วยนามสกุล และยิ่งตอนไปเรียนที่ออสเตรเลียเราก็ยิ่งพบว่านามสกุลไม่มีผลอะไรเลย เรายังโดนแกล้งโดนตบหัวได้เหมือนกัน มันเป็นการละลายพฤติกรรมที่ดีมากครับ ดังนั้นจึงเป็นโชคดีที่เราได้เรียนต่างประเทศ เพราะทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมของทั้งฝรั่งและไทย เราจะเป็นเหมือนสายเส้นหนึ่งที่ตึงได้และหย่อนได้ จะมีบางส่วนที่เราบอกว่า “ได้ครับ โอเค” แต่บางข้อเราก็จะบอกว่า “ต้องขอโทษครับ ตรงนี้ผมทำให้ไม่ได้” จะรู้ว่าจังหวะไหนควรเป็นยังไง
ด้วยความที่คุณชอบอยู่นิ่งๆ ชอบอยู่กับตัวเอง พอมาทำงานในวงการบันเทิงปรับตัวยากไหม
ตอนแรกยากนะครับ คือจริงๆ เราไม่ได้เป็นคนบึ้งหรือคนเหวี่ยง เราไม่ได้เป็นอะไรเลย เป็นแค่คนเฉยๆ ซึ่งความเฉยๆ ในวงการนี้ บางทีมันไม่ดี สมมติว่าเราเดินเข้าไปในกองถ่ายแล้วอ่านหนังสืออย่างเดียว พอเขาเรียกไปแต่งหน้าหรือเข้าฉากก็แค่ลุกไป มันจะกลายเป็นว่า เด็กคนนี้ไม่เอาใครเลย ซึ่งเราว่าตรงนี้ต้องปรับ ต้องเข้าใจว่าเราต้องรู้จักคุยกับคนอื่น รู้จักปรึกษาคนอื่น เพราะสุดท้ายแล้วมันคือการช่วยกันทำงานให้ออกมาดีที่สุด
เราจะเป็นเหมือนสายเส้นหนึ่งที่ตึงได้และหย่อนได้ จะมีบางส่วนที่เราบอกว่า “ได้ครับ โอเค” แต่บางข้อเราก็จะบอกว่า “ต้องขอโทษครับ ตรงนี้ผมทำให้ไม่ได้” จะรู้ว่าจังหวะไหนควรเป็นยังไง
การทำงานในวงการบันเทิงเปลี่ยนแผนชีวิตหลังเรียนจบไปมากแค่ไหน
เปลี่ยนไปมากเลยครับ ตอนแรกเราอยากเรียนต่อหรือไม่ก็ทำงานเบื้องหลัง แต่พอรับงานแสดงเลยเปลี่ยนแผนตั้งแต่ปีสามแล้วล่ะ เพราะตอนนั้นเราไม่ได้ไปฝึกงานเลย ในขณะที่เพื่อนๆ ไปฝึกงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์เก็บคอนเน็กชั่น ไม่รู้สิ ถ้าถามว่าอยู่ดีๆ เราจะพักเรื่องการแสดงแล้วไปลุยทำเบื้องหลังเลยได้ไหม มันก็คงได้ แต่คงเหมือนเพื่อนวิ่งไปถึงสุพรรณแล้ว เรายังอยู่นนทบุรีอยู่เลย ซึ่งทุกขั้นตอนมันสำคัญมากในการทำให้เราเป็นคนเบื้องหลังที่เก่ง สำคัญตั้งแต่การฝึกงาน ดังนั้นเมื่อแผนในชีวิตเปลี่ยนไปแล้ว แล้วเราเป็นคนทำหลายอย่างไม่ได้ เลยโอเค งั้นเราทำเบื้องหน้าให้ดีที่สุดดีกว่า เพราะงานเบื้องหน้าเป็นสิ่งที่เรารักเหมือนกัน
มองภาพตัวเองในระยะยาวอย่างไร
ตอบไม่ได้เลย ตอนนี้เราแค่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ถ้ามีโปรเจกต์ที่น่าสนใจเราก็จะทำไปเรื่อยๆ แต่ถ้าผ่านช่วงที่เราบูมขึ้นมาแล้วไม่มีต่อ มันก็แค่จบลง เราอาจจะเป็นแค่น้องคนนั้นที่เคยเล่น ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น (หัวเราะ)
เท่าที่ได้สัมผัสมา คิดว่าวงการบันเทิงเป็นโลกแบบไหน
เรายังไม่รู้เลยว่าขอบเขตของวงการบันเทิงคืออะไร แต่สำหรับเรามันคือกองถ่าย เราชอบกระบวนการตรงนั้น ชอบช่วงที่ทำการบ้าน มานั่งคุยกันว่าคาแรคเตอร์ควรเป็นแบบไหน ต้องปรับเปลี่ยนยังไง และก็ชอบตอนที่เรากำลังแสดง นั่นคือพื้นที่ที่เราสนุก ส่วนหลังจากนั้น เรื่องการโปรโมต การออกงาน มันเป็นสิ่งที่ต้องปรับตัวและต้องเข้าใจโลกระดับหนึ่ง เราไม่ได้แอนตี้หรือรู้สึกไม่ดีกับมันนะ เพียงแต่รู้สึกว่ามันยากนิดหน่อยสำหรับเรา
ความยากที่ว่าคืออะไร
บางครั้งพอมีสายตาจับจ้องกิริยาของเราในวินาทีนั้นๆ จะมีความเขินที่ต้องใช้บางอย่างเข้ากลบเกลื่อน ซึ่งแต่ละคนจะแสดงออกมาไม่เหมือนกัน มันอาจจะเป็นพฤติกรรมหรือบุคลิกบางอย่าง บางคนอาจจะกลายเป็นคนพูดเยอะ บางคนเลือกเงียบ บางคนอาจกลายเป็นคนตลกหรือกลายเป็นคนซีเรียส ซึ่งนี่แหละที่ยาก และสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราไม่ล่องลอยไปกับวงการบันเทิงคือการที่เรายังสนุกกับส่วนของกระบวนการทำงานมากกว่า
สำหรับคุณ ‘การแสดง’ ในอุดมคติเป็นแบบไหน
เราอยากไปถึงจุดที่ว่า “คุณมีเวลา 6 เดือน ในการไปทำให้ตัวเองกลายเป็นตัวละครนี้นะ” สมมติบอกให้เราไปเป็นนักประดาน้ำ เราก็จะไปฝึกดำน้ำให้ได้ มันคงเป็นอะไรที่ดีมากๆ อย่างนักแสดงที่เราชอบคือคนที่ล่วงลับไปแล้ว นั่นคือ Heath Ledger ที่เล่นเป็นโจ๊กเกอร์ใน แบทแมน เราว่ามันมีแค่เส้นบางๆ กั้นอยู่ระหว่างนักแสดงที่เก่งมากๆ กับคนบ้า ซึ่งสำหรับเขามันบางมาก เขาเซนซิทีฟมาก และจุดนี้ทำให้เราตั้งคำถามว่ามันจำเป็นหรือเปล่าที่ต้องเข้าไปใกล้ขนาดนั้น ซึ่งพอกลับมานั่งคิดและนั่งดูผลงานของ Heath เราว่ามันจำเป็นต้องมีจุดที่เหมือนว่าเรากำลังจะล้ำเข้าไปในขอบเขตนั้น แล้วก็จำเป็นต้องมีจุดที่ยังถอยออกมาได้ บทบาทนั้นของเขามันอิมแพ็คต์มาก เขามีพลังที่น่ากลัวมาก มันเป็นส่วนผสมของพรสวรรค์กับสิ่งที่เขาไปหมักบ่มเพื่อมาปล่อยหน้าเซ็ต
เราอยากไปถึงจุดที่ว่า “คุณมีเวลา 6 เดือน ในการไปทำให้ตัวเองกลายเป็นตัวละครนี้นะ” สมมติบอกให้เราไปเป็นนักประดาน้ำ เราก็จะไปฝึกดำน้ำให้ได้ มันคงเป็นอะไรที่ดีมากๆ
คนที่ถลำเข้าไปในบทแล้วกลับออกมาไม่ได้ในเมืองไทยมีไหม
ในเมืองไทยเรายังไม่เห็น หรือเราอาจจะแค่ยังไม่รู้จัก แต่ในเมืองนอกเราว่ามี อาจจะแสดงออกมาในชีวิตประจำวันแบบไม่รู้ตัว ซึ่งคนที่เข้าไปแล้วกลับมาได้แล้วเจ๋งมากๆ ก็มีนะ เช่น อีกคนที่เราชอบเป็นพิเศษคือ Johnny Depp สังเกตว่าเขาจะเล่นเฉพาะคาแรคเตอร์ที่แปลกๆ ต้องแต่งหน้าเยอะ ซึ่งเราเคยฟังสัมภาษณ์ของเขาที่บอกว่านั่นคือวิธีเดียวที่เขาจะปกปิดตัวเองไม่ให้คนอื่นเห็น เขาไม่ได้อยากให้คนรู้จักเขาในมุมที่เป็นตัวตนจริงๆ เขาไม่ได้อยากให้ใครรู้ว่าเขาเป็นคนยังไง มันไม่ได้น่าสนใจ เขาอยากให้คนเห็นภาพของคาแรคเตอร์ที่เขาแสดงมากกว่า เลยพยายามหาคาแรกเตอร์แปลกๆ มาเล่น เช่น Edward Scissorhands, Sweeney Todd หรือ Jack Sparrow ซึ่งเขาจะมีวิธีการเล่นที่ชัดเจนมากๆ
คุณเคยเข้าใกล้ความรู้สึกแบบนั้นไหม
ยังไม่เคยนะ และมันคงเป็นประสบการณ์ที่ tempting มากๆ อาจเพราะเราเพิ่งทำงานได้ไม่นานด้วย เราจะจูนกับบทได้เป็นช่วงๆ สักพักก็จะหลุดออกมา สมาธิยังไม่ได้ดีขนาดนั้น ซึ่งของแบบนี้มันต้องฝึกครับ เราอยากจะเจอสิ่งที่น่าสนุกอีกเยอะมากในทางที่รออยู่ข้างหน้า อยากเจอบทที่ท้าทายอีกมากๆ ตามโอกาสที่จะเข้ามา แต่เราก็ไม่ได้อยากหวังมาก กลัวว่าสุดท้ายมันจะแห้งแล้งไปเลย แต่อีกแง่หนึ่ง ถ้าจะให้เล่นบทที่ต้องเล่นแบบนี้เท่านั้น เราก็อาจจะจะเล่นเหมือนโรบอตเลยก็ได้ (หัวเราะ)
หลังจากผลงานถูกปล่อยออกมาแล้ว เคยเช็กฟีดแบ็คเกี่ยวกับตัวเองบ้างไหม
ไม่เคยอ่านเกี่ยวกับตัวเองในเว็บบอร์ดเลย และไม่ชอบดูตัวเองในผลงานที่ออกมาเป็นไฟนอลแล้วด้วย งานที่ทำออกมา เราจะดูเพื่อให้เห็นว่าเราเล่นดีหรือเปล่า ซึ่งตรงนั้นเราจะดูตั้งแต่หน้าเซ็ตในกองถ่าย หรือดูตั้งแต่ตอนตัดต่อเลย เพราะที่ออกมาหน้าจอมันเป็นสิ่งที่ผู้กำกับหรือคนตัดต่อคัดเลือกมาแล้วว่าดี มันปั้นมาสุดๆ ผ่านโพสต์โปรดักชั่นมาแล้ว คือเราเชื่อมือผู้กำกับและคนตัดต่อนะว่ามันจะออกมาดีแน่นอน แต่เราจะไม่ดูเพื่อเสพตัวเองผ่านหน้าจอ เราค่อนข้างกระอักกระอ่วน ซึ่งก็มีคนบอกว่า แกต้องรับตัวเองให้ได้สิ เพราะเราคือนักแสดง แต่สุดท้ายก็ยังเขินๆ อยู่ดี เราจะดูเมื่อมีคนบอกให้ดูเพื่อปรับปรุงแก้ไขมากกว่า
ถ้าเป็นแบบนี้ คุณใกล้ชิดกับผู้ชม โดยเฉพาะผู้ชมบนอินเทอร์เน็ตมากน้อยแค่ไหน
น้อยมาก เราชอบอ่านอะไรผ่านกระดาษมากกว่า พออ่านผ่านหน้าจอนานๆ แล้วมันปวดตา หาบรรทัดไม่ค่อยเจอ ถ้าทีมส่งบทมาให้ เราก็ต้องไปปรินต์ออกมา
ทั้งที่เรากำลังอยู่ในโลกที่อินเทอร์เน็ตมีอิทธิพลต่อใครหลายคนมากๆ ?
สำหรับคนที่เสพ เราว่ามันส่งผลมาก แต่ถ้าเราไม่เปิดดู มันก็ส่งผลน้อยลงนะ ถ้าจะพูดถึงอินเตอร์เน็ต เรามองว่าทุกคนมีสิทธิจะพูดจะโพสต์ในกรอบของกฎหมาย เพราะมันคือความคิดเห็น เพียงแต่อยู่ที่ว่าเมื่อคุณโพสต์ออกมาแล้วมันได้อะไร ถ้าเป็นการระบายสิ่งที่อยู่ข้างในออกมา ถ้ามันช่วยให้หายอึดอัด มันอาจจะดีสำหรับคุณ หรือทำให้คุณรู้สึกมีตัวตน มันก็โอเค แต่บางอันที่ทำให้โลกไม่น่าอยู่ เราก็ไม่ได้เห็นประโยชน์ของมัน คือเราเข้าใจวัฒนธรรมการรีวิวนะ มันมีข้อดีคือทำให้คนเห็นตัวเลือก และทำให้คนอุ่นใจว่าไปแบบนี้มันจะชัวร์แน่นอน แต่เราเห็นความตื่นเต้นในการลองทำเองมากกว่า เราเองเคยไปแบ็คแพ็คทีหนึ่ง ซึ่งทั้งทริปไม่มีอะไรเลย ทั้งที่เราคาดหวังว่ามันต้องเต็มที่แน่นอน แต่สุดท้ายมันก็เป็นการเซอร์ไพรส์ตัวเอง ซึ่งสนุกกว่า อาจจะเป็นทริปห่วยๆ ทริปหนึ่ง แต่มันดีที่เราได้ลองเอง
งานที่ทำออกมา เราจะดูเพื่อให้เห็นว่าเราเล่นดีหรือเปล่า ซึ่งตรงนั้นเราจะดูตั้งแต่หน้าเซ็ตในกองถ่าย หรือดูตั้งแต่ตอนตัดต่อเลย
คุณเองมีสิ่งที่อยากแชร์ออกไปทางอินเทอร์เน็ตมากน้อยแค่ไหน
ความคิดเห็นของเรามันจะอยู่กับเรานี่แหละ เราไม่ได้อยากให้มีคนรู้ขนาดนั้น จนกว่าจะมีคนมาถาม ถึงจะบอก อย่างสิ่งที่เราเสพเอง เมื่อก่อนตอนเด็กๆ เราหวงด้วยซ้ำ เช่น เราไปเจอเพลงหนึ่งแล้วเพื่อนมาถาม เราก็จะไม่บอกหรอก ของแบบนี้ต้องหาเองดิ แต่พอโตขึ้นเรามองเปลี่ยนไป เหมือนมีเพื่อนที่ชอบขนมครกใบเตย แล้วเราไปเจอก็อยากถ่ายรูปส่งให้มันทุกครั้ง หรือมีเพื่อนที่เรารู้ว่ามันจะชอบเพลงนี้ เราก็จะส่งให้ เราเห็นคุณค่าของการแชร์ในแง่ของการแบ่งปันจริงๆ กับคนที่เรารู้ว่าเขาอิน ที่พอแชร์ไปแล้วทำให้เขามีความสุขกับสิ่งที่เราส่งให้
คิดว่าเสน่ห์ของตัวเองคืออะไร
บางเสี้ยวของเราอาจจะถูกหยิบขึ้นไปโบลด์ แต่เราไม่ได้ดีขนาดนั้นหรอก เคยมีพี่คนหนึ่งบอกว่าเราเป็นมนุษย์ชั้นเดียว หิวก็กินข้าว เราว่าเราเป็นอย่างนั้น เราคุยได้ทุกเลเวล ถ้าเป็นเรื่องที่สนใจเราก็จะคุยเยอะหน่อย เราไม่เชื่อในการทำอะไรเยอะๆ ใหญ่ๆ ไว้ก่อน แต่จะชอบการทำอะไรเล็กๆ แต่มีรายละเอียด ซึ่งถ้าคุณรู้สึกได้ เราจะรู้สึกว่ามันมีค่ามาก
หนัง ซีรีส์ หรือละครต่างกันอย่างไร ใช้เกณฑ์อะไรในการแบ่ง
เราค่อนข้างเห็นความแตกต่างและเหตุผลที่ต้องแตกต่าง ถ้าเป็นละครมันอาจจะมีจังหวะที่ต้องทำให้คนดูกระจ่างที่สุด สามารถบอกได้ว่าอันไหนดีกว่าอันไหน มันคนละศาสตร์กัน เหมือนที่เราบอกไม่ได้ว่าฟุตบอลหรือเทนนิสที่สนุกกว่ากัน
จังหวะแบบละครยังจำเป็นสำหรับสื่อบันเทิงไทยอยู่ไหม
เราพูดแทนมนุษย์คนไทยไม่ได้ เรารู้สึกว่าสำหรับบางคนอาจจะยังจำเป็นที่จะย่อยเมสเซจให้ง่ายขึ้น เราไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมที่คนเสพหนังและเข้าใจภาษาหนังไปทั้งหมด ดังนั้นภาษาแบบละครจึงอาจยังต้องมีอยู่
จากคอลัมน์ Face โดย ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์
giraffe magazine 58—Pantip Issue