62 ปีให้หลัง จากที่ ก็อตซิลล่า บุกโรงภาพยนตร์ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ในปี 2016 นี้ ก็อดซิลล่า ก็ได้กลับมาอีกครั้ง กับภาคใหม่ที่ใช้ชื่อว่า Shin Godzilla โดยที่ตัว Shin น้ัน ในฉบับญี่ปุ่นไม่ได้ระบุว่าเอามาจากตัวคันจิ ตัวใด ระหว่าง 新 ที่แปลว่าใหม่ กับ 真 ที่แปลว่า แท้จริง หรือบางทีหนังอาจจะหมายถึงคำว่า Sin ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า บาป ก็ได้อยู่ เนื่องจากการถือกำเนิดของก็อดซิลล่าในภาคนี้ก็กลับคืนสู่รากเหง้าที่ว่า มนุษย์นั่นเองเป็นผู้ที่ทำให้สัตว์ประหลาดยักษ์ออกอาละวาด
นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมและการต่อสู้เพื่อโลกแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ก็อดซิลล่าทำอยู่สม่ำเสมอก็คือ การหางานให้เหล่าช่างโยธา เหล่าวิศวกร และบุคลากรในสายงานก่อสร้าง… หรือพูดอีกแง่ก็คือการบุกเข้ามาถล่มบ้านถล่มเมืองจนชาวบ้านต้องกลับมาสร้างเมืองใหม่อีกครั้งให้เมืองกลับมาอยู่ในสภาพเดิมนั่นเอง แต่…เอ๊ะ ถ้านับเป็นมูลค่าการเงินแล้ว ความเสียหายจะนับเป็นเท่าไหร่กัน
ก็อดซิลล่าบุกคราวนี้ญี่ปุ่นเปย์ค่าเสียหายไปเท่าไหร่?
แม้ว่าในภาคใหม่ Shin Godzilla นี้ จะบอกคร่าวๆ ว่า การบุกเข้ามาของก็อดซิลล่าอาจทำให้รายได้ของประเทศชะงักไปกว่า 11% เนื่องจากเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางของธุรกิจ แต่ถ้าเอาในระดับจริงจัง ทางเว็บไซต์ข่าว ITMedia ของญี่ปุ่นก็ประเมินคร่าวๆ ว่า การบุกถล่มเมืองครั้งใหม่นี้ อาจต้องใช้เงินเพื่อบูรณะเมืองในปริมาณมหาศาลใช้ย่อยทีเดียว
อย่างความเสียหายที่เกิดจากการที่พี่ก็อดซิลล่าของเราบุกเข้ามาเหยียบย่ำทำลายทั้งอาคารและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในกรุงโตเกียว เมื่อคิดถึงจำนวนเงินที่บำรุงซ่อมแซมแล้ว กรุงโตเกียวจะต้องใช้เงินราว 9 ล้านล้านเยน หรือถ้าตีเป็นเงินไทยแบบกลมๆ เกลี้ยงๆ ก็ราว 3 ล้านล้านบาท
นอกจากนั้นถ้ามองไปถึงเรื่องการอพยพผู้คนออกจากเมือง อพยพหน่วยงานรัฐไปทำการ ณ สถานที่อื่น จะต้องใช้เงินในการโยกย้าย ประมาณ 15 ล้านล้านบาท หลังจากนั้นรัฐบาลก็ต้องเตรียมเงินอีก 4 ล้าน 7 แสน ล้านบาท เพื่อสำรองจ่ายในการหาที่อยู่ชั่วคราวให้กับประชาชนที่สูญเสียที่พักอาศัยไป
หลังจากเคลียร์พื้นที่ให้ประชาชนออกไปแล้ว ทีนี้ก็ได้เวลากองทัพต้องบุกเข้าตะลุมบอนเพื่อต้านทานการรุกรานของก็อดซิลล่า จำนวนเงินที่ญี่ปุ่นต้องเตรียมให้กับค่ายุทโธปกรณ์ (ในหนัง) อย่างรถถังเอย คอปเตอร์เอย รถยิงจรวดเอย นักวิเคราะห์ได้คำนวณมูลค่าคร่าวๆ ว่าการเปย์เพื่อประเทศแบบนี้ต้องทุ่มเงินในหน้าตักไปถึง 4 แสน 7 หมื่นล้านบาท
รบเสร็จ ก็ถึงช่วงการฟื้นฟูประเทศ ไม่ว่าผลลัพธ์ในหนังจะเป็นอย่างไร นักวิเคราะห์ก็คาดการณ์ไว้อีกว่า รัฐบาลญี่ปุ่นที่เข้ารับตำแหน่งฟื้นฟูประเทศหลังทำศึกกับสัตว์ประหลาดยักษ์ ไม่น่าจะกลับมาตั้งรกรากที่กรุงโตเกียวอีกครั้ง การย้ายเมืองหลวงไปที่ใหม่น่าจะสมเหตุสมผลกว่า ค่าใช้จ่ายในการตั้งเมืองหลวงใหม่นี้มีสนนราคา 4 ล้าน 7 แสน ล้านบาท เท่าเทียมการหาที่อยู่ชั่วคราวให้ประชาชนผู้อพยพนั่นเอง
สรุปแล้วยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดปัดขึ้นให้เป็นเลขกลมๆ ก็ราว 28 ล้านล้านบาท (มึนตัวเลขกันหรือยังครับ… ผู้เขียนมึนไปแล้ว) ถ้าเทียบกับค่า GDP ที่เปิดเผยล่าสุดเมื่อปี 2013 อยู่ที่ 170 ล้านล้านบาท ก็แปลว่าการบุกของก็อดซิลล่าตัวเดียว ซัดความเสียหายไปราว 1 ใน 6 ถ้าสมมติว่าธุรกิจจะตกต่ำต่อเนื่องอีกระยะ กว่าจะฟื้นตัวกลับมาระดับเดิมได้ก็อาจจะใช้เวลาอีก 4-5 ปีอยู่ดี #ล้องห้าย
แล้วภาคอื่นๆ ล่ะ จ่ายไปเยอะไหมนะ?
แล้วถ้าถามว่า ก็อดซิลล่าภาคก่อนหน้านั้นทำความเสียหายต่อประเทศที่ถูกบุกไปขนาดไหน เราลองย้อนไปดูที่ Godzilla ฉบับอเมริกาเมื่อปี 1998 ที่หลายคนด่ากันขรม ซึ่งพอดีแชนแนลของ Cinemasins บน Youtube เคยลองนับจำนวนไว้จากฉากที่ก็อดซิลล่าก่อความเสียหายไว้ในหน้าจอ มีการทำลายรถถังไปฝูงใหญ่ อาคารทั้งที่มีชื่อและไม่มีชื่อก็โดนพังไปจำนวนมาก (ส่วนใหญ่เพราะทหารในเรื่องยิงจรวดพลาดด้วย) เมื่อลองคำนวณแล้วคูณด้วยอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน พบว่า ก็อดซิลล่า เวอร์ชั่นนั้นทำความเสียหายไป 1 ล้าน 7 แสนล้านบาท ถึงจะดูราคาถูกกว่าแต่ในการนับค่าเสียหายนี้ไม่ได้เอาเรื่องปัจจัยอื่นมารวมด้วยนะ
ส่วนก็อดซิลล่า ฉบับปี 2014 อาจจะนับกันยากสักหน่อย เพราะจุดที่เสียหายมีหลายจุด ไหนจะฮาวาย ไหนจะลาสเวกัส ไหนจะซานฟรานซิสโก เลยไม่มีเจ้าไหนกล้าคำนวณความเสียหายระดับใหญ่นี้ แต่ถ้าลองตั้งต้นว่าความเสียของก็อดซิลล่า ซึ่งถือว่าเป็นภัยจากธรรมชาติรุนแรงเทียบเคียงเท่าเฮอริเคนแคทรีน่า ก็จะมีความเสียหายคิดเป็นเงินได้ราว 4 ล้าน 6 แสนล้านบาท แบบยังไม่รวมค่าฟื้นฟู
โอย เห็นตัวเลขเยอะๆ แล้วก็กลุ้มใจใช้ได้อยู่ ขนาดญี่ปุ่นยังเท่านี้ ถ้าสมมติมาบุกไทยทีต้องใช้เงินซ่อมเท่าไหร่ และใช้เวลาซ่อมกี่ปีเนี่ย ดังนั้นถ้าไม่อยากปวดหมองกับตัวเลข เราก็มาอนุรักษ์สภาพธรรมชาติของโลกให้อยู่ดีมีสุข จะได้ไม่ต้องลุ้นว่าสัตว์ประหลาดตัวไหนบุกขึ้นมาทำลายเมืองอีกเนอะ <3
อ้างอิงข้อมูลจาก