ความสุขของคุณคืออะไร?
มีอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นดีใจได้บ้างในวันนี้?
ใครบ้างที่คุณรู้สึกขอบคุณที่มีเขาอยู่ในชีวิต?
แล้วความผิดพลาดอะไรบ้างที่คุณได้เรียนรู้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา?
ตอบคำถามเหล่านี้กันได้ไหม? ใช่ มันเป็นคำถามที่ดูเหมือนจะตอบได้ง่ายๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเรา ชีวิตของเรา แต่มันยากเหมือนกันนะสำหรับใครหลายคน เพราะไม่มีความสุขเหรอ? อาจจะไม่ใช่ แต่เป็นเพราะจังหวะชีวิตที่หมุนเร็วมากทุกวันนี้ ทำให้เราไม่ค่อยมีโอกาสได้หยุด นั่งลง และคิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรามากกว่า
คำถามเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘Happiness Planner’ แพลนเนอร์ที่สร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์หลักที่ว่า อยากหาวิธีช่วยให้คนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข นี่ยังเป็นแพลนเนอร์ที่ขายดีที่สุดใน UK แปลเป็นภาษาอื่นอีก 5 ภาษา และมีคนซื้อไปใช้แล้วหลายล้านเล่มทั่วโลก ที่สำคัญคือเป็นแพลนเนอร์ที่คิดขึ้นโดยคนไทยผู้เชื่อว่าความสุขเกิดจากการได้นั่งทบทวนตัวเองแล้วตอบคำถามเหล่านี้
‘โม–มนชนก สีทับทิม’ คนไทยที่สร้าง Happiness Planner ขายดีติดอันดับโลกเล่มนี้ นั่งคุยกับเราด้วยท่าทีสบายๆ ในบ่ายวันหนึ่ง
“เราอยากสร้างเครื่องมือที่ทำให้คนได้ทบทวนตัวเองในทุกๆ วัน เรารู้สึกว่าการได้หยุด แล้วนั่งมองตัวเอง มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากหรือไม่ค่อยเกิดขึ้นในทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่มันจะช่วยทำให้เราเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องดีๆ ในตัวเรา หรือว่าพวกนิสัยที่ไม่ดีที่เราควรจะปรับปรุง”
“แล้วการทบทวนตัวเอง จนรู้จักและเข้าใจตัวเอง มันจะนำไปสู่ความสุขได้ยังไง” เราเอ่ยถามระหว่างพลิกแพลนเนอร์สีชมพูที่โมยื่นมาให้ดู
“ถ้าเราไม่เข้าใจตัวเอง เราก็จะต้องดิ้นรนหานั่นหานี่ไปเรื่อยๆ โดยคิดว่ามันจะทำให้เรารู้สึกเติมเต็ม แต่เราก็ไม่รู้สึกเต็มสักที เพราะเราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไร ถ้าเราอยู่ผิดที่ ดิ้นรนผิดทาง เราจะมีความสุขได้ยังไง”
นั่นเป็นจังหวะเดียวกับที่เราพลิกไปเจอหน้าที่มีข้อความนี้พอดี
“Everybody is a genius. But if you judge a fish by its ability to climb a tree, it will live its whole life believing that it is stupid.” – Albert Einstein
Happiness Planner เริ่มต้นวางจำหน่ายช่วงเดือนมีนาคม 2015 เราชวนโมย้อนกลับไปนึกถึงตอนที่คิดจะทำแพลนเนอร์นี้ออกมา
“มันเริ่มมาจากบล็อกที่เราเขียน (โมเคยเขียนลง Huffingtonpost) ทั้งๆ ที่มันเป็นคอนเทนต์เกี่ยวกับการคิดบวก เกี่ยวกับความสุข แต่ก็มีหลายคนมาคอมเมนต์ว่าเขาเป็นคนมองโลกในแง่ลบ คิดมาก มีแต่เรื่องเครียดๆ แล้วคนรอบตัวเราหลายคนก็เป็นแบบนั้น บ่นกันแบบนี้ตลอด เราเลยรู้สึกว่าอยากให้คนเหล่านี้เปลี่ยนวิธีคิด แต่จะไปบอกให้เขาเปลี่ยนเลย เฮ้ย อย่าเครียด อย่าคิดร้าย มันก็เปลี่ยนกันแบบนั้นไม่ได้ เราก็เลยลองออกแบบเครื่องมืออะไรบางอย่างที่ทำให้เขาค่อยๆ เปลี่ยนมันในทุกวันๆ”
Happiness Planner มีให้เลือก 3 แบบ คือแบบบันทึกประจำวัน แบบ 52 สัปดาห์ (บันทึกรายสัปดาห์) และแบบ 100 วัน ก็แล้วแต่ว่าใครอยากบันทึกนานและบ่อยแค่ไหน แถมตอนนี้มีเป็นแอปพลิเคชั่นแล้วด้วย ลองโหลดมาใช้กันได้แบบฟรีๆ (iOS | Android)
เปิดมาในเล่มก็จะเริ่มด้วย Happiness Road Map ซึ่งประกอบด้วยคำถามที่ใช้สำรวจตัวเองอย่างที่ถามไว้ตอนแรก เช่น อะไรที่ทำให้เรามีความสุข เรานิยามความสำเร็จไว้ยังไง มีนิสัยอะไรที่เราอยากปรับปรุงบ้าง หรือเราตั้งใจจะทำอะไรให้สำเร็จในอีก 100 วันหรือ 1 ปีข้างหน้า ซึ่งนั่นก็เหมือนการทบทวนสิ่งที่เราเป็นและวางแผนสำหรับวันต่อๆ ไป
หน้าต่อๆ ไปก็จะเหมือนกับแพลนเนอร์หรือไดอารี่ทั่วไป คือเป็นการบันทึกประจำวัน สัปดาห์ หรือเดือน แต่ต่างตรงที่จะมีคำถามที่ให้เราคิดถึงตัวเองในวันนี้ อย่างเช่น วันนี้กินอะไร ออกกำลังกายบ้างหรือเปล่า
มีสิ่งดีๆ และสิ่งที่น่าตื่นเต้นอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือมีความหวังอะไรสำหรับวันพรุ่งนี้ ถ้าเป็นรายสัปดาห์กับรายเดือน ก็จะมีให้ประเมินระดับพลังงานและระดับความสุขของตัวเอง หรือให้คิดหาแง่บวกในสิ่งแย่ๆ ที่เจอมา รวมถึงว่าแต่ละหน้าก็จะมีโควตสร้างแรงบันดาลใจจากนักคิดต่างๆ ด้วย
“ถ้าเราฝึกมันทุกวัน ฝึกมันเรื่อยๆ มันก็จะเป็นนิสัย เป็นธรรมชาติของเรา” โมพูดถึงฟังก์ชั่นการทำงานของแพลนเนอร์เล่มนี้ พร้อมเล่าให้ฟังเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Happiness Planner ว่า
“ถึงเราจะยังเป็นคนคิดมากเหมือนเดิม แต่แพลนเนอร์นี้มันจะเปลี่ยนให้เราคิดมากกับวันนี้และวันข้างหน้า อยู่กับปัจจุบันและอนาคตที่จับต้องได้มากกว่า แทนที่จะคิดวนไปวนมา แล้วพอเรานั่งเขียนทุกวันๆ ก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย เราน่าจะทำวันนี้ให้ดี เดี๋ยวพรุ่งนี้เราจะทำให้ดีด้วย”
เมื่อเราถามว่า แล้ว Happiness Planner มีฟังก์ชั่นอะไรที่แตกต่างจากบล็อกหรือหนังสือแนวจิตวิทยาเพื่อสร้างความสุขต่างๆ โมก็อธิบายว่า “วิธีการสื่อสารมันไม่เหมือนกัน เวลาเราเขียนบล็อกหรือหนังสือ เราสื่อสารกับคนอ่าน พยายามเปลี่ยนความคิดคนอ่านด้วยความคิดเรา แต่แพลนเนอร์เป็นการถามให้เขาคุยกับตัวเอง กับความคิดของตัวเอง เราไม่ได้บอกว่าให้เขาทำอะไร แต่ให้เขาบอกตัวเอง เข้าใจตัวเอง และเป็นการเตือนเขาด้วยว่าไม่มีใครเปลี่ยนชีวิตเขาได้นอกจากตัวเขาเอง”
ตลอดบทสนทนาที่ผ่านมา ด้วยรอยยิ้มและคำตอบของเธอทำให้เราอดถามไม่ได้ว่า “เคยมีคนบอกไหมว่าโมเป็นคนโลกสวย หลายคนอาจจะมานั่งคิดบวกแบบโมไม่ได้ เพราะเขาก็ต้องเจอกับปัญหานู่นนี่ทุกวันๆ”
“เราว่าทุกคนมีปัญหาหมดแหละ (ยังคงยิ้ม) เราก็เคยผ่านช่วงที่ทุกข์ที่สุดในชีวิตมาแล้ว นั่นก็คือการที่เราไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ แต่เราก็ทบทวนตัวเอง เข้าใจ และเปลี่ยนแปลงตัวเอง จนรู้ว่าอะไรที่ทำให้เรามีความสุข”
เราจึงถามโมว่าแล้วเธอมีวิธีรับมือกับปัญหา ความทุกข์ หรือความผิดหวังยังไง
“เราจะคิดว่าสิ่งที่ผิดหวังในชีวิตทุกอย่าง พอเวลาผ่านไป เราก็จะเห็นว่าจริงๆ แล้วเราไม่ควรจะได้มัน เพราะเราควรจะได้อย่างอื่น ความผิดพลาดในชีวิตมันเปลี่ยนเป็นบทเรียนได้เสมอ แต่ในเงื่อนไขที่ว่าเราต้องมานั่งทบทวนว่าเรียนรู้อะไรและหาทางปรับปรุงตัวเอง เราเปลี่ยนประสบการณ์ให้เป็นบทเรียนได้ไง”
“Happiness Planner มีวางขายในหลายประเทศ ได้รับการแปลไปหลายภาษา ในมุมมองของโม ความสุขมีความเป็นสากลแค่ไหน ใช้คอนเซ็ปต์ฝึกฝนแบบเดียวกันได้รึเปล่า”
“เราว่าสุดท้ายแล้วมันก็คอนเซปต์คล้ายๆ กันแหละ ความสุขก็คือการไม่มีความทุกข์ แต่ส่วนใหญ่เราขายประเทศในยุโรปนะ เขาสนใจด้าน mindfulness กันเยอะ ต้องยอมรับว่าเขาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว สิ่งที่เขาต้องการมันคือชั้นบนๆ ของสามเหลี่ยมมาสโลว์แล้ว ของแบบนี้ก็จะเป็นสิ่งที่เขาต้องการ ทำให้เขามี self-actualization มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะใช้ไม่ได้กับประเทศที่ยังต้องคิดเรื่องปากท้องอยู่นะ มันควรใช้ด้วยซ้ำ เพียงแต่ก็เข้าใจนะว่าคนอาจจะสนใจเรื่องอื่นมากกว่าด้วยเวลาที่มีจำกัด”
เราพลิกแพลนเนอร์ย้อนกลับไปที่หน้าแรกๆ ที่มีคำถามเหมือนในต้นบทความนี้ ก่อนจะเงยหน้าถามโมว่า “มีคำแนะนำอะไรบ้างไหม ให้กับคนที่ตอบคำถามพวกนี้ไม่ได้ หรือไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้ตัวเองมีความสุข?” โมยิ้มแล้วตอบว่า “ลองคิดถึงตอนเด็กๆ ก็ได้ จำได้ไหมว่าตอนยังไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในชีวิต เราเคยชอบอะไร เราอยากทำอะไร เราฝันจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่แบบไหน เริ่มจากตรงนั้นก็ได้”
และเมื่อเราถามโมด้วยคำถามแรกในแพลนเนอร์ว่า “ความสุขของโมคืออะไร?” เธอก็ตอบโดยไม่ลังเลเลยว่า “Happiness Planner เนี่ยแหละ คือความสุขของเรา เพราะมันคือความหมายของชีวิตเรา”
Photos by Adidet Chaiwattanakul