แรกเริ่มเดิมทีที่เห็นภาพจากหนังของ 9 ศาสตรา กับกำหนดการฉายในช่วงวันเด็กของปี ก็เผลอคิดไปว่านี่อาจจะเป็นแค่ภาพยนตร์อนิเมชั่นของไทยอีกเรื่องที่หมายจะใช้เวลาช่วงนี้ที่เด็กๆ ต้องการความสนุกสนาน และการดูหนังก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ราคาพอเหมาะ แถมยังสะดวกในการเดินทางของผู้ปกครองหลายๆ ท่านด้วย
แต่เมื่อได้เห็นตัวอย่างและได้ฟังกระแสจากรอบฉายสำหรับเหล่า blogger แล้ว ก็พบว่าเรื่องนี้มีกระแสตอบรับที่ดีมากกลับมา ซึ่งเท่าที่ค้นข้อมูลดูก็ทราบเพียงว่าทีมอนิเมชั่นหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นทีมที่เคยทำการ์ตูนน่ารักๆ อย่าง The Salads ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นว่าอะไรที่ทำให้ทีมงานเปลี่ยนทิศทางการทำงานมาทางนี้
และเราก็สบโอกาสได้พูดคุย เปา—อภิเษก วงศ์วสุ กับ กันย์ พันธ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารภาพยนตร์ ๙ ศาสตรา จากทาง Exformat Films และก็เห็นได้ชัดเจนเลยว่า พวกเขาไม่ได้มาเล่นๆ และไม่ได้กะมาตีหัวเข้าบ้านเพียงอย่างเดียว เพราะนี่อาจจะเป็นการทำงานที่ตั้งใจอย่างยิ่งเพื่อที่จะผลักดันอนิเมชั่นไทยให้ขึ้นสู่ก้าวต่อไป และนี่คือการพูดคุยของ The MATTER กับพวกเขา
The MATTER : ในตลาดตอนนี้มีสตูดิโออนิเมชั่นค่ายใหญ่อยู่ แล้วสตูดิโอเล็กๆ อย่าง Igloo จะสู้และแสดงผลงานให้เห็นใน ๙ ศาสตรา ได้อย่างไร
อภิเษก : ส่วนตัวแล้ว ผมเป็น Exformat Films บริษัทที่จ้าง Igloo อีกที Igloo เป็นบริษัทเล็กก็จริง แต่ด้วยความที่เขามีสไตล์หรือความคิดครีเอทีฟที่มันหลากหลาย สิ่งนี้มันจะเป็นจุดแข็ง มันจึงเป็นเหตุผลที่เราเลือกให้ Igloo studio ทำหนังเรื่อง ๙ ศาสตรา จะสังเกตุได้จากงานอาร์ตต่างๆ ที่เขาผลิตออกมาในภาพยนตร์ที่มีมุมมองหรือดีไซน์ซึ่งแตกต่างจากบริษัทอื่นๆ หรือสตูดิโอใหญ่ๆ
กันย์ : ทางเราได้พูดคุยกับทาง Igloo ซึ่งเขาเสนองานมาว่าอยากจะทำทีวีซีรีส์ เราก็กลับไปคุยกับ Igloo ว่าเราไม่เอาทีวีซีรีส์ ถ้าเกิดเราจะทำ เราอยากจะให้ทำหนังใหญ่เป็นของเราเอง และนั่นคือที่มาที่ไปครับ
พูดกันตามตรง ไม่เคยมีใครทำหนังระดับนี้มาก่อน และโจทย์ที่เราให้ทาง Igloo ไปก็คือ เราต้องการอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น เราไม่อยากทำตาม Pixar หรือ Disney เพราะถ้าเราทำตามพวกเขา มันจะมีอะไรที่สามารถเทียบกันได้ ถ้าเกิดว่าคุณภาพของเราทำดีไม่พอ ทำไม่ถึง เราเลยต้องหาสไตล์ของตัวเอง และทาง Igloo เขาก็มีความคิดใหม่ที่น่าสนใจ เราเลยร่วมทำงานกับเขา แต่ตอนแรก Igloo มีกันอยู่ 8 คน พอเขาเริ่มดีไซน์ ทำทรีตเมนต์ ทำฉากมาให้ดู เราก็รู้ว่าไม่ไหว ก็เลยเริ่มติดต่อทีมอื่นๆ อย่าง Riff Studio ให้มาร่วมกับเราอีกทีหนึ่ง
The MATTER : Igloo studio ต้องปรับตัวแค่ไหน จากที่เคยทำงาน The Salads เพื่อมาทำ ๙ ศาสตรา
อภิเษก : เท่าที่ผมทำงานกับ Igloo สมัยที่เขาทำ The Salads เขาทำงานกันไม่กี่คน แล้วพอเขาได้โจทย์จากเราไปว่าต้องทำหนัง ครั้งแรกที่เขานำงานมาเสนอเรา เราเองก็ไม่รู้หรอกว่า quality แบบไหนที่เรียกว่าดี แล้วเขาก็นำเสนอว่าในการทำหนังเรื่องหนึ่งถ้าใช้เงินประมาณนี้จะได้ quality ขนาดนี้ ซึ่งตอนนั้นเขาเสนอเรามาที่ 30 ล้าน ซึ่งจริงๆ มันไม่พอหรอก แต่ในสเกลนั้นเขาคิดว่ามันน่าจะพอแล้ว ตอนนั้นไม่มีใครรู้หรอกครับว่าหนังจะได้สเกลแบบนี้ ออกมาขนาดนี้ มันเป็นการทำงานผ่านการเรียนรู้ เพราะทำงานไปปรับไป ทำแล้วเปลี่ยนแก้ใหม่ เป็นการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ผ่านการทำงาน
เพราะฉะนั้น จากการทำ The Salads มาเป็น ๙ ศาสตรา มีการเรียนรู้อะไรเยอะมาก และมันไม่ใช่เฉพาะ Igloo หรือเฉพาะเรา (Exformat Films) แต่เป็นทุกๆ คนที่ทำงานด้วยกัน เพราะเดิมทีเราไม่ใช่คนที่ทำหนัง ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอกว่าต้องไปคุยกับใคร ต้องคุยกับสหมงคลฟิล์มหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เราก็ใช้วิธีถามญาติ ถามเพื่อน ถามคนใกล้ตัวไปเรื่อยๆ อย่างตอนที่ทำทรีตเมนท์ ทาง ณัฐ ยศวัฒนานนท์ (ผู้กำกับและเขียนบท ๙ ศาสตรา จากทาง Igloo Studio) ก็ได้เพื่อนที่ทำกับ Exact มาช่วย แล้วก็ได้ญาติที่ทำงานอยู่ที่ Dreambox (ทีมพัฒนาและเขียนบทละคร) มาช่วยปรับเกลาอีกทอดหนึ่ง และด้วยเหตุที่เราค่อยๆ ทำค่อยๆ เรียนรู้จึงทำให้งบมันบานปลายไปด้วย
และตอนแรกที่ Igloo มี 8 คน เขายังไม่มีความสามารถที่จะ animate งานได้ขนาดนั้น พอเขาได้โจทย์ทำหนังไป ก็มีการติดต่อ Riff Studio ที่มีชื่อด้านการทำอนิเมชั่นและมีประสบการณ์มากกว่าเข้ามาช่วย เพราะเจ้าของอย่าง ตุลย์ (วีรภัทร ชินะนาวิน) เคยทำงานอยู่ใน Pixar ซึ่งเราในฐานะ Exformat Films เราจะทำงานกับสตูดิโอไหนก็ได้ แต่พอทำงานมาถึงจุดหนึ่งก็เริ่มรู้ว่า sub-contract มันเกินแรงไป ก็เลยเริ่มรับคนเพิ่มในวงการ และขยายทีมจากเดิมกันมาที่มีกัน 8 คน เป็น 80 คน
The MATTER : ถ้าอย่างนั้น ๙ ศาสตรา ก็ไม่ใช่ก้าวที่พัฒนาขึ้นของ Igloo หรือ Exformat Films แต่เป็นความก้าวหน้าของทั้งวงการอนิเมชั่นไทย
อภิเษก : ใช่ ผมว่ามันเป็นอย่างนั้น
กันย์ : ไม่ใช่แค่อนิเมชั่นหรอกครับ เรื่องของ sound ก็ด้วย หนังโรงเดิมก็จะมีระบบเสียง 5.1 กับ 7.1 แต่เมื่อ 4 ปีก่อนเพิ่งมีระบบใหม่อย่าง ATMOS ซึ่งตอนนั้นมีหนังไทยเรื่องเดียวที่ทำ แล้วหนังเราเป็นเรื่องที่สอง แต่ทั่วโลกเขาทำกันหมดแล้ว มันเหมือนเป็น learning curve ของทุกคนจริงๆ อย่างทาง กันตนา ที่มิกซ์เสียงให้หนังเรื่องนี้ ก็ได้มาเรียนรู้ระบบมิกซ์เสียง ATMOS ว่าต้องทำยังไง หรือเรื่องดนตรีที่มาศึกษา process กันใหม่ ว่าทำเพลงประกอบด้วยวงออร์เครสตราควรทำเพลงยังไง เขียนโน้ตแบบไหน ทุกคนก็เรียนรู้พร้อมกันหมดครับ
อภิเษก : อย่างที่กันย์พูด จากเดิมที่คนไทยยังไม่มี know-how พอที่จะทำ live orchestra สำหรับหนัง ที่ต่างชาติเขาเซียนมากแล้วเพราะเขาทำบ่อย แต่ไทยเราไม่ค่อยมีคนเคยใช้ ถ้าเราทำแล้วก็จะทำให้คนทำเรื่องต่อไปคิดว่ามันอาจจะดีกว่าก็ได้ อุตสาหกรรมด้านดนตรีก็อาจจะพัฒนาไปในด้านทำเพื่อหนังก็อาจจะไปต่อได้ ผมคิดว่ามันคือการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งหมด
The MATTER : ทำไม ๙ ศาสตราถึงใช้ธีมของเรื่องเป็นแฟนตาซีแบบไทยๆ และมองยังไงกับผลตอบรับที่ว่า เรื่องนี้ไทยจ๋าจนเกินไป หรืออีกส่วนที่เห็นว่ายังไทยไม่พอ
อภิเษก : ในตอนแรกสุดมันไทยมากเลยนะ อ๊อด พระเอกของเรื่องเนี่ยไว้ผมไว้หนวดแบบ นายจันหนวดเขี้ยว ในบางระจันเลย แล้วเราก็คิดว่า เฮ้ย ถ้ามันจะไทยมากขนาดนั้นเนี่ยมันจะไปสากลได้ไง เพราะสากลมันไม่ค่อยเก็ตหรอกว่าคนไทยเป็นยังไง แล้วก็เคยมีพี่คนนึงมาคุยกันเรื่องนี้ว่า คนไทยจะมีความ ‘ฮาใน’ คือรู้กันเองเฉพาะคนไทยเท่านั้น เราไปฉายคนนอกคนไม่เก็ตหรอก เพราะอย่างนั้นเราต้องดีไซน์การปรับธีมของเรื่องกับบทของเรื่องให้มันมาอยู่ตรงกลาง เพราะเราก็ไม่อยากให้ฝรั่งเกินไป เราก็เลยเขียนบทขึ้นมาไม่ได้อิงจากอะไรเลย แต่เอา element บางอย่างใส่กลับเข้าไป อย่างยักษ์ ลิง มนุษย์ หรือลายกนกก็มีการออกแบบตีความใหม่ ให้มันมีอะไรที่เราคุ้นเคยอย่างที่คนไทยเป็น
กันย์ : ผมขอเสริมนิดนึงครับ คือเรารู้อยู่แล้วว่า ถ้าฉายที่เมืองไทยอย่างเดียวเนี่ย โอกาสที่จะคืนทุนหรือกำไรน้อยมาก เราต้องไปทั่วโลก แล้วก็มีคนเคยพูดไว้ว่า ถ้าเราชวนฝรั่งคนนึงมากินข้าวที่บ้าน แล้วเราทำอาหารให้แบบไทยจ๋าเลย มีความเผ็ดมีความเปรี้ยว ฝรั่งอาจจะชิมแล้ว โอ๊ย เผ็ดไม่ชอบไม่กินละ แต่พวกเราเนี่ย แทนที่จะทำต้มยำกุ้งไทยจ๋า เราก็ปรับให้มันหวานมากขึ้น เผ็ดน้อยหน่อย เค็มนิดนึง เพื่อให้เข้ากับลิ้นของต่างชาติ ให้มันดูทันสมัยขึ้นมาหน่อย มันก็ยังมีความเป็นไทยอยู่แต่มันโมเดิร์นขึ้นอะไรแบบนั้นครับ
The MATTER : 9 ศาสตรา ยังเป็นแนวเรื่องที่ตัวเอกเดินทางไปปราบเหล่าร้าย คิดว่าการเอาเรื่องเก่าๆ เดิมๆ มาทำใหม่ แล้วจะเล่ายังไงให้ใหม่ และคิดว่ามันน่าเบื่อไหม
อภิเษก : วิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ มันเป็นการเล่าเรื่องทุกยุคทุกสมัยแล้ว เพราะถ้าเรามองย้อนกลับไปภาพยนตร์คือ entertainment industry มันคืออุตสาหกรรมที่สร้างความสุขให้กับทุกคน มันเหมือนไปดูมหรสพถ้าเทียบกับสมัยก่อน เพราะฉะนั้นวิธีการเล่าเรื่องมันควรเป็นการเล่าเรื่องเพื่อเอ็นเตอร์เทน ไม่ควรเป็นอะไรที่ซับซ้อน โดยเฉพาะถ้าเราทำการ์ตูน หรือสิ่งที่เราเรียกว่าอนิเมชั่น สิ่งที่มันซับซ้อนเกินไปจะทำให้ผู้ชมเข้าใจยากแล้วไม่สามารถติดตามเรื่องได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเอาภาคหนึ่งของรามเกียรติ์มาทำ แล้วมาทำให้เป็นสไตล์ใหม่เลย ทำเป็นหุ่นยนต์หรืออะไรที่เป็นสไตล์ใหม่ๆ แต่ timeline ของเรื่องซับซ้อนเข้าใจยาก ฉะนั้นการที่จะทำให้เด็กหรือใครมาเข้าใจเนื้อหาตรงนั้นได้ง่าย แม้เราจะปรับให้ดูทันสมัยขนาดไหน มันก็ยังเข้าใจยากอยู่ดี แล้วมันก็จะเป็นอะไรที่ไม่สนุก ในที่สุดแล้วมันก็ต้องจบที่ว่าภาพยนตร์เป็นสื่อ entertainment
The MATTER : คิดว่าแนวเรื่องต้องเป็นธรรมะชนะอธรรมเสมอไปไหม
อภิเษก : ผมว่ามันไม่เสมอไป เพราะจริงๆแล้วภาพยนตร์หลายๆ เรื่องมันก็ไม่ได้ happy ending ขนาดนั้น เราคุยกันตั้งแต่แรกแล้วว่าภาพยนตร์คือ entertaintment สิ่งที่เราต้องการให้คนดูได้เสพคือ มันต้องสนุก เด็กดูแล้วต้องไม่ร้องไห้ เด็กดูแล้วต้อง happy ไปกับหนังนั้นคือโกลของเรา เพราะฉะนั้นยังไงธรรมะก็ต้องชนะอธรรมอยู่ดี เป็นการทำภาพยนตร์ในสไตล์ของเรา
The MATTER : งั้นแปลว่าถ้ามีได้โอกาสทำเรื่องต่อไปก็อาจจะลองพลิกมุมบ้าง
อภิเษก : คือถ้าเป็นไปได้ เพราะจริงๆแล้วผมก็เป็นคนที่ดูหนังหลากหลาย ทั้งหนังอาร์ต หรือบางที่ก็หนังที่มันไม่ค่อยเมกเซนซ์เท่าไหร่ David Lynch ก็เป็นผู้กำกับคนโปรดของผม ซึ่งจริงๆ แล้วหนังเขาก็ดูไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นผมก็เลยคิดว่า ถ้าจะทำหนังให้ดูน่าสนใจและสามารถเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยได้มันจะต้องไม่ใช่หนังยาก จะต้องเป็นหนังที่ทุกคนสามารถ enjoy ได้ อย่างเวลาเราเข้าไปดูหนัง หรือพาลูกเข้าไปกับครอบครัว ทุกคนต้องสามารถ enjoy ได้ ต้องไม่ใช่หนังเฉพาะกลุ่ม มันถึงจะพัฒนา คนถึงจะเข้าใจ มันคือการ educate ให้ผู้ชม ได้รับรู้ว่าภาพยนตร์ไทยพัฒนาไปแล้ว มันไม่ได้หยุด
The MATTER : ด้วยทุนสร้างกว่า 200 ล้านบาท ทางฝั่งผู้บริหารมีแผนจัดการเงินทุนยังไง
กันย์ : เรารู้ว่าเราต้องขายต่างประเทศตั้งแต่แรกครับ เรารู้อยู่แล้วว่าอนิเมชั่นถ้าฉายแค่ในไทยไม่รอดอยู่แล้ว เราเลยต้องแน่ใจว่าทำยังไงให้ต่างชาติเขารับได้ เงินที่บานไประดับ 200 ล้านเนี่ย เพราะเราไม่เคยทำหนังกันมาก่อน เราเลยลองผิดลองถูกกันเยอะ และพอทำไปเรื่อยๆ เราไม่โมเมนต์ที่ว่า ‘จริงๆ แล้วเราน่าจะ…’ (What if…) เราก็เลยทำให้มันสมบูรณ์ที่สุด ภาพก็ต้องได้คุณภาพที่ต่างชาติรับได้ ทั่วโลกรับได้ ทำภาพให้สวยแล้วก็ต้องทำ sound, music score, effect ทุกอย่างทำให้มันถึงด้วย งบมันเลย
ลองคิดดูว่าเรามีทีมงาน 100 กว่าคน รับเงินเดือนอยู่สามหมื่นบาท คูณเข้าไปสี่ปี มันก็ต้องโดดเกิน 200 ล้านอยู่แล้ว แถมยังมีค่าอุปกรณ์ ค่า license มันเป็นต้นทุนทั้งนั้น การที่งบมันบานมาถึงขนาดนี้มันก็มีเหตุมีผลครับ
The MATTER : ถือว่าเป็นการลงทุนกับ know-how ในอนาคต
กันย์ : ใช่ครับ
The MATTER : แล้วในมุมของทีมงานคิดว่าอนิเมชั่นไทยยังมีโอกาสที่จะเติบโตอีกไหม หรือว่ามีเหตุอะไรที่จะทำให้ไม่บูม
กันย์ : ตอนที่ทำ เรากลับคิดว่าเด็กไทยเก่งนะครับ ปีหนึ่งๆ จบด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกกัน 4-5 พันคน แต่คนเก่งมากๆ ก็จะบินไปอยู่ต่างประเทศ อยู่ DreamWorks, Pixar กัน เพราะเขาได้เงินเดือนที่นั่นและคอนเทนต์ก็น่าสนใจ คนอื่นก็จะวนเวียนในงานเซอร์วิซ (งานกราฟิกอื่นๆ อย่างทำ CGI, โฆษณา ฯลฯ)
แต่ว่าตอนที่เราทำเรื่องนี้ มันเป็นเหมือนความหวังของอนิเมเตอร์ชาวไทย เพราะคนไทยเก่งๆ ที่อยู่ DreamWorks, Pixar, Sony ก็กลับมาทำกับพวกเรา เพราะเขาอยากให้คนเห็นว่าคนไทยเก่งและอยากให้ธุรกิจอนิเมชั่นเติบโต เพราะอย่างนั้นผมก็เลยคิดว่า …พวกเราคิดว่ามันสามารถโตได้ครับ ถ้าทุกคนมาสนับสนุนเรื่องเหล่านี้มันก็เติบโตกันได้
อภิเษก : ถ้าเกิดว่าคนให้ความสนใจหนังเรื่องนี้อย่างที่เราคาดว่า นักลงทุนทั้งเมืองไทยหรือต่างชาติก็จะเริ่มกล้าลงทุน เพราะเขาเห็นว่าคนไทยมีความสามารถมากขนาดนี้ ฉะนั้นอุตสาหกรรมนี้ก็จะไม่หยุดอยู่ที่เดิม จะยังไงมันก็เป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันกันสูงอยู่แล้ว ถ้ามีคนหนึ่งกล้าทำ อีกคนกล้าทำ ล้อมันก็จะหมุนไปเองครับ
กันย์ : เราก็ยังใหม่อยู่นะครับในธุรกิจอนิเมชั่น ไม่ได้หมายถึงพวกเรานะครับ แต่หมายถึงประเทศไทยเอง อย่างญี่ปุ่น อย่างจีนก็มีสไตล์ของเขาเองแล้ว แต่ของเรานี่ยังไม่มีครับ ก็เหมือนกำลังเรียนรู้กันอยู่
อภิเษก : ผมนึกได้อย่างนึง แต่มันจะกลับไปตอบคำถามก่อนหน้านี้ด้วย คือเราเคยเห็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่ตัวละครถือดาบซามูไรหรือไปนั่งกินโซบะ มันเป็นวัฒนธรรมของเขา แล้วทำไมวัฒนธรรมของเรามันจะดีไม่ได้ ทำไมมันจะชูไปให้คนอื่นดูไม่ได้ เพราะขนาดเรายังรับวัฒนธรรมผ่านการ์ตูนญี่ปุ่นได้เลย ฉะนั้นความเป็นไทยมันอาจจะไม่ต้องเชยก็ได้ มันอาจจะเทรนด์ก็ได้
The MATTER : ใกล้วันเด็กแล้ว มีอะไรอยากบอกน้องๆ ที่อยากเรียนและทำงานสายงานบ้าง
อภิเษก : ผมบอกได้ว่าอนิเมชั่นมันไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกคนอาจจะคิดว่ามันง่ายๆ แต่มันเป็น process ที่ไม่สามารถจบได้ด้วยตัวคนเดียว มันต้องนั่งทำโมเดล เสร็จมาทำ rigging เสร็จไปทำ texture เสร็จไป composite ไป lighting กว่าจะไป render อีก ทั้งหมดนี้ใช้คนทำงานจำนวนมหาศาล และผมว่าการศึกษาบ้านเรายังมีปัญหาอยู่ เพราะเขายังสอนให้meเป็นทุกอย่างแต่ยังไม่เก่งด้านใดด้านหนึ่ง ทุกคนทำโมเดล ทำ rigging ได้หมดแต่ไม่ได้เก่ง
จริงๆ แล้ว ถ้าเขาชอบอะไรหรือเก่งอะไร อย่างชอบวาดรูปหรือปั้นโมเดลก็ทำให้เก่งโมเดล 3D ไปเลย คนที่บ้า rigging ที่ต้องขยับแล้วลูกตาขนตากระดิกทุกเส้นก็ฝึกไปเลย พอทำงานก็เอาสองคนนี้มาเจอกันมันถึงจะได้งานที่ดีที่สุด ผมคิดว่าการเรียนการสอนไม่ควรสอนแบบจับฉ่าย น่าจะโฟกัสอะไรให้มันเคลียร์ไปเลย
The MATTER : ในอนาคตต่อไปจะมีผลงานอะไรให้ติดตามบ้าง
อภิเษก : (หัวเราะ) ขอเอาอันนี้ให้รอดก่อนครับ แต่ Exformat Films ก็เป็นบริษัททำหนัง เราก็อยากทำต่ออยู่แล้วครับ ถ้าเรื่องนี้สำเร็จเราก็อยากจะลงทุนต่อครับ
กันย์ : นอกเหนือจากภาพยนตร์เราก็ยังอยากจะทำอย่างอื่นด้วยครับ แต่ก็ต้องเริ่มด้วย ๙ ศาสตราก่อน (หัวเราะ)
อภิเษก : และผมคิดว่าตัวหนังมันเป็นสินทรัพย์ทางปัญญา ซึ่งเราเอาไปทำต่อได้ มันอาจจะเป็น อ๊อด เดอะซีรีส์ หรือ วาตะ เดอะ คิงด้อม อะไรแบบนั้นครับ
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก