Higuchi Ichiyo นักเขียนสตรีชาวญี่ปุ่นผู้สร้างผลงานอย่างหนังสือ Takekurabe ในยุคสมัยที่สตรียังไม่มีพื้นที่ใดมากนัก เธอยังเสียชีวิตไปด้วยวัยเพียงแค่ 24 ปี เท่านั้น ความโดดเด่นของผลงานที่เธอสร้างนั้นส่งผลต่อสังคมญี่ปุ่นจนได้รับเกียรติให้อยู่บนธนบัตร 5,000 เยน รุ่นที่ใช้งานกันในปัจจุบันนี้
Mikazuki Munechika ดาบที่ถูกตีขึ้นมาในช่วงศรรตวรรษที่ 11 หรือ ยุคเฮอัน ว่ากันว่าเป็นดาบเล่มแรกที่ถูกตั้งชื่อ ตัวดาบมีความโค้งงดงาม บนตัวดาบมีลายสอดคล้องกับชื่อของดาบที่แปลว่าจันทร์เสี้ยว ถือกันว่าดาบเล่มนี้งดงามที่สุดในกลุ่ม 5 ยอดดาบแห่งญี่ปุ่น ความงามนี้ทำให้ดาบถูกเปลี่ยนมือไปยังโชกุนหลายต่อหลายคนคน ปัจจุบัน ดาบถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติโตเกียว
Benzaiten เทพตามความเชื่อทางศาสนาพุทธของญี่ปุ่น เป็นเทวีที่ควบรวมทุกสิ่งที่มีการเลื่อนไหล อย่าง สายน้ำ, เวลา, คำพูด. ดนตรี รวมถึงความรู้ ตามความเชื่อของญี่ปุ่นมักมีรัศมีและถือดาบหรือบิวะ (เครื่องดนตรีจำพวกพิณ) อยู่ในมือ ซึ่งเทพองค์นี้เป็นการรับความเชื่อของพระสุรัสวดีมาสู่ญี่ปุ่น และมีการตีความเพิ่มเติมเล็กน้อย
ถ้าอยู่ในประเทศไทยเราคงจะได้อ่านความเห็นในทำนองว่า เธอเป็นหญิงผู้ได้รับพรจากเทพจนทำให้แต่งผลงานอันสำคัญออกมาได้จะมาอยู่บนแบงค์ได้ไง หรือ นี่คือดาบในตำนานที่เจ้าเมืองหลายคนต่างครองไว้เมื่อครั้งมีอำนาจสูงสุด เป็นมงคล และเราคงกราบไหว้ Benzaiten ด้วยความเลื่อมใสเคารพ ทั้งหมดนี้คือการมองโลกด้วย ‘ความศักดิ์สิทธิ์’
แต่ในญี่ปุ่น ความเชื่อที่หลากทำให้บางมิติในความเชื่อถูกเปิดกว้างมากขึ้น ความศักดิ์สิทธิ์อาจจะลดสถานะลงไป จนกลายเป็น Pop Culture
อย่างการนำเอา Higuchi Ichiyo มาแสดงเป็นตัวละครในโฆษณาเครื่อง Playstation 4 ที่ประกาศลดราคาเครื่อง 5,000 เยน ทั้งยังจับกิมมิกว่าสามารถทำให้หญิงสาวที่อาศัยอยู่ในห้องพักที่คับแคบ เปิดโลกให้กลายเป็นนักเรียนหรือจอมโจร (ตามเรื่องราวเกมในโฆษณา) ได้
ดาบ Mikazuki Munechika ถูกนำไปดัดแปลงเป็นตัวละครในเกม Touken Ranbu เกมที่ผู้เล่นเป็นร่างทรงที่สามารถดึงจิตวิญญาณของดาบมาต่อสู้กับวิญญาณชั่วร้าย โดยดาบแต่ละเล่มจะปรากฏโฉมในร่างของชายหนุ่มรูปงาม โดยที่ตัวดาบ Munechika นี้ปรากฏตัวมาพร้อมกิโมโนที่ดูราคาแพงสอดคล้องกับประวัติของดาบทั้งยังระบุว่าสามารถให้เรียกตัวเขาด้วยสรรพนาม ‘คุณปู่’ ที่มาจากอายุของดาบจริงที่อยู่ยาวมาตั้งแต่ยุคเฮอันนั่นเอง
หรือ Benzaiten ที่พูดถึงตอนต้นนั้น มีวัดในญี่ปุ่นที่ชื่อ Ryouhouji จับมาปัดโฉมใหม่ ในสไตล์ ‘โมเอะ’ จนกลายเป็นฟิกเกอร์ออกจำหน่ายเพื่อให้บูชา ส่วนวัดเองก็ออกผลิตภัณฑ์แบบ Pop Culture อยู่เรื่อยๆ เกมบ้าง เพลงบ้าง ส่งผลให้วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งสนใจมาที่วัดนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่อยากจะติดตามของน่ารักๆ หรืออยากจะเข้าถึงเนื้อหาคำสอนของศาสนาพุทธนิกายนิชิเร็งก็ตามที
การจับเอาตัวละครจากเรื่องเล่าในตำนาน หรือ บุคคลดังในประวัติศาสตร์ มาเป็น Pop Culture นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดในญี่ปุ่น และแม้แต่ตำนานระดับสากลเองไม่ว่าจะฟากกรีกโรมัน, นอร์ส , สุเมเรียน หรือแม้แต่ตำนานของคริสตจักร และ ยิว ก็ถูกคนญี่ปุ่นจับมาแปลงเป็น Pop Culture ได้เช่นกัน
ตัวอย่างเช่นเกมในตระกูล Fate/Stay Night ที่เอาประเด็นช่องว่างจากการบันทึกประวัติศาสตร์มาตีความให้กษัตริย์อาเธอร์กลายเป็นเพศหญิง หรือตั้งคำถามกลับสู่สังคมญี่ปุ่นว่า ซาซากิ โคจิโร่ อาจจะเป็นแค่ตำนานเพื่อหาคู่ปรับให้ มิยาโมโต้ มุซาชิ (แต่ในเกมข้างเคียงนั้นอาจจะตีความเพื่อทำการตลาดหนักไปหน่อย)
ฝั่งวรรณกรรมของญี่ปุ่นเอง ก็จับเอาประวัติศาสตร์และตำนานของบุคคลสำคัญมาบิดมุมมอง เพื่อเรียนรู้ อย่างเหล่าเซนต์ในเซย์ย่า ที่ยำใหญ่ปกรณัมกรีกให้อาเทน่ากลายเป็นหญิงสาวถือคฑา ส่วนทหารหาญของเธอก็กลายเป็น ‘เซนต์’
หรือถ้าวนเวียนอยู่ในญี่ปุ่นกันเอง ก็มีทั้งการ์ตูนและนิยายหลายๆ เรื่องที่ตีความตัวตนของ โอดะ โนบุนางะ แตกต่างกัน บ้างก็ตีความไปว่าเขาเป็นปิศาจที่แท้จริง บ้างก็ว่าเป็นคนอหังการเพราะตัวเองมองขาดว่าโลกกำลังหมุนไปทางไหน บางครั้งก็สร้างตัวละครใหม่เพื่อให้เป็นตัวแทนของการ ‘ใส่แว่น’ ในการมองมิติตัวละครหลายๆ วันที่ต่างกัน
ส่วนหนึ่งที่ความศักดิ์สิทธิ์มีผลต่อคนญี่ปุ่นน้อยกว่าหลายๆ ประเทศ ก็เพราะประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นเองก็ถูกบันทึกจากหลายกลุ่มคนหลายมุมมอง การที่จะศึกษาหรืออยู่กับเรื่องราวเหล่านั้น หากใช้เพียงความเชื่ออย่างเดียวย่อมไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้สามารถสวมใส่ฟิลเตอร์ความขี้เล่นเข้าไปได้โดยง่าย
เราไม่ได้พยายามจะบอกว่าการบูชาสิ่งใดๆ นั้นผิด แต่สิ่งของบางอย่างที่ควรจะเข้าถึงได้โดยง่ายกลับถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์จนจับต้องไม่ได้ จนทำให้คนไม่กล้าเข้าไปยุ่งนั้น ยิ่งเป็นการผลักผู้คนออกไป ไปสนใจและไปต่อยอดสิ่งอื่นที่เข้าถึงง่ายแทน