ก่อนจะเข้าเรื่องกันยาวๆ ผมขอย้อนเวลาไปพูดถึงเหตุการณ์ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่อยู่ๆ LINE กลุ่มเพื่อนผู้ชายสมัยมัธยมที่ปกติจะเสวนาเรื่องชีวิต หรือ สาวๆ ตามวิสัยที่สมาชิกกลุ่มใหญ่ยังเป็นโสดกันอยู่ แต่จู่ๆ เพื่อนคนหนึ่งก็โยนภาพลงมาในกลุ่ม แล้วเชิญชวนว่า ‘ไอ้พวกหุ่นเสี่ยๆ ไปประกวาดงานนี้กันไหม’ ซึ่งงานที่ว่าก็คือ Mr. Bear Bangkok ที่รับผู้มีคุณสมบัติ อายุ 20-45 ปี หนัก 80 กิโลกรัมขึ้นไป น่ารัก/หุ่นหมี
เวลาผ่านไปจนช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมงาน Chubby Bear Bangkok และได้มาแชร์ประสบการณ์ในการไปร่วมงานครั้งนี้แบบเล็กน้อย ทำให้เพื่อน รวมถึงมิตรสหายร่วมสื่อสังคมออนไลน์ รู้สึกสนใจในกลุ่มสังคมนี้
ดังนั้นในวันนี้เราจะมาย้อนดูกันว่า หมี มาจากไหน, หมี ใช้ชีวิตสไตล์ใด และอีเวนต์ฝั่งหมีๆ นั้นมีผลอะไรกับสังคมบ้าง เพราะถ้าว่ากันตามตรงแล้วผมเองก็ไม่เคยได้นึกถึงมันมาก่อนครับ
ที่มาที่ไปของคำว่า ‘หมี’ ในสังคมเกย์
คำว่า ‘หมี’ ที่กล่าวไปนั้น แรกเริ่มเดิมทีก็เป็นศัพท์ในสังคมเกย์ ที่ค่อนข้างเรียกเหมารวมกลุ่มผู้ชายหรือเกย์ที่มีลักษณะ ขนตามตัวเยอะ ตัวใหญ่ๆ ใช่ครับมันเป็นการเทียบเคียงคนที่มีลักษณะตัวเหมือนกับ ‘หมี’ ที่เป็นสัตว์ป่านั่นเอง เทรนด์นี้ไม่ปรากฎต้นกำเนิดที่ชัดเจนนักว่ามาจากชาติไหน แต่ที่เห็นผ่านสื่อกันแบบชัดแจ้งก็คงเป็นคอลัมน์ภาพในนิตยสาร The Advocate นิตยสารสำหรับชาว LGBTQ ที่ทำคอลัมน์ Who’s Who at the Zoo? ลงในนิตยสารที่วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ปี 1979 เทียบเคียงเพศสภาพกับเพศวิถีของคนยุคนั้นกับสัตว์ในสวนสัตว์ รายละเอียดโดยคร่าวของ ‘หมี’ ในนิตยสาร The Advocate ระบุว่าเป็นคนที่ตัวกับพุงใหญ่ มีกล้ามขาล่ำแน่น และชอบคุยเรื่องตลกๆ
ภาพลักษณ์ของ หมี ชัดเจนขึ้นไปอีก เมื่อ Richard Bulger กับ Chris Nelson จัดทำนิตยสารสำหรับเกย์ และไบเซ็กชวล ชื่อ BEAR Magazine ในปี 1987 ที่โฟกัสไปยังการถ่ายแบบหนุ่มที่มีขนตามร่างกายเยอะพร้อมกับไลฟ์สไตล์ของผู้ชายในกลุ่มนั้น เลยทำให้ภาพพจน์แนวล่ำอวบ ไปจนถึง อวบอ้วน กลายเป็นภาพลักษณ์ของคำว่า หมี ไปโดยปริยาย
ในชาติตะวันตก รวมถึงประเทศที่เปิดรับเรื่องเพศวิถีกับเพศสภาพ กลุ่มเกย์ที่อยู่ในวัฒนธรรมหมี มักจะพ่วงตามมาด้วยความนิยมชุดหนัง, นิยมขี่มอเตอร์ไซค์คันโต หรือ เข้าฟิตเนสเล่นกล้าม รวมถึงว่ากลุ่มคนเหล่านี้มักจะเป็นเกย์ที่อยู่ในวัยทำงานมาแล้วระยะหนึ่ง (สื่อ LGBTQ บางเจ้าตีขลุมว่าเป็นกลุ่มคนอายุ 35 ปี ขึ้นไป) ด้วยเหตุนี้ จึงมีการออกสินค้าต่างๆ เพื่อรองรับคนกลุ่มนี้อย่างชัดเจน เช่น เสื้อผ้าสำหรับกลุ่มหมี, ร้านอาหารหรือผับสำหรับกลุ่มหมี ยาวไปจนถึงแอพพลิเคชั่นสำหรับคนนิยมสายหมี เป็นอาทิ และด้วยความที่เป็นคนทำงานมารวมตัวกันเยอะ ก็กลายเป็นว่า กลุ่มเกย์หมีในชาติตะวันตกและในบางประเทศมีการรวมตัวกันแบบชัดเจน จนมีอำนาจในการเคลื่อนไหวต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นเชิงบันเทิงหรือเชิงผลักดันความเท่าเทียบกันทางสังคม
คำคะนองในการแบ่งประเภทบุคคลในสังคมหมี
ก่อนอื่นเลย ท่านที่คุ้นเคยกับสังคมของฝั่ง LGBTQ น่าจะพอได้ยินหรือได้ฟังกันมาบ้างว่า สังคมกลุ่มนี้จะมีคำคะนอง หรือศัพท์เฉพาะทางอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว กลุ่มหมีเองก็มีคำศัพท์เฉพาะอยู่เยอะเช่นกันครับ ในที่นี้ผมก็จะขอหยิบจับเอาศัพท์เฉพาะที่กลุ่มหมีใช้แยกประเภทย่อยของคนในกลุ่ม ซึ่งพอจะเห็นได้ตามการสนทนาของเหล่าหมี หรือไม่ก็จะปรากฎตัวอยู่ในแอพพลิเคชั่นนัดบอด ถือว่าเรานำความรู้คำคะนองเหล่านี้มาแบ่งปันเป็นความรู้ให้เราเข้าใจคนสายหมีมากขึ้นครับ
Bear หรือ หมี – ชายหนุ่มตัวใหญ่ หุ่นอวบแน่น มีพุงพอสมควร มีกล้ามสวยงามได้ ไว้หนวดเคราก็โอเค (แต่มิตรสหายผู้เขียนหลายๆ คนบอก ไม่มีหนวดก็ไม่เป็นไร หุ่นน่ากอดก็พอแล้ว)
Cub หรือ หมีน้อย – ลักษณะหุ่นแบบหมีเป๊ะๆ แค่อายุน้อยกว่า 35 ปี เท่าที่เจอกับตัว ในไทยเราไม่ได้ใช้คำว่าหมีน้อยเท่าไหร่ครับ
Panda หรือ แพนด้า – หมีชาวเอเซีย …ด้วยความเป็นชาวเอเซีย ผมเองไม่เคยได้ยินคำนี้ในการเรียกหมีๆ ท่านอื่นเลยครับ แต่อาจจะเป็นปกติของชาวหมีในชาติตะวันตกก็ได้นะ
Polar Bear หรือ หมีขาว – ไม่ได้หมายถึงชาวหมีจากยุโรปเหนือครับ แต่หมายถึง กลุ่มหมีมีอายุมากจนผมหงอกเริ่มแซมเยอะแล้ว บางกลุ่มคนหรือบางสถานที่ก็จะเลี่ยงไปใช้คำว่า Silver Daddy แทน และก็มีแสลงข้างเคียงอย่าง Sugar Daddy ที่แปลไทยได้ความประมาณว่า ‘ป๋าสายเปย์’ ครับ
Chubby – อ้วน …ไม่ได้ว่าใครนะครับ หมายถึงคนไซส์ใหญ่พุงโตนอนหนุนสบายบีบจับแล้วนุ่มนิ่ม มีคนไทยเรียกกลุ่มนี้ว่า (ทั้งในการเรียกตัวเองหรือเรียกคนอื่น) หมู นอกจากนี้ยังมีกลุ่มย่อยอย่าง Super Chub ที่บ่งบอกว่าพวกเขาตัวป่องพองโตกว่า Chub ปกติ
Chaser, Chubby Chaser – หรือที่ในไทยใช้คำว่า ‘ผอมชอบอ้วน’ กลุ่มคนหุ่นกำลังดีจนถึงผอมที่นิยมชมชอบ หมี หรือนิยม Chub
Otter หรือ ตุ่น – ‘ผอมขนเยอะ’ ถ้าขยายความหน่อยก็คือคนผอมที่มีขนตามร่างกายแบบกลุ่มหมีครับ ในบ้านเราเท่าที่เห็น คือจับรวมเอากลุ่มคนหุ่นดีมีกล้ามลีนๆ ขนเยอะอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย แต่ถ้าในโลกตะวันตกจะมีคำว่า Wolf เข้ามาแยกกลุ่มคนหุ่นสวยๆ ขนเยอะๆ อีกหนึ่งคำครับ
Ursula – ส่วนตัวไม่เคยเจอคนใช้คำนี้ในไทยแต่เป็นคำศัพท์ที่น่าสนใจเลยนำมาพูดถึงสักเล็กน้อยครับ คำนี้มาจากภาษาละติน ที่แปลได้คร่าวๆ ว่า หมีตัวเมียตัวเล็ก ซึ่งพ้องกับชื่อของตัวละครจากอนิเมชั่นเรื่อง Little Mermaid ของ Disney ด้วย ความหมายของคำนี้ผู้เขียนเจอมาสองทางครับ ทางหนึ่งบอกว่า คำนี้หมายถึง กลุ่มเลสเบี้ยนสาวตัวใหญ่ อีกทางระบุว่าเป็นกลุ่มเพื่อนผู้หญิงของเกย์หมี บางที่บอกว่าคนกลุ่มนี้จะเรียกตัวเองด้วยคำว่า Goldilock ครับ
Furry / Kemono – ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ เกย์หมี ตรงๆ แต่เป็นกลุ่มคนที่ชอบตัวละครสัตว์ที่สามารถยืนได้พูดได้ รวมถึงปฏิสัมพันธ์ได้แบบมนุษย์ ซึ่งหมีก็เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่กลุ่ม Furry นิยมสวมบทบาทเป็นตัวละครแบบนั้น หรือที่เรียกกันว่า Fursona คนส่วนหนึ่งมองว่าเมื่อชอบ Fursona หมี แล้วก็จะชอบเกย์หมีตามไปด้วย ซึ่งไม่จำเป็นเสมอไปครับ เรื่องเพศสภาพกับเพศวิถีของแต่ละท่านอาจไม่สอดคล้องกับความคิดหรือความชอบสิ่งอื่นได้ครับผม
แหล่งพบปะของหมีๆ ในสังคมไทย
ถ้าในฝั่งตะวันตก เราอาจจะเห็นบาร์สำหรับเกย์หมี และเพื่อนๆ ของเขาได้ไปแฮงก์เอาท์กันอย่างได้ชัดเจน ซึ่งในบ้านเราก็พอจะมีร้านเหล่านี้อยู่บ้าง อย่างเช่นร้านในโซนสีลม หรือ ร้านที่ปรากฎเป็นสปอนเซอร์ของงาน Mr. Bear Thailand และก็มีอีกหลายๆ ร้านที่จัดเตรียมร้านรับลูกค้ากลุ่มเกย์หมีเป็นหลัก แต่ไม่ได้ระบุอัตลักษณ์ร้านให้ชัดเจน เพื่อที่จะสามารถต้อนรับลูกค้าได้ทุกเพศทุกวัย
เพราะงั้นคงระบุยากสักหน่อยครับว่าแหล่งพบปะที่ชัดเจนของเกย์หมีในบ้านเรานั้นมีที่อยู่ชัดเจนที่ไหนกันแน่ ที่ผู้เขียนพอจะตั้งข้อสังเกตได้ว่า เกย์สายหมี มักจะเอนจอยกับการกินอาหารอร่อยๆ ดูหนังก็บ่อย เสื้อผ้าจริงๆ ก็ใส่ตามกาละเทศะนะครับ แต่หลายคนก็นิยมเสื้อยืดตัวใหญ่หน่อย ถึงระดับที่มีร้านเสื้อสำหรับสายหมีออกมาขายหลายร้าน แล้วส่วนนึงก็ชอบตุ๊กตาหรือของเล่นที่มีรูปร่างจากหมี แบบ Rilakkuma หรือ We Bare Bears
แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่มีกิจวัตรเข้าข่ายตามข้อสังเกตข้างต้นจะต้องเป็นเกย์หมีนะครับ และถ้าใครเป็นเกย์หมีแล้วไม่ได้ทำกิจกรรมตามที่กล่าวถึงก็อย่าตกใจไป ทั้งหมดเป็นเพียงข้อสังเกตของผู้เขียนเท่านั้นครับ สุดท้าย LGBTQ หลายคนก็มีกิจกรรมที่ชื่นชอบปนเปกันไปกับคนทุกหมู่เหล่าเท่านั้นเอง
แล้วทำไมถึงมีกิจกรรมการจัดงานแนวเกย์หมีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ?
จริงๆ งานหมีไม่ได้มีเยอะขึ้นหรอกครับ หรือถ้าพูดให้ถูกต้อง กิจกรรมของกลุ่ม LGBTQ ถูกจัดอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะในเชิงบันเทิงเฉพาะกลุ่มอย่าง Chubby Bear Bangkok, การประกวดแข่งขันแบบ Mr. Bear Bangkok, Mr. Gay World Thailand หรือ Thailand LGBT Expo ก็เป็นงานจัดแสดงสินค้ากับสาระเพื่อกลุ่มความหลากหายทางเพศก็เพิ่งจัดมาไม่นานนัก ส่วนการเคลื่อนไหวในเชิงสังคมแบบอื่นๆ อย่าง กลุ่มที่สนับสนุนการต่อสู้คดีของ ครูเคท คทาวุธ หรือกลุ่มที่พยายามผลักดันพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ฯลฯ ก็ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นการขยับตัวแบบเล็กๆ บ้าง หรือบางทีก็เป็นการเคลื่อนไหวใหญ่สักหน่อย
เพียงแค่ว่าในภาพรวมผ่านสื่อสารมวลชนอย่าง วิทยุ, ทีวี, หนังสือ กระแสหลักอาจยังไม่ได้สนใจงานเหล่านี้มากนักอาจจะเพราะยังไม่มีการติดต่อมาให้ถ่ายทอดสด หรืออาจมีการคิดเชิงการตลาดมาแล้วว่ายังมีผู้ชมไม่มากพอ หรือบางทีประเด็นที่ให้นำเสนอมันยังไม่มีอะไรสดใหม่ให้ติดตาม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งที่ คุณเบน ชลาทิศ ยืนยันกับสื่อต่างๆ ในเรื่องเพศวิธีของตัวเขาเอง สื่อก็โฟกัสกันอยู่ที่การที่เขามีคนรักเป็นผู้ชาย โดยที่หลายคนก็ยังไม่เข้าใจว่า ‘หมี’ คืออะไรเลยเสียด้วยซ้ำ อย่างเรื่องการประกวด หนุ่มสายหมี ที่กลายเป็นประเด็นเด่นขึ้นมา ก็เพราะกระแสผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่เข้าใจความหมายของตัวเองานผิดไปเล้กน้อยเสียด้วย
เพราะฉะนั้น ณ เวลานี้ หลังจากจบงานอีเวนต์หมีๆ ของบ้านเราไป มันอาจจะยังไม่ได้ผลิดอกออกผลใดๆ แบบชัดเจนนัก เหล่าเกย์หมีและผู้นิยมเกย์หมีแทบทุกคนก็กลับสู่บทบาทปกติของตนเอง ไปทำงานที่เคยทำมาโดยตลอด ไปอยู่กับสมาชิกครอบครัวที่เขาเคยสนิทสนม ถ้าโชคดีบางคนก็อาจจะได้พบรักกันตามงานเหล่านี้บ้าง
แต่เราเชื่อว่าสักวันหนึ่ง อาจมีกิจกรรม LGBTQ สายบันเทิงที่ผู้ชมทุกเพศทุกวัยสามารถเข้ามาร่วมสนุกได้และเราอาจได้เห็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไม่ว่าจะเพศสภาพหรือเพศวิถีใดๆ ก็สามารถขึ้นมาแสดงความเห็นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกันและกันได้อย่างงดงามก็เป็นได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart