เทศกาลเกณฑ์ทหารเดินหน้าเข้ามาถึงพวกเราชาวไทยอีกครั้ง มีอยู่อย่างหนึ่งที่หลายๆ คนหยิบยกเอามาแซวนั่นก็คือ การเกณฑ์ทหารจะว่าไปก็เหมือนกับการจับกาชานั่นเอง
มันมาจาก Gacha Game ที่มีความหมายมาจากพวก ‘กาชาปอง’ ที่บิดแล้วได้ของเล่นนั่นล่ะครับ แต่ในส่วนของเกมจะหมายถึงตัวเกมที่มีระบบ ‘จับฉลาก’ เพื่อสุ่มรับไอเท็ม ไม่ก็ตัวละครในเกม โดยที่ผู้เล่นเกมไม่สามารถควบคุมทุกอย่างในเกมได้อย่างสมบูรณ์ในการกดนี้ โดยแต่ละเกมก็อาจจะตั้งชื่อเรียก กาชา ให้แตกต่างกันไป ฝั่งเกมฝรั่งตอนนี้ก็จะเรียกด้วยคำว่า Loot Box และในช่วงหลังระบบดังกล่าวก็นิยมใช้กันในวิดีโอเกมแทบทุกๆ รูปแบบ จากที่เดิมทีจะนิยมใช้งานกันในเกม Freemium (เล่นฟรีแต่เปย์เงินซื้อกาชาได้)
หลายคนมอง กาชา กับ Loot Box เป็นปัญหาอย่างหนัก ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนก็เห็นด้วยกับการคุมให้กาชาไม่รุกรานพื้นที่คนเล่นเกมจนเกินไป แต่บางทีคุณอาจจะโดนวัฒนธรรม กาชา รุกราน มานานแล้วนะ เพราะจริงๆ ชีวิตคนเรานี่ล่ะคือ กาชา ที่คุมเส้นทางอะไรแทบไม่ได้… ไม่เชื่อเหรอครับ เราจะลองมาให้ดูสถิติกัน
เกิด
เราไม่รู้หรอกครับว่าก่อนจะเกิดเราอยู่ที่ไหนมาก่อน เอาเป็นว่าแค่จะมาเกิดเป็นหนึ่งใน 7,600 ล้านคนบนโลกใบนี้ก็ถือว่า คุณจับ กาชา ได้ดีระดับนึงแล้วล่ะ
แล้วถ้าคุณจะมาเกิดในประเทศไทยล่ะ เราค้นสถิติแล้วพบว่า ในปี 2017 ที่ผ่านมา มีประชากรไทยที่ลงทะเบียนทางกฎหมายจำนวน 66,188,503 คน เมื่อเราปัดคำนวณเป็นตัวเลขกลมๆ ที่ 66 ล้านคน นั่นแปลว่า เรตการจับกาชาในการเกิดมาบนโลกเพื่อเป็นชาวไทยมีอัตราส่วน 1 ต่อ 115
จากนั้นคุณก็ต้องผ่านการจับกาชาอีกครั้งเพื่อเลือกเพศกำเนิดอีกทีหนึ่ง เรตกาชาของไทยในช่วง 10 ปีหลัง ค่อนข้างนิ่งอยู่ที่ ชาย 51% ต่อ หญิง 49% มีสลับกันบ้างในบางปี
เรียน
ถ้าว่ากันตามกฎหมายของประเทศไทย ประชาชนชาวไทยมีสิทธิ์เข้าถึงการศึกษาภาคบังคับเท่ากันทุกคนนับตั้งแต่ ระดับการศึกษาปฐมวัย (อนุบาล) ประถมศึกษา 6 ปีและมัธยมศึกษา 6 ปี
แต่ก็ใช่ว่าการเข้าเรียนจะไม่มีการลุ้นเสียทีเดียวนะ อย่างในระดับชั้นมัยมศึกษาที่มีหลายโรงเรียนถูกตีตราจากสังคมไว้ว่าเป็นโรงเรียนชั้นดีก็จะมีการเปิดให้สอบ ซึ่งตรงนี้จะใช้ทักษะความสามารถมากกว่า ส่วนอีกช่องทางคือการเปิดรับเด็กนักเรียนผ่าน เขตพื้นที่บริการของโรงเรียน หรือถ้าอธิบายง่ายๆ คือการจับสลากรับนักเรียนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ใกล้โรงเรียน ซึ่งถ้าเอาในสมัยก่อนมีเรตการแข่งขันสูงมาก เท่าๆ กันทุกโรงเรียนดัง
ในปีนี้กลับมีอัตราคนเข้าสมัครสลับสับกันไป อย่าง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า เปิดรับนักเรียน 32 คน แต่มีคนมารายงานตัว 121 คน คิดเป็นค่าเฉลี่ยราวๆ 1: 4 / โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เปิดรับจับสลาก 52 คน มีคนรายงานตัว 73 คน คิดเป็นค่าเฉลี่ยราว 1:1.5 / โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 เปิดรับได้ 55 คน มีนักเรียนมารายงานตัว 162 คน อัตราเฉลี่ยราว 1:3 แต่ในขณะเดียวกันก็มีโรงเรียนที่การันตีเข้าเรียนเลยอย่างโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ที่เปิดให้จับฉลากเข้าเรียน 80 ที่นั่ง แต่มีนักเรียนมารายงาน 46 คน และค่ากาชาส่วนนี้น่าจะมีเรตมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเด็กมีการเกิดน้อยลง แต่สถาบันการศึกษายังไม่หดตัวไปเยอะขนาดนั้น
เกณฑ์ทหาร
อันนี้เราพูดไว้ตั้งแตช่วงแรกของบทความแล้ว สำหรับผู้ที่เป็นเพศหญิงได้รับสิทธิ์พิเศษในการไม่ต้องจับกาชาส่วนนี้ครับ ส่วนเพศชายอายุ 18 ปีขึ้นไป ก็ถือว่าจะต้องไปลงเป็น ทหารกองเกินก่อน จนกระทั่งคุณเข้าสู่ช่วงอายุ 21 ปี จนถึง 26 ปี ก็จะต้องไปทำการเกณฑ์ทหาร เราพยายามย้อนไปดูสถิติช่วงสามสี่ปีให้หลังนี พบว่า ทางกองทัพอยากได้ทหารเพิ่มอยู่ที่ราวๆ หนึ่งแสนนาย (ปี 2018 อยากได้ 104,734 นาย, 2017 อยากได้ 103,097 นาย, 2016 อยากได้ 101,307 นาย, 2015 อยากได้ 99,373 นาย) แต่ในขณะเดียวกันก็มีการสมัครใจเป็นทหารมากขึ้นอย่างในปี 2017 ก็มีคนสมัครถึง 50,580 คน หรือราวๆ 49% ที่กองทัพอยากได้ จากตรงนี้ถ้าคำนวณกาชากันแบบมักง่าย อัตราการจับ ใบดำ ใบแดง ก็แทบจะอยู่ที่ 1 ต่อ 2
นอกจากนี้ถ้าคุณได้ผ่านการละเว้นมา (อย่างการเรียน นักศึกษาวิชาทหาร หรือ ร.ด.) โอกาสการเป็นทหารเกณฑ์ก็ถือว่าลดน้อยลงไปมากๆ หรืออาจจะเพราะเหตุนี้ละมั้งที่ทางกองทัพเคยออกไอเดียที่จะหาทางเกณฑ์ทหารเพิ่มเติมมากขึ้น ทั้งๆ ที่การปรับเปลี่ยนผลประโยชน์ในการสมัครทหารให้ดียิ่งขึ้นอาจจะส่งผลให้คนสมัครจนเกินโควต้าแบบที่ตอนนี้มีคนสมัครใจเข้ากรมเกือบครึ่งจำนวนที่กองทัพอยากได้แล้ว
ทำงาน
คนชอบบอกว่า งานสมัยนี้หายาก สวนทางกับความเชื่อที่คนชอบพูดกันอยู่เสมอๆ ว่า ‘ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน’ คืองานอะเยอะ แต่รวยไหมอันนี้เป็นอีกเรื่อง เมื่อเราไปเช็คตัวเลขสถิติก็พบว่า แนวคิดที่ชอบคุยกันนี่น่าจะจริงอยู่ไม่น้อย เพราะการว่างงานในไทยมีน้อยกว่าที่คาดมากครับ อย่างสถิติล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 ถูกระบุเอาไว้ว่ามีประชากร อยู่ในกำลังแรงงานถึง 38 ล้านคน มีผู้ว่างงานราวๆ 490,000 คนเท่านั้น ถ้าคำนวณเป็นเรตด้วยตัวเลขกลมๆ ก็จะตกอยู่ มีคนทำงาน 77 คน ต่อ คนตกงาน 1 คน ถือว่าเรตดี แถมกาชาในส่วนทำงานนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลากับฤดูกาลด้วยครับ
ส่วนถ้าใครอยากรวยด้วยการเล่นหวย The MATTER ก็เคยรวมสถิติข้อมูลของหวยมาแล้วครั้งหนึ่ง
การแต่งงาน และการหย่าร้าง
เรื่องรักๆ นี่ ไม่มีอะไรระบุได้ชัดเจนหรอกครับ การที่เราจะเผลอหลงปลงใจกับใครไปสักคนนั้น ไม่ว่าจะเพศไหน หรือ สถานะไหนก็ตาม บางทีมันก็แทบจะไม่มีเหตุผลอะไรเลย หรือบางคนอาจจะตามหาความรักทั้งชีวิตแต่ก็ยังไม่เจอคนที่โดนใจ ในเมื่อเรตมันสุ่มขั้นสุดขนาดนี้ เลยไม่มีใครทำตัวเลขออกมาให้ดูกัน ที่พอจะมีตัวเลขให้เห็นกันชัดๆ ก็คงจะเป็นสถิติการจดทะเบียนสมรมกับทะเบียนหย่าร้างของทางทางสำนักงานสถิติแห่งชาติ อย่างสถิติล่าสุดในปี 2016 นี้ มีคนมาจดทะเบียนสมรสกัน 297,501 คู่ และมีการจดทะเบียนหย่ากัน 121,617 คู่ กว่าเราจะจับได้กาชาปองของคนที่จดทะเบียนสมรส ก็ยังต้องมาลุ้นอีกว่ากาชาของเราจะเป็นกาชาของคนที่จดทะเบียนหย่าหรือเปล่า
เสียชีวิต
ใดๆ ในโลกนี้ล้วนอนิจจัง ฉะนั้น กาชาตัวหนึ่งที่ทุกคนการันตีได้รับแน่นอนก็คือเรื่องอายุขัยครับ คนเราแก่ลงไปทุกวัน ใช่ว่าทุกคนจะอยู่ยาวเท่ากัน ซึ่งมันก็มีตัวแปรจากการเจ็บป่วยบ้าง อุบัติเหตุบ้าง อย่างในปี 2017 ที่ผ่านมา มีชาวไทยเสียชีวิต ทั้งหมด 486,911 คน จากประชากรที่มีทั้งหมด 66,188,503 คน หรือถ้าหารสัดส่วนด้วยตัวเลขกลมๆ แล้วก็จะมีค่าเฉลี่ยราว ประชากรเสียชีวิต 1 คน ต่อ ประชากร 136 คน
น่าเสียดายนิดหน่อยที่รายละเอียดการตายในปี 2017 น่าจะยังทำไม่เสร็จดีครับ เลยขอยกตัวเลขสาเหตุการตาย ของปี 2016 ที่ได้ระบุไว้ว่า โรคมะเร็งกับเนื้องอกทุกชนิดคร่าชีวิตคนไทยไป 119,500 คน ตามมาด้วย ความดันเลือดสูง และโรคหลอดเลือดในสมอง ที่มียอดเสียชีวิตอยู่ราว 48,700 คน ตามติดด้วย ปอดอักเสบและโรคอื่นๆ ของปอด 43,800 คนครับ ทั้งนี้ตัวเลขส่วนนี้ยังไม่มีการรวม สาเหตุ ‘อื่นๆ’ เป็นการกล่าวครอบคลุมถึงสาเหตุหลายประการ อย่างเป็นโรคชรา หรือโรคอื่นๆ ที่มีนับร้อยเข้ามา ซึ่งตัวเลขลงรายละเอียดนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขจะอัพเดตอีกครั้งแต่คงต้องใช้เวลานานหน่อยครับ
ในส่วนสุดท้ายนี้เราไม่อยากมองให้ว่าเป็นการจับกาชาแล้วซวย แต่อยากจะให้เตรียมใจไว้ว่า กาชาในชีวิตคนเรามันมีหลากแบบหลายสไตล์ เราควรจะพร้อมรับหรือพร้อมใช้งานกาชาใดๆ ที่เราจับได้มากกว่าครับผม
อ้างอิงข้อมูลจาก
ส่วนบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีการทะเบียน สำนักบริหารการทะเบียน 1 , 2 , 3
ระบบฐานข้อมูลด้านสังคมและคุณภาพชีวิต สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6