เมื่อสัปดาห์ก่อน The MATTER มีโอกาสไปดูหนังเรื่อง I Am A Hero รอบพิเศษที่ทางบริษัท M Pictures จัดฉายขึ้น ด้วยความเคยอ่านหนังสือการ์ตูนฉบับนี้ จึงอยากไปลองดูสักครั้งว่าหนังจากการ์ตูนเรื่องนี้จะเป็นยังไง
I Am A Hero เริ่มเรื่องจากพระเอกวัยกำลังเข้าหลัก 4 แต่เป็นแค่ผู้ช่วยนักเขียนการ์ตูนที่รายได้ไม่มากนัก ทีนี้ดันมีปืนลูกซองติดบ้าน (ในญี่ปุ่นการมีปืนในครอบครองต้องใช้เงินซื้อและเงินขึ้นทะเบียนมากพอควร แน่นอนว่าต้องทำการสอบสวนยาวเหยียดอีกต่างหาก) พอดีว่าไวรัสซอมบี้ระบาด พ่อหนุ่มคนนี้เลยต้องหนีออกจากตัวเมือง จึงได้เจอกับสาวน้อยในโลกที่พินาศไปหลังซอมบี้ยึดครอง
ถึงพลอตจะดูเบๆ เหมือนหนังซอมบี้ทั่วไป แต่สไตล์ของซอมบี้ในเรื่องนี้จะเดินช้าย แต่ถ้าเข้าโหมดเร่งความเร็วซอมบี้เหล่านี้จะพุ่งเข้ามาด้วยลีลาผีญี่ปุ่นพร้อมความเร็วที่อัดคนดูให้ตรึงอยู่กับเก้าอี้ แถมยังอุดมไปด้วยฉากแอคชั่นเลือดสาดที่ทำให้หลายคนถึงกับปิดตาดู
เอาจริงๆ ก็เป็นหนังดัดแปลงจากการ์ตูนที่ทำออกมาได้ไม่เลวเลยล่ะ ไม่ต่างกับเรื่อง Terra Formars ที่เข้าฉายในไทยก่อนหน้านี้ เพียงแค่ถูกรวบรัดตัดตอนไปบ้าง
หรือความจริงหนังที่สร้างจากการ์ตูน ไม่ได้แป้กขนาดนั้น ?
หลายคนติดภาพว่า หนังจากการ์ตูนญี่ปุ่นที่เข้ามาฉายในประเทศไทยมักไม่ทำเงิน อย่างที่สกู๊ปของสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS เคยนำเสนอไว้เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่เราจะพาไปดูอีกมุมนึงกันบ้าง เพราะหนังที่ว่าแป้กๆ ในบ้านเรากลับทำเงินในญี่ปุ่นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ใช่ว่าจะมีแค่คนต่างชาติอย่างไทยเราคิดว่าหนังจากหนังสือการ์ตูนจะเจ๊งแน่นอน เพราะ อาจารย์ฮิโรยะ โอคุ ผู้วาดการ์ตูนดังอย่าง Gantz และ อินุยาชิกิ ได้ออกความเห็นว่าหนังหลายเรื่องที่เจ๊งเป็นเพราะเน้นการใช้ดาราใหญ่จนไม่ได้โฟกัสบทหนัง ส่วนเรื่องที่ประสบความสำเร็จอย่าง Gantz นั่นเพราะเน้นความสมจริงของบทบาท พูดแบบนี้ก็เหมือนอวยการ์ตูนตัวเองไปหน่อย เผลอๆ ถ้าจะให้แฟร์ เราจะพาไปดูรายได้กัน
ว่าด้วยรายได้หนังจากการ์ตูนในประเทศญี่ปุ่น
เริ่มกันด้วยหนัง I Am A Hero ค่ายที่นำเข้าเรื่องนี้ก็กวาดรายได้ไป ราว 420 ล้านบาท ทำรายได้สูงเป็นอันดับที่ 16 ของรายได้หนังสูงสุดในปีนี้ และเป็นหนังคนแสดงที่ถูกสร้างจากการ์ตูนที่มีรายได้สูงเป็นอันดับ 2 ของปี (ณ ตอนนี้)
ส่วนหนังที่ถูกสร้างจากหนังสือการ์ตูนที่รายได้สูงสุดของปีนี้คือ Assassination Classroom: The Graduation ภาคส่งท้ายของหนังชุดนี้ ที่ตั้งใจออกฉายให้ตรงกับช่วงที่ฉบับหนังสือการ์ตูนอวสานพอดี บวกกับการได้ดาราดัง ทำให้หนังเรื่องนี้โดยรายได้ไปถึง 1,100 ล้านบาท …ก็ดูไม่เจ๊งใช่มะ
ย้อนกลับไปดูหนังที่หลายคนยกเป็นตัวอย่างของความอัปยศอย่าง Attack On Titan (ภาคแรก) ก็ยังกวาดรายได้ไปกว่า 1,135 ล้านบาท …แต่แน่นอนว่าภาคสองรายได้ก็ลดฮวบไปกว่าครึ่งเหลือเพียง 586 ล้านบาทเท่านั้น แต่ Attack Of Titan นั้นมีดาราจำนวนมหาศาล แม้ตัวละครเหล่านั้นจะโผล่ออกมาตายในชั่วพริบตาบนจอเงิน แต่พวกเขายังได้เล่นฉบับทีวีซีรีส์อีก ด้วยงบดุลขนาดนี้คงพูดได้ยากว่าหนังชุดนี้ได้กำไรไปมากน้อยขนาดไหน
ขณะเดียวกันปี 2015 ก็มีหนังที่สร้างจากการ์ตูนอีกหลายเรื่องที่เข้าฉาย อย่าง ปรสิต (ภาคแรกทำรายได้ 706 ล้านบาท / ภาค 2 รายได้ 524 ล้านบาท), Bakuman วัยซนคนการ์ตูน (รายได้ 612 ล้านบาท) , Our Little Sister เพราะเราพี่น้องกัน (รายได้ 586 ล้านบาท) หรืออย่าง Assassination Classroom ภาคแรก (รายได้ 964 ล้านบาท)
แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่หนังจากการ์ตูนแล้วประสบความสำเร็จกันอย่างต่อเนื่องนะ ยังมีหนังที่ล้มเหลว หรือเข้าฉายในจำนวนน้อยโรงจนทำรายได้ไม่สูงนักอย่างเช่นกัน ตัวอย่างเช่น The Next Generation -Patlabor- (เรื่องนี้เข้าฉายในไทยด้วยนะ) Minna Esper Dayo!, A Farewell to Jinu เป็นอาทิ
เหตุที่ทำให้หนังจากการ์ตูน ‘ปัง’ หรือ ‘แป้ก’
จากยอดรายได้ข้างบนน่าจะเห็นได้ว่า หนังที่ประสบความสำเร็จมากๆ มีผลมาจากการตลาดและกระแสของหนังสือการ์ตูนเรื่องนั้นๆ ที่เห็นได้ชัดก็เป็นเรื่อง Assassination Classroom ที่ทางสำนักพิมพ์สนับสนุนอย่างชัดเจน เพราะการที่จะทำให้หนังจบในทิศทางเดียวและพร้อมกันผู้เขียนการ์ตูนต้นฉบับก็ต้องยอมเปิดเผยเนื้อหาทั้งหมดให้ทีมหนัง
ส่วน Attack On Titan นั้นแม้จะทำรายได้ค่อนข้างดี แต่ก็ถูกแฟนการ์ตูน และคนดูหนังทั่วไปก่นด่ากัน เพราะไม่สนุกเท่าที่ควร แถมยังปรับแต่งอะไรจากต้นฉบับไปไกลมากๆ แม้ว่าภาคสองของเรื่องนี้ จะพลิกพลอตไปอีกทาง แต่ก็ไม่สามารถทำให้คนดูกลับมาดูได้อีกครั้ง
ในขณะเดียวกันเรื่อง The Next Generation -Patlabor- นั้นใช้ดาราที่ค่อนข้างมีชื่อ เนื้อหาถูกถ่ายทำอย่างเคารพการ์ตูนต้นฉบับอย่างมาก ทั้งยังได้ผู้กำกับของฉบับอนิเมชั่นดั้งเดิมมากำกับให้ แต่การที่ยอมให้หนังเหมือนกับฉบับการ์ตูนอย่างมากถึงขั้นสุดทำให้ความแปลกใหม่น้อยลง ทั้งยังไม่ดึงดูดคนดูที่ไม่เคยรู้จักการ์ตูนอีกด้วย
ดังนั้นการจะเหมารวมว่าหนังจากหนังสือจะไม่เจ๊งหากยึดมั่นในต้นฉบับ ก็คงจะไม่ใช่เสียทีเดียว จุดสำคัญคงอยู่ที่ว่าการดัดแปลงมาเป็นหนังแล้วมันจะยังสามารถสนุกคงอรรถรสแบบใกล้เคียงต้นฉบับได้หรือไม่มากกว่า และถ้าร่วมกับการตลาดที่ดีก็จะทำให้หนังปังได้ดื้อๆ แบบที่ I Am A Hero ทำไว้ในประเทศญี่ปุ่น
อ้างอิงข้อมูลจาก