สุดสัปดาห์นี้ในบ้านเรากำลังจะมีงานการ์ตูนที่ใช้ชื่อว่า ANICO ที่จะมีนิทรรศการการ์ตูนกับการเสวนาเกี่ยวกับการ์ตูนลิขสิทธิ์ รวมถึงมีคนทำงานทั้งจากไทยและจากประเทศญี่ปุ่นที่จะเดินทางมาเมืองไทยเพื่อบอกเล่าประสบการณ์การทำงานของพวกเขาอีกด้วย การที่ตัวงานออกมาในเชิงสาระด้านลิขสิทธิ์มากกว่าปกตินี้เพราะทีมจัดงานนั้นเป็นการรวมกลุ่มกันของสำนักพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนในไทยอย่าง กลุ่ม ‘Read 2 Rights’ นั่นเอง
ฟังชื่อแล้วกลุ่ม Read 2 Rights ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิทธิ์ให้กับสำนักพิมพ์การ์ตูนที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีแต่ข่าวร้ายออกมาให้ได้ยินได้ฟังว่าจะปิดตัวบ้าง แต่พวกเขารวมตัวกันเพื่อการใด? เพื่อไล่จับกุมผู้ละเมิดลิขสิทธิ์? เพื่อช่วยกันขายของ? ก่อนที่มโนภาพของเราจะทำงานหนักไปกว่านี้ เราก็ได้มีโอกาสได้ไปเข้าคุยกับตัวแทนของกลุ่ม R2R 4 ท่าน ประกอบไปด้วย คุณพิธูร ตีรพัฒนพันธุ์ (บ.ก. ยูตะ), คุณมนตรี ทิพย์ประเสริฐ (บรรณาธิการของสำนักพิมพ์เฟิร์สเพจโปร), คุณณัฎฐ์ธรณ์ ทวีมงคลสวัสดิ์ (ตัวแทนจากสำนักพิมพ์รักพิมพ์) และ คุณตติยะ ศรียะพันธ์ (บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์พูนิก้า คอมิก)
Read 2 Rights คืออะไร รวมตัวกันทำไม และวางทิศทางไปทางไหน
“กองบรรณาธิการหรือสำนักพิมพ์การ์ตูน ส่วนใหญ่เราก็ต่างคนก็ต่างทำงาน จะมีอยู่สองครั้งในรอบปีที่เราจะได้เจอกันนั่นก็คือช่วงงานหนังสือ (เดือนมีนาคม กับ เดือนตุลาคม) ส่วนใหญ่ก็เดินมาเจอกันทักทายกันบ้าง แล้วมันก็มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พวกเราน่าจะนั่งคุยกันเพราะตอนนั้นมีปัญหาเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ตรงกัน ก็เลยเห็นว่า เฮ้ย เรามานัดคุยกันนอกรอบดีกว่า เราจะได้มาคุยกันว่าปัญหาที่พวกเราเจออยู่มันมียังไงบ้าง เพื่อที่ว่าพวกเรา กอง บ.ก. สามารถหาทางออกซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ปัญหาที่เผชิญหน้ากันอยู่ OK เราอาจจะยังไม่รู้ชัดเจนหรอกว่าเราจะเดินหน้าไปแบบไหน แต่เราจะตั้งเป็นกลุ่มที่จะติดต่อกัน เพื่อจะแลกเปลี่ยนและเกาะมือเกี่ยวกันทำงานร่วมกันได้ ก็เลยเกิดกลุ่ม Read 2 Rights ขึ้นมาได้” บ.ก. ยูตะ ที่ถือว่าเป็นพี่ใหญ่ในวงสนทนาอธิบายถึงจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของกลุ่มสำนักพิมพ์การ์ตูนนี้
ตัวแทนจากสำนักพิมพ์รักพิมพ์มาเสริมว่า “วันนั้นก็อย่างที่พี่ๆ บอกกันไปครับ เรามีปัญหารวมกัน แล้วก็ต่อยอดกันไปว่า ทำยังไง แก้ปัญหากันแบบไหน แล้วก็มีการกำหนดพอยต์กันว่า เราจะเริ่มจากอะไรจากการ ‘ปราบปราม’ ‘ป้องกัน’ หรือ ‘รณรงค์’ ที่พวกเราคุยกันวันนั้นก็สรุปได้ว่าอันดับแรก เราจะต้อง ‘รณรงค์’ ให้คนอ่าน ลูกค้า หรือหลายๆ ท่านได้เข้าใจกันก่อนว่า ‘ลิขสิทธิ์คืออะไร’ Read 2 Rights จึงเกิดขึ้นมาในแง่มุมนี้และทำให้ต่อยอดไปถึงงาน ANICO ด้วย ในมุมการจัดงานเพื่อรณรงค์ แต่ในส่วนงานเบื้องหลังที่เกี่ยว ‘ปราบปราม’ กับ ‘ป้องกัน’ ก็จะทำไปอีกส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้ภาพออกมาดูรุนแรงเกินไปครับ”
“R2R เนี่ยจริงๆ ตอนเริ่มต้นมันเป็นเรื่องของพวกเรา (สำนักพิมพ์) แต่พอมานั่งคุยถึงเรื่องลิขสิทธิ์มันอาจจะต้อง คุยกันถึงขั้นตอนการคุยสร้างสำนึกใหม่ในลิขสิทธิ์หรือเปล่า เพราะว่าในจุดนี้่ ลิขสิทธิ์ไม่ได้มีแค่เรื่องของวรรณกรรมหรือสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่มันเป็นการรักษาสิทธิ์ของตัวเอง ซึ่งลึกๆ แล้ว เด็กยุคใหม่ไม่ได้ทำการรักษาสิทธิ์ตัวเอง ทุกคนชอบที่จะเอาสบาย อย่างเช่นเรื่องสแกนในอินเตอร์เน็ต มันคือการทำร้ายสิทธิ์ตัวคุณเองที่ทำให้ไม่มีโอกาสได้อ่านของที่มีคุณภาพดีกว่านั้น” คุณมนตรี จาก เฟิร์สทเพจโปร แสดงความเกี่ยวกับว สถานการณ์ลิขสิทธิ์ในตอนนี้รวมถึงบทบาทของ R2R ที่เขาอยากจะไปให้ถึง “จุดเล็กๆ ที่เราทำวันนี้คือรักษาสิทธิ์ของตัวเองที่พวกเราได้มา เพื่อต่อยอดไปถึงสิทธิ์ของนักอ่านที่ถูกต้อง แล้วก็รักษาสิทธิ์แทนเจ้าของผลงาน เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่า งานนี้มีเจ้าของนะ มีคนแคร์อยู่นะ ไม่ใข่ว่าคุณหยิบมาใช้ของเขามั่วๆ แบบนี้มันผิด แล้วถ้าทุกคนตระหนักได้ถึงสิทธิ์เหล่านี้ ในอนาคตถ้าเขาสร้างผลงานขึ้นมา เขาจะรู้ตัวว่า ผลงานของเขาเองก็มีสิทธิ์”
สถานการณ์ของ ‘สำนักพิมพ์ลิขสิทธิ์’ จากมุมมองของผู้ผลิตสินค้าลิขสิทธิ์
The MATTER เองก็เสวนาถึงเรื่องลิขสิทธิ์หลายต่อหลายครั้ง แต่มันก็ออกจะเป็นมุมมองจากทางผู้เสพที่ใส่ใจเรื่องนี้ ครั้งนี้ที่มีตัวแทนจากสำนักพิมพ์ลิขสิทธิ์ ที่ถือว่าเป็นผู้ผลิตมาเล่าเรื่องนี้โดยตรงและ คุณตติยะ จาก พูนิก้า ที่ออกตัวว่าเขาเป็นคนนอกครึ่งตัวของกลุ่ม R2R เพราะงานฝั่งของเขานั้นเป็นงานการ์ตูนจากนักเขียนชาวไทยมากกว่า ก็จุดประเด็นไว้อย่างน่าเกี่ยวกับเรื่องนี้
“ผมเคยคิดมานานแล้วล่ะครับว่า จริงๆ คำว่า ‘ลิขสิทธิ์’ มันเป็นสิ่งที่ตามมาจากคนที่สร้างสรรค์อะไรบางอย่างสร้างเกณฑ์ในการปกป้องงานของเขา คำถามคือ คนอ่านการ์ตูนในประเทศไทย คุณวางตัวเองอยู่ว่าเป็น ‘ผู้สร้าง’ หรือ ‘ผู้เสพ’ ผมเคยคิดมานานแล้วล่ะครับว่า จริงๆ คำว่า ‘ลิขสิทธิ์’ มันเป็นสิ่งที่ตามมาจากคนที่สร้างสรรค์อะไรบางอย่างสร้างเกณฑ์ในการปกป้องงานของเขา
“คำถามต่อมาคือ คนอ่านการ์ตูนในประเทศไทย คุณวางตัวเองอยู่ว่าเป็น ‘ผู้สร้าง’ หรือ ‘ผู้เสพ’ คือมันแปลกดีครับ เพราะผมไม่เคยต้องเถียงประเด็นนี้ กับฝั่ง ‘ผู้สร้าง’ อย่างนักเขียนการ์ตูน หรือโปรแกรมเมอร์เลยว่า เขาให้ความสำคัญกับลิขสิทธิ์ไหม การที่เขาให้ความสำคัญนี่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเขาจะใช้โปรแกรมแท้ทุกชิ้นนะครับ แต่พวกเขารู้ดีว่าพวกเขาทำผิด และเขารู้ดีว่าถ้าถ้าอุดหนุนไหววันหนึ่งเขาจะทำมันแน่ เขาไม่มาเถียงหรือดีเฟนด์อะไรมากมายนัก
“แต่ขณะที่กลุ่ม ‘ผู้เสพ’ ตามชื่อที่เขาบอกล่ะครับว่า เขาเสพอะไรได้คุ้มที่สุดเขาก็จะพุ่งไปที่ประเด็นนั้น เพราะฉะนั้นคำวา ‘ลิขสิทธิ์’ ก็จะกลายเป็นกำแพงหรืออุปสรรคของพวกเขาในการเสพอะไรบางอย่าง แล้ว ‘ลิขสิทธิ์’ มันเฟื่องฟู่ในประเทศอะไร ก็ตอบได้ง่ายๆ เลยว่า ประเทศเจ้าของเนื้อหาหรือประเทศที่เป็นผู้สร้างจะเฟื่องฟู่มาก แล้วประเทศเหล่านี้ก็จะเอากรอบลิขสิทธิ์มาบีบประเทศที่เป็นผู้เสพอีกทีหนึ่ง ปัญหาก็คือนักอ่านของเราอยากจะอยู่ตำแหน่งไหน ถ้าเราเลือกที่จะเป็นผู้เสพไปเรื่อยๆ ผมก็คิดมันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไล่งับหางเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะ demand เขาชัดเจนมากว่าจะทำอะไร แล้วประเทศไทยตกอยู่ในภาวะนื้มานาน
“เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันเป็นเรื่อง ‘ภาษาหรือความเข้าใจที่ไม่มีวันตรงกัน’ ตราบเท่าที่ mind set ของสังคมยังให้น้ำหนักอยู่ในฝั่ง ‘ผู้เสพ’ แล้วผมก็รู้สึกได้ว่าถ้าเราสามารถเปลี่ยนสังคมเป็นการสร้างสรรค์ และเป็น ‘ผู้สร้าง’ ในหมวดไหนก็ได้ อย่างประเทศเกาหลี เขาก็เพิ่งกลับมาในฐานะประเทศผู้สร้างในเวลาแค่ราวๆ สิบกว่าปี (จากกระแส Korean Wave ที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายยุค 1990) ซึ่งถ้าประชาชนเปลี่ยนสภาพเป็น ‘ผู้สร้างแล้ว’ ส่วนใหญ่ประชาชนก็จะเข้าใจสิทธิ์แล้วเคารพก็จะมีการปกป้องสิทธิ์ให้กันและกัน
“อย่างในบ้านเรานั้น กลุ่มผู้สร้างสรรค์หลายกลุ่มก็พร้อมที่จะปกป้องสิทธิ์ตัวเองกันแล้วเนอะ อย่างนักเขียน นักวาดในไทย ทันทีที่เกิดดราม่าลอกงานขึ้นมา ทุกคนก็พร้อมจะ ‘บรึ้ม’ ไปช่วยกันปกป้องสิทธิ์ให้กันและกัน เรื่องแบบนี้ถ้าให้สำนักพิมพ์ไปไล่บี้ก็อาจจะไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้นแต่พอเกิดจิตสำนึกขึ้นมาในกลุ่มผู้คน เรื่องนี้จะเปลี่ยนไปเลย
“ดังนั้นในมุมมองของผม ผมเห็นว่า ตอนนี้สถานการณ์ของสำนักพิมพ์ลิขสิทธิ์ในบ้านเรา ‘มันเป็นไปตามสภาวะที่เราเลือกจะเป็น’ เพราะวันนี้สภาวะส่วนใหญ่ในบ้านเรา โดยเฉพาะในกลุ่ม Content เลือกเป็น ‘ผู้เสพ’ แต่ถ้าเกิดว่าเราได้ส่งเสริมเขามากๆ เขาก็จะเข้าใจและอาจจะเปลี่ยนตัวเองเป็น ‘ผู้สร้าง’ ไม่ว่าจะหมวดก็ตาม แล้วเขาก็จะเริ่มรู้สึกหวงแหนสิทธิ์ของเขาและเขาก็จะเริ่มแบ่งปันหวงแหนสิทธิ์ของเขาไปยัง สินค้าลิขสิทธิ์ อื่นๆ ในที่สุด”
แล้วทำไมคนอ่านยุคปัจจุบันถึงดูไม่ใส่ใจเรื่องลิขสิทธิ์มากเท่าที่ควรนัก ?
บ.ก. ยูตะ คิดอยู่พักหนึ่งก่อนจะให้เหตุผลว่า “อือ… มันอาจจะไปไกลเกินเรา (สำนักพิมพ์) ไปเยอะเลยครับ ถ้าคิดจากตัวเอง มันคงเป็นเรื่องของปากท้อง มันเหมือนกับว่าสมัยก่อนที่วิบูลย์กิจยังไม่ได้ทำการ์ตูนลิขสิทธิ์ เราไม่ได้รู้สึกว่าผิดปกติหรืออะไร เราไม่รู้เรื่องอะไรเลย จนกระทั่ง ‘เราเดือดร้อน’ เราถึงเพิ่งมารู้ตัวว่ามันเกี่ยวกับเราว่ะ ดังนั้นมันอาจจะตอบทุกคำตอบให้กับโลกใบนี้ด้วยว่า ก็เพราะ ‘คนไม่เดือดร้อนกับมัน’ ซึ่งคนอาจจะไม่ได้เดือดร้อนอะไรเพราะมันยังไม่เกี่ยวกับคุณ ประมาณนี้่อ่ะครับ”
ส่วนคุณมนตรี เห็นคล้ายกับความเห็นของคุณตติยะที่กล่าวไปเมื่อครู่นี้ “จริงๆ มีทิศทางนึงที่สนใจ คนไทยเริ่มรักษาสิทธิ์กันเองแล้ว อย่างเว็บ Dek-D แต่ก่อนนี้ก็แปลเถื่อนกันเยอะมาก แต่เมื่อเขาเริ่มเห็นว่าพวกเขาสามารถเป็น ‘ผู้สร้าง’ ได้ขึ้นมา พวกเขาก็สามารถรักษาลิขสิทธิ์ มีการป้องกันสิทธิ์ได้มากขึ้น มีการคัดกรองชัดเจนว่าอันนี้เป็นของคนไทยแต่งก็ห้ามเลียนแบบ ดัดแปลงว่าไป อันนี้เป็นของแปลมา ถ้ามีคนประกาศลิขสิทธิ์ในไทยก็ลบทิ้งทันที”
ทิศทางของสำนักพิมพ์การ์ตูนลิขสิทธิ์ในอนาคต
แล้วเมื่อลูกค้าปรับเปลี่ยน สิ่งพิมพ์ขายได้แย่ลง ทางสำนักพิมพ์จะเลือกเส้นทางไหน โชคดีที่ทางเราได้รับคำตอบจากผู้ร่วมสนทนาวันนี้มาพอสมควร
คุณตติยะ เสนอมุมมองของเขาเกี่ยวกับแนวทางของสำนักพิมพ์ในอนาคต “อย่างวันนี้ผมเห็นแล้วว่า DEX (บริษัทที่ทำสินค้าลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่นอีกเจ้าหนึ่งที่อยู่ในกลุ่ม R2R) เขามี passion ในการเป็น gateway ในการนำ content ญี่ปุ่นเข้ามา ซึ่งถ้าบริษัทมีความสุขในลักษณะแบบนั้นได้ก็จบ คือในมุมมองของ ‘ผู้สร้าง’ อาจจะรู้สึกเฟลๆ นิดนึงว่าต้องรอให้คนจัดเนื้อหาจากญี่ปุ่นมาทำเอง แต่ถ้าไม่ยอมรับความจริงมันก็จะทำอะไร คือตอนนี้จุดที่มันเดือดร้อน (ของคนอ่าน) มันหนีไปแล้ว แล้วเราจะพยายามไปรักษาสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้คุณรักษาให้แล้วหรือเปล่า มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ต้องคิดใหม่ว่าความเดือดร้อนหรือ pain point ของนักอ่านยุคนี้อยู่ที่ตรงไหน แล้วเราสามารถตอบโจทย์มันได้ที่ตรงไหน อย่างผมทำการ์ตูนไทยก็พบว่า ผมไม่มีการ์ตูนไทยที่ใช้ความคิดแบบไทยๆ ให้อ่าน ที่เขียนแนวหัวจุก โน่นนี่นั่น จริงๆ มันไม่ใช่อะไรหรอก คือมันขายได้ไง pain point ของคนอ่านการ์ตูนไทยคือมันไม่มีอะไรให้อ่าน ก็เลยทำอะไรรองรับลูกค้าส่วนนั้น
“วันนี้เราจะต้องยอมรับว่าความเดือดร้อนของเด็กมันเปลี่ยนไปแล้วว่า ‘ฉันมีเวลาไม่เพียงพอต่อ content ที่เข้ามาในชีวิต ฉันมีเงินแหละแต่ฉันจะต้องเลือก’ และตอนนี้เขาให้เวลา content บันเทิงไปยังเนื้อหาแบบอื่น อย่าง เกม, เพลง หรือกิจกรรมอื่นๆ ไปอีก แล้วฝั่งสำนักพิมพ์แบบเราจะแก้ pain point ให้เขายังไง ผมก็เคยคิดว่าจะใช้ model แบ่งกันไปเลยแบบ freemium แบบ line webtoon หากินจากค่าโฆษณาเอา แล้วค่อยออก premium มาขายให้สะสมอีกดีกว่า คือถ้าเราไม่เคยมองว่า pain point ที่แท้จริงของสังคมคืออะไรการแก้ปัญหามันย่อมไม่มีวันจบ เพราะคนจ่ายเงินย่อมไม่มีวันมามอง pain point ของผู้ขายอยู่แล้ว เมื่อคุณหา pain point เจอ คุณก็จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ”
ส่วน บ.ก. ยูตะ ที่อธิบายทิศทางของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ “โอเคสิ่งพิมพ์มันก็ตกลงมาตามสภาพการตลาดของโลก รายได้ของเราก็ลดลง แน่นอนเราก็ต้องวิ่งหาคำตอบอื่น จนกระทั่งเราเริ่มทำดิจิทัล ซึ่งมันน่าจะเป็นคำถามที่หลายคนคิดเลยว่า ‘วิบูลย์กิจคิดยังไงถึงไปทำดิจิทัล’ คือสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจทำงานแนว conservative แบบนั้นมาตลาด และทำงานแนวคลาสสิกมากกว่า งานตามเทรนด์แทบจะมีน้อยมาก แล้วส่วนหนึ่งก็คือ บ.ก. ที่ดูแลก็ดันเป็นคนอายุเยอะแล้ว การตามทันเทรนด์มันก็แทบไม่มีเลย เพราะเราวิ่งตาม pain point แต่ละคนไม่ทันแล้วล่ะ
“ดังนั้นมันเป็นตัวกำหนดทิศทางเลยว่าใครจะเป็นยังไง ซึ่งทางสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นก็เห็นอยู่แล้วเราว่าจะทำงานอย่างไร และเขาก็ไม่อยากให้ใครมีสิทธิ์เหนือใครมากนัก และทางต้นสังกัดญี่ปุ่นก็ถามเราว่า ‘คุณมีอิมเมจของคุณแบบนี้มาชัดเจนมาก และเราเชื่อว่าคุณจะปรับตัวไปแบบ รักพิมพ์ หรือ เฟิร์สเพจ ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นทำไมคุณไม่เอาจุดเด่นของคุณมาขยายให้ชัด’ แน่นอนว่าต้องมีการปรับตัวเข้าคนรุ่นใหม่พอสมควรแต่เนื้อหาส่วนใหญ่ที่เราถือมันจะเป็นแนว timeless มันเหมือนกับเขาพยายามแนะนำในสิ่งที่เราก็เป็นอยู่ มันก็เหลือว่าเราจะเลือกแบบไหน ซึ่งวิบูลย์กิจเลือกวิธีแบบนี้ ที่เซฟตัวเองเพราะเราไม่สามารถวิ่งตามเด็กสมัยใหม่แต่ต้นสังกัดเปิดประตูบานใหม่ ทำให้เราเปิดประตูกระโดดเข้าไปหาตลาดดิจิทัลหนักๆ แน่นอนครับมันไมใช่ธุรกิจที่มันทำกำไรได้แน่นอน แต่ถ้ายังเลี้่ยงมันได้ สักวันมันจะผลักตัวหนังสือ ซึ่งจุดนี้ทางญี่ปุ่นไปถึงจุดนั้นมาแล้ว เมื่อถึงจุดนั้นแล้วค่อยคิดต่อว่าคุณจะไปทางด้านไหนต่อ จะเป็น content provider (นำเนื้อหาจากญี่ปุ่นมาขายต่อ) ซึ่งตรงนี้ญี่ปุ่นตอบไม่ได้หรอกครับว่ามันต้องใช้เวลากี่ปีแต่เขาไปถึงจุดนั้นมาแล้ว”
“วิบูลย์กิจ Downsizing ตัวเอง เพื่อให้รักษาสถานภาพของการเป็นสำนักพิมพ์ได้ แต่สภาพนี้ก็ต้องยอมรับเสียงต่อว่า คือถ้าเราไม่มี content ใดๆ เหลือเลย เราปิดตัวแน่ ตอนนี้เราพิมพ์มันพิมพ์น้อยลง แต่มันไปเปิดประตูใหม่หลายบาน ที่เราไม่เคยกล้าเปิดมาก่อน และรูปแบบใหม่ๆ อย่าง freemium ที่คุณตติยะพูดถึง จะเกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นแน่ๆ” บ.ก. ยูตะ สรุปเส้นทางเดินในอนาคตของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ และมันอาจจะหมายรวมถึงทิศทางของสำนักพิมพ์อื่นๆ ในไทยด้วย
การสนทนาในวันนี้ทำให้เรา ได้รู้มากขึ้นว่า การรวมตัวของกลุ่มสำนักพิมพ์นี้ไม่ใช่เพื่อการรวมตัวทำกำไรให้กลุ่มเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และพวกเขาก็ไม่ได้หวาดกลัวเทคโนโลยีแบบที่นักอ่านบางคนอาจจะตั้งข้อสังเกต เพราะ R2R มุ่งหวังที่จะรณรงค์ให้คนเข้าใจถึงคำว่า ‘ลิขสิทธิ์’ มากขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุที่ว่าเรื่องนี้มันจะไม่ใช่แค่เรื่องของบริษัทแต่มันจะกระทบไปถึงบุคคลทั่วไปด้วยนั่นเอง