“ผมจะทำ Berserk รูปเล่มเหมือนญี่ปุ่นในราคา 250 บาท”
คำประกาศของสำนักพิมพ์ไม่มีลิขสิทธิ์เจ้าหนึ่งดังขึ้นมาในสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากทางสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจประกาศยกเลิกการตีพิมพ์การ์ตูนชื่อดังที่พวกเขาทำงานกับมันมาในช่วงเวลาราว 25 ปี
คำประกาศนี้ทำให้แฟนคลับส่วนหนึ่งของ Berserk ที่คิดว่าตัวเองหมดโอกาสอ่านแบบเล่มไทยไปแล้ว รู้สึกเบิกบานขึ้นมาและมีนักอ่านจำนวนไม่น้อยที่จองหนังสือฉบับไม่มีลิขสิทธิ์ แม้ว่าราคาค่างวดของมันจะสูงกว่าราคาการ์ตูนลิขสิทธิ์ตามปกติถึง 3 เท่าตัว แต่พวกเขาก็ยินดีจะจ่ายเพื่อให้ได้มันมา
จากที่เคยถามผู้ที่ยอมจ่ายเงินมากกว่าปกติ คำตอบที่ได้อาจเป็นเพราะพวกเขามีคำตอบอยู่ภายในใจอยู่แล้วส่วนหนึ่งว่า ‘หนังสือการ์ตูนลิขสิทธิ์ในไทยนั้นมีปัญหา’ วันนี้เราจะมาลองวิเคราะห์เหตุผลที่ทำให้เกิดความคิดข้างต้นขึ้น ว่ามันเป็นเพียงมโนคติในใจ หรือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง
ราคาแพง เซ็นเซอร์เยอะ ตามกระแสโลกไม่ทัน
เวลาพูดถึงปัญหาของหนังสือการ์ตูนลิขสิทธิ์แท้ในไทย หลายท่านมักจะกล่าวอ้างว่า ราคาแพงกว่าที่เคยซื้อ มีการเซ็นเซอร์เยอะ และสำนักพิมพ์ลิขสิทธิ์ในไทยมักจะตามกระแสที่แท้จริงของโลกไม่ทัน ถ้าเป็นเมื่อราวสัก 7-8 ปีก่อน คำกล่าวหาทั้งหมดนี้คงเป็นความจริงแบบไม่ต้องสงสัย
สำหรับบ้านเราที่ยังใช้ ‘ศีลธรรมอันดีงาม’ เป็นมาตรฐานในการตัดสินใจเซ็นเซอร์ ผลก็คือสำนักพิมพ์แต่ละแห่งจึงมีการเซ็นเซอร์ภาพแบบไม่เท่าเทียมกัน
แต่ในช่วง 2-3 ปีนี้ ต้องบอกว่าหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นในไทยโดยทั่วไปมีราคาทรงตัวอยู่ที่ 60-80 บาท หรือถ้าแพงหน่อยก็จะอยู่ที่ 150 บาท ราคาของหนังสือการ์ตูนจะทะยานขึ้นไปประมาณ 200 บาท ก็ต่อเมื่อเป็นรูปเล่มแบบชุดสะสม (collector’s edition) หรือไม่ก็เป็นกรณีที่เป็นการ์ตูนสี่สีทั้งเล่ม
การอัพเดตเนื้อหาการ์ตูน ที่ดูช้าเหมือนทุกเรื่องต้องให้ญี่ปุ่นออกนำไป 4-5 ปีก่อน ในไทยถึงจะออกสักเล่ม ยุคนี้ก็มีการขยับความเร็วจนถึงขั้นที่มีการ Simulpub (ตีพิมพ์ตอนใหม่ล่าสุดเทียบเท่ากับทางประเทศต้นทาง) ส่วนบริการ E-Book ที่หลายคนเคยเรียกร้องให้มีจัดทำกัน มาในปี 2017 นี แทบทุกสำนักพิมพ์ในไทยก็มีให้ซื้อผ่านแอพพลิเคชั่น E-Book หลายเจ้า
ส่วนปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์นั้น… สำหรับบ้านเราที่ยังใช้ ‘ศีลธรรมอันดีงาม’ เป็นมาตรฐานในการตัดสินใจเซ็นเซอร์ ผลก็คือสำนักพิมพ์แต่ละแห่งจึงมีการเซ็นเซอร์ภาพแบบไม่เท่าเทียมกัน บางเจ้าอาจจะเซ็นเซอร์เนินอก ในขณะที่บางเจ้าอาจจะตัดสินใจไม่เซ็นเซอร์อะไรเลย ผลพวงนี้ก็มาจากการที่บ้านเรามีผู้สืบทอดความ Boomerism (หรือที่เรียกกันแบบสนุกปากว่า ‘ไดโนเสาร์’) อยู่เยอะ และทางสำนักพิมพ์ที่ไม่มีอำนาจทางการเมืองมากนักก็ยินยอมทำตามคำร้องขอ (หรือข่มขู่) ของกลุ่ม Boomerism นี้ เราคงต้องจำยอมให้การเซ็นเซอร์บางอย่างคงอยู่ไปก่อนอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะมีกฎระเบียบที่ชัดเจน
สำนักพิมพ์ในไทยตีพิมพ์งานมากเกินตัว เลือกเอาแต่การ์ตูนสไตล์เดียวกันมาขาย
ประเด็นนี้ ถ้าหมายถึงกรณีสำนักพิมพ์การ์ตูนใหญ่ๆ ที่คนไทยคุ้นเคย อย่าง วิบูลย์กิจ เนชั่นฯ สยามอินเตอร์คอมิกส์ อาจจะมีปัญหาเช่นนั้นจริง ด้วยความที่ว่าพวกเขาทำงานในสไตล์ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากยุคทองของการ์ตูนญี่ปุ่นในไทย หรือถ้ามีการเปลี่ยนแปลงก็ช้าไปจนพอบอกได้ว่าไม่ทันโลก หรือบางสำนักพิมพ์ก็เลือกที่จะเก็บเรื่องที่ไม่ทำเงินแต่มีความชอบส่วนตัวไว้เลยทำให้เกิดปัญหาระยะยาว
คำพูดที่ว่า การ์ตูนลิขสิทธิ์ในไทยมีตัวเลือกน้อยไปคงไม่เป็นความจริงนัก อาจจะเป็นในแง่กลับกันคือมีการ์ตูนออกมามากเกินไปจนทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจสะสมเฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจเสียมากกว่า
ส่วนสำนักพิมพ์ยุคใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาราว 10 ปีให้หลัง อาทิ รักพิมพ์, เดกซ์เพรส หรือเฟิร์ส เพจ โปร พวกเขากลับมีแนวทางที่ชัดเจนในการเลือกเรื่องมาขายในไทย เหตุผลหนึ่งก็เพราะ พื้นที่หลักของการ์ตูนญี่ปุ่นในไทยเป็นแนว โชเน็น (shonen) ซึ่งสำนักพิมพ์เจ้าใหญ่ก็เลือกเรื่องแนวดังกล่าวมาขายกันตลอดอยู่แล้ว มิหนำซ้ำกลุ่มสแกนการ์ตูนในอินเทอร์เน็ตก็จัดการแปลเรื่องแนวนี้ก่อน สำนักพิมพ์เกิดใหม่จึงหยิบจับเรื่องที่เฉพาะทางมากขึ้น เช่น รักพิมพ์ กับ เดกซ์เพรส ที่เลือกแนว เซย์เน็น (seinen) ที่จับกลุ่มคนทำงานมากขึ้น หรือทาง เฟิร์ส เพจ โปร ที่ตัดสินใจเลือกแนวเซอร์วิสสุดทางแล้วใช้กำแพงราคาที่สูงหน่อยในการคัดกรองลูกค้าที่สนใจงานของพวกเขา
ย้อนกลับมาที่เรื่องสไตล์ที่หลากหลายของการ์ตูน นอกจากสำนักพิมพ์ใหม่ๆ ที่เราพูดถึงไปเมื่อครู่นี้ ช่วงหลังๆ สำนักพิมพ์รุ่นพี่ก็หยิบจับเนื้อหาที่มีความหลากหลายมากขึ้น อย่างที่เนชั่นฯ ที่ชอบหยิบการ์ตูนสายรางวัลมาตีพิมพ์ หรือสยามอินเตอร์คอมิกส์มีการ์ตูนที่พูดถึงอาชีพการทำงานอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น บาริสต้า คนครัว หรือแม้แต่นักธุรกิจ
ดังนั้นคำพูดที่ว่า การ์ตูนลิขสิทธิ์ในไทยมีตัวเลือกน้อยไปคงไม่เป็นความจริงนัก อาจจะเป็นในแง่กลับกันคือมีการ์ตูนออกมามากเกินไปจนทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจสะสมเฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจเสียมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับฝั่งผู้จัดทำที่พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว และฝั่งคนอ่านที่พลาดโอกาสเปิดมุมมองใหม่ๆ ไป
อุดหนุนของแท้ไปแล้ว ไม่เคยเห็นว่าเงินที่จ่ายไปนั้นคุ้มค่าการลุงทุนจริงๆ
เหตุผลนี้น่าจะเป็นประเด็นที่เห็นได้ชัดและจับต้องได้ที่สุด เพราะผู้เขียนบทความที่อุดหนุนการ์ตูนลิขสิทธิ์เป็นประจำ รวมถึงพอจะมีมิตรสหายเกี่ยวข้องกับการจัดทำการ์ตูนลิขสิทธิ์ในไทยยังมองว่า หลายเรื่องนั้นยังทำออกมาได้ไม่สมราคา ไม่ว่าจะในแง่ รูปเล่ม คำแปล การแต่งภาพ และรายละเอียดอื่นๆ จนทำให้หลายคนที่เสียเงินซื้อตัดสินใจทำการ ‘เท’ การ์ตูนเหล่านั้นออกไปจากชีวิต แต่ยังคงตามเก็บเฉพาะเรื่องที่เห็นว่ามีคุณภาพพอจะผ่านตาได้เท่านั้น (ซึ่งหลายเรื่องก็ดันหนีไปออก E-Book แล้วไม่ตีพิมพ์เล่มจริงออกมาเสียอีก)
แล้วก็เป็นระยะ 2-3 ปีหลังนี่แหละ ที่ความคุ้มค่าของการ์ตูนมีมากขึ้น ซึ่งก็มาจากเรื่องใหม่ๆ ที่เพิ่งวางขาย ไม่ก็เรื่องเก่าๆ ที่จัดทำฉบับสะสมขึ้นมา คำแปลก็มีการหาข้อมูลมากขึ้น รู้จักการบิดคำแปลอย่างเข้าท่ามากขึ้น เริ่มมีของแถมในระดับหนึ่ง จากเดิมที่ไม่เคยมีมาก่อน (แต่หลายเจ้าก็บวกราคาไปแล้วตอนขาย)
อีกอย่างที่รู้สึกว่าเปย์เงินให้ของแท้แล้วรู้สึกคุ้มขึ้นก็คงเป็นการที่มีนักวาด นักเขียน จากประเทศญี่ปุ่นแวะมาเที่ยวกันเหมือนประเทศอื่นตามงานอีเวนต์ขนาดใหญ่บ้างแล้ว แต่ประเด็นหลังนี้ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นผลพวงของฝั่งสำนักพิมพ์ไทยหรือเป็นความต้องการของสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นที่อยากจะขยับตัวมาขายนอกประเทศแบบเต็มที่ขึ้นกันแน่
ถึงสถานการณ์จะดูดีขึ้นกว่าสมัยก่อนโน้น แต่ถ้านับเป็นจำนวนแล้ว การ์ตูนที่ ‘คุ้ม’ ก็ยังมีจำนวนน้อยกว่าเล่มที่ ‘ไม่คุ้ม’ อยู่มาก
และคงต้องโยนการแก้ไขนี้กลับไปให้ฝั่งสำนักพิมพ์แต่ละแห่ง เป็นการบ้านจากคำติชมของลูกค้าเพื่อทำการพัฒนาตัวสินค้าของตนเองให้ดีขึ้น
จากเหตุผลหลักๆ สามประการนี้ เราพอจะบอกได้ว่าความจริงแล้ว ความเชื่อส่วนหนึ่งของผู้อ่านไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปนัก และที่ปฏิเสธไม่ได้คือทางสำนักพิมพ์ต่างๆ ได้แสดงให้คนหมู่มากเห็นว่าการซื้อของแท้ในปัจจุบันคุ้มค่ากว่าตอนช่วงปี 90 ที่ถือว่าเป็นยุคการ์ตูนลิขสิทธิ์บูมเสียอีก
ส่วนเรื่องการอุดหนุนของเถื่อนที่ราคาอาจจะแพงกว่าที่ควรนั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องสีเทาและขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริโภคเอง แต่เรื่องที่เป็นความจริงและจีรังก็คือ การสนับสนุนของแท้ย่อมทำให้ผู้ผลิตตัวจริงได้รับรายได้ที่สมควรจะรับ ทำให้เขามีกำลังใจกำลังทรัพย์เพื่อใช้พัฒนาผลงานของตัวเองในเวลาต่อๆ ไป แล้วสุดท้ายความสนุกนั้นก็จะถูกส่งกลับมาหาผู้อ่านอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง