ในที่สุด Final Fantasy XV หรือชื่อเดิมว่า Versus XIII หรือที่มีคนเรียกว่า ‘ไฟนอล แฟนตาซี ภาคบอยแบนด์เข็นรถ’ ก็ได้ออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 พฤศจิกายน หลังจากผ่านการพัฒนามากว่า 10 ปี
ใครหลายๆ คน รวมถึงนักเขียนใน The MATTER บางคนก็กำลังมุ่งมั่นเล่นเกมนี้ ไม่ก็กำลังโหลดลงเครื่อง PS4 กันอยู่ ในฐานะคนที่ยังไม่ได้เล่นเกมดังในเร็วๆ นี้แน่ๆ (กัดฟันหนักมาก) เลยขอมาเมาท์มอยว่าเกมดังที่ใช้ชื่อว่า ‘สุดท้าย’ มาแล้ว 15 รอบ ในแต่ละภาคเขามีพล็อตยังไงแล้วมีอะไรน่าสนใจกันบ้าง ตามวิสัยคนอยากเล่นแต่ยังไม่ได้เล่นกันดีกว่า
เฮ่… เดี๋ยว ไฟนอลแฟนตาซีบอยแบนด์มันไม่ใช่อันนี้สิ… เอ้า เข้าเรื่องกันเถอะครับ
Final Fantasy I ออกจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 18 ธันวาคม 1987
การเดินทางใดๆ ย่อมเริ่มต้นด้วย ‘หนึ่ง’ เช่นเดียวกันกับการพัฒนาเกมนี้ ซึ่งเริ่มต้นหลังจากที่บริษัทเกมอย่าง Sqaure (ชื่อ ณ เวลานั้น) ไม่ประสบความสำเร็จในด้านการตลาดเท่าใดนัก แม้จะพอมีเกมสร้างชื่ออยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มากพอจะทำกำไรเลี้ยงตัวเองได้ ณ ตอนนั้น Sakaguchi Hironobu กับมิตรสหายใกล้ตัว โดยมีคนที่โดดเด่นอย่างนักดนตรี Uematsu Nobuo และนักวาด Amano Yoshitaka ได้ทำเกม RPG หรือเกมภาษาเกมหนึ่งขึ้นมาหลังจากที่นายจ้างของพวกเขาปฏิเสธมาตลอด และเกมน้ันก็คือเกมชื่อว่า… Final Fantasy
ตัวเกมมาพร้อมกับระบบที่ให้ผู้เล่นสร้างทีมที่ต้องการจากอาชีพพื้นฐาน 6 อาชีพ คือ นักรบ พ่อมดดำ นักเวทมนต์ดำ นักเวทมนต์ขาว นักเวทมนต์แดง พระ และโจร ซึ่งอาชีพเหล่านี้สามารถอัพเกรดเป็น อัศวิน จอมเวทมนต์ดำ จอมเวทมนต์แดง จอมเวทมนต์ขาว ยอดฝีมือ และนินจา เกมนี้ถือเป็นเกม RPG เกมแรกๆ ที่ปรับให้มุมมองต่อสู้ออกมาเป็นด้านข้าง แถมยังเปิดให้สามารถปะทะกับศัตรูได้สูงสุดมากถึงเก้าตัวในครั้งเดียว นอกจากนี้โลกที่เปิดกว้าง พาหนะที่หลากหลาย รวมถึงระดับความยากอันเข้มข้นของตัวเกมก็ทำให้มันฮิตระเบิดจนเกมไม่อาจจะเป็น เกมสุดท้าย’ ตามชื่อ แต่กลายเป็น ‘เกมแรก’ ของซีรีส์นี้ไปแทน และทำให้ถูกขายซ้ำและรีเมคไปทั้งสิ้น 18 รอบ ทั้งในแบบตลับ/แผ่น หรือการดาวน์โหลดต่างๆ
ในภาคแรกนี้เรื่องราวของ ‘นักรบแห่งแสง’ (ภาษาอังกฤษเวอร์ชั่นดั้งเดิมใช้ Light Warrior ก่อนจะถูกปรับแก้เป็น Warrior Of Light ในภายหลัง) สี่คน ออกเดินทางเพื่อต่อสู้กับเหล่าร้าย เพื่อคืนประกายแสงให้กับ ‘คริสตัล’ สี่ธาตุ ดิน/น้ำ/ลม/ไฟ ระหว่างทางพวกเขาได้ไปช่วย ‘เจ้าหญิงซาร่า’ แห่งอาณาจักรคอร์เนเลีย ที่ถูก ‘การ์แลนด์’ อดีตอัศวินของอาณาจักรลักพาตัวไปขังไว้ที่ วิหารแห่งเคออส เมื่อนักรบแห่งแสงเอาชนะการ์แลนด์ได้ พวกเขาก็ออกเดินทางไปปราบปีศาจทั้งสี่ธาตุ จนพบว่าแท้จริงบอสทั้งสี่นั้นถูกส่งมาจากอดีตเมื่อ 2,000 ปีก่อน
นักรบแห่งแสงก็อาศัยพลังจาก ‘ดาร์คคริสตัล’ ของปีศาจทั้งสี่เดินทางกลับไปอดีตเพื่อกำจัดต้นตอปัญหาทั้งหมดให้สิ้นซาก ทำให้พวกเขาต้องปะทะกับบอสสี่ธาตุอีกรอบหนึ่ง และได้พบความจริงอันน่าตกใจว่า การ์แลนด์ กลับมีชีวิตอยู่ในวิหารเคออสในยุค 2,000 ปีก่อน สุดท้ายความจริงก็ปรากฏเมื่อการ์แลนด์ถูกเหล่านักรบแห่งแสงปราบ จนตกอยู่ในสภาพใกล้ตาย ปิศาจทั้งสี่จึงใช้พลังของดาร์คคริสตัลส่งการ์แลนด์ ไปยังอดีต เพื่อที่การ์แลนด์จะได้ดูดซับพลังจากดาร์คคริสตัล จนกลายเป็น ‘เคออส’ ไป และด้วยเหตุนี่ทำให้เกิดลูปเวลาซึ่งส่งผลให้ เคออส (หรือ การ์แลนด์) เป็นอมตะ …แต่สุดท้ายพลังแสงจากคริสตัลของนักรบแห่งแสงก็นำทางให้นักรบเอาชนะบอสคนนี้ได้ จนทุกอย่างคืนสู่ความสงบสุข เว้นเสียแต่ว่าเมื่อการกอบกู้โลกครั้งนั้นจบลง และผู้กล้ากลับคืนสู่ห้วงเวลาเดิม ก็ไม่มีใครรับรู้เรื่องราวในครั้งนั้นเลยแม้แต่ตัวของนักรบทั้งสี่เอง
Final Fantasy II ออกจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 17 ธันวาคม 1988
หลังจากความสำเร็จของภาคแรกโดยที่ไม่ได้กะมีภาคต่อ ภาคสองของเกมนี้ ผู้พัฒนาเกมจึงปรับเปลี่ยนการเล่าเรื่องให้เหมือนกับละครหรือภาพยนตร์มากขึ้น ผู้เล่นจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละคร NPC ในเกมมากขึ้น ทั้งการจดจำคำพูดและการใช้ไอเท็มกับตัวละครในแผนที่ ส่วนระบบการต่อสู้ไม่มีระบบเลือกอาชีพหรือระบบเก็บเลเวลแบบภาคแรก โดยเปลี่ยนเป็นระบบที่ยิ่งคุณใช้การกระทำแบบไหนบ่อย ตัวละครก็จะชำนาญด้านนั้นมากขึ้น และเป็นครั้งแรกของซีรีส์ที่เพิ่มระบบ ‘ยืนแถวหลัง’ เพื่อให้รับการบาดเจ็บได้น้อยลง
ทั้งนี้ ภาคนี้เป็นภาคแรกที่มีเจ้านกยักษ์โชโคโบะ และนักประดิษฐ์ ซิด ผู้สร้างเรือเหาะและอุปกรณ์อีกหลากหลาย จนกลายเป็นชื่อถาวรของตัวละครที่รับบทบาทใกล้เคียงกันในภาคต่อๆ มา
ภาคนี้เริ่มต้นเนื้อเรื่องด้วยความทะเยอะทะยานของจักรพรรดิมาเทียส แห่งอาณาจักรพาลาเมเซีย ที่ได้อัญเชิญเหล่ามอนสเตอร์จากนรกออกมายึดครองโลก จนทำให้หมู่บ้านของตัวละครหลักทั้งสี่อย่าง ฟริโอนิล (หรือ Firion ในเวอร์ชั่นอังกฤษ), มาเรีย, กาย และ ลีออน ต้องออกเดินทางจากบ้านเกิดที่ถูกทำลายล้าง เข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้าน รวมกำลังพล และต้องพบกับเรื่องราวอันพลิกผัน อย่างการตายของกลุ่มเพื่อนตัวเอก เพื่อนสนิทของพระเอกกลายเป็นทหารรับใช้คนสำคัญของจักรพรรดิ บอสใหญ่ที่ตายไม่จริง (มุกไม่ซ้ำกับภาคแรกด้วย) และสุดท้ายเมื่อผู้กล้าเอาชนะจักรพรรดิที่กลายเป็นปิศาจไปแล้วความสงบสุขก็กลับมายังโลกนี้อีกครั้ง
Final Fantasy III ออกจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 27 เมษายน 1990
ทีมงานหลักของเกมสองภาคก่อน ยังคงทำงานกับเกมภาคนี้ต่อ ซึ่งเป็นการกลับมาของ นักรบแห่งแสง และระบบอาชีพในเกม ที่เปลี่ยนไปคือในภาคนี้ผู้เล่นสามารถเปลี่ยนอาชีพได้อิสระมากขึ้น (แต่ก็ยังเป็นไปตามเนื้อเรื่องนะ) เพิ่มอาชีพในเกมเป็น 22 อาชีพ เป็นภาคแรกที่มี ‘มนต์เรียกอสูร’ และตัวละคร ‘ม็อกเกิ้ล’ อันเป็นมาสค็อตอีกตัวของซีรีส์นี้
เด็กกำพร้าทั้งสี่ (ในเกมดั้งเดิมสามารถตั้งชื่อเองได้ แต่ในฉบับรีเมคถูกกำหนดชื่อเป็น Luneth, Arc, Refia และ Ingus) ตกลงไปในอุโมงค์ที่อยู่ใกล้ๆ กับหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และได้ยินเสียงเพรียกจาก ‘คริสตัลแห่งลม’ ที่ได้มอบพันธกิจให้พวกเขารักษาสมดุลระหว่างแสงสว่างและความมืดแบบเดียวกับที่ตำนาน (ในเกม) เมื่อพันปีก่อนได้กล่าวไว้ว่าแสงสว่างเคยกลืนกินโลก จนนักรบแห่งความมืด ได้ใช้พลังของ ‘ดาร์คคริสตัล’ เข้าสลายคลื่นแห่งแสงสว่างจนทำให้โลกกลับสู่ความสงบสุข ในครั้งนี้นักรบแห่งแสงผู้ได้พลังจากคริสตัล ต้องต้านทานความพยายามทำลายสมดุลย์ของโลกจาก ‘พ่อมดซันเด’ (Xande) ที่ควบคุมมอนสเตอร์ร้ายก่อภัยในครั้งนี้ แต่เมื่อนักรบทั้งสี่สามารถรวมพลังของคริสตัลทั้งหมด พวกเขาก็พบว่าพ่อมดคนดังกล่าวนั้นแท้จริงเป็นเพียงหุ่นเชิดของ ‘เมฆาแห่งอนธการ’ (Cloud Of Darkness) ที่หวังจะให้เกิดเหตุการณ์ความมืดครอบงำโลก ทำให้นักรบแห่งแสงทั้งสี่ต้องต่อสู้กับบอสตัวจริงอีกครั้งเพื่อรักษาสมดุลย์ของโลกใบนี้
Final Fantasy IV ออกจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 19 กรกฎาคม 1991
ข้ามผ่านยุค 8 บิทของเครื่องแฟมิคอมมาเป็นเครื่องเกม 16 บิท อย่าง ซูเปอร์แฟมิคอม ที่ทรงพลังมากขึ้นทำให้ภาคนี้ผู้พัฒนาเกมสามารถใส่ระบบใหม่อย่าง Active Time Battle ที่ทำให้การต่อสู้ในเกมเลื่อนไหลไปตามเวลาจริงมากขึ้น การโจมตีของศัตรูนั้นสามารถสวนกลับมาได้ขณะที่ผู้เล่นเลือกคำสั่งอยู่ ตัวเนื้อเรื่องกลับมาใช้ระบบการเล่าเรื่องแบบภาค 2 ที่กำหนดตัวละครตายตัว แต่เล่นง่ายกว่า ตัวเวทมนต์และสกิลหลายอย่างต้องใช้การเก็บเลเวลต่างจากภาคก่อนหน้าที่ให้ซื้อหรือเก็บเอาจากสมบัติตามทาง
เรื่องของภาคนี้โฟกัสอยู่กับ ‘เซซิล’ อัศวินดำแห่งเมืองบารอน ผู้รับคำสั่งให้รุกรานและชิงคริสตัลจากประเทศอื่น แต่เมื่อเขาเกิดกังขากับการกระทำหลังจากต้องบุกไปทำลายหมู่บ้านหนึ่งอย่างไร้เหตุผล ทำให้เขาตัดสินใจออกเดินทางเพื่อค้นหาความจริง และได้เข้าปะทะกับ ‘กอลเบซ’ ผู้นำหน่วยรบคนใหม่ของเมืองบารอน จากนั้นเซซิลก็ได้พบกับผู้คนมากหน้าหลายตาและได้ปะทะกับ ‘ไคน์’ เพื่อนรักที่ย้ายข้างไปมาเพราะถูกสะกดจิต เปลี่ยนอาชีพตัวเองเป็นพาลาดินผู้ใช้พลังแห่งแสง จนได้พบกับความจริงว่ากอลเบซเป็นพี่ชาย (I’m your brother!) และสุดท้ายพวกเขาก็เดินทางไปยังดวงจันทร์ด้วยยานอวกาศทรงปลาวาฬ เพื่อกำจัด ‘เซโรมุส’ (Zeromus) ที่คอยบงการเบื้องหลังเหตุการณ์ร้ายเกือบทั้งหมดของเรื่องนี้
Final Fantasy V ออกจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 6 ธันวาคม 1992
แม้ว่าภาค 4 จะสร้างความประทับใจให้ผู้เล่นเป็นอย่างมาก แต่ผู้เล่นอีกส่วนหนึ่งก็ยังคิดถึงระบบการเปลี่ยนอาชีพอันเป็นจุดเด่นของภาค 3 ซึ่งมันก็กลับมาในภาคนี้ แต่มีการปรับเปลี่ยนด้วยการต่อสู้ที่จะได้รับ AP – Ability Point แยกออกจาก EXP ทำให้ผู้เล่นต้องปั๊มทั้งเลเวลและอาชีพ แทนที่จะปั๊มทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน แถมตัวละครที่ผู้เล่นใช้งานจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายที่แตกต่างกันไปในทุกอาชีพ แน่นอนว่าทีมงานหลักทั้งหมดก็ยังร่วมพัฒนาเกมในภาคนี้ แต่มีชายอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมเกมนี้ในฐานะผู้ออกแบบมอนสเตอร์ ชายคนนั้นชื่อ Nomura Tetsuya ที่ภายหลังมาเป็นผู้ออกแบบตัวละครให้ Final Fantasy อีกหลายภาค
ภาคนี้คุยเรื่องการเดินทางแห่งโชคชะตาของ ‘บาร์ทซ์’ ชายหนุ่มที่พเนจรไปทั่วพร้อมกับโชโคโบะคู่ใจของตนเอง จนได้เจออุกกาบาตตกลงมา ซึ่งไม่ได้ตกลงมาเปล่าๆ เพราะบริเวณที่เจออุกกาบาตนั้นมี ‘เรน่า’ เจ้าหญิงแห่งเมืองไทคูน และ ‘กาลัฟ’ ชายชราผู้เสียความทรงจำอยู่ ก่อนที่ทั้งสามจะเดินทางไปพบโจรสลัด ‘ฟาริส’ แล้วออกเดินทางเพื่อกอบกู้คริสตัลที่ถูกทำลายล้างจากฝีมือของ ‘เอกซ์เดธ’ ที่พยายามปลดปล่อยร่างที่แท้จริงของตนเองที่ถูกขังไว้ในมิติว่างเปล่าโดยอัศวินกลุ่มหนึ่ง ความจริงเปิดเผยภายหลังว่า กาลัฟคือหนึ่งในกลุ่มอัศวินที่เดินทางมาจากอีกโลกหนึ่งด้วยการใช้อุกกาบาตเดินทางข้ามโลก เพื่อกำจัดเอกซ์เดธอย่างเด็ดขาดพวกเขาจึงเดินทางไปอีกโลก ระหว่างนั้นก็ได้เข้าปะทะกับเอกซ์เดธอีกครั้ง แต่ครั้งนี้กาลัฟต้องสละชีวิตและส่งต่อให้คุรุรุ ซึ่งเป็นนักรบรุ่นใหม่ จนหาทางบุกเข้าไปทำลายร่างจริงของเอกซ์เดธและปกป้องคริสตัลกับโลกทั้งสองไว้ได้ในที่สุด
Final Fantasy VI ออกจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 2 เมษายน 1994
ภาคสุดท้ายบนเครื่องเกม Super Famicom ที่ยังได้ทีมหลักทีมเดิม และกลับไปใช้การเล่าเรื่องแบบโรงละครโรงใหญ่และไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพได้อีกครั้ง ความเปลี่ยนแปลงในภาคนี้ นอกจากระบบการเล่นที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถสลับสับเปลี่ยนตัวละครในทีมไปเล่นเป็นตัวละครไหนก็ได้ ที่ผู้เล่นมีในช่วงนั้น ระบบเวทมนต์ต่อยอดจากระบบเปลี่ยนอาชีพ แต่เปลี่ยนเป็นการฝึกเวทมนต์จากการเลือกใช้มนต์อสูรของตัวละครแทน กราฟฟิกถูกอัพเกรดให้ผู้เล่นเห็นได้ชัดมากขึ้นว่าแต่ละตัวละครในเกมมีอารมณ์เช่นใด มีเอกลักษณ์เด่นตรงไหน และภาคนี้เป็นภาคแรกที่ Sakaguchi Hirobu ไม่ได้นั่งเก้าอี้กำกับ แต่ส่งไม้ต่อให้ Kitase Yoshinori และ Itou Hiroyuki ซึ่งท่านแรกนั้นทำหน้าที่กำกับภาค 7 และ 8 รวมถึงเกม Chrono Trigger ในภายหลัง
ในภาค 6 ที่โลกในเกมพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ทว่าความพยายามในการยึดครองโลกนั้นยังคงเหมือนเดิม ครั้งนี้เป็นจักรวรรดิเกสทาเลี่ยน ที่พยายามใช้ทหารดัดแปลงกับเครื่องจักรการรบหลากหลายในการยึดครอง เขาได้ส่ง ‘ทีน่า’ (หรือ เทอร์ร่า Terra ในเวอร์ชั่นอังกฤษ) ทหารหญิงผู้สามารถใช้เวทมนต์ไปยึดครองมนต์อสูรตัวหนึ่ง แต่เมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามคาด มนต์อสูรตนนั้นปลดปล่อยหญิงสาวให้เป็นอิสระ และทำให้เธอกลายเป็นสมาชิกกลุ่มกบฎ รีเทิร์นเนอร์ (Returner) พวกเขาพยายามพลิกสถานการณ์การรบด้วยการปลดปล่อยอสูรออกมาจากโลกของอสูร ทว่าการเปิดประตูเชื่อมโลกกลับทำให้อสูรออกมาอาละวาด จนทางจักรวรรดิขอสงบศึกร่วมมือกันสยบเหล่าอสูรเสียก่อน
ทว่านั่นเป็นแค่ความตั้งใจหลอกๆ เท่านั้น เมื่อเป้าหมายที่แท้จริงของจักวรรดิคือการนำเอาพลังเวทมนต์จาก ‘สามเทพสงคราม’ ขึ้นมาใช้งาน แต่เรื่องกลับพลิกผันขึ้นไปอีกเมื่อ ‘เคฟก้า’ หนึ่งในข้ารับใช้ของจักรวรรดิ พยายามใช้พลังดังกล่าวจนทำให้โลกเก่าจบลงไป และโลกที่ล่มสลายถูกสร้างขึ้นมาแทน ซึ่งเรื่องราวก็ดำเนินให้ตัวละครทุกตัวต้องกระจัดกระจายไปทั่วโลก ณ จุดนี้เองที่เรื่องราวของตัวละครทุกตัวถูกขยายมากขึ้น เพื่อให้ผู้เล่นได้เข้าใจมากขึ้นว่าทำไมตัวละครแต่ละตัวถึงเลือกเส้นทางชีวิตเช่นนี้ และทำให้การรวมพลกลับมาสู้กับ เคฟก้า ยิ่งใหญ่และน่าจดจำสมเป็นภาคทิ้งท้ายของยุค 16 บิท ของเกมซีรีส์นี้
Final Fantasy VII ออกจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 31 มกราคม 1997
‘คลาวด์ สไตรฟ์’ คืออดีตโซลเยอร์ ที่ได้รับจ้างจากกลุ่ม ‘อวาลานช์’ เพื่อให้บุกเข้าไปทำลายเตาพลังงานมาร์โค ของ ‘ชินระ คอมพานี’ ที่ใช้พลังงานของโลกมาผลิตเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ทั้งนี้บริษัทดังกล่าวยังก่อตั้งหน่วยโซลเยอร์ทำหน้าที่ไม่ต่างกับทหารหรือตำรวจคุ้มกันภัยจากนอกบริษัท หรือเป็นทหารไล่ล่าสังหารคนที่ต้องการจะเปิดโปง เรื่องราวกลับขยายใหญ่มากขึ้นเมื่อกลุ่มตัวเอกได้ทราบว่าในบริษัทดังกล่าวทำการทดลองกับ สิ่งมีชีวิตประเภทต่างๆ รวมถึงมนุษย์ และผลงานสุดยอดของพวกเขาก็คือ การนำเอาเซลล์ของ ‘เจโนว่า’ สิ่งมีชีวิตที่ร่วงหล่นลงมาจากห้วงอวกาศมาผสมกับมนุษย์จนกลาย อดีตโซลเยอร์อันดับ 1 อย่าง ‘เซฟิรอธ’ และการพยายามจะดึงพลังของชาว ‘เซทร้า’ มาใช้ โดยหวังว่าจะสามารถเข้าถึง ดินแดนแห่งพันธสัญญา ที่มอบความสุขให้ทุกคนที่ไปถึงได้
เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปจากการพยายามทำลายชินระ คอมปานี กลายเป็นการไล่ล่าเซฟิรอธ ความพยายามที่จะใช้พลังของ ‘แอริธ’ ผู้เป็นชาวเซทร้าที่อาจจะกอบกู้โลกได้ในพริบตา แต่เธอกลับถูกสังหารไปเสียก่อน และการเปิดเผยความลับว่า แท้จริงแล้วตัวของ คลาวด์ เองก็เกิดจากการทดลองเช่นกัน แม้จะไม่ได้ถูกดัดแปลงโดยกำเนิด แต่ตัวจริงของคลาวด์นั้นเป็นเพียงทหารผู้น้อยที่ทำงานร่วมกับ แซ็ค อดีตโซลเยอร์ (…ชวนคิดว่าอีอาชีพนี้ทำไมมีแต่ตายกับลาออก) และได้ความจำกับวิชาความรู้บางอย่างจากการทดลองหลอมรวมความทรงจำกัน ทำให้คลาวด์เข้าใจผิดมาตลอดว่าตัวเองเป็นโซลเยอร์ตลอดช่วงที่เดินเรื่องมา ส่งผลให้ตัวละครในกลุ่มตัวเอกทุกตัวล้วนแล้วแต่มีจุดอ่อนหรือบาดแผลในใจที่ชัดเจน
พวกเขาได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนสามารถลุกขึ้นไปเผชิญหน้ากับเซฟิรอธที่เรียกอุกกาบาตขนาดยักษ์ (อันเป็นที่มาของโลโก้เกมภาคนี้) สุดท้ายคลาวด์ก็สามารถเอาชนะเซฟิรอธที่กลายร่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพลังของเจโนว่าผสานอยู่ได้ ส่วนอุกกาบาตยักษ์นั้น สุดท้ายก็ได้พลังของแอริธที่กลายเป็นหนึ่งเดียวกับโลกช่วยป้องกันแล้วสลายมันไปในที่สุด
ภาคที่ผู้คนน่าจะรู้จักมากที่สุด อาจเป็นเพราะเกมภาคนี้เป็นภาคที่มีอะไรน่าจดจำมากมาย ไหนจะเป็นภาคแรกที่ถูกสร้างเป็นภาพสามมิติเต็มรูปแบบ ไหนจะสลับให้ Nomura Tetsuya มาออกแบบตัวละครให้ ด้วยเหตุผลที่ว่าสไตล์ของเขาทำภาพสามมิติง่ายกว่า ไหนจะถูกปรับเนื้อเรื่องให้ดูทันสมัยใกล้ตัวคนเล่นมากขึ้น ไหนจะมีระบบอาวุธที่เข้าใจง่ายแต่ได้ผลอย่างยิ่ง ไหนจะมีระบบการต่อสู้ที่อาจจะดูช้าลงบ้าง แต่การมีระบบ “Limit Break” ที่เห็นได้อย่างชัดเจนเป็นภาคแรกนี้ ก็ทำให้โอกาสพลิกเกมเกิดขึ้นได้เสมอ รวมถึงความตายของแอริธที่ไม่อาจจะชุบชีวิตเธอขึ้นมา ก็เป็นอีกจุดที่ทำให้หลายคนสามารถจดจำซีรีส์นี้ได้
นอกจากนั้นด้วยความที่เนื้อเรื่องมีข้อสงสัยหลายประการที่ไม่มีคำตอบแบบชัดเจน ทำให้มีความพยายามหาความลับว่าชุบชีวิตแอริธได้หรือไม่ เรื่องราวในเกมก่อนฉากเริ่ม และชีวิตของตัวละครหลักหลังจากที่จบจะเป็นอย่างไรต่อ อันเนื่องจากฉากจบแสดงแค่ว่าสุดท้ายเมืองก็ล่มสลายไป กลายเป็นสภาพป่ารกชัฏสุดท้ายแล้ว Final Fantasy VII ก็ถูกขยายเรื่องราวออกไปในโครงการชื่อ Compilation of Final Fantasy VII อันประกอบไปด้วย เกมภาคก่อนเรื่องหลักอย่าง Before Crisis และ Crisis Core / อนิเมชั่นภาคก่อนเรื่องหลัก Last Order / ภาพยนตร์อนิเมชั่นหลังเรื่องหลัก Advent Children / เกมหลังเนื้อเรื่องหลังอย่าง Dirge Of Cerberus นอกจากนี้ยังมีนิยายเสริมเช่น On The Way To Smile ประกอบอีก เป็นอาทิ
และความนิยมที่ไม่เคยดับจนถึงวันนี้ทำให้ Final Fantasy VII กำลังถูกรีเมคแบบยกเครื่องเกมใหม่ โดยที่ครั้งนี้เกมจะถูกปรับเป็นแนว Action RPG มากขึ้น และมีความเห็นจากทีมสร้างว่าจะทำตัวเกมแยกขายเป็นตอนๆ แทนที่จะออกทีเดียวจบ แต่ยังไม่มีกำหนดการออกมาว่าเมื่อใดที่เกมฉบับรีเมคนี้จะวางจำหน่าย
ทั้งนี้บทความเรื่องนี้ของเราก็เหมือนกับเกม Final Fantasy ที่เหมือนจะจบในตอนเดียวได้แต่ก็มีภาคต่อตามออกมา แล้วพบกับการเล่าเรื่อยๆ ของคนอยากเล่น Final Fantasy XV แต่อีกนานกว่าจะได้เล่นได้ต่อไปในโอกาสหน้า
อ้างอิงข้อมูลจาก
GT Retrospectives
Final Fantasy Wikia