โลกสมัยนี้มีอาชีพการงานสมัยนี้มีหลากหลายมากมาย จนบางทีเราก็รู้สึกเลือกอาชีพที่อยากจะไปยากอยู่เหมือนกันเนอะ ตามปกติแล้วถ้าเราอยากจะรู้จักอาชีพไหนก็ควรที่จะมีโอกาสได้ไปลองดูการทำงานจริงจากคนในสายงานนั้นๆ แต่บางอาชีพที่ตัวงานมีความเสี่ยงเกินกว่าจะให้คนนอกมาสังเกตการณ์ ก็อาจจะไม่เปิดโอกาสให้ไปรับชมการทำงานกันง่ายๆ
เพราะงั้นบางทีเราก็ต้องศึกษาสายอาชีพจากสื่ออื่นๆ อย่าง สารคดีหรือหนังสือแนะนำแทน แล้วก็มีสื่ออยู่ประเภทหนึ่งที่เล่าเรื่องอาชีพที่อาจจะเข้าไปศึกษาได้ยาก หรือไม่ก็หยิบเอาสายงานที่คนอาจจะมองข้ามมาพูดถึงอย่างลงลึก แล้วก็มีการเล่าเรื่องอย่างสนุกสนานเพื่อให้ผู้เสพสื่อสามารถติดตามเรื่องราวการทำงานที่อาจจะมีโมเมนต์น่าเบื่อได้จนจบด้วย ซึ่งสื่อที่เราพูดถึงก็คือ ‘หนังสือการ์ตูน’ นั่นเอง
วันนี้ TheMATTER ก็ได้หยิบเอาการ์ตูน 9 เรื่องที่นำเสนออาชีพที่น่าสนใจมาแนะนำให้ไปลองหาอ่านกันดู
ทคคิว ผู้พิทักษ์ทะเลลึก – หน่วยกู้ภัยทางทะเล
คังบายาชิ เฮียวโกะ เด็กหนุ่มที่มีจิตใจอยากช่วยเหลือคนอื่นและมีอดีตฝังใจเกี่ยวกับพ่อที่หายไปในท้องทะเล จึงตัดสินใจทำงานเป็นหน่วยกู้ภัยชายฝั่ง ก่อนที่เขาจะพยายามฝึกตัวเองให้สามารถเป็นสมาชิกของหน่วย ‘ทคคิว’ หน่วยกู้ภัยทางทะเลที่ถือว่าเป็นมือดีที่สุดของญี่ปุ่นด้านกู้ภัย
อาชีพที่ต้องปิดทองหลังพระในยามปกติอย่าง หน่วยกู้ภัย อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่น่าสนุกนักเมื่อนำมาเล่าเป็นการ์ตูน ทคคิว จึงใช้การเล่าเรื่องแบบแฟนตาซีเล็กๆ ให้พระเอกของเรื่องมีโอกาสช่วยชีวิตผู้เคราะห์ร้ายได้บ่อยครั้ง กระนั้นรายละเอียดอื่นๆ ในเรื่องไม่ได้แฟนตาซีแต่อย่างใด ซึ่งเป็นผลพวงจากความตั้งใจของผู้แต่งเรื่องอย่างโคโมริ โยอิจิ และ ผู้วาดภาพ คุโบะ มิทสึรุ ที่เดินทางไปเยี่ยมหน่วยทคคิวตัวจริงเพื่อรับชมการปฏิบัติงานของพวกเขาอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้งานเขียนดูจริงจังและให้แรงบันดาลใจอย่างมาก
ประเด็นหนึ่งที่การ์ตูนเรื่องนี้ตอกย้ำอยู่บ่อยครั้งก็คือ การกู้ภัยที่ตัวของผู้กู้ภัยยังไม่สามารถทำให้ตัวเองปลอดภัยได้ ย่อมไม่ใช่ การกู้ภัย เพราะถ้าในชีวิตจริงหน่วยกู้ภัยคงไม่มีดวงแบบพระเอกของเรื่องนี้
Gallery Fake – ภัณฑารักษ์
Gallery Fake เป็นชื่อสตูดิโอศิลปะที่ ฟุจิตะ เรย์จิ เป็นเจ้าของ ตัวสตูดิโอเป็นโกดังบริเวณท่าเรือโตเกียว แม้งานศิลป์ที่ถูกจัดแสดงอยู่จะมีแต่ของปลอม ถึงอย่างนั้นก็มีคำร่ำลือว่า ที่นี่ขายงานศิลป์ของจริงในราคาแพงลิบลิ่ว การที่เขาอยู่ในวงการที่ต่างกันขนาดนี้ได้ก็เพราะเขาเคยเป็น ภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน เขาจึงชำนาญทั้งการแยกแยะงานศิลป์และการบูรณะศิลปกรรมหลากหลายแขนง และมันทำให้เจ้าของแกลลอรี่แห่งนี้สามารกพินิจคนที่คู่ควรกับงานศิลป์ออกด้วย
ภัณฑารักษ์หรือผู้ดูแลรักษาสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เป็นอาชีพที่ปรากฎตัวในสื่อปัจจุบันมากขึ้น ถ้าพูดถึงการ์ตูนแล้วเรื่องที่มีภัณฑารักษ์เป็นตัวละครเด่น หลายท่านอาจจะนึกถึงการ์ตูนเรื่อง ‘ซี.เอ็ม.บี. พิพิธภัณฑ์พิศวง’ กันก่อน แต่ที่เราแนะนำเรื่อง Gallery Fake เพราะเรื่องราวในการ์ตูนเรื่องนี้จะชูเรื่องงานศิลป์ในรูปแบบต่างๆ ก่อนจะเข้าเรื่องราวเบื้องหลัง นอกจากนั้นยังมีการลงรายละเอียดในการบูรณะงานศิลป์ รวมถึงเรื่องของการค้าขายงานศิลป์ทั้งด้านสว่างและด้านมืด
จะติดอยู่นิดเดียวก็คือหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ไม่มีฉบับภาษาไทยออกมานั่นล่ะ
ยาคุโมะ อิทสึกิ นักชาติพันธุ์วิทยากับคดีฆาตกรรมปริศนา – นักชาติพันธุ์วิทยา
“ชาติพันธุ์วิทยา หรือ ชาติวงศ์วิทยา หรือ ชนชาติวิทยา เป็นสาขาวิชาหนึ่งของมานุษยวิทยา ที่ศึกษาและเปรียบเทียบเกี่ยวกับความเชื่อและวิธีปฏิบัติของแต่ละสังคม เป้าหมายหนึ่งคือ การศึกษาประวัติศาสตร์มนุษย์ กฎทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และนัยทั่วไปเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์” จากคำนิยายของอาชีพนี้ใน วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอาชีพนี้ดูแล้วไม่ดึงดูดชาวบ้านแน่นอน
แต่ผู้แต่งบทของการ์ตูนเรื่องนี้คือ คานาริ โยซาบุโร่ ผู้แต่งร่วมของการ์ตูนเรื่อง คินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา เขาจึงนำไปท่องเที่ยวในพื้นที่ชนบทของประเทศญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่หลากหลาย และยังมีเรื่องเล่ามากมาย อาทิ ธรรมเนียมการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเจ้าสาว หรือตำนานเจ้าหญิงคางูยะที่แตกต่างกันเล็กน้อยในพื้นที่ ฯลฯ
ทุกๆ คดีของการ์ตูนเรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจความสำคัญของนักชาติพันธุ์วิทยามากขึ้น ไม่ใช่แค่ช่วยเหลือในการไขปริศนาฆาตกรรม มันยังทำให้ตัวเราตั้งคำถามได้ว่าแท้จริงแล้วเรื่องเล่ากับความเชื่อที่อยู่รอบตัวนั้นเกี่ยวข้องและเป็นจริงกับตัวตนของเราขนาดไหน
Master Keaton – นักสืบของสมาคมผู้รับประกันภัยแห่งลอยด์
ก่อนที่ อุราซาว่า นาโอกิ จะสร้างผลงานที่เป็นที่จดจำจากนักอ่านทัั่วโลกอย่าง 20th Century Boys หรือ Monster นักเขียนท่านนี้่เคยทำงานร่วมกับ คัทสึชิตะ โอคุเซย์ กับ นางาซากิ ทาคาชิ สร้างผลงานเรื่อง Master Keaton ที่สร้างชื่อให้กับพวกเขาเอง ชื่อของการ์ตูนเรื่องนี้ มาจาก ไทจิ ฮิรากะ คีตัน ลูกครึ่งญี่ปุ่น-อังกฤษ อดีตทหารหน่วย SAS ที่ฝึกตนจนได้รับฉายา ‘มาสเตอร์’ ก่อนที่เขาจะเกษียนตัวเองจากชุดลายพรางแล้วมารับหน้าที่เป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ ควบกับการเป็น นักสืบของสมาคมผู้รับประกันภัยแห่งลอยด์ (Lloyds Of London)
งานสายทหารกับอาจารย์อาจจะไม่แปลกมากนัก แต่งาน ‘นักสืบ’ ของ สมาคมผู้รับประกันภัยแห่งลอยด์ เป็นงานที่การ์ตูนเรื่องนี้นำเสนอมากที่สุด หน้าที่ของเขาโดยหลักคือการสืบสวนว่า เงินประกันภัยมูลค่ามหาศาลที่บริษัทประกันภัยภายใต้สมาคมผู้รับประกันภัยแห่งลอยด์ ถูกชำระอย่างสมควรแล้วหรือไม่ โดยหลักเนื้องานของคีตันก็คือการไปสืบหาข้อมูลของคดีต่างๆ ที่บริษัทประกันภัยไปเกี่ยวข้อง บางครั้งอาจจะจบง่ายๆ แค่ตามหาคนให้เจอ บางครั้งอาจจะต้องไขปริศนา และมีบางครั้งที่จะต้องใช้ทักษะทหารกับการคิดวิเคราะห์และรับมือสถานการณ์โหดๆ อย่างการช่วยต่อรองค่าไถ่ตัวประกันจากกลุ่มโจรที่นิยมลักพาตัวชาวต่างชาติ หรือการบุกเข้าฐานบัญชาการของกลุ่มโจรก่อการร้ายที่มีตัวประกัน
ด้วยเนื้องานที่ไม่ควรให้คนรู้ตัวตนมากนัก ทำให้หลายๆ คนที่คีตันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยยังไม่ทราบเลยว่ามาทำตำแหน่งอะไร และตัวคีตันก็เหมือนจะพึงพอใจกับการเป็นอาจารย์มากว่า ทั้งที่ในเรื่องก็ใบ้หลายครั้งว่ารายได้จากการเป็นนักสืบนั้นถือว่าไม่น้อยทีเดียว
Death Sweeper ผู้เก็บกวาดความตาย – นักทำความสะอาด
เราไม่ได้พูดถึงการทำความสะอาดบ้านหรือความสะอาดห้องน้ำ การ์ตูนเรื่องนี้พูดถึง ‘นักทำความสะอาด’ แบบลำบากกว่าปกติอย่าง การทำความสะอาดบ้านที่มีศพเน่าอยู่, สถานที่ที่คนเคยฆ่าตัวตาย, เคลียร์บ้านที่เต็มไปด้วยขยะมหาศาล, และงานทำความสะอาดเฉพาะทางแบบอื่นๆ
ถึงการ์ตูนเรื่องนี้มีจำนวนเล่มไม่มาก ตัวการ์ตูนก็สอนขั้นตอนในการเก็บกวาดศพ รวมถึงสอนเรื่องมารยาทในธุรกิจบริการหลังความความตายที่มีการเจริญเติบโตอยู่ไม่น้อย การ์ตูนเรื่องนี้ยังทำให้เราเห็นว่า ความตายและความสกปรกแบบไม่น่าจดจำนั้นอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด และผู้ที่เข้ามาเป็น ‘นักทำความสะอาด’ ก็ทำให้เรารู้เข้าใจมากขึ้นว่าการมีชีวิตอยู่นั้นมีค่ามากแค่ไหน
Barista – บาริสต้า
ถ้ามองเผินๆ การ์ตูนที่ใช้ชื่อเรื่องเดียวกันกับอาชีพอย่าง ‘บาริสต้า’ น่าจะเล่าเรื่องอะไรได้ไม่มากนอกจากชีวิตแต่ละวันของคนชงกาแฟในร้านคาเฟ่แบบฮิปสเตอร์ เปล่าเลยการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้เล่าเรื่องน่าเบื่อขนาดนั้น ถึงจะมีความเวอร์ในช่วงต้นที่คนอ่านจะได้เห็นว่าตัวเอกว่าเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นที่มีทักษะมากพอจะทำงานประจำในร้านกาแฟ ณ ถิ่นกำเนิดของเครื่องทำกาแฟเอสเพรสโซ่ (Espresso Machine) การ์ตูนเรื่องนี้ก็ไม่เสียเวลาในการเหวี่ยงเขาให้กลายเป็นเด็กฝึกงานในร้านกาแฟแฟรนไชส์ที่เพิ่งเริ่มตีตลาดญี่ปุ่น (ไม่ใช่กาแฟนางเงือกหรอกนะ)
ด้วยการเดินเรื่องเช่นนี้เองเราจึงได้เห็นการทำงานตั้งแต่ฝั่งพนักงานบริการ, คนครัวของร้าน, ผู้จัดการร้าน, และผู้บริหาร แถมในช่วงหลังของเรื่องการ์ตูนยังพาเราเดินทางไปยังโลกของกาแฟสำเร็จรูป ความพิเศษของกาแฟสเปเชียลตี้ รวมถึงความเข้มงวดของโรงคั่ว และด้วยความที่พระเอกเป็นบาริสต้าฝีมือดี หลายครั้งเราจะได้มุมมองของคนทำร้านกาแฟเองมานานเสริมเข้าไปด้วย ทั้งยังทำให้เราได้เห็นทักษะอื่นๆ ของบาริสต้าอย่างการดูแลเด็กเล็ก หรือการชงเหล้า เป็นอาทิ
การ์ตูนนี้เรื่องนี้ทำให้คนอ่าน (แบบผม) เข้าใจว่างานสายบาริสต้าไม่ใช่เรื่องงาย ทั้งยังทำให้อยากเดินเข้าไปสั่งกาแฟแทบจะทุกครั้งหลังอ่านจบ
Bartender – บาร์เทนเดอร์
“มีงานอยู่สองประเภทที่ไม่ควรจะโกหกลูกค้า งานหนึ่งคือหมอหรือเภสัชกร ส่วนอีกงานคือ บาร์เทนเดอร์ เพราะสายงานทั้งสองสามารถมอบ ยาพิษ หรือ ยารักษา ให้กับลูกค้าได้”
ประโยคเล็กๆ ที่ตัวเอกอย่าง ซาซากุระ ริว พูดไว้ในตอนเปิดเรื่อง สะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่ใช่แค่บาร์เทนเดอร์ที่มีฝีมือ แต่ตัวเขายังแสดงอีกมุมหนึ่งของงานนี้ที่จะต้องเป็นคนช่างสังเกตุ จนสามารถชงเครื่องดื่มออกมาให้เหมาะสมกับลูกค้าที่อยู่ตรงหน้า การ์ตูนเรื่องนี้เล่าเรื่องการชงค็อกเทล และเหล้าแต่ละชนิด รวมไปถึงประวัติของเครื่องดื่มแต่ละประเภทที่นำมาผสมกันอย่างค่อนข้างละเอียด เมื่อรวมกับการเล่าเรื่องที่เอาปัญหาชีวิตคนทำงานมาผูกรวมกับเครื่องดื่มแต่ละชิดตามสไตล์การ์ตูนสายเซย์เน็น (Seinen) ทำให้รสชาติในการอ่านนั้นกลมกล่อมอยู่ไม่น้อย
แล้วก็อาจจะเพราะที่การ์ตูนวนเวียนอยู่กับสุราเมรัยทั้งเรื่อง ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ยังไม่มีเล่มไทยออกมาให้อ่านกัน
Shouwa Genroku Rakugo Shinjuu – นักแสดงราคุโกะ
ก่อนที่เราจะเข้าสู่รายละเอียดของการ์ตูนเรื่องนี้ เราอยากจะอธิบายอาชีพ ‘ราคุโกะ’ ให้ฟังกันเล็กน้อย หากเทียบกับอาชีพที่หลายคนคุ้นเคยก็คงจะเป็น ‘เดี่ยวไมโครโฟน’ ทว่าจุดหนึ่งที่ต่างกันมากระหว่าง เดี่ยวไมโครโฟนกับราคุโกะคือ การที่ราคุโกะนั้นต้องเล่าเรื่องเก่าๆ ที่เคยเล่ามาตั้งแต่เก่าก่อนแล้ว (หากเทียบอีกอาชีพที่คล้ายๆ กัน ก็คือตลกของบ้านเราเอง) และความโหดหินอีกประการคือ ราคุโกะต้องเล่นคนเดียวโดยที่มีอุปกรณ์ประกอบการแสดงเพียงแค่พัดกับอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ อีกชิ้นเท่านั้น ที่เหลือคือการใช้ทักษะการเล่าเรื่องของตัวผู้เล่นเอง
การ์ตูนจะเล่าเรื่องของชายหนุ่มที่เพิ่งออกจากคุกแล้วตัดสินใจไปขอฝากตัวเป็นศิษย์กับราคุโกะชื่อดัง แถมยังได้กลายเป็นลูกศิษย์ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นักเล่นราคุโกะท่านนั้นไม่เคยรับศิษย์มาก่อน เรื่องราวจะดำเนินไปทั้งในยุคปัจจุบันและเรื่องราวจากอดีตที่เกี่ยวพันกับตัวละครในเรื่อง คู่กับการเสนอข้อถกเถียงกันระหว่างการเล่นราคุโกะแบบอนุรักษ์นิยมกับการเล่นแบบสมัยใหม่เพื่อเรียกให้คนยุคใหม่ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่สมควรทำ (ประเด็นนี้เหมือนที่แฟนลิเกในไทยกำลังถกกันอยู่ในช่วงนี้)
ถ้าเทียบกับการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ที่เรายกตัวอย่างมา การ์ตูนเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ดูเข้าถึงได้ยากมาก จนหลายคนก็ยังเมินหน้าหนีตั้งแต่ที่เห็นปกหนังสือกับโครงเรื่อง แต่สุดท้ายการนำเสนอของการ์ตูนเรื่องนี้สามารถนำพาให้เราเข้าใจอาชีพที่ดูเฉพาะทางมากๆ อาชีพหนึ่งได้อย่างดี
Gimmick! เอฟเฟกต์เทพ – สเปเชียลเอฟเฟกต์เมคอัพอาร์ตติสต์
ยุคนี้ที่ภาพยนตร์กลายเป็นสื่อบันเทิงที่เข้าถึงคนหมู่มาก อาชีพหนึ่งที่จะทำให้หนังทุกเรื่องสมบูรณ์ขึ้นมาได้คือ สเปเชียลเมคอัพอาร์ตติสต์ หรือช่างผู้มีความชำนาญการในการทำเอฟเฟกต์พิเศษนั่นเอง ซึ่งการ์ตูนเรื่องนี้ก็บอกเล่าขั้นตอนการทำงานหลายๆ อย่างนับตั้งแต่ขั้นตอนการขึ้นงาน การแต่งหน้าแบบคร่าวๆ จนถึงวิธีการสร้างอุปกรณ์แบบฉุกเฉิน ในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์มาตรฐานให้ใช้ในกองถ่าย
และเมื่อนำเอาการทำเทคนิคพิเศษนี้มาผูกกับเรื่องราวแบบหนังแอคชั่นทำให้การ์ตูนเรื่องนี้อ่านสนุกพอๆ กับที่ได้ความรู้ด้านเอฟเฟกต์ (แถมยังโม้ว่าพระเอกของเรื่องเป็นลูกศิษย์ของ Rick Baker สเปเชียลเมคอัพเอฟเฟกต์อาร์ตติสต์ตัวจริงอีกต่างหาก)
ที่เนื้อเรื่องออกมาแน่นขนาดนี้เพราะการ์ตูนเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ คานาริ โยซาบุโร่ เป็นผู้แต่ง และเมื่อมีการอ้างอิงภาพยนตร์ในโลกจริงหลายเรื่องเลยทำให้คนอ่านสามารถอินได้ง่าย โดยเฉพาะในยุคนี้ที่การทำเอฟเฟ็กต์ด้วยมือกลับมามีความสำคัญในวงการภาพยนตร์อีกครั้ง
Illustration by Waragorn Keeranan