สมัยนี้ภาพยนตร์กลายเป็นสื่อบันเทิงที่ได้รับความนิยมสูงและสร้างรายได้ไม่เบาเลยทีเดียว และการสร้างภาพยนตร์หนึ่งเรื่องก็ใช้เวลาไปไม่น้อย หลายครั้งภาพยนตร์ก็ใช้เวลานานนับปีในการถ่ายทำ ไหนจะต้องเตรียมบท ไหนจะหาโลเคชั่น ไหนจะต้องคิดวิธีการถ่ายทำ
เพราะฉะนั้นในการถ่ายทำหนังก็อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้เช่นกัน และสิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครต้องการให้เกิด ก็คือการที่นักแสดงในภาพยนตร์เสียชีวิตไปก่อนที่หนังจะถูกถ่ายทำเสร็จอย่างสมบูรณ์
ขนาดแค่ continue เสิ้อผ้ากับทรงผมผิด ยังกลายเป็นเรื่องมหากาพย์กันได้ (อ้างอิงจาก บันเทิงเชิงร้าย ของพี่ทราย เจริญปุระ) แล้วนี่ถึงระดับมีคนตายความวุ่นวายย่อมพวยพุ่งขึ้นอีกมากมายหลายเท่าตัว แล้วคนทำหนังจะทำอย่างไรกับเหตุการณ์เหล่านี้
สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือการปรับบทภาพยนตร์เพื่อให้การถ่ายทำสะดวกกว่าเก่า แต่หลังจากนั้นจะให้ไปค้นหาวิชาคืนชีพก็ดูจะเกินจริงไปสักหน่อย
เราเลยลองสรุปทางแก้ส่วนหนึ่งที่แม้แต่หนังใหญ่ระดับฮอลลีวูดก็นำเอามาใช้แก้ไขปัญหาหลังจากนักแสดงได้จากโลกนี้ไปก่อนที่ตัวหนังจะไม่คลอดออกมา
ใช้ CG แก้ปัญหา
ในยุคสมัยที่อะไรๆ ก็ใช้คอมพิวเตอร์สร้างกราฟิกขึ้นมา ทางแก้ที่ดีสำหรับภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่นักแสดงเสียชีวิตไปก่อนเวลาอันควรก็คือการใช้ Computer Graphics สร้างนักแสดงขึ้นมาใหม่เสียเลย ซึ่งการใช้ CG เพียงอย่างเดียวก็อาจไม่ทำให้เกิดการแสดงที่ดีได้ ทำให้ส่วนใหญ่การใช้ CG แก้ปัญหา จึงผสมผสานด้วยการนำเอา นักแสดงที่มีรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกัน ก่อนที่จะมีการปรับหน้าตาให้เป็นนักแสดงท่านที่เสียชีวิตไปแล้ว
ตัวอย่างภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิคนี้
– Fast & Furious 7 ใช้เทคนิคนี้ เนื่องจาก พอล วอลค์เกอร์ (Paul Walker) เสียชีวิตก่อนที่ภาพยนตร์จะถ่ายทำเสร็จและฉายจริง จึงมีการปรับบทเพื่อให้ตัวละครของเขาเกษียนตัวเองออกจากหนัง โดยในฉากท้ายสุดของหนังเรื่องนี้ ได้ คาเล็บ วอล์คเกอร์ (Caleb Walker) ผู้เป็นน้องชายมาแสดงก่อนที่จะใช้ CG ใส่หน้าตาของ พอล ลงไปแทน
– Rogue One: A Star Wars Story ใช้เทคนิคนี้ เนื่องจากต้องการเชื่อมโยงหนังให้สอดคล้องกันกับ Star Wars: Episode IV — A New Hope เลยมีการใส่ตัวละครที่เคยแสดงโดย ปีเตอร์ คุชชิ่ง (Peter Cushin) ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 1994 ให้มามีบทบาทอีกครั้ง หนังใช้บริการ กาย เฮนรี่ (Guy Henry) นักแสดงชาวอังกฤษที่มีความผอมสูงใกล้เคียงกับ ปีเตอร์ คุชชิ่ง มาทำการแสดงและพากย์เสียงแทนนักแสดงผู้ล่วงลับ
ง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนตัวนักแสดง
การเปลี่ยนนักแสดง เป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาเมื่อนักแสดงเสียชีวิตไปก่อนการถ่ายทำจะเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยก่อน ถ้าหนังยังไม่ถ่ายทำซีนของนักแสดงคนดังกล่าวหรือถ่ายไปบ้างแล้ว การเปลี่ยนนักแสดงก็จะเกิดขึ้นโดยที่ไม่สะกิดใจคนดูมากนัก แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกันที่หนังยังถ่ายทำไม่เสร็จหรือหนังมีภาคต่อเยอะมาก การเปลี่ยนนักแสดงจึงมีความสะดุดตาขึ้นมา แต่หนังบางเรื่องก็จะใช้วิธีการเขียนบทเพื่อช่วยทำให้การเปลี่ยนตัวละครสมเหตุสมผลขึ้น ดังนั้นในตัวอย่างของกรณีนี้เราขอพูดถึงเฉพาะส่วนที่เปลี่ยนตัวนักแสดงที่อยู่ในภาพยนตร์ชุดเดียวกันหรือเรืองเดียวกันก่อนนะ
ตัวอย่างภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิคนี้
– Harry Potter ใช้เทคนิคนี้ เนื่องจาก ริชาร์ด แฮร์ริส (Richard Harris) นักแสดงที่รับบท อัลบัส ดัมเบิลดอร์ (Albus Dumbledore) ในภาพยนตร์ชุด แฮรรี พอตเตอร์ เสียชีวิตลงหลังจากรับบทดังกล่าวไปในภาพยนตร์สองภาค และทางทีมผู้สร้างภาพยนตร์ได้คัดเลือก ไมเคิล แกมบอน (Michael Gambon) มารับบทแทนจนถึงภาพยนตร์ แฮรรี พอตเตอร์ ภาค 7.2
– The Imaginarium of Doctor Parnassus ใช้เทคนิคนี้ เนื่องจาก ฮีธ เลดเจอร์ (Heath Ledger) นักแสดงที่รับบทพระเอก เสียชีวิตระหว่างการถ่ายทำ ซึ่งทีมผู้สร้างหนังปรับเรื่องราวไปว่าเมื่อพระเอกของเรื่องเดินทางข้ามโลก ร่างกายจะเปลี่ยนไปในโลกต่างๆ และนักแสดงคนอื่นๆ จะมารับบทเป็นพระเอกแทน ฮีธ เลดเจอร์ ซึ่งนักแสดงที่มารับบทแทนนั้นประกอบไปด้วย จอห์นนี เดปป์ (Johnny Depp), จู๊ด ลอว์ (Jude Law), คอลลิน ฟาร์เรลล์ (Collin Farrell)
ความช่วยเหลือจากสตันท์แมนและสแตนด์อิน
สตันท์แมน และ แสตนด์อิน เป็นบุคลากรที่สำคัญยิ่งในวงการบันเทิง ด้วยเหตุที่ว่านักแสดงอาจไม่ได้ชำนาญทุกกิจกรรมเสมอไป จึงต้องมีตัวแสดงแทนเหล่านี้มาช่วยรับบทบาทที่บางครั้งก็อาจอันตรายเกินไป หรือไม่ก็เป็นกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงเกินไปสำหรับนักแสดง แต่ในกรณีที่นักแสดงเสียชีวิตก่อนการถ่ายทำจะจบลง ตัวแสดงแทนเหล่านี้ก็ต้องทำการแสดงทดแทนในบางฉากที่ต้องมีการถ่ายทำเพิ่มเติม
ตัวอย่างภาพยนตร์ที่ใช้เทคนี้
– The Crow ภาพยนตร์ที่สร้างกระแสในปี 1994 เรื่องนี้ ต้องเสียนักแสดงนำอย่าง แบรนดอน ลี (Brandon Lee) ไปด้วยอุบัติเหตุจากการถูกยิงในกองถ่าย เหตุการณ์นี้่ทำให้หนังต้องหยุดถ่ายทำจนเกือบจะไม่ได้ออกฉาย จนกระทั่งหนังได้เงินทุนเพิ่มเติมและถ่ายทำฉากคืนชีพของตัวเอก ซึ่งโชคดีเล็กน้อยที่ตัวหนังนั้นมีธีมแนวมืดหม่น ฉากเหล่านั้นจึงให้สตันท์ของ แบรนดอน ลี แสดงแทน โดยอาศัยแสงเงากลบบังใบหน้า ส่วนฉากที่ต้องโชว์ใบหน้าเพียงชั่ววูบ ก็ใช้คอมพิวเตอร์ตัดต่อเอาหน้าของตัวแบรนดอน ลี ไปทาบกับหน้าของสตันท์แมนแทน
– The Trail of the Pink Panther ย้อนไปช่วงปี 1980 ภาพยนตร์นักสืบชุด The Pink Panther ได้รับความนิยมอย่างมาก (ตัวการ์ตูนชื่อเดียวกันก็ถูกสร้างมาเป็นตัวละครที่ใช้ในฉากเปิดของหนังชุดนี้ ทำให้เมื่อคนสร้างหนังอยากจะสร้างภาพยนตร์ภาคต่อ ทว่าดารานำอย่าง ปีเตอร์ เซลเลอรส์ (Peter Sellers) เสียชีวิตไปก่อนหนังจะถ่ายทำราวปีเศษๆ วิธีการที่คนทำหนังใช้แก้ปัญหาคือการเอาฉากที่ถ่ายทำในหนังภาคก่อนๆ มาตัดต่อใหม่ ผสมรวมกับการให้แสตนด์อินของดาราท่านดังกล่าวมาแสดงด้วยการพันหน้าพันตาด้วยผ้าพันแผล เพื่อที่จะได้ไม่เห็นหน้าเต็มๆ ในบางฉากนั่นเอง
Movie Magic ใช้การตัดต่อเข้าว่า!
เพราะภาพยนตร์ไม่ใช่ภาพแห่งความจริงเสมอไป การแก้ปัญหานักแสดงเสียชีวิตก่อนการถ่ายทำเสร็จ จึงสามารถใช้ Movie Magic ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ วิธีง่ายๆ อย่างหนึ่งที่อาจใช้แรงเยอะ แต่ใช้เทคโนโลยีไม่มากนัก และจริงๆ ก็ถูกใช้มานานนมแล้ว นั่นก็คือ การตัดต่อฉากใหม่ เพราะการถ่ายหนังนั้นไม่ได้ถ่ายเฉพาะส่วนที่ออกฉายในโรงภาพยนตร์เท่านั้น หลายๆ ครั้ง มีการถ่ายเผื่อไว้ และบางทีก็มีถ่ายซ่อม
จึงมีหนังบางเรื่องใช้เทคนิคการตัดต่อเพื่อทำให้เห็นว่า ตัวละครของนักแสดงที่เสียชีวิตไป ได้ทำการแสดงในภาพยนตร์จนถึงที่สุดแล้ว หรือถ้าจำเป็นจริงๆ ก็อาจตัดต่อเสียงพูดจากส่วนอื่นของหนังมายำใหม่เข้ากับฉากที่ไม่เห็นหน้าของตัวละครเพื่อให้เกิดบทพูดใหม่อีกต่างหาก
ตัวอย่างภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิคนี้
– The Hunger Games:Mocking Jay ภาพยนตร์สองภาคสุดท้ายของจักรวาล The Hunger Games ประสบปัญหาเล็กน้อย เมื่อ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (Philip Seymour Hoffman) นักแสดงจ้าวบทบาที่รับบท พลูทาร์ช เฮฟเว่นส์บี (Plutarch Heavensbee) เสียชีวิตก่อนที่จะถ่ายทำภาพยนตร์เสร็จ โชคดีที่ว่านักแสดงท่านนี้ถ่ายทำบทส่วนใหญ่ไปจนเกือบทั้งหมดแล้ว เลยมีการตัดต่อภาพในบางฉากให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนบทบางส่วนไปให้ตัวละครอื่นพูดแทน ซึ่งตัวผู้กำกับได้ให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาตั้งใจไม่ใช้ CG เพราะยากจะหาคนที่มีพลังการแสดงมาแทนนักแสดงผู้ล่วงลับ
นอกจากนี้ถ้าข้ามไปยังซีรีส์ทางโทรทัศน์ก็อาจใช้วิธีแก้ไขบทแล้วก็ไม่อ้างอิงถึงตัวละครที่นักแสดงเสียชีวิตไปแล้วรับบทอีกเลย หรือถ้าในฝั่งโฆษณาที่ความยาวไม่มากนัก ก็อาจใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกสร้างคนดังในอดีตขึ้นมาอย่างใหม่หมดจดไปเลยก็ได้เช่นกัน แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน การแก้ปัญหาเหล่านี้ ก็เพื่อให้ผลงานที่นักแสดงจากไปก่อนผลงานสำเร็จ ได้ออกมาเป็นรูปร่างสมบูรณ์ในแบบที่มันควรจะเป็น ทั้งยังเป็นการส่งคำอำลาให้กับนักแสดงผู้ล่วงลับเหล่านั้นอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก