ถึงจะมีโอกาสแค่ 0.2 เปอร์เซ็น มันก็ยังมีก็เอาให้เลือดกระเด็น แล้วมันจะเป็นยังไงมันก็ต้องเป็น ♫
ข้อความด้านบน คือท่อนหนึ่งจาก ‘how i like pt.2’ เพลงหนึ่งจากอัลบั้มธาตุทองซาวด์ อัลบั้มที่ทำเอาคนไฮป์ ‘อีกี้’ กันทั่วบ้านทั่วเมือง ดูเผินๆ แล้ว อัลบั้มนี้คล้ายกับเป็นเรื่องเล่าถึงรักวัยเรียนและชีวิตวัยรุ่นแบบโจ๊ะๆ ของ รัธพงศ์ ภูรีสิทธิ์ หรือที่เราคุ้นกันในชื่อ ‘ยังโอม (Youngohm)’
แต่หากไล่เรียงและนั่งฟังทั้ง 19 เพลงจากอัลบั้มนี้ จะพบว่าอัลบั้มไม่ได้พูดถึงแค่ความรักหรือรถซิ่ง มันกลับเป็นอัลบั้มที่เต็มไปด้วยเรื่องราวหลากหลาย สอดไส้ด้วยเรื่องราววัยเด็ก ครอบครัว การเติบโต ความรัก ความเจ็บปวด ความฝัน และการเมือง
เราจึงชวนยังโอมมาถอดรหัสตัวตนจากอัลบั้มธาตุทองซาวด์ พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องระบบการศึกษาและสังคมไทย ณ โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง สถานที่ที่ไม่ว่ายังโอมจะเดินไปทางไหน ก็จะเต็มไปด้วยเด็กนักเรียนที่เข้ามาขอถ่ายรูป …แม้แต่ครูเองก็ไม่เว้น!
ยังโอมมาถึงก่อนเวลานัดสัมภาษณ์ราว 15 นาที ทันทีที่เห็นหน้ากัน เขาก็โบกไม้โบกมือให้เราจากสนามกีฬาชั้นล่างซึ่งเป็นทางเข้าของโรงเรียน ก่อนจะรีบขึ้นมาทักทายกันบนห้องที่ใช้สัมภาษณ์ “ผมเคยนั่งตรงนี้เลย” แรปเปอร์หนุ่มชี้ไปโซนเก้าอี้ที่อยู่ไม่ไกลจากกระดานหน้าห้องมากนัก เราถึงเพิ่งจะรู้ว่าพื้นที่ที่ใช้สัมภาษณ์ คือห้องที่เขาใช้เรียนหนังสือสมัยอยู่มัธยม
ระหว่างสัมภาษณ์ เราเดินผ่านมุมอับแห่งหนึ่งบนชั้น 2 ของอาคารเรียน จู่ๆ ยังโอมก็เล่าขึ้นมาว่าเคยถูกจี้ตรงจุดนี้ พอไม่ให้เงินดันโดนขู่ว่าจะตามไปถึงบ้าน ไอเราตกใจรีบก็ถามกลับว่าแล้วตอนนั้นทำยังไง “ผมก็ไม่ให้” ยังโอมพูดยิ้มๆ ก่อนจะเฉลยว่าเพราะคนจี้คือเด็กวัยสูงเท่าเอวผู้ใหญ่เท่านั้น
ปั้ดโถ่! ใจหายใจคว่ำกันหมด นอกจากชอบอำแล้ว ชีวิตเด็กวัดยังโอมคนนี้จะเป็นยังไงกันแน่ ชวนมารู้จักเขาไปด้วยกัน
PART 1: รู้จักเด็กวัด Youngohm
สถานะ ‘เด็กวัด’ ทำให้โตมายากกว่าคนอื่นยังไง
ยากไหม มันก็ไม่ได้ยาก มันก็ชีวิตเด็กธรรมดาทั่วไป แต่มันจะเป็นความรู้สึกที่พอมีคำว่า ‘วัด’ มันจะดูไม่ค่อยมีอะไร ไม่ค่อยเฟี้ยว ถ้าเทียบกับโรงเรียนรัฐบาลอื่นๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องรุนแรงอะไร แต่แค่รู้สึกว่า ‘เหี้ย เราแม่งเด็กวัด’ ก็แบบ นิดนึงอะ นี่คือความคิดในสมัยก่อนนะ แต่ก็มีที่คิดว่าเราเรียนที่นี่แล้วมีความสุขเหมือนกัน
ถ้างั้น ทำไมต้องแรป represent เสียงของเด็กวัดด้วย
ผมอยากเล่าให้ฟังว่าชีวิตของเด็กที่อยู่โรงเรียนวัดมันเป็นยังไง เพราะมันคือตัวตนของเรา มันคือสิ่งที่เป็นเรา มันคือความเป็นเรา ผมเรียนโรงเรียนวัดมาเกือบทั้งชีวิต ตั้งแต่ประถมยันมัธยม ก็ 12 ปีที่อยู่โรงเรียนวัด มันคือตัวตนและจุดเริ่มต้นของเรา เราเริ่มต้นทุกอย่างที่คำว่า ‘เด็กวัด’ นี่แหละ
ธาตุทองซาวด์จึงเป็นเสียงจากเด็กธาตุทอง คือผมที่ประกาศออกไปให้คนรู้ว่า กูมาจากธาตุทองนะ และนี่คือสิ่งที่กูโตมา มันไม่ได้มีอะไรสะดวกสบาย ไม่ได้มีอะไรมากมาย แต่กูก็ทำได้
ในเนื้อหาบางเพลงมีการเล่าถึงความสำเร็จ บางคนก็ตั้งคำถามว่านี่คือการโอ้อวด หลงตัวเอง ยังโอมมองเรื่องนี้อย่างไร
คือโอ้อวดมันก็ต้องโอ้อวดอยู่แล้ว มันต้องโอ้อวดเลยแหละ เพราะว่าวันนึงเราไม่มี เราโดนดูถูก โดนเหยียบย่ำ แล้ววันนึงเราทำได้ ทำไมเราจะไม่อวด ทำไมเราจะไม่บอกเขาว่าเราสำเร็จ
และมันยังเป็นวัฒนธรรมที่เรารับมาจากฮิปฮอปอเมริกันด้วย คือคนผิวสีที่นู่นโดนเหยียด โดนกดดัน โดนกดขี่ แต่วันนึงที่เพลงของคนผิวสีดัง เขาก็อยากจะใส่ทอง อยากจะ flex (อวด) อยากจะบอกว่ากูทำได้แล้วนะ ทั้งๆ ที่มึงดูถูก มันก็คือการแสดงออกว่ากูสำเร็จแล้ว ถามว่าโอ้อวดไหม ก็ใช่แหละ มันก็คือโอ้อวด
ที่บอกว่าเคยโดนดูถูก เล่าให้ฟังได้ไหมว่าสมัยยังเด็กโดนดูถูกอะไรบ้าง
ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ ก็เรื่องการแรป ในยุคที่ผมเรียนอยู่แรปยังไม่ได้เป็นที่นิยม ยังไม่ได้เป็นที่เข้าใจว่าเราแรปทำไม แรปเพื่ออะไร หรือแรปแล้วได้อะไร สมัยเรียนมีช่วงที่ผมเป็นเด็กเรียนเก่ง ก่อนจะเป็นช่วงที่ผมไม่เอาอะไรเลย คิดแต่ว่าจะตั้งใจแรปอย่างเดียว อาจารย์เลยมองว่า ‘เฮ้ย ทำไมเป็นคนแบบนี้ ทำไมเอาเวลาไปแรปอะไรไร้สาระ มันจะไปหากินอะไรได้’ อันนี้ก็คือสิ่งที่ผมจำ
ที่บ้านก็ห้ามคล้ายๆ กับอาจารย์ เพราะที่ผ่านมาผมเป็นเด็กเรียนที่ได้เกรดดีมาตลอด ไม่เคยทำให้พ่อแม่ผิดหวัง เคยตั้งใจเรียน นั่งหน้าห้อง เพราะผู้ใหญ่บอกว่ามันคือหน้าที่เรา แต่พอเราเริ่มจริงจังกับการแรป ก็ไม่เอาเรียน จนที่บ้านงงว่า เฮ้ย เกเรหรือเปล่า ไม่เอาเรียนแล้วใช่มั้ย มันก็ไฝว้ (สู้) กันมาเรื่อยๆ เพราะเราแค่อยากทำในสิ่งที่อยากทำแต่ไม่ได้แรงสนับสนุน ผมก็ไม่สน และยอมแลกไปเลยว่าที่บ้านจะเกลียดเราหรือจะคิดอะไรกับเราก็เรื่องของเขา ยอมโดนด่า โดนว่า และทะเลาะ สมัยเด็กเราก็แอบร้องไห้คนเดียวบ่อยๆ นะ เพราะเราคิดว่า ทำไมเขาถึงไม่เข้าใจ
ในเมื่อหน้าที่ที่ผู้ใหญ่บอกว่าให้ตั้งใจเรียน ทำไมถึงแตกแถว
เพราะผมตั้งคำถาม ผมชอบตั้งคำถามกับตัวเอง มันจะมีคำถามที่ผู้ใหญ่ชอบถามเราว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร ผมก็เก็บคำถามนี้มาถามตัวเองในวัยเรียนว่า เออ กูโตขึ้นมาแล้วกูจะเป็นอะไรวะ จนวันนึงพอเราเริ่มรู้ตัวว่าชอบแรป เราแรปมาตั้งแต่ ม.1 ยัน ม.5 ก็ยังแรป เลยเริ่มมั่นใจตอนมอปลายว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการและอยากทำจริงๆ
ผมรู้สึกว่า ผู้ใหญ่จะโฟกัสกับเรื่องเรียน สำหรับเขาชีวิตมันต้องเรียนให้จบถึงจะเป็นคนที่เฟี้ยว ต้องจบมหา’ลัย จบปริญญาตรี ปริญญาโท มายด์เซ็ตเขาล็อกอยู่ตรงนั้น และคนยุคแม่ผมก็จะมองคนทำงานศิลปะว่าเป็นศิลปินไส้แห้ง ด้วยบริบทสังคมไทยหลายอย่างไม่ได้เอื้อให้กับศิลปินมากขนาดนั้น เลยเป็นปกติที่คนยุคนั้นจะคิดว่า ศิลปินคงจะไส้แห้ง ไม่ได้มีอะไร ถ้าไม่ได้ไประดับที่สุดๆ จริงๆ
อะไรคืออุปสรรคระหว่างการทำตามความฝัน
อุปสรรคอันดับแรกเกิดจากคนรอบตัวที่ไม่ได้เข้าใจและสนับสนุนเรา และสำหรับศิลปินที่ต้องสร้างชื่อเสียง อุปสรรคคือทำยังไงให้คนรู้จักเพลงคุณ รู้จักตัวตนคุณ ส่วนที่เคยทำพาร์ทไทม์ผมมองว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องทำมากกว่า เพราะถ้าอยากได้เงินเพิ่มก็ต้องหาเงินเพิ่มมาเพื่อทำเพลง ผมไม่เคยมองว่ามันเป็นอุปสรรคทุกอย่างนะ ผมมองว่าทุกอย่างเอาชนะได้ จัดการได้
ถ้าเราอยากทำเพลงก็ต้องมีเงิน ถ้าไม่มีเงินก็ต้องไปหาเงิน มันก็เริ่มจากศูนย์ ผมก็รู้สึกว่ามันเป็นขั้นตอนที่เราต้องเดินไปเรื่อยๆ ไม่มีใครที่อยู่ๆ จะดังขึ้นมาง่ายๆ คนที่ดังมาง่ายๆ ก็หายไปง่ายๆ เหมือนกัน
ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องเป็นสตาร์นะ ผมขอแค่ได้ใช้ชีวิตกับเพลง ไม่ต้องรวยก็ได้ คิดแค่ว่าเราอยากทำสิ่งนี้จริงๆ เพราะคนเราเกิดมาครั้งเดียว เราก็มีสิทธิที่จะเลือกทำและเลือกเป็น ถึงคนอื่นจะไม่เข้าใจแต่มันก็ชีวิตเรา ขอแค่ให้ได้ลองทำ ได้ลองใส่ให้มันสุด และได้เทหมดหน้าตัก ส่วนถ้าไม่ได้หรือไม่สำเร็จผมก็มีแพลนบีอยู่แล้ว ก็ไม่เป็นไร ผมไม่ได้มองว่าทุกอย่างต้องสำเร็จ
แต่มันจะดีกว่ามั้ย ถ้ายังโอมได้เริ่มต้นเท่ากับคนอื่น ไม่ต้องทำพาร์ทไทม์ มีทางปกติให้ทำตามฝันได้เลย
ส่วนตัวผมแอบรู้สึกว่า ถ้าผมมีอะไรเยอะๆ ทุกอย่างเอื้ออำนวยไปหมด ผมอาจจะไม่ได้เห็นคุณค่ามันขนาดนั้นก็ได้ เพราะอะไรที่กว่าจะได้มามันก็มีคุณค่า
ถ้าผมโตมามีทุกอย่างพร้อม มันอาจจะไม่ได้เป็นผมเลยก็ได้ เพลงหรือเนื้อหาในเพลงอาจจะไม่ได้เป็นแบบนี้ ทุกอย่างคงไม่ออกมาเป็นแบบนี้ มันก็คงไม่มีอะไรให้พูดถึงมากมาย ก็อาจจะแค่แบบ ฉันรักเธอ เธอรักฉัน …รึเปล่า ไม่รู้สิ ผมคิดว่าถ้าชีวิตมันง่าย ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาเขียนในเพลง
แล้วถ้าสำหรับเด็กไทยล่ะ ถ้าทุกคนมีทรัพยากรเท่ากันเพื่อทำตามฝัน จะดีกว่ามั้ย
เรื่องนี้มันอยู่ที่คน บางคนมีทรัพยากรเยอะแต่ไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์และไม่เห็นคุณค่า ส่วนบางคนก็รู้จักตัวเองจริงๆ ว่าเขาชอบอะไร ผมเคยได้ยินเรื่องนักมวยที่ต่อยเก่งมาก แต่ไปรู้ประวัติมาว่า เฮ้ย เขาเป็นลูกคุณหนูมีเงิน ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการเงินเลย ผมมองว่านี่คือ passion ของจริงที่แบบ กูมีทุกอย่างแล้ว แต่กูยังอยากทำอันนี้อยู่ ผมว่ามันแล้วแต่คนว่าเขาจะคิดยังไง เป็นยังไง หรือมี passion ในการทำอะไรไหม
ครูบางคนจะเชียร์ให้เด็กเป็นหมอมากกว่านักร้อง ยังโอมคิดเห็นยังไง
เข้าใจว่าถ้ายุคสมัยก่อนมันไม่ค่อยมีโอกาส ไม่ใช่ใครก็เป็นนักร้องได้ แต่ถ้าเป็นยุคนี้แล้วยังคิดแบบนี้คือหัวโบราณ ทุกวันนี้เราก็เห็นคนที่ประสบความสำเร็จจากการเป็นติ๊กต่อกเกอร์ เป็นยูทูบเบอร์ หรือเป็นศิลปินนักร้องมากขึ้น ถ้ายังพูดอย่างนั้นอยู่ก็หัดเปิดอินเทอร์เน็ตดูเสียบ้างว่าคนเขาไปถึงไหนกันแล้ว นี่มันไม่ใช่ 10 ปีที่แล้วที่จะมานั่งมองว่า ‘เฮ้ย ทำนู่นไม่ได้ ทำนี่ไม่ได้’ ผมคิดว่ายุคนี้อะไรก็เป็นไปได้แล้ว
ผมมองว่าทุกอาชีพสำคัญหมดเลย หมอก็สำคัญอยู่แล้ว นักร้องก็สำคัญ และถ้าคนที่ได้ไปอยู่ในจุดนั้นเขามี passion ผมยิ่งรู้สึกว่าประเทศเรามันจะยิ่งดีขึ้น ถ้าคนเป็นหมอมี passion ในการรักษาก็จะไม่รักษาคนไข้ลวกๆ ถ้าคนที่เป็นนักร้องตั้งใจเขียนเพลงก็จะไม่มีเนื้อเพลงลวกๆ ถ้าคนที่ได้ทำอาชีพโดยการที่มีแพชชั่น มันเป็นการดีอยู่แล้วสำหรับประเทศ
ในอัลบั้มมีเพลงที่พูดถึงการเมืองไทย สำหรับยังโอม อะไรคือปัญหาของการเมืองไทย
ปัญหาการเมืองน่าจะอยู่ที่ผู้ใหญ่ พอเป็นผู้ใหญ่บางทีหัวเขายังไม่เปิด ยังไม่เข้าใจเด็ก ยังคิดอะไรแบบเดิมๆ เก่าๆ ทั้งที่บางอย่างควรจะปรับเปลี่ยนได้แล้ว อำนาจหลายๆ อย่างยังอยู่กับคนที่ไม่มีความคิด ผมก็สงสัยว่าแล้วมันจะเจริญได้ยังไง ถ้าผู้นำเราหรือคนที่มีอำนาจอยู่ในมือเขาไม่เฟี้ยวแล้วอะ บางทีมันต้องมีความคิดใหม่ๆ บ้าง ไม่ใช่ยึดกับอะไรเดิมๆ
ที่ผมเป็นศิลปินแล้วออกมาพูดการเมือง ผมว่ามันก็เป็นสิทธิตามประชาธิปไตย ผมแค่พูดในสิ่งที่ผมคิด ไม่ได้ฝักฝ่ายอะไร แต่ถ้าเราพูดแล้วทำอะไรได้ มันก็เป็นสิทธิที่เราจะพูด มันเป็นการแสดงออกในแบบของผมต่อบ้านเมืองและสังคม ว่าผมอยากเห็นบ้านของเราเป็นยังไง
อยากให้รัฐบาลสนับสนุนศิลปินและแรปเปอร์ยังไงบ้าง
โห ลึกเลย ก่อนจะสนับสนุนเนี่ย เงินพอหรือเปล่า มีเงินเจียดมาให้เราหรือเปล่า ศิลปินไทยเก่งๆ เยอะนะ ถ้ามีรัฐมาช่วยในเรื่องอะไรสักอย่าง หรือสนับสนุนให้เพลงไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น น่าจะทำให้วงการเพลงบ้านเราไปได้ไกลมากขึ้น อาจไปไกลระดับโลกเหมือนเกาหลี ซึ่งถ้ารัฐสนับสนุนจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลย เพราะหลายประเทศเขาก็ใช้ศิลปะในการสร้างชาติให้มีคนรู้จัก มีคนสนใจ จนเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
แปลว่าที่ผ่านมา มองว่ารัฐไม่สนับสนุนศิลปะหรือเปล่า
มีรัฐบาลไหนเคยสนับสนุนด้วยเหรอ? ผมก็ไม่รู้นะ ผมก็ไม่เคยศึกษาตรงนี้ แต่ทุกคนที่ผมรู้จักส่วนใหญ่ก็ลุยมาเองหมดนะ ผมไม่เคยเห็นว่ามีใครมาสนับสนุนหรืออะไร เป็นเราที่ลุยกันมาเอง ไม่เคยมีใครมาสนับสนุน
PART 2: ถอดรหัสธาตุทองซาวด์
“ชอบเพลงไหนที่สุดในอัลบั้มธาตุทองซาวด์?” ยังโอมเงียบไปสักพักก่อนจะตอบว่าชอบเพลง ‘how i like pt.2’ เพลงเดียวกับที่เขียนโปรยไว้ต้นบทความ เขาอธิบายเพิ่มว่า “ผมได้พูดเรื่องราวของเราให้คนฟังเยอะดี และได้พูดอะไรหลายๆ อย่างที่เราไม่ได้พูดต่อหน้าพ่อ แม่ ตา ยาย และคนที่เรารัก มันเป็นวิธีที่ผมสื่อสารนะ ผมสะดวกเขียนผ่านเพลงมากกว่า”
ในการสร้างสรรค์เพลงขึ้นมา เชื่อว่าศิลปินคงจะมีแรงบันดาลใจอะไรสักอย่างอยู่เบื้องหลังผลงานนั้น เราจึงชวนยังโอมถอดรหัสธาตุทองซาวด์ โดยตั้งต้นจาก 4 เพลงจากอัลบั้ม ได้แก่ ธาตุทองซาวด์, I just wanna be free, เสียงจากเด็กวัด, และ how i like pt.2
“โย่ว และนี่คือเสียงจากเด็กวัด แข็งแรงเหมือนกับมึงเอาเหล็กงัด♫” เพราะอะไรเด็กวัดถึงแข็งแกร่งถึกทนกว่าคนอื่น
ผมอยู่วัดธาตุทอง ก็เป็นเด็กแบบว่า ง่ายๆ คือเด็กชนชั้นล่างของประเทศไทยที่บ้านไม่ได้มีตังค์มาก ส่งลูกมาเรียนโรงเรียนรัฐ โรงเรียนวัด คนที่อยู่ข้างล่างชีวิตเขาต้องสู้เยอะ หลายๆ คนต้องสู้ทั้งปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ ผมเลยรู้สึกว่าการเป็นเด็กวัดก็ค่อนข้างแข็งแกร่งเหมือนกัน
“จะเกิดเป็นชาวนาหรือว่าเกิดเป็น king สุดท้ายก็กลายเป็นดิน ฝันที่ว่าทุกคนจะเท่าเทียม หวังไว้สักวันมันคงจะกลายเป็นจริง♫” อะไรคือเหตุผลที่ยังโอมฝันอยากเห็นคนเท่ากัน
เพราะเราเคยเห็นคนรากหญ้าและคนทั่วไปที่ไม่มีสิทธิ โดนกดขี่ ผมเลยอยากเห็นคนรากหญ้าได้มีโอกาสที่ดี มีความรู้ และสวัสดิการทางสุขภาพที่ดีขึ้น อย่างถ้าเราไปโรงพยาบาลรัฐ บางทีทรัพยากรก็ยังไม่ค่อยพอสำหรับบางคน บางโรค หรือบางเคส ผมเลยรู้สึกว่า อย่างน้อยๆ ถ้าเราอยู่ด้วยกัน สิทธิขั้นพื้นฐานก็ควรจะมีเท่าเทียมกัน
“ถึงคนที่ฟังอัลบั้มธาตุทองซาวด์อยู่ทุกคนนะ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร โตมายังไง ที่บ้านมีฐานะยังไง แม่งไม่เกี่ยวเว้ย ผมเชื่อว่าคุณเป็นได้ทุกอย่างที่คุณอยากจะเป็น ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องประสบความสำเร็จ♫” คนเราไม่ได้ต้องประสบความสำเร็จก็ได้?
มันเป็นแนวคิดของผมที่มองว่า เวลาทำอะไร เราก็ทำให้เต็มที่ เราต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่อะไรที่จะได้ดั่งใจเรา 100% เช่น การที่ผมอยากจะแรป ผมไม่รู้หรอกว่ามันจะประสบความสำเร็จไหม แต่ผมแค่เต็มที่กับมันและไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องสำเร็จ ซึ่งมันก็พาผมมาอยู่ในจุดที่เป็นยังโอมแบบทุกวันนี้ได้ ด้วยวิธีคิดว่าทำทุกอย่างให้เต็มที่ที่สุด ไม่ต้องสำเร็จก็ได้ แค่พอหาเลี้ยงชีพได้ก็พอ
ฉะนั้น เวลาจะทำอะไร เราไม่จำเป็นต้องคิดว่าเราต้องได้ ต้องสำเร็จ ต้องสมหวัง และถ้าเราทำอะไรเต็มที่ที่สุดแล้ว ดีที่สุดแล้ว ตั้งใจที่สุดแล้ว แต่มันยังไม่ได้หรือไม่สำเร็จ ก็ช่างแม่ง ก็กูเต็มที่แล้ว มึงจะเอาอะไรจากกูอีกอะ ก็มีแค่นี้ ผมคิดว่าการทำตามความฝันไม่ต้องประสบความสำเร็จก็ได้ คือถ้าเรามีฝันหรืออยากเป็นอะไรมันก็แค่ต้องลองดู อยากทำก็ทำ แค่มีความสุขที่จะทำก็ทำ ผมว่ามันจะพาเราไปเอง ในจุดไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน
“I just wanna be free ออกไปจากที่นี่ so I gotta go get that money♫” อะไรคือสิ่งที่พันธนาการยังโอมไว้
ท่อนฮุกเพลงนี้แต่งจากการที่เรานึกถึงสมัยเริ่มแรปในโรงเรียน ตอนนั้นเรารู้สึกอยากเป็นอิสระจากทุกอย่าง จากคำพูดคน คำดูถูก และอยากมีอิสระที่จะทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แน่นอนว่ามันต้องใช้เงินในการที่จะทำให้ตัวเองเป็นอิสระจากตรงนี้ จากจุดที่เราอยู่
“ถึงจะมีโอกาสแค่ 0.2 เปอร์เซ็นต์ มันก็ยังมีก็เอาให้เลือดกระเด็น แล้วมันจะเป็นยังไงมันก็ต้องเป็น♫” ทำไมยังโอมถึงมีโอกาสแค่ 0.2 เปอร์เซ็นต์
ผมมองว่าการจะเป็นแรปเปอร์ที่โด่งดังมันยากมาก ในตอนนั้นผมเห็นแค่ illslick ที่ทำได้ และไม่เห็นใครที่สามารถหากินกับเพลงได้จริงๆ ทั้งประเทศมีแค่ illslick ที่ underground มาจากศูนย์ เป็นเด็กบ้านนอก แต่ทำได้ เลยมองว่า โอโห โอกาสมันคงน้อยมากๆ คนเรามีตั้ง 60-70 ล้านคน แต่น้อยคนมากที่จะหากินกับเพลงได้จริงๆ ในยุคนั้น
ในวงการแรปมีแรปเปอร์เยอะนะ แต่ส่วนน้อยที่จะหาเงินจากเพลงได้ ส่วนใหญ่ก็จะทำเอา passion ล้วนๆ ผมเลยรู้สึกว่า โห แม่งยากว่ะ ยากมากเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้