ต้นเดือนมีนาคมเป็นช่วงเวลาที่รางวัลออสการ์จะถูกส่งต่อให้กับภาพยนตร์ที่คณะกรรมการของสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ได้คัดเลือก จนกลายเป็นว่าภาพยนตร์เรื่องใดที่ได้รับรางวัลนี้ไป ก็เหมือนเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของปีนั้นๆ
กระนั้นเรื่องที่จะพูดถึงในวันนี้ไม่ได้เป็นหนังในกลุ่มรางวัลออสการ์ แล้วก็ไม่ใช่หนังในกลุ่มรางวัลแรสซี หรือ ราสเบอร์รีทองคำ (Golden Raspberry Awards) หรือที่สื่อไทยจะเรียกว่า ‘ราสเบอร์รีเน่า’ ที่เป็นรางวัลเชิงเสียดสีและอาจจะมีการเคลื่อนไหวทางสังคมบ้าง แต่ถ้าว่ากันตรงๆ ปีนี้ กระแส #MeToo กับ #TimesUp ในงานลูกโลกทองคำ (Golden Globe Awards) กับออสการ์ (The Oscar – Academy Awards) ก็เคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมมากแล้ว
ที่จะพูดถึงคือหนังอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในตลาดหนังฮอลลีวูดมาอย่างยาวนาน นั่นคือ ‘หนังเกรด B’ ถ้าพูดกันในสมัยนี้ หนังประเภทดังกล่าวมักจะหมายถึง ‘หนังห่วย’ หรือหนังทุนต่ำที่มีพล็อตเรื่องไม่ซับซ้อน นักแสดงก็ไม่ได้แข็งแกร่งมากนัก เอฟเฟ็กต์ก็…ไม่พูดถึงคงจะดีกว่า แต่ก่อนจะมาเป็นประเภทหนังที่คนเข้าใจในปัจจุบัน หนังกลุ่มนี้ก็มีตัวตนอยู่นานแล้ว แถมคนสร้างหนังเกรด B กลุ่มแรกก็เป็นค่ายหนังใหญ่ๆ ที่เราคุ้นเคยกันด้วย และหนังประเภทนี้ก็ยังมีวิวัฒนาการอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
จุดเริ่มต้นของ ‘หนังเกรด B’ ในฮอลลีวูด
เรื่องนี้ต้องย้อนถอยหลังไปในยุค 1930 ณ ตอนที่หนังเงียบยังครองโรง สื่อบันเทิงก็ยังมีไม่มาก โรงหนังเป็นสถานที่เสพข่าวสารและความบันเทิงของผู้คนในยุคสมัยดังกล่าว และระบบโรงหนังยังไม่มีระบบมัลติเพล็กซ์ หรือโรงหนังแยกย่อยหลายโรงในที่เดียว ในยุคนี้โปรแกรมการฉายจึงมีเนื้อหาอื่นๆ แทรกมาด้วยทั้งข่าว หนังสั้น ซีรีส์ การ์ตูนสั้น และมีการฉายแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ก็คือ การฉายหนังควบ หรือ double feature ที่มี ‘หนังดัง’ กับ ‘หนังไม่ดัง’ ฉายรวมกัน แต่คนดูก็แฮปปี้เพราะถือว่าจ่ายค่าตั๋วทีเดียวได้เนื้อหากลับไปเยอะ
เมื่อย้อนพูดถึงธุรกิจภาพยนตร์ฮอลลีวูดสมัยนั้น ค่ายหนังใหญ่ๆ ก็จะเป็นเจ้าของโรงหนังด้วย ส่วนโรงหนังอิสระกับค่ายหนังเล็กๆ ก็มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าและยังต้องง้อค่ายหนังใหญ่อยู่ ค่ายหนังใหญ่ที่ต้องลงทุนกับหนังจำนวนมากก็เริ่มเห็นช่องทางในการรักษากำไรของตัวเองด้วยวิธีหนึ่ง ซึ่งนั่นก็คือการบังคับขายหรือเช่าหนังแบบ block booking ที่มี ‘หนังดัง’ หรือ ‘หนังเกรด A’ (A movies) ที่ทุ่มสร้างอลังการพ่วงไปกับ ‘หนังไม่ดัง’ หรือ ‘หนังเกรด B’ (B movies) หนังทุนต่ำถูกมัดขายในราคาที่สร้างกำไรให้ค่ายหนังแน่ๆ หรือถ้าว่ากันง่ายๆ วิธีขายหนังแบบนี้ก็คือการขาย ‘เหล้าพ่วงเบียร์’ นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ หนังจึงถูกแบ่งเป็นสองเกรดด้วยตัวค่ายหนังเอง ว่ากันว่าในยุคที่่การขายหนังแบบ block booking รุ่งเรืองนั้น เกินกว่าครึ่งของค่ายหนังในฮอลลีวูดอย่าง 20th Century Fox หรือ Warner Brothers ได้ผลิตหนังกลุ่ม ‘หนังเกรด B’ ออกมาฉาย ด้วยความที่หนังเกรด B สามารถทำกำไรได้แน่นอนมากกว่า
ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปในช่วงปี 1945-1946 จากการต่อสู้ของรัฐกับค่ายหนังใหญ่ จนสามารถยกเลิกการขายหนังแบบ block booking ทำให้โรงหนังไม่สังกัดค่ายสามารถซื้อหนังดังเฉพาะเรื่องได้ไม่ต้องพ่วงอะไรอีกต่อ และโทรทัศน์เริ่มเข้ามาเป็นสื่อบันเทิงแบบใหม่ การทำหนังจึงต้องเปลี่ยนแปลงไป หนังใหญ่ หรือหนังเกรด A จึงถูกสร้างให้ยิ่งใหญ่สมจริงมากขึ้น และหนังเกรด B ก็เริ่มเป็นหนังประหยัดงบ รวมถึงกลายเป็นพื้นที่ทดลองหนังมากขึ้นเช่นกัน
คงเป็นในช่วงนี้เองที่ ‘หนังเกรด B’ เริ่มกลายเป็นอะไรที่สอดคล้องกับคำนิยามและความเข้าใจของคนในปัจจุบันมากขึ้น และในช่วงที่การทำหนังเปลี่ยนไป หนังเกรด B ก็ได้ใช้วิธีการหนึ่งเพื่อให้ตัวเองขายได้ง่ายขึ้น และนี่กลายเป็นจุดกำเนิดของกลุ่มหนังที่ถูกเรียกว่า Mockbuster
Mockbuster คิดอะไรไม่ออก เกาะกระแสหนังชาวบ้านไปดีกว่า
Mockbuster หรือ Knockbuster คือการทำหนังเกาะกระแสหนังดัง ที่หนังเกรด B ในปัจจุบันนิยมทำกัน ความจริงคอนเซ็ปต์นี้ไม่ใช่ของใหม่เลย เชื่อกันว่ามีการลอกแบบนี้มาตั้งแต่สมัยหนังเงียบแล้ว เพียงแค่แนวทางของหนังเกรด B แนวนี้ชัดเจนขึ้นในช่วงยุค 1950 ในยุคที่หนังสัตว์ประหลาดจากสเปเชียลเอฟเฟ็กต์เริ่มได้รับความนิยม
หนังเกรด B ที่ถูกจดจำว่าเป็นหนังแนว Mockbuster เรื่องแรกก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง The Monster of Piedras Blancas ที่ออกฉายในปี 1959 จากนั้นก็เป็นเรื่องสามัญธรรมดามากขึ้นที่หนังเกรด B จะจับประเด็นหรือจับกระแสหนังดังในแต่ละยุค และส่วนใหญ่ก็มักจะใส่ความหวือหวาหรือความโป๊เปลือยเข้ามามากขึ้น รวมถึงสไตล์การถ่ายแบบทดลอง ซึ่งบางครั้งเกิดจากการไม่มีงบเท่าค่ายหนังใหญ่ หรือบางทีก็เกิดจากการที่ค่ายหนังใหญ่ไม่ยอมให้ใช้ท่ายากในหนังที่หวังเงินกลับมาเยอะๆ นั่นเอง
Mockbuster อาจจะลดบทบาทจากหน้าโรงหนังไปในช่วงปี 1990 แต่ไปเจริญเติบโตในฝั่งสื่อบันเทิงสำหรับดูที่บ้านอย่างวิดีโอเทปหรือดีวีดี ต่อมาที่ภายหลังคนดูหลายๆ คนก็เริ่มพลาดน้อยลง กระนั้นก็มีหลายๆ บริษัทที่ยังมุ่งมั่นในการทำหนังตามรอยกระแสค่ายใหญ่ๆ แต่ก็เซฟตัวเองมากขึ้นด้วยการจับเอาเนื้อหาที่เป็น สาธารณสมบัติ (public domain) มาสร้าง หรือแค่ตั้งชื่อให้คล้ายกับหนังดังที่สุด ในช่วงนั้น อาทิ The War Of The World, Aladdin ฯลฯ
ถึงหนังแนว Mockbuster อาจจะดูเป็นการลอกแบบอย่างไร้ไอเดีย แต่ก็มีบริษัทหนึ่งที่มุ่งมั่นทำหนังแนว Mockbuster รวมถึงหนังเกรด B แบบออริจินัลด้วย ก็คือบริษัท ‘The Asylum’ ที่เปิดตัวในปี 1997 และเดิมทีก็เป็นผู้จัดจำหน่ายหนังขนาดเล็ก ก่อนจะถอยมาทำหนังสเกลเล็กๆ เอง จนกระทั่งในช่วงปี 2005 ซึ่งเป็นจังหวะที่บริษัทกำลังย่ำแย่ พวกเขาได้รับข้อเสนอจาก Block Buster ร้านเช่าหนังรายใหญ่ที่เสนอโจทย์ว่า “เวลาหนังดังๆ เข้าฉายโรงจะมีกลุ่มคนที่ขี้เกียจไปดูในโรงแล้วหาอะไรคล้ายๆ กันไปดูแทน” และ The Asylum ก็ได้กำไรและเดินธุรกิจสร้าง Mockbuster อย่างมั่นคงนับตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งทำเงินได้ดีระดับที่พวกเขาสามารถสร้างหนังเกรด B เรื่องอื่นๆ รวมถึงหนังเชิงศาสนาตามความเชื่อของผู้บริหาร แถมยังได้รับความนิยมจนช่องเคเบิล Syfy รวมถึงบริการออนไลน์สตรีมมิงอื่นๆ เอาหนังของพวกเขาไปฉายเรื่อยๆ แล้วมันก็มีเหตุผลด้วยว่าทำไมพวกเขายังขายดี ซึ่งเราจะพูดถึงต่อไป
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงพอจะเห็นภาพแล้วว่า หนังเกรด B แม้ว่าจะไม่เฉิดฉายบนพรมแดงหรือบนท้องฟ้า แต่หนังประเภทดังกล่าวก็ดูจะไม่มีทางตายจากโลกนี้ไปได้เช่นกัน และเราก็มีตัวอย่างหนังเกรด B อยู่กลุ่มหนึ่งทีจะพูดถึงเป็นการต่อไป
The Monster of Piedras Blancas (1959)
หนังเรื่องแรกของฝั่งฮอลลีวูดที่สร้างนิยามให้กับคำว่า Mockbuster โดย ‘ได้แรงบันดาลใจ’ มาจากหนัง Creature from the Black Lagoon แถมยังเอา Jack Kevan ผู้ออกแบบสัตว์ประหลาดในหนังเกรด A มาออกแบบชุดและอำนวยการสร้างให้หนังเกรด B ด้วย (เอาให้เป๊ะว่างั้น) แม้ตัวหนังจะไม่ได้รับความนิยมชมชอบจากนักวิจารณ์เท่าไหร่ ส่วนหนึ่งมาจากการที่สัตว์ประหลาดมาโผล่แค่ช่วงท้ายๆ ของเรื่อง ซึ่งสะท้อนภาพลักษณ์ความทุนต่ำของหนังให้ชัดขึ้น แต่ก็มีแฟนๆ ที่สนุกกับ ‘ความเกรด B’ จนทำให้มีการจัดทำแผ่น DVD และ Blu-ray ออกมาขายในปี 2016 ในฐานะหนังคลาสสิก
Piranha (1978)
หลังจาก Jaws สร้างกระแสให้สิ่งมีชีวิตจากพื้นสมุทรดูน่ากลัวได้ ก็มีหนังเกรด B หลายเรื่องที่ทำตามรอยกัน หนึ่งในนั้นก็คือ Piranha เรื่องนี้ ที่ปรับเปลี่ยนปลานักล่ามาเป็นปลาขนาดเล็ก แล้วลดความยุ่งยากของพล็อตเรื่องที่เข้มข้นมาเป็นพล็อตเข้าใจง่าย เสริมเติมด้วยฉากตายโหดขึ้น สาวๆ โชว์เนื้อหนังมากขึ้น และอาจจะเป็นเพราะเนื้อหาที่เข้าใจง่ายไม่ต้องตีความมาก ทำให้หนังที่มีทุนสร้างไม่ถึงหนึ่งล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ กวาดรายได้ในอเมริกาไปได้มากกว่าสิบหกล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ พลิกให้หนังเกรด B เรื่องนี้กลายเป็นหนังชุดที่ถูกสร้างใหม่อีกถึง 4 เรื่อง
เด็ดที่สุดก็คงจะเป็นการที่ Steven Spielberg ผู้กำกับของ Jaws เอ่ยปากชื่นชม Piranha ว่าเป็นหนังที่ตามรอย Jaws ที่ดีที่สุดด้วยนี่แหละ
Mac and Me (1988)
Steven Spielberg ส่ง E.T. ที่ก่อกระแสอยากมีเพื่อนเป็นมนุษย์ต่างดาวไปทั่ว ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนสร้างหนัง Mockbuster อีกครั้ง ในการทำหนังตามรอย ซึ่งก็มีออกมาหลายต่อหลายเรื่อง Mac and Me เป็นหนึ่งในเกรด B ที่จริงๆ งบประมาณก็ไม่น้อย (ราว 13 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) แต่ด้วยพล็อตที่ลอก E.T. มาเกือบจะเป๊ะๆ ชื่อเรื่องที่ขโมยชื่อเดิมของ E.T. มาเปลี่ยน (เดิมเคยตั้งไว้เป็น E.T. and Me) ฉากที่อยู่ๆ ก็ชวนงงว่า ‘ถ่ายไปทำไม’ อย่างการผลักตุ๊กตาเด็กบนรถเข็นให้ร่วงลงไปในน้ำ และการที่หนังเต็มไปด้วยสินค้าของ McDonald ที่เป็นผู้ออกทุนหลัก ผลก็คือภาพยนตร์ถูกแปะป้ายเป็น ‘หนังที่ห่วยแตกที่สุด’ อยู่หลายปี และคว้ารางวัลแรสซีไปหลายตัว
The Blair Witch Project (1999)
หนังเกรด B ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังห่วยเสมอไป แต่อาจจะเป็นหนังที่ไม่มีทุนมากพอเลยต้องใช้วิธีการถ่ายแบบแปลกใหม่เพื่อสร้างหนังที่ยากจะถ่ายทำขึ้นได้ อย่างกรณีของ The Blair Witch Project นักศึกษาสายภาพยนตร์ได้เอาไอเดียที่ว่าการถ่ายสารคดีปลอม หรือ Mockumentary จะทำให้พล็อตหนังผีน่ากลัวกว่าปกติ
จากนั้นพวกเขาก็แต่งเรื่องราว หานักแสดงที่ถนัดการแสดงแบบด้นบทสดๆ อุปกรณ์ก็เน้นยืมมากกว่าซื้อมาใช้งาน จากนั้นพวกเขาก็ได้นักแสดงสามคนมาถ่ายทำสารคดีเรื่องเล่าของแม่มดแบลร์ และมีการสร้างสถานการณ์ไม่ให้ตัวนักแสดงรู้ตัวว่าจะเจออะไรในบางฉาก และบางฉากที่ดูสมจริงสมจังก็มาจากการด้นสดปนกับข้อผิดพลาดที่กลายเป็นการสร้างเอกลักษณ์ของตัวหนัง
เมื่อหนังทำเสร็จแล้ว ตัวหนังก็ได้ฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์ และได้รับความนิยมก่อนจะมีการซื้อสิทธิ์ไปฉายในวงกว้าง และมีการสร้างการตลาดแบบไวรัล โดยปล่อยให้คนเชื่อว่าหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง (นักแสดงทั้งสามคนในช่วงนั้นก็ทำตัว low profile ที่สุดในชีวิต) จนอาจจะบอกได้ว่าเป็นไวรัลที่ฮิตที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ก็พอได้
สุดท้ายภาพยนตร์เรื่องนี้กวาดรายได้จากทั่วโลกไปราวๆ 250 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้างแรกสุดแค่ราวๆ 60,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
Transmorphers (2007)
หนึ่งในภาพยนตร์ของทาง The Asylum ที่เราเล่าไปแล้วว่า ตอนนี้เป็นบริษัทผู้ชำนาญการในการสร้างหนัง Mockbuster และหนังเกรด B แบบอื่นๆ ตัวเรื่อง Transmorphers เกี่ยวกับมนุษย์ที่ต้องลงไปอยู่ใต้ดินเพราะโลกโดนหุ่นยนต์ Z-Bot รุกราน และพวกมันมีหุ่นหน่วยหนึ่งชื่อว่า ‘ทรานส์มอร์ฟเฟอร์’ ที่สามารถสแกนสมองมนุษย์จนสามารถจับแผนการของกองทัพมนุษย์ได้
เราพูดถึงหนังเรื่องนี้เพราะน่าจะเป็นหนัง Mockbuster เรื่องแรกๆ ที่ชาวไทยได้เห็นโฆษณาของหนังลงอยู่ในเล่มเดียวกันกับที่มีโฆษณาของหนัง Transformers ใบใหญ่ๆ ที่อยู่ในหน้าใกล้ๆ กันได้
Mega Piranha (2010)
เรื่องนี้ก็เป็นผลงานของ The Asylum เช่นกัน ที่นำมาให้รู้จักก็เพราะ เรื่องนี้เป็นภาวะหนัง Mockbuster-Ception เป็นเหมือนการเกาะกระแสจากหนังที่ทำออกมาแบบ Mockbuster เนื่องจากหนังพยายามเกาะกระแสของ Piranha 3D ที่เดิมทีแล้วเป็นหนัง Mockbuster ของ Jaws อีกทีหนึ่ง
Sharknado (2013)
หนังออริจินัลของ The Asylum เอง ตัวเรื่องเกี่ยวข้องกับฝูงฉลามผู้หิวโหยนับร้องได้ถูกพายุทอร์นาโดหอบขึ้นไปจนกลายเป็นพายุที่อันตรายที่สุด และไล่กัดกินทุกอย่างที่ขวางทางมัน ทางเดียวที่จะรอดตายจากพวกมันได้คือต้องระเบิดใจกลางทอร์นาโดแสนวิปลาสนี้ให้สิ้น
แค่ชื่อเรื่องก็แสดงความเพี้ยนของเรื่องออกมาเต็มที่ หนังจริงก็ยิ่งเพี้ยนหนัก ไหนจะมีฉลามโฉบมางับคน มีกลุ่มคนบ้าจี้ขับรถฝ่าพายุที่เต็มไปด้วยฉลาม มีคนที่กระโดดใส่ตัวฉลามเพื่อคว้านท้องมันจากภายใน ความหลุดโลกแบบนี้ทำให้หนังมี meme มากมาย ทำให้รอบฉายหลังๆ มีคนดูเพิ่มมากขึ้นและสร้างกระแสแฟนคลับหนังคัลต์ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนหนังมีบุญได้ทำภาคต่ออีกหลายภาค
ถ้าถามว่า ทำไม The Asylum ถึงไม่พัฒนาเงินทุนให้มากขึ้นแล้วทำหนังคัลต์ๆ ฉายออกโรงแข่งกันไปเลย คำตอบก็คือพวกเขารู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ เพราะพวกเขาต้องการประหยัดทุนสร้างสุดๆ ถึงจุดที่ว่าถ้าเอาแค่ฉายลงช่อง Syfy ที่เป็นดีลประจำของพวกเขาก็พอแล้ว ตัวนักแสดงกับผู้กำกับหนังก็เหมือนเป็นการโทรหาเพื่อนๆ ในวงการที่พอเล่นหนังได้ให้มาช่วยทำงานช่วง 2-4 สัปดาห์ แล้วก็ปิดจ็อบไป และทาง The Asylum เคยให้สัมภาษณ์ในระยะหนึ่งว่า การทำหนังให้เกรด B จ๋าๆ แบบนี้ ไม่เคยทำหนังขาดทุนเลยสักเรื่อง แนวทางชัดเจนแบบนี้ก็ยอมให้เขาเกรด B ต่อไปเนอะ
The Legend of Sarila / Frozen Land (2013)
จะบอกว่าเป็นหนังเกรด B เต็มปากก็คงไม่ใช่นัก เพราะถือว่าใช้ทุนพอสมตัว เพื่อเล่าเรื่องราวของชาวอินูอิต (ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตหนาว อย่างเช่นทางตอนเหนือของประเทศแคนาดา) แต่ตัวหนังทำตลาดในอเมริกาแบบ Mockbuster หนักๆ ด้วยการใช้ชื่อหนังว่า ‘Frozen Land’ เพราะตัวละครเอกเป็นเด็กหญิงที่อยู่ในดินแดนน้ำแข็งคล้ายๆ กับ Frozen พอดี
ต้องเท้าความกันก่อนว่าทาง Disney เคยพยายามดำเนินคดีค่ายหนังที่ทำงาน Mockbuster มาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างในปี 1993 ที่พวกเขาทำการฟ้องร้อง GoodTimes Entertainment จากการออกวิดีโอเทปการ์ตูนหลายเรื่องอย่าง The Little Mermaid, Aladdin หรือ Beauty And The Beast แต่ตอนนั้นทาง Disney เป็นฝ่ายแพ้คดีไป เพราะเรื่องที่ว่ามานั้นเป็นเนื้อหาที่ถือว่าเป็นสาธาณสมบัติไปแล้ว และเมื่อตัว Mockbuster ไม่ได้ลอกพล็อตอย่างเป๊ะๆ จึงไม่สามารถเอาผิดได้ และทำให้เราได้เห็นหนัง Mockbuster จากนิยายดังๆ เข้าฉายชนกับหนังของค่ายใหญ่ๆ ออกมา อย่าง War Of The World หรือ I Am Omega/I Am Legend
ส่วนกรณีของ Frozen Land ทาง Disney เป็นฝ่ายชนะคดี เพราะเนื้อหาไม่อิงตำนานใดเต็มๆ แถมทางหนัง Frozen Land ตั้งใจเอาโลโก้ที่ทำให้คนดูเข้าใจผิดว่าเป็นผลงานของทาง Disney ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่า การเกาะกระแสค่ายใหญ่ในสมัยนี้ต้องมีการพลิกแพลงกันสักหน่อยถึงจะไม่โดนฟ้องร้อง
ตัวอย่างที่เราหยิบยกมาเป็นส่วนของ หนังเกรด B กับ Mockbuster ที่หลายคนน่าจะคุ้นตากับหนังที่ส่งผลต่อวงการภาพยนตร์ จริงๆ ยังมีหนังเกรด B หรือ Mockbuster อีกจำนวนมาก จนถึงขั้นที่มีกลุ่มคนดูที่นิยมหนังแนวนี้รวมตัวกันเพื่อแนะนำหนังเกรด B ที่มีความโดดเด่นบางอย่างเหนือชั้นกว่าหนังทั่วไป (โดยส่วนมากมักเป็นไปในแนวทางหลุดโลก) และหนังไทยเองก็มีหนังที่ตั้งใจให้เกรด B หรือ Mockbuster ลงแผ่นอยู่บ้าง
อีกประการหนึ่ง ‘หนังเกรด A’ หลายๆ เรื่องที่เราเห็นกันนี้ บางทีก็เดินทางมาจากการทำแบบหนังเกรด B เช่นกัน อย่าง Jaws ภาคแรกที่จริงๆ ทุนสร้างไม่มากพอ เทคโนโลยีก็ไม่ทันสมัย จึงอาศัยการถ่ายหลอกในหลายๆ ฉาก หรือ The Evil Dead ภาคดั้งเดิมก็งบน้อยนิดจนมีการใช้อุปกรณ์หลอกตาอยู่มาก แต่ก็เป็นฝึมือของทีมสร้างหนังที่สามารถสร้างโลกที่น่าเชื่อถือ จนทำให้วัตถุดิบที่เหมือนจะเกรด B กลายเป็นระดับ A ขึ้นมาได้
หนังเกรด B จึงไม่ตายง่ายๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าบางทีเราก็ต้องการความบันเทิงแบบไร้เหตุผลให้กับชีวิตบ้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Box Office Mojo
- Fandango
- Cartoon Brew 1, 2
- Youtube Channel – Filmmaker IQ
- Youtube Channel – Good Bad Ficks