หากไม่อยากโหนรถเมล์ รถตู้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่รวดเร็ว ปาดซ้าย ปาดขวาบ้าง เพิ่มเลนส์บ้าง รับคนเกินที่กฎหมายกำหนดบ้าง เป็นความเสี่ยงที่คนขึ้นรถตู้ทุกคนต้องยอมรับ โดยรถตู้ถือเป็นพาหนะโดยสารสาธารณะที่เกิดอุบัติเหตุมากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งเราก็เคยทำ survival guide ในการขึ้นรถตู้มาแล้ว
และนี่ก็เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่รถตู้กว่า 1,800 คัน ที่มีอายุเกิน 10 ปี ต้องหยุดวิ่งตามกำหนดของกรมการขนส่งทางบกเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ที่ทำให้ใครหลายคนต้องปรับเปลี่ยนเส้นทาง หรือวางแผนการเดินทางใหม่ เพื่อไปถึงที่หายได้ทันเวลา เพราะถึงแม้จะมีรถมาวิ่งเสริม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่ดี
The MATTER ชวนคนขึ้นรถตู้โดยสาร มาแชร์กันว่าประสบการณ์ขึ้นรถตู้ของพวกเขาเป็นอย่างไร หรือมีเหตุการณ์ไหนที่พีคจำขึ้นใจบ้าง ซึ่งคำตอบที่ได้ก็มีตั้งแต่การนั่งดมขี้ไก่ไปจนถึงนั่งเบาะเสริมไม่มีพนักพิงเข้ากรุงเทพเป็นเวลา 3 ชั่วโมง
ทัดดาว จันทร์บาง
อาชีพ : นักศึกษา
รถตู้ที่นั่งเอาไก่ชนขึ้นรถไปด้วย ซึ่งเรานั่งเบาะข้างหลังสุด ไก่อยู่หลังรถ ทำให้เราได้กลิ่นไก่เเละขี้ไก่ชัดมาก เหม็นมากจนอยากจะอาเจียนเป็นการเดินทางที่ทรมานมากจริงๆ
ณัฐภัทร ประพันธ์
อาชีพ : Graphic Designer
ด้วยความที่มหาลัยอยู่ตะเข็บกรุงเทพฯ เราก็เลยได้ขึ้นรถตู้เข้าออกเมืองกับม. บ่อยๆ ตลอดสี่ปีที่เรียนอยู่ เจอมาหมดแล้วทุกรูปแบบเบสิกที่ผู้โดยสารรถตู้จะต้องเจอ แต่โมเมนต์ที่ตื่นเต้นที่สุดสำหรับเราก็คือตอนจะลงจากรถเนี่ยแหละ จะเขินมากในจังหวะที่ต้องพูด “จอดข้างหน้าด้วยค่า” ยิ่งวันไหนโชคไม่ดีได้นั่งหลังสุดก็จะแพนิกมากหน่อย กังวลว่าคนขับจะได้ยินเสียงเรามั้ย ต้องเปล่งเสียงดังเลเวลไหน พอพูดไปแล้วสายตาต้องจับจ้องที่ทางข้างหน้า ถ้าเปิดไฟชิดซ้ายคือมิชชั่นคอมพลีตละ เคยมีอยู่ครั้งนึงที่เราบอกให้เค้าจอดแล้วเสียงดันหลุดเพี้ยน ก็คืออายมาก แต่ต้องทำการแสดงเป็นสาวมั่นลงรถปิดประตูอย่างเฟี๊ยซๆ
ช่อฉัตร ชูชาติ
เวลากลับบ้านจะใช้บริการรถตู้เป็นประจำเพื่อไปสถานีรถไฟฟ้า ค่าโดยสารถ้าขึ้นจากมหา’ลัยคือ 10 บาทแต่ถ้าดึกแล้วราคาจะเพิ่มขึ้นก็ว่ากันไป แต่มีครั้งหนึ่งเราใช้บริการช่วงบ่าย พอขึ้นรถเราเตรียมค่าโดยสารไว้พอดีสิบบาท ปรากฏว่านั่งๆ ไปสายตาดันเหลือบไปเห็นกระดาษเอสี่ยับๆ เหมือนไม่ตั้งใจแปะ มีข้อความว่า “ขึ้นจากม.(ที่เราเรียน) 15 บาท” งงมากว่าทำไมบางคัน 10 บาท บางคัน 15 บาท แล้วใครกำหนดราคา อยากได้คำชี้แจงมากค่ะ จะได้จ่ายค่าโดยสารแบบไม่มีข้อกังขาในใจ
อภิญญา จันทร์เมฆา
อาชีพ : AE
เคยนั่งบ่อยมากตอนเรียนมหาวิยาลัยค่ะ มีครั้งนึงเคยขึ้นไปแล้ว เป็นคนแรก คนขับถามหลายอย่างมาก ทั้ง ไปไหน และอะไรฟังไม่ค่อยได้ยิน ก็ตอบ แล้วก็ค่ะๆๆๆ อะไรนะคะไปหลายรอบมาก สรุปเขาคุยโทรศัพท์ค่า ก็อยากให้ขับขี่ปลอดภัย ไม่คุยโทรศัพท์ตอนขับรถค่า
นับพัน
สมัยมัธยมต้องใช้รถตู้เข้ากรุงเทพทุกอาทิตย์ เพราะต้องมาเรียนพิเศษจากต่างจังหวัด บางคันพูดตรงๆ ว่าขับเร็วจนต้องภาวนาว่าอย่าตายนะ ยิ่งรอบเช้ามืดตีห้า ถนนโล่งๆ รู้สึกเหมือนตัวลอยๆ เลยทีเดียว แต่เมื่อไม่กี่ปีก่อน มีการเข้มงวดกับรถตู้มากขึ้น เราก็รู้สึกถึงการขับขี่ที่ปลอดภัยขึ้นพอสมควร
ทรรศนันทน์ คูกัญจน์อมร
อาชีพ : พนักงานบริษัท
รถตู้ที่นั่งบ่อยๆ คือกรุงเทพ-เพชรบุรี มีสามวิน จำได้ว่ามีวินนึงเบาะนั่งไม่ครบ แต่ตอนนั้นดึกแล้วต้องรีบไปจริงๆ เลยต้องนั่งกับพื้นตรงที่หลังสุดของรถ ที่เป็นพื้นแบบยกสูง ไม่มีเบาะ ไม่มีที่พิง แล้วคิดราคาเดียวกันอีก โคตรไม่ได้ คือเวลาจากกรุงเทพ เพชรบุรีประมาน 3 ชั่วโมง ก็นั่งแบบนั้นอะ ห้อยขาไม่ได้ นั่งเบียดกันสามคน แต่ยังดีที่เป็นเพื่อนกันหมด เหมือนลักลอบขนคนเลย