หัวลำโพงนอกจากจะเป็น hub ของนักเดินทางแล้ว ยังเป็น hub ของผู้หลงใหลในการถ่ายภาพ
The MATTER ชวนคุยกับ Rammy Narula เจ้าของผลงานในนิทรรศการภาพถ่าย ‘Platform 10’ ที่ S Galleryโรงแรม Sofitel Sukhumvit ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ Rammy ถ่ายทอดภาพหัวลำโพงออกมาได้อย่างน่าสนใจ ทั้งในแง่ของแสงเงา องค์ประกอบบนชาชาลา 10 ในสถานีรถไฟหัวลำโพงที่พวกเราคุ้นเคย กลับดูแปลกตาอย่างน่าประหลาดเมื่อมันปรากฏอยู่บนภาพถ่ายในนิทรรศการนี้
ทำไมเขาจึงเลือกหัวลำโพง? อะไรคือ Platform 10?
ให้ Rammy ตอบ
The MATTER : อะไรคือเหตุผลหรือแรงจูงใจในการเลือกถ่ายภาพที่สถานีรถไฟหัวลำโพง
เล่าก่อนว่า ผมเริ่มไปถ่ายภาพที่หัวลำโพงตั้งแต่ปี 2012 เพราะได้ยินว่าหัวลำโพงเป็นที่ที่ถ่ายรูปสวย ช่วงนั้นผมไม่เคยถ่ายรูปเลย ก็เลยลองไปหัดถ่ายดู พอไปถึงที่หัวลำโพงผมก็เหมือนไปเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น เพราะผมใช้ชีวิตอยู่แต่ในเมืองมาโดยตลอด พอผมเห็นหัวลำโพงครั้งแรกแล้วก็รู้สึกชอบการดีไซน์ของมัน ผมรู้สึกว่ามันแตกต่างจากในเมืองที่ผมอยู่เลย ผมอยู่แถวอโศกซึ่งมันเป็นตึกใหม่ๆ ไปหมด ในขณะที่หัวลำโพงยังเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้วก็ไม่มีการไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรมาก นับตั้งแต่นั้นมาผมก็ถ่ายหัวลำโพงมาหลายปี ช่วงแรกๆ ก็ถ่ายเป็นขาวดำ ฝึกถ่ายคน ถ่ายแสง
จนวันนึงเมื่อปี 2015 ไปเจอชานชาลาที่ 10 ซึ่งผมไม่เคยไปเลย แล้วก็อยู่บนชานชาลานั้นตั้งแต่ที่มีรถไฟมาจอด ผมจึงได้รูปในสไตล์แบบที่เห็นในซีรีส์นี้ ก็รู้สึกว่ามันมีอะไรที่น่าสนใจดี เช่น กริยาของผู้คน แสงเงา เป็นต้น แล้วก็ไปค้นพบว่าชานชาลาที่ 10 รถไฟจะจอดแค่ 20 นาที นับแต่นั้นมาผมก็เลือกแต่ชานชาลานี้มาโดยตลอด ไปทุกวันเลย แต่บางวันเหนื่อยมากก็ไม่ไป ซึ่งระหว่าง 20 นาทีจะมีคนขึ้นรถไฟ คนทำความสะอาดรถไฟ คนขายของ ทุกอย่างจะเกิดขึ้นภายใน 20 นาที ตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่ามันจะต้องเป็นภาพซีรีส์นะ คิดว่าอยากถ่ายรูปเดี่ยวก่อน แต่พอไปทุกๆ วันมันก็ได้มาเยอะ ก็เลยคิดว่าทำเป็นซีรีส์ดีกว่า
แต่จริงๆ คือ แรงบันดาลใจคงเริ่มมาจากความสงสัยกับสถานที่นี้มากกว่า จนมันเริ่มกลายเป็นความท้าทายซึ่งผมต้องถ่ายที่นี่อยู่จุดเดียว ณ เวลาเดิมๆ และมีเวลาแค่ 20 นาที
The MATTER : ทำไมไม่เป็นที่อื่น เช่น สถานีรถบัสบขส. หรือดอนเมือง
ผมพยายามไปที่ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ตัวเอง เวลาผมเห็นอะไรที่เห็นอยู่ทุกวันก็มักจะไม่เห็นความพิเศษของมัน เช่น แถวบ้านตัวเอง จริงๆ แล้วมันอาจสามารถถ่ายได้นะ แม้ผมจะบ่นแค่ไหนก็ตามว่าแถวบ้านผมน่าเบื่อ แต่รูปสตรีตที่ผมชอบส่วนใหญ่ก็ถ่ายแต่แถวบ้านหมดเลย เพราะมันเป็นจุดที่ผมรู้เยอะที่สุด ผมรู้ว่าใครจะทำอะไรตอนไหน แสงแดดขึ้นกี่โมง มากี่โมง ผมเห็นอยู่ทุกวัน ผมสามารถคาดเดาได้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าผมคุ้นเคย
แต่หัวลำโพง แม้ว่าผมถ่ายไปสักพักมันจะกลายเป็นสถานที่ที่ผมคุ้นเคยด้วยเหมือนกัน แต่มันมีอะไรใหม่ให้ผมเรื่อยๆ อย่างวันแรกที่ไปถ่ายขาวดำสักพักก็สังเกตว่าหัวลำโพงแสงสวยนะ ทำไมรูปผมไม่มีแสงเท่าไหร่เลย ก็เริ่มใส่แสงเข้าไปในรูป แต่จะแตกต่างกันที่ mood ผมก็เลยคิดว่าหัวลำโพงเป็นสถานที่ที่รู้สึกว่ามันใหม่อยู่ตลอดเวลา เช่น แสง สีของรถไฟ เหมือนหลายๆ อย่างเริ่มเข้ามาในรูป จนไปจบที่ชานชาลา 10 เหมือนว่าทุกๆ อย่างที่ผมหามันมาอยู่ในที่ที่เดียว
The MATTER : ขั้นตอนการทำงานกับการเลือกแบบในการถ่ายทำ เป็นการเลือกด้วยความบังเอิญและจังหวะเวลาหรือเปล่า
เรื่องแสงนี่ผมคาดเดานะ ผมสังเกตว่ามันขึ้นลงยังไง เงาเป็นยังไง เพราะแสงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าแสงไม่สวยผมจะรู้สึกไม่อยากถ่าย เช่น พระอาทิตย์ขึ้นชานชาลา 1 ไปตกที่ชานชาลา 12 ซึ่งจะแสงดีทุกเวลาเลย ผมเริ่มดูที่แสงก่อน ต่อมาก็ดูคนและท่าทางของเขา ซึ่งถ้าดูจากในรูปซีรีส์ก็จะมีรูปควันบุหรี่ ผมก็เริ่มดูว่าควันมันจะไปทางไหน ส่วนตัวผมชอบดูหนังมาก สมมติว่าเราจะสร้างหนังขึ้นมาเราก็ต้องเซ็ตซีน เซ็ตแสงอะไรก่อน แล้วค่อยเอาคนมาใส่เพราะฉะนั้นผมก็เลือกแสงที่จะลง แล้วก็ดูว่าคนจะเข้ามาเมื่อไหร่แล้วค่อยถ่ายตามจังหวะที่คนเขาเข้ามา แต่ทุกอย่างไม่มีการจัดฉากกับคนถูกถ่ายเลย ผมพยายามถ่ายให้เหมือนผมดูหนังอยู่ ซึ่งไม่รู้ว่าทำสำเร็จไหม ตรงนี้ต้องถามคนดู
The MATTER : ตั้งแต่ต้นจนจบใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะมาเป็นซีรีส์ชุดนี้
ผมเริ่มถ่ายหัวลำโพงมาตั้งแต่ปี 2012 แต่ซีรีส์ Platform 10 ถ่ายประมาณ 6 เดือน
The MATTER : พอจำตัวเลขได้ไหมว่าถ่ายมากี่รูป แล้วที่เลือกมาใช้จริงๆ กี่รูป
ส่วนที่ถ่ายทั้งหมดมีประมาณ 12,000 รูป ใช้ในหนังสือมี 29 รูป ใน exhibition มี 22 รูป ซึ่งสมัยนี้กล้องมันเป็นดิจิตอล บางคนถ่ายกันวันละ 1,000 รูป 10 วันก็ 10,000 รูปแล้ว เพราะฉะนั้นผมก็ไม่ได้อยากเอา 12,000 รูปมาเป็นเกณฑ์ว่าถ่ายมาเยอะ คือมันก็ไม่เชิงหรอก คนที่ตั้งใจถ่ายมากกว่านี้ก็อาจจะถ่ายได้เยอะกว่านี้ แต่ส่วนตัวผมว่ามันเยอะ ผมมีเวลาถ่ายแค่วันละ 20 นาทีเอง บางวันก็เละ ก็มั่วเหมือนกัน แล้วยิ่งช่วงแรกๆ จะมั่วเยอะ กว่าจะลองจนรู้ว่าจะใช้เลนส์อะไร ใช้กล้องอะไร ก็ 2- 3 อาทิตย์แล้ว
The MATTER : ภาพที่ชอบที่สุด ที่คิดว่าเป็นตัวแทนของซีรีส์ชุดนี้คือภาพไหน
ภาพผู้ชายมองผู้หญิงที่หันหลังอยู่แล้วดูเหมือนมีฝนตก คือมันไม่ได้เป็นตัวแทนนะ แต่เป็นความชอบส่วนตัว ตั้งแต่ผมถ่ายมา เหมือนผมดูรูปตัวเองเยอะ แรกๆ ผมชอบรูปสูบบุหรี่ หลังๆ ผมชอบรูปคนโบกธง มีช่วงนึงชอบรูปผู้หญิงที่มองมาจากในรถไฟ แล้วตอนนี้ก็มาชอบรูปนี้ ที่ชอบเพราะรู้สึกมันมีดราม่าของผู้หญิงกับผู้ชาย คือสองคนนี้เขาก็ไม่ได้รู้จักกันนะ จำได้เลยว่าตอนที่ผมถ่ายรูปเขาแค่หลบน้ำ แต่พอถ่ายออกมามันกลายเป็นว่ามีความดราม่าเกิดขึ้น จริงๆ ที่เขาทำแบบนั้น มันเป็นเพราะว่าหลบน้ำอยู่ ไม่ได้คุยอะไรกันหรอก เหมือนผมไปสร้างเรื่อง ไปทำมิวสิควิดิโอให้เขาโดยใช้มุมมองของผม ใช้น้ำที่มีตรงนั้น
The MATTER : ในการทำซีรีส์ชุดนี้มีปัญหาอะไรบ้าง แล้วมีวิธีแก้อย่างไร
เรื่องแรกเลยคือรูปเยอะมาก ถ่ายเยอะจนดูเองไม่ไหวเลยให้แฟนดู ตอนแรกผมให้เขาช่วย edit แล้วแฟนก็บอกว่ารูปมันดูซ้ำกันไปหมด เขาดูไม่ไหวแล้ว วิธีแก้ของผมคือ ไปหาคนที่เป็น Editor ที่เขาเคย Edit ซีรีส์มาแล้ว ให้เขามาช่วยดู คือหาตาที่สามมาดูให้ ผมใช้ฝรั่งที่เขาไม่เคยเห็นหัวลำโพงเลย เพราะเขาจะได้ไม่มีความคิดที่ว่าจริงๆ แล้วหัวลำโพงมันควรจะเป็นยังไง ผมให้เขาดูงานแบบสดๆ เอาเขามาช่วยเป็นคนตัดสินว่ารูปไหนดีหรือไม่ดี รูปไหนเหมาะกับการเอามาทำซีรีส์ที่ดูแล้วมันไปด้วยกันได้
อีกปัญหานึงที่หนักเลย คือรถไฟหัวลำโพงไม่เคยตรงเวลา บางทีผมไปนั่งรอ 40 นาที – 1 ชั่วโมง วิธีแก้คือเอาหนังสือไปอ่าน ผมก็นั่งรอรถไฟอยู่แถวนั้น พอรถไฟมาก็ไปถ่ายรูป อีกเรื่องที่เจอคือเรื่องของอากาศ เรื่องของแดด บางวันมันแรงมากก็ถ่ายไม่ได้ ต้องดูช่วงวันที่แดดมันซอฟท์ๆ หน่อย ถ้าแดดมันจ้ามาก Highlight ก็จะเยอะ บางที Highlight เยอะ รูปมันก็ปรับไม่ได้ ก็จะโดนปัญหานั้นไป ตอนนี้ดีใจมากเลย หัวลำโพงใส่หลังคาผ้าใบตรงส่วนที่เป็นเอาต์ดอร์แล้ว แสงมันจะไม่เหมือนเดิมแล้ว มันจะเป็นฟิลเตอร์สว่างๆ เท่ากันหมด แต่ก็มีเรื่องที่เสียดายคือหัวลำโพงใส่หลังคาผ้าใบตรงส่วนที่เป็นรางรถไฟด้านนอกด้วย แสงมันจะไม่เหมือนเดิม แล้วก็กลับไปถ่ายภาค 2 ไม่ได้ (หัวเราะ)
The MATTER : หลังจากถ่ายเสร็จแล้วคิดว่ามันส่งผลอะไรกับเราบ้าง กระตุ้นให้เราออกเดินทางไปในเส้นทางใหม่ๆ รึเปล่า
ส่วนใหญ่ผมถ่ายรูปเพื่อหาตัวเอง ตอนผมเริ่มจับกล้อง ผมจับเพราะต้องการเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนทัศนคติของตัวเอง ไม่ได้ถ่ายลักษณะ documentary แต่ถ่ายให้เห็นว่านี่คือชีวิตจริงของคน ผมพยายามหามุมมองของตัวเอง ซึ่งหลังจากดูรูปก็รู้สึกว่าได้เจออะไรบางอย่างที่ผมหา เออดีใจนะที่ได้เจอ เหมือนเป็นจุดพักให้ผม ถ่ายรูปมา 3– 4 ปี ได้มาเจออะไรแบบนี้ ก็รู้สึกว่ามันเป็นที่พัก ทำให้ผมไปต่อได้ สามารถเอาประสบการณ์ตรงนี้ไปใช้ต่อได้ คือตอนนี้ผมเริ่มถ่ายที่ใหม่แล้ว ซีรีส์ ‘สีไทย’ ส่วนใหญ่ภาพจะมาจากคลองเตย ก็ยังรู้สึกมั่วอยู่นะ เหมือนตอนไปถ่ายที่หัวลำโพงแรกๆ มันอาจจะยังไม่ใช่ป่าววะ แต่เพราะเคยไปทำที่หัวลำโพงมาแล้ว เลยรู้ว่ามันอาจใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเจอสิ่งที่ผมหา เลยรู้สึกว่ามีกำลังใจที่จะทำต่อ ไม่เคว้งคว้าง
ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมเข้าใจตัวเองว่าไม่ต้องรีบร้อน ถ่ายไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันนึงก็จะเจออะไรที่ผมหาเอง อาจจะมาวันนี้ อาจจะมาในอีก 3 ปี 5 ปี แต่ถ้าผมทำไปเรื่อยๆ อดทนกับมันไป วันนึงมันก็อาจจะออกผลให้ผมเห็น
Interview by Asadawut Boonlitsak
ซีรีส์ชุด platform 10 จัดขึ้นที่ S Gallery โรงแรม Sofitel Sukhumvit ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ และจะไปจัดต่อที่ Art Mai Gallery เชียงใหม่ วันที่ 24 มีนาคม หรือลองเข้าไปดูผลงานของเขาก่อนได้ที่นี่
ซีรีส์ชุด platform 10 ยังมีในรูปแบบโฟโต้บุ๊กด้วยเช่นกัน สนใจไปที่ www.facebook.com/RammyNarulaPhotography