‘กองบรรณาธิการการ์ตูน’ เป็นงานประเภทหนึ่งที่หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อมาเป็นระยะๆ แต่เราอาจจะได้ยินเรื่องราวการทำงานสายอาชีพนี้ผ่านสื่อประเภทต่างๆ จากฝั่งญี่ปุ่นหรืออเมริกามากกว่าของฝั่งบ้านเราเอง ด้วยเหตุที่ว่าอุตสาหกรรมการ์ตูนของสองประเทศนั้นมีจำนวนผู้เสพมากกว่า ทำให้มีคนทำงานหลายยุคออกมาเล่าเรื่องราวที่มีอยู่มากมายหลากหลายมุมไม่เหมือนกับในไทย
แต่เปล่านะครับ เราไม่ได้บอกว่า กองบรรณาธิการ์ตูนในประเทศไทยไม่เคยออกมาเล่าเรื่องราวใดๆ เพียงแค่ในช่วงปีหลังๆ มานี้ เรามักจะเห็นกองบรรณาธิการการ์ตูนมาเสวนากันเรื่องการเปลี่ยนแปลงของวงการสิ่งพิมพ์มากกว่า หรือถ้าออกมาเสวนาเรื่องการทำงานก็มักจะเป็นงานรวมตัวบรรณาธิการหนังสือหลายประเภท เลยไม่มีเวลาเล่าเกี่ยวกับการทำงานในวงการของตัวเองมากนัก
จนกระทั่งเห็นงานเสวนา ‘บรรณาธิการมังงะ—ผู้ตีพิมพ์ฝันของนักเขียนสู่หน้าแผง’ เลยมองว่าน่าสนใจดีเพราะนอกจากจะได้ฟังเรื่องวิธีการทำงานแล้ว ในงานนี้ยังพาบรรณาธิการการ์ตูน สามแบบ สามสไตล์การทำงาน ประกอบไปด้วย Luckpim Comico Thailand และ Punica Publishing ซึ่งสิ่งที่พวกเขาบอกเล่าในงานก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย จึงอยากสรุปเนื้อหาส่วนหนึ่งของงานมาให้ทุกท่านได้ฟังกันในครั้งนี้
ถึงจะทำการ์ตูนเหมือนกัน แต่พวกเขามีความแตกต่างกัน
ก่อนจะพูดถึงคำถามและคำตอบที่เกิดขึ้นในงานเสวนาครั้งนี้ ผู้จัดทำเนื้อหาทั้งสามแห่งได้ทำการแนะนำตัวเองอีกครั้งหนึ่ง
Luckpim เป็นผู้จัดทำมังงะเจ้าใหญ่เจ้าหนึ่งในบ้านเราที่ได้รับลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น และ The MATTER ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนจากทางสำนักพิมพ์แห่งนี้หลายครั้งในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องลิขสิทธิ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการสิ่งพิมพ์ แต่ในการเสวนาครั้งนี้ Luckpim จะมาพูดคุยเกี่ยวกับทำงานโดยตรง
Comico มาในฐานะตัวแทนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่นำการ์ตูนทั้งจากไทย และชาติอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นกับจีน มาให้อ่าน ทั้งยังเป็นผู้ให้บริการ E-Book หลายๆ ประเภทด้วย
ส่วน Punica Publishing นั้น หลายท่านอาจจะคุ้นเคยจากการเป็นผู้สร้างนิยายชุด การิน ปริศนาคดีอาถรรพ์ แต่กองบรรณาธิการได้มาแนะนำตัวให้ผู้เข้าร่วมเสวนาเข้าใจมากขึ้นว่าพวกเขาเป็น Content Creator ที่ไม่ได้พัฒนาเนื้อหาแค่ในแบบนิยายหรือการ์ตูน แต่มีการพัฒนาไปยังสื่อแบบอื่นอย่าง อนิเมชั่น ภาพยนตร์ และเพลงอีกด้วย
เรียกได้ว่าถึงแม้แต่ละที่จะผลิตการ์ตูนป้อนเข้าสู่ตลาดเหมือนกัน แต่ก็มีจุดที่แตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ และทำให้การทำงานในฐานะบรรณาธิการแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดขึ้นในหัวข้อต่อๆ ไป
กว่าการ์ตูนจะมาสู่หน้าแผง จะต้องผ่านกระบวนการใดบ้าง และบรรณาธิการมีส่วนอะไร
คำถามแรกของงานเสวนาครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยเรื่องที่คนทำงานทุกคนอาจจะรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ก็เป็นส่วนที่หลายคนอาจจะไม่ทราบเท่าใดนัก
ผู้ที่ตอบคำถามนี้ก่อนคือ ณัฎฐ์ธรณ์ ทวีมงคลสวัสดิ์ ตัวแทนจาก Luckpim ที่ระบุว่าการทำงานของเขานั้น โดยหลักแล้วจะเป็นการจัดซื้อลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่นมาจัดทำรูปเล่มภาษาไทยเป็นหลัก หน้าที่ของกองบรรณาธิการนั้นจะครอบคลุมนับตั้งแต่ การคัดเลือกว่าเรื่องนี้เหมาะจะนำมาจัดทำเล่มไทยหรือไม่ ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่กองบรรณาธิการคัดเลือกเอง หรือทางสำนักพิมพ์ทางญี่ปุ่นส่งตัวเลือกมาให้ จากนั้นเมื่อซื้อลิขสิทธิ์ในการจัดทำมาแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนหาคนแปล ตามด้วยการกำหนดวันส่งงานแปล ก่อนจะเข้าร่วมกับแผนกอื่นๆ ในการทำงานต่อไป อาทิ การประสานงานกับการตลาดในการกำหนดเวลาขาย รวมถึงโปรโมชั่นต่างๆ ประสานงานกับฝั่งกราฟิกและการพิมพ์ว่าจะใช้วัสดุ (กระดาษ สี การเคลือบ ฯลฯ) แบบไหน
นอกจากนี้ตัวแทนจาก Luckpim ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่าเหตุผลหลักที่จะทำให้งานออกล่าช้า ครึ่งหนึ่งจะมาจากการแปล หลายครั้งมีปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก อย่างตัวงานที่แปลยากก็จะใช้เวลามากขึ้น หรือบางกรณีก็จะมีคนแปลที่อาจจะหายตัวไป ก็จะต้องใช้เวลาตามตัวตามงานกันอีก ส่วนอีกครึ่งมาจากทางญี่ปุ่นเอง ที่จะไปติดขัดด้วยเหตุแปลกๆ เช่น ทางกองบรรณาธิการในประเทศไทยอาจจะอยากทำแผนงานให้ขายหนังสือพร้อมกัน 5 เล่ม แต่ทางญี่ปุ่นอาจจะขอเบรกให้ทำทีละ 1 เล่ม เป็นอาทิ
อรวรรณ กิจเสรีชัย ตัวแทนจาก Comico Thailand ตอบคำถามนี้เป็นคนที่สอง เนื่องจากทาง Comico มีคอนเทนต์ทั้งจากต่างประเทศและจากในไทย เนื้อหาที่มาจากต่างประเทศนั้น มีการทำงานใกล้เคียงกับทาง Luckpim แต่อาจจะเช็คงานจากอินเตอร์เน็ตได้ง่ายกว่า เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเว็บคอมิค (Web Comic) หลังจากที่ทำสัญญาเสร็จแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการแปลและการแต่งภาพ แต่จะมีความชัดเจนของ Flow ในการทำงานมากกว่า เพราะตัวงานนั้นมีกำหนดเผยแพร่ออนไลน์บทแพลตฟอร์มของพวกเขาเองในเวลาที่ชัดเจน
ส่วนคอนเทนต์ที่มาจากนักเขียนไทย ส่วนนี้จะใช้เวลามากกว่า เพราะจะต้องทำการคัดเลือกจากงานที่คนส่งเข้ามา และเมื่อคัดเลือกเรื่องได้แล้วก็จะมีการพูดคุยเพื่อขัดเกลางานให้เรียบร้อยขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาในขั้นตอนนี้ราว 3-4 เดือน
ส่วนตัว ชนกาญ โอฬาฤทธิ์ และ กันต์กนิษฐ์ วงษ์กาญจนกุล สองตัวแทนจาก Punica บอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันเล็กน้อย เพราะงานของพวกเขาเริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์เลย การผลิตคอนเทนต์ของพวกเขาแบ่งได้เป็นสามแบบ แบบแรกคือนักเขียนทำการเสนอผลงานเข้ามา แบบที่สองคือกองบรรณาธิการเป็นคนคิดคอนเซปต์ขึ้นมา และแบบที่สามคือกองบรรณาธิการกับนักเขียนมานั่งถกกันเพื่อสร้างผลงาน
เมื่อได้หัวข้อคอนเทนต์ที่ชัดเจนแล้ว ก็จะมีการหาทีมงาน อย่างการหานักวาด หาคนลงสี หาคนช่วยตัดเส้น ฯลฯ เมื่อเซ็ตทีมงานแล้วก็จะทำโปรเจกต์ระยะสั้น ด้วยการให้เขียนเรื่องสั้นลงในนิตยสารหรือในแพลตฟอร์มออนไลน์ก่อน ถ้าเรื่องไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีก็ยุบงานไป แต่ถ้ากระแสโอเคก็ต้องมาดูต่อว่าทีมเข้าขากันไหม ค่อยๆ ปรับขยับทีมงานจนลงตัว
พอถึงตอนนี้ งานก็จะถูกผลิตเป็นเรื่องยาวต่อไป และกองบรรณาธิการก็จะช่วยสนับสนุนทีม ก่อนที่จะกลับมาดูทิศทางของเรื่องที่ชัดเจนอีกครั้งในช่วงที่เรื่องจะถูกรวมเล่มอีกที เพื่อตรวจสอบว่าภาพรวมของงานเรื่องดังกล่าวควรจะขายแบบไหน
การ์ตูนออกแล้ว งานของบรรณาธิการจบเลยหรือเปล่า
ตัวแทนทั้งสามบริษัทตอบไปในทิศทางเดียวกันว่า ‘งานยังไม่จบ’
ทาง Luckpim จะคอยติดตามว่าสินค้าที่วางจำหน่ายไปแล้วจะเกิดความผิดพลาดหรือไม่ อย่างเช่น แปลผิด หน้าสลับ กราฟิกหลุด ฯลฯ เมื่อเจอคอมเมนต์จากลูกค้าแล้ว กองบรรณาธิการก็ต้องกลับมาตรวจสอบว่า เป็นความผิดพลาดจากส่วนงานใด นับตั้งแต่ต้นฉบับก่อนจัดพิมพ์เป็นอย่างไร ไฟล์กราฟิกเป็นอย่างไร เพลตงานพิมพ์เป็นอย่างไร และถ้าสินค้าผิดพลาดแล้วจะต้องแก้ไขให้ลูกค้าอย่างไรต่อไป ซึ่งตัวแทนจาก Luckpim เทียบว่าเป็นเหมือนบริการหลังการขายนั่นเอง
ฝั่ง Comico นั้นจะติดตามกระแสตอบรับว่าเป็นอย่างไร ด้วยความที่คอนเทนต์อยู่ในโลกออนไลน์เลยมีคอมเมนต์มาเร็วมากๆ ซึ่งทางกองบรรณาธิการจะอ่านคอมเมนท์เหล่านั้นแล้วเอามาพัฒนาเป็นสินค้าตัวต่อๆ ไป ในขณะเดียวกันก็จะเอาข้อมูลที่ได้รับฟังมาจากหลายๆ ทาง ทั้งจากต้นสังกัดต่างประเทศ นักอ่าน นักเขียน เพื่อไปประสานงานกับแผนกอื่นๆ ในการพัฒนาแผนงานขั้นต่อไป
Punica อธิบายไปในทิศทางเดียวกันว่า พวกเขาต้องติดตามผลจากแผนที่วางไป ยอดขายดีหรือไม่ กลุ่มคนอ่านที่เล็งไว้ชอบงานนี้หรือเปล่า แล้วเอาผลลัพธ์ของงานไปสะท้อนให้ทีมงานกับแผนกอื่นๆ ว่าเป็นอย่างไร
กองบรรณาธิการมีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะดันเรื่องไหน หรือ จะลอยแพเรื่องไหน
ประเด็นนี้จริงๆ แล้วเป็นคำถามที่ถูกระบุว่ามาจากทางบ้าน และมีเป้าหมายหลักในการสอบถามทาง Luckpim เป็นหลัก แต่กลายเป็นว่าบรรณาธิการทุกท่านในงานเสวนาครั้งนี้กลับมีเรื่องอยากบอกเล่าด้วยกันหมด
ซึ่งทาง Luckpim ก็สรุปไว้ว่า กองบรรณาธิการนั้น “มีอำนาจตัดสินใจ แต่ต้องมีที่มาที่ไป” พร้อมกับสมมติเรื่องราวว่า อาจจะมีนักอ่านเห็นการ์ตูนที่เคยแปลไม่ว่าจะแบบถูกกฎหมายหรือผิดกฏหมายมาก่อน แต่ยังไงก็ตาม สุดท้ายการจะนำมาจัดพิมพ์และจัดขายในประเทศไทยนั้น ก็ต้องดูก่อนว่า ตัวสินค้านั้นเหมาะสมกับคาแรคเตอร์ของบริษัทไหม เพราะสำนักพิมพ์แต่ละเจ้านั้นมีสไตล์ในการทำงานและกลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน จากนั้นก็ต้องดูต่อไปว่าการ์ตูนเรื่องนั้นจะขายให้ใคร ถ้ากลุ่มเป้าหมายไม่ตรงกับสำนักพิมพ์ก็คงยากที่จะจัดทำ และส่วนสุดท้ายก็ยังต้องอ้างอิงหลักของบ้านเมือง อย่างเช่น คนอ่านอยากจะได้การ์ตูนวับๆ แวมๆ มีฉากโจ๋งครึ่มชัดเจน มันก็อาจจะเกิดความเสี่ยงจนขายไม่ได้ก็ได้
อีกส่วนหนึ่งก็คือต้องดูกระแสของเรื่องราวต่างๆ ด้วย เหมือนกับอาหารบางประเภทที่อาจจะเหมาะกับบางฤดู การ์ตูนบางเรื่องอาจเหมาะที่จะขายแค่ในบางช่วงเวลาเช่นกัน และสุดท้ายถ้าการ์ตูนเล่มดังกล่าวมันขายไม่ออก ทางบรรณาธิการที่ยังต้องทำงานกับบริษัทและหาเงินมาจุนเจือตนเอง ก็จำเป็นจะต้องเทเรื่องนั้นออกไปก่อนเช่นกัน
ฝั่ง Comico เห็นด้วยว่า อำนาจในการซื้อลิขสิทธิ์ หรือลอยแพนั้นอยู่ที่กองบรรณาธิการก็จริง แต่คนที่ทำงานในกองบรรณาธิการก็ควรจะดูให้ออกเช่นกันว่าสิ่งที่เราคิดนั้นเป็นเพียงความชอบส่วนตัวของเรา หรือว่าเป็นการทำเพื่อกลุ่มลูกค้าของเราจริงๆ แม้ว่าทาง Comico อาจจะไม่ได้ต้องคำนึงเรื่องการพิมพ์เป็นเล่ม หรือการเก็บสต็อก แต่มันก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างค่าแปล ค่าทำกราฟิก
ซึ่งฝั่งเว็บคอมิคอาจจะโชคดีกว่าเล็กน้อยที่ในระยะหลัง การ์ตูนลักษณะนี้มักจะเขียนเป็นซีซัน (Season) มากขึ้น อย่างภาคแรกมี 50 ตอน ภาคสองมี 70 ตอน ถ้าเสียงตอบรับในภาคแรกไม่สวย ก็สามารถเลือกที่จะไม่ไปต่อกับภาคสองได้ แต่ก็ต้องคำนึงด้วยว่าเรื่องนั้นจะลงตัวพอที่จะตัดจบหรือไม่ แต่ถ้ามีความเชื่อมโยงกันก็ต้องเลือกที่จะจัดทำต่อไปเช่นกัน
Punica มีหลักการสามอย่างในการหยิบเรื่องราวมาจัดทำ ประกอบไปด้วย หนึ่งคือ เป็นงานที่มีนักอ่านอยากอ่าน สองคือ เป็นงานที่ทีมงานอยากทำ และสุดท้ายคือ เป็นงานที่นักเขียนอยากเขียน ถ้าคอนเทนต์ใดๆ ที่มีองค์ประกอบสามสิ่งนี้อยู่ด้วยกัน ก็จะเป็นคอนเทนต์ที่น่าจะผลักดันต่อไปได้ แต่ถ้าขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง อย่างเช่น นักเขียนอยากเขียนมากแต่ไม่มีคนอยากอ่าน การจะเข็นงานนั้นต่อไปก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เข้าท่าเท่าใด
อีกส่วนในฐานะที่ Punica มองตัวเองเป็น Content Creator ยังมองเผื่อไปว่าคอนเทนต์บางตัวอาจจะไม่รุ่งในแพลตฟอร์มหนึ่งแต่อาจจะไปรุ่งในรูปแบบอื่นก็ได้ ยกตัวอย่างผลงานเรื่อง ‘วงกต เรื่องเฮี้ยนหลังห้อง’ ที่เคยออกเป็นการ์ตูนตีพิมพ์ในนิตยสารมาก่อน แต่พอมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาและพื้นที่นำเสนอให้กลายเป็นเพลงบ้าง เป็น Motion Comic บนแพลตฟอร์ม YouTube บ้าง กลายเป็นว่ากระแสดีกว่าเดิม ดังนั้นบรรณาธิการในยุคนี้อาจจะต้องมองให้ออกว่า สถานที่ที่ดีที่สุดในการแสดงพลังของคอนเทนต์แต่ละเรื่องคือที่ไหน
ถ้าจัดทำงานผลงานไปแล้วงานเหล่านั้น ‘เจ๊ง’ ใครจะเป็นคนซวย บรรณาธิการจะต้องรับผิดชอบ
เพราะว่าการทำงานทุกชิ้น ไม่จำเป็นต้องลงเอยที่การขายดีเสมอไป เลยมีคำถามชวนกระตุ้นต่อมสงสัยนี้เข้ามา และโชคดีที่วิทยากรทั้งหมดพอจะมีประสบการณ์ร้ายมาบ้าง พวกเขาเลยค่อยๆ แชร์ประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมเสวนาฟัง
ทางฝั่ง Luckpim บอกว่าจะเป็นการรับผิดชอบร่วมกัน เพราะงานผ่านแนวคิดร่วมกันจากหลายแผนก เมื่อรู้สภาพว่างานที่เคยมั่นใจว่าจะขายได้กลับทำยอดได้น้อยนิด ก็ต้องค่อยๆ ลดการพิมพ์ เตรียมโปรโมชั่นสำหรับการระบายของออก แต่ทั้งนี้ นโยบายในการรับผิดชอบของแต่ละบริษัทก็จะมีความแตกต่างกันไป บางที่ก็มีการปลดคนที่ทำงานพลาดออกจากบริษัทไปเลย
Comico เสริมด้วยอารมณ์ติดตลกปนปลงตกว่า สิ่งที่กองบรรณาธิการควรทำเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ก็คือ ‘ทำใจ’ กระบวนการต่อไปที่ควรรีบทำก็คือ ปรับแผนงานที่มีอยู่ อย่างเช่น ปรับแผนการตลาดเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียหรือสูญเปล่าในการทำงานมากกว่านี้
ฝั่ง Punica ที่ไม่มีการซื้อเนื้อหาจากภายนอก ก็จะมีการกลับมาทำการบ้านกันใหม่ว่าทำไมคอนเทนต์ที่ปล่อยออกไปถึงไม่โดนใจคนดู ในขั้นต้นก็จะมีการปรับเรื่องใหม่ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น แต่ถ้าหากมีการปรับแล้วพบว่ามันไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องยอมรับและทำใจ ก่อนจะไปพัฒนาผลงานใหม่ๆ แทน
ข้อสรุปสุดท้ายเกี่ยวกับประเด็นนี้ที่ทั้งสามบริษัทเห็นพ้องต้องกันก็คือ ‘จงเรียนรู้จากความผิดพลาด เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดซ้ำอีก’ นั่นเอง
อยากเป็นกองบรรณาธิการการ์ตูนจะต้องวาดรูปได้ไหม ควรจะอ่านภาษาญี่ปุ่นได้หรือเปล่า
ทุกครั้งที่บอกเล่าว่าทำงานเกี่ยวกับ ‘การ์ตูน’ หลายท่านก็มักจะถามต่อว่า ‘วาดรูปเก่งสิท่า’ ไม่ก็ ‘พูดญี่ปุ่นเก่งเลยสิ’ (แม้แต่ผู้เขียนบทความเองก็โดนทักแบบนี้บ่อยครั้ง) เพราะฉะนั้น ไม่น่าแปลกใจมากนักที่คนที่สนใจอยากจะทำงานกองบรรณาธิการการ์ตูนคิดว่าจะต้องมีทักษะวาดรูปหรือมีความรู้ทางภาษาญี่ปุ่นเป็นคุณสมบัติพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำถามที่ดีสำหรับงานที่มีกองบรรณาธิการการ์ตูนมารวมตัวกันในงานนี้
คิวการตอบคำถามนี้ถูกสลับมาเป็น Punica ที่ตัวแทนคนหนึ่งจบคณะศิลปกรรมการออกแบบด้านทอผ้า ซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำการ์ตูนแม้แต่น้อย ดังนั้นพวกเขาจึงเห็นว่าจะจบจากคณะใดก็ได้ เพราะไม่มีหลักสูตรของคณะใดที่สอนเพื่อให้จบมาเป็นบรรณาธิการการ์ตูนโดยตรง ทั้งยังมองว่า ประสบการณ์ชีวิตอาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญเสียมากกว่า
อย่างน้อยไม่ว่าจะเรียนคณะใดๆ ก็ตาม แต่ถ้าคุณตั้งใจเรียน ส่งงานได้ทันตามกำหนดมาโดยตลอด ก็จะสะท้อนแล้วว่า คุณมีทักษะการจัดการได้ดี ซึ่งเหมาะกับการเป็นกองบรรณาธิการการ์ตูนอย่างมากด้วยเหตุว่างานสายนี้มีกำหนดงานที่ชัดเจน หรือการมีเพื่อนเยอะหลายสไตล์ก็สะท้อนได้ว่าคุณอาจจะเข้ากับคนได้หลากหลาย ซึ่งก็เป็นประโยชน์อีก เพราะกองบรรณาธิการจะต้องทำงานร่วมกับแผนกอื่นๆ ทั้งการคุยกับนักเขียน การประสานกับโรงพิมพ์ คือรู้ว่าควรคุยอย่างไรไม่ให้ฝ่ายที่ประสานงานอยู่ด้วยรู้สึกสะเทือนใจจนเกินไป เป็นต้น
ส่วนเรื่องการวาดรูปนั้นก็ไม่จำเป็นเช่นกัน แต่ประเด็นสำคัญคือทักษะการสื่อสารที่ทำให้คนทำงานคนอื่นๆ เข้าใจได้ว่าคุณต้องการอะไร
ทาง Comico เองก็เห็นพ้องเช่นกันว่า ไม่ได้จำกัดสาขาหรือคณะ แต่ประสบการณ์ส่วนตัวของบรรณาธิการแพลตฟอร์มออนไลน์เจ้านี้เห็นว่าควรจะรักการอ่าน ส่วนเรื่องทักษะภาษาต่างชาตินั้น ถ้ามีความรู้เหล่านั้นก็เป็นผลดีเพราะจะทำให้ตรวจงานหรือหาข้อมูลเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าไม่มีทักษะนั้น ก็ยังมีคนที่มีความสามารถด้านภาษาในทีมที่พร้อมสนับสนุนคุณในการทำงาน สิ่งที่สำคัญมาก คือทักษะการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องมากกว่า
ฝั่ง Luckpim เองก็เห็นด้วยว่าเรื่องสายการเรียนและเรื่องภาษานั้นไม่จำเป็น เพราะแม้จะรู้ภาษาต่างชาติดีแค่ไหน แต่การจะแปลออกมาได้นั้น ควรจะต้องมีคลังศัพท์ภาษาไทยอยู่ให้มากด้วยเช่นกัน คือเรื่องภาษานั้น ถ้ามีติดตัวมาก็อาจจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษในการทำงาน อีกส่วนที่ทาง Luckpim คิดว่าคนที่ทำงานเป็นกองบรรณาธิการการ์ตูนทุกคนควรจะมีคือ Passion หรือใจที่พร้อมปรับปรุงตัวเองมากกว่า
โดยสรุปแล้ว ทั้งสามบริษัทเห็นพ้องต้องกันว่า ‘ถ้าคุณรักสิ่งนั้นมากพอ คุณสมบัติการทำงานจะอยู่ในตัวคุณเองอยู่แล้ว’
ทุกวันนี้ใครๆ ก็อ่านการ์ตูนทางอินเตอร์เน็ต คิดว่ามีผลอย่างไรบ้างกับหนังสือเล่ม แล้วมองอนาคตของหนังสือเล่มอย่างไรบ้าง
Punica ยอมรับว่า เทคโนโลยีมีผลกระทบต่อหนังสือเล่มอย่างแน่นอน อย่างการที่คนจะรู้จักการ์ตูนแต่ละเรื่อง เมื่อก่อนจะต้องเดินไปหน้าร้านการ์ตูน ดูปกแต่ละเรื่องว่าสวยโดนใจไหม แล้วก็ลองซื้อดู ถ้าไม่สนุกก็หยุดซื้อ แต่ในยุคนี้คนทำแบบนั้นน้อยลงมาก คนอ่านรู้จักการ์ตูนก่อนที่จะซื้อการ์ตูนเสียอีก เรามีโอกาสเห็นการ์ตูนมาก่อนในโลกออนไลน์ทั้งแบบถูกกฎหมายอย่างกลุ่มเว็บคอมิค หรืออาจจะผิดกฎหมายจากการสแกนละเมิดลิขสิทธิ์ หรือเห็นจากรีวิวต่างๆ ถ้าในกรณีของ Punica ที่ทำคอนเทนต์หลายแบบเอง จะเห็นว่ามีคนรู้จักหนังสือของพวกเขาจากเพลงที่ลงไว้ในโลกออนไลน์ ก่อนจะกลับมาซื้อสินค้า และปัจจุบัน ตัวหนังสือเล่มก็เปลี่ยนสถานะจาก ‘ของที่ซื้อมาเพื่ออ่าน’ กลายมาเป็น ‘ของสะสมที่มีคุณค่าทางใจ’ แทน
โดยภาพรวมแล้ว Punica มองว่าการมาถึงของเทคโนโลยีต่างๆ เป็นเรื่องดี ด้วยเหตุที่คอนเทนต์สามารถเข้าสู่ผู้อ่านง่ายขึ้น พวกเขาสามารถเห็นจุดขายก่อนที่จะซื้อ ทำให้กองบรรณาธิการสามารถมองตลาดได้เร็วขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้แล้ว E-Commerce ยังช่วยเหลือในการขาย เมื่อคนอ่านรูปเล่มน้อยลงและร้านค้าน้อยลง การขายออนไลน์ก็ย่อมเป็นช่องทางขายที่ดีขึ้น
ด้าน Luckpim มองเรื่องกระแสดิจิทัลว่าอยู่ในภาวะ ‘โชคดีบนโชคร้าย’ มากกว่า ด้วยเหตุที่เนื้อหาของฝั่ง Luckpim เป็นการซื้อสิทธิ์มาจากต่างประเทศ ผลร้ายก็คือสแกนที่มีอยู่ในอินเทอร์เน็ตนั้นทำให้ยอดขายหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นลดลงแน่นอน ไม่ว่าจะโดยตรงคือ การที่คนไปอ่านของเถื่อนแทน หรือโดยอ้อมคือ มีคนมาพูดคุยสปอยล์เหตุการณ์สำคัญของการ์ตูนบางเรื่อง ซึ่งอาจจะทำให้คนที่ยังไม่เคยอ่านเกิดอาการไม่โอเคกับผลลัพธ์จนไม่ยอมซื้อหนังสือไปเลย
แต่ในแง่ดีคือ กองบรรณาธิการก็เห็นกระแสบางอย่างที่ช่วยตัดสินใจในการทำงานอยู่บ้างเช่นกัน อาทิ เห็นกระแสของเรื่องที่กำลังมีอนิเมชั่นของหนังสือการ์ตูนออกฉายอยู่ ก็อาจจะพยายามทำโปรโมชั่นการตลาดให้สอดคล้องกับช่วงเวลานั้นๆ เป็นต้น
ส่วน Comico แม้ว่าจะไม่มีการออกหนังสือเป็นเล่มเหมือนอีกสองแบรนด์ แต่ก็เห็นพ้องกับตัวแทนจาก Luckpim กับ Comico โดยดุษฏี
นอกจากหัวข้อเหล่านี้แล้วในงานยังเปิด Workshop ให้ผู้ร่วมเสวนาได้ลองทำงานส่วนหนึ่งของกองบรรณาธิการการ์ตูนกันด้วย เราได้เห็นเยาวชน และคนทำงานหลายๆ คน ที่มาร่วมงานนี้ ทำการบ้านที่วิทยากรเตรียมาให้อย่างตั้งใจ ซึ่งทำให้เราได้เห็นอะไรอีกอย่างหนึ่งจากงานครั้งนี้ก็คือ ยังมีคนสนใจงานสายกองบรรณาธิการการ์ตูนอยู่อีกไม่น้อย และถึงหนังสือเล่มจะลดลง แต่สื่อเหล่านี้ก็พยายามปรับตัวให้อยู่กับแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ ไม่แน่ว่าหลายคนที่มาร่วมงานในวันนี้ อาจจะเป็นกองบรรณาธิการการ์ตูนคนสำคัญต่อไปในอนาคตก็เป็นได้