“หนังเรื่องโปรดของคุณคืออะไร”
“เอ่อ…The Godfather ครับ”
บทสนทนาถามตอบในคลาสเรียนวิชาภาพยนตร์ระหว่างอาจารย์และเบนนี ซึ่งรับบทโดย เบนนีโต สกินเนอร์ (Benito Skinner) จากซีรีส์ Overcompensating (2025) ดูเผินๆ คงเป็นคำถามทั่วไปในคลาสเรียนภาพยนตร์ อาจารย์ย่อมอยากรู้เป็นธรรมดาว่า นักเรียนแต่ละคนมีหนังที่ชอบบ้างหรือเปล่า ทว่าคำตอบนี้กลับเป็นเพียงฉากหน้าสำหรับปกปิดตัวตนแท้จริงของเบนนี ที่ต้องการให้คำตอบคล้อยตามไปกับเหล่านักเรียนชายในห้อง ซึ่งล้วนตอบพร้อมเพรียงกันว่าหนังเรื่องโปรดของพวกเขาคือ The Godfather
สำหรับบางคน บางเรื่องอาจไม่สามารถยืดอกยอมรับได้อย่างเปิดเผย ในช่วงชีวิตมหา’ลัยหรือในช่วงวัยรุ่นก็คงมีกันบ้างแหละ ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายทางอารมณ์และการค้นหาตัวตนของตัวเอง จนบางครั้งเรื่องราวเหล่านี้อาจกลายไปเป็นสถานการณ์อันแสนซับซ้อนในชีวิต และนี่คือสิ่งที่ถูกร้อยเรียงออกมาผ่านเรื่องราวของตัวละครอย่างเบนนีและผองเพื่อนใน Overcompensating
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ Overcompensating

cr.Rollingstone
Overcompensating กับการชดเชยเกินพอดี
หากแปลอย่างตรงตัว คำว่า Overcompensating คงหมายถึง การชดเชยจนเกิดพอดี และถ้าจะขยายความเพิ่มอีกนิด มันก็คือการกระทำอะไรบางอย่างเพื่อกลบจุดอ่อนหรือปกปิดอะไรบางอย่าง ด้วยการแสดงออกในทางตรงกันข้ามอย่างมากเกินไป แต่แล้วทำไมคำนี้ถึงเป็นชื่อของซีรีส์เรื่องนี้กัน?
คำตอบนี้อยู่ในเรื่องราวทั้งหมดของ Overcompensating ซีรีส์ที่กำลังเป็นกระแสร้อนแรง และได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในหมู่ผู้ชมและนักรีวิว พิสูจน์ได้จากคะแนนจากทั้ง Rotten Tomatoes ซึ่งได้ไปมากถึง 94% หรือจาก IMDb ด้วยคะแนน 7.8 เต็ม 10 เรียกได้ว่าเป็นซีรีส์วัยรุ่นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าจับตามองมากที่สุดในช่วงนี้เลยก็ว่าได้
ซีรีส์เล่าเรื่องราวของ เบนนี หนุ่มน้อยหน้าตาดีมีเสน่ห์ อดีตนักฟุตบอลดาวเด่นและราชางานพรอมผู้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในช่วงมัธยมฯ ปลาย แต่เขากลับมีความลับที่ไม่สามารถบอกใครให้รู้ได้ว่า ตัวเขาเป็นเกย์ และด้วยความสับสนในตนเอง ตลอดจนแรงกดดันจากคนรอบตัว เบนนีจึงจำเป็นต้องปกปิดตัวตนอันแท้จริงเอาไว้ข้างใน พร้อมฉาบหน้าด้วยความเป็นชายหนุ่มมาดแมน ผู้พร้อมจะเดินหน้าเข้าหาสาวๆ อย่างจริงจัง เพื่อให้ตนเองอยู่รอดในสังคมมหา’ลัย
และตัวละครอย่างเบนนีนี่แหละ คือนิยามที่ชัดเจนที่สุดของคำว่า Overcompensating นับตั้งแต่ฉากเปิดตัว ตั้งแต่ก้าวแรกหลังลงจากรถของพ่อแม่ที่มาส่งมหา’ลัย ผู้ชมอย่างเราก็สัมผัสได้ถึงการแสดงออกอย่างเกินพอดีของเบนนี ราวกับว่าเขากำลังแอบซ่อนอะไรบางอย่างไว้ข้างใน และเมื่อซีรีส์พาเราย้อนอดีตของเบนนี เราก็รู้ได้ทันทีว่าสิ่งที่เขาปกปิดเอาไว้จนเกือบจะมิดชิดคือ อัตลักษณ์ทางเพศของตัวเขาเอง
ส่วนหนึ่งคงต้องยกเครดิตให้กับนักแสดงอย่าง เบนิโต สกินเนอร์ ที่สามารถถ่ายทอดตัวละครเบนนีได้อย่างเข้าถึงบทบาท จนทำให้ผู้ชมเชื่อได้ว่าตัวเขามีความลับอะไรบางอย่างอยู่ข้างในจริงๆ และตัวเขาก็ดันปกปิดความลับได้อย่างไม่แนบเนียนสุดๆ จนผู้ชมดูออกว่าทุกพฤติกรรมและการกระทำของเขาดูล้นและมากเกินไปสมกับชื่อเรื่อง

cr.IMDB
หากยกตัวอย่างสักฉากที่สะท้อนคำอธิบายนี้ออกมาได้ชัดเจนที่สุด คงต้องย้อนกลับไปในช่วงแรกๆ ของซีรีส์ เมื่อตัวของเบนนีต้องการพิสูจน์ให้เพื่อนปีหนึ่งด้วยกันเอง ตลอดจนรุ่นพี่ชายแท้คนสนิทได้เห็นว่า ตัวเขานั้นแมนทั้งแท่งแบบไม่ต้องสืบ เบนนีจึงพยายามเข้าหาเพื่อนสาวที่รู้จักกันตอนปฐมนิเทศอย่าง คาเมน รับบทโดย วอลลี่ บาแรม (Wally Baram) เพื่อสานสัมพันธ์และมีเซ็กซ์
ในระหว่างช่วงของการก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ของเบนนีกับคาเมน ตัวเบนนีก็ได้แสดงออกถึงความเก้ๆ กังๆ ออกมาอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามจูบและเล้าโลมฝ่ายหญิงด้วยท่าทีที่ไม่เป็นธรรมชาติ จนผู้ชมดูออกว่าเบนนีน่าจะยังไม่เคยผ่านความสัมพันธ์กับผู้หญิงมาเลยเสียด้วยซ้ำ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ในช่วงต้นเรื่อง จึงชวนให้รู้สึกอีหลักอีเหลื่ออยู่ไม่น้อย
และแม้ทั้งคู่จะกลายมาเป็นเพื่อนกันในภายหลัง แต่หลังจากนั้นเบนนีก็ยังคงแสดงออกอย่างเกินพอดีอยู่ตลอด เพื่อรักษาภาพลักษณ์และปกปิดอัตลักษณ์ของตน แต่การแสดงออกนี้ก็จะไม่ได้จีรังไปตลอด เพราะตัวเขาเองได้ค่อยๆ ปอกเปลือกเบื้องหน้าอันแข็งแกร่งกำยำออกมาเรื่อยๆ กระทั่งเราจะได้พบกับตัวตนที่แท้จริงและความเปราะบางที่ตัวละครซ่อนมันเอาไว้ใต้เปลือกหนานี้
นอกจากตัวละครดำเนินเรื่องหลักอย่างเบนนีที่ชูให้ Overcompensating เป็นซีรีส์ที่น่าติดตามต่อไปเรื่อยๆ แล้ว ภาพบรรยากาศชีวิตมหา’ลัย อย่างการเข้าเรียน กิจกรรมชมรม ความรู้สึกสนุกสนาน รวมไปถึงความอลหม่านต่างๆ ระหว่างเรียนก็ถือเป็นอีกส่วนสำคัญ ซึ่งทำให้ตัวซีรีส์เรียกหนุ่มสาวผู้ผ่านพ้นช่วงวัยเรียนไปแล้วได้มานั่งหวนนึกถึงช่วงเวลาเหล่านั้นกัน
และด้วยการนำเสนอภาพชีวิตของวัยรุ่นในช่วงมหา’ลัย จึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้เท่าไหร่นัก กับการหยิบความเป็น Coming-of-Age ออกมานำเสนอควบคู่กันแบบค่อนข้างจะจริงจัง เช่น ความสับสนในเรื่องเพศ ความขัดแย้งในความสัมพันธ์ การจมอยู่กับความรู้สึกเชิงลบแบบไม่รู้วิธีแก้ไข ตลอดจนการเผชิญหน้ากับความงงงวยเมื่อถึงทางแยกช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต
นอกจากจะใส่ความจริงจังของพาร์ทความเป็น Coming-of-Age ลงไปได้อย่างลงตัว อีกด้านหนึ่งก็นำเสนอความสนุกสนานชวนให้ติดตามร่วมและอินกับเนื้อเรื่องและบรรดาตัวละคร จนกลายมาเป็นส่วนผสมที่ลงตัวตั้งแต่ต้นจนจบ
จาก Overcompensating สู่ Internalized Homophobia
อีกหนึ่งประเด็นที่โดดเด่นในซีรีส์เรื่องนี้ และน่าหยิบมาทำความเข้าใจให้มากขึ้น นั่นคือ ‘Internalized Homophobia’ หรือ ความกลัวกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเอง
ถ้าจะให้ขยายความให้ชัดเจนขึ้น Internalized Homophobia หมายถึง ภาวะที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เกิดความหวาดกลัวและเหยียดหยามต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเอง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นมุมมองที่มีต่อบุคคลอื่นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างทัศนคติเชิงลบต่อตัวเองด้วย

cr.IMDB
ทั้งนี้ ภาวะดังกล่าวยังถือเป็นผลพวงสำคัญของระบอบชายเป็นใหญ่ ที่ได้ฝังรากลึกอยู่ในโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ตลอดจนสื่อต่างๆ มาเป็นเวลายาวนาน จนหล่อหลอมและสร้างชุดความคิดดังกล่าวขึ้นมา ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศซึ่งถูกกดทับอยู่ภายใต้ระบบนี้ ได้ซึมซับชุดความคิดนี้และกลายเป็นความรู้สึกอับอาย เกลียดชัง หรือแม้แต่ปฏิเสธในอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ก่อนจะนำไปสู่การเริ่มมองว่าการเป็นตัวเองนั้นคือ ความผิด ความบกพร่อง หรือเป็นสิ่งที่ต้องปกปิดเพื่อ ‘เอาตัวรอด’ ในสังคม
ยิ่งในสังคมหรือสภาพแวดล้อมที่ยังไม่ยอมรับความหลากหลาย แนวคิดดังกล่าวถือได้ว่าเป็นภาวะที่ท็อกซิกต่อชีวิตอย่างมาก เพราะมันอาจทำให้เรามองไม่เห็นคุณค่าและลดทอนคุณค่าในตัวเอง จนบางครั้งอาจกระทบไปถึงสุขภาพจิต เกิดเป็นความเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้าได้
นอกจากนี้ Internalized Homophobia ยังอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายด้วยเช่นกัน เพราะมันคือการผลิตซ้ำค่านิยมการกดทับกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยกันเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งและแบ่งแยก จนอาจถึงขั้นกีดกันด้วยกันเองในชุมชน
และตัวละครอย่างเบนนีนี่แหละ คือตัวอย่างที่ชัดเจนของบุคคลผู้ตกเป็นเหยื่อของชุดความคิดแบบ Internalized Homophobia เพราะตั้งแต่ต้นเรื่อง เบนนีไม่เคยคิดจะยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองได้เลย ตัวเขาพยายามจะปกปิดและสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของตนเองขึ้นมาแทนที่ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามมีความสัมพันธ์กับคาเมนอย่างที่กล่าวไป หรือกระทั่งการเข้าร่วมชมรมชายแท้ และทำกิจกรรมห่ามๆ เพื่อพิสูจน์ความเป็นชายแท้ของตนเอง
ยิ่งไปกว่านั้น เบนนียังแสดงออกถึงการกีดกันเพื่อนของตนเองที่เป็น LGBTQ+ อย่างรุนแรง ด้วยการใช้คำพูดไม่ดีกับอีกฝ่าย เพื่อหวังให้ได้การยอมรับจากผู้ชาย ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าภาวะ Internalized Homophobia และกรอบคิดแบบชายเป็นใหญ่นั้นได้ฝั่งรากลึก และครอบงำตัวของเบนนีจนยากที่แยกออกมาได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม หลายครั้งเราอาจไม่รู้ว่าสิ่งที่เป็นหรือทำอยู่ เข้าข่าย Internalized Homophobia หรือเปล่า เพราะระบบชายเป็นใหญ่ในสังคมได้หล่อหลอมพฤติกรรมจนกลายเป็นความเคยชินไปบ้างแล้ว ดังนั้น การต้องตระหนักต่อสิ่งที่ตัวเองทำให้ได้ จึงถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะสามารถขับเคลื่อนให้สังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
Overcompensating ไม่ใช่แค่ซีรีส์ที่นำเสนอชีวิตของวัยรุ่นมหา’ลัยแบบปั่นๆ ไร้แก่นสาร แต่ยังเต็มไปด้วยประเด็นเกี่ยวกับการเติบโตและปัญหาของช่วงวัย Coming-of-Age ซึ่งชวนให้เราได้ขบคิด ตลอดจนให้เราได้ย้อนกลับมาสำรวจและตั้งคำถามต่อตนเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่งด้วย
อ้างอิงจาก