‘ทอม ธีรฉัตร โพธิสิทธิ์’ ช่างภาพแฟชั่น เจ้าของผลงานช่วยเหลือสังคม ‘The Last Farewhale’ ที่เป็นหนึ่งในสื่อที่ช่วยให้คนไทยสนใจในปัญหาของสัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมในทะเลมากขึ้น ด้วยการใช้ภาพแฟชั่นและซากวาฬบรูด้า และผลงาน ‘The Anatomy 101’ ที่รณรงค์เรื่องการบริจาคอวัยวะ
‘The Rebel Riot’ วงดนตรีพังก์ร็อกจากเมียนมาร์ ที่ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือสื่อถึงปัญหาความรุนแรง และสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากความขัดแย้งในสังคม ผลงานที่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทย คือหนังเรื่อง My Buddha is Punk ผลงานชิ้นนี้เป็นการผสมระหว่างแนวคิดแบบพุทธศาสนา และแนวทางที่ดูขบถ ป่าเถื่อน ขัดกับวัฒนธรรมหลักในสังคมของดนตรีแนวพังก์ ปฏิเสธหลักคำสอนที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างชาวพุทธยะไข่และชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่เป็นต้นเหตุของการพลัดพรากจากบ้านเกิดของชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคน
เมื่อศิลปินทั้งสองได้มาเจอกัน ด้วยแนวคิดการใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการสื่อสารปัญหาสังคม ก็เกิดเป็นโปรเจกต์ ‘Sons of Anarchy’ ภาพถ่ายที่เกิดจากการดึงเอาคาแรกเตอร์ของสมาชิก 3 คน จากวง The Rebel Riot มาเป็นตัวแทนของคำสอนในศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาพราหมณ์ฮินดู ที่เน้นเรื่องความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตรงข้ามกับการเผยแพร่คำสอนของ ‘พระวีระธุ’ ที่สร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มชาวโรฮิงญาอย่างสิ้นเชิง The Rebel Riot มองว่าความขับไล่คนที่นับถือต่างศาสนากันไม่ใช่กิจของสงฆ์ และการกระทำนี้ก็ยังขัดกับหลักพรหมวิหาร 4 ในพุทธศาสนาด้วย
กลุ่มพังก์ร็อกมักถูกมองว่าหัวรุนแรง นอกรีต ต่อต้านสังคม แต่หลังจากทอมได้ร่วมงานกับพวกเขาแล้ว กลับรู้สึกว่าพวกเขามีความเป็นมนุษย์มากกว่าที่ถูกมองจากภายนอก นอกจากการเผยแพร่แนวคิดปรัชญาให้คนรุ่นใหม่แล้ว ยังทำโครงการ Food not Bombs แจกจ่ายอาหารให้ผู้ยากไร้ โครงการ Book not Bombs แจกจ่าย e-book ให้กับคนรุ่นใหม่
Sons of Anarchy อาจไม่ใช่แค่ภาพที่สะท้อนสังคมของประเทศเพื่อนบ้านเราเท่านั้น แต่ยังอาจทำให้เราเห็นภาพของปัญหาเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นในต่างสถานที่ทั่วโลก