เทศกาลภาพยนตร์สารคดีกลายเป็นกิจกรรมที่เราพบเจอได้ถี่ขึ้นในช่วงปีสองปีนี้ และล่าสุดช่วงปลายเดือนสิงหาคมปีนี้ก็กำลังจะมีเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวัน ที่ครั้งนี้ไม่ได้มีแค่หนังสารคดีมาฉายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีคนทำหนังหลายเรื่องจะมาร่วมพูดคุยในงาน ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงต้องยกเครดิตให้ทางรัฐบาลไต้หวันที่สนับสนุนการนำเสนอสื่อที่สะท้อนวัฒนธรรมของพวกเขาให้ชาวโลกได้รู้
เมื่อเราพินิจไปในสารคดีไต้หวันที่นำมาฉายในครั้งนี้ก็พบว่า หลายๆ เรื่องมาพร้อมกับภาพที่ดูแปลกตา และประเด็นที่ดูไม่แปลกใหม่นักแต่กลับมีเสน่ห์ชวนฉงนที่ดึงดูดใจแฝงอยู่ชัดเจน มีตั้งแต่เรื่องของเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงเรื่องราวชีวิตของคนทั่วไป แม้ตอนนี้จะเห็นเพียงตัวอย่างสั้นๆ หรือภาพนิ่งก็ตามที ปมหรือประเด็นหลายอย่างก็ดูจะมาจากเรื่องราวในอดีตของไต้หวันที่มีความซับซ้อนอยู่ไม่น้อย
นอกจากตัวภาพยนตร์ที่มาฉายในงาน Taiwan Documentary Film Festival in Bangkok 2018 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 สิงหาคม – 2 กันยายนนี้ The MATTER จะพามองย้อนกลับไปว่าวงการภาพยนตร์ของไต้หวันเกิดขึ้นอย่างไร อะไรกันที่ก่อร่างสร้างรูปลักษณ์ให้กับภาพยนตร์ไต้หวันที่ตอนนี้มีผู้กำกับหลายคนเป็นที่จดจำจากวงการภาพยนตร์ทั่วโลก
แรกเริ่มการปักหลักภาพยนตร์ในไต้หวัน
ก่อนจะมาเป็นพื้นที่ปกครองตัวเองในปัจจุบัน ไต้หวันเป็นเกาะที่มีชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยกันอยู่ก่อนแล้ว เชื่อกันว่าเดิมทีมีชนเผ่าพื้นเมืองอยู่มากกว่า 20 เผ่า (ปัจจุบันเหลือเพียงราว 10 เผ่า) ไต้หวันยังเคยเป็นที่นัดพบสำหรับการค้าขายแลกเปลี่ยนของชาวฮั่น (หรือจีนแผ่นดินใหญ่) ชาวญี่ปุ่น ชาวฮอลันดา และชนชาติอื่นๆ อีกมาก
ดังนั้นกว่าที่ ‘ภาพยนตร์’ จะมีตัวตนในเกาะแห่งนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ย่างเข้าปี 1900 แล้ว หลังจากที่จักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ามายึดครองเกาะไต้หวัน และผู้ที่วางรากฐานการสร้างภาพยนตร์ให้กับไต้หวันก็คือ โทโยจิโร่ ทาคามัตสึ ที่รับคำเชิญของ ฮิโรบุมิ อิโตะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในยุคนั้น ให้เดินทางมายังไต้หวันในช่วงที่จักรวรรดิญี่ปุ่นครอบครองเกาะนี้อยู่ ทาคามัตสึได้นำเอาภาพยนตร์เข้ามาทั้งจากฝั่งยุโรปและญี่ปุ่น (ส่วนหนึ่งก็เป็นการพยายามแสดงศักยภาพของจักรวรรดิญี่ปุ่นผ่านภาพยนตร์สารคดีการรบในสถานที่ต่างๆ) ซึ่งชาวไต้หวันก็ได้รับความรู้จากหนังที่ถูกนำเอามาฉาย และตัวทาคามัตสึยังได้รับการนับถือในฐานะคนที่ช่วยผูกสัมพันธ์ระหว่างคนบนเกาะไต้หวันกับรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย
จนกระทั่งในปี 1907 ทาคามัตสึได้รับคำสั่งจากรัฐบาลของญี่ปุ่นให้ทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประเทศไต้หวันที่ใช้ชื่อว่า Taiwan Jikkyo Shokai (สภาพของไต้หวันในปัจจุบัน) และภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนับจากนักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไต้หวันว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศ และด้วยความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้รวมกับการใช้ชีวิตในไต้หวันมาหลายปี ทาคามัตสึจึงพาเอาทั้งครอบครัวมาตั้งรกรากบนเกาะไต้หวันในปี 1908 และเปิดบริษัทสร้างภาพยนตร์ชื่อ Taiwan Dojinsha บริษัทภาพยนตร์แห่งแรกที่สร้างภาพยนตร์ทั้งส่วนที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อ สารคดี และความบันเทิง แม้ว่าบริษัทของทาคามัตสึจะปิดตัวไปในภายหลัง แต่โรงภาพยนตร์ที่เปิดให้บริการบนเกาะไต้หวันนั้นยังเป็นโรงภาพยนตร์ที่มีนายทุนชาวญี่ปุ่นมาเป็นคนเปิด คนทำภาพยนตร์ในไต้หวันจึงรับเอาวิธีการคิดและเทคนิคการสร้างหนังมาจากภาพยนตร์ของญี่ปุ่นนั่นเอง
กระนั้นการที่ทั้งบริษัทและเจ้าของโรงหนังเป็นคนญี่ปุ่นกลับทำให้การนำเข้าภาพยนตร์ใหม่ๆ มาฉายบนเกาะไต้หวันในยุคนั้นใช้เวลาราว 6 เดือน – 2 ปี ซึ่งก็คงนานเกินไปสำหรับใครบางคน ผู้มีความรู้ในการสร้างภาพยนตร์ยุคนั้นจึงเริ่มถ่ายทำภาพยนตร์บนเกาะไต้หวันเอง โดยภาพยนตร์ดังกล่าวใช้ชื่อว่า Buddha’s Pupils ที่ได้ ทานากะ คาเนะยูกิ ชาวญี่ปุ่นที่ใช้นามแฝงว่า เอ็ดเวิร์ด คินชิ ทานากะ (Edward Kinshi Tanaka) มาเป็นผู้กำกับ ถือเป็นภาพยนตร์บันเทิงเรื่องแรกที่สร้างขึ้นบนแผ่นดินไต้หวัน
เวลาต่อมานักแสดงชาวไต้หวันแบบในหนังเรื่อง Buddha’s Pupils อย่าง Liu Xiyang ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเดิมแล้วผันตัวมาเป็นนักแสดง ผู้เขียนบท และผู้กำกับ ก่อนจะถูกจดจำในฐานะบุคลากรภาพยนตร์ท้องถิ่นคนแรก เขากับเพื่อนได้ก่อตั้งทีมสร้างหนังที่ใช้ชื่อ Taiwan Cinema Study Association ในเดือนพฤษภาคมปี 1925 และกลุ่มคนเหล่านี้เองที่ได้พยายามสร้างหนังจากทีมงานสร้างชาวไต้หวันทั้งหมด ซึ่งพวกเขาก็สามารถสร้างหนังชื่อ Whose Fault Is It? และออกฉายในเดือนกันยายนปี 1925 แต่ภาพยนตร์กลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
ความล้มเหลวของทีมภาพยนตร์นี้กลับไม่เลือนหายไปเสียทีเดียว เพราะมันทำให้ชาวไต้หวันคนอื่นที่อยากทำหนังเริ่มรวมตัวกันมากขึ้น แถมคนดูก็เริ่มอยากศึกษาภาพยนตร์ของชาติอื่นจนมีการพยายามนำเข้าภาพยนตร์อเมริกาบ้าง ยุโรปบ้าง รวมถึงภาพยนตร์จากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ทำให้มีเทรนด์ความคลั่งไคล้หนังจอมยุทธ์ในช่วงปี 1925-1930 ติดอยู่ก็แค่ว่าทางรัฐบาลญี่ปุ่นที่กลัวจะเสียฐานอำนาจในไต้หวันได้เริ่มออกมาแบนสื่อบันเทิงต่างๆ จากจีนอย่างจริงจัง ประกอบกับช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (1929-1939) ตามต่อด้วยสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (ช่วงปี 1937-1945) ทำให้บริษัทหนังไต้หวันทั้งที่เน้นสร้างหนังหรือนำเข้าหนังปิดตัวไปจำนวนมาก หนังโฆษณาชวนเชื่อจากญี่ปุ่นเริ่มกลับมาฉายมากขึ้น แถมหลายเรื่องยังเป็นการเชิดชูจักรวรรดิญี่ปุ่น กดขี่ภาพลักษณ์ของชาวเกาะไต้หวัน
ความอึมครึมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไต้หวันเป็นเช่นนี้ไปจนถึงช่วงปี 1945 หรือในช่วงที่จักรวรรดิญี่ปุ่นยอมจำนนต่อกองทัพพันธมิตรนั่นเอง
ภาพยนตร์ไต้หวันช่วงพรรคก๊กมินตั๋งดูแลเกาะในช่วงปี (1945-1960)
การเป็นอิสระจากการปกครองของญี่ปุ่นทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไต้หวันมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างจากการที่พรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang) ได้กลายเป็นผู้ดูแลพื้นที่เกาะไต้หวันแทน ทางก๊กมินตั๋งได้ตั้งรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานทั้งทางทหารและหน่วยงานทางวัฒนธรรม Taiwan Provincial Administrative Executive Office (TPAEO) ขึ้นมาคอยกลั่นกรองสื่อบันเทิงบนเกาะฟอร์โมซา ทำให้ภาพยนตร์ที่เคยนำเข้ามาฉายได้ในยุคก่อนหน้าต้องถูกแบนหรือเซ็นเซอร์ ในขณะเดียวกันภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในท้องที่ก็ถูกปิดกั้น หรือถ้าพูดติดตลกก็คือ การสร้างโฆษณาชวนเชื่อในยุคนี้แค่เปลี่ยนนายทุนจากจักรรวรรดิญี่ปุ่นมาเป็นรัฐบาลก๊กมินตั๋งแทน และมีการบีบให้นำเข้าภาพยนตร์ที่พูดจีนกลางจากฮ่องกงหรือจีนแผ่นดินใหญ่มาฉายในตลาดแทนที่หนังกลุ่มเดิม
ความตึงเครียดบนเกาะไต้หวันมาถึงจุดระเบิดอีกครั้งในปี 1947 ที่เกิด ‘เหตุการณ์ 228’ หรือการประท้วงใหญ่ของประชาชนที่อยู่บนเกาะไต้หวันซึ่งไม่พอใจการตรวจสอบการค้าของเถื่อนที่รุนแรงจนทำให้แม่ค้าแผงลอยกับเหล่าไทมุงเสียชีวิตไป แต่ทางตำรวจกลับไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ ประชาชนนับหมื่นจึงเริ่มลุกฮือขึ้น ก่อนที่ทางทหารจะตัดสินใจใช้ความรุนแรงสยบการประท้วงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าหนึ่งหมื่นคนจากเหตุการณ์นี้ ตามมาด้วยการประกาศกฎอัยการศึกที่ยืนยาวจนถึงปี 1987 นอกจากความวุ่นวายภายในแล้ว ยังมีความวุ่นวายจากจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อเจียงไคเช็คพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนจนต้องหนีมาอาศัยอยู่บนเกาะฟอร์โมซาในปี 1949
แม้จะมีเรื่องวุ่นวายที่ทำให้เกิดการเซ็นเซอร์หรือแบนหนังไปบ้าง นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจภาพยนตร์ในไต้หวันจะนิ่งสนิทไป ส่วนหนึ่งเพราะชาวจีนที่เพิ่งอพยพมาพร้อมเจียงไคเช็คนั้นมีกลุ่มคนทำหนังตามมาด้วย แต่กลุ่มคนเหล่านั้นก็ถูกจับรวมกันเป็นทีมสร้างหนังโฆษณาชวนเชื่อและทำสารคดีซึ่งไม่ค่อยป๊อปในหมู่คนดูบนเกาะไต้หวันมากนัก โชคดีเล็กน้อยที่ก่อนจะเกิดความวุ่นวายเคยมีบริษัทสร้างภาพยนตร์ทั้งจากฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางมาใช้โลเคชั่นถ่ายทำบนเกาะไต้หวันด้วยความที่เป็นพื้นที่ใหม่สดในช่วงนั้น และก็เป็นกลุ่มนักสร้างหนังมือดีจากฮ่องกงนี่เองที่เริ่มตั้งใจถ่ายทำเป็นหนังที่ใช้ภาษาจีนฮกเกี้ยนสำเนียงไต้หวัน (หรือ หมิ่นหนาน) ทั้งเรื่อง ด้วยความที่ว่าทีมงานสร้างและเจ้าของเงินทุนเป็นชาวจีนที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในไต้หวันจึงทำให้หนังที่ใช้ภาษาจีนไต้หวันเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้ง เริ่มจาก Too Late For Reunion ที่ออกฉายที่ไต้หวันในปี 1950 (หลังจากฉายในพื้นที่อื่นมาก่อนแล้วในปี 1947) ก่อนที่จะมีการดัดแปลงงิ้วไต้หวันมาลงจอเงินในปี 1955 ตามด้วยภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง
การทำหนังในยุค 1950-1960 ถือเป็นพื้นที่ของกลุ่มนักทำหนังจากฮ่องกง เกาลูน และบุคลากรที่จากแผ่นดินใหญ่ที่ย้ายมาอยู่ในไต้หวัน พวกเขาหลายคนใช้เวทีแห่งใหม่นี้สร้างภาพยนตร์ พร้อมทั้งฝึกฝนฝีมือในการทำหนัง ยกตัวอย่างเช่น Lee Hsing ที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่แล้วกำกับหนังหลายเรื่องในไต้หวัน ก่อนจะกลับไปกำกับหนังพูดจีนกลางในฮ่องกงอีกหลายเรื่อง แม้ว่าในยุคนี้บุคลากรชาวไต้หวันอาจจะยังไม่มีมากนัก แต่ก็มีการจดบันทึกไว้ว่ามีภาพยนตร์พูดสำเนียงจีนไต้หวันมากกว่า 200 เรื่องถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว และเป็นการวางรากฐานให้กับนักทำหนังรุ่นต่อไปที่จะมารับไม้ต่อ
กระนั้นด้วยความที่รัฐบาลก๊กมินตั๋งต้องการที่จะให้ภาษาจีนกลางหรือจีนแมนดารินเป็นภาษาหลักของประเทศ รัฐบาลจึงหยิบจับทุนมาก้อนหนึ่งเพื่อก่อตั้งรางวัลม้าทองคำ ในปี 1962 ที่ในตอนนั้นตั้งใจทำขึ้นมาเพื่ออุทิศให้กับภาพยนตร์ที่ใช้ภาษาจีนกลางแล้วทำหนังได้ดี แต่ในภายหลังรางวัลนี้ก็ปรับการแจกรางวัลให้กับหนังที่พูดภาษาจีนแบบไม่จำกัดสำเนียงแทน
ยุคทองของหนังไต้หวันที่รันวงการโดยคนสร้างหนังจากที่อื่น และจุดตกต่ำอันเป็นผลพวงจากการเมืองโลก (1960-1980)
จากการที่คนทำหนังในฮ่องกงเริ่มคุ้นเคยกับการทำงานในไต้หวันแล้วตั้งแต่ช่วงปี 1950 พอเข้ามาสู่ยุค 1960 ก็มีผู้กำกับใหญ่จากฝั่งฮ่องกงอย่าง หลี่ ฮั่นเซียน (Li Han-Hsiang) กับ หู จวินฉวน (King Hu) มาตั้งฐานกำลังใหม่ที่ไต้หวัน พวกเขาไม่ได้มามือเปล่าแต่ยังนำเอาคนทำหนังฝีมือเยี่ยมจากฮ่องกงมาวางขุมกำลังในการสร้างภาพยนตร์ใหม่ๆ ทำให้คุณภาพของหนังที่สร้างจากไต้หวันที่เคยถูกครหาว่าเป็นหนังทุนต่ำมีแต่พล็อตลอกของเก่าทะยานไปสู่จุดที่สูงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างผลงานที่โดดเด่นก็คงไม่พ้นภาพยนตร์เรื่อง Dragon Gate Inn / Dragon Inn หรือที่ใช้ชื่อไทยว่า ตะลุยแดนพยัคฆ์ ที่ออกฉายในปี 1967 ซึ่งมาครบทั้งฉากบู๊เร้าใจ และด้วยการถ่ายทำที่ใช้สถานที่จริงจึงทำให้โล่งโปร่งโดดเด่นกว่าหนังที่ใช้สตูดิโอจำลองฉาก รวมถึงแฝงข้อความวิพากษ์การเมืองอยู่อีกไม่น้อย แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้รัฐบาลไต้หวันมีอาการหวาดเสียวอยู่บ้างจากข้อความแฝงในหนัง แต่เมื่อภาพยนตร์ได้รับความนิยมไปทั่วทวีปเอเชีย (แม้แต่ฝั่งอเมริกากับยุโรปก็ชื่นชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในภายหลัง) ก็ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นผลงานอมตะที่ต้องถูกกล่าวถึง และถูกสร้างซ้ำหลายครั้งทั้งในแบบภาพยนตร์หรือจะเป็นหนังชุดก็ตามที
ขณะเดียวกัน บริษัทหนังของทางรัฐบาลไต้หวันก็เริ่มผลัดรุ่น เริ่มลงทุนในการสร้างสตูดิโอที่มีอุปกรณ์ทันสมัยของยุค และมีนักสร้างหนังที่คำนึงถึงศิลปะภาพยนตร์มากขึ้น โดยมี Kung Hong เป็นบุคลากรสำคัญ เพราะนอกจากที่เขาจะเป็นผู้สนับสนุนการสร้างหนังแนวสมจริงแฝงแนวคิดของขงจื๊อ ไม่ใช่ยัดเยียดโฆษณาความเป็นชาตินิยมอย่างในสมัยก่อน เขายังส่งเสริมให้ผู้กำกับท่านอื่นอย่าง Lee Hsing, Pai Ching-Jui, Ting Shan-Shi และ Richard Chen Yao-Chi ในการสร้างภาพยนตร์แนวจอมยุทธ์ปนตลก นอกจากนี้ยังมีการรวมกันสร้างภาพยนตร์กับบริษัทจากญี่ปุ่นทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเอฟเฟกต์พิเศษจากแดนอาทิตย์อุทัยมาทำงานในไต้หวันมากขึ้นในช่วงหนึ่ง และไต้หวันก็เปิดพื้นที่ให้กับการถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง The Chairman ในปี 1968 อีกด้วย ไต้หวันสามารถสร้างภาพยนตร์ได้มากถึง 230 เรื่อง ในปี 1971 แถม 83 เรื่องยังเป็นหนังที่พูดจีนกลาง ซึ่งน่าจะทำให้รัฐบาลไต้หวันแฮปปี้ไม่เบา
ระหว่างที่อะไรหลายอย่างในวงการบันเทิงยังไปได้ด้วยดี ไต้หวันก็ถูกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติยุติสมาชิกภาพเต็มและรับรองให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้แทนอันชอบด้วยกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวของจีนในสหประชาชาติในปี 1971 ทำให้สถานทูตหลายๆ ประเทศปิดตัวลงเพื่อเป็นการถอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ชัดเจน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีสถานทูตของประเทศญี่ปุ่นด้วย พอดีว่าตอนนั้นหนังของ บรูซ ลี เริ่มเข้าฉายในไต้หวัน ด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ได้เป็นคนจีนมากแถมฟาดหมัดใส่นักคาราเต้ญี่ปุ่น หนังแนวกังฟูแบบนี้จึงเกิดการบูมและสามารถเบียดกระแสหนังจอมยุทธ์ได้ในที่สุด
และในช่วงปี 1974 จาง เชอะ (Chang Cheh) ก็ย้ายสถานที่ถ่ายทำจากฝั่งฮ่องกงมาสร้างหนังในไต้หวันเช่นกัน พร้อมกับปั้นทีมนักแสดงสายบู๊อย่าง เดวิด เจียง (David Chiang), ตี้ หลุง (Ti Lung), เฉิน กวนไถ้ (Chan Koon-Tai) และ ฟู่ เซิง (Alexander Fu Sheng) เพื่อสร้างหนังแนวผสมผสานทั้งจอมยุทธ์กำลังภายใน (อย่าง มังกรหยก หรือ เดชไอ้ด้วน), กังฟูแบบจริงจัง, กังฟูปนตลก, หนังแนวอิงประวัติศาสตร์ และหนังสงครามผสมกังฟู เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับหนังจีนซึ่งหลายต่อหลายเรื่องก็โด่งดังไปทั่วเอเซีย (แน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยบ้านเราด้วย)
แต่สุดท้ายด้วยภาวะไม่มั่นคงในเวทีการเมืองโลกก็ทำให้คนที่เคยมาลงทุนหรือย้ายมาอาศัยอยู่ในไต้หวันเริ่มย้ายถิ่นฐานสู่ประเทศที่มั่นคงกว่านี้ (คนทำหนังฮ่องกงหลายคนก็ย้ายกลับไปฮ่องกงในภายหลัง) และเมื่อเข้าสู่ช่วงปี 1979-1980 วงการภาพยนตร์ไต้หวันก็เริ่มทำหนังแนวนักเลงที่คอยคุ้มกันคนอ่อนแอจากภัยภายนอก (นักวิชาการไต้หวันบางท่านยังเชื่อว่าส่วนหนึ่งของการสร้างหนังแนวนี้เป็นการสนับสนุนจากกลุ่มนักเลงตัวจริงที่ส่งเงินทุนให้ค่ายหนังในช่วงนี้) ส่วนคนทำหนังอีกส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็เริ่มทำตามเทรนด์เดิมหรือรีเมคหนังเก่าๆ ไม่ได้ทำหนังอะไรสุ่มเสี่ยงมากนัก กลายเป็นว่ายุคทองของหนังไต้หวันเริ่มถึงจุดอิ่มตัวและหดตัวลง ไม่ใช่เพราะคนทำหนังมีฝีมือไม่พอ แต่ยังมีผลกระทบจากเรื่องการเมืองโลกด้วย
คลื่นลูกใหม่ที่แท้จริงของคนทำหนังไต้หวัน (1980-1990)
ในจังหวะที่คนทำหนังฮ่องกงมีอิทธิพลกับวงการหนังไต้หวันเยอะเกินไป (อย่างที่เห็นในช่วงก่อนหน้า) และเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฝืดๆ ทางรัฐบาลไต้หวันที่ตอนนี้มี เจียง ฉิงกั๋ว (Chiang Ching-kuo) ลูกชายของเจียงไคเช็คที่พยายามวางแผนพัฒนาประเทศให้มีธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้นจึงมีการหย่อนข้อกำหนดหลายอย่างสำหรับการทำหนัง เนื้อหาที่เคยแบนเพราะอาจจะกระทบความมั่นคงของรัฐกลายเป็นเรื่องที่เล่าได้ รวมถึงบริษัทสร้างภาพยนตร์ของทางรัฐบาลก็สนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ใหม่ๆ ด้วยผู้กำกับใหม่ๆ อีกทั้งยังมีการออกกฎหมายโควตาภาพยนตร์ที่สร้างภายในประเทศ ทำให้ผู้กำกับหลายคนที่ทำงานในวงการมาระยะหนึ่งมีโอกาสสร้างหนังที่พวกเขาต้องการ ผู้กำกับกลุ่มนี้ถูกเรียกในภายหลังว่า ภาพยนตร์ไต้หวันยุคใหม่ (New Wave Taiwanese Cinema)
หนังจากคนทำหนังกลุ่มนี้ไม่ได้ออกมาหวือหวาหลากลีลาอย่างช่วงยุคทอง แต่หนังเลือกที่จะเล่าชีวิตคนแบบตรงไปตรงมามากขึ้น เรียบง่ายมากขึ้น ใช้ดนตรีประกอบแบบไหลลื่น ตัวภาพถูกถ่ายเป็นมุมกว้างละม้ายคล้ายหนังฮ่องกงที่มาสร้างในยุคทองแต่ก็มีความนิ่งที่ชวนให้คิดถึงหนังญี่ปุ่น ไปจนถึงเล่าเรื่องความรู้สึกมากขึ้น และหลายเรื่องก็จับเอาประเด็นความขมขื่นของคนพื้นเมืองที่ถูกกดดันจากกฎต่างๆ และภาพเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ประเทศอื่นๆ ไม่เคยได้พบเจอมาก่อน ทำให้กระแสตอบรับของภาพยนตร์ไต้หวันยุคใหม่ระลอกนี้แผ่กระจายออกไปในรูปแบบที่ต่างจากยุคก่อนหน้า
ภาพยนตร์ที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุคนี้ก็คือ In Our Time ที่ออกฉายในปี 1982 ตัวภาพยนตร์เป็นหนังชุดสี่เรื่องจากผู้กำกับสี่คน ประกอบด้วย Edward Yang, Ko I-Cheng, Yi Chang และ Tao Te-Chen ตัวหนังเล่าเรื่องคนไต้หวันในช่วงปี 1950-1980 ตั้งแต่เรื่องราวเด็กธรรมดาที่หนีเข้าสู่โลกแฟนตาซีเพื่อหลบความจริงอันโหดร้ายบ้าง เรื่องรักสามเส้าที่มีเด็กสาวกับชายหนุ่มอายุมากกว่า การบอกกล่าวชีวิตของนักเรียนที่อยู่ในชมรมว่ายน้ำ และคู่แต่งงานใหม่ที่เข้าบ้านไม่ได้จนกลายเป็นเรื่องชวนหัวขึ้นมา
ผู้กำกับคนสำคัญอีกคนในยุคนี้ก็คือ Hou Hsiao-Hsien ที่เริ่มกำกับหนังตั้งแต่ปี 1980 และร่วมแสดงในหนัง Taipei Story ของ Edward Yang ก็มาปล่อยพลังในการกำกับอย่างเต็มที่ภายหลังปี 1987 ที่ไต้หวันได้ยกเลิกกฎอัยการศึก ทำให้การพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในยุคก่อนหน้าสามารถถูกนำมาบอกเล่าผ่านสื่อได้เสียที สิ่งที่คนทำหนังผู้นี้ร่วมกับเพื่อนที่ผ่านยุคสมัยเดียวกันสร้างมาก็คือภาพยนตร์ที่ชื่อว่า A City of Sadness ซึ่งออกฉายในปี 1986 หนังค่อยๆ เล่าเรื่องของไต้หวันในช่วงที่เพิ่งเป็นอิสระจากญี่ปุ่นและกลับสู่การดูแลของจีนแผ่นดินใหญ่ ทว่ารัฐบาลก๊กมินตั๋งที่เข้ามากลับกดดันคนท้องถิ่น บ้านเมืองที่พวกเขาเคยหวังว่าจะมีความสุขกลายเป็นเมืองที่แสนเศร้า ก่อนที่หนังจะจบลงแบบเงียบๆ ด้วยภาพของครอบครัวที่ได้รับบาดแผลที่เกิดจากกลุ่มคนที่เขาไม่ได้เลือก
อาจจะเพราะหนังเรื่องนี้ที่ทั้งการเล่าประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองของคนที่อาศัยอยู่ในยุคนั้นจริงๆ กับการใช้ภาพนิ่งบอกเล่าเรื่องราวจนทำให้คนดูสลด ทำให้หนังถูกจดจำจากเวทีรางวัลภาพยนตร์ดังหลายแห่ง ทั้งการได้รับรางวัลสิงโตทองคำ (Golden Lion) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ซึ่งหนังเรื่องยังถือเป็นหนังไต้หวันเรื่องแรกสามารถนำรางวัลมาได้ และรางวัลม้าทองคำในบ้านเกิดเองก็ได้รางวัลสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย แม้ว่าหนังจะเหมือนเป็นการเปิดมุมที่ไม่ควรแสดงให้คนอื่นเห็นก็ตามที
ต่อมาในปี 1991 Edward Yang ก็ปล่อยภาพยนตร์เรื่อง A Brighter Summer Day ภาพยนตร์ความยาวสี่ชั่วโมง (ใช่แล้ว สี่ชั่วโมง!) ที่เล่าเรื่องในยุค 1960 ซึ่งอ้างอิงเรื่องราวส่วนหนึ่งมาจากชีวิตของตัวเอง หนังไม่ได้เลือกเล่าเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเมืองแบบชัดแจ้งอย่างที่เกิดขึ้นใน A City of Sadness แต่โฟกัสกับชีวิตของเด็กวัยรุ่นที่ต้องสับสน ได้พบรักแรก และมีเรื่องราวของความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มนักเลงรุ่นเล็กกับความผันเปลี่ยนของเวลาที่กระทบกับชีวิตทุกคน และด้วยสไตล์การเล่าเรียงเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปกับการกำกับศิลป์ที่ดีงามก็ทำให้หนังคว้ารางวัลทั้งในบ้านเกิดและจากต่างแดน
คลื่นลูกที่สองของคนทำหนังไต้หวันยุคใหม่ที่ไปถึงฮอลลีวูด แต่กระแสในบ้านกลับเงียบเหงา (1990-2000)
ตั้งแต่ปี 1991 ทางรัฐบาลไต้หวันเริ่มปลดล็อกข้อห้ามกี่ยวกับการทำภาพยนตร์หลายอย่าง อาทิ การอนุญาตให้คนทำหนังจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาทำงานในไต้หวันได้บ้าง การปลดลิมิตจำนวนหนังญี่ปุ่นที่นำเข้ามาฉายในประเทศ และเหตุการณ์อื่นๆ อีกมากที่เกิดขึ้น
ในช่วงนี้เองที่มีการวางเส้นแบ่งบางๆ ไว้ว่าเป็นช่วงที่คนทำหนังไต้หวันยุคใหม่ระลอกที่สอง (Second New Wave Taiwanese Cinema) เริ่มเข้ามามีบทบาท ผู้กำกับที่โดดเด่นในยุคนี้ก็ต้องยกให้ อั้งลี่ (Ang Lee) กับ ไฉ้ หมิงเหลี่ยง (Tsai Ming-Liang) ท่านแรกถนัดการเล่าเรื่องชีวิตผู้คนที่มีความสัมพันธ์ยุ่งยากเกิดขึ้นผ่านการนำเสนอแบบเรียบง่ายโดยไม่ลืมการนำเสนอภาพที่สวยงามมีพลังและการลาจาก ส่วนท่านหลังนั้นดูจะเขาชอบทำหนังนิ่งช้า พิสดาร กับเล่าเรื่องความเหงาและความเปียกแฉะ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่คนดูอาจจะเผลอหลับไหลไปก่อน แต่ทั้งคู่ก็มีความนิ่งแบบที่คนทำหนังระลอกแรกมี
อั้งลี่เรียนภาพยนตร์มาโดยตรง และผลงานในวัยเรียนก็โดดเด่น แต่กว่าจะได้กำกับหนังเองจริงๆ ก็เป็นตอนที่เขาส่งบทหนังสองเรื่องไปเข้าแข่งรายการประกวดของรัฐบาล ซึ่งบททั้งสองเรื่องดันทะลึ่งได้ที่หนึ่งกับที่สองของการแข่งขัน จนทำให้เขาได้มีโอกาสกำกับหนังทั้งสองเรื่องคือ Pushing Hands ที่ออกฉายในปี 1991 กับ The Wedding Banquet ที่ออกฉายในปี 1993 ซึ่งเรื่องที่สองเล่าถึงของคู่รักเกย์ เป็นเรื่องชายชาวจีนที่โดนทางบ้านบีบให้แต่งงานกับหญิงสาวที่พ่อแม่คัดสรรมาให้ แต่สุดท้ายเจ้าตัวกลับเล่นแผนสูงด้วยการจะทำเนียนแต่งงานกับสาวจีนก่อนหน้าพ่อแม่จะมา โดยมีการตกลงผลประโยชน์กันเรียบน้อย แต่แผนก็ผิดคาดเมื่อพ่อแม่ของชายชาวจีนมาช่วยจัดงานแต่งอย่างไม่ได้ขอ
ที่เล่าเรื่องย่อหนังเรื่อง The Wedding Banquet ก็เพราะหนังเรื่องนี้กลายเป็นตัวแทนเข้าชิงออสการ์และลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม และคว้ารางวัลหมีทองคำ (Golden Bear) จากงานเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน
ส่วนไฉ้หมิงเหลี่ยงเองก็เรียนจบในสาขาละครและภาพยนตร์เช่นเดียวกัน และได้ทำงานในวงการละครโทรทัศน์มาก่อนที่เขาจะได้ปล่อยผลงานภาพยนตร์ Rebels of the Neon God ในปี 1991 และได้รับความสำเร็จอย่างชัดเจนมากๆ จาก Vive L’Amour หนังเรื่องที่สองที่ออกฉายในปี 1994 ตัวหนังเล่าเรื่องของสองชายกับหนึ่งหญิงที่มาแชร์ห้องพักด้วยความบังเอิญ บางครั้งพวกเขาก็ระบายอารมณ์ทางเพศกันในห้องนี้ แต่ละคนก็เหมือนจะมีปมในใจที่ไม่มีใครออกมาพูดอย่างชัดเจนว่าจริงๆ แล้วแต่ละคนคิดอะไรกันแน่ หนังแทบจะไม่มีบทพูด มีแค่อารมณ์หลากหลายที่ชวนสับสนแต่ก็โดดเด่น จนทำให้เราคิดขึ้นมาว่า บางทีคนเมืองที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดกันมากอาจจะไม่เคยคิดจะแบ่งปันอะไรอื่นเลยนอกจากความสุขชั่วครั้งคราวเท่านั้น สไตล์ที่เฉพาะทางอย่างมากนี้ก็โดนใจนักวิจารณ์จนไฉ้หมิงเหลี่ยงสามารถคว้าสิงโตทองคำตัวที่สองกลับมาไต้หวันต่อจาก Edward Yang
เส้นทางการทำหนังในช่วงกลางยุค 1990 ของตัวแทนคนทำหนังไต้หวันยุคใหม่ระลอกที่สองต่างกันนิดหน่อย อั้งลี่สร้างงานเตะตาผู้สร้างหนังฝั่งฮอลลีวูดจนมีโอกาสได้กำกับ Sense and Sensibility ในปี 1995 ก่อนจะได้กำกับภาพยนตร์ในฝั่งฮอลลีวูดอีกหลายเรื่อง ส่วนไฉ้หมิงเหลี่ยงทำงานสไตล์ถนัดของตัวเองในไต้หวันเป็นหลัก
ฝั่งรุ่นพี่คนทำหนังไต้หวันยุคใหม่ระลอกแรกก็ปล่อยผลงานออกมา อย่าง Hou Hsiao-Hsien ส่งหนัง The Puppetmaster ออกฉายในปี 1993 เป็นภาพยนตร์ที่อุทิศให้ Li Tian-lu นักเชิดละครหุ่นผ้าวัฒนธรรมท้องถิ่นของไต้หวัน ที่นอกจากต้องพยายามอนุรักษ์งานศิลป์ ยังต้องรับมือกับการโดนร้องขอให้เอาศิลปะที่ตัวเองเคารพมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการชวนเชื่อของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งตัวหนังก็สามารถคว้ารางวัล Jury Prize จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ไปได้
Edward Yang เริ่มถ่ายทำ Yi Yi ในปี1999 และส่งหนังที่เล่าชีวิตครอบครัวยุคปัจจุบันในไต้หวันออกฉายในปี 2000 หนังเล่าชีวิตของพ่อที่ยุ่งวุ่นวายกับการเลี้ยงดูแลลูกเล็กกับลูกสาวที่กำลังเป็นวัยรุ่น ในขณะเดียวกันก็ต้องรับมือการงานที่มีปัญหาซึ่งควบคุมไม่ได้ที่พุ่งเข้ามา ภาพยนตร์ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นผลงานที่ดีที่สุดของผู้กำกับคนนี้ คว้ารางวัลได้หลายเจ้าอย่างเช่นผู้กำกับยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของผู้กำกับท่านนี้ก่อนที่จะเสียชีวิตไปในปี 2007
ช่วงปี 2000 ทางอั้งลี่ก็กำลังไปได้สวยในฝั่งอเมริกา ด้วยการสลับมากำกับหนังจอมยุทธ์ Crouching Tiger, Hidden Dragon ซึ่งทำให้ อังลี่ได้รับรางวัลออสการ์ตัวแรกจากสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม กระนั้นหนังกลับมีกระแสแบบงั้นๆ ในบ้านเกิด (หนังทำรายได้ในไต้หวันแย่กว่าการฉายในออสเตรเลีย เป็นอาทิ) อันเป็นผลข้างเคียงจากการที่รัฐบาลไต้หวันหยุดปรับตัวตามยุคสมัยใหม่ทำให้หนังของหลายประเทศตีตลาดคนดูไต้หวัน จนทำให้หนังไต้หวันในช่วงยุคนี้ถูกผลิตแค่ปีละราวๆ 20 เรื่องเท่านั้น
ซึ่งถ้ามองอีกแง่ ภาวะนี้ก็ไม่ได้เป็นกันเฉพาะในไต้หวันเท่านั้น หลายๆ ประเทศในเขตเอเชียก็ประสบกับการเข้ามาของหนังฮอลลีวูดและต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการปลุกชีพให้หนังท้องถิ่นกลับมาอีกครั้ง
ภาพยนตร์ไต้หวันหลังปี 2000
ถึงจะเป็นช่วงที่หนังไต้หวันเหงาหงอยแต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไร้ซึ่งผู้กำกับหน้าใหม่เสียทีเดียว มีผู้กำกับทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าเริ่มทำหนังในสไตล์ไม่ซ้ำเดิม เอาใจคนดูยุคใหม่และยังเป็นหนังที่ขายในชาติอื่นๆ ง่ายขึ้น อย่างเช่นผลงานกำกับของ Leste Chen หรือ Tom Lin แม้ว่าจะชวนให้รู้สึกเสียดายเบาๆ ที่กลิ่นอายนิ่งๆ เหงาๆ จะหายไปจากคนทำหนังรุ่นนี้บ้าง
ผู้กำกับอีกท่านหนึ่งที่โดดเด้งขึ้นมาในยุคช่วงต้นปี 2000 ก็คงจะเป็น Yee Chih-yen ผู้กำกับภาพยนตร์ Blue Gate Crossing ซึ่งตัวหนังก็มีดีมากพอให้งานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์นำเอาหนังเรื่องนี้ไปฉายในส่วน Director’s Fortnight หน้าหนังอาจจะทำให้คนคิดว่าเป็นแค่เรื่องรักของวัยรุ่นทั่วไป (จนได้ชื่อไทยที่ไม่ไหวจะเคลียร์มา) แต่เปล่าเลย ผู้กำกับหนังเอาประเด็นนี้มาเพื่อเล่าชีวิตของวัยรุ่นที่ทุกคนต้องเคยผ่าน เคยหลงใหลใครสักคนด้วยของใช้ประจำตัว ทั้งๆ ที่ใครก็หามาใช้ได้ และการที่หนังแทบจะไม่เล่าชีวิตส่วนตัวของตัวละครกลับทำให้คนดูลุ้นในใจว่า เขาหรือเธอจะทำอะไรตามที่ ‘เรา’ ซึ่งเป็นคนดูเคยทำหรือเปล่า รู้ตัวอีกทีเราก็อินและดูหนังไปจนจบโดยไม่ได้ติเตียนใครในเรื่อง เพราะการตัดสินใจนั้นก็เป็นวิถีชีวิตวัยรุ่นเช่นกัน
อีกกระแสที่ Blue Gate Crossing ช่วยจุดให้ติดก็คือกระแสก็คือหนังแนว LGBTQ ของไต้หวันที่ทำให้หลายคนได้มีโกอาสไปติดตาม อย่าง Eternal Summer ของ Leste Chen, Formula 17 ของผู้กำกับ Chen Yin-jung และ Spider Lilies จากผู้กำกับ Zero Chou แต่กระแสนี้ออกจะเป็นกระแสนอกประเทศมากกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่าส่วนหนึ่งของหนังแนว LGBTQ มักจะเป็นหนังอินดี้ในบ้านเกิดอยู่แล้ว
แล้วหนังไต้หวันก็กลับมาได้รับความสนใจจากคนดูอีกครั้งจากการมาถึงของภาพยนตร์เรื่อง Cape No. 7 ออกฉายในปี 2008 ที่กำกับโดย Wei Te-sheng ซึ่งผู้กำกับคนนี้ถือว่าตัวเขามี Edward Yang เป็นเหมือนอาจารย์ และหนังเรื่องนี้ก็เอาสไตล์การเล่าเรื่องส่วนหนึ่งไปอิงกับประวัติศาสตร์จริงในช่วงที่ญี่ปุ่นถอนกำลังพลจากไต้หวัน ในขณะเดียวกันก็มาผูกโยงเข้ากับเรื่องราวสไตล์หนังรักยุคใหม่ เมื่อจดหมายสมัยอดีตเจ็ดฉบับที่ชายไต้หวันเคยเขียนให้หญิงสาวคนรักในญี่ปุ่น ทำให้บุรุษไปรษณีย์หนุ่มในยุคปัจจุบันที่จริงๆ แล้วเป็นนักดนตรีวงร็อคต้องนำเอาข้อความจากอดีตไปมอบให้ผู้รับ แล้วความรัก ความสัมพันธ์ กับการก้าวเป็นร็อคสตาร์ก็เริ่มต้นขึ้นพร้อมๆ กัน
อาจจะเพราะหนังมีส่วนผสมที่คนดูยุค 90s และคนดูยุค 2000 สามารถอินได้ร่วมกัน หนังเรื่องนี้จึงกวาดรายได้อย่างดุเดือดไปจนถึงจุดที่เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายสูงสุดในไต้หวัน
หลังจากนั้นภาพยนตร์ในไต้หวันก็เริ่มหาที่ทางของตัวเองได้มากขึ้น และมีภาพยนตร์ไต้หวันที่สามารถทำรายได้ในบ้านเกิดเกิน 100 ล้านเหรียญไต้หวันอย่างต่อเนื่อง อย่างเรื่อง The Treasure Hunter ที่ฉายในปี 2009, Moga ที่ฉายในปี 2010 และปี 2011 มีหนังทำรายได้สูงเกิน 100 ล้านเหรียญถึงสี่เรื่องก็คือ You are the Apple of My Eye, Seediq Bale สองภาค และ Night Market Hero
ภาพยนตร์ที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านเหรียญในยุคหลังจากนั้นไม่ได้มีแค่แนวแอ็กชั่นหรือแนวโรแมนติกกินใจเท่านั้น หนังตลกแบบ David Loman กับ Zone Pro Site ที่ฉายในปี 2013 ก็สามารถเรียกผู้ชมท้องถิ่นเข้าชมได้อย่างต่อเนื่อง และในปีเดียวกันยังมีภาพยนตร์สารคดี Beyond Beauty : TAIWAN FROM ABOVE ซึ่งตามปกติไม่น่าจะมีรายได้สูงเท่าใดนัก แต่สารคดีเรื่องนี้ก็ไปไกลจนสร้างรายได้ราว 200 ล้านเหรียญไต้หวันในการเข้าฉาย
ปี 2015 ผู้กำกับรุ่นใหญ่อย่าง Hou Hsiao-Hsien ก็กลับมาพร้อมกับภาพยนตร์เรื่อง The Assassin ที่รายได้อาจจะไม่โดดเด่นแต่ในสายรางวัลก็ยังสามารถคว้ารางวัลจำนวนมากติดมือกลับไปเช่นกัน ส่วนอั้งลี่ที่อาจจะไม่ได้วนมาทำหนังใหญ่ในไต้หวันหลายปี (หนังพูดภาษาจีนล่าสุดที่เขากำกับก็คือ Lust, Caution ในปี 2007) ก็ไปได้ดีกับฝั่งฮอลลีวูดจนคว้าออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมมาแล้วสองครั้ง จาก Brokeback Mountain (ฉายปี 2005) และ Life of Pi (ฉายปี 2012)
ณ ตอนนี้ เราอาจจะไม่ได้เห็นกลุ่มคนทำหนังไต้หวันรุ่นใหม่ระลอกที่สาม แต่เราก็เห็นภาพชัดเจนแล้วว่า ภาพยนตร์จากเกาะไต้หวันที่เคยรับอิทธิพลจากคนทำหนังชาติอื่นมาตลอดได้ค้นพบตัวเองอย่างแท้จริง เห็นได้จากจำนวนหนังที่ผลิตในแต่ละปีของไต้หวันมีมากกว่า 50 เรื่องนับตั้งแต่ช่วงปี 2014 ที่ผ่านมา และคนทำหนังที่เริ่มต้นการทำงานที่นี่ก็กลายเป็นมาตรฐานให้กับคนทำหนังคนอื่นๆ ทั่วโลกแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
A Brief History Of Taiwan Cinema
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
Tsai Ming Liang ผู้กำกับชื่อก้องชาวไต้หวัน ผู้เข้มข้นไปด้วยความโดดเดี่ยว น้ำ และชายเชื่องช้า
Youtube Channel: Courier 12