หลังจากการประกาศของสำนักพิมพ์ openbooks ว่าจะมีการจัดจำหน่ายหนังสือวรรณกรรมทรงคุณค่าอย่างสิทธารถะ เขียนโดยเฮอร์มาน เฮสเซ ฉบับภาษาไทย ที่พิมพ์จำกัดจำนวนเพียง 1,000 เล่ม และเปิดโอกาสให้นักอ่านเข้าไปจับจองผ่านเว็บไซต์ ได้สร้างให้เกิดปรากฏการณ์คือ หนังสือทั้งหมดถูกจับจองภายในเวลาเพียง 12 ชั่วโมง
ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังจะเป็นเนื้อหาที่เปลี่ยนวิธีการมองโลกให้คนอ่าน สำนวนแปลภาษาไทยโดยอาจารย์สดใส หรือการออกแบบเล่มหนังสือที่เต็มไปด้วยความหมาย ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็กำลังตั้งคำถามต่อวงการหนังสือไว้อย่างน่าสนใจ
อย่างที่ในหน้าเพจ openbooks เขียนไว้ “จากสังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิด กลายเป็นอนันตาหรือความเวิ้งว้างไร้ตัวตนของจักรวาล” จากเนื้อหาที่ถูกสื่อสารด้วยภาพอย่างเฉียบคม การออกแบบครั้งใหม่ให้กับวรรณกรรมทรงคุณค่า ทำให้ The MATTER หาโอกาสพูดคุยกับ สันติ ลอรัชวี จาก PRACTICAL Design Studio ผู้รับหน้าที่ออกแบบและผลิตหนังสือเล่มนี้ด้วยความพิถีพิถันในทุกรายละเอียด ตัวหนังสือแต่ละตัวถูกจัดเรียงอย่างบรรจง สัมผัสกระดาษแตกต่างด้วยการคัดสรรจากกระดาษชั้นดีจากญี่ปุ่น ผลิตเป็นหนังสือปกแข็งที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของคนทำงานอยู่ภายใน ให้ผลลัพธ์เป็นหนังสือสำหรับนักอ่าน (Book Lover) ทุกคน
หนังสือที่มันอยู่กับเราได้นานคือหนังสือที่มันให้ความเปลี่ยนแปลงกับเราอยู่เสมอ มันบอกหรือสะท้อนต่อเราไม่เหมือนกันในแต่ละครั้ง มันดูเหมือนพยายามจะโตตามเรา ทั้งที่จริงๆ เราโตตามงานเขียนเช่นกัน
วันแรกของการเริ่มต้นทำหนังสือสิทธารถะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ผมกับคุณภิญโญ (ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ openbooks) พบกันครั้งแรกตอนผมกำลังจัดนิทรรศการเดี่ยวเมื่อปีพ.ศ. 2551 ผมเชิญให้คุณภิญโญมาเขียนเนื้อหาในสูจิบัตร ตอนนั้นยังไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แต่ตั้งใจไว้ว่าคนคนนี้ต้องมาเขียนหนังสือให้นิทรรศการนี้ให้ได้ เพราะความนับถือคนที่มีสถานการณ์ที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง เคารพในวิธีตัดสินใจตอนที่ปิดนิตยสารโอเพ่นในขณะที่มีการสนับสนุนด้านทุนเข้ามา เท่าที่จำได้คุณภิญโญให้เหตุผลกับผู้อ่านว่าถ้ารับทุนมา เขาก็จะไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำ เพราะคงต้องประนีประนอมกับเงื่อนไขอื่น เขาก็หยุดที่จะทำแล้วหาวิธีอื่นดีกว่า ผมประทับใจเพราะว่าการตัดสินใจที่น่ายกย่องนี้สอนและให้พลังกับผมได้ดี
หลังจากนั้นก็ติดต่อกันเรื่อยมา จนปีใหม่ที่ผ่านมานัดเจอเพื่อเอาหนังสือมาแลกกัน เลยคุยกันถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่จะทำหนังสือดีๆ สักเล่ม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าลักษณะของหนังสือในบ้านเรามันมีรูปแบบอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้บ้าง พิจารณาดูจากเงื่อนไขเหล่านั้นแล้วลองมาร่วมมือกัน ทำด้วยกันให้สนุกและมีความสุขด้วย เลยเริ่มต้นจากหนังสือที่เราชอบกันก่อน หนังสือเล่มที่มันมีอิทธิพลกับเรา หนังสือที่เราเชื่อว่ามันมีคุณค่า แล้วสิทธารถะก็เป็นเล่มที่ถูกพูดถึงขึ้นมา ปรากฏว่าเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นงานเขียนที่ใหญ่และมีอิทธิพลกับเรา ตัวผมเองอ่านสิทธารถะไม่ต่ำกว่า 5 รอบ ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงปัจจุบัน แล้วพบว่าหนังสือที่มันอยู่กับเราได้นานคือหนังสือที่มันให้ความเปลี่ยนแปลงกับเราอยู่เสมอ มันบอกหรือสะท้อนต่อเราไม่เหมือนกันในแต่ละครั้ง มันดูเหมือนพยายามจะโตตามเรา ทั้งที่จริงๆ เราโตตามงานเขียนเช่นกัน หนังสือเล่มนี้ช่วยขัดเกลาผมไม่น้อยในวิธีการมองโลก
เรื่องราวของสิทธารถะสะท้อนกับชีวิตของเราได้อย่างไร
เล่าแบบผม สิทธารถะเป็นเรื่องราวของคนสองคนที่เกิดในตระกูลพราหมณ์คือสิทธารถะและโควินทะ ทั้งคู่รู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างข้างนอกที่ต้องออกไปเรียนรู้และแสวงหา จะเป็นสัจธรรมหรือความจริงก็แล้วแต่ที่จะเรียกกัน จนทั้งสองคนเจอในสิ่งที่ศรัทธาแต่เลือกปฏิบัติกันคนละแบบ โดยระหว่างเรื่องดำเนินนั้นจะมีแม่น้ำสายหนึ่งที่คั่นระหว่างเมืองกับสิ่งที่สิทธารถะจากมา โดยมีวสุเทพเป็นคนแจวเรือพาข้ามฟาก เป็นชายพายเรือที่เข้าใจอะไรได้ดีราวกับนักปฏิบัติคนหนึ่ง วสุเทพบอกว่าเขาเรียนรู้จากแม่น้ำ นั่งเฝ้าฟังว่าแม่น้ำบอกอะไรกับคน
ในเนื้อเรื่องพูดถึงวิธีการได้มาของคำตอบ นั่นคือสิ่งที่ผมสนใจ โควินทะสนใจว่าได้อะไรมา แต่สิทธารถะสนใจว่าได้มาอย่างไร ในบางครั้งเราก็เป็นทั้งสองคนนี้ บางทีเราอาจกบฏหน่อย คิดอะไรแปลกหน่อย เราก็อาจจะเป็นอย่างสิทธารถะ แต่บางทีเราก็อยู่แบบโควินทะ ดูคล้ายกับทั้งสองคนจะอยู่ในตัวของเราที่เราต้องบาลานซ์ให้ได้ เวลาไหนควรฟัง เวลาไหนควรหา เวลาไหนควรจะทำอะไร ผมมองว่าทั้งสองคนนี้อยู่ในตัวเราเอง แล้วมันก็เป็นตัวตนของเราที่ทั้งสองคนอยากจะหลุดพ้น แต่ทิศทางในความอยากรู้ อยากเข้าใจ ผมเห็นสองอันนี้อยู่ในเนื้อเดียวกัน
ในช่วงเริ่มต้นออกแบบคิดอย่างไรบ้าง
ผมเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้อีกรอบจากกระดาษเอสี่ที่เป็นต้นฉบับ ซึ่งมันก็สะอาดขึ้น ไม่มีจริตของความเป็นรูปเล่ม ผมเริ่มมองใหม่และพบว่า ต้องคิดดีๆ กับการที่เราจะลงมือทำอะไรสักอย่างกับเล่มนี้ แล้วพบว่าวรรณกรรมนี้กระตุ้นและเขย่าความคิดของคน โดยเฉพาะตัวเองเองที่ได้รับผลพอสมควร เราก็อยากให้คนอ่านได้รับอะไรจากงานวรรณกรรมที่ดีขนาดนี้ ผมกลับไปทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างภาพกับเนื้อหา ในฐานะคนที่กำลังจะนำสิ่งที่เรียกว่าดีไซน์ผสมเข้าไปในงานเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโจทย์ที่ถูกเปิดโอกาสให้แสดงออกอย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้อัตตามันเยอะ ผมต้องดูแลให้ดี ไม่ทำตามอำเภอใจ แต่ใช้โอกาสที่ได้ให้มันออกมาอย่างที่ตั้งใจหรือเหมาะสมกับที่เราคิดว่ามันควรเป็นที่สุด ไม่ปล่อยให้ความอยากแสดงออกของตัวเองมันปรากฏมากเกินไปในหนังสือ
สมดุลอัตตาอย่างไร
ก่อนที่จะได้คุยกับพี่โญเพื่อทำหนังสือเล่มนี้ ผมก็ทำงานอดิเรกส่วนตัวคือการถ่ายรูปแม่น้ำเก็บไว้ ซึ่งก็คงมีบางส่วนที่สร้างแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้ ที่มีแม่น้ำเป็นเหมือนแกนกลางในการเล่าเรื่อง ความคิดแรกในการออกแบบหนังสือเล่มนี้ก็เริ่มต้นที่การมานั่งเลือกภาพถ่ายที่ถ่ายเก็บไว้แล้ว จนพบว่าการใช้ภาพถ่ายของเรามีปัญหา ตรงที่มันเต็มไปด้วยความคิดเห็นส่วนตัวของเรา ถึงแม้จะเป็นภาพแม่น้ำก็ตาม ทั้งอค์ประกอบ น้ำหนักภาพ ความขาวจัดหรือดำจัด เราเป็นคนปรุงมัน เราจัดการกับมันเยอะ แล้วเราก็ไม่ได้ถ่ายภาพขึ้นมาเพื่อหนังสือเล่มนี้ แต่ผมกำลังฉวยโอกาสเอาสิ่ง 2 สิ่งมาชนกัน โดยที่เราเป็นคนที่อยู่ในสถานะที่สบโอกาส ซึ่งก็เป็นหนึ่งในวิธีการในการทำงานออกแบบทั่วไปที่ผมใช้ แต่ไม่ใช่กับหนังสือเล่มนี้
การได้อ่านจนนำมาสู่การได้เป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดวรรณกรรมเรื่องนี้ ทำให้ผมไม่ได้มองแม่น้ำเป็นแค่แม่น้ำเมื่ออ่านจบอีกครั้งหนึ่ง พออ่านอีกครั้งแล้วก็พบว่าเรายึดติดกับแม่น้ำมากเกินไปรึเปล่า สิ่งที่เราทำนั้นไม่ใช่แค่แม่น้ำ เป็นสิ่งที่เราสมมติว่ามันเป็นแม่น้ำ
ถ้าว่าในเชิงความหมาย ภาพถ่ายแม่น้ำที่มีอยู่ก็ให้ความหมายไว้ครบถ้วนอยู่แล้ว ทำไมถึงไม่เลือกใช้
การได้อ่านจนนำมาสู่การได้เป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดวรรณกรรมเรื่องนี้ ทำให้ผมไม่ได้มองแม่น้ำเป็นแค่แม่น้ำเมื่ออ่านจบอีกครั้งหนึ่ง พออ่านอีกครั้งแล้วก็พบว่าเรายึดติดกับแม่น้ำมากเกินไปรึเปล่า สิ่งที่เราทำนั้นไม่ใช่แค่แม่น้ำ เป็นสิ่งที่เราสมมติว่ามันเป็นแม่น้ำ เหมือนกับหลายๆ อย่างที่เราค้นพบว่าเมื่อเราติดยึดกับคำสอน สาระของคำสอนก็จะสลายกลายเป็นเพียงสิ่งที่เราติดยึดกับมัน ซึ่งเราอาจมองไม่เห็น หรือถ้าเราติดยึดกับวิธีการ เราจะพบว่าวิธีการนั้นจะพาเราไปในอีกขั้วจนเราอาจจะไม่ค้นพบประโยชน์ในคำสอนเลย
ผมว่าทุกอย่างที่ปรากฏในบทสนทนาในหนังสือ เป็นสิ่งค่อนข้างละเมียดละไมจนเราสามารถที่จะมองในแบบที่เรามองเห็นได้ ผมว่าเรากำลังรักษาสมดุลย์กับการชี้นำในเชิงภาพให้กับผู้อ่าน พอเรามีความต้องการแล้วว่าภาพในเล่มนั้นต้องมีความพอดี พอดีในที่นี้ผมให้ความหมายว่าต้องมีความชัดเจนไม่มากนักว่าคืออะไร อาจจะพูดแค่ว่าหนังสือเล่มนี้ดูเหมือนแม่น้ำจะมีสาระสำคัญ ‘สำคัญอย่างไร’ ก็เป็นเรื่องที่ผมเองไม่ขยายความต่อไปอีก
แนวคิดในการออกแบบจึงต่อยอดมาจากการให้ความหมายกับภาพตัวแทนใช่หรือไม่
ผมกลับมาสู่การนั่งทบทวนตัวเอง เจอและเข้าใจกับการงานที่ทำเพิ่มขึ้นพอสมควร ผมเริ่มสนใจการทำงานเพียงแค่ในระดับที่เรียกว่าปลุกประสาทสัมผัส ไม่ได้สื่อสารความหมายแต่ทำให้รู้สึกบางอย่าง แล้วผมรู้สึกว่าเป้าหมายนี่อาจจะเหมาะสมกับหนังสือเล่มนี้ เพราะผมอยากปลุกประสาทสัมผัสบางอย่างให้ตื่นขึ้นมาในเชิงความหมาย คือผู้อ่านอาจไม่ได้รับความหมายจากงานออกแบบ แต่การออกแบบเชิงภาพและสัมผัสจะทำหน้าที่กระตุ้นให้เข้าไปหาความหมายในงานเขียน แล้วตัวอักษรจะรับหน้าที่ต่อ คำถามคือภาพแบบไหนที่ให้คุณสมบัติเหล่านี้อยู่ได้บ้าง ผมเลยตัดสินใจสร้างตัวแทนของแม่น้ำ ผมต้องการดึงความหมายที่หลากหลายให้มันกว้างเพิ่มขึ้นอีกหน่อย เพื่อมีพื้นที่ให้สารบางอย่างเข้าไปเติมได้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะปล่อยให้สิ่งหนึ่งมีความหมายลดลง เพื่อให้สารอื่นๆ เข้าไปแทรกแซงมันได้ในระดับหนึ่ง เลยเกิดความคิดทดลองกับกระดาษเป็นสื่อ (ต้นแบบกระดาษยับสร้างสรรค์โดย กนกนุช ศิลปวิศวกุล และถ่ายภาพโดย พิชาญ สุจริตสาธิต)

facebook.com/openbooks2
เราเอาสิ่งที่ไม่ใช่น้ำมาจำลองให้มันดูคล้ายแม่น้ำ ขณะที่เราสร้างภาพ สิ่งที่ทำคือบริหารจัดการแสงและเงาให้ภาพ การทำกระดาษยับคือการสร้างแสงและเงาให้กับพื้นผิวของกระดาษเรียบ คอนทราสที่ชัดขึ้นมาก็กลายเป็นเงื่อนไขให้สิ่งนั้นๆ เป็นตัวแทนของสิ่งที่ทำให้คนรับรู้ได้ ผมและช่างภาพที่ถ่ายก็พยายามทำทุกอย่างให้กระดาษกลายเป็นแม่น้ำ แต่พบว่ายิ่งทำมากเท่าไหร่มันก็ยิ่งไม่เป็น แต่เมื่อลองมามองดูดีๆ ในกระบวนการนี้มันจะถูกมองเป็นอะไรได้ไม่มากนัก หนึ่งคือ มองเป็นกระดาษยับ สองคือ มองเป็นกระดาษยับที่เหมือนแม่น้ำ สามคือ มองเป็นภูเขาน้ำแข็ง แล้วผมอยากได้ทั้งหมด เมื่อมองภาพแล้วมันจะมีความคลุมเครือของทั้งสามอย่างนี้ในหัวเรา แต่ท้ายที่สุดถ้าสมองเราจะตัดสินให้มันคว่ำไปทางหนึ่ง แล้วผมอยากให้มันคว่ำไปที่แม่น้ำ ส่วนของแต่ละบทก็คือส่วนหนึ่งของแม่น้ำแต่ละสาย คือแนวคิดของหนังสือเล่มนี้ที่ให้มันเป็นสายน้ำ

facebook.com/openbooks2
ในคำนำผู้ออกแบบ มีการกล่าวถึง ‘ที่ว่าง สีขาว พื้นที่’ สิ่งเหล่านี้ปรากฏในการออกแบบหนังสือเล่มนี้อย่างไรบ้าง
พื้นที่เริ่มต้นคือกระดาษสีขาวที่มันว่าง เกือบทุกครั้งที่งานเราเริ่มต้นจากตรงนั้น มันเป็นโจทย์เดิมๆ ที่จำเป็นต้องตอบใหม่เสมอ หนังสือเล่มนี้ถูกจัดการเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง ตั้งแต่โครงสร้างของหนังสือ การจัดหน้าและตัวอักษร รวมถึงส่วนที่เป็นภาพ ผมเริ่มสเก็ตช์หนังสือเล่มนี้จากโครงสร้างหนังสือ ไม่ได้เริ่มจากภาพหรือเลย์เอ้าท์ เพราะฉะนั้นผมจะคิดงานภายใต้ยกกระดาษ ใช้ความรู้ที่เคยเรียนจากการทำหนังสือที่ผ่านมาเพื่อหาว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ต้องมีการบริหารจำนวนบทแต่ละบทให้เข้ากับจำนวนกระดาษยก เพื่อที่แต่ละยกต้องถูกหุ้มด้วยภาพแม่น้ำ 12 ภาพ หนังสือเล่มนี้จึงมีที่ว่างพอสมควร เวลาอ่านจบบางบทก็มีหน้าเหลือเป็นที่ว่างหลายหน้า ก็ปล่อยให้เป็นไปตามเงื่อนไขของเล่ม
ออกแบบหนังสือ นอกเหนือจากการออกแบบปก ภาพ และรูปเล่มแล้ว ผมและผู้จัดหน้าจะดูแลทุกบรรทัดว่าตัดคำอย่างไร เว้นแค่ไหน หยุดเมื่อไหร่ ร่วมกับทาง openbooks กันอย่างใกล้ชิด เราพยายามคิดว่าหนังสือเล่มหนึ่งสามารถพิถีพิถันได้ขนาดไหน
การออกแบบครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงการออกแบบหน้าปก แท้จริงแล้วเป็นการออกแบบอะไร
ออกแบบหนังสือ นอกเหนือจากการออกแบบปก ภาพ และรูปเล่มแล้ว ผมและผู้จัดหน้าจะดูแลทุกบรรทัดว่าตัดคำอย่างไร เว้นแค่ไหน หยุดเมื่อไหร่ ร่วมกับทาง openbooks กันอย่างใกล้ชิด (หนังสือเล่มนี้จัดหน้าและตัวอักษรโดย ณัฐพล โรจนรัตนางกูร) เราพยายามคิดว่าหนังสือเล่มหนึ่งสามารถพิถีพิถันได้ขนาดไหน หากมองว่าหนังสือเล่มนี้ดำเนินเรื่องสอดคล้องกับวิธีคิดแบบพราหมณ์ที่พูดถึงบุคคลในฐานะช่วงชีวิต (อาศรม 4) ก็ทำให้มองเปรียบเหมือนชีวิตคนหนึ่งคน คำถามคือทำอย่างไรให้หนังสือเป็นเหมือนช่วงชีวิตคน เรากำลังบริหารจัดการความเป็นส่วนหนึ่ง (part) และความเป็นทั้งหมด (wholeness) หน้าแต่ละหน้าจะสัมพันธ์กับความเป็นเล่มอย่างไร ความเหมือนความต่าง ความเชื่อมโยงและต่อเนื่องกัน เป็นต้น
การที่เราออกแบบหนังสือให้คนอ่าน ทำให้ผมมักจะคิดถึงว่าเขาจะอ่านมันอย่างไร และเราจะประคับประคองสิ่งที่เราได้รับหนังสือเล่มนี้ต่อไปอย่างไร วรรณกรรมกับรูปแบบของหนังสือจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ในกรณีนี้ผมว่าสองอย่างนี้ต้องไม่รบกวนกันมากเกินไป รวมถึงในแง่การใช้งานด้วย ถึงแม้เล่มนี้จนถืออ่านจะไม่สบายเท่ากับเล่มแรกด้วยจำนวนหน้าที่มากกว่า แต่ว่าการเปิดเข้า-ออก เราคิดตั้งแต่ขนาดที่สัมพันธ์กับมือ ระยะของการอ่านแต่ละบรรทัด และความอยากให้เด็กรุ่นใหม่อ่านได้ ผู้ใหญ่ก็อ่านได้ด้วย ขนาดตัวหนังสือก็เป็นเรื่องสำคัญ
สิ่งที่เรียนรู้จากการทำงานที่พิถีพิถันขนาดนี้ ได้อะไรมาบ้าง
ได้การบริหารจิตใจตัวเอง สำหรับผมงานนี้ยากตรงที่การต้องบริหารใจ เพราะโจทย์กว้าง ดูเหมือนเราจะทำอะไรก็ได้ แล้วก็เชื่อว่าจะไม่มีใครทักท้วงระหว่างทาง มันมีทางเลือกและความเป็นไปได้หลายทาง ได้เรียนรู้ว่าการทำให้เต็มที่นั้นไม่ได้แปลว่าต้องทำทุกอย่าง ความเต็มที่คือการทำให้พอดีที่สุด เราอาจจะคิดว่าน่าจะเป็นแบบนั้นหรือแบบนี้ แต่เราจะลงมือทำแค่ไหนพอก็เป็นเรื่องยากเสมอ เราต้องค่อยๆ ลดทอนออกไป ไอเดียที่คิดตอนแรกนั้นเต็มไปหมด แล้วก็ค่อยๆ แกะออก ความยากอยู่ที่การอย่าให้มันเกิน ไม่มีใครตอบได้ ต้องคอยดูแลตัวเราเอง
ปรากฏการณ์ที่สั่งจองหมด 1,000 เล่ม ใน 12 ชั่วโมงบอกอะไรบ้าง
4 ทุ่มของวันที่จองผมกับพี่โญก็ส่งไลน์หากัน มีอาการคล้ายๆ กันคือเกิดความคิด ผมคิดอะไรไม่รู้ แล้วพยายามจะคิดหาว่าปัจจัยคืออะไร การที่เราเปิดจำหน่ายหนังสือที่บางคนไม่เคยอ่าน บางคนไม่รู้จักผู้เขียนมาก่อนเลยด้วยซ้ำ
การขายหมดภายใน 12 ชั่วโมง นอกเหนือจากความดีใจที่เกิดขึ้นฉับพลันแล้ว มีความอยากรู้ว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ความสนใจของคนเกิดขึ้นกับหนังสือแล้วยอมจ่าย คุณค่านั้นคืออะไร เราอยากได้ความคิดตรงนั้น แล้วผมว่ามันเป็นทางเดิน แท้จริงมีแกนบางอย่างที่สะท้อนให้เราเห็นว่ามีคนยังต้องการหนังสือ สิ่งที่ปรากฏกับมูลค่าที่เสนอออกไป ผมคิดว่ามันสบพอดีกันในจังหวะเวลาที่เหมาะเจาะ ที่เหลือเราต้องมานั่งทบทวนกันว่า ทำอย่างไรที่เราจะทำสิ่งนี้แล้วอยู่ในระดับที่คนให้คุณค่า นี่ก็คงจะเป็นการบ้านที่น่าสนใจต่อไป