‘อามิดามารุ โหมดลูกไฟวิญญาณ! รวมวิญญาณ!
พร้อมหรือยัง!’
นับตั้งแต่ที่ตัวอย่างอนิเมะ Shaman King ราชันย์แห่งภูต ฉบับปี ค.ศ.2021 ออกอากาศให้คนการ์ตูนทั่วโลกได้เห็นกัน ความรู้สึกทั้งกลุ่มนักอ่านยุคเก่าที่เคยอ่านมังงะเรื่องนี้มาตั้งแต่ครั้งที่สมัยตีพิมพ์ลงในนิตยสาร C-Kids กับคนติดตามอนิเมะยุคใหม่ที่อาจจะแค่รับทราบว่า เรื่องนี้มีคอนเซปต์ที่น่าสนใจ และตัวมังงะเองก็มี ‘ตำนาน ‘อะไรบ้างอย่างอยู่
แต่เรื่องจากตัวอนิเมะฉบับปี ค.ศ.2021 ที่มีเจตนาจะดัดแปลงเนื้อหาตามมังงะต้นฉบับให้ครบถ้วน (อนิเมะชุดแรกในปี ค.ศ.2001 นั้นมีการดัดแปลงเนื้อหาต่างจากมังงะต้นฉบับ) และตอนที่เขียนบทความนี้ ทาง Netflix เพิ่งนำมาฉายเพียงแค่ 13 ตอน หรือ ราว 1 ใน 4 ของเรื่อง เท่านั้น จึงอาจจะไม่เป็นการดีนักที่จะพูดถึงอนิเมะที่ยังฉายกันอีกระยะใหญ่
เราเลยคิดว่า จะชวนไปพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวของอาจารย์ฮิโรยูกิ ทาเคอิ (Hiroyuki Takei) และผลงานเรื่องอื่นๆ ที่นำไปสู่ตัวตนที่สร้าง Shaman King กัน
ก่อนจะที่จะเป็นนักเขียน ฮิโรยูกิ ทาเคอิ เป็นเด็กชายที่เกิดในปี ค.ศ.1972 และอาศัยอยู่ในเมืองโยโมงิตะ จังหวัดอาโอโมริ การพบกันของเขากับการ์ตูนเริ่มจากการติดตามนิตยสารมังงะ CoroCoro Comic ที่เจาะกลุ่มตลาดเด็กประถม คล้ายๆ กับเด็กในประเทศญี่ปุ่นทั่วไป
แต่ผลงานที่ทำให้เขาประทับใจมังงะมากขึ้นก็หลังจากการที่ได้อ่านผลงานเรื่อ Mashonen B.T. ของอาจารย์อารากิ ฮิโรฮิโกะ (Araki Hirohiko) ซึ่งผลงานเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นงานผลงานระยะยาวเรื่องแรกของอาจารย์อารากิด้วย เพราะมังงะข้างต้นนี่เองที่ทำให้อาจารย์ฮิโรยูกิ ที่ตอนแรกตั้งใจจะโตขึ้นเป็นพนักงานกินเงินเดือนปกติ เริ่มชื่นชอบการวาดรูปมากขึ้น
และเมื่อถึงช่วงที่อาจารย์ฮิโรยูกิ เข้าเรียนชั้น ม.ต้น อาจารย์ก็ได้ส่งภาพวาดเข้าประกวดดีไซน์รถคันใหม่ในผลงานเรื่อง Dash! Yonkuro เจ้าหนูทามิย่า ที่ตอนนั้นตีพิมพ์ในนิตยสาร CoroCoro Comic ซึ่งผลงานการออกแบบของอาจารย์ เป็น 1 ใน 3 ผลงานได้รับการคัดเลือก จากภาพที่เข้าประกวดกว่า 30,000 ภาพ
อย่างไรก็ตาม ดีไซน์รถของอาจารย์ไม่ได้โดนนำไปใช้งานในมังงะ แต่ถูกใช้เป็นร่างให้กับดีไซน์รถ Dash 3-Gou Shooting Star นอกจากนั้น เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นการแสดงออกถึงความชื่นชอบในงานด้านยานยนต์ที่จะส่งผลต่ออาจารย์ในภายหลัง
ชีวิตในฐานะนักวาดมังงะแบบเต็มตัวของอาจารย์เริ่มต้นขึ้น หลังจากที่อาจารย์ย้ายมาอาศัยอยู่ในกรุงโตเกียวในช่วงวัย 18 ปี และมีลูกชายในช่วงอายุ 20 ปี ด้วยเหตุนี้อาจารย์จึงพยายามหางานที่มั่นคง และได้ลองสมัครเป็นผู้ช่วยนักเขียนของอาจารย์ซากุระ ทากามิจิ (Sakura Takamichi) ในช่วงวัยดังกล่าว
นับตั้งแต่เริ่มงานเป็นผู้ช่วยนักเขียนตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 อาจารย์ฮิโรยูกิ ก็เริ่มเขียนผลงานเรื่องสั้นเพื่อเข้าชิงรางวัลต่างๆ จนกระทั่งในช่วงปี ค.ศ.1994 ผลงานเรื่อง Itako No Anna ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดรางวัลเทะสึกะครั้งที่ 48 และการได้รางวัลดังกล่าวทำให้อาจารย์ฮิโรยูกิ ได้มีโอกาสทำงานกับสังกัดชูเอย์ฉะ และทำให้อาจารย์ย้ายมาเป็นผู้ช่วยนักเขียนของอาจารย์วาซึกิ โนบุฮิโร (Watsuki Nobuhiro) ที่ตอนนั้นวาดผลงานเรื่อง ซามูไรพเนจร อยู่
โดยเพื่อนร่วมงานผู้ช่วยของอาจารย์ฮิโรยูกิช่วงนั้น มีนักเขียนมืออาชีพในอนาคตทำงานด้วยหลายท่าน อาทิ อาจารย์ชินกะ กิน ผู้เขียนเรื่อง Oni Ga Kitarite เทวอสูร ผู้ล่วงลับ, อาจารย์อิโต มิกิโอะ (Itoo Mikio) ผู้เขียนมังงะหลายเรื่อง อาทิ กรานาด้า วิทยาการสุดขอบโลก และอาจารย์เออิจิโร่ โอดะ (Eiichirō Oda) ผู้เขียน One Piece ด้วยเหตุที่ทั้งตัวนักวาดกับผู้ช่วยที่มีอายุใกล้ๆ กัน เลยทำให้ชายหนุ่มทั้งหลายต่างสิงสู่ในที่ทำงานจนดึกดื่น พูดคุยกันเกี่ยวกับการสร้างงานมังงะอย่างร้อนแรง ต่างคนต่างเป็นแรงบันดาลใจให้ผลักดันงานที่เอกเทศของตัวเองขึ้นมา
และระหว่างที่เป็นผู้ช่วยนี่เองที่ อาจารย์ฮิโรยูกิ ทาเคอิ ก็เขียนเรื่องสั้น เสนอทางนิตยสาร Shonen Jump รายสัปดาห์ โดยใช้แนวคิดการเล่าเรื่องที่ในช่วงนั้นยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทำให้อาจารย์ตัดสินใจ ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องราวของตัวละครที่อยู่ใกล้ชิดโลกหลังความตายเหมือน Itako No Anno เรื่องสั้นดังกล่าวชื่อว่า Death Zero เดธเซโร่ นักบินเครื่องบินเซโร่ ที่ฟื้นกลับมาจากความตายเพื่อชำระความแต้นและความรัก แต่ผลงานดังกล่าวไม่ได้ถูกคัดเลือกให้ทำเป็นเรื่องยาว
ในที่สุดความสำเร็จเริ่มมาถึงอาจารย์ฮิโรยูกิ เมื่อผลงานเรื่องสั้น เรื่องต่อมา รับเอาบรรยากาศของการ์ตูนต่อสู้จากผลงานสายหลัก แต่ก็ยังเก็บเอาแนวคิดและตัวตนของตนเองที่เคยเพาะเมล็ดไว้ในผลงานเรื่องไว้ก่อนหน้าเอาไว้ จนกลายเป็นผลงานเรื่องสั้นที่เล่าเรื่องของพระพุทธรูปผู้มาต่อสู้เพื่อปกป้องผู้คนชื่อ Butsu-Zone เซนจู เทวฤทธิ์พันมือ
ผลงานเรื่องสั้น เรื่องหลังนี่เองที่ถูกใจทางกองบรรณาธิการ และมีการปรับเส้นเรื่องกันอีกเล็กน้อยเพื่อให้ทำเป็นผลงานเรื่อวยาวได้ง่าย แต่ยังคงเก็บเอาชื่อเรื่อง Butsu-Zone เซนจู เทวฤทธิ์พันมือ เดิมเอาไว้ โดยตัวเรื่องยาว มีการเพิ่มปมเรื่องไปว่า เซนจู จะต้องทำการปกป้องเด็กหญิง ไซกัน ซาจิ ให้ไปถึงประเทศอินเดียได้อย่างปลอดภัย เพราะเธอคือ ‘มิโรคุ’ (Miroku Bosatsu หรือ พระศรีอารยเมตไตรย) หรือพระพุทธเจ้าองค์ถัดไป
Butsu-Zone เซนจู เทวฤทธิ์พันมือ เริ่มตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.1997 และอวสานในช่วงปีเดียวกัน มีจำนวน รวมเล่ม ทั้งหมด 3 เล่ม ทั้งนี้เพราะในช่วงนั้นมีผลงานมังงะจำนวนมากที่ฟอร์มดีลงตีพิมพ์อยู่ อย่างในปีเดียวกันนั้นเอง One Piece, I’s และ Rookies ก็เพิ่งตีพิมพ์ ยังไม่นับผลงานอื่นๆ ที่ลงตีพิมพ์ในช่วงก่อนหน้านั้น
ขอย้อนไปพูดถึงกลุ่มนักเขียนที่ทำงานเป็นผู้ช่วยของอาจารย์ฮิโรยูกิร่วมกัน เพราะในช่วงปี ค.ศ.1997 แทบทุกคนมีผลงานของตัวเองกันคนละเรื่องถึงสองเรื่องแล้ว นักเขียนกลุ่มนี้จึงอ้างอิงถึงเพื่อนในกลุ่มกันอยู่เป็นระยะ อย่างตัว อาจารย์ฮิโรยูกิ เคยวาดรูปโปสเตอร์หนังสยองขวัญที่อยู่ในผลงานของอาจารย์ว่านำแสดงโดย อิโต้ มิกิโอะ, อาจารย์อิโต้ มิกิโอะ เคยเขียนเรื่องสั้นเล่มเดียวจบที่ใช้ชื่อว่า Getsuyoubi no Rival – Mega Hit Manga Gekitou-ki อ้างอิงตัวละครในเรื่องมาจากกลุ่มนักเขียนในช่วงเวลานั้น, ตัวอาจารย์วาซึกิ โนบุฮิโระ เคยเขียนระเบิดที่มีตราหัวกะโหลกของกลุ่มโจรสลัดหมวกฟางในเรื่อง, อาจารย์โอดะ เออิจิโร่ เขียนตัวละครชื่อ อิโต้ มิคิโอะ เป็นมือปืนที่มีค่าหัวเป็นเงินเยน (ไม่ใช่เบรี) และเมื่ออาจารย์ชินกะ กิน เสียชีวิต อาจารย์โอดะ ก็ได้เปลี่ยนสีกระดาษตอนเปิดของ One Piece ตอนที่ 233 เป็นพื้นสีดำ แทนที่จะใช้สีขาว เพื่อเป็นอุทิศให้เพื่อนร่วมรุ่นที่จากไป
กลับมาที่เรื่องของอาจารย์ฮิโรยูกิ ทาเคอิ กันต่อ หลังจาผลงานชิ้นยาวเรื่องแรกถูกตัดจบลง อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ไอเดียของเรื่องต่อมาที่เป็น คนทรงหรือชาแมน มาจาก ‘ประกายแสง’ ซึ่งน่าจะมาจากการที่งานก่อนหน้าของอาจารย์ก็มีองค์ประกอบเกี่ยวกับคนทรงมาบ้างแล้ว ส่วนที่มาที่ไปของตัวละครเอกนั้น อาจารย์ฮิโรยูกิ กล่าวว่าดึงส่วนหนึ่งมาจากตัวอาจารย์เอง และด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้อาจารย์เข้าใจถึงความจำเป็นสร้างตัวละครรอบข้างให้มีประเด็นขัดแย้งแต่ก็ต้องมาร่วมกันให้สมกับความเป็นการ์ตูนโชเน็นเข้ามา โดยไม่ละทิ้งความเป็นปัจเจกที่ตัวเองมีไป
ด้วยเหตุข้างต้นทำให้ Shaman King ราชันย์แห่งภูต จึงถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Shonen Jump ในช่วงกลางปี ค.ศ.1998 ผลงานดังกล่าวบอกเล่าเรื่องของ อาซาคุระ โย เด็กหนุ่มที่เป็นชาแมน และถูกคนในตระกูลกำหนดว่าจะต้องเข้าร่วม ชาแมนไฟท์ ที่จะเกิดขึ้นทุกๆ 500 ปี อย่างไรก็ตามการต่อสู้นี้ มีเดิมพันยิ่งใหญ่กว่านั้น เพราะว่า ฮาโอ ผู้เป็นบรรพบุรุษของโยที่กลับชาติมาเกิดใหม่ในฐานะคู่แฝด ผู้มีพลังมหาศาล ทั้งยังต้องการทำลายล้างชาแมนทั้งหมด เป้าหมายของโยกับพรรคพวกจึงต้องเป็นการพยายามยับยั้งแผนการร้ายของฮาโอ แต่จะด้วยวิธีไหนกัน
เมื่อผลงานได้รับชื่อเสียง Shaman King จึงถูกนำไปสร้างเป็นฉบับอนิเมะออกฉายในปี ค.ศ.2001 และได้นักพากย์ชื่อดังหลายคน มาร่วมงาน อาทิ คุณยูโกะ ซาโต้ (Yuko Sato) รับบท อาซาคุระ โย, คุณคุณเมงุมิ ฮายาชิบาระ (Megumi Hayashibara) รับบท เคียวยามะ แอนนา, คุณอินุโกะ อินุยามะ (Inuko Inuyama) รับบท มันตะ โอยามาดะ หรือคุณมินามิ ทาคายามะ (Minami Takayama) รับบท ฮาโอ
ตามที่แจ้งไว้ตั้งแต่ช่วงต้นบทความว่า อนิเมะฉบับปี ค.ศ.2001 นั้นเดินเรื่องเป็นออริจินัล เนื่องจากตัวมังงะต้นฉบับยังเดินเรื่องไม่จบดี พอเนื้อหาอนิเมะในตอนท้ายจึงฉีกออกจากมังงะไปอย่างยิ่ง แต่ก็ถือว่าเป็นผลงานที่ได้รับความนิยมจากคนดู ไม่ใช่แค่เฉพาะในบ้านเกิด แต่จากประเทศอื่นๆ อีกด้วย
มังงะ Shaman King ราชันย์แห่งภูต ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร Shonen Jump รายสัปดาห์ จนถึงช่วงปี ค.ศ.2004 ซึ่งในช่วงนั้น ผลงานมังงะหลายเรื่องที่ได้รับความนิยมสูง อาทิ One Piece, Bleach เทพมรณะ, The Prince Of Tennis, Naruto นินจาคาถาโอ้โหเหะ และ Hunter X Hunter จึงทำให้ Shaman King ที่กระแสแผ่วลง เพราะตัวเนื้อหาเริ่มมีการต่อสู้ในเชิงปรัชญาแนวคิดมากขึ้น จึงโดนตัดสินให้ตัดจบอีกครั้ง
ซึ่งฉากจบดังกล่าว จบลงที่ตอนที่ 284 ราตรีสวัสดิ์ พร้อมฉาก ‘ปาหมอน’ ที่กลายเป็นตำนานเลื่องลือกันในหมู่นักอ่าน แต่เมื่อมีการรวมเล่มในฉบับที่ 32 ก็มีตอนแถมสั้นๆ เพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง ที่บ่งบอกชัดเจนว่า มังงะเรื่องนี้ จะมีตอนต่อให้ติดตามกัน
กระนั้นกว่าตอนจบที่แท้จริงของ Shaman King ราชาแห่งภูต จะมาถึง ก็ต้องใช้เวลาอยู่ระยะหนึ่ง ส่วนหนึ่งเพราะอาจารย์ได้ทำการเขียนเรื่องสั้นขื่อ Juuki Ningen Jumbor ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ Jumbor ชายหนุ่มที่เสียชีวิตและถูกดัดแปลงเป็นมนุษย์จักรกล ตัวงานดูแล้วออกจะเป็นการทดลองทำอะไรใหม่ๆ และมีเนื้อหาสั้นๆ เพียงแค่เล่มเดียวจบ
และเหตุผลอีกส่วนคือ ตัวอาจารย์ฮิโรยูกิ ทาเคอิ เริ่มเข้าใจในแนวทางการทำงานของตัวเองมากขึ้น เพราะก่อนหน้านั้นอาจารย์เขียนงานส่วนหนึ่งเน้นความเท่ จากสิ่งที่ตัวอาจารย์ชอบ (อย่างเช่น ตัวละครกลุ่ม X-Laws ที่ใช้ รถยนต์ซูเปอร์คาร์ แล้วมีร่างแปลงคล้ายกับหุ่นยนต์ ก็มาจากความชอบของอาจารย์เอง) และอาจารย์พยายามหาทางเล่าเรื่องในเชิงศิลป์มากขึ้น
อย่างที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ‘มังงะมักจะถูกมองว่าเป็นเหมือนขนม เป็นสื่อบันเทิงแบบเรียบง่าย สิ่งที่มีไว้เพื่อความสนุกเป็น อย่างไรก็ตามผมคิดว่ามันน่าจะดีกว่าถ้ามันนำพาคนอ่านไปสู่บางสิ่งได้ เป็นบางสิ่งที่นำมาแง่คิดบวก ผมไม่คิดว่าต้องเป็นความรู้ แต่เป็นสติปัญญาแทน’
สุดท้าย Shaman King ฉบับ Kanzenban หรือที่คนไทยอาจจะคุ้นในชื่อ Shaman King ฉบับ Big Book ก็เริ่มวางจำหน่ายในปี ค.ศ.2008 และวางจำหน่ายเล่มที่ 26 กับ 27 ที่มีเนื้อหาใหม่เพิ่มเติมในช่วงปี ค.ศ.2009 ซึ่งคราวนี้ เล่าเรื่องราวถึงจุดที่ โย กับ เพื่อน สามารถเอาชนะ ฮาโฮ ได้ ด้วยแนวคิดที่เอาชนะด้วยความเข้าใจกันมากขึ้น
เพราะตามท้องเรื่องแล้ว ฮาโอ พลังสูงส่งจนยากจะจัดการได้ มีแต่การทำให้เขาเข้าใจว่า การเป็น ‘ราชันย์แห่งภูต’ นั้นมีความสำคัญอย่างไรกับโลกนี้มากกว่าการส่งใช้พลังและความเกลียดชัง
และนี่ก็ยังไม่ใช่ผลงานเรื่องสุดท้ายในฝั่ง Shaman King แต่อย่างใด
ในช่วงปี ค.ศ.2009 นี้เอง อาจารย์ฮิโรยูกิ ยังได้ทำงานที่เกี่ยวพันกับปรัชญาความเชื่อของโลกตะวันตก แต่มีดีไซน์โครงเรื่องมาจากฟากตะวันออกอีกเรื่อง กับผลานมังงะเรื่อง Ultimo มหาสงครามตุ๊กตากล ซึ่งมี คุณสแตน ลี นักเขียนการ์ตูนฝั่งอเมริการะดับตำนาน จากการสร้างผลงานให้ค่าย Marvel จำนวนมากเป็นผู้คิดโครงเรื่อง ส่วนอาจารย์ฮิโรยูกิ ทำหน้าที่วาดภาพและลงรายละเอียดเนื้อหาปลีกย่อยอื่นๆ ทั้งหมด
ตัวเรื่องราวจึงกลายเป็นการพบกันระหว่าง ยามาโตะ กับ อัลติโม่ ตุ๊กตากล คาราคุจิฝ่ายดี ที่ต้องเข้าไปพัวพันกับการต่อสู้ข้ามห้วงเวลาเพื่อตัดสินว่า ฝ่ายดีที่อ้างอิงจาก บารมี 6 กับฝ่ายชั่วที่อ้างอิงมาจาก บาป 7 ประการ โดยมีชายชราลึกลับผู้ชักใยเรื่องราวอยู่เบื้องหลังจึงเริ่มขึ้น
และในช่วงปี ค.ศ.2009 เช่นกัน อาจารย์ฮิโรยูกิ ก็ได้มีโอกาสได้วาดมังงะเรื่อง Jumbor อีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ได้อาจารย์มิคามิ ฮิโรมาสะ ทำหน้าที่แต่งเรื่องให้แทน โดยระบุว่าเนื้อเรื่องเป็นภาคต่อจากฉบับเรื่องสั้นก่อนหน้านี้ และเป็นการต่อสู้กันระหว่างมนุษย์เครื่องกลที่กลุ่มหนึ่งต้องการล้างบางมนุษย์แต่อีกกลุ่มหนึ่งต้องการปกป้องมนุษย์แทน โดยผลงานทั้งสองเรื่องถูกตีพิมพ์คู่กันในนิตยสารคนละเล่มเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยตัว Ultimo มหาสงครามตุ๊กตากล ถูกเขียนจนถึงตอนอวสานในช่วงปี ค.ศ.2015 ส่วน Jumbor หยุดเขียนมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2014 และยังไม่มีตอนต่อให้ติดตามจนถึงปัจจุบันนี้
ย้อนกลับมากันที่เกริ่นไว้ว่า Shaman King ยังไม่อวสานเสียทีเดียว เพราะในช่วงปี ค.ศ.2011 จนถึงปี ค.ศ.2014 อาจารย์ ฮิโรยูกิ ทาเคอิ ได้เขียน Shaman King 0 และ Shaman King Flowers ลงในนิตยสาร Jump X (อ่านว่า จัมพ์ไค) รายเดือน ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักอ่านมังะสายเซย์เน็น
ตัวเนื้อหาของ Shaman King 0 นั้นเล่าปมที่เกิดขึ้นก่อนท้องเรื่องหลัก ว่าทำไมตัวละครแต่ละตัวถึงตัดสินใจใช้ชีวิตในแบบที่เกิดขึ้น และเริ่มมีการเชื่อมโยงตัวละครจาก Butsu-Zone เซนจู เทวฤทธิ์พันมือ ว่าแท้จริงแล้วเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อน Shaman King
ส่วนตัว Shaman King Flowers นั้นเป็นเรื่องราวหลังจากภาคแรก 14 ปี อาซาคุระ ฮานะ ลูกชายของ โย กับ แอนนา เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น และต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับ ฟลาวเวอร์ ออฟ เมส (Flower of Maize) การต่อสู้ครั้งใหม่ของเหล่าชาแมน ที่ผู้ชนะสามารถต่อกรหรือขอพรกับชาแมนคิงโดยตรง และในภาคนี้มีการเชื่อมโยงเอาตัวละครจากเรื่องสั้น Death Zero เดธเซโร่ และเรื่องสั้น Itako No Anna ให้เกี่ยวพันกับตัวละครหลักอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ตัวนิตยสาร Jump X ได้ทำการปิดตัวลงในช่วงปลายปี ค.ศ.2014 จึงทำให้ตัวมังงะ Shaman King Flowers ถูกตัดจบโดยปริยาย
อาจารย์ฮิโรยูกิ ทาเคอิ กลับมาวาดผลงานใหม่อีกครั้งในช่วงปลายปี ค.ศ.2015 ตัวผลงานดังกล่าวชื่อว่า Nekogahara ที่เล่าเรื่องของโลกที่เหล่าแมว เป็นมีการแบ่งชนชั้นเป็นซามูไร, ขุนนาง และพวกแมวนั้นกำลังก่อสงครามกันอยู่ แต่ผลงานเรื่องนี้ กลับเปิดตัวในนิตยสาร Shonen Magazine Edge ของทางสังกัดโคดันฉะ แทนที่จะเป็นสังกัดเดิมกับอย่างชูเอย์ฉะ
Nekogahara ตีพิมพ์ในนิตยสาร Shonen Magazine Edege ตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 จนถึง ปี ค.ศ.2018 แม้ว่าในตอนท้ายจะมีนักอ่านทักท้วงอยู่บ้างว่าค่อยๆ เร่งเนื้อเรื่องไปสักหน่อย แต่ก็เล่าเนื้อหาหลักได้อย่างครบถ้วนอยู่พอสมควร
ย้อนกลับไปช่วงเดือนธันวาคมปี ค.ศ.2017 มีข่าวที่ชวนน่าแปลกใจเกิดขึ้น เพราะในปีดังกล่าว ได้มีการแจ้งว่าทางโคดันฉะได้ทำการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของ ‘Shaman King’ ทั้งใน ญี่ปุ่น, ยุโรป และสหรัฐอเมริกา สอดคล้องกับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่มีการถอนการวางจำหน่าย E-Book Shaman King ในประเทศญี่ปุ่น
ต่อมาในช่วงเดือนมกราคม ปี ค.ศ.2018 ทางโคดันฉะก็ได้เปิดเว็บไซต์ประกาศฉลองครบรอบ 20 ปี ของ Shaman King ราชันย์แห่งภูต และทำการประกาศว่าจะตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มใหม่อีกครั้ง และในช่วงเดือนเมษายน ปี ค.ศ.2018 ก็มีการยืนยันว่า Shaman King กำลังจะมีภาคต่อ และเป็นจังหวะเดียวกันกับที่มีข่าวว่าผลงานเรื่อง Nekogahara ดำเนินถึงตอนอวสานในเดือนพฤษภาคม
Shaman King The Super Star เริ่มตีพิมพ์ในนิตยสาร Shonen Magazine Edge ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.2018 โดยดำเนินเรื่องราวต่อจากทั้งฝั่งของ Shaman King Zero และ Shaman King Flowers หรือถ้าอธิบายโดยง่ายว่า เป็นภาคต่ออย่างแท้จริงก็ไม่ผิดนัก และเรื่องราวถูกเล่าโดยอ้างอิงแนวคิดทางปรัชญา หรือปมปัญหาภายในใจของตัวละครมากขึ้น ตามเจตนาที่อาจารย์เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังคงมีการโอเวอร์โซล ที่ยังแสดงให้เห็นถึงความคลั่งไคล้ในการออกแบบเครื่องจักรที่คนอ่านคุ้นเคยเช่นกัน
ในช่วงต้นปี ค.ศ.2018 ยังมีการเปิดตัวมังงะภาคสปินออฟอย่างเป็นทางการภาคแรกของ Shaman King ที่ใช้ชื่อภาคว่า Shaman King Red Crimson ตัวมังงะภาคดังกล่าวอาจารย์ฮิโรยูกิ ทาเคอิ ทำหน้าที่แต่งเรื่อง และได้อาจารย์เจ็ท คามามูระ ทำหน้าที่วาดภาพ โดยเนื้อหาจะโฟกัสเรื่องราวของ เต๋า จุน และผีดิบยอดนักกังฟู ลีไป่หลง ที่ต้องจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นภายในตระกูลเต๋า แต่ก็เกี่ยวพันกับตัวละครหลักทั้ง เต๋า เร็น และ โฮโรโฮโร ด้วย
ในช่วงที่ Shaman King มีอายุเข้าสู่วัย 20 ขวบปี จึงมีคนกลับมาถามกันว่ามีโอกาสที่จะสร้างอนิเมะฉบับใหม่หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ในช่วงปี ค.ศ.2015 คุณมารุยามะ มาซาโอะ ผู้ก่อตั้งสตูดิโออนิเมะ MAPPA เคยแสดงความเห็นว่าอยากจะสร้าง Shaman King
แต่ในช่วงปี ค.ศ.2017 อาจารย์ฮิโรยูกิ ทาเคอิ เคยออกมาตอบคำถามในทวิตเตอร์ว่า เคยได้รับข้อเสนอในการสร้างอนิเมะชุดใหม่มาก่อนแล้ว แต่ตัวอาจารย์เองที่เป็นคนปฏิเสธการสร้างเพราะทีมงานที่ติดต่อเข้ามาในช่วงนั้น ไม่สามารถเจรจาขอทีมนักพากย์และทีมผู้ทำดนตรีประกอบชุดเดิมกลับมาได้ เนื่องจากตัวอาจารย์ฮิโรยูกิมีความสนิทสนมกับทีมงานชุดเก่า
โดยเฉพาะ คุณฮายาชิบาระ เมงุมิ ผู้พากย์เสียง เคียวยามะ แอนนา และผู้ร้องเพลง Over Soul ในอนิเมะชุดเดิม ที่อาจารย์สนิทสนมจริงจังระดับที่ว่าไปเปิดเผยครั้งแรกว่ามังงะ Shaman King ราชันย์แห่งภูต ถูกตัดจบและมีความต้องการจะเขียนฉากจบที่แท้จริง ในรายการวิทยุของนักพากย์ท่านดังกล่าว
ถึงตอนนั้นจะไม่มีข่าวดีในการสร้างอนิเมะ แต่ตัวอาจารย์ฮิโรยูกิก็ยังคงทำงานด้านมังงะต่อไป เพราะในช่วงปี ค.ศ.2015 อาจารย์ได้รับหน้าที่ในการเขียนมังงะเรื่อง Hyper Dash! Yonkuro มังงะภาคกึ่งต่อ กึ่งตีความใหม่ของ Dash! Yonkuro เจ้าหนูทามิย่า ด้วยเหตุผลที่ว่าอาจารย์โทคุดะ เซารัส (ชื่อจริง – โทคุดะ ฮาจิเมะ) เจ้าของผลงานดั้งเดิมเสียชีวิตไปแล้ว
และอาจารย์ฮิโรยูกิถูกเลือกให้เขียนงานชิ้นใหม่ ส่วนหนึ่งเพราะอาจารย์เป็นหนึ่งในผู้ชนะการออกแบบรถในมังงะภาคดั้งเดิม (ตามที่กล่าวไว้ในช่วงแรก) มังงะ Hyper Dash! Yonkuro ตีพิมพ์ในนิตยสาร CoroCoro Aniki ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2015 จนถึงเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2021 เนื่องจากนิตยสารเล่มดังกล่าวปิดตัวลง แต่มีการประกาศว่าตัวมังงะจะไปตีพิมพ์บนเว็บไซต์ CoroCoro Online เป็นการต่อไป
ถึงจะมีผลงานมังงะที่ทำหน้าที่เขียนเองอยู่สองเรื่องแล้ว อาจารย์ฮิโรยูกิ ทาเคอิ ยังทำหน้าที่แต่งเรื่องให้กับมังงะอีกสองเรื่อง เรื่องหนึ่ง Shaman King Marcos สปินออฟอีกภาคของ Shaman King ที่ไปขยายเรื่องราวของกลุ่ม X-Laws ซึ่งยังได้อาจารย์เจ็ท คามามูระ เป็นผู้วาดภาพ และตีพิมพ์ในนิตยสาร Shonen Magazine Edge มาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2020 ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ Mini 4 King ที่อาจารย์ฮิโรยูกิแต่งเรื่อง และให้ อาจารย์อิมาดะ ยูกิ วาดภาพ ซึ่งตัวมังงะเรื่องนี้ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ CoroCoro Online
ถึงจะดูงานเต็มมือข่าวดีสำหรับผู้ที่อยากรับชมอนิเมะ Shaman King ที่ ‘ซื่อสัตย์’ ต่อตัวต้นฉบับมากขึ้นเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อช่วงกลางปี ค.ศ.2020 มีการปล่อยคลิปโฆษณาที่ใช้เพลง Over Soul พร้อมระบุว่า อนิเมะชุดใหม่มีกำหนดออกฉายที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงเดือนเมษายนปี ค.ศ.2021
Shaman King ยังอาศัยช่วงปลายปีในการประกาศข่าวอัพเดทสำคัญของเฟรนไชส์ อย่างในเดือนกันยายน ปี ค.ศ.2020 ทาง King Amusement Creative ได้ปล่อยตัวอย่างแรกที่ยืนยันว่า อนิเมะจะเดินเรื่องจนถึงช่วงที่โยจะต่อสู้ตัดสินขั้นสุดท้ายกับ ฮาโอ และเปิดตัวนักพากย์กลุ่มแรก ที่ระบุว่า ตัวละคร เคียวยามะ แอนนา, โอยามาดะ มันตะ, อามิดามารุ, ฮาโอ เป็นผู้พากย์ท่านเดิม ยกเว้น อาซาคุระ โย ที่มีการเปลี่ยนนักพากย์เป็น คุณฮิคาซะ โยโกะ แทน คุณซาโต้ ยูโกะ ที่ไม่รับงานพากย์เสียงมาระยะหนึ่งแล้ว
ต่อมาในช่วงเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2020 ก็มีการปล่อยตัวอย่างแรกของอนิเมะฉบับรีเมค และมีการประกาศทีมนักพากย์เพิ่มเติม ซึ่งก็ส่วนใหญ่ยังเป็นนักพากย์ชุดเดิม ยกเว้นบางท่านที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเพราะนักพากย์เก่ามีอายุมากขึ้นแล้ว และมีการยืนยันว่า คุณเมงุมิ ฮายาชิบาระ จะกลับมาร้องเพลงให้กับอนิเมะชุดนี้อีกครั้ง
นอกจากนี้ยังมีการปรับแก้ดีไซน์ของตัวละคร ช็อคโกเลิฟ ให้ลดความเหมารวมทางชาติพันธ์ และเพื่อให้ดีไซน์สอดคล้องกับฉบับมังงะที่ตีพิมพ์ใหม่ด้วย (ซึ่งประเด็นนี้กลุ่มคนส่วนหนึ่งรู้สึกดีใจที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในทางกลับกันกลุ่มคนการ์ตูนที่เป็นคนผิวดำจำนวนหนึ่ง กลับเสียดายที่มีการแก้ไข แม้ว่าตัวละครดังกล่าวจะถูกดีไซน์แบบเหมารวม แต่การนำเสนอประเด็นวัฒนธรรมอื่นๆ ในเรื่องของตัวละครดังกล่าวถูกชื่นชมว่า มีความเคารพในความเป็นมนุษย์อยู่ไม่น้อย)
อนิเมะ Shaman King ชุดใหม่เริ่มออกอากาศในวันที่ 1 เมษายน ปี ค.ศ.2021 และมีการแจ้งว่าจะมีจำนวนตอนทั้งหมด 52 ตอน หรือเป็นการฉายยาวประมาณหนึ่งปีต่อเนื่องนั่นเอง และทาง Netflix ได้ประกาศว่าจะเป็นผู้ฉายในแบบสตรีมมิ่ง และเวลาที่เขียนบทความอยู่นี้ก็มีการนำเอาอนิเมะ 13 ตอนแรกเปิดฉายให้ชมกันทั่วโลกแล้ว
สำหรับท่านที่สงสัยว่าความชื่นชอบสิ่งต่างๆ ของอาจารย์ฮิโรยูกิ ไปสุดทางถึงระดับไหนนั้น บอกกล่าวได้ว่า สตูดิโอที่อาจารย์ใช้ทำงานนั้น เป็นเหมือนคลังเก็บของสะสมของอาจารย์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นของเล่นสายหุ่นยนต์ต่างๆ ที่ส่งผลในการออกแบบตัวละครหลายตัวของอาจารย์, ของสะสมจากซีรีส์ Shaman King เอง, ปืนจำลอง, และรถยนต์หลายคันอาทิ Ferrari Testarossa (ซึ่งถูกใช้เป็นอุปกรณ์ในการโอเวอร์โซลของตัวละคร มาร์โก ในเรื่อง Shaman King) และ DMC DeLorean (ที่ปรากฏในภาพยนตร์ Back To The Future) เป็นอาทิ
และถึงจะเดินทางมาไกลขนาดนี้แล้ว เรื่องราวของเหล่าชาแมน ผู้เชื่อมโยงระหว่างคนเป็น กับคนตาย ก็น่าจะดำเนินต่อไป ตราบเท่าที่ผู้สร้างอย่างฮิโรยูกิ ทาเคอิ ยังอยากจะบอกเล่าอะไรให้คนอ่านได้รับฟังกันต่อ
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก
YouTube: Archipel – Hiroyuki Takei – the soul of Shaman King
Anime News Network – 1, 2, 3, 4