ช่วงเดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่หนังชื่อใหญ่ๆ หลายเรื่องทยอยกันเข้ามาบุกตลาดชิงผู้ชมกันอย่างต่อเนื่อง อย่างที่ผ่านมาก็มีหนังที่รวมเอาป็อปคัลเจอร์จากหลายยุคสมัยมารวมอยู่ในเรื่องเดียวอย่าง Ready Player One เข้าฉายไปก่อนแล้ว สัปดาห์ต้นเดือนก็มีหนังระทึกขวัญและทำให้คนดูต้องอึดอัดจนแทบนั่งไม่ติดเก้าอี้อย่าง A Quiet Place เข้าฉายอีก
กระนั้นในช่วงต้นเดือนเมษายนก็มีหนังของผู้กำกับไทยท่านหนึ่งที่ยืนหยัดท้าสู้กับหนังฟอร์มยักษ์จากต่างประเทศ นั่นก็คือ พชร์ อานนท์ หรือ พี่พจน์ อานนท์ ที่นักดูหนังชาวไทยต่างคุ้นเคย หนังของผู้กำกับคนนี้มักจะวนเวียนอยู่ในสไตล์ ผี ตลก วัยรุ่น อันเป็นแนวที่ถือว่า popular อย่างมากในบ้านเรา
ด้วยไอร้อนและช่วงเวลาแห่งการหยุดพัก พี่พจน์ของเราก็ท้าชนหนังต่างชาติด้วย ‘หลวงพี่แจ๊ส 5G’ ที่มีฉากหลังรับกับเทศกาลสงกรานต์พอดี
The MATTER พาไปสำรวจ ‘พจน์ยูนิเวิร์ส’ ว่าอะไรทำให้ผู้กำกับคนนี้สามารถสร้างหนังได้มากกว่า 30 เรื่อง ในช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา
ทันยุคทันสมัยอยู่เสมอๆ
สิ่งนี้เป็นจุดแข็งนับตั้งแต่ พจน์ อานนท์ เข้ามาเป็นผู้กำกับเต็มตัว เพราะทุกๆ เรื่องที่เขากำกับล้วนแต่ทันสมัยเข้าต่อยุคทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น ว้ายบึ้มเชียร์กระหึ่มโลก ที่ออกฉายในปี 2003 เป็นช่วงที่การแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งกำลังฮิต (ก่อนที่ตัวแทนทีมเชียร์ลีดดิ้งชาวไทยจะเริ่มกวาดแชมป์นานาชาติตั้งแต่ปี 2004) หรือ ศพเด็ก 2002 (2002 ไม่ใช่ปีที่ฉายแต่เป็นยอดศพที่ถูกค้นพบในคดีจริง) ที่จับเอาเหตุการณ์สังคมตะลึงในช่วงปลายปี 2010 ให้กลายเป็นหนังในต้นปี 2011 ซึ่งบางคนนับไว้ว่าเหตุการณ์ห่างกันแค่สามเดือนเท่านั้นและตายโหง หนังผีแนวแบ่งเป็นตอนสั้นสี่ตอนก็เอาคดีจริงมาดัดแปลงเช่นกัน หรือแม้แต่ หอแต๋วแตกแหวกชิมิ ก็จับเอาการดวลกันของผีดูดเลือดกับมนุษย์หมาป่า ของนิยายและหนังชุด Twilight มาอยู่ในหนังไทยได้แบบไม่น่าเชื่อ
ความทันยุคของพจน์ไม่ได้สงวนเอาไว้เฉพาะหนังที่เขากำกับเท่านั้น แม้แต่หนังที่เขาอำนวยการสร้างอย่าง รักเอาอยู่ ก็ถ่ายทำในขณะที่กรุงเทพฯ น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2011 ก่อนหนังจริงเข้าฉายในปี 2012 และชื่อหนังก็เอามาจากวลีสุดฮิต ‘เอาอยู่’ อีกด้วย
ถ้าไม่บอกว่าพี่ท่านเป็นคนทันยุคแล้ว เราคงหาคำนิยามอื่นได้ยากยิ่งแล้วล่ะ ความเร็วในการทำงานดุจปีศาจของพจน์ อานนท์ ทำให้ค่ายหนังพึงพอใจ รวมถึงคนดูหลายคนก็สนใจติดตามชมว่า หนังจากเรื่องจริงที่พวกเขารับรู้ผ่านข่าวไปไม่นานนั้นจะเป็นอย่างไร ผลก็คือรายได้ของหนังเลยออกมาดีตามกระแสและความเร็วนั่นไงล่ะ
เจ้าพ่อการตลาด เกาะได้ทุกกระแส
พูดได้เต็มปากว่า พจน์ อานนท์ เป็นมือโปรคนหนึ่งในการเกาะกระแสและทำให้เรารู้จักหนังของเขาได้ตลอด แม้ว่าคุณอาจไม่ได้ดูโฆษณาของหนังเลยก็ตาม
เพราะหนังของพจน์หยิบจับเอาคนดังของยุค หรือ เน็ตไอดอลมาร่วมเล่นหนังอยู่เป็นประจำ ทั้งเทพพิทักษ์ แอสละ หรือ โยชิ รินรดา หรือ น้องน้ำเต้า พนักงานให้บริการในปั๊มน้ำมันที่เป็นกระแสเพราะถูกข้าราชการคนหนึ่งใช้ข้อความเหยียดเธอ ก็ถูกคว้าตัวมาเป็นแสดงกันให้ขวั่ก
ถ้ามีกระแสดราม่า คนอื่นคงนั่งปวดเศียร อย่างกระแสจากผู้ชมส่วนหนึ่งต่อว่า หลวงพี่แจ๊ส 4G เหมาะแค่โหลดเถื่อนดูเท่านั้น ทางผู้สร้างหนังอย่างพจน์ก็ขยี้โจทย์กระจายด้วยการประกาศว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ขายแผ่น แถมยังเดินทางไปร้องเรียนกับ กสทช. และ กรมทรัพย์สินทางปัญญา จนกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งไป (และสุดท้ายเรื่องนี้ก็ขายแผ่นนะ)
หรือกรณีล่าสุดที่พจน์เกาะกระแสอย่างเร็วก็คือข่าวอดีตดาราเด็ก น้องไทเกอร์ ที่ออกมาขอความกรุณาจากสังคมให้ช่วยเหลือการศึกษา พจน์ อานนท์ ก็ไปคอมเมนต์ในอินสตาแกรมของน้องว่าพร้อมช่วยเหลือน้อง …อื้อหือ เร็วไฮสปีดยิ่งกว่าอินเทอร์เน็ตในบางช่วงเวลาจริงๆ
พลิกบทบาทให้นักแสดงได้แทบทุกคน
นักแสดงหลายคนอาจพึงพอใจกับการรับบทที่ใกล้เคียงกับพวกเขาเคยรับมาก่อน อาจกลัวคนดูไม่คุ้นเคยหรือยังต้องการเวลาสะสมฝีมือก่อนเปลี่ยนแนว แต่สำหรับผู้กำกับระดับพจน์แล้ว การจับเอาดารานักแสดงชื่อดังมาพลิกบทบาทระดับที่คนดูต้องอึ้งน่าจะเป็นเรื่องปกติของเขา
อย่างใน ไฉไล หนังแอคชั่นรวมสาวหลากสไตล์ ก็จับเอานักร้องสาวเสียงพิณ จินตหรา พูนลาภ ให้มาเป็นสายลับถือปืนกลถล่มวายร้าย แบบที่ใครก็ไม่น่าจะคาดถึง หรือในตอนที่วินัย ไกรบุตร เล่นหนังเรื่องปล้นนะยะ เขาก็ปรับลุคของดาราหนุ่มที่ขึ้นชื่อ ‘ลิ้นสว่าน’ ในยุคนั้นให้กลายเป็นนางโชว์สวยพริ้งได้แบบคนดูต้องเซอร์ไพรส์
ล่าสุด พจน์ อานนท์ จับดารามาสลับลุคก็เมื่อปี 2014 กับหนังรีเมค สตรีเหล็ก ตบโลกแตก ที่ ฟิลม์-รัฐภูมิ กับ แทค-ภรันยู และดาราคนอื่นที่มีสไตล์ปกติหล่อเหลามาแต่งสวยเพื่อให้สมบททีมนักกีฬาวอลเลย์บอลที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นกะเทย ซึ่งก็เป็นเวลาสามปีแล้วที่เขาจับดารานักแสดงที่เราคุ้นเคยให้กลับมาเล่นในบทที่คนไม่คุ้นตา
ยอมรับว่าความเซอร์ไพรส์และความลุ้นว่านักแสดงที่ถูกพลิกบทจะสามารถเล่นได้ดีไหม ทำให้เราเผลอใจจ่ายเงินไปรับชมอยู่หลายครั้ง
ให้โอกาสคนกลุ่มน้อย
หนังของพจน์ อานนท์ เปิดโอกาสให้คนกลุ่มน้อย (Minority Group) ค่อนข้างบ่อยทีเดียว สิ่งหนึ่งที่ปรากฏในหนังของเขาแทบทุกเรื่องก็คือตัวละครตัวสำคัญๆ จะเป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และหนังหลายๆ เรื่องของพี่พจน์ก็จะมีบทให้กับผู้มีปัญหาทางด้านร่างกายอีกด้วย (เด่นชัดที่สุดคงไม่พ้น เอ๋อเหรอ ที่นำผู้มีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมมาเล่นเป็นตัวละครเอก)
แต่หลายๆ ทีเราก็ต้องพินิจเหมือนกันว่า การโฟกัสคนกลุ่มน้อยในหนังต่างๆ นั้นเป็นการให้โอกาสหรือเป็นการเอาคนกลุ่มน้อยมาเป็นตัวตลกของสังคม แม้ว่าผลงานของพจน์จะเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มน้อยเป็นผู้กอบกู้สถานการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นในหนังอยู่บ่อยครั้งก็ตาม
อุดมไปด้วยดาราหนุ่มหน้าตาดี
ก่อนถูกจดจำในฐานะผู้กำกับหนังอันหลากหลาย พจน์คือแมวมองมือทองตาเพชร ถึงระดับที่จับดินให้กลายเป็นเพชรเม็ดงามในวงการบันเทิง ทักษะอันทรงพลังแบบนี้เขาไม่ได้ละทิ้งมันไปเลยเมื่อมาทำงานสายภาพยนตร์ ในหนังแทบทุกเรื่องของพี่เขา จะมีดาราหนุ่มรายใหม่หน้าตาดีปรากฏตัวอยู่เสมอ
ย้อนไปสมัย Go-Six โกหก ปลิ้นปล้อน กระล่อน ตอแหล เราจะได้เห็น เคน-ธีรเดช ยิ้มสดใสหน้ารักละลายใจคนดู ฟิล์ม-รัฐภูมิ ก็รับบทสมทบเป็นเด็กวัยรุ่นมีสไตล์ทั้งใน ว้ายบึ้มเชียร์กระหึ่มโลก กับ ปล้นนะยะ ก่อนได้รับบทเด่นๆ ในเวลาต่อมา ถ้าใน generation ปัจจุบัน พจน์ก็ปลุกปั้นดาราจากหนังชุด มอ 6/5 ที่มีดาราชายเด่นๆ อย่าง นิก คุณาธิป หรือ เจมส์ ภูวดล
หากเราย้อนกลับไปนับหนังที่ก้ำกึ่งว่าพจน์กำกับหรือไม่ อย่าง สติแตกสุดขั้วโลก (เนื่องจากไฟว์สตาร์เจ้าของหนังลงรายละเอียดไว้ว่ากำกับโดย วัชระ ปานเอี่ยม แต่สื่ออื่นจะแจ้งว่าเป็นการกำกับของพจน์ อานนท์) ก็อุดมไปด้วยดาราหนุ่มมาแรงของยุค ทั้ง แอนดริว เกร็กสัน, จอห์น ดีแลน, อัษฎา พานิชกุล, ปราโมทย์ แสงศร, ฝันดี-ฝันเด่น ฯลฯ
การมีเด็กปั้นเป็นชายหนุ่มจำนวนมาก ทำให้หนังหลายๆ เรื่องของพจน์ต้องมีฉากหนุ่มๆ เหล่านี้ต้องมานุ่งน้อยห่มน้อย ไม่ก็ต้องเปียกปอนเพื่อแสดงความสมบูรณ์แบบของเรือนร่างให้คนดูได้รับรู้ #ดาเมจแรงมาก
พจน์ อานนท์ ไม่ได้ปั้นเฉพาะดาราชาย เจ้าตัวก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาก็มีเด็กปั้นเป็นผู้หญิงเหมือนกัน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าพจน์ อานนท์สามารถผลักดันหนุ่มๆ หลายสไตล์เข้าสู่วงการได้อย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
สร้างโลกที่เหนือจริงแต่คนดูเข้าถึงได้
บางคนบอกว่าหนังของพจน์มักโยนหลักการและเหตุผลบางอย่างทิ้งไปอย่างไม่ใยดี อย่างผีสาวแพนด้าใน หอแต๋วแตกฯ ที่ภาคหลังๆ ชักงงว่าเป็นผีหรือคนกันแน่ แล้วทำไมหอในบางภาคถึงมีตัวละครชายหล่อเหลาเพียวๆ ไม่ก็ตัวละครพระเอกและนายเอกของ เพื่อนกูรักมึงว่ะ สามารถไปอาบน้ำในถังไม้โอ๊ค ณ บริเวณใจกลางที่มีรถไฟฟ้าพาดผ่านแต่ตัวร้ายไม่สามารถพบตัวได้อย่างไร เป็นอาทิ
จุดนี้เหมือนเป็นการละลายพฤติกรรมให้ผู้ชมเข้าใจโลกของหนังได้อย่างรวดเร็ว จนหนังของพจน์ใช้เวลาเกริ่นเรื่องไม่นานก็ตบเกียร์เข้าสู่ช่วงปล่อยของ (ปล่อยมุก หรือ ฉากน่ากลัว) ได้แทบจะทันที
ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่อยากเชียร์จุดแข็งนี้แบบเต็มตัวเท่าไหร่ อย่างในกรณีของ เพื่อนกูรักมึงว่ะ ที่ให้ตัวละครนักฆ่าไปสังหารตำรวจ แต่ดันกลับใจเพราะนักฆ่าบอกไม่ฆ่าคนดี กับช่วงเวลาที่พระเอกนายเอกอยู่ด้วยกันมันดูเร็วจนชวนสงสัยว่าทำไมสปาร์คกันเร็วจัง
จริงอยู่ว่าหนังอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนชีวิตจริงสุดขีด แต่ถ้ามีการใส่เหตุผลของสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็จะทำให้หนังมีเสน่ห์น่าจดจำขึ้น
การตั้งชื่อให้คนจำฝังซีรีบรัม
ถึงจะมีคำพูดที่ว่าอย่าตัดสินหนังสือเพียงแค่หน้าปก เราก็ต้องยอมรับว่าถ้าปกมันเด่น ก็ยั่วใจให้คนหยิบมันมาดูและอาจจะซื้อมันกลับไปในที่สุด เช่นเดียวกับการตั้งชื่อหนังของพจน์ ที่แต่ละเรื่องทำให้เรานึกสภาพมวลรวมของหนังออกได้โดยง่าย หรือไม่ก็เป็นชื่อที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเนื้อในเลยแม้แต่น้อย แต่มันตราตรึงมากพอให้เราเชื่อมโยงกับภาพภายในหนังได้
ปล้นนะยะ ทำให้เราเก็ตทันทีว่ามีคดีขโมยของที่กะเทยต้องข้องเกี่ยว, เหยิน เป๋ เหล่ เซมากูเตะ ที่เล่าสภาพตัวละครหลักว่าเป็นใครและทำอะไรได้อย่างครบถ้วน, เลิฟเฮี้ยว เฟี้ยวต๊อด ยอมรับว่ามึนๆ แต่ก็เออ คล้องจองติดหูดีอยู่, วัยเป้งง นักเลงขาสั้น รู้เลยว่าใครตีกัน แต่มีงองูสองตัวทำไมอันนี้เราก็งงนะ ฯลฯ
จริงอยู่ที่ว่าการตั้งชื่อหนังอาจผ่านทีมงานคนอื่นๆ ด้วย ถึงอย่างนั้นถ้าเห็นชื่อหนังในสไตล์คล้ายๆ กันนี้ เราก็จะตีความกันเลยว่า นี่มันหนังของพจน์ อานนท์ ชัดๆ (แม้ว่าเราจะทายผิดไปบ้างในบางที)
องค์ประกอบเหล่านี้คือสิ่งที่เราเห็นอยู่ในหนังที่ พจน์ อานนท์ กำกับ หรือไปข้องเกี่ยว คนที่ไม่ชอบก็มี คนที่แฮปปี้ก็เยอะ และถ้าบอกว่า พจน์ อานนท์ ไร้ฝีมือก็คงไม่ถูกนัก เพราะเขาก็เคยได้รางวัลติดไม้ติดมือกลับบ้านอยู่เหมือนกัน
ขนาดหนังซอมบี้ ยังตีความให้เป็นผีดิบกินแมลงสาบได้…แล้วอะไรจะเป็นไปไม่ได้ในจักรวาลหนังของ พจน์ อานนท์