ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทำให้นักเขียนการ์ตูนหลายคนโยกย้ายการ์ตูนของตัวเองมาเผยแพร่บนอินเตอร์เน็ตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ข้อดีประการหนึ่งก็คืองานบางประเภทที่อาจจะหาอ่านได้ยาก ก็จะมีโอกาสให้คนหมู่มากอ่านกันได้โดยง่ายขึ้นด้วยเวทีที่เปิดกว้างกว่าช่องทางปกติ
อย่างการ์ตูนเรื่องหนึ่งที่หลายๆ คนแชร์กันทั้งบน Facebook หรือ Twitter ‘เปิดเส้นทางใหม่ด้วยหัวใจมลายู‘ ที่เนื้อหาเป็นการบอกเล่าวัฒนธรรมที่หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคย แถมเนื้อหายังสนุกสนานมากกว่าที่หลายคนคาดไว้ ชวนให้อยากรู้นักว่า แล้วคนเขียนเป็นใคร ทำไมเขาถึงสนใจเขียนเล่าเรื่องวัฒนธรรมย่อยที่หลายคนอาจจะไม่ได้คุ้นเคยด้วยวัฒนธรรมย่อยอีกแบบอย่างการ์ตูนล่ะ?
เราจะมาทำความรู้จักกับเขาให้มากขึ้นด้วยสนทนากับผู้เขียนการ์ตูนเรื่องดังกล่าวในบทความนี้ ‘กิตติคุณ กิตติอมรกุล’ ว่าเส้นทางจากบัณฑิตครุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มาสู่เส้นทางของนักวาดการ์ตูนเป็นมายังไง แล้วทำไมถึงกลายมาเป็นการ์ตูนแบบนี้ได้
The MATTER : ปกติเป็นคนเขียนการ์ตูนอยู่แล้วด้วยหรือเปล่า
กิตติคุณ : เคยเขียนเป็นงานอดิเรกครับ ก่อนนี้เคยเขียนการ์ตูนกับการ์ตูนไทยสตูดิโออยู่บ้าง ก็เคยได้รางวัลชมเชย ตอนเดบิวต์โปรเจกต์ไม่ไทยเบย เรื่อง ‘Why so Thai ‘ กับรวมเล่มเรื่อง ‘ซอยนี้มีป่วน’ ครับ
The MATTER : ถ้าจำไม่ผิดผลงานที่ได้ลงพิมพ์ในฉบับ ‘ไม่ไทยเบย’ ก็จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรม ถ้างั้นแปลว่าชอบเขียนงานสไตล์เชิงให้ความรู้แบบนี้ระดับหนึ่งอยู่แล้วใช่ไหม
กิตติคุณ : ใช่ครับผม ก่อนนี้มีเขียนการ์ตูนในเพจ Documentarism ที่เอาไว้ใช้สอนการถ่ายทำสารคดีอยู่ครับ
The MATTER : ที่เขียนเรื่องนี้เพราะตัวเองนับถือศาสนาอิสลามอยู่แล้วรึเปล่า
กิตติคุณ : ผมนับถือศาสนาพุทธครับ แต่อาศัยว่าลงไปทำงานที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาสบ่อย เลยได้เก็บประสบการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างเยอะครับ
The MATTER : เป้าหมายของ ‘เปิดเส้นทางใหม่ด้วยหัวใจมลายู’ คือการเปิดมุมมองของทางสี่จังหวัดมุสลิมให้คนอื่นได้เข้าใจโดยง่ายขึ้นรึเปล่า
กิตติคุณ : เดิมทีงานการ์ตูนชิ้นนี้เป็นสื่อหนึ่งใน ‘โครงการศึกษาคุณค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นบนฐานทุนทางวัฒนธรรมของกลุ่มเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ครับ ก็เลยได้โอกาสใส่วัฒนธรรมที่ได้เจอ เรื่องเล่า ความเชื่อลงไปด้วยเลย เพราะว่ามีเรื่องที่น่าสนใจเยอะเลยครับ ถ้าในมุมของผมเองถือว่าอ่านสนุกและได้ความรู้มาก เหมือนไปจับประเด็นที่คนในภาคมุมอื่นไม่ค่อยรับรู้เท่าไหร่ครับ
ถ้าโดยเป้าประสงค์ของโครงการจริงๆ คือ การเปิดให้เห็นความหวังในด้านอาชีพในพื้นที่ เพื่อดึงให้คนเห็นต้นทุนทางวัฒนธรรมแล้วกลับมาพัฒนาบ้านเกิดครับผมในเนื้อหาผมเลยใส่ความน่าสนใจสำหรับคนนอกพื้นที่ด้วยเลยครับ
The MATTER : ในระหว่างการเขียนการ์ตูน มีปัญหาความขัดแย้งด้านศาสนาบ้างไหม
กิตติคุณ : ในส่วนนี้ผมจะตรวจสอบกับคนที่อยู่ในพื้นที่ก่อนครับ โดยเฉพาะจาก ‘คุณวัลตนกูนาศิร ต่วนกูซุลฮัสซัน’ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรมมลายู ให้ช่วยเช็กข้อมูล เช่น มีฉากไหนที่ก้าวล่วงข้อห้ามหรือไม่เหมาะสมในด้านวัฒนธรรม แล้วก็ปรับแก้ไข ตอนนี้เท่าที่ดูคอมเมนต์กับการแชร์แล้ว ก็เป็นพี่น้องมุสลิมที่แชร์ไปเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็จะชอบที่เล่าเรื่องของบ้านเค้าครับ ยังไม่เจอข้อร้องเรียนอะไร ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะมีคนชอบขนาดนี้ ตัวผมเองก็ดีใจมากเลยครับ
The MATTER : จากกระแสตอบรับแบบนี้มองไหมว่า คนเขียนการ์ตูนหนีมาฝั่งออนไลน์มากขึ้นโดยไม่ต้องตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์แล้วก็ได้
กิตติคุณ : จริงๆ การ์ตูนก็ค่อยๆ พัฒนาให้เข้าถึงคนอ่านง่ายขึ้นแค่นั้นเองครับ เพราะไม่ว่าจะรูปแบบไหน หน้าที่ของนักเขียนก็คือสร้างคอนเทนต์หรือเนื้อหา ที่น่าอ่านให้คนอ่านอยู่ดี สำหรับนักเขียนก็เป็นการเปลี่ยนผู้เผยแพร่ แต่สำหรับสำนักพิมพ์น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่หนักมือหน่อยครับ
The MATTER : จากการเขียนการ์ตูนที่อาจจะนำวัฒนธรรมที่อาจจะไม่คุ้นเคยมานำเสนอ คิดว่ามันจะนำพาคนเขียนและคนอ่านไปยังจุดใดได้บ้าง
กิตติคุณ : สำหรับคนเขียน เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมนั้นๆ ให้ลึกซึ้งรอบด้านที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนที่จะลงมือเขียนเพื่อที่จะถ่ายทอดให้คนอ่านเข้าใจ ปลายทางของคนเขียนกับคนอ่านน่าจะไปถึงใกล้ๆ กัน คือความเข้าใจวัฒนธรรมนั้น แล้วจูนกันได้เวลาได้สัมผัสวัฒนธรรมนั้นด้วยตัวเองครับ
The MATTER : การ์ตูนสามารถมอบอะไรให้สังคมได้บ้างนอกจากความบันเทิง