ไทยมีบุคลากรเก่งๆ ด้านอนิเมชั่นอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะงานในรูปแบบวาดด้วยมือ หรือใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก อย่างล่าสุดอนิเมชั่นของชาวไทยที่ออกไปกวาดรางวัลในสายงานอนิเมชั่นถึง 22 แห่ง ตั้งแต่ในช่วงปี 2014 จนถึงปี 2016 และสามารถคว้ารางวัลกลับมาได้ถึง 11 รางวัล ที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันสะดุดหูสะดุดตากว่าปกติก็คือ เป็นอนิเมชั่นที่ถูกดัดแปลงมาจากการ์ตูนไทยเรื่อง Nine Lives ของทรงศีล ทิวสมบุญ
และเมื่อค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า The Monk Studios ผู้สร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็ไม่ใช่มือใหม่ในวงการ เนื่องจากพวกเขามีส่วนร่วมกับอนิเมชั่นชื่อดังหลายเรื่อง อย่าง คุณทองแดง The Inspirations (ตอน ทองหล่อ) หรืออนิเมชั่นจากเกมแบบ Kingsglaive : Final Fantasy XV รวมถึงอีกหลายๆ เรื่อง ก็มีทีมงานชุดนี้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
เราใช้เวลาตกลงกันอยู่ไม่นานและตัดสินใจติดต่อทีมงานของ สองผู้กำกับ ต้อม-ชวลิต แก้วมณี และ ใหม่-วณิชยา แพร่จรรยา จาก The Monk Studios แล้วก็เป็นโชคดีที่ทางทีมงานอนุญาตให้เราเข้าไปพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวและเหตุผลกลใดที่พวกเขาสามารถผลิตอนิเมชั่นสั้นเรื่อง Nine จนมีคนสนใจมากขนาดนี้
The MATTER : The Monk Studios ทำอนิเมชั่นอย่างเดียวรึเปล่า?
คุณใหม่ : ปกติ The Monk จะรับงานหลายประเภทนะคะ แต่หลักๆ ก็จะมีอนิเมชั่นแล้วก็ Visual Effects ค่ะ
คุณต้อม : Visual Effects ส่วนใหญ่จะเป็นของฝั่งหนังครับ ถ้าอย่างอนิเมชั่นที่เคยทำก็เป็น Featured Film เหมือนกัน แล้วก็มีแยกไปทีวีซีรีส์ด้วยครับ นอกนั้นก็จะมีจากสายโฆษณาก็รับงานพวกนั้นด้วยเหมือนกัน
The MATTER : แปลว่างานหลักก็ไม่ใช่อนิเมชั่น?
คุณต้อม : งานส่วนใหญ่ยังเป็นอนิเมชั่นอยู่ครับ แต่เราก็รับงาน VFX กันด้วยครับ
The MATTER : The Monk Studios วางตัวเองอยู่ในตำแหน่งไหนของวงการอนิเมชั่นไทยครับ?
คุณใหม่ : ต้องบอกว่า เราไม่ได้มองว่าใครเป็นคู่แข่งอะไรอย่างไรนะคะ แต่ทาง The Monk พยายามที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ
คุณต้อม : คือจุดเริ่มต้นของการตั้งสตูดิโอนี้ พี่จั๊ก (คุณสุภณวิชญ์ สมสมาน ผู้ก่อตั้ง The Monk Studios) ทำงานอยู่ที่อเมริกามาก่อนกับบริษัท Rhythm & Hues Studios (บริษัท Visual Effects และ อนิเมชั่นขนาดใหญ่ในประเทศอเมริกา ผลงานเด่นๆ เช่น Babe, Game Of Throne ) แล้วคุณจั๊กก็ถูกส่งไปฝึกบุคลากรของสาขาย่อยของบริษัทเอง ทำให้คุณจั๊กคิดว่าทำไมเขาจะมาฝึกบุคลากรแบบนี้ในประเทศไทยบ้าง นั่นก็เลยเป็นจุดเริ่มและเปิด The Monk Studios เพื่อพัฒนาบุคลากรของไทย
คุณใหม่ : ให้ทัดเทียมกับเมืองนอกค่ะ
คุณต้อม : แต่งานของเราจะเน้นหนักทางด้านอนิเมชั่นมากกว่าครับ
The MATTER : ความจริง Nine ถูกจัดส่งเข้าประกวดตั้งแต่ปี 2014 ใช่ไหมครับ แต่ว่าในไทยเพิ่งเผยแพร่ แล้วเหมือนเพิ่งกลับมาบูมในปี 2016 คิดว่ากระแสมันกลับมาช้าเกินไปมั้ยครับ?
คุณต้อม : จริงๆ มันด้วยข้อกำหนดของกฎเกณฑ์การประกวดแต่ละงานด้วยครับ ถ้าจะส่งประกวดได้ต้องห้ามเผยแพร่ก่อน เราก็เลยจะต้องเก็บตัวผลงานไว้จนจบครบสายประกวดก่อนแล้วเราถึงจะค่อยมาเผยแพร่ ซึ่งมันก็ครบเวลาสองปีพอดีครับ
The MATTER : อ๋อครับ ก็คือสวนทางกับที่หลายคนเข้าใจว่าภาพยนตร์จะต้องเข้าฉายก่อนแบบที่รางวัลออสการ์กำหนดใช่ไหมครับ
คุณต้อม & คุณใหม่ : ใช่
The MATTER : คิดว่ากระแสตอบรับหลังจากที่เอาคลิปขึ้น Youtube เรียบร้อยจนมีคนตั้งกระทู้ในพันทิปไปแล้ว ทางทีมงานคิดอย่างไรกับกระแสเหล่านี้ครับ
คุณใหม่ : ก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบนะคะ แต่ส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างออกมาในกระแสที่ดีน่ะค่ะ
คุณต้อม : จริงๆ เราค่อนข้างดีใจ เพราะก่อนหน้านี้งานที่เราทำมาก็ค่อนข้างเป็นที่รู้จักในต่างประเทศซะมากกว่า ซึ่งในเมืองไทยเองงานของเราจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ซึ่งพอเรื่องนี้เผยแพร่ออกไปแล้วมันมีกระแสกลับมา เราก็ถือว่าดีใจที่มีคนไทยได้รู้จักงานที่เราทำมากขึ้นอะไรแบบนั้นครับ และเราก็คิดว่า Nine น่าจะเป็นงานที่ช่วยจุดประกายอะไรสักอย่าง อาจจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือเด็กๆ รุ่นใหม่ที่สนใจด้านนี้…
คุณใหม่ : ได้มีกำลังใจ
คุณต้อม : แล้วจะได้มีแรงบันดาลใจในงานด้านนี้มากขึ้นครับ
The MATTER : อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้คนไทยรู้จัก NINE มากขึ้นเพราะว่าเป็นการดัดแแปลงของคุณ อัพ- ทรงศีล ทิวสมบุญด้วย เวอร์ชั่นอนิเมชั่นมีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้างไหม
คุณต้อม : คือ NINE จริงๆ เราตั้งใจจะทำหนังสั้นให้คนไทยดูอยู่แล้ว เราก็เลยหยิบจับคอนเทนต์ที่มาจากคนไทย รวมถึงเราสองคนก็ชอบงานของพี่อัพอยู่แล้ว เราเลยจับงานชิ้นนี้ขึ้นมาทำ ตอนแรกเลยที่เราหยิบเรื่องมาทำเพราะเราประทับใจในลายเส้นในฟีลลิ่งของความเป็นเอเซียของถ้อยคำสละสลวยที่ลุ่มลึกของพี่ทรงศีล แต่พอเราจะเอามาทำจริงๆ ถ้าเราเอามาเล่าใหม่อีกทีหนึ่ง เรารู้สึกว่ามันเหมือนทำซ้ำ แล้วเรากลัวว่าความรู้สึกที่ได้จากตอนที่เราเปิดอ่าน กับการดูอนิเมชั่นมันควรจะต่างกันนะ เราก็เลยลองคุยกับพี่เขาว่าเราจะตีความใหม่อีกแบบได้ไหม เพื่อให้มันเกิดผลงานชิ้นใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่จะเอาผลงานชิ้นนั้นมาทำซ้ำแล้วมันมาเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างเดียวครับ ซึ่งเราก็ยังเก็บบางอย่างเอาไว้
คุณใหม่ : เก็บจุดเด่นของเรื่องไว้ คือจุดเด่นของเรื่องก็คือแมวสีเทาที่แลกหัวใจกับปิศาจค่ะ ธีมตรงนี้ยังอยู่แต่ที่มาที่ไปอาจจะต่างกัน
คุณต้อม : ในหนังสือ อาจจะพูดถึงความรัก แต่ของเราก็จะตีความใหม่เป็นการสูญเสียตัวตน หยิบประเด็นตรงนั้นขึ้นมา แล้วเรื่องสไตล์ภาพ เราก็จะใช้ฟีลลิ่งบางอย่างที่มันจะเป็นเอเชีย ญี่ปุ่น ซึ่งเราก็พยายามเก็บอะไรที่เราประทับใจจากหนังสือมาถ่ายทอดลงอนิเมชั่นไว้ แล้วก็เราตัดส่วนที่เป็นบทพูดกับคำบรรยายออก เพราะเราคิดว่าถ้ามันจะสละสลวยขนาดนั้นแล้วมันต้องพากย์หรือเปล่า หรือจะต้องขึ้นข้อความ แล้วเราอยากจะเล่าให้มันสากลมากขึ้นด้วย เราก็รู้สึกว่า มันไม่ต้องมีบทพูดบทบรรยายแล้วเล่าเรื่องด้วยภาพกับเสียงไป
The MATTER : ก็เลยเป็นโทนนิทานฝั่งเอเชียนิดนึง
คุณต้อม : ใช่ครับ แล้วเราก็เห็นความแฟนตาซีจากหนังสือหรือภาพประกอบจากพี่ทรงศีล แล้วเราคิดว่า นี่ล่ะ ที่เราน่าจะเอามาขยายต่อ ให้มันหวือหวาเห็นจินตนาการที่ในหนังสืออาจจะไม่เห็นได้ชัดเจนมากนักในแง่ของการตีความใหม่ของเรานะครับ
The MATTER : อยากจะทำการ์ตูนเรื่องอื่นอีกไหมครับ?
คุณใหม่ : ตอนนี้ยังไม่มีแผนค่ะ
The MATTER : แล้วถ้าผลงานอื่นล่ะครับ
คุณใหม่ : ตอนนี้กำลัง Develop กันอยู่ค่ะ
คุณต้อม : ถ้าเป็นหนังสั้นอนิเมชั่นกำลัง Develop กันอยู่ครับ เรายังโหยหาที่จะทำอะไรใหม่ๆ แล้วก็ส่งประกวดดูอีก เพราะที่ผ่านมาเราได้ลองแล้วเรายังรู้สึกว่ามีข้อผิดพลาดที่เราต้องเรียนรู้อีก เราก็เลยอยากทำอยู่ครับ
The MATTER : แนวไหนที่อยากจะทำกันต่อไป?
คุณใหม่ : ส่วนใหญ่เราสองคนจะประทับใจ ดูหนังประเภทที่ต้องไปคิดต่อน่ะค่ะ ก็เลยจะชอบงานแนวดราม่าหน่อย แต่ว่าก็ชอบความเป็นแฟนตาซี เพราะมันสนุกในการเปิดโลกที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ก็อยากจะทำแนวผสมกันค่ะ
คุณต้อม : อย่างอนิเมชั่นมันต่างกับภาพยนตร์ที่ต้องถ่ายจริงๆ ใช่ไหมครับ อนิเมชั่นเราจะดีไซน์อะไรบางอย่างเราสามารถลองทำให้มันขึ้น ขยับ ลองดีไซน์อะไรแปลกๆ มันน่าสนุกดีนะครับ
The MATTER : ใครที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำอนิเมชั่น
คุณใหม่ : จริงๆ ก็เป็นอาจารย์ที่เคยอยู่ที่นี่มาก่อน ชื่อ Tod Polson เป็นผู้กำกับ Escape Of Gingerbread Man เป็นภาพยนตร์สั้นที่ The Monk ทำค่ะ
คุณต้อม : เขาเป็นทั้งอาจารย์และเป็นที่ปรึกษาอย่างดี ทั้งตอนที่ทำเรื่อง Nine ด้วยครับ ส่วนตัวแรงบันดาลใจจากงานอื่นจะได้จากฝั่งญี่ปุ่นอย่าง Ghibli กับสตูดิโออีกอันนึง
คุณต้อม & คุณใหม่ : (ประสานเสียง) Studio 4°C
คุณใหม่ : พวกเราชอบเรื่อง Genius Party Beyond ค่ะ
คุณต้อม : มันเป็นโปรเจกต์ที่ให้ทีมงานของเขาได้ลองของ แล้วมันก็เป็นหนังสั้นหลายตอน เราเลยรู้สึกว่าแบบนั้นมันได้หลากหลายแนวแล้วมันมีจุดเด่นของมัน แล้วมันไม่ต้องคิดว่างานจะต้องขายใคร การ์ตูนมันไม่ต้องเด็กไง ได้ลองอะไรใหม่ๆ เต็มที่ ซึ่งเราก็คิดว่ามันสนุกดี ตอนเราทำงาน Nine เราก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเขาเยอะเหมือนกัน ส่วนตัวอนิเมเตอร์ เราชื่นชอบ Mark Oftedal (อนิเมเตอร์ของ Pixar ผู้กำกับอนิเมชั่นสั้นเรื่อง The Pumpkin of Nyefar) จริงๆ เราชื่นชมหลายๆ คนล่ะ แต่อย่าง Mark เขามาช่วง Workshop ที่นี่บ่อยด้วย ถือว่าเป็นไอดอลของเราทั้งสองคนครับ
The MATTER : ช่วยขยายคำว่า ‘การ์ตูนมันไม่ต้องเด็ก’ ได้ไหมครับ
คุณต้อม : ผมว่าบ้านเราถ้าพูดถึงการ์ตูน ผู้ใหญ่บ้านเรายังติดภาพว่ามันต้องสำหรับเด็กเล็กๆ ดู ความรุนแรงหรือความสนุกบางอย่างมันต้องเป็นเด็กนะ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่ามันคือหนัง มันคือเทคนิคการทำภาพยนตร์นั่นแหละ เราแค่เอาเทคนิคการทำอนิเมชั่นมาเป็นตัวเล่าเรื่องมากกว่า ต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นหรืออเมริกาเอง ผมว่าถ้าบอกว่าการ์ตูนเขาเป็นเด็กอย่าง Disney, Pixar ถ้าไปดูเนื้อเรื่องจริงๆ ผมว่าไม่เด็กนะ มันมีความดราม่า มันมีบทที่ซับซ้อน มันมีคาแรคเตอร์อารมณ์ที่มันลึกซึ้ง ซึ่งเขาพัฒนามานาน มันยากกว่าที่คิดเยอะ แต่เด็กดูก็พอจะเข้าใจในส่วนนึง ดูแล้วยังสนุกสนานในแบบนีง แต่เนื้อเรื่องลึกๆ แล้ว แทบจะไม่เด็กแล้วล่ะ
คุณใหม่ : ผู้ใหญ่ก็ดูสนุกได้
คุณต้อม : แล้วเรื่องของความรุนแรงที่ต้องเซ็นเซอร์ ผมมองว่าความรุนแรงที่ต้องเซ็นเซอร์กันบ้าง สุดท้ายแล้วเขาไม่ได้ต้องการเล่าให้เห็นความโหดร้ายรุนแรงอย่างเดียวหรอก แต่มันเป็นผลของการกระทำแบบนั้นที่ทำให้เกิดผลไม่ดีตามมา เขาแค่เล่าในมุมการยกตัวอย่างมากกว่า ถ้าเทียบกับการ์ตูนญี่ปุ่นที่ว่ารุนแรง แบบ ดราก้อนบอล มันก็หนัก
คุณใหม่ : ชกกันเลือดสาดเลย (หัวเราะ)
คุณต้อม : ถ้าเราไปตีกรอบอะไรเยอะแยะมากมาย ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์เด็ก …จริงๆ ผมก็ไม่ได้มองว่าเด็กต้องเล่าเรื่องเข้าใจง่ายหรือไม่ฉลาด แต่บางครั้งเราไปพรีเซนต์งานจะเจอทักว่า ‘ไอ้นี่เด็กต้องดูนะ’ เราก็สงสัยว่าทำไมต้องมองแบบนั้น
คุณใหม่ : ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วอนิเมชั่นมันอาจจะเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัยแล้วมันเข้าถึงกลุ่มคนได้กว้างกว่า
คุณต้อม : โดยส่วนตัวไม่ค่อยชอบว่าถ้าจะตีกรอบไว้ว่าอนิเมชั่นจะทำให้เพื่อเด็กเท่านั้นนะ
The MATTER : จริงนะครับเพราะอนิเมชั่นบางเรื่องในญี่ปุ่น มันก็ข้ามจากความเป็นการ์ตูนเด็กไปสู่ความเป็นซีรีส์มากกว่า
คุณต้อม : ใช่ครับ อนิเมชั่นคือช่องทางหนึ่งในการนำเสนอเท่านั้น แบบบางอย่างที่ไม่ต้องทำเป็นอนิเมชั่นเขาก็ไปทำอนิเมชั่นเพื่อได้นำเสนอได้ตรงกว่า
คุณใหม่ : หรือไม่ก็สไตล์เป็นเอกลักษณ์มากกว่า
The MATTER : ในประเทศไทยจริงๆ คนส่วนหนึ่งดูขีดเส้นของตัวเองไว้ว่า ‘ไม่โอเคกับงานคนไทย’ หรือถ้าจะดูงานแบบนี้ก็จะรอโหลดฟรีอยู่ที่บ้าน ไม่ยอมเสียเงินกัน คิดว่ามีวิธีอะไรที่จะเข้าไปตีตลาดกลุ่มคนเหล่านี้
(หัวเราะกันทั้งสองท่าน)
คุณใหม่ : ตอบยากเลยค่ะ
คุณต้อม : ตอบในฐานะคนทำงานละกันครับ ด้วยตลาดเมืองนอกที่มีคุณภาพอย่าง Disney หรือ Pixar ทำให้คนดูคาดหวังว่าจนติดภาพว่าต้องได้เรื่องแบบนั้น คุณภาพแบบนั้น ถ้าเกิดงานคนไทยออกมาแล้วมันไม่ถึงจุดนั้น เขาก็จะไม่เปิดใจให้เราเท่าไหร่ ถ้าในแง่มุมทำงานเนี่ย เราก็พยายามจะพัฒนาฝีมือของทีมงานของเราให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นอยู่แล้ว แต่ว่าด้วย…
คุณใหม่ : ปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่อาจจะทำให้ต้องใช้เวลาในการทำ (เว้นไปสักระยะ) คือส่วนตัวมองว่า ถ้าเราสามารถสร้างเรื่องราวที่ดีๆ ที่สามารถโดนใจคนดูได้เนี่ย มันอาจจะไม่ต้องการควอลิตี้ขนาดที่ Pixar, Disney ทำก็ได้ มันอาจจะอยู่ที่ตัวเนื้อเรื่องค่ะว่ามันเข้าถึงคนที่ดูได้มากแค่ไหน
คุณต้อม : สุดท้ายแล้วผมมองว่าอนิเมชั่นมันก็คือภาพยนตร์มุมนึง
คุณใหม่ : ใช่ ใช่
คุณต้อม : ซึ่งสุดท้ายคนดูเขาก็จะคาดหวังกับการเล่าเรื่องกับเนื้อเรื่องอยู่ดี ถึงแม้เรื่องมันจะดีเราก็จะโดนยกไปเทียบกับงานที่มีมาก่อนแล้วอยู่ดี
The MATTER : เป็นกำแพงอคติของคนดูด้วยหรือเปล่าครับ?
คุณต้อม : คือต้องยอมรับว่า งานของเราเองมันยังไม่มีชิ้นไหนที่ออกมาแล้วแตกต่าง แล้วรู้สึกว่า เออ อันเนี้ยงานของไทยที่มันดีๆ แล้วมันจะสามารถทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ด้วย อันนั้นมันก็จะเป็นอย่างหนึ่ง อย่าง Nine เนี่ยมันเป็นภาพยนตร์สั้น ด้วยระยะเวลาที่มันเล่าเรื่องมันสั้น แต่ถ้าหนังใหญ่หนังยาวมันจะต้องใช้ทุนและเวลาในการสร้างมันขึ้นมา และถ้ามองในมุมการตลาดทุนที่จะทำมันสูงมาก
อย่างเมืองนอกนั่นเขาคิดเผื่อว่าเราทำแล้วเราขายได้ร้อยล้านเหรียญ แต่สำหรับในไทยเราได้แค่ร้อยล้านก็น้ำตาไหลแล้ว แต่เวลาเข้าโรงแล้วมันก็ต้องหารกับโรงครึ่งหนึ่งซึ่งมันเหลือรายได้แค่ 50 ล้าน แต่เราลงทุนไป 100 ล้านเนี่ย เลยทำให้นายทุนเขาไม่เห็นว่าตลาดอนิเมชั่นมันจะกำไรยังไง แต่ถ้าเกิดอนาคตเนี่ยถ้าเราสามารถขายงานให้เมืองนอกได้ มันอาจจะกลับมาดีมากขึ้น
The MATTER : ก็เหมือนกับคนเขียนการ์ตูนหลายท่านที่ไปดังเมืองนอกก่อนกลับมาดังในไทยหรือครับ
คุณต้อม : ใช่ๆๆ อย่าง Nine อะครับ ถ้าเกิดเราไม่ได้รับรางวัลหรือประกวดมาก่อน (หัวเราะเบาๆ) ถ้าเราเผยแพร่เลย กระแสมันอาจจะไม่ได้ Boom เท่านี้ก็ได้ เพราะบ้านเรามันอาจจะขาดการส่งเสริมอะไรบางอย่างก็ได้ แบบเกาหลีใต้ทางรัฐจะมีกองทุนขึ้นมา ถ้าคุณอยากลองทำ IP นี้ ก็เอาเงินในกองนี้ไปสร้างตัวอย่างขึ้นมาเพื่อของบจากนายทุนต่างๆ อีกทีหนึ่ง แต่ในบ้านเราที่ไม่มีแบบนี้ เราก็จะต้องรอให้มันเสร็จ หรือเราต้องออกกันเอง ต้องช่วยตัวเราเองกันก่อนจะได้ชิ้นงานออกมาสักชิ้นนึง
The MATTER : ก็กลายเป็นเรื่องวนเวียนว่าเอกชนต้องช่วยตัวเองในการทำงานตลอด?
คุณต้อม : ใช่ครับ
คุณใหม่ : มันก็เป็นเรื่องลำบาก
คุณต้อม : จริงๆ มันเรื่องแบบนี้มาหลายปีแล้ว สุดท้ายมันก็จะเอกชนก็วิ่งเต้นกันเอง อย่างทาง TACGA (สมาคมผู้ประกอบการอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกไทย) ที่ช่วยดูงานฝั่งเอกชน เขาก็พยายามสนับสนุนด้วยตัวเอง พยายามดึงกระทรวงต่างๆ มาช่วย พยายามออกบูธต่างประเทศเพื่อเอา Outsource มาที่เมือง แต่หน่วยงานรัฐจริงๆ ก็ไม่ได้ (หัวเราะ) ช่วยอะไรมาก
พอกลับมาที่คำถามก่อนหน้า (เรื่องเจาะกลุ่มคนดู) เราก็เลยไม่รู้ว่าจริงๆ ควรทำยังไง ที่ทำอยู่ตอนนี้ก็คือการพัฒนาตัวเอง พัฒนาทีม โดยการรับงาน Outsource จากเมืองนอกเพื่อให้เห็นขั้นตอนการทำงานและเราเรียนรู้ระบบงานจากเขา ทำคุณภาพให้ได้ที่เท่าเขาแล้วก็
คุณใหม่ : Develop คอนเทนต์ของเราเอง
คุณต้อม : ใช่ แต่มันก็จะมีปัญหาว่าความเป็นไทย
The MATTTER : “ไม่ไทยเบย”
(หัวเราะทั้งสองท่าน)
คุณต้อม : ผมก็ยังรู้สึกว่า เรายังไม่มีเอกลักษณ์ชัดเจนจริงๆ พอเราจะทำอะไรที่เป็นไทย ก็กลายเป็นการทำซ้ำ หรือทำให้มันสากลขึ้นแค่นั้น
The MATTER : ตามปกติทำอนิเมชั่นสั้นๆ กัน แล้วเป็นไปได้มั้ยครับที่อนิเมชั่นในไทยจะกลายเป็นทีวีซีรีส์เหมือนที่ญี่ปุ่น หรือฝรั่งทำกัน
คุณใหม่ : จริงๆ ตอนนี้บ้านเราก็ดีขึ้นตรงที่เคเบิลบ้านเรามันน้อยลง แต่ช่องทางฉายทางอินเทอร์เน็ตอย่าง Netflix, iFlix มากขึ้น ซึ่งหลายๆ ช่องทางเหล่านั้นก็พยายามจะหาคอนเทนท์ไปลงอยู่แล้ว ซึ่งเราก็มองว่ามันเติบโตเร็ว มันก็อาจจะมีโอกาสที่ว่าเราน่าจะทำการ์ตูนซีรีส์ที่ฉายไปตามช่องทางแบบนี้หรือช่องอื่นๆ ได้ แต่ก็มันอาจจะต้องใช้เวลาพัฒนาเพราะว่ามันต้องใช้เวลาและเงินทุนอยู่ดี
คุณต้อม : ถ้ามองตลาดต่างประเทศด้วยช่องทางเผยแพร่เป็นแบบนี้มากขึ้น สิ่งที่เขาต้องการคือต้องการ IP ที่เป็นต้นฉบับมากยิ่งขึ้น แล้วเราสามารถนำเอาของพวกนี้ไปนำเสนอพวกเขาได้ คือพวกเขาอยากได้ของที่หลากหลายมากขึ้น แปลกใหม่มากขึ้น อย่าง The Monk ก็พยายามพัฒนา IP ของตัวเองมากขึ้น แต่ตอนนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาอยู่ครับ
The MATTER : ขอถามจากประเด็นที่คนถกเถียงกันเรื่อง CG ของละครเรื่องนาคี ว่าใช้แค่ฝีมือแบบเดียวไม่ได้เหรอ ทำไมต้องใช้เวลากับเงินด้วย ซึ่งมันลักษณะใกล้เคียงกับงานอนิเมชั่น สงสัยว่าทั้งสองอย่างนั้นเป็นปัจจัยที่มีผลจริงๆ หรือเปล่า
คุณต้อม : (หัวเราะแห้ง) มันก็พูดยาก แต่มันก็เป็นปัจจัยที่มันเป็นผลจริงๆ เพราะว่าถ้าทุนมันน้อยเนี่ย เรารู้ละ ระยะเวลามันจะต้องน้อยแน่นอน แล้วถ้าสังเกตงานอนิเมชั่นที่มันจะดีได้ เครดิตมันจะเยอะมากเพราะทุกคนต่างต้องอาศัยความรู้เฉพาะทาง แต่ถ้าเกิดเงินน้อยมาเราก็จะจ้างได้ไม่กี่คนละ แล้วระยะเวลาก็นานไม่ได้ละจะต้องลดทอนมาอีก ต้องกันว่าคนเนี้ยต้องทำหลายๆ หน้าที่ละ แล้วก็ทรัพยากรด้านเครื่องไม้เครื่องมือก็ต้องลดลงมา อย่างถ้าให้เวลาน้อยเวลาเรนเดอร์งานน้อยลงแน่นอนว่าควอลิตี้เราต้องน้อยลงอยู่แล้ว แล้วถ้าจะทำอนิเมชั่นให้มันดูเรียบ ดูเนียน มันก็ต้องใช้เวลาอีก …คือจะบอกว่า มันอยู่ที่ฝีมือด้วยก็จริง แต่ผมว่าสุดท้ายแล้วระยะเวลามันก็มีผลจริงอยู่ดี
The MATTER : ถ้าอย่างนั้นพอบอกได้ว่างานแนวนี้ มันต้องการ ทั้งเงิน ฝีมือ และเวลา ในสัดส่วนพอๆ กัน
คุณต้อม : ใช่ๆ ถ้าสังเกตคนเก่งๆ ถ้าเขาอยากไปทำงานที่มันดีๆ เขาก็จะไปในที่ๆ มัน Support เขาได้ตรงนั้น ก็เลยไปเมืองนอกกันเยอะ หรือไม่งั้นก็ต้องอยู่กับบริษัทที่เขารับงานเมืองนอก ซึ่งปัจจัยนี้มันจะเอื้อให้เรามีเวลาในการพัฒนาและทำงานดีๆ เพิ่มขึ้น
The MATTER : จริงๆ คนไทยก็มีส่วนร่วมกับงานแนวอนิเมชั่นเยอะขึ้นมาก บุคลากรฝั่งนี้ในประเทศกำลังโตขึ้นเรื่อยๆ ใช่ไหมครับ?
คุณต้อม : มันโตขึ้นเรื่อยๆ แต่จริงๆ ถ้ามองจากมุมผม ผมคิดว่ามันยังไม่พอเสียด้วยซ้ำ ที่เคยคุยกับเพื่อนร่วมวงการเนี่ย ทุกคนอยากได้บุคลากรเพิ่มทั้งนั้น แล้วเราก็พยายามจะเทรนกันเองรับเด็กเรียนจบใหม่มาเทรนหรือส่งบุคลากรของเราไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเป็นการเตรียมตัวเทรนเพื่อให้ต่อไปเข้ามาช่วยพวกเราทำงานอีกที แต่กลายเป็นว่าตอนนี้ไม่ว่าที่ไหนก็ต้องการคน เพราะงาน Outsource มันเริ่มเยอะขึ้นแล้วเราไม่สามารถพัฒนาคนให้ทันให้กับงานที่มันมี บุคลากรปัจจุบันเลยย้ายไปย้ายมาวนเวียนกันอยู่เท่านี้ของคนที่ทำงานได้ ซึ่งรู้สึกว่า เรามีการเรียนการสอนเยอะแต่…
คุณใหม่ : …เราไม่ได้เฉพาะเจาะจงเป็นทางขึ้นมาจริงๆ อย่างอนิเมชั่นเมืองนอกที่เขาเรียนกันในมหาวิทยาลัยเขาใช้เวลาเรียนกันสองปีสี่ปี แต่ของเราอาจจะเรียนกันแค่เทอมหนึ่ง หรือแค่คลาสเดียว ซึ่งมันน้อยเกินไป
The MATTER : สำหรับนักศึกษาที่เรียนสายนี้มา มีอะไรอยากจะฝากบอกน้องๆ เขามั้ยครับ ว่าถ้าอยากจะทำงานสายนี้ คุณต้องพบกับความจริงอะไรบ้าง
คุณใหม่ : จริงๆ คือถ้าสมมติเราเรียน เราทำงานส่วนตัวใช่ไหมคะ มันจะไม่เหมือนกับการที่ทำงานร่วมกับผู้กำกับคนอื่น ทำงานร่วมกับทีมคนอื่น มันไม่ใช่แค่ว่าเราโอเคผ่านแล้วมันก็จบ คนอื่นเข้ามามันก็ต้องมีคอมเมนท์ มีฟีดแบ็ค มีอะไรอีกหลายๆ อย่าง ดังนั้นในการทำงานเราก็จำเป็นจะต้องวางแผน เพื่อที่จะให้ตัวเองสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นแล้วก็เร็วขึ้น ก็ต้องทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น
คุณต้อม : มองในแง่มุมคนทำงาน จะได้ยินกันว่า เด็กจบใหม่จะมีพลังมีแรง จะทำงานทุกงานทุกชิ้นให้มันดี แต่พอมันไม่ใช่ เราลงแรงผิดทางแล้วมันต้องแก้เนี่ย มันจะเฟล อะไรวะ ทำไปก็ไม่ใช่ แต่พอได้ทำไปเรื่อยๆ อย่างผมกับใหม่ได้มากำกับแล้วเนี่ย เราจะมองอีกมุมละ มองกว้างขึ้น แล้วเราจะเห็นว่างานที่เราทำเนี่ย ไม่ใช่จากมุมของเราคนเดียวละ มันต้องมองงภาพรวมทั้งหมดให้มันออกให้ได้ คือถ้าพูดในแนวความจริงโหดร้ายก็ต้องบอกว่า สุดท้ายงานที่เราทำน่ะ ถ้าเราเป็น Artists มันจะไม่ใช่งานของเราคนเดียวแล้ว และเราก็ต้องยอมรับให้ได้ว่างานที่เรามีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นเราควรจะทำงานทุกอย่างให้มันดี แต่เราต้องเปิดใจรับคอมเมนท์ เปิดใจรับการปรับแก้ เพื่อให้งานที่เรามีส่วนร่วมนั้นมากที่สุดครับ
ถ้าทำใจได้เนี่ยมันจะดีมาก พอเปิดรับปุ๊ปมันทำให้เราเห็นอะไรบางอย่าง ที่ทำให้เราเห็นว่าติดแค่ตรงนี้เอง คิดแค่ตรงนี้เอง จริงๆ มันดีกว่านั้นได้เยอะเลยนะ บางทีเรากังวลว่าเราไม่อยากแก้หรือเราคิดว่าของเราถูกคนเดียว แต่จริงๆ แล้วคนอื่นเขามีความคิดเห็นที่ทำให้เราคิดเห็นได้ดียิ่งขึ้น ส่วนเรื่องอื่นก็…
คุณใหม่ : มันก็จะมีแรงกดดันน่ะค่ะ แบบ ‘มันจำเป็นต้องทำให้เสร็จนะ เดดไลน์มันอยู่ตรงนี้แล้ว มันจะต้องเสร็จแล้วมันก็ออกมาดีด้วย’