หรือมันอาจจะกลายเป็นกระแสที่สักวันก็จะหายไปตามกาลเวลาไม่ต่างจากสิ่งอื่น บอร์ดเกม (Boardgame) ที่ตอนนี้เราจะเห็นว่ามีกลุ่มผู้เล่นขยายขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่ผู้เล่นที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ หลายกลุ่มอายุมากขึ้น จากที่เคยเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ ก็ค่อยๆ มาถึงวัยรุ่น นักศึกษา ไปจนถึงนักเรียน ความล้ำของเกมก็ถูกนำเข้ามามากขึ้น จากความเข้าใจเดิมที่บอร์ดเกมคือเกมเศรษฐีที่เล่นตั้งแต่เด็กๆ ก็กลายเป็นเกมที่ซับซ้อนสับสน กติกาอธิบายนานครึ่งชั่วโมง
รวมถึงร้านที่เป็น Boardgame Cafe ก็ถูกเห็นได้มากขึ้น จากที่เคยเป็นกิจกรรมกระแสรอง เป็นของแถมภายในร้าน ก็มีร้านที่ทำขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เปิดกว้างให้ผู้เล่นได้เข้ามาใช้บริการเป็นกลุ่ม เป็นกิจกรรมใหม่ๆ ระหว่างเพื่อนที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นกิจกรรม ‘ ฮิปๆ’ อีกแขนงหนึ่ง
The MATTER ชวนทีปกร วุฒิพิทยามงคล หนึ่งในผู้ที่คลั่งไคล้บอร์ดเกมระดับที่ต้องเปิดบ้านรับเพื่อนทุกวันสุดสัปดาห์เพื่อเข้ามาเสพยาบ้าและดื่มเหล้ามัวเมา จะบ้าเหรอ มาเล่นบอร์ดเกมกันตั้งแต่เช้ายันค่ำ เขาถนัดจัดเจนทั้งการเป็นผู้เล่นและเป็นผู้ชวนเล่น ดูได้จากงานพิธีกรรายการ Board Jockey รายการออนไลน์เกี่ยวกับบอร์ดเกมโดยเฉพาะ จนกระทั่งล่าสุด เขามีโอกาสได้จัดงาน ‘อะไรก็ได้’ ที่ร้าน The Reading Room เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน เขาก็เลือกที่ชวนผู้อ่านและลูกค้าของร้านมาใช้เวลาไปกับบอร์ดเกม เพราะอะไรถึงเป็นยังงั้น หาคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์นี้
“บอร์ดเกมมีมิติอื่นๆ ที่จอสองมิติให้ไม่ได้ มันสอนให้ใจเย็นหน่อย กติกามันไม่ค่อยจะให้คนที่ใจร้อนได้เปรียบ ต้องค่อยๆ เก็บ ค่อยๆ ทำคะแนน แต่ใจเย็นไปก็ไม่ได้ มันสอนเราตรงนี้”
The MATTER : เมื่อร้าน The Reading Room ให้ช่วงเวลาการจัดกิจกรรมมา คุณมีความสามารถตั้งหลายอย่าง เขียน วาด พูด แต่ทำไมถึงเลือกบอร์ดเกม
ตอนที่พี่เกี๊ยว (The Reading Room) ชักชวนมา เสนอหัวข้อไปสองสามอันที่ตัวเองทำได้ คือการ์ตูน อินเทอร์เน็ต และบอร์ดเกม ซึ่งพี่เกี๊ยวเลือกบอร์ดเกม เพราะว่าอินเทอร์เน็ตนี่เดี๋ยวจะมีกลุ่ม Thai Netizen มาทำอยู่แล้ว ส่วนการ์ตูนมันก็เซมๆ แบบ เบๆ คนอื่นเขาก็ทำได้ ก็เลยเอาบอร์ดเกมดีกว่า เพราะว่าเป็นสิ่งที่เครซี่มากอยู่ตอนนี้ พูดตอแหลทำไม แล้วก็แบบ โอเค อิทส์อะแบบอินเทอร์แรคทีฟ นี่ก็ตอแหลอีกแล้ว แต่สรุปคือมันมีความเอ็นจอยกันได้หลายคนๆ รวมกลุ่มเพื่อนผอง สนุก ดี วัฒนธรรมไทย
The MATTER : คุณเล่นเกมคอนโซลบ้างหรือเปล่า / มันดูเป็นกิจกรรมที่ไม่ productive และมอมเมามากเลยนะ ทำไมยังเลือกเล่น
เล่น อย่าง Overwatch เราก็เล่นกับณัฐชนน มหาอิทธิดล บ.ก.ซึ่งไม่ทวงงานนักเขียน แต่บังคับให้นักเขียนเล่นเกม ซึ่งเราเล่นไม่เก่ง แต่เกมคอนโซลอื่นๆ ก็เล่น ส่วนใหญ่จะเน้นเกมที่มีเนื้อเรื่องหน่อย อย่างพวก Beyond : Two Souls หรือ Uncharted, The Last of Us คือที่เล่นเพราะรู้สึกว่ามันเหมือนซีรีส์ที่ก็ติดตามไปเรื่อยๆ แต่ที่ดีกว่าซีรีส์คือเนื้อเรื่องในเกมบางทีเรากำหนดเองได้ด้วย ตอนนี้ที่รอคือ Mass Effect : Andromeda อยากเล่นมาก เป็นมหากาพย์ต่างดาวที่เราเป็นแฟนมาโดยตลอด
The MATTER : บอร์ดเกมให้อะไรได้มากกว่าคอนโซลบ้าง
อย่างแรกคือมันเป็นประสบการณ์แบบเจอหน้ากัน คือก็มีคนพยายามทำบอร์ดเกมออนไลน์ หรือเกมบางเกมก็ลงเป็นแอพลิเคชั่นแล้ว แต่ว่าบอร์ดเกมมันจะได้ประสบการณ์ดีที่สุดตอนที่เจอหน้ากัน ได้เห็นหน้าว่าเวลาคนตัดสินใจอะไรบางอย่างมันทำสีหน้ายังไง ได้เห็นการทับถมกันด้วยแววตา และคำพูด และคำถากถาง และฝ่ามือ ที่ตบเข้ามาที่ใบหน้าของอีกคน ด้วยความเร็ว 300 เมตรต่อวินาที คือตบเร็วมากเป็นแสงเลย ไม่สิ พูดอะไร ก็รู้สึกว่ามันทำให้คนมาเจอกัน แล้วมันมีมิติอื่นๆ ที่จอสองมิติให้ไม่ได้ อีกอย่างคือ บอร์ดเกมมันสอนให้ใจเย็นหน่อย กติกามันไม่ค่อยจะให้คนที่ใจร้อนได้เปรียบ ต้องค่อยๆ เก็บ ค่อยๆ ทำคะแนน แต่ใจเย็นไปก็ไม่ได้ มันสอนเราตรงนี้
The MATTER : ในฐานะผู้เล่น คุณคิดว่าบอร์ดเกมมันดียังไง
ยูชูด รีด ดิแอ้นเซอร์ ออฟ เดอะลาสท์ เควสชั่น จบเทิร์น
The MATTER : ก็ได้…(อ่านโพยคำถาม) ในฐานะพิธีกรรายการออนไลน์เกี่ยวกับบอร์ดคุณคิดว่ามันดีต่อผู้คนในวงกว้างยังไง
คือเราไม่ได้มองว่า เฮ้ย มาเล่นบอร์ดเกมกันเหอะ เลิกเล่นคอนโซลเดี๋ยวนี้เลยนะ แต่เราคิดว่าข้อดีอย่างหนึ่งของบอร์ดเกมคือมันเป็นตัวเสริมสร้างสัมพันธ์ มันทำให้เรารู้สึกตัวตนตัวจริงของใครบางคนได้ดีขึ้นเพราะว่ามันมักจะจำลองสถานการณ์สมมติขึ้นมา แล้วโยนเราเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น ซึ่งตัวแปรต่างๆ ในสถานการณ์ เราจะไม่พบในโลกความเป็นจริง การที่มันเป็นเหตุจำลองนี้แหละ ที่กลับทำให้เราแสดงตัวตนอย่างชัดเจนขึ้น อย่างบางคน ตอนแรกไม่สนิทๆ พอเล่นบอร์ดเกมแล้วรู้ว่าคนนี้นิสัยเข้ากันได้ก็สนิทเลยก็มี หรือบางคนก็จะไม่ยอมเล่นบอร์ดเกมเลย เพราะกลัวคนอื่นรู้ธาตุแท้ แบบนี้ก็บอกอะไรได้มากเหมือนกัน
The MATTER : เขาว่ามันเป็นกิจกรรมของพวก geek หรือ nerd คุณคิดว่าจริงไหม
เมื่อก่อนอาจจะใช่ แต่ตอนนี้ก็ไม่แล้ว คิดว่ามันจะผ่านพัฒนาการแบบเดียวกับที่สังคมคิดกับเกมคอนโซล คือเกมคอนโซลก็เคยเป็นวัฒนธรรมกระแสรองหน่อยๆ แบบ นายต้องเอาท์ดอร์ดิวะ ปีนผา ปีนเขา บึ่งมอไซ ถึงจะแมน พวกเล่นคอนโซลแม่งเนิร์ด หรือไม่ก็ต้องผิดปกติไรงี้แน่ๆ เมื่อก่อนก็อาจจะคิดกันอย่างนี้ แต่ตอนนี้ก็ไม่แล้ว ก็จะเห็นว่าวัฒนธรรมความแมนหรือความกล้าแสดงออก มันไม่ได้ขัดขวางการเล่นเกมเลย
The MATTER : ในสังคมของพวก geek หรือ nerd มีระดับชั้นไหม แล้วในบอร์ดเกมมีแบ่งด้วยหรือเปล่าประมาณว่า ว้าย เกมนั้นกระจอก คนเล่นเป็นมันต้องเล่นเกมอีกแบบสิวะ
ในสังคม geek nerd เนี่ยไม่รู้ เพราะไม่ได้อยู่ แต่ว่าในเกมก็มีระดับชั้นเหมือนกัน คือบางคนก็จะจัดว่าเกมที่เป็นเกมแนวสังคม บลัฟกันโกหกกันแล้วจบ ปาร์ตี้เกม พวกนี้มันไม่ใช่บอร์ดเกมที่แท้จริง บอร์ดเกมที่แท้จริงจะต้องยากแบบนี้ๆ ขึ้นไปอะไรงี้ หรือว่าบางเกมที่ง่ายเกินไป คนที่เล่นเกมเก่งมากๆ ก็อาจสำทับว่า หึ มีเดียมเวท (medium weight) คือเกมประเภทที่ไม่ยาก ไม่ได้ใช้นิวรอนในสมองเยอะ เขาก็จะไปเล่นเกมที่ต้องเล่น 4 ชั่วโมงอัพ หรือวอร์เกมที่ใช้เวลาเป็นวันๆ ในการเล่น ก็มีการทับถมกันสนุกๆ บ้างเหมือนกัน
The MATTER : มันดูเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ปัญญาชน’ หรือเปล่า ถ้าเป็น คุณว่ามันมีส่วนที่เป็นกำแพงกั้นให้คนไม่เข้ามาเล่นไหม
ก็ไม่นะ อาจจะมีบ้างที่คนเล่นบอร์ดเกมดูเป็นเด็กดี หรือผู้ใหญ่ดี เพราะว่าการเล่นนี่มันอยู่ในกิริยาอาการที่เรียบร้อยไง คืออยู่กับโต๊ะ ไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นข้างนอก อาจจะมีเท้าโต๊ะขึ้นมาชี้หน้าด่ากันบ้าง แต่โดยปกติก็อยู่ในมารยาทที่เรียบร้อย เป็นผ้าพับไว้ ปัญญาชนไหมนี่อาจจะขึ้นอยู่กับเกมที่เล่นมากกว่า คือบางเกมมันก็เข้าใจยากมากๆ แต่ถ้าฟังอธิบายกติกาจบ (ซึ่งอาจจะใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการอธิบาย) แล้วลองเล่นตาแรก ยังไงก็เข้าใจว่าแทบทุกคนน่าจะเข้าใจ สิ่งที่กันไม่ให้คนอื่นเข้ามาเล่น บางทีน่าจะเป็นตัวกติกาที่ซับซ้อน ไม่เหมาะกับความอดทนที่สั้นของคนหลายๆ คนมากกว่า
The MATTER : ตอนนี้เริ่มฮิต คุณคิดว่ามันจะเป็นกระแสแล้วหายไปไหม เหมือนกระแสฮิปสเตอร์ทั่วไป
คิดว่ามันจะฮิตอยู่ในวงแคบๆ แบบนี้ไปตลอด มันเป็น sub-culture ที่วัฒนธรรมกระแสหลักอาจผินหน้ามามองบ้างแล้วก็หันกลับไป ไม่ได้สนใจนาน แต่กับคนกลุ่มเล็กๆ สัก 5% ของสังคมนี่มันจะอยู่ด้วยกันไปตลอด เพราะการพัฒนาเกมมันก็มีอยู่ตลอดด้วย คือยิ่งอยู่ยิ่งอยากได้เกมนั้นเกมนี้ อยากเล่นเกมนั้นเกมนี้ กิเลสเยอะ
The MATTER : อยากให้คุณช่วยจัดเกมสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่หน่อย
พวกเกมบีกินเนอร์นี่เขาเรียกกันว่า Gateway Games ซึ่งหลายคนก็อาจจะรู้จัก Ticket to Ride, Power Grid ไรงี้อยู่แล้ว ดังนั้นจะแนะนำเกมที่ใหม่ๆ หน่อย คือ Marco Polo เป็นเกมเดินทางค้าขายชมพูทวีป นี่ก็กฎไม่ยาก สนุกดีด้วย สวยด้วย อีกเกม Tikal เป็นเกมขุดถ้ำของชาวมายัน มีการทะเลาะกันทุกตาที่เล่น สุดท้าย Splendor ถ้าจะหาเกมที่อธิบายห้านาทีจบ เล่นตาละสิบห้านาทีจบ แต่เล่นได้ตลอดเวลา ต้องเกมนี้แหละ เป็นเกมสะสมเพชรให้ได้คะแนนครบตามที่กำหนดไว้ กติกาง่ายมาก แต่เล่นให้เก่งยากมากๆ
The MATTER : ดูจากหลายๆ เทปในรายการ Board Jockey มีคนบอกว่าคุณเป็นคนที่ชั่วร้ายมากๆ เวลาที่เล่นบอร์ดเกม มีอะไรอยากแก้ต่างแก่สังคมโลกไหม
คนที่ชั่วร้ายจริงๆ เขาไม่แสดงออกถึงความชั่วร้ายออกมานะ ที่แสดงออกถึงความชั่วร้าย มันเป็นบทบาทแบบนึงที่ทำให้เกมสนุก เหมือนให้คนเดาว่าไอ้นี่มันต้องเล่นแบบนี้แน่ๆ ไรงี้ ต้องจัดการมัน เหมือนเป็นเป้าหมายให้คนอีกที นี่ก็ต้องแสร้งชั่วให้ทุกคนสนุก…
The MATTER : ทำไมคุณถึงชอบลักไก่เล่น TorbJorn ใน Overwatch มันโกงรู้ไหมอะ
มันเป็น Strategic Move…
SLEEVOVER#3 : ON BOARD! กิจกรรมที่ The Reading Room จัดร่วมกับทีปกร วุฒิพิทยามงคล จะถูกจัดขึ้นไปตลอดเดือนกรกฎาคม ร้านอยู่ที่ซอยสีลม 19 ติดตามรายละเอียดได้มากกว่านี้ที่ www.facebook.com/thereadingroombkk และเพจของทีปกร www.facebook.com/tpagon