ถึงวงการจะยังไม่ใหญ่มากเท่ากับหลายประเทศ แต่ตอนนี้เราก็พูดได้ว่าวงการเกมของไทยมีความก้าวหน้าไปจากที่เคยเป็นวงแคบมากๆ จนหลายๆ ครั้งคนตามข่าวสารวงการเกมก็มักจะได้เจอกับอะไรที่เกิดคาด อย่างคราวนี้เนี่ย พวกเราก็ได้สะดุดตากับเกม ‘Corrupt The Game’ หรือ ‘คอร์รัป หยุดยั้งหรือปล่อยไป’ เกมสำหรับสมาร์ตโฟนในสไตล์ Visual Novel
เนื้อหาของเกมพูดถึง อมิตา สาวน้อยที่เดินทางย้อนเวลามาจากอนาคตเพื่อหาทางหยุดยั้งการคอร์รัปชันในอดีตที่ทำให้ ไลอา ผู้นำในอนาคตใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม การเดินทางของอมิตานั้นจะต้องพบกับผู้คนกับเส้นทางมากมายที่ อมิตา สามารถจะเลือกได้ว่าจะ ‘ยับยั้ง’ หรือ ‘ปล่อยไป’
แม้จะเป็นเรื่องแต่ง แต่แค่นี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่าคนทำนี่กล้าเล่นเรื่องเสี่ยงมากแล้ว ซึ่งเราก็ได้มีโอกาสชิทแชทกับคุณเก่ง-ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ริเริ่มโครงการเกม และคุณโบจัง-วรัญญู ทองเกิด นักพัฒนาเกมจากทาง Opendream ในครั้งนี้
The MATTER : ทีมงานผู้พัฒนาเป็นใคร เคยมีประสบการณ์อะไรในวงการเกมกันมาบ้าง
เก่ง : ทีมพัฒนาเกมเป็นทีม Opendream งานหลักของ Opendream เป็นการพัฒนาเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องสุขภาพและการศึกษาครับ เรื่องประสบการณ์การพัฒนาก็มีเกมที่พยายามสื่อสารประเด็นเรื่องเพศ ‘Love Not Yet’ อันนี้เป็นเกมแรกที่เราทดลองพัฒนา แต่ก็มีคนดาวน์โหลดไปเล่นเรื่อยๆ ถึงวันนี้ก็น่าจะเกือบห้าแสนครั้งแล้ว อีกเกมก็เป็นเรื่องการจัดการตัวเองเมื่อเกิดภัยพิบัติชื่อ ‘สายฟ้าตะลุยน้ำท่วม’ กับ ‘ทาน่าตะลุยทซึนามิและแผ่นดินไหว’ อันนี้ทำร่วมกับ UNESCO สำนักงานกรุงเทพฯ ก็มีคนเล่นอยู่เกือบแสนคน คือถ้าดูประสบการณ์ในฐานะทีมพัฒนาเกมก็ต้องเรียกว่ายังน้อยอยู่ แต่ถ้าในฐานะคนรักเกมนี่คงตั้งแต่เกิดครับ
The MATTER : ที่มาที่ไปของเกมนี้
เก่ง : ที่ผ่านมาเราพัฒนาเกมบนพื้นฐานของจักรวาลเล็กๆ เช่น ‘Love Not Yet’ ก็เป็นมินิเกมน้ำท่วมกับแผ่นดินไหว มันก็อยู่บนห้วงเวลาแป๊บเดียว เกมถัดไปเราก็เลยอยากลองขยายจักรวาลให้ใหญ่กว่าที่เคยทำดู มันก็มีอยู่คืนนึงช่วงเดือนเมษายน 2557 ทีมเรานั่งคุยเรื่องไอเดียเกมใหม่กันแล้วก็ออกทะเลไปเรื่อยๆ ถึงเรื่องไอเดียการย้อนเวลา แล้วไปๆ มาๆ มันก็ออกมาเป็นโครงเรื่องหลักว่าตัวเอกสามารถย้อนเวลาไปแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ ซึ่งพอประเมินคร่าวๆ เราก็รู้สึกว่า เออประเด็นมันก็ตรงกับบริบทของบ้านเราและจักรวาลมันน่าจะใหญ่ดี ก็เลยตั้งเป็นเป้าไว้ว่าจะลองทำเกมนี้ดูครับ
ทีนี้มันประจวบเหมาะกับมีเพื่อนแนะนำให้ได้รู้จักกับมูลนิธิเพื่อคนไทยที่ทำงานสนับสนุนการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ก็เลยได้ทำงานร่วมกันโดยตกลงร่วมกันว่าจะลงทุนร่วมกันคนละครึ่ง โดยเริ่มพัฒนาไอเดียแบบลึกๆ ตอนเดือนกรกฎาคม 2557 และเริ่มพัฒนาตัวเกมตอนต้นปี 2558 ครับ
ไอเดียหลักของเกมคือคนเล่นจะต้องเล่นตามเนื้อเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์คอร์รัปชันจริง โดยทีมพยายามนำต้นตอและเหตุจูงใจในการคอร์รัปชันเหล่านั้นมาสร้างเป็นทางเลือกที่คนเล่นจะต้องเลือก ซึ่งบางทางเลือกก็ตัดสินใจยากแบบในโลกจริงเลย เราก็พยายามให้เกิดการเลือกที่ต้องชั่งใจ โดยการตัดสินใจเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อเนื้อเรื่องในเกม และอาจจะส่งผลต่อชีวิตของตัวละครและตอนจบของเกมเองครับ โดยวิธีการสื่อสารก็จะใช้แนว Constructive ค่อยๆ สื่อสารไปให้ซึมเข้าไปในใจและตัดสินถูกผิดเอง
The MATTER : ทำไมเกม Corrupt ถึงเลือกใช้การนำเสนอแบบเกม Visual Novel
โบจัง : ตัวเกม corrupt เวอร์ชั่นแรกเป็นเกม RPG (เกมภาษา) ให้ผู้เล่นตีมอนสเตอร์ที่มีเนื้อหาของการคอร์รัปชันเป็นฉากหลัง แต่ว่าหลังจากได้ลองไปเดโมให้เด็กได้ทดลองเล่น เด็กๆ ก็ชื่นชอบแต่ว่าเด็กไปโฟกัสที่การต่อสู้จนไม่ได้สนใจเนื้อหาของการคอร์รัปชันที่เราต้องการจะเสนอ ก็เลยลองเปลี่ยนแนวมาเป็น Visual Novel ที่จะให้คนเล่นได้สนุกและโฟกัสไปกับเนื้อหาที่เราต้องการจะสื่อมากกว่าน่ะครับ
เก่ง : มันต้องย้อนไปตั้งแต่ประเด็นที่เราเลือกครับ คือด้วยความที่เป้าหมายของเราเป็นเกมที่อยากให้คนเล่นได้รู้ถึงเหตุจูงใจแบบลึกๆ ของการคอร์รัปชัน มันเป็นการเรียนรู้ผ่านเนื้อเรื่องและบทสนทนา ทีมก็เลยคิดว่า Visual Novel น่าจะเหมาะสมที่สุด
The MATTER : กลัวโดนมองว่าลอกเกม Gyakuten Saiban/Phoneix Wright ที่มีการนำเสนอเหมือนกันบ้างไหม
โบจัง : กลัว แต่ก็ต้องยอมรับว่าจุดเริ่มต้นมันมาจากเกมนี้จริงๆ ระหว่างพัฒนาก็พยายามทำให้แตกต่าง แต่ตอนท้ายก็ยังคงมีระบบสืบสวนที่ยังเหมือนระบบว่าความของเกมทนายอยู่ ก็เลยต้องแปะไว้อยู่เสมอว่าเราได้แรงบันดาลใจมาจากเกม Phoenix Wright แต่ตัวเกมนอกจากการสืบสวนก็อยากให้โฟกัสเรื่องการตัดสินใจของผู้เล่นต่อปัญหาคอร์รัปชั่นที่อยู่ในเกมด้วย
เก่ง : ตอนที่ตัดสินใจใช้แนวทางของ Phoenix Wright ก็กลัวเหมือนกันว่าคนเล่นต้องด่าแน่ เพราะดูยังไงก็ลอก ซึ่งก็ต้องบอกว่ากลไกส่วนหนึ่งเราก็เอามาจาก Phoenix Wright จริงๆ เพราะเขาก็ทำไว้ดีมากในเรื่องการสื่อสารเนื้อเรื่อง แต่อีกส่วนที่เป็นเรื่องของการตัดสินของผู้เล่นที่ส่งผลต่อเกม เรื่อง Social gaming ที่เราใส่เข้ามาเพื่อให้ดูถึงวิธีตัดสินใจเลือกของผู้เล่น ก็เป็นสิ่งที่เราคิดว่าจะช่วยให้กลไกของมันดีขึ้นกว่าเดิมและเกมสนุกกว่าเดิม
ถ้าจะถามเรื่องความกลัวจริงๆ คงเป็นกลัวคนไม่อยากดาวน์โหลดมาเล่นเพราะเกมใหญ่มากกว่าครับ
The MATTER : จากมุมมองของผู้สร้างเกมแล้ว ผลจากการคอร์รัปชันในวันนี้จะส่งผลถึงอนาคตขนาดไหน
โบจัง : ปัญหาของการคอร์รัปชันในวันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่การโกงในปัจจุบันมันใหญ่ขึ้นในทุกวัน แต่ปัญหาอยู่ที่คนเริ่มจะมองมันเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แล้วก็เพิกเฉยต่อมันไปในที่สุด ซึ่งอนาคตพื้นฐานของ ‘การโกงที่ยอมรับได้’ มันก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เหมือนที่ทุกวันนี้เราโดนตำรวจจราจรปรับ หลายคนก็พยายามยัดเงินให้เจ้าหน้าที่ ทั้งที่คำว่า ‘ติดสินบนเจ้าพนักงาน’ มันเคยฟังดูร้ายแรงมาก่อน เดี๋ยวนี้กลายเป็น ‘ใครๆ เค้าก็ทำกัน’ ขืนไปเสียเวลาไปจ่ายสน. บางทียังโดนเพื่อนด่าว่าโง่ด้วยซ้ำ
The MATTER : ด้วยเนื้อหาเกมแนวนี้ มี ‘ผู้มีอำนาจ’ หรือใครก็ตามแต่ไม่โอเคกับการพัฒนาเกมแนวนี้ขึ้นมาหรือเปล่า
เก่ง : เราไม่คิดว่า ‘ผู้มีอำนาจ’ จะไม่โอเคนะครับ เราก็ทำหน้าที่ของพลเมืองที่ช่วยสื่อสารเรื่องปัญหาคอร์รัปชันให้กับกลุ่มคนเล่นเกม ตัวเนื้อหาในเกมเองก็มีพื้นฐานมาจากปัญหาคอร์รัปชันจริงที่รวบรวมโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ตอนเกมสื่อสารไปก็ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงเหล่านั้น
แต่ถ้าเกิดจะมีใครไม่โอเคกับเกมขึ้นมาจริงๆ ก็ยิ่งเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนที่จะช่วยกันตรวจสอบความไม่สบายใจของผู้มีอำนาจเหล่านั้นครับ
ทีมงานคาดหวังอะไรหลังจากที่เกมนี้วางจำหน่ายแล้ว
โบจัง : หวังว่าจะมีคนเล่นครับ ก็อยากให้คนเล่นได้ตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชันที่ผ่านมาว่าการที่เราเพิกเฉยต่อปัญหาที่ผ่านมาเราได้สูญเสียอะไรไปบ้าง แล้วก็ตามคีย์เวิร์ดของเกมนี้ ปัญหาคอร์รัปชันที่กำลังเกิดขึ้นล่ะ เราจะ ‘หยุดยั้งหรือปล่อยไป’
เก่ง : หวังว่าจะมีคนดาวน์โหลดมาเล่นจนจบครับ ตัวเกมเองมันมีหลายอย่างที่ทีมเราเชื่อว่าคนจะได้เรียนรู้ปัญหาของคอร์รัปชัน เราใช้คำว่าจะ ‘หยุดยั้งหรือปล่อยไป’ ซึ่งพยายามให้คนได้เรียนรู้ว่าปัญหาคอร์รัปชันมันเกิดขึ้นเพราะมีคนโกงก็จริง แต่เราในฐานะพลเมืองก็เป็นปัจจัยให้เกิดคอร์รัปชันด้วย ถ้าเราหยุดยั้ง เรื่องนั้นก็อาจจะไม่มีโอกาสพัฒนาเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้น แต่ถ้าเราปล่อยไป เราก็เป็นส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชันนั้นด้วย
อีกอย่างเราหวังให้ตัวเกมเองเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามในสังคมกับปัญหาคอร์รัปชันต่างๆ ด้วยครับว่าเราเองในฐานะคนธรรมดาจะต้องทำอย่างไร เดี๋ยวพอเกมออกได้สักพักเราจะมีสรุปภาพการตัดสินใจของคนต่อปัญหาคอร์รัปชันในเกมด้วย ซึ่งน่าจะนำไปต่อยอดในการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้อีกครับ