สำหรับคุณ อะไรคือสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้?
หลายคนอาจบอกว่า เวลา อายุ ความคิด หรือกระทั่งสุขภาพ ท่ามกลางโลกที่หมุนไปทุกวัน วันเวลาล่วงเลยผ่านไป อายุของผู้คนผลัดเปลี่ยน ความคิดในการต่อยอดสิ่งต่างๆ ให้ทันโลกก็มากขึ้น หรือกระทั่งสุขภาพก็กลายเป็นเรื่องที่ใครหลายคนหันมาให้ความใส่ใจ
ทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนแลกมาด้วยพลังทางความคิด น้ำพักน้ำแรงจากการลงมือทำ อาจผ่านผู้คน ผ่านเทคโนโลยีที่เข้ามาทำความฝัน หรือความตั้งใจที่จะอยาก ‘เปลี่ยน’ ของใครหลายคนให้กลายเป็นจริง แต่แล้วเราจะทำอย่างไรให้พลังของการริเริ่มนั้นยังคงอยู่ ไปพร้อมๆ กับการโอบกอดพื้นที่สีเขียวฟ้าของโลกใบนี้ไปด้วย?
ความยั่งยืน (Sustainability) นับเป็นหนึ่งในสิ่งประเมินค่าไม่ได้ที่คนจากทุกแวดวงทั่วโลกกำลังหันมาให้ความสนใจ เช่นเดียวกับ RED CLUB x Cartier ความร่วมมือระหว่างเรดคลับกับคาร์เทียร์ที่ก็ได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอนาคตที่ดีให้คนรุ่นถัดไป
‘Tech for a Sustainable Future’ จึงกลายเป็นธีมสำคัญของ Young Leader Award 2024 หรือรางวัลสำหรับผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ กิจกรรมที่ทางคาร์เทียร์และเรดคลับนั้นจัดขึ้น เพื่อมอบรางวัลให้แก่นักธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งนำวิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ หรือการสร้างผลกระทบที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่คิดค้น คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เพื่อสร้างอนาคตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
หลายคนอาจยังสงสัยว่า คาร์เทียร์ในภาพจำของใครหลายคนคือเครื่องประดับสุดหรูนั้น เกี่ยวข้องกับการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคมได้อย่างไร? ต้องบอกก่อนว่าจริงๆ แล้วคาร์เทียร์เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนธุรกิจเพื่อส่งเสริมสังคมมากมาย อย่างเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมา คาร์เทียร์ก็มีการจัด Cartier Women’s Initiative (CWI) โครงการส่งเสริมการทำธุรกิจเพื่อสังคมของผู้หญิงทั่วโลกเช่นกัน
มาถึงช่วงปลายปี 2024 ก็มีอีกหนึ่งโครงการที่คาร์เทียร์สนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม โดยจับมือกับเรดคลับซึ่งเป็นชุมชนที่รวมกลุ่มนักธุรกิจและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ อายุ 20-40 ปีที่มีแนวคิดและมีพลังอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ภายใต้การประกาศรางวัล Young Leader Award 2024 ณ หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ (National Gallery Singapore) ประเทศสิงคโปร์ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2024 มีผู้เข้าร่วมตั้งแต่ Cyrille Vigneron กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารคาร์เทียร์ Giada ZHANG ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Mulan Group และผู้ก่อตั้งคอมมูนิตี้เรดคลับ Richard LI และ Kheng Lian HO ประธานและสมาชิกเรดคลับ Yanina Novitskaya ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของคาร์เทียร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย Suresh Cuganesan และ Jumana Zahalka พาร์ตเนอร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore – NUS) และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด 4 คน ได้แก่
- Didi Gan ผู้ก่อตั้ง N&E Innovations ในปี 2020 ด้วยการพัฒนาสารต้านจุลชีพที่รับประทานได้จากขยะอาหาร ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนเพราะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่ายาต้านจุลชีพแบบดั้งเดิม
- Suraj Nandakumar ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Recity Network ด้วยการจัดการพลาสติกแบบหมุนเวียนที่มอบคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ โดยมุ่งเสนอแหล่งที่มาอย่างมีจริยธรรม ตรวจสอบย้อนกลับได้ และมีคุณภาพสูงสำหรับสินเชื่อและพลาสติกรีไซเคิลของผู้บริโภค
- Enrico Di Oto ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OACP ซึ่งก่อตั้งขึ้นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กับการผลิตสารเคมีที่ทันสมัยและปลอดภัย ผ่านแนวทางการแก้ปัญหาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อการวินิจฉัยและกำจัดมะเร็งได้อย่างรวดเร็ว
- AasawariI Kane สมาชิกผู้ก่อตั้งและประธาน PadCare Labs บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการรีไซเคิลผ้าอนามัยให้กลายเป็นเยื่อไม้และพลาสติก ทั้งนี้ยังให้บริการในด้านบริหารจัดการสุขอนามัยประจำเดือน
เนื่องจากผู้ประกอบการที่เข้ารอบชิงชนะเลิศนั้นล้วนมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจ และยังสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมได้อย่างยอดเยี่ยม Cyrille Vigneron จึงประกาศว่า Young Leader Award 2024 ภายใต้ธีม Tech for a Sustainable Future นี้มีผู้ชนะ 2 คน ได้แก่ Didi Gan และ Suraj Nandakumar ซึ่งผู้ชนะจะได้รับรางวัลมูลค่า 50,000 ยูโร และจะได้รับการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อนานาชาติ ส่วนผู้เข้ารอบคนสุดท้ายอย่าง Enrico Di Ot และ AasawariI Kane จะได้รับรางวัล 10,000 ยูโร
อย่างไรก็ตาม Young Leader Award งานประกาศรางวัลที่คาร์เทียร์ทำร่วมกับเรดคลับนั้นก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อผู้ชนะเลิศ Young Leader Award 2023 อย่าง Dr.Bea Bakshi ก็มาร่วมงานในปีนี้ที่สิงคโปร์ด้วยเช่นกัน The MATTER จึงมีโอกาสพูดคุยกับ Bea Bakshi โดยเธอได้กล่าวถึงความรู้สึกว่า “ฉันรู้สึกขอบคุณมากจริงๆ ทุกคนน่าจะเห็นได้ชัดว่าฉันชนะ และฉันเองก็มีความสุขมากที่ชนะในปีที่แล้ว แต่ผู้เข้ารอบสุดท้ายคนอื่นๆ ก็ได้รับรางวัลสำหรับธุรกิจที่ยอดเยี่ยมต่อการแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยมในประเทศและสาขาของตัวเองเช่นกัน”
ทั้งนี้ Bea Baksh ยังเสริมต่อว่า เราควรจะทำให้องค์กร ธุรกิจ หรือกระทั่งผู้ประกอบการต่างๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากคาร์เทียร์กันมากขึ้น เพื่อสร้างรางวัลเพิ่มเติม หรือเพื่อระดมทุนสำหรับผลกระทบทางสังคม และสิ่งที่ดีต่อสังคม ดีต่อสุขภาพ และความสุขของมนุษยชาติ
เธอเริ่มต้นจากการมองเห็นผู้คนในสังคมถึงเรื่องคุณค่าของสุขภาพที่ดี ซึ่งเธอมองว่า “เมื่อเรามีระบบการดูแลสุขภาพที่ดีนั้น มันจะเกี่ยวโยงโดยตรงกับสังคมประชาธิปไตยที่ดีขึ้น จะเชื่อมโยงกับสังคมที่มีการผลิตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เชื่อมโยงกับสังคมที่มีอายุขัยยืนยาว และอายุการทำงานที่ยาวนาน”
ดังนั้น เทคโนโลยีของ C the Signs จึงเป็นการนำเอไอ (AI) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี ด้วยการใช้วิเคราะห์ข้อมูลในระบบบันทึกทางการแพทย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ และข้อมูลที่ผู้ป่วยรายงานไว้ เพื่อตรวจสอบและคาดการณ์ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อมะเร็งหรือไม่ ความคิดริเริ่มมาจากการที่เธอมองว่าปัญหาใหญ่ที่สุดในการแก้ปัญหาของเรื่องนี้คือ เรามักตรวจพบมะเร็งในระยะท้ายๆ ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยในระยะท้ายๆ และผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งจึงรอดชีวิตเพียง 20% เท่านั้น ซึ่งถ้าวินิจฉัยได้เร็ว ผู้ป่วยจะรอดชีวิตได้ถึง 80% ระยะเวลาในการวินิจฉัยจึงเป็นความแตกต่างระหว่างการมีชีวิตกับความตายของผู้ป่วยมะเร็ง
ผ่านมาแล้ว 1 ปีหลังจากได้รับรางวัล Bea Bakshi ก็เห็นว่าเธออยากขยายสิ่งที่เธอทำไปทั่วโลก เพราะมะเร็งเป็นปัญหาระดับโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลก ดังนั้น ประชากร 1 ใน 6 คนทั่วโลกมักจะป่วยเป็นมะเร็ง “นี่เป็นหนึ่งในปัญหาที่เราตระหนักดีว่า แต่ละประเทศและแต่ละสังคมได้รับผลกระทบจากมะเร็งแตกต่างกัน เราจึงต้องคิดอย่างจริงจังว่าจะปรับใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่ให้บริการได้อย่างไร เราตื่นเต้นมากที่สามารถวินิจฉัยมะเร็งระยะเริ่มต้นในภูมิทัศน์ระดับโลกได้ รวมถึงการนำข้อมูลที่เรามีและสิ่งที่เห็นจากระบบไปใช้กับประเทศอื่นๆ”
จากเทคโนโลยีเพื่อความเท่าเทียมในการมีสุขภาพที่ดี สู่เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนในอนาคต The MATTER เองก็มีโอกาสได้คุยกับทั้ง DiDi Gan หนึ่งในผู้ชนะ Young Leader Award 2024 และ Aasawari Kane ผู้เข้ารอบสุดท้าย ซึ่งต่างก็ล้วนมีจุดเริ่มต้นและตระหนักถึงปัญหาในด้านสุขภาพอนามัยเช่นเดียวกัน แถมยังมองไปไกลถึงสิ่งแวดล้อมและปัญหาการจัดการกับขยะที่นับวันก็ยิ่งมากขึ้นของโลกใบนี้ด้วย
สำหรับ DiDi Gan เธอเติบโตมากับการเห็นโรงงานถั่วของคุณปู่ที่มีการแปรรูปจนกลายเป็นขยะหลายตันอยู่ทุกวัน เศษอาหารซึ่งกลายเป็นขยะเหล่านั้นจะถูกนำไปเผาหรือฝังกลบ จนกลายเป็นก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น นั่นเลยเป็นไอเดียที่เธอมีขึ้นและทำร่วมกับพาร์ตเนอร์ และกลายเป็นเทคโนโลยีที่นำเศษอาหารมาแปรรูปใหม่ในชื่อ ‘VIKANG99’ ซึ่ง VIKANG นี้เป็นยาต้านจุลชีพ (ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัส) ตามธรรมชาติชนิดรับประทานได้ชนิดแรกของโลก โดยผลิตภัณฑ์มีตั้งแต่เจลทำความสะอาดมือ สบู่ สเปรย์ฆ่าเชื้อ ไปจนถึงน้ำยาล้างจาน และทั้งหมดนี้ล้วนปลอดสารเคมีและยังสามารถรับประทานได้อีกด้วย
ทั้งนี้เมื่อต้นปี 2024, N&E Innovations ยังมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ การตระหนักถึงสารเติมแต่ง สิ่งที่ลงมือทำจึงเป็นการนำขยะอาหารมาเปลี่ยนเป็นผง และแปรรูปจนกลายเป็นฟิล์มแรปอาหารชิ้นแรกของโลกที่ทำจากเศษอาหารภายใต้ชื่อ ‘The Orange Clean Wrap’ และแรปสีส้มนี้ยังเป็นสีธรรมชาติที่เกิดจากเศษอาหารโดยไม่ได้ปรุงแต่งใดๆ
เช่นเดียวกับ Aasawari Kane ที่ได้ไอเดียก่อตั้ง Padcare Labs มาจากการต่อยอดเพราะมองเห็นปัญหาเรื่องผ้าอนามัยในอินเดีย ซึ่งผ้าอนามัยนั้นมักจะถูกทำลายด้วยการเผาในเตาเผาขยะที่อุณหภูมิกว่า 800 องศาเซลเซียส หากนึกภาพการเผาบางอย่างเช่นพลาสติกแล้ว โดยพื้นฐานอุณหภูมิที่สูงขนาดนี้จะปล่อยสารพิษออกมาจำนวนมากในรูปแบบของฟิวแรน/ไดออกซิน (Furan/Dioxin) ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งปอด แถมยังเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อนด้วย เธอจึงได้หาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วก็พบอีกว่า ผ้าอนามัยเพียงแผ่นเดียวนั้นใช้เวลาย่อยสลายถึง 800 ปีเลยทีเดียว และ 98% ของขยะเหล่านั้นมักถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีที่ไม่ยั่งยืน และก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
Padcare Labs จึงเห็นว่าจะต้องมีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้ ด้วยกระบวนการรีไซเคิลให้ผ้าอนามัยเหล่านั้นออกมาในรูปแบบของถุงและกระดาษสำหรับใช้งานใหม่ได้ และเมื่อได้ทำการวิเคราะห์แล้วก็พบว่า กระบวนการของเทคโนโลยีที่เธอและพาร์ตเนอร์ร่วมกันทำนั้น ดีกว่าการฝังกลบขยะ 58% และดีกว่าการเผาถึง 68% เลยทีเดียว
แม้ฉากหน้าเราจะได้เห็นถึงแนวคิดริเริ่ม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ของผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและผู้เข้ารอบคนสุดท้ายแล้ว แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้อย่างราบรื่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะพวกเขาต่างก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่เข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัว
N&E Innovations เริ่มต้นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และในฐานะผู้หญิงจึงทำให้เธอต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือในช่วงเริ่มต้น ด้วยคำถามต่างๆ มากมาย เช่น เศษอาหารจะกลายมาเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อได้อย่างไร? DiDi Gan จึงใช้คำถามเหล่านั้นมาเป็นแรงผลักดันเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อให้ทุกคนมองเห็นถึงความตั้งใจ
“ภายในปีแรก เราก็ได้รับแรงผลักดันและได้รับความน่าเชื่อถือ ด้วยเหตุนี้เราจึงได้รับเงินทุนก้อนแรกจนทำให้ธุรกิจของเราเติบโต และเพราะนวัตกรรมถือเป็นกุญแจสำคัญของเรา เราจึงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักของเราในตอนนี้”
เธอยังเห็นอีกว่าความท้าทายสำคัญที่เจอนั้น คือการได้รับการยอมรับจากตลาดและผู้บริโภคมากขึ้น “เรามีผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม แต่เราจำเป็นต้องทำให้ผู้คนยอมรับผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เราต้องการให้พวกเขายอมรับนวัตกรรมใหม่อย่างถูกกฎหมาย และฉันคิดว่านั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญ พวกเขาคิดเสมอว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องรอง แต่พวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนกรอบความคิดนั้นและคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นอันดับแรก เพราะทุกคนต้องมีบทบาทเล็กๆ น้อยๆ เพื่อทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น”
สำหรับ Aasawari Kane เธอบอกว่าความยากลำบากบางประการในช่วงแรกๆ ที่เธอต้องเผชิญนั้น คือการวิจัยตลาด เพราะเรื่องประจำเดือนและผ้าอนามัยในอินเดียนั้นมีข้อห้ามมากมาย “เป็นเรื่องยากสำหรับเราที่จะพูดคุยกับผู้ใช้ในหลายพื้นที่ เราเชื่อเสมอในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง เพราะไม่งั้นมันจะไม่ถูกนำมาใช้ เราเลยต้องการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ใช้ที่เป็นผู้หญิงในวัยมีประจำเดือน เจ้าหน้าที่สุขาภิบาลบางคน หรือพนักงานของบริษัท ในตอนแรกจึงค่อนข้างยาก เพราะผู้คนรู้สึกเขินอายมากที่จะพูดถึงเรื่องนี้” ส่วนเหตุผลต่อมาคือการไม่มีเงินทุนเนื่องด้วยเป็นบริษัทสตาร์ทอัป แต่ท้ายที่สุด เธอและพาร์ตเนอร์ก็สามารถก้าวผ่านมาได้ด้วยการระดมทุนและได้เงินช่วยเหลือ
ในอนาคต เธอก็ยังอยากขยาย Padcare Labs จากอินเดียไปทั่วโลก โดยจะมุ่งเน้นไปที่เอเชียใต้ “เราไม่ต้องการจำกัดตัวเองอยู่แค่เพียงตลาดในอินเดีย แต่เราต้องการที่จะไปทั่วโลก เพราะตลาดของเรามีอยู่ทุกที่ในผู้หญิงมีประจำเดือน เป้าหมายที่ใหญ่กว่าคือ เราไม่ต้องการให้ผ้าอนามัยเหล่านี้ถูกฝังกลบหรืออยู่ในเตาเผาขยะ แต่เราต้องการให้พวกเขารีไซเคิล” ดังนั้น เธอจึงกำลังสำรวจตลาดและพัฒนาโมเดล ปรับใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้กับที่อยู่อาศัย ชุมชน และชุมชนชายขอบ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของ Padcare Labs กับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นหลัก
สำหรับ Didi Gan ในฐานะผู้ชนะ Young Leader Award 2024 ภายใต้ธีม Tech for a Sustainable Future เธอมองว่าความตั้งใจที่ทำออกมาผ่านผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ภูมิใจนำเสนอนั้นจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เธอยังมองหาการขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา และยุโรป ด้วยการนำเสนอการใช้พลาสติก (ฟิล์มแรปห่ออาหาร) ที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
การได้รับรางวัลในครั้งนี้ก็ทำให้เธอภูมิใจมาก “ฉันคิดว่าคาร์เทียร์เป็นองค์กรระดับโลก พวกเขามีที่ปรึกษายอดเยี่ยม เช่น ผู้นำที่มีประสบการณ์ ซึ่งสามารถช่วยพัฒนาธุรกิจของเราไปสู่ระดับโลกได้ และเครือข่ายจากเรดคลับในองค์กรคาร์เทียร์ ก็ยังช่วยให้เราได้ติดต่อกับผู้ประกอบการรายอื่นที่สร้างแรงบันดาลใจ และติดต่อกับเครือข่ายอื่นๆ เพื่อยกระดับการเติบโตให้เราได้พัฒนาบริษัทไปสู่สากล เราจึงสามารถสร้างผลกระทบที่ดีต่อโลกมากขึ้นได้”
เห็นได้ว่า Young Leader Award รางวัลที่เรดคลับและคาร์เทียร์ทำร่วมกันนั้น นอกจากจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้มีกำลังใจแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้คนและสังคมรอบข้างขึ้นจริงๆ
จากปัญหาสุขภาพ สู่เทคโนโลยีที่ใช้เอไอเข้ามาวิเคราะห์และตรวจจับมะเร็งในระยะเริ่มต้น เพื่อสร้างโอกาสการรอดชีวิตของผู้คนให้มากขึ้น สู่การมองเห็นถึงปัญหาสุขอนามัยจากการจัดการผ้าอนามัยที่ใช้แล้ว ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม และกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยขยะอาหาร เพื่อโอบกอดชีวิต สุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในวันข้างหน้า
อนาคตที่ยั่งยืนอาจยังไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเราในปัจจุบัน แต่คือการทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่ทำในตอนนี้จะเป็นโลกอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับพวกเรา เหมือนหนึ่งในผู้ชนะของปีนี้อย่าง Didi Gan บอกกับเราว่า
“อย่าประนีประนอมกับคุณภาพชีวิตใน 30 ปีข้างหน้า การสร้างผลกระทบทางธุรกิจ คือการแสดงให้เห็นว่าคุณแตกต่างแค่ไหน และคุณสามารถทำให้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด เราต้องฝันให้ใหญ่ เมื่อคุณมีฝันที่ยิ่งใหญ่แล้ว คุณจะสร้างมันได้”
บางครั้งผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หรือใครก็ตาม ไม่ได้จำเป็นต้องมีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาที่ยิ่งใหญ่ เพียงแค่เรามองเห็นและตระหนักรู้จากสิ่งที่พบเจอรอบตัวในชีวิตประจำวัน การสังเกตเรื่องราวเล็กๆ เหล่านั้น อาจเป็นก้าวสำคัญที่พาให้เราเริ่มคิดและลงมือทำ จนสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมและอนาคตอย่างยั่งยืนได้
ส่วน Young Leader Award ในปีถัดไปจะมาภายใต้ธีมอะไร เหล่าผู้ประกอบการจะมีไอเดียเจ๋งๆ อีกมากแค่ไหน ในช่วงปลายปี 2025 ‘RED CLUB x Cartier’ ก็ได้เชิญชวนและเปิดรับสมัครผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ หรือนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่มีวิสัยทัศน์อยากนำเสนอความคิดและพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปด้วยกัน