ตั้งแต่ TCDC ย้ายสถานที่ไปอยู่ ณ ไปรษณีย์กลาง บางรัก เราไม่อาจปฏิเสธว่าบรรยากาศการเรียนรู้ในย่านเมืองเก่ามันช่างกลมกล่อมและลงตัว แต่อีกใจหนึ่ง ณ ตอนนั้นเราก็แอบใจหาย ที่พื้นที่สร้างสรรค์ TCDC เดิม บนห้างสรรพสินค้าดิเอ็มโพเรียมกำลังจะหายไป… หนังสือดีๆ นับหมื่นกับวิวสวยๆ ที่เห็นทั้งตัวเมือง สวนเขียวชะอุ่ม และท้องฟ้าในหลากช่วงเวลาไปพร้อมๆ กัน อาจไม่ใช่สิ่งที่เราจะสัมผัสมันได้ง่ายๆ อีกแล้ว
แต่แล้วความหวังก็เกิดขึ้นทันใด เมื่อแว่วข่าวของ AIS D.C ที่ใช้สถานที่เดิมตรงนั้น—โดยไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมเลย นอกจากเพิ่มระบบใหม่เข้าไปในเชิงซอฟต์แวร์ให้การเรียนรู้กว้างและกลมขึ้น
แค่แว่วข่าวว่าดีใจแล้ว เมื่อได้รับเกียรติให้เข้าร่วมงานเปิดตัวของเขาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมาคือดีใจยิ่งกว่า เพราะเรากลายเป็นคนแรกๆ ที่ได้สัมผัสบรรยากาศเดิมที่มีเสน่ห์ แต่ใหม่เอี่ยมไปด้วยพลังความสร้างสรรค์ที่ปรับให้เข้ายุคสมัยกว่าเดิม เพิ่มเติมคือการพร้อมสนับสนุนคนมีไอเดียและชาวสตาร์ทอัพที่กำลังจะเป็นกำลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ
ความดีงามข้างในนั้นคงมีคนรีวิวไปมากแล้ว แต่ที่เราอยากนำเสนอเพิ่มเติมก็คือเรื่องราวดีๆ ที่ได้พูดคุยกับท่านผู้บริหารอย่างคุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ แห่งค่าย AIS ที่ตัดสินใจเลือกเข้ามาสานต่อพื้นที่ตรงนี้ แถมยังเปิดโอกาสให้ทีมซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ได้วาดฝีไม้ลายมือกันจนเกิดเป็น 6 โซนสุดเจ๋ง ที่พร้อมรองรับทุกความต้องการของคนมีไอเดีย ซึ่งจะมีอะไรบ้าง และแต่ละสิ่งอันมีแนวคิดเบื้องหลังอย่างไร สกรอลลงไปอ่านได้ ณ บัดนี้
Life MATTERs : อะไรที่ทำให้คุณเลือกเข้ามาจับพื้นที่ตรงนี้
สมชัย : TCDC เป็นที่ที่ดีมาก เขามีมาเป็นสิบกว่าปีแล้ว ซึ่งพอต้องย้ายไปที่บางรัก การจะปล่อยให้พื้นที่ที่ดีอยู่แล้วต้องหายไปเฉยๆ ย่อมเป็นเรื่องน่าเสียดาย
AIS DC จึงเกิดขึ้น คอนเซ็ปต์หลักคือการมุ่งเน้นเอาเทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งเป็นความแข็งแรงของเรา เข้ามาช่วยสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ในขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็น TCDC ที่เน้นเรื่องการดีไซน์และงานครีเอทีฟเข้าด้วยกัน
สิ่งที่เราทำคือเราไม่ได้รื้อของเก่าออกเลย ซึ่งถ้าพูดถึงงบประมาณ แล้วเราสามารถรื้อและเปลี่ยนมันทั้งหมดได้ แต่เรากลับอยากคงความแข็งแรงดั้งเดิมอย่างห้องสมุดหรือ design thinking ของเขาเอาไว้อยู่ เพียงแต่เพิ่มเติมส่วนของเทคโนโลยีเข้าไป ถ้าห้องที่เราเห็นคือฮาร์ดแวร์ สิ่งที่เราใส่เข้าไปคือซอฟต์แวร์ที่เป็นหัวใจของมันเท่านั้นเอง
เช่นห้อง Library ดูภายนอกเราไม่ได้เปลี่ยนอะไร แต่ภายในลึกๆ เราเปลี่ยนแปลงมันเยอะ เช่นเราจะมี E-Library เกิดขึ้น ดังนั้นใครที่ถนัดหยิบจับเป็นเล่ม ก็ใช้พื้นที่ตรงนี้ได้เต็มที่ ส่วนคนที่ถนัดอ่านออนไลน์เราก็คิดว่าเขาไม่ควรพลาดโอกาส
ในห้องสมุดเอง จากที่ทำได้แต่นั่งเฉยๆ เราก็ทำเป็น co-space เพราะอยากให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกัน ผมว่าในยุคสมัยใหม่ การเรียนรู้จากการอ่านมันดีนะ แต่มันไม่จำเป็นต้องออกนอกบ้านเพื่อมาอ่านเท่านั้น มันควรเป็นการออกมาเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนได้ด้วย แต่ท้ายที่สุด ถ้าหากคนที่ยังอยากตั้งใจอ่าน ไม่อยากวุ่นวาย เราก็เปิด quiet room ให้เข้าไปอ่านได้เช่นกัน หรือใครที่อยากพูดคุยจริงจังกว่านั้น เราก็มี Meeting Room ให้บริการ
Life MATTERs : นอกจากพื้นที่อ่านหนังสือแล้ว ที่แห่งนี้ยังมีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาอีกบ้าง
สมชัย : ที่เราเพิ่มเติมเข้ามาคือห้อง showcase หรือ exhibition ตรงนี้สำคัญมาก เพราะในทุกๆ สามเดือน เราจะนำสิ่งใหม่ๆ ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยเข้ามา ในสามเดือนแรกเราใช้คอนเซ็ปต์ ‘Start it up’ เพราะตอนนี้สตาร์ทอัพเป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจ เราอยากมีส่วนช่วยสอนเขาว่า เมื่อคุณมีไอเดียแล้ว ถ้าอยากเป็นสตาร์ทอัพที่ดีควรทำยังไง มันจะมีทั้งส่วนผสมของความรู้ทางเทคโนโลยี ความรู้ด้านธุรกิจ การเงิน หรือต่างๆ เราก็อยากสอนเขาให้ประสบความสำเร็จ
นอกจากนั้นเรายังมีห้อง workshop ที่ทางเราร่วมมือกับ TCDC จัดคลาสต่างๆ ที่คิดว่าไม่สามารถหาได้จากมหาวิทยาลัยหรือหากไปเรียนเองข้างนอกก็ต้องจ่ายเงินแพงมาก ตรงนี้เราจะจัดหาเข้ามาให้กับเมมเบอร์ในราคาพิเศษ หรือบางคลาสจะฟรีด้วยซ้ำ รวมถึงทอล์กต่างๆ ที่น่าสนใจ เราก็อยากจะจัดขึ้นเป็นประจำ
Life MATTERs : เห็นว่ามีพื้นที่ในเชิงโปรดักชั่นด้วย?
สมชัย : ใช่ เรามีห้อง Studio ให้เช่า อันนี้ยอมรับว่าเกิดจากทีมงานของเราเอง ที่ไปคุยกับพวกสตาร์ทอัพว่า เขาอยากได้อะไร ซึ่งคำตอบที่ได้มันง่ายมาก แต่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลย คือเขามีไอเดียแล้ว มีสินค้าแล้ว แต่เวลาจะเสนอขาย เขาต้องเสียเงินซื้อกล้องดีๆ หรือไปเช่าสตูดิโอเพื่อถ่ายมันไปเสนอนายทุน เราเลยจัดโซนนี้ไว้ให้ ให้พวกเขาได้งานที่มีคุณภาพแล้วราคาจับต้องได้ด้วย
ที่สำคัญคือเราเชื่อมต่อระบบให้บริการ ที่ลิงค์กับลูกค้าของเรากว่า 40 ล้านเลขหมายมาตั้งไว้ที่นี่ได้ด้วย คนที่มีไอเดียก็สามารถเชื่อมต่อกับระบบเพื่อทดลองว่าแอพลิเคชั่นที่เขาจะทำขาย มันใช้งานได้จริงหรือเปล่า มันขึ้นมือถือได้ไหม อยู่ในแท็บเล็ตแล้วเวิร์กหรือเปล่า ก็มาทดสอบได้ที่ห้อง Playground
Life MATTERs : สาขาอาชีพไหนที่คุณอยากแนะนำให้มาที่นี่เป็นพิเศษ
สมชัย : ก็ต้องยอมรับว่าคนที่อยากทำแอพลิเคชั่นเป็นหลักนะครับ มันจะเป็นประโยชน์มากๆ สำหรับเขา ในการทำแอพฯ ในการนำเสนอสินค้าและบริการของเขา ซึ่งแอพลิเคชั่นในตอนนี้มันครอบคลุมไปถึงทุกสาขาอาชีพเลย ไม่จำเป็นต้องดูเป็นเทคโนโลยีจ๋าๆ ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นแอพฯ ที่อยากไปดูแลเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา หรือช่วยด้านสาธารณสุข ดังนั้นที่จริงผมว่าพื้นที่เราครอบคลุมได้ทุกความสนใจ เพียงแต่เน้นหนักในแพลตฟอร์มของแอพลิเคชั่นบนโลกดิจิตอลครับ
Life MATTERs : คิดว่าเด็กรุ่นใหม่มีพลังหรือพร้อมขับเคลื่อนสังคมไทยมากแค่ไหน
สมชัย : เด็กรุ่นนี้ดีกว่าเด็กรุ่นผมตรงที่เขากล้าคิดกล้าแสดงออก ไอเดียต่างๆ เขาก็กล้าพูดหรือเสนอออกมา แต่ข้อที่ยังอ่อนคือพวกเขาคิดเร็วเกินไป คิดทุกอย่างง่ายไปหมด ซึ่งผมเคยพูดอยู่ว่าเส้นทางของมืออาชีพมันไม่มีทางลัด มันไม่ใช่แค่คิดแล้วจะสำเร็จไปทุกอย่าง
ที่ตรงนี้จะเป็นที่ที่สอนให้เขาได้เรียนรู้ ว่าการกล้าแสดงออกเป็นข้อดีของคุณ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความจริงของโลกใบนี้ว่ามันอาจจะเฟลได้เหมือนกัน แต่ถึงเฟลก็ทำไปเถอะ มันคือประสบการณ์ที่จะผลักดันให้งานหน้ามันดีขึ้น
ส่วนสามารถผลักดันประเทศไทยได้ไหมเหรอ ผมว่าไทยเราจะเติบโตได้ก็อยู่ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่นี่แหละ พวกเขาจะเป็นพลัง และ AIS D.C. เองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่อยากพัฒนาตรงนี้ ให้เป็นพลังที่ดีและมีประโยชน์กับประเทศ
Life MATTERs : คนที่คิดเร็วเกินไปอาจได้มาทบทวนตัวเองที่นี่หรือยอม slow down ลงบ้าง?
สมชัย : ไม่ใช่อย่างนั้นครับ เราไม่ได้เป็นคนที่จะไปหยุดเขา แต่เราช่วยตรวจสอบว่าไอเดียของเขาเป็นไอเดียที่เพ้อฝันไปไหม ถ้าพูดกันตรงๆ ไอเดียของเขาสามารถทำได้จริงไหม มันอาจเป็นไอเดียที่ดีและทำได้จริงแล้ว แต่จะมีข้อสามโผล่มา นั่นคือ มันขายได้หรือเปล่า
แทนที่เขามีไอเดียดีแล้วต้องไปเสียเวลาค้นหา แล้วลองตลาดที่ไม่รู้ว่าจะถูกหรือผิด แต่เมื่อคุณมาที่นี่คุณได้ย่นเวลาในการลองผิดลองถูก คุณมาลองกับลูกค้า 40 ล้านเลขหมายได้เลย ดังนั้นเราไม่ได้ทำให้เขาช้าลงแน่ๆ แต่ทำให้เขาได้คิดอย่างถี่ถ้วนกับทำให้เขาเร็วขึ้น ย่นระยะเวลาในการลองผิดลองถูกด้วย
Life MATTERs : คนที่มีไอเดียก้อนเล็กมากๆ มาที่นี่ได้ไหม
สมชัย : ได้ครับ แม้กระทั่งคนทั่วไปที่ยังไม่ได้เกิดไอเดียอะไรก็มาได้ คนที่ไม่ได้อยากทำธุรกิจหรือสตาร์ทอัพ แต่อยากเข้ามานั่งอ่านหนังสือแบบ TCDC เดิมก็ยังได้ คือคนเรามีหลากหลายมาก บางคนมาที่นี่เขาแค่อยากค้นคว้าในสิ่งที่เขาอยากรู้ บางคนมาที่นี่เพราะอยากมีที่นั่งทำงานนอกออฟฟิศ ที่นี่ก็ตอบโจทย์ทั้งนั้นแหละ
Life MATTERs : คนที่ทำงานครีเอทีฟ นอกจากองค์ความรู้แล้ว คอมมิวนิตี้ที่เขาเจอได้ที่นี่จะช่วยส่งเสริมเขาแค่ไหน
แน่นอนครับ ผมเองให้ความสำคัญกับ partnership และการ connect กันมากๆ เราถึงได้มีเวิร์กช็อปที่ไม่ใช่แค่คลาสเรียนแล้วก็จบ ผมเองก็เคยได้มีโอกาสไปเรียนในคลาสต่างๆ แล้วมันเกิดสายสัมพันธ์ในทางเครือข่ายหรือธุรกิจ หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวที่เพิ่มเติมก็ตาม ดังนั้นพื้นที่ที่เรียกว่าโคสเปซ เราก็อยากให้มีการพูดคุย ทำความรู้จักกันแล้วมีผลต่อเนื่องกันไปในอนาคต
อย่างบางคนขี้อายมาก แต่พอไปเรียนในคลาสดีๆ แล้ว ความแข็งแรงของมันหล่อหลอมให้เขาได้เปลี่ยนพฤติกรรม เขายังคงเป็นคนขี้อายเหมือนเดิมนะ แต่โครงสร้างหลักสูตรทำให้เขากลายเป็นคนขี้อายที่มีเพื่อนเยอะ ผมเคยเจอคนที่ไม่พูดอะไรเลย แต่พอได้ร่วมคลาสที่แข็งแรงด้วยกัน เขาก็ได้ถูก recognize ว่าเขาเป็นเพื่อนที่ดีของทุกคน
Life MATTERs : แล้วสำหรับสตาร์ทอัพที่มาที่นี่จะได้รับการเมนเทอร์ไปจนถึงตอนไหน
สมชัย : ก่อนที่เอไอเอสมาถึงตรงนี้ เราทำเกี่ยวกับสตาร์ทอัพมา 7 ปี จากเดิมเราก็ทำทั่วๆ ไป ปีหนึ่งก็จะมีการคัดสรร ประกวดกัน เสร็จแล้วคนได้รางวัล ก็จะมีอินเวสเตอร์มาสนใจลงทุน แต่พอเราทำมาเรื่อยๆ เราพบว่ามันไม่ใช่แบบนั้น เราพบว่าคนคิดเองอยากเป็นเจ้าของมันเอง ดังนั้นเราเลยอยากให้เขาลองว่าไอเดียของเขามันเข้าสู่ตลาดได้จริงไหม เราว่าสตาร์ทอัพต้องการเมนเทอร์
และสตาร์ทอัพที่ดีไม่ควรเหมือนประกวดนางสาวไทย คือมาเป็นรอบๆ เป็นปีๆ ไป แต่พอเขามีไอเดียปุ๊บเขาควรจะสามารถเดินเข้ามาหาคนช่วยได้ทุกวี่ทุกวัน
แต่หลังจากที่ธุรกิจเทคออฟได้ มันเป็นงานของเขาแล้วล่ะ หน้าที่ของเราคือทำให้เขาสามารถเริ่มต้นได้อย่างแข็งแรง แต่แน่นอนว่าสินค้ามันมี life cycle ของมัน ซึ่งตรงนี้เราคงไม่ได้เข้าไปช่วยเขาเยอะ เพราะเราเน้นช่วยให้ไอเดียเขาเกิดขึ้นได้จริงมากกว่า
เส้นทางมืออาชีพมันไม่มีทางลัดครับ อย่างอาลีบาบาที่รุ่งมากก็ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี จะให้ปีสองปีรุ่งเลยน่ะไม่มีทาง ดังนั้นคนที่คิดได้ก็จงทำต่อไป แต่ต้องเข้าใจว่าต้องใช้เวลา และความมุ่งมั่นครับ
Photos by Adidet Chaiwattanakul