ยุคสมัยนี้ การออกไปท่องโลกด้วยตัวคนเดียวคงไม่ใช่เรื่องยากเข็ญจนเกินไปนัก เหมือนที่เราเห็นจนชินตาตามไอจีหรือเพจท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ แต่ถ้าลองจินตนาการย้อนกลับไปในยุคสงครามโลก ที่ยังไม่มีพาหนะปรู๊ดปร๊าดอย่างสมัยนี้ คงจะไม่ง่ายนักถ้าคุณจะทำตัวเป็นนักพเนจร (wanderer) ที่ออกท่องโลกตามลำพัง เว้นเสียแต่ว่าคุณคือชายหนุ่มนามว่า จอร์จ วิทแมน (George Whitman)
หลายคนอาจจะไม่รู้จักตัวเขามากเท่ากับชื่อร้านหนังสือที่เขารับช่วงต่อมาในปี 1958 —Shakespeare and Company ร้านสีเขียวชื่อดังริมแม่น้ำแซนแห่งกรุงปารีส ที่แฟนหนัง Before Sunset และ Midnight in Paris น่าจะรู้จักกันดี และทุกวันนี้ร้านร้านนี้ก็กลายเป็นอีกหนึ่งแลนมาร์กที่ผู้ไปเยือนกรุงปารีสต้องแวะชม
นอกจากแขกที่แวะเวียนมาถ่ายรูป ซื้อหนังสือแล้วจากไป Shakespeare and Company ยังเคยต้อนรับแขกอีกกลุ่มที่มาพำนักในช่วงระยะเวลาสั้นๆ (หรือยาวก็ได้) นั่นก็คือเหล่านักเขียนจากทั่วโลก ที่ออกเดินทางเพื่อหาแรงบันดาลใจและมีปารีสเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่วาดฝัน คล้ายอย่างที่นาย Jesse กระทำใน Before Sunset นั่นเอง
และแนวคิดการให้ที่พักพิงกับนักเขียน จะมาจากไหนไม่ได้ นอกจากความอินส่วนตัวของเจ้าของร้านอย่างคุณวิทแมน ที่หากย้อนกลับไปในวัยหนุ่ม เขาเองเป็นนักท่องโลกมือฉมังอย่างไม่ต้องสงสัย
จากบ้านเกิดในรัฐแมสซาชูเซตส์ อเมริกา หนูน้อยวิทแมนต้องย้ายตามพ่อของเขาที่เป็นอาจารย์สาขาฟิสิกส์ ไปประจำการสอนที่มหาวิทยาลัยนานกิง ประเทศจีน ความทรงจำในช่วงเวลานั้น ถือเป็นแรงกระตุ้นให้จอร์จหลงใหลการท่องเที่ยวผจญภัยในเวลาต่อมา
หลังจากที่ย้ายกลับอเมริกาเมื่อโตขึ้น จนจบการศึกษาในสาขาวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ในปี ค.ศ. 1935 ซึ่งช่วงเวลานั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ (Great Depression) พอดี แต่เขาก็ยังอุตส่าห์ได้งานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้สื่อข่าวในวอชิงตัน ดี.ซี. ทำให้ครอบครัวยินดีปรีดาอย่างมาก
แต่ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น จอร์จกลับบอกลางานประจำ เริ่มทริปผจญภัยเร่ร่อนที่ตัวเขาเรียกว่า Hobo Adventure มีทั้งการโบกรถเที่ยว เดินเท้า รวมถึงการโหนรถไฟเที่ยว (train hopping) ทั่วทั้งสหรัฐ ลงไปถึงอเมริกากลางและเม็กซิโก
ไม่มีบันทึกบอกไว้ว่า เกรซ แม่ของจอร์จรู้สึกปวดหัวกับลูกชายของเธอมากแค่ไหน แต่จอร์จก็ใช้ชีวิตไปสุดทางถึงขั้นเกือบตายมาแล้ว มีครั้งหนึ่งที่รัฐยูกาตาน (Yucatan) เขาป่วยเป็นโรคบิดและต้องเดินลุยป่าที่เป็นหนองน้ำเฉอะแฉะอยู่สามวันโดยปราศน้ำและอาหาร จนได้รับการช่วยเหลือและรักษาตัวจากชนเผ่าหนึ่งของมายัน ถึงได้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
จากประสบการณ์การเดินทางของเขาทำให้จอร์จตระหนักว่า แม้ผู้คนที่เขาพบเจอจะดำรงชีวิตอย่างลำบากยากจนข้นแค้น แต่ทุกคนก็เป็นมิตรและมีจิตใจงดงามอย่างมาก จอร์จจึงมีหลักการประจำใจว่า “ให้เท่าที่ได้ และรับเท่าที่จำเป็น”
ในปี ค.ศ. 1941 จอร์จ สมัครเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดในสาขาละตินอเมริกันศึกษา ไปพร้อมๆ กับสมัครเข้าร่วมกองทัพสหรัฐฯ เขาถูกกองทัพเรียกตัวในปีต่อมาและต้องย้ายไปประจำที่กรีนแลนด์อันแสนห่างไกล จนเมื่อเขาปลดประจำการในปี ค.ศ. 1946 จอร์จกลับไปเดินทางท่องยุโรปอีกครั้ง* ก่อนที่จะเลือกลงหลักปักฐานที่ปารีส เขาใช้เงินชดเชยสำหรับทหารผ่านศึก (G.I. Bill) ในการสร้างตัวที่ปารีสและรวมถึงการสมัครเข้าเรียนในสาขาจิตวิทยาและอารยธรรมฝรั่งเศส ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ด้วย
ช่วงเวลานั้น จอร์จเริ่มเปิดห้องของเขาให้เป็นที่สำหรับยืมและอ่านหนังสือโดยจะเปิดประตูทิ้งไว้ตลอดไม่เคยลงกลอน ก่อนจะเริ่มเปิดร้านหนังสือร้านแรกในสามปีต่อมา ภายใต้ชื่อ “Le Mistral” ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น “Shakespeare and Co.” ในปี ค.ศ. 1964 โดยสันนิษฐานว่า ซิลเวีย บีช (Sylvia Beach) – นักเขียน ผู้จัดพิมพ์ และเจ้าของร้านชื่อเดียวกันนี้เป็นผู้แสดงความประสงค์ให้จอร์จใช้ชื่อร้านเดิมของเธอสืบมา ซึ่งจอร์จก็ได้เปลี่ยนชื่อร้านเพื่อเป็นเกียรติแก่ซิลเวีย บีชในปีที่ฉลองครบรอบวันเกิด 400 ปีของเชคสเปียร์พอดี
เชคสเปียร์แอนด์โค. ไม่ได้ละทิ้งจิตวิญญาณผจญภัยของจอร์จแม้แต่น้อย ร้านหนังสือของเขาเป็นเสมือนบ้านให้กับนักเขียนชื่อดังและนักเขียนพลัดถิ่นหลายๆ คน ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งหนึ่งที่เรียกว่าเคยเป็นเอกลักษณ์ของเชคสเปียร์แอนด์โค.ก็คือการเปิดให้นักเดินทางจากทั่วโลกเข้าพักในร้านหนังสือของเขาได้ฟรี นั่นก็คงเป็นเพราะตัวจอร์จเองเชื่อในความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
คงจะเป็นเช่นคติที่อยู่บนกำแพงร้านตราบจนทุกวันนี้ “Be not inhospitable to strangers, lest they be angels in disguise”.
Text by แมวกุหลาบดำ
cover photo by : afriendinparis.com
อ้างอิง
*ข้อมูลบางแหล่งบอกว่าในช่วงสงคราม จอร์จต้องย้ายไปดูแลทหารที่บาดเจ็บตามเมืองต่างๆทั่วยุโรป แต่บทความนี้ใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ของร้านเป็นหลัก ดูเพิ่มเติมได้ที่ bostonglobe.com