ถ้าพูดถึงลวดลายที่โดดเด่นลายหนึ่งของยุคนี้ คงหนีไม่พ้นลายดอกไม้ดอกโตสีสันสดใส ที่สำหรับแฟนๆ แล้ว แค่มองปราดเดียวก็รู้ว่าคือลาย Unikko หรือดอกป๊อปปี้ อันเป็นซิกเนเจอร์ของ Marimekko แบรนด์เท็กซ์ไทล์ชื่อดังจากฟินแลนด์ ที่กลายเป็นไอเทมฟินๆ สำหรับสาวๆ หลายคนไปแล้ว
และที่เห็นว่าป๊อปๆ สดใสหัวใจชื่นบานแบบนี้ เชื่อไหมว่าลายดอกอูนิกโกะอาจไม่มีอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ ถ้าคนๆ หนึ่งไม่ลุกขึ้นมาท้าทายคำสั่งของหัวหน้า ด้วยการทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคำสั่งนั้นโดยสิ้นเชิง ใครคนนั้นก็คือ Maija Isola ผู้ออกแบบลวดลายนี้เอาไว้ตั้งแต่ช่วงปี 1960s
ก่อนจะเล่าไปไกล เราขอปูแบ็กกราวด์สักนิด เมื่อปี 1949 คู่สามีภรรยา Viljo และ Armi Ratia ได้ก่อตั้งบริษัท Printex (ชื่อเดิมก่อนจะเติบโตมาเป็น Marimekko) โดยฝ่ายภรรยานั้นเป็นผู้เสาะหาและรวบรวมนักออกแบบฝีมือดี มาเป็นนักออกแบบลายผ้าประจำบริษัท
ในปีนั้น Maija Isola คือบัณฑิตหมาดๆ วัย 22 ปีจาก Helsinki Central School of Art ผู้เป็นนักออกแบบคนแรกที่ Printex ว่าจ้าง เพราะถูกใจลายแพทเทิร์นชื่อ Amphora ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากไหยุคโบราณที่เธอเห็นที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงออสโล ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในลวดลายแรกๆ ที่ Printex พิมพ์เป็นผ้าออกมาจำหน่ายและขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในประเทศฟินแลนด์
ตั้งแต่นั้นมา Maija ก็ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในนักออกแบบตัวท็อปของบริษัท โดยหนังสือ Phenomenon Marimekko เล่าไว้ว่า Maija เป็นคนที่มีไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา ภาพสเก็ตช์ของเธอมักจะกระจายเต็มพื้นบริษัทไปหมด โดยงานในช่วงแรกของเธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะและธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นลวดลายมินิมัลที่ถูกตัดทอน หรือเป็นลวดลายละเอียดลออก็ได้ ตัวอย่างลวดลายที่ยังคงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่แฟนๆ Marimekko ในปัจจุบันก็คือ Kivet (ก้อนหิน), Lokki (นกนางนวล) และ Kaivo (บ่อน้ำ)
จู่ๆ ในปี 1964 กฎเหล็กก็ปรากฏขึ้น โดย Armi บอกกับเหล่าเท็กซ์ไทล์ดีไซเนอร์ในบริษัทว่า “ห้ามวาดลายดอกไม้เด็ดขาด” ซึ่งว่ากันว่าเธอมีสองเหตุผล เหตุผลแรกคือเธอคิดว่าดอกไม้ในธรรมชาตินั้นสวยงามจนภาพวาดหรือสัญลักษณ์ใดๆ ก็ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือเธอคิดว่าลวดลายดอกไม้นั้นออกจะเฉิ่มเชยไม่เหมาะกับยุคสมัย
แทนที่จะเออออแล้วก้มหน้าก้มตาทำงานไป พอได้ยินประกาศิตจากหัวหน้า Maija ก็ลุกขึ้นมาวาดลวดลายดอกไม้เป็นสิบๆ ลาย! แต่แทนที่จะดุด่า Armi กลับชอบใจ แถมยังเลือกไปพิมพ์เป็นผ้าถึง 8 ลาย ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็คือลายอูนิกโกะที่เราคุ้ยเคยกันดีนั่นเอง โดยเวอร์ชั่นแรกสุดเป็นดอกสีชมพูและแดง ก้านสีดำ บนพื้นหลังสีขาว
ส่วนตัวเรารู้สึกชื่นชม Maija มากที่กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่น และแอบคิดไม่ไ่ด้ว่า ตัวจริงเธอน่าจะเป็นคนซ่าและก๋ากั่นอยู่ไม่น้อย ซึ่งจากคำบอกเล่าของ Kaari Utrio นักเขียนนิยายชาวฟินแลนด์ ก็ได้บรรยายถึงดีไซเนอร์สาวว่าเธอเป็นคนที่ “มีคาแรคเตอร์ของตัวเองอย่างร้ายกาจ” (a dangerously original character) และ “เป็นหนึ่งในเจเนอเรชั่นถางทาง” (belonged to a trailblazing generation) ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีที่ยืนในวงการศิลปะ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องให้เครดิต Armi ที่ใจกว้างพอจะเปิดรับไอเดียใหม่ๆ ด้วย แม้ว่าไอเดียนั้นจะขัดกับนโยบายของเธอโดยตรงก็เถอะ ส่วนใหญ่เรามักมองความขัดแย้งเป็นเรื่องไม่ดี แต่ในเคสนี้กลับกลายเป็นว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องดีและเอื้อให้คนเราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา แถมในที่สุดสิ่งใหม่ๆ นั้นยังกลายเป็นของคลาสสิกที่อยู่ยั้งยืนยงผ่านกาลเวลามาได้นานถึง 53 ปี อีกต่างหาก
หลังจากออกแบบลาย Unikko แล้ว Maija ยังออกแบบลายผ้าอีกหลายร้อยลาย โดยงานช่วงหลังของ Maija มักได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยูโกสลาเวีย อิตาลี หรืออัลจีเรีย ไปจนถึงได้แรงบันดาลใจจากอารยธรรมของชู้รักชาวอียิปต์ที่ชื่อว่า Ahmed Al-Haggagi เช่นลาย Tumma (ความมืด) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง
ตลอดระยะเวลา 38 ปี Maija สร้างสรรค์ลวดลายไว้มากถึง 500 ลาย ซึ่งมีอิทธิพลกับตัวตนของ Marimekko ตามการรับรู้ของสาธารณะชนอยู่ไม่น้อย ซึ่งหลายคนก็เห็นตรงกันว่าต้องยกเครดิตให้เธอ โดย Marianne Aav ผู้อำนวยการ Helsinki Design Museum ก็เคยกล่าวไว้ว่า “สไตล์ของ Marimekko ตามความเข้าใจของเรามีพื้นฐานมาจากงานของ Maija Isola เกือบทั้งหมด”
และแม้จะดูเป็นคนติสต์ๆ ห่ามๆ แต่เรื่องการทำงาน Maija เป็นคนที่เนี้ยบมาก เธอทำแม้กระทั่งการเก็บรวบรวมแบบร่างต้นฉบับไว้เป็น ‘pattern books’ ซึ่งดีไซเนอร์ยุคหลังสามารถนำแบบร่างเหล่านี้มาปัดฝุ่นเพื่อพิมพ์ผ้าล็อตใหม่หรืออาจจะทดลองเติมสีสันใหม่ๆ เข้าไป และหนึ่งในดีไซเนอร์ที่มาสานต่อลวดลายคลาสสิกของ Maija ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นลูกสาวแท้ๆ ที่ชื่อ Kristina ผู้เข้ามาทำงานที่ Marimekko ตั้งแต่อายุเพียง 18 ปี ห่างจากอายุตอนที่แม่ของเธอเริ่มเพียง 4 ปีเท่านั้นเอง เรียกได้ว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นที่แท้จริง
ความพีคยังไม่จบแค่นั้น เพราะ Emma ลูกสาวของ Kristina หลานของ Maija ก็เข้ามาทำงานที่ Marimekko ด้วยเหมือนกัน เท่ากับว่าครอบครัว Isola ทำงานกับบริษัทนี้มาถึง 3 รุ่น กินเวลากว่า 60 ปีเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี ตอนนี้สายสัมพันธ์อาจจะขาดสะบั้นไปแล้ว เพราะมีข่าวว่า Kristina โดนเชิญออกตั้งแต่ปี 2013 ด้วยถูกจับได้ว่าลอกงานศิลปินอื่น ส่วน Emma นั้นไม่มีรายงานว่ายังอยู่กับ Marimekko หรือไม่
ในช่วงบั้นปลายของชิวิต Maija วางมือจากการออกแบบลายผ้า แล้วอุทิศตนให้กับการวาดรูปอย่างจริงจัง และในปี 2001 เธอจากโลกนี้ไปอย่างสงบด้วยวัย 74 ปี แต่จนถึงทุกวันนี้ผู้คนทั่วโลกก็ยังคงมีความสุขไปกับลวดลายดอกไม้ที่มองกี่ครั้งก็รู้สึกถึงความสดใสและพลังบวก ลวดลายดอกไม้ที่จะมีอายุยืนยาวกว่าเธอไปเป็นสิบๆ ปี ซึ่งเราเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าเธอคงยินดีกับมันมากทีเดียว
อ้างอิง