ชาเย็น ชาส้ม ชานมเย็น ชาไทย ไม่ว่าจะเรียกแบบไหน แต่ในใจทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน อยู่ที่เครื่องดื่มหวานเย็น สีส้มสดใส กลิ่นชาหอมชื่นใจ ที่หาดื่มได้ตั้งแต่รถเข็นริมทาง ไปจนถึงในห้างสรรพสินค้า ถือเป็นอีกเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมแบบกระแสดีไม่มีตกเสมอมา
ดูเหมือนว่าช่วงนี้เมนูชาไทย จะกลับมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเมนูใหม่ที่ใส่ชาไทยลงไปเป็นส่วนประกอบ ไปจนถึงชาไทยแบรนด์ใหม่ๆ ที่มาตีตลาดน้ำชง จนได้ส่วนแบ่งตลาดไป แม้จะเป็นแบรนด์น้องใหม่ที่มาชนกับเจ้าดังที่มีอยู่เดิมก็ตาม
แล้วที่เราเรียกชาไทยกันจนติดปาก เจ้าน้ำชงสีส้มนมกลมกล่อมแก้วนี้ เป็นชาของไทยจริงๆ หรือเปล่านะ แล้วคนไทยเริ่มดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้กันตั้งแต่เมื่อไหร่?
ย้อนไปได้ไกลสุดเท่าที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์จะพอบันทึกไว้ได้ ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็เริ่มมีการดื่มชากันแล้ว แต่ชาที่ว่านั้นเป็นชาร้อน ไม่ใส่นม ไม่ใส่น้ำตาล แบบชาจีน ต่อมาได้รับอิทธิพลการดื่มชาร้อน ใส่นม ใส่น้ำตาล มาจากอินเดีย แต่ก็ยังนิยมดื่มเป็นชาร้อนเท่านั้น
ในสมัยปลายรัชกาลที่ 6 ตอนนั้นมีโรงน้ำแข็งแห่งแรก ร้านกาแฟโบราณจึงนิยมเสิร์ฟเครื่องดื่มเย็นคลายร้อน ตอนนั้นเองก็เริ่มมีชาเย็นให้ได้ดื่มกันแล้ว แต่ชาเย็นในตอนนั้น เป็นชาสีครีมหรือสีน้ำตาลอ่อน ไม่ใช่สีส้มสดใสที่เราคุ้นเคยกัน เพราะในตอนนั้นนิยมใช้ชาซีลอนที่มีสีอ่อนมาชงเป็นชาเย็นนั่นเอง
แล้วสีส้มในชาไทยมาจากไหน ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลในส่วนนี้ว่า สีส้มในชาไทยน่าจะมาพร้อมกับการมาถึงของแบรนด์ ‘ชาตรามือ’ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2488 ได้นำเข้าใบชาแดงเป็นครั้งแรก และได้ใช้ใบชานี้ในการชงชาไทยและชาดำเย็น จึงมีสีสันและกลิ่นรสที่แตกต่างจากชาเย็นจากใบชาซีลอนที่เคยดื่มกัน
กว่าจะมาถึงในทุกวันนี้ ชาเย็น ชาไทย ชาส้ม มีการปรับสูตรไปมากมาย ตั้งแต่ใบชาที่ใช้ นอกจากชาซีลอน ชาแดงแล้ว ยังมีชาอัสสัม ชามาเลย์ ชามะลิ และใบชาอื่นๆ ไปจนถึงวัตถุดิบ ครีมเทียมแบบผง ครีมเทียมแบบเหลว นมสด นมข้นหวาน นมข้นจืด น้ำเชื่อม ขึ้นอยู่ที่สูตรของแต่ละร้าน แม้จะเป็นชาไทยเหมือนกัน แต่ละร้านต่างก็มีกลิ่นรสอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เลยทำให้ผู้บริโภคอย่างเรา สามารถเลือกดื่มได้ตามความชอบ
The MATTER เลยขอพาทุกคนมาสำรวจข้อมูลเครื่องดื่มสีส้มหวานเย็นชื่นใจ เทียบกันให้เห็นถึง 10 แบรนด์ อันได้แก่ กูโรตีชาชัก, ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน, ชาตรามือ, ร้านน้ำชงใกล้ออฟฟิศ, Café Amazon, Chongdee Teahouse, Inthanin Coffee, Kamu Kamu, Karun และ TrueCoffee
เนื่องจากทั้ง 10 แบรนด์ เป็นแบรนด์ที่ติดตลาด คุ้นหูใครหลายคน เป็นที่ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ และเป็นชาที่มี ‘สีส้ม’ บวกกับต้องสามารถเลือกระดับความหวานได้ เพื่อให้ทุกคนไปสั่งตามได้ว่าต้องการชาที่ระดับความหวานเท่าไหร่ รองลงมาเป็นปัจจัยเรื่องความสะดวกทั้งในด้านการสั่งซื้อ มีบริการจัดส่งเดลิเวอร์รี่ผ่านแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (ออฟฟิศ The MATTER อยู่บริเวณรัชดา ซอย 3) แต่ทั้งนี้การเก็บข้อมูลของทีม The MATTER เป็นเพียงการเก็บข้อมูลจาก ‘แก้วชา’ ที่ปรากฏตรงหน้าพวกเราเท่านั้นนะ
คำเตือน: เพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดของท่าน การดื่มชาปริมาณมากในวันเดียวกันมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน น้ำตาลสะสม ไม่ควรทำตาม แต่ทีมงานของเราได้สละแล้วซึ่งสุขภาพดี เพื่อพิสูจน์ชา 10 แบรนด์ 30 แก้ว ให้แก่ผู้อ่านทุกท่าน
ถ้าฉันดื่มชาเย็นเพียว 1 แก้ว จะดื่มได้กี่อึก?
ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ หลายคนอาจเริ่มมองหาชาเย็นๆ มาดับกระหายสักแก้ว แต่เมื่อกวาดตามองบรรดาแบรนด์ชาที่มีอยู่มากมายก็เยอะจนเลือกไม่ถูกว่า จะซื้อแบรนด์ไหนดี เพราะแต่ละแบรนด์ก็มีจุดขายต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสี รส หรือกลิ่น ดังนั้น สิ่งแรกที่มักผ่านเข้ามาในความคิดผู้บริโภคอย่างเราๆ คือเรื่องของ ‘ราคา’ และ ‘ปริมาณ’ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกซื้อ
The MATTER เลยคำนวณราคาต่อปริมาณ ‘น้ำชา’ มาให้ดูกัน! ทั้งนี้จะให้คิดเป็นบาทต่อมิลลิลิตรอย่างเดียวก็อาจจะธรรมดาไป เราเลยขอคำนวณราคาบาท ‘ต่ออึก’ มาให้ทุกคนดูกันว่า ชาส้มแบรนด์นี้ ราคาเท่านี้ ได้น้ำเท่านี้ ดื่มได้ประมาณกี่อึก และคิดเป็นอึกละกี่บาท!
โดยงานศึกษาหนึ่งที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ National Center Biotechnology Information ระบุว่า เฉลี่ยแล้ว ปริมาณน้ำที่ผู้ใหญ่กลืนในหนึ่งอึกเล็กอยู่ที่ 43 ml และอึกใหญ่อยู่ที่ 77 ml ในที่นี้ เราขอใช้ตัวเลข 43 เป็นฐานในการคำนวณ เพราะเชื่อว่า น่าจะใกล้เคียงการดื่มของเราทุกคนมากที่สุด
และต้องบอกก่อนว่า ชาเย็นจากทุกแบรนด์ที่เรากำลังพูดถึง ทีมงานได้สั่งแก้วใหญ่ที่สุดกลับบ้าน (แยกน้ำแข็ง) ทั้งหมด เพื่อให้ทราบปริมาณน้ำชาที่เราได้รับจริงๆ และเทียบปริมาณนั้นกับราคาบนเมนูหน้าร้าน (29/03/2024) ก่อนจะพบว่า หากคิดเฉพาะน้ำชา ไม่รวมน้ำแข็ง
- กูโรตีชาชัก: มีน้ำชาปริมาณ 275 ml ราคา 55 บาท ดื่มได้ประมาณ 6.3 อึก ตกอึกละประมาณ 8.6 บาท
- ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน: มีน้ำชาปริมาณ 150 ml ราคา 70 บาท ดื่มได้ประมาณ 3.4 อึก ตกอึกละประมาณ 20 บาท
- ชาตรามือ: มีน้ำชาปริมาณ 175 ml ราคา 45 บาท ดื่มได้ประมาณ 4 อึก ตกอึกละประมาณ 11 บาท
- ร้านน้ำชงใกล้ออฟฟิศ: มีน้ำชาปริมาณ 150 ml ราคา 35 บาท ดื่มได้ประมาณ 3.4 อึก ตกอึกละประมาณ 10 บาท
- Café Amazon: มีน้ำชาปริมาณ 240 ml ราคา 50 บาท ดื่มได้ประมาณ 5.5 อึก+ ตกอึกละประมาณ 8.9 บาท
- Chongdee Teahouse: มีน้ำชาปริมาณ 225 ml ราคา 95 บาท ดื่มได้ประมาณ 5.2 อึก ตกอึกละประมาณ 18.1 บาท
- Inthanin Coffee: มีน้ำชาปริมาณ 200 ml ราคา 60 บาท ดื่มได้ประมาณ 4.6 อึก ตกอึกละประมาณ 12.9 บาท
- Kamu Kamu: มีน้ำชาปริมาณ 300 ml ราคา 60 บาท ดื่มได้ประมาณ 6.9 อึก ตกอึกละประมาณ 8.6 บาท
- Karun: มีน้ำชาปริมาณ 250 ml ราคา 95 บาท ดื่มได้ประมาณ 5.8 อึก ตกอึกละประมาณ 16.3 บาท
- TrueCoffee: มีน้ำชาปริมาณ 250 ml ราคา 100 บาท ดื่มได้ประมาณ 5.8 อึก ตกอึกละประมาณ 17.2 บาท
ดื่มแต่ละที ก็อย่าลืมลิ้มทุกบาททุกสตางค์ของตัวเองกันด้วยล่ะ!
ชาส้ม นี่ส้มจริงรึเปล่า?
หากย้อนไปดูหน้าตาชาไทยแก้วแรกๆ ที่คนไทยเริ่มดื่มกัน อาจจะยังไม่ได้มีสีส้มคุ้นตาอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ เพราะแต่ก่อนนิยมใช้ชาซีลอนในการชง จึงให้ชาที่สีค่อนข้างอ่อน เมื่อชาตรามือได้นำเข้าชาแดงเข้ามาในไทย ชาไทยที่เราคุ้นเคยเลยได้เดบิวต์ตัวเองเป็นสีส้มนวลตา หวานเย็นชื่นใจ ตั้งแต่นั้นมา
แม้จะเป็นชาเย็นเหมือนกัน แต่ความส้มก็ไม่เหมือนกัน บางยี่ห้อส้มสุดใจไปสุดจริง บางยี่ห้อก็ออกไปทางส้มนวล สีอ่อน บางยี่ห้อสีเข้มอมน้ำตาล เราเลยหยิบ 10 ยี่ห้อมาจิ้มสีให้เห็นเลยว่า แต่ละยี่ห้อนั้นอยู่ในส้มเฉดไหน พร้อมกับรายละเอียดของน้ำชา ที่เห็นได้ด้วยตา และรสสัมผัสที่ได้กลืนลงไป รสต่อรส แก้วต่อแก้ว
- กูโรตีชาชัก: ส้มเข้มๆ อมน้ำตาลเยอะหน่อย ดูเหมือนจะต้องเนื้อสัมผัสข้นหนืดแน่ๆ แต่พอลองชิมแล้วเนื้อสัมผัสค่อนข้างเบา มีตะกอนนอนก้นแก้วเล็กน้อย
- ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน: ส้มเข้มๆ อมน้ำตาลหน่อยๆ น้ำชามีน้ำหนัก กลืนแล้ว มีรสเคลือบในปาก ไม่มีตกตะกอนที่ก้นแก้ว
- ชาตรามือ: ส้มนวลละมุนตา น้ำชาเนื้อสัมผัสเบา แต่เมื่อกลืนแล้ว มีรสสัมผัสเคลือบในปากเล็กน้อย ไม่มีตกตะกอนที่ก้นแก้ว
- ร้านน้ำชงใกล้ออฟฟิศ: ส้มนวลละมุนตา น้ำชาเนื้อสัมผัสค่อนข้างเบา มีตะกอนนอนก้นเล็กน้อย
- Café Amazon: ส้มสว่าง น้ำชาเนื้อสัมผัสค่อนข้างเบา หลังกลืนมีรสเคลือบในปาก มีตะกอนนอนก้นแก้ว
- Chongdee Teahouse: ส้มแกล้งๆ เพราะแทบไม่เรียกสีส้ม สีออกไปทางน้ำตาลอ่อนเหมือนชาซีลอน น้ำชาเนื้อสัมผัสค่อนข้างเบา ไม่มีตกตะกอนที่ก้นแก้ว
- Inthanin Coffee: ส้มสุดใจไปสุดจริง ส้มสว่าง เดินถือระยะ 10 เมตรก็เห็นว่าอีสชาเย็นอยู่แน่นอน ตัวน้ำชาเนื้อสัมผัสค่อนข้างเบา กลืนง่ายไม่ฝืดคอ ไม่มีตกตะกอนที่ก้นแก้ว
- Kamu Kamu: ส้มนวลละมุนตา น้ำชามีน้ำหนัก รสและสัมผัสใกล้เคียงชานมไข่มุก ชาไต้หวัน ทิ้งรสเคลือบในปากเล็กน้อย มีตะกอนนอนก้นแก้ว
- Karun: ส้มนวล เอิร์ธโทนอมน้ำตาล น้ำชามีน้ำหนัก รสและสัมผัสใกล้เคียงชานมไข่มุก ชาไต้หวัน ทิ้งรสเคลือบในปากเล็กน้อย ไม่มีตกตะกอนที่ก้นแก้ว
- True Coffee: ส้มไม่สว่าง แต่ก็ส้มแบบไม่มีใครล้มล้างได้ น้ำชาเนื้อสัมผัสค่อนข้างเบา หลังกลืนมีรสเคลือบในปาก มีตะกอนนอนก้นแก้ว
หวานแค่ไหนก็ไม่กลัว?
เกือบทุกครั้งที่เราสั่งซื้อชาเย็น สิ่งต้องมาด้วยกันเสมอคือการเลือกระดับความหวาน แน่นอนแต่ละร้านมีตารางการเลือกระดับความหวานที่ต่างกัน และเราแต่ละคนก็มีระดับความหวานที่ต้องการต่างกันออกไป เราอาจจะเลือกมันจากรสชาติหรือจากความรู้สึกว่าหวานน้อยหน่อยก็รู้สึกผิดน้อยกว่า เรียกได้ว่าความหวานคือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประสบการณ์การดื่มชาเย็น ฉะนั้นแล้วการพยายามวัดระดับความหวานเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่โจทย์ที่ตรงไปตรงมาอย่างตาเห็น
รสชาติเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคนแต่ละคน ความแตกต่างที่ปลายลิ้นของเราทำให้เราไม่สามารถพึ่งพาสัมผัสของเราได้ 100% ในขณะเดียวกัน การใช้เพียงตัวเลขเพื่อวัดเท่านั้นเองก็ไม่อาจเล่าเรื่องของรสชาติได้รอบด้านพอ เช่นนั้น ในการเก็บข้อมูลส่วนนี้ The MATTER จึงเลือกทำทั้งใช้เครื่องมือ Refractometer เพื่อวัดค่าน้ำตาลเป็นข้อมูลชุดหลัก และทำการชิมชาไทยเรียงแก้วเพื่อเสริมเติมส่วนอื่นๆ ของรสชาติให้ได้มากที่สุดผ่านตัวหนังสือ
โดย Refractometer คืออุปกรณ์ที่เครื่องมือวัดการหักเหแสงในของเหลว ในกรณีนี้ใช้เพื่อการวัดปริมาณน้ำตาลภายในชาไทยด้วยหน่อย Brix โดยในเครื่องวัดที่เราใช้ สามารถอ่านค่าดังกล่าวได้ตั้งแต่ 0% – 32% Brix โดยมาตราส่วน Brix นั้นเปรียบเทียบตามจำนวนน้ำตาลทรายภายในของเหลว 100 กรัม การอ่านค่า Brix โดยพื้นฐานคือ 1% Brix แปลว่าในของเหลว 100 กรัม มีน้ำตาล 1 กรัม
ในการจัดอันดับ เราเลือกใช้วิธีการทำ Tier-list ตามระดับความหวาน 6 ระยะ นั่นคือ:
- 26% – 30% Brix: ชาตรามือ-หวานมาก 27.9, Cafe Amazon-หวานมาก 27.9, TrueCoffee-หวานมาก 27.5
- 21% – 25% Brix: ป้าชง-หวานมาก 25.9, Kamu Kamu-หวานมาก 24.2, ชาตรามือ-หวานปกติ 22.5, Karun-หวานมาก 22.3, ป้าชง-หวานปกติ 21.7 TrueCoffee-หวานปกติ 21.5
- 16% – 20% Brix: Cafe Amazon-หวานปกติ 20.9, Inthanin Coffee-หวานมาก 20.5, กูโรตี-หวานมาก 20.4, Chongdee Teahouse-หวานมาก 20, Kamu-หวานปกติ 19, ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน-หวานมาก 19, Karun หวานปกติ 17.9, กูโรตี ชาชัก-หวานปกติ 17.1, Chongdee Teahouse-หวานปกติ 17, ป้าชง-หวานน้อย – 16.3, Chongdee Teahouse-หวานน้อย 16.2
- 11% – 15% Brix: ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน-หวานปกติ 15.3, Karun-หวานน้อย 14.8, Kamu Kamu-หวานน้อย 12.2, Inthanin Coffee-หวานปกติ 12, ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน-หวานน้อย 11.8, TrueCoffee-หวานน้อย 11.8
- 6% – 10% Brix: ชาตรามือ-หวานน้อย 7.9, Cafe Amazon-หวานน้อย 6.5
- 0% – 5% Brix: Inthanin Coffee-หวานน้อย 5, กูโรตี ชาชัก-หวานน้อย 4.1
ในการจัดซื้อชาเย็นทั้ง 10 ยี่ห้อที่มีระบบการนิยามความหวานมากน้อยที่แตกต่างกัน ทีมเลือกที่จะใช้วิธีการสั่งซื้อยี่ห้อละ 3 แก้ว โดยมีแก้วที่หวานที่สุดที่ทางร้านมี หวานอยู่ตรงกลาง และหวานน้อยที่สุดที่ทางร้านมี และแน่นอนหากพูดเป็นตัวเลขเฉยๆ อาจจะมองไม่เห็นภาพเท่าไหร่ ทางทีมจึงได้ใส่เป๊ปซี่ (ที่มี 7.9 Brix จัดอยู่ในระดับ ‘หว’) เข้ามาเป็นตัวเปรียบเทียบให้เห็นว่าจำนวนน้ำตาลในชาเหล่านี้เมื่อเทียบแล้วกับน้ำอัดลมที่เราคุ้นชินในรสชาติจะเป็นยังไง
คำถามที่อาจเกิดขึ้นจากการดู tier-list ของเราเสร็จแล้วคือ ค่าน้ำตาลมากน้อยภายในชาแต่ละแก้วนำเสนอรสชาติความหวานหรือไม่? น้ำตาลเยอะกว่าแปลว่าหวานกว่า น้ำตาลน้อยกว่าแปลว่าหวานน้อยกว่า จริงหรือเปล่า? คำตอบคือไม่จำเป็น จากการทดลองชิมหลายๆ แก้วแล้วพบว่าบางแก้วที่ตรวจวัดค่า Brix ได้สูงนั้น อาจไม่ได้ให้ความรู้สึกหวานกว่าแก้วที่ค่า Brix ต่ำกว่า ทางกลับกัน แก้วที่เราชิมแล้วไร้รสชาติหวานโดยสิ้นเชิง ก็พบว่าภายในยังมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในนั้น อาจเนื่องมาจากส่วนผสมอื่นๆ ที่อยู่ภายในชา เรื่องของรสชาติอาจมีมิติมากกว่านั้น
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือเมื่อเรามองไปยัง tier สูงสุด ‘หวานนน’ หนึ่งในนั้นคือชาเย็นระดับหวานมากของ TrueCoffee ที่เมื่อลองชิมแล้วจะพบว่าชาแก้วดังกล่าวไม่ได้ให้ความรู้สึกหวานไปกว่าหลายๆ แก้วที่น้ำตาลน้อยกว่า แม้จะมีค่า Brix อยู่ที่ 27.5 ทำไมกัน? หนึ่งในความเป็นไปได้อาจมาจากมิติรสชาติอื่นๆ ที่ปรากฏขึ้นมาในชาแต่ละแก้ว ในกรณีของ TrueCoffee มีเสียงยืนยันจาก 2 เทสเตอร์ว่าเป็นชาที่มีรสชาติเค็มตัดอย่างเห็นได้ชัด จึงไม่รู้สึกหวานจนเลี่ยนแม้น้ำตาลสูง
นอกจากระดับของความหวานแล้ว แต่ละยี่ห้อมีลักษณะความหวานที่ต่างกันออกไป เช่น กูโรตีนั้นแม้จะมีค่าน้ำตาลที่ต่ำ แต่มีลักษณะความหวานที่แหลมคล้ายคลึงกับน้ำตาล แต่บางเจ้าเช่นร้านน้ำป้าชงใกล้ๆ ออฟฟิศมีรูปแบบความหวานที่นัวคล้ายนมข้นหวาน
ประเด็นสุดท้ายที่ได้จากการชิมชา คือประเด็นเรื่องกลิ่นของชา ในขณะที่เราไม่รู้แน่ชัดว่าชาแต่ละยี่ห้อเป็นใบชาประเภทใด จากการชิมพบว่ากลิ่นของชาจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ นั่นคือชาแดงที่มีโน้ตของมะลิ ที่พบใน Kamu Kamu, True Coffee และร้านป้าชง กับกลิ่นชาใต้หรือชาซีลอนที่มีโน้ตของคล้ายกลิ่นใบหญ้าที่พบในกูโรตี ชาชัก บางร้านมีส่วนผสมของทั้ง 2 กลิ่น เช่น ในร้าน Chongdee Teahouse หรือบางร้านอาจเป็นกลิ่นอื่นนำ เช่น กลิ่นนมเป็นหลักจากฉันจะกินชาเย็นทุกวัน กลิ่นชาที่มีโน้ตของช็อกโกแล็ตที่มาตอนท้ายของ Karun หรือโน้ตของความ Smokey ของอินทนิล
น้ำแข็งที่ใช่ น้ำแข็งที่ชอบ
สำหรับเครื่องดื่ม อุณหภูมิคงเป็นเรื่องที่ไม่พูดคงไม่ได้ รสชาติเครื่องดื่มจะอร่อยได้ต้องขึ้นอยู่กับความร้อนหรือเย็นที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยเสริมให้รสชาตินั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ‘ชาเย็น’ หนึ่งในเมนูฮิตท่ามกลางอากาศร้อนๆ หรือท่ามกลางกองงานติดไฟของหนุ่มสาวออฟฟิศใครหลายคนก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่รู้กันไหมว่านอกจากอุณหภูมิของน้ำแล้ว รูปทรงของน้ำแข็งยังมีส่วนช่วยเสริมให้เครื่องดื่มอร่อยสดชื่นขึ้นได้เหมือนกันนะ!
จากแบรนด์ชาไทยทั้งหมด 10 แบรนด์ที่ The MATTER เลือกสรรมา พบว่าน้ำแข็งหลอดเล็กเป็นน้ำแข็งที่นิยมนำมาเสริมกับเครื่องดื่มอย่างชาเย็นมากที่สุดถึง 8 แบรนด์เลยทีเดียว ได้แก่ กูโรตีชาชัก, ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน, ชาตรามือ, ร้านน้ำชงใกล้ออฟฟิศ, Café Amazon, Chongdee Teahouse, Inthanin Coffee และ Karun นั่นอาจเป็นเพราะน้ำแข็งหลอดเล็กมีความละลายช้าในระดับหนึ่ง จึงทำให้เครื่องดื่มมีความเย็นนานที่เหมาะทั้งกับการเก็บของร้านค้าและเมื่ออยู่ในแก้วของเรา รวมถึงราคาของมันก็ยังไม่สูงมาก และขนาดยังเหมาะสำหรับใครที่เป็นสายเคี้ยวน้ำแข็งอีกด้วย (แต่หมอฟันหลายคนไม่แนะนำนะ)
ส่วนน้ำแข็งสี่เหลี่ยมแบบบาง คือน้ำแข็งที่มีความหนาแน่นสูง ละลายช้า ทำให้สามารถเก็บอุณหภูมิความเย็นของเครื่องดื่มไว้ได้นาน และไม่ไปทำลายรสชาติของเครื่องดื่มชนิดนั้นๆ ทั้งยังมีรูปร่างที่สวยงาม จึงเป็นที่นิยมในร้านอาหาร โรงแรม และถูกใช้ในครัวเรือนอีกด้วย ซึ่ง Kamu Kamu คือแบรนด์ที่เลือกใช้น้ำแข็งชนิดนี้
และสุดท้าย TrueCoffee เลือกใช้น้ำแข็งบดละเอียด ทำให้เราไม่เพียงแต่สัมผัสถึงรสชาติของชาเย็นและความเย็นเท่านั้น แต่ยังได้รสสัมผัสกรุบๆ ของน้ำแข็งขณะดูดผ่านหลอดไปด้วย ซึ่งการอัดแน่นนี้เองก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เครื่องดื่มมีความเย็นนาน
ชาเย็น Vs น้ำแข็ง
เพราะเรื่องของความเย็นไม่ได้จบลงแค่ที่รูปทรงหรือรูปแบบของน้ำแข็ง อีกทั้งไหนๆ The MATTER ก็สั่งเดลิเวอร์ลี่แยกน้ำและน้ำแข็ง รวมถึงหาปริมาตรของน้ำกันไปแล้ว จะปล่อยให้น้ำแข็งละลายไปก็ใช่เรื่อง เลยนำน้ำแข็งของแต่ละแบรนด์มาชั่งน้ำหนักกันซะเลยว่า ภายใต้ความอร่อยของแต่ละแบรนด์นั้น พวกเขาให้น้ำแข็งมาในปริมาณที่เท่าไหร่กันบ้าง แล้วเมื่อเทียบกับปริมาตรของน้ำชาเพียวๆ แล้วอัตราส่วนของน้ำและน้ำแข็งมันอยู่ที่เท่าไหร่กันนะ?
ซึ่งแบรนด์ที่ให้น้ำแข็งมาอย่างถูกใจสายรักน้ำแข็งมากที่สุดคือ TrueCoffee ที่ให้มาถึง 442 ml รองลงมาคือ Kamu Kamu 383 ml, ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน 368 ml, Chongdee Teahouse 348 ml, Karun 342 ml, กูโรตีชาชัก 340 ml, ร้านน้ำชงใกล้ออฟฟิศ 323 ml, Café Amazon 321 ml, Inthanin Coffee 315 ml และชาตรามือ 248 ml ตามลำดับ และเมื่อนำมาเทียบเป็นอัตรส่วนน้ำชาต่อน้ำแข็งก็จะได้ว่า
- กูโรตีชาชัก: น้ำชาปริมาณ 275 ml น้ำแข็ง 340 ml โดยประมาณได้ว่า น้ำชา 1 ml ต่อน้ำแข็ง 1.2 ml
- ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน: น้ำชาปริมาณ 150 ml น้ำแข็ง 368 ml โดยประมาณได้ว่า น้ำชา 1 ml ต่อน้ำแข็ง 2.4 ml
- ชาตรามือ: น้ำชาปริมาณ 175 ml น้ำแข็ง 248 ml โดยประมาณได้ว่า น้ำชา 1 ml ต่อน้ำแข็ง 1.4 ml
- ร้านน้ำชงใกล้ออฟฟิศ: น้ำชาปริมาณ 150 ml น้ำแข็ง 323 ml โดยประมาณได้ว่า น้ำชา 1 ml ต่อน้ำแข็ง 2.1 ml
- Café Amazon: น้ำชาปริมาณ 240 ml น้ำแข็ง 321 ml โดยประมาณได้ว่า น้ำชา 1 ml ต่อน้ำแข็ง 1.3 ml
- Chongdee Teahouse: น้ำชาปริมาณ 225 ml น้ำแข็ง 348 ml โดยประมาณได้ว่า น้ำชา 1 ml ต่อน้ำแข็ง 1.5 ml
- Inthanin Coffee: น้ำชาปริมาณ 200 ml น้ำแข็ง 315 ml โดยประมาณได้ว่า น้ำชา 1 ml ต่อน้ำแข็ง 1.5 ml
- Kamu Kamu: น้ำชาปริมาณ 300 ml น้ำแข็ง 383 ml โดยประมาณได้ว่า น้ำชา 1 ml ต่อน้ำแข็ง 1.2 ml
- Karun: มีน้ำชาปริมาณ 250 ml น้ำแข็ง 342 ml โดยประมาณได้ว่าโดยประมาณได้ว่า น้ำชา 1 ml ต่อน้ำแข็ง 1.3 ml
- TrueCoffee: มีน้ำชาปริมาณ 250 ml น้ำแข็ง 442 ml โดยประมาณได้ว่า น้ำชา 1 ml ต่อน้ำแข็ง 1.7 ml
อย่างไรก็ตาม เพราะขนาดแก้วและปริมาณชาเย็นของแต่ละแบรนด์นั้นแตกต่างกัน อีกทั้งการสั่งเดลิเวอร์ลี่แยกน้ำและน้ำแข็งก็อาจทำให้อัตราส่วนคลาดเคลื่อนไปได้ไม่มากก็น้อย ปริมาณและรูปแบบของน้ำแข็งที่แบรนด์กะเกณฑ์มาให้ ล้วนเป็นสิ่งที่แบรนด์ต่างๆ คำนวนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่ามันจะอร่อยอย่างพอดีกับขนาดแก้วและปริมาณน้ำชาของร้าน เพราะฉะนั้นถ้าอยากดื่มชาเย็นๆ ให้ชื่นใจและอร่อยในแบบฉบับของร้านมากที่สุด ก็ต้องไปซื้อที่หน้าร้านแล้วสั่งเป็นแก้วพร้อมดื่มนะ!
อ้างอิงจาก