เราขอไปด้วยได้มั้ย… ได้แต่คิดอยู่ในใจ แต่ไม่เคยกล้าพูดออกไปสักที
แม้มนุษย์จะเป็นสัตว์สังคม แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะโปรดปรานการเข้าสังคมเสมอไป ต่อให้เป็นคนที่ชอบปฏิสัมพันธ์มากแค่ไหน หลายครั้งก็ยังต้องการการอยู่คนเดียว หรือบางคนก็นิยมชมชอบการใช้ชีวิตสันโดษมากกว่าคบค้าสมาคมกับเพื่อนกลุ่มใหญ่ เพราะมองว่าอิสระและวุ่นวายน้อยกว่า
อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มคนที่อาจเลือกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าจะเข้าสังคมดีหรือไม่ ใจหนึ่งก็อยากเข้า อยากทักทาย แต่อีกใจก็กลัวเหลือเกินว่าสิ่งที่เราทำจะดูแปลกประหลาดในสายตาของคนรอบข้าง
เพื่อนออฟฟิศนัดไปกินข้าว เราอยากไป แต่ไม่กล้าขอ ประหม่าเกินกว่าจะพูด
รู้สึกอยากร่วมวงสนทนา แต่ร่างกายมันเกร็งไปหมด ทำตัวไม่ถูก พูดไม่ออก
อยากลองชวนใครไปไหนดูบ้าง แต่ก็กลัว ทั้งยังรู้ดีว่าถ้าถูกปฏิเสธจะรู้สึกแย่กับตัวเองไปเป็นเดือน
สิ่งต่างๆ ที่รบกวนจิตใจอยู่นี้อาจเป็นเพียงแค่ความกังวลทั่วไป แต่เมื่อใดก็ตามที่มันส่งผลต่อการใช้ชีวิตมากจนเกินควร การปรึกษาจิตแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งทางออกที่คงช่วยเราได้ไม่มากก็น้อย เพราะปัญหาซึ่งเราเชื่อว่าไม่มีอะไรนี้เองที่อาจถูกแพทย์วินิจฉัยว่า Avoidant Personality Disorder ก็เป็นได้
หลีกเลี่ยง เพราะกลัวตัวเองบกพร่อง
ก่อนจะไปถึง ‘Avoidant’ หรือ ‘การหลีกเลี่ยง’ เราควรทำความเข้าใจ Personality Disorder กันก่อน โดยศัพท์คำนี้ ในทางการแพทย์หมายถึง การมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานทางสังคม วิธีคิดและการกระทำไม่สอดคล้องกับความคาดหวังของวัฒนธรรมที่ห้อมล้อมบุคคลนั้น เช่น มีอาการย้ำคิดย้ำทำ หลงตัวเองสุดขั้ว เรียกร้องความสนใจมากผิดปกติ ฯลฯ
จริงอยู่ที่ผลกระทบของ Personality Disorder อาจไม่ได้หนักหนารุนแรงเสมอไป แต่ถึงอย่างนั้น มันก็อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ การทำงาน ตลอดจนชีวิตประจำวันได้ การรู้เท่าทันอันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอุปนิสัยและพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที
ท่ามกลางความผิดปกติทางบุคลิกภาพหลากหลายประเภท หนึ่งในรูปแบบที่ไม่ได้ส่งผลเสียมากนัก แต่พบได้บ่อยคือ Avoidant Personality Disorder ซึ่งเว็บไซต์สุขภาพของออสเตรเลียอย่าง Health Direct อธิบายไว้ว่า Avoidant Personality Disorder คือ บุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง ที่ผู้มีอาการจะพยายามหลีกหนีการเข้าสังคม วิตกกังวลจนต้องสร้างกำแพงในการสานความสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะมีความไม่มั่นใจ รู้สึกว่าตัวเองบกพร่อง จึงหวาดกลัวคำวิจารณ์ การตัดสิน และคำปฏิเสธ เป็นเหตุให้เลือกที่จะเก็บตัว ทั้งที่ลึกๆ ก็อาจรู้สึกโดดเดี่ยวและต้องการการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์
ต้นสายปลายเหตุของความกังวล
คำถามที่หลายคนสงสัยคือ เพราะเหตุใดความรู้สึกเหล่านี้จึงปรากฏชัดในใจของผู้ที่ประสบกับภาวะ Avoidant Personality Disorder ทั้งที่หลายคนก็ดูจะมีชีวิตที่ดีมาก หน้าที่การงานเป็นที่ยอมรับสุดๆ เป็นไปได้หรือที่เขาจะยังรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอและยังกลัวการถูกปฏิเสธ
เว็บไซต์ Medical News Today เผยว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการหลีกหนีสังคมเหล่านี้เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากหลายองค์ประกอบ ทั้งบุคลิกภาพส่วนตัว พันธุกรรม ไปจนถึงสภาพแวดล้อม โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ได้แก่
- การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมในวัยเด็ก เช่น พ่อแม่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยอมรับในตัวลูก ตำหนิจนขาดความมั่นใจ ปฏิเสธทุกอย่างที่ลูกร้องขอ ฯลฯ
- มีความสัมพันธ์เชิงลบกับคนรอบข้าง เช่น ถูกเพื่อนบุลลี่ ถูกครูประณามต่อหน้าเพื่อนร่วมชั้น
- คนในครอบครัวมีประวัติของอาการนี้มาก่อน
สำรวจเบื้องลึกจิตใจ Avoidant Personality Disorder
ถึงตรงนี้คงพูดได้ว่า อาการและสิ่งที่ผู้เผชิญภาวะ Avoidant Personality Disorder รู้สึก ไม่ได้เป็นเพียงความกังวลทั่วไป แต่อาจรุนแรงถึงขั้นกลายเป็นความยากลำบากในการใช้ชีวิต ไม่กล้าสื่อสารจนต้องทนอ้างว้างเพียงลำพัง กล่าวโทษตัวเองทั้งที่ไม่ได้ทำผิด
โดย 5 จุดเฝ้าระวังที่ถ้าเรามีความรู้สึกเหล่านี้ ก็อยากแนะนำให้ลองไปปรึกษาจิตแพทย์ ได้แก่
- รู้สึกแย่ทุกครั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือปฏิเสธ อ่อนไหวมาก ต่อให้จะเป็นการปฏิเสธในเรื่องเล็กๆ อย่างการที่เพื่อนสนิทไม่ว่างไปกินข้าวด้วย
- มีความวิตกกังวลในการเข้าสังคม อึดอัด กลัว ไม่สบายใจ จึงพยายามหลีกเลี่ยงมากกว่าเผชิญหน้า แม้ในใจจะรู้สึกต้องการใครสักคน ไม่อยากอยู่คนเดียว แต่เมื่อคิดถึงความเครียดว่าจะโดนตัดสิน โดนจ้องมอง สุดท้ายก็มักเลือกที่จะอยู่คนเดียวมากกว่า พูดง่ายๆ คือถ้าไม่ถูกคะยั้นคะยอจริงๆ ก็อาจจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดเลย
- มีภาพจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับตัวเอง มองว่าตัวเองดีไม่พอ ไม่มีคุณค่า ไม่สำคัญในสายตาคนอื่น ทำให้เมื่อถูกปฏิเสธก็จะยิ่งตอกย้ำความเชื่อตรงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
- ประหม่าในสถานการณ์ต่างๆ เพราะกลัวว่าสิ่งที่ตัวเองทำจะผิดพลาด โดนตำหนิ เป็นความไม่มั่นใจ ตื่นเต้น เครียด และยิ่งประกอบกับความเชื่อที่ว่าตัวเองดีไม่พอ ก็จะยิ่งประหม่ามากขึ้นไปอีก
- มีกำแพงความสัมพันธ์สูง มักหลีกเลี่ยงการผูกมิตรกับผู้อื่นเพราะไม่อยากเสียใจ ต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักนานมาก กว่าจะกล้าเปิดใจให้ใครสักคน
สำหรับใครก็ตามที่มีความรู้สึกเหล่านี้อย่างเด่นชัด การเข้าไปพูดคุยกับแพทย์ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะต่อให้สิ่งที่เราเป็นจะไม่ใช่ Avoidant Personality Disorder แต่อย่างน้อยก็คงช่วยให้เราเข้าใจตัวตน ความรู้สึก และความต้องการของตัวเองมากขึ้น
โดดเดี่ยวด้วยกัน
ข้อมูลจากคู่มือ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition (DSM-5) หรือ การวินิจฉัยและสถิติของความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 5 (DSM-5) ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง ประเมินคร่าวๆ ว่าน่าจะมีประชากรกว่า 2.4% ทั่วโลกที่มีอาการนี้ และนี่ยังไม่นับรวมผู้ที่มีอาการ แต่ไม่เข้ารับการรักษาด้วย พูดง่ายๆ ว่าน่าจะมีผู้ที่ประสบกับ Avoidant Personality Disorder อย่างน้อย 192 ล้านคน
และถ้าอิงจากตัวเลขเดียวกัน ประเทศไทยของเราจะมีคนที่ต้องทนทุกข์จากสภาวะนี้มากกว่า 1.7 ล้านคน เป็นหลายคนที่เชื่ออย่างสุดหัวใจว่าตัวเองดีไม่พอ และไม่กล้าขอไปด้วยเพราะกลัวเพื่อนจะไม่อนุญาต
แนวทางการรับมือกับ Avoidant Personality Disorder อาจแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 ทาง คือปรับวิธีคิดด้วยตัวเองและไปพบแพทย์
สำหรับการรับมือเบื้องต้นด้วยตนเองอาจแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละคน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว โดยในส่วนของความกลัวที่จะถูกปฏิเสธ เราอาจลองมองสิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ การโดนปฏิเสธไม่ได้ลดทอนคุณค่าในตัวเรา แน่นอน มันเข้าใจได้ที่จะรู้สึกแย่เมื่อความต้องการไม่ได้รับการตอบสนอง แต่ถ้าลองมองอีกมุม เพื่อนหรือคนที่เราไว้ใจ อาจปฏิเสธเพียงเพราะเขาติดธุระก็เป็นได้ เหมือนอย่างเราเองที่บางครั้งก็จำต้องปฏิเสธเพราะไม่ว่างเช่นเดียวกัน
หรือในกรณีกังวลว่าจะถูกตัดสิน ต้องบอกว่าการตัดสินเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับแทบทุกสิ่งบนโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งสิ่งไม่มีชีวิต หลายครั้งคำตัดสินก็น่ากลัวเกินจะรับไหว แต่หลายครั้ง เราก็อาจจะแค่ต้องปล่อยมันไป ไม่ต้องเก็บมาคิดหาคำตอบ เพราะโลกใบนี้ยังมีอีกหลายสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคำตัดสินแย่ๆ ของใครบางคน
‘รู้นะว่าไม่ควรกลัว รู้นะว่าการตัดสินเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่มันก็กลัวและกังวลอยู่ดี มันเครียดจนไม่เป็นอันกินอันนอน’
หากสิ่งที่รู้สึกนั้นหนักหนาจริงๆ จงอย่าลืมว่าเราไม่ควรต้องแบกรับเพียงลำพัง การมองหาความช่วยเหลือจากครอบครัว คนที่ไว้ใจ หรือแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญก็เป็นสิ่งที่ไม่ผิด และไม่ได้บ่งบอกว่าเราเป็นคนอ่อนแอเลย อาการเจ็บป่วยเป็นสามัญ ความรู้สึกของคนเราก็เช่นกัน
นอกเหนือจากการรับมือด้วยตัวเองของผู้ที่ประสบกับ Avoidant Personality Disorder แล้ว ถ้าลองมองในภาพกว้าง ผู้คนเหล่านี้ก็อาจจะเป็นคนรอบข้างหรือเพื่อนร่วมทางที่ผ่านเข้ามาในชีวิต หลายคนอาจเป็นเพื่อน พี่น้อง เป็นคนดีๆ คนหนึ่งที่เคยช่วยเหลือเรามาแล้วในบางโอกาส
เพราะฉะนั้น การช่วยเหลือเขาเท่าที่เราช่วยได้ก็นับเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะลำพังเพียงความโดดเดี่ยวในใจก็อาจสร้างบาดแผลได้มากพอแล้ว อย่างน้อยการชื่นชม พูดคุย และสร้างความเชื่อมั่นด้วยการบอกเขาว่า “เฮ้ย แกเก่งนะ ห้ามคิดว่าตัวเองไม่ดีเด็ดขาด” หรือ “อาทิตย์หน้าไปกินข้าวกัน ไปได้ ไม่ต้องกังวล เราไปด้วย” ก็คงช่วยให้ใจเขาเบาลงได้
จริงอยู่ที่มันไม่ใช่เรื่องแปลกในการพูดออกไปว่า “เราขอไปด้วยได้มั้ย” แต่สำหรับบางคน มันก็ยากและน่าหนักใจเกินกว่าจะเอื้อนเอ่ย ซึ่งหากเรารู้ว่าเพื่อนคนหนึ่งกำลังรู้สึกแบบนี้ การเป็นฝ่ายชวนเขาแทนที่จะละเลยก็คงนับเป็นการแสดงออกที่น่ารักไม่น้อยเลยจริงๆ
อ้างอิงจาก