‘เข้ามาอยู่พื้นที่ปิด ใช้เวลาด้วยกัน ทำภารกิจ และไปออกเดต’
นี่คือรูปแบบส่วนใหญ่ของ ‘เรียลลิตี้หาคู่’ (Reality Dating Shows) รายการแนวโรแมนติกหาคู่เดตที่นำกลุ่มคนจำนวนหนึ่งมาอยู่ร่วมกัน เพื่อให้พวกเขาได้ใช้เวลาและทำภารกิจด้วยกัน จนก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์และความรู้สึกดีๆ เมื่อรายการจบลงคนที่สามารถหาคู่ได้ ก็สามารถออกไปสานสัมพันธ์กันต่อนอกรายการ
หากคุณกำลังมองหารายการเรียลลิตี้หาคู่ดูสักรายการในช่วงนี้อาจมีตาลายกันบ้าง เพราะว่ามีรายการเหล่านี้จำนวนมาก จนเลือกไม่ถูกว่าจะหยิบรายการไหนขึ้นมาชมดี
ด้วยจำนวนของรายการหาคู่ในปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้แต่ละรายการเลือกนำเสนอคอนเซ็ปต์และรูปแบบให้แตกต่างและหลากหลายขึ้น เพื่อให้ผู้ชมได้เลือกสรรตามความชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็น The Boyfriend เรียลลิตี้หาคู่เดตระหว่างเพศเดียวกันรายการแรกของญี่ปุ่น Possessed Love เรียลลิตีหาคู่เดตที่ใช้ศาสตร์เรื่องดวงเข้ามาช่วย และ Love Is Blind เรียลลิตี้หาคู่เดตที่ให้หนุ่มสาวมาพูดคุยกันโดยไม่เปิดหน้า
แม้รายการเหล่านี้จะมีตอนจบแบบแฮปปี้เอนอิ้ง ทว่าหลายคนน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่า รายการเรียลลิตี้หาคู่อาจมีสคริปต์และมีการใส่บทบาทหรือคาแร็กเตอร์ของผู้เข้าร่วมให้เป็นที่จดจำ แต่ถึงอย่างนั้น ทำไมเราถึงยังชอบดูหรือรายการเหล่านี้มีอะไรบางอย่างที่เชื่อมโยงเรากันแน่?
เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ไม่เข้าใครออกใคร
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘ความรัก’ เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ไม่ว่าจะหยิบมาคุยเมื่อไหร่ ก็มักจะน่าสนใจอยู่เสมอ เพราะถือเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้กับใครหลายคน และสามารถมีประสบการณ์ร่วมกับความรักได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รายการที่มีรูปแบบหรือเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ความโรแมนติก หรือความสัมพันธ์ เป็นที่นิยมอยู่ตลอด ประกอบกับวิธีการนำเสนอแบบบันเทิงคดี ยังช่วยให้รายการแนวเรียลลิตี้มีความน่าสนใจและน่าติดตาม
งานศึกษาของดร. แอมเบอร์ แอล. เฟอร์ริส (Amber L. Ferris, Ph.D) รองศาสตราจารย์คณะสื่อสารมวลชน จาก University of Akron เกี่ยวกับรายการเรียลลิตี้หาคู่เดตและการออกเดต พบว่า ผู้คนมักให้ความสนใจในเรื่องความรักและความสัมพันธ์ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งนำไปสู่การผูกโยงกับประสบการณ์ที่เกี่ยวกับความรักของตัวผู้ชมเองได้
ในอีกมุมหนึ่ง เพราะเรียลลิตี้เป็นรูปแบบรายการที่สะท้อนภาพชีวิตจริงบางอย่างของผู้ชมออกมา ความรักซึ่งเป็นหนึ่งในอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับมนุษย์โดยตรง จึงถูกนำเสนอผ่านรายการเรียลลิตี้เช่นเดียวกัน
ด้านดร.มาริสา ที. โคเฮน (Marisa T. Cohen) นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ กล่าวในนิตยสารออนไลน์ Good Housekeeping ว่า การได้เห็นลักษณะบุคลิกภาพและแบบแผนความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันในรายการเหล่านี้ ทำให้ผู้ชมมักจะพบผู้เข้าร่วมรายการที่พวกเขาสามารถเชื่อมโยงกับตัวเองได้
ตัวอย่างเช่น หากในรายการมีผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมคนอื่นในรายการ อาจทำให้ผู้ชมเห็นใจและอยากเอาใจช่วย เพราะบางคนอาจเคยประสบกับสถานการณ์ดังกล่าวมาก่อน จึงไม่แปลกที่ผู้ชมส่วนใหญ่จะอินไปกับเรียลลิตี้หาคู่จนทำให้รายการแนวดังกล่าวได้รับความนิยม
เรียลลิตี้หาคู่ไม่ต่างอะไรกับการเชียร์กีฬา
ใครที่เคยดู Single Inferno น่าจะจำกันได้ ระหว่างที่รายการกำลังดำเนินไป ผู้เข้าแข่งผู้ชายจะได้ทำภารกิจแข่งกันที่ริมชายหาดที่ทางรายการมอบให้ โดยผู้ชนะภารกิจจะได้รับสิทธิในการเลือกผู้เข้าแข่งขันผู้หญิงไปรับประทานอาหารมื้อพิเศษ เพื่อพูดคุยกันแบบส่วนตัว
การสร้างสถานการณ์ที่แฝงไปด้วยการแข่งขันและการแย่งชิง เพื่อได้สิทธิพิเศษสำหรับการเดต หรือข้อได้เปรียบบางอย่างที่ทำให้พิชิตใจคนที่แอบปลื้มได้ง่ายขึ้น คืออีกหนึ่งรูปแบบที่สำคัญของรายการแนวเรียลลิตี้หาคู่ ซึ่งสามารถดึงดูดผู้ชมให้สนใจและลุ้นตาม
รายการเรียลลิตี้ที่มีการแข่งขันหรือภารกิจ สามารถมอบประสบการณ์และความรู้สึกเหมือนเรากำลังดูการแข่งขันกีฬาอยู่ ซึ่งมักจะทำให้เราติดตามและเอาใจช่วยทีมโปรด หรือนักกีฬาคนโปรดให้ได้รับชัยชนะในแมตช์ต่างๆ ในเกมหาคู่ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดการแข่งขันในรายการ ผู้ชมก็มักจะเชียร์ให้ผู้เข้าแข่งขันที่ตัวเองชื่นชอบได้รับชัยชนะ และประสบความสำเร็จในการหาคู่
สอดคล้องกับงานศึกษาเกี่ยวกับแรงจูงใจในการเล่นกีฬาและชมกีฬา จาก University of Nicosia โดยศ.เมเนลอส อาโปสโตลู (Professor Menelaos Apostolou) พบว่า หนึ่งในสาเหตุที่หลายคนชอบชมการแข่งขันกีฬาหรือเกมการแข่งขัน คือการได้มีส่วนร่วมไปพร้อมกับการแข่งขันผ่านการเอาใจช่วย ตลอดจนการเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ เมื่อทีมที่เราเชียร์ชนะการแข่งขัน
การเชียร์กีฬาและการชมรายการเรียลลิตี้หาคู่ จึงคล้ายกันในเรื่องของการมีส่วนร่วมในการแข่งขัน ยิ่งเป็นผู้เข้าร่วมรายการที่มีบุคลิกคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับตัวผู้ชม ก็จะทำให้ผู้ชมเข้าถึง และอยากเอาใจช่วยผู้เข้าแข่งขันคนนั้นให้สามารถเอาชนะผู้เข้าแข่งขันคนอื่นได้ เหมือนกับแนวคิดของ ดร.มาริสา ที่กล่าวถึงการเชื่อมโยงผู้เข้าร่วมรายการกับตัวเราผ่านประสบการณ์ร่วมกันบางอย่าง
การหาคู่เดตกับเกมเอาชีวิตรอด
รูปแบบรายการที่ไม่ต่างจากรายการเกมเอาชีวิตรอด (Survivor) แต่แทนที่จะเป็นการท้าทายร่างกายด้วยความอดทน รายการเหล่านี้กลับนำเสนอความท้าทายทางอารมณ์และความรู้สึกของผู้เข้าแข่งขัน ผ่านการจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรูปแบบรายการที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของการแข่งขันนี้เอง ทำให้ผู้ชมต่างก็อินและลุ้นตามไปด้วย
ดร.อิสเบลล่า มอร์ลีย์ (Isabelle Morley) นักจิตวิทยาคลินิก ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดคู่รัก นำเสนอมุมมองดังกล่าวทาง Psycology Today ว่าการท้าทายทางอารมณ์และการแข่งขันที่เกิดขึ้นในรายการจะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการผลักดันให้ผู้เข้าแข่งขันดิ้นรนและผลักดัน เพื่อให้ตนเองกลายเป็นผู้ถูกเลือกในรายการ ซึ่งทำให้ผู้ชมได้เห็นถึงความเข้มข้นและการแข่งขันกันในรายการ
“การท้าทายทางอารมณ์และจิตวิทยาของผู้เข้าแข่งขันในรายการเรียลลิตี้หาคู่นั้น กลับทำให้ผู้ชมรู้สึกตื่นเต้นและติดตามมากขึ้น”
ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของเรื่องราวความรัก หรือการแข่งขันสุดดุเดือดในรายการ มิติต่างๆ ที่ปรากฏในรายการเรียลลิตี้หาคู่สามารถมอบความบันเทิงและความสนใจให้แก่ผู้ชมได้ จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมปัจจุบันรายการเรียลลิตี้หาคู่ถึงมีจำนวนมาก และมีคอนเซปต์ที่หลากหลายขึ้น
แม้เราจะไม่รู้ว่า ตอนจบของรายการเรียลลิตี้หาคู่เดตจะเป็นอย่างไร แต่แค่ได้ดูคนรักกันและแก่งแย่งแข่งขัน ก็ทำให้เราเฝ้าติดจอรอติดตามตอนจบไม่ห่างไปไหนแล้ว
อ้างอิงจาก